
ชุมชนบางมูลนากเป็นตลาดเก่าแก่นับร้อยปี เป็นชุมชนที่ติดริมแม่น้ำน่าน มีคนจีนถึง 4 กลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้ความศรัทธาร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ร่วมกันด้วย ภายในชุมชนมีพิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนาก จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน จุดเด่นอีกประการคือในชุมชนมีศาลเจ้าประจำชุมชนให้คนในชุมชนได้กราบไหว้บูชา เป็นศาลที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อแก้ว ภายในศาลตกแต่งตามความเชื่อของชาวจีน อีกทั้งเจ้าพ่อแก้วก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนบางมูลนากอีกด้วย
บางมูลนากเดิมเรียกว่า "บางขี้นาก" คนในชุมชนเล่าสืบต่อว่า เดิมทีคลองบุษบง (เหนือตลาดบางมูลนาก) มีนากชุมนุมมาก และได้ขี้ไว้เกลื่อนกลาดคลอง ทำให้บริเวณชุมชนนี้ได้รับการเรียกขานว่า บางขี้นาก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบางมูลนาก แต่ในรายงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีว่า ชื่อได้กลายเป็น "บางบุญนาก" ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่า ในภายหลังชื่อชุมชนยังคงใช้ขื่อบางมูลนาก ดังที่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนบางมูลนากเป็นตลาดเก่าแก่นับร้อยปี เป็นชุมชนที่ติดริมแม่น้ำน่าน มีคนจีนถึง 4 กลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้ความศรัทธาร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ร่วมกันด้วย ภายในชุมชนมีพิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนาก จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน จุดเด่นอีกประการคือในชุมชนมีศาลเจ้าประจำชุมชนให้คนในชุมชนได้กราบไหว้บูชา เป็นศาลที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อแก้ว ภายในศาลตกแต่งตามความเชื่อของชาวจีน อีกทั้งเจ้าพ่อแก้วก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนบางมูลนากอีกด้วย
เว็บไซต์ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก" ถือเป็นแหล่งรวบรวมประวัติความเป็นมาของอำเภอบางมูลนากในหลายระดับ ตั้งแต่อำเภอ เขตเทศบาลบางมูลนาก และชุมชนบริเวณตลาดที่ติดกับริมแม่น้ำน่าน สำหรับข้อมูลในระดับอำเภอ บางมูลนากเป็นอำเภอหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดพิจิตร อดีตเคยเป็น
เมืองภูมิ ชุมชนตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลภูมิ มีพระธรรมยาเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับเจ้าเมืองคนนี้ แต่ผู้คนก็ได้สร้างศาลพระธรรมยาและเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ มีหลักฐานระบุว่าเมืองภูมิเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิจิตร มีผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อพระณรงค์เรืองนาช เมืองพิจิตรในช่วงปี พ.ศ. 2446 ถูกแบ่งเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบางคลาน และอำเภอเมืองภูมิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านหนองเต่าไปที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกเหนือวัดบางมูลนาก แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอภูมิอย่างเดิม จนกระทั่งวันที่ 29 เมษายน 2460 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอ ซึ่งที่ว่าอำเภอเมืองภูมิตั้งอยู่ที่ตำบลบางมูลนาก จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางมูลนาก และมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนากกระทั่งปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะเป็นชื่ออำเภอ "บางมูลนาก" อย่างเป็นทางการนั้น ชาวบ้านต่างเรียกทั้ง "บางมูลนาก" และ "บางขี้นาก" แต่มีความหมายใกล้เคียงกัน อันเนื่องจากบริเวณนั้นมีฝูงนากน้ำจืดมาอาศัยในลำน้ำน่านและบริเวณคลองบุษบงหรืออยู่เหนือตลาดบางมูลนาก เป็นจำนวนมากเพราะด้วยการมีอยู่ของฝูงปลา พอนากมากินปลาจนอิ่มก็ถ่ายของเสียทิ้งไว้มากมายและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ซึ่งในราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า "บ้านมูลนาค" ขณะที่ชาวบ้านต่างก็พากันเรียกว่า "บางขี้นาก" "บางมูลนาก" หรือ "บางบุนนาค" อย่างไรก็ตามปี พ.ศ. 2477 ชื่อบางมูลนาก ถือเป็นชื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จึงถูกใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา (เว็บไซต์ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก", ม.ป.ป.)
พระราชหัตถเลขาในของรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นว่าบางมูลนากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ และมีการเสด็จเยือนโดยพระมหากษัตริย์ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2444 และประสบการณ์ที่มีต่อพื้นที่ดังข้อความที่ว่า "บางมูลนากมีบ้านเรือน และตลาด ผู้คนหนาแน่นเกินที่คาดหมายเป็นอันมาก" โดยมีตลาดเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับประชาชน ทำให้มีการตั้งบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีการคมนาคมและการค้าขายเจริญ กระนั้น ก็ยังขาดการบำรุงรักษา ทำให้ราชการจัดตั้งสุขาภิบาลท้องที่บางมูลนากขึ้น เพื่อสร้างความสะดวกให้ประชาชนให้ยิ่งขึ้น บางมูลนากจึงนับว่าเป็นสุขาภิบาลท้องที่เพียงแห่งเดียวของจังหวัดพิจิตร ก่อนที่จะเป็นเทศบาลเมืองบางมูลนากในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งถือเป็นเทศบาลเมืองแห่งแรกของจังหวัดพิจิตร (เว็บไซต์ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก", ม.ป.ป.)
ส่วนสำคัญคือบางมูลนากเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวริมน้ำน่านที่สำคัญ และเป็นแหล่งดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำมาหากินรวมถึงคนจีนด้วย เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์บางมูลนากระบุว่า หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญที่เข้ามาทำมาค้าขายในบางมูลนากคือกลุ่มชาวจีน สมทบกับชาวจีนที่เข้ามาทำไร่ฝ้ายอยู่ก่อนแล้วในปี พ.ศ. 2413 มี บริเวณบ้านดงเศรษฐี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2450 รัฐบาลมีนโยบายสร้างทางรถไฟสายเหนือ จึงยิ่งทำให้เศรษฐกิจบางมูลนากเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคมนาคมที่เติบโตทั้งทางน้ำและทางรถไฟ ขณะที่ก็มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับแม่น้ำน่านในการหล่อเลี้ยงผู้คนจากการทำนาข้าวแปรรูปและส่งให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ ชุมชนบางมูลนากเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะชุมชนการค้าข้าวในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์กอปรกับมีเส้นทางรถไฟสายเหนือผ่าน ส่งผลให้
เศรษฐกิจในชุมชนบางมูลนากเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหลากหลายอพยพเข้ามาอยู่ โดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากและมีบทบาทต่อสังคมมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ขณะที่รัฐบาลไทยยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่อ โดยสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2500 และการสร้างถนนหมายเลข 117 ในปี พ.ศ. 2525 ด้านหนึ่งทำให้การคมนาคมมีการพัฒนาให้ทันสมัยและรวดเร็วขึ้นด้วยการใช้รถยนต์ แต่อีกด้านหนึ่งคือทำให้ชุมชนการค้าข้าวและที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำซบเซาลง อาชีพและแหล่งทำมาหากินบริเวณขนส่งข้าวซบเซาลง ประกอบการอพยพย้ายถิ่นไปหาโอกาสและงานทำในเมืองใหญ่จึงทำให้บริเวณตลาดบางมูลนากแทบไม่มีชีวิตชีวา จนกระทั่งในช่วงหลังฟื้นฟูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนบางมูลนากและหน่วยงานในพื้นที่ต่างเห็นว่าควรที่มีการฟื้นฟูพื้นที่ตลาดบางมูลนากขึ้นมา จากแนวคิดการสร้างบางมูลนากให้เป็นเมืองน่าอยู่ แนวคิดถูกสานต่อเป็นรูปธรรม และตลาดบางมูลนากและพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งการค้าข้าวและการคมนาคมทางน้ำและรถไฟจึงได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อทำให้ตลาดที่เคยทรุดโทรมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ภายใต้โครงการ "ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก" ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ตลาดที่เสนอแนะโดยนพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่เกิดในอำเภอบางมูลนาก การฟื้นฟูเน้นนำเอามรดกทางความทรงจำในอดีต วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและเรื่องเล่าเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ และสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม (เว็บไซต์ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก", ม.ป.ป.)
นอกจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนแล้ว มูลนิธิแก้วคุ้มครองเป็นองค์กรระดับชุมชนที่สำคัญในการผลักดันโครงการฟื้นตลาดบางมูลนาก และทำให้ร้านค้าและบ้านเรือนเป็นส่วนหนึ่งของ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก" ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ชีวิตและชุมชนผ่านวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นของเก่านำมาจัดแสดง
ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชม เช่น ถุงกระดาษของร้านค้าในสมัยอดีต และซ่อมแซมศาลเจ้าพ่อแก้ว ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาดบางมูลนาก และอำเภอบางมูลนาก รวมถึงพิจิตรทั้งจังหวัด ตลอดจนผสานการสร้างพื้นที่ให้มีความทันสมัยผ่านศิลปะ จิตรกรรมฝาผนัง และวัตถุร่วมสมัยอื่น ๆ เมื่อพื้นที่ตลาดและเทศบาลบางมูลนากได้รับการฟื้นฟู ก็สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม จนเกิดการสร้างธุรกิจในภาคบริการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น ร้านกาแฟหรือร้านอาหารต่าง ๆ ขณะที่ในช่วงหนึ่งของการฟื้นฟูพื้นที่ ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566 อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังได้มาเยี่ยมเยียนและติดตามการฟื้นฟูตลาดบางมูลนากด้วย (Dailynews Online, 2566)
เนื่องด้วยชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมตัวมาตั้งถิ่นฐานอาศัยที่นี่โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์จีนมากที่สุด สิ่งที่ชาวบางมูลนากรอคอยในแต่ละปีคืองานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ 2 งาน ได้แก่ งานประจำปีในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นการแห่เจ้าพ่อแก้วที่อัญเชิญจากศาลเจ้าพ่อแก้วมาประทับที่ศาลจำลองที่สร้างขึ้นสำหรับการจัดงาน เพื่อที่จะมีการแห่ขบวนเจ้าพ่อแก้วรอบตลาดบางมูลนาก และงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้วในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในงานพิธีดังกล่าว ชุมชนจะจัดพิธีแห่เจ้าพ่อแก้วรอบตลาด ภายในขบวนแห่จะมีขบวนการแสดงต่าง ๆ เช่น ขบวนแห่สิงโตจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มังกร เอ็งกอ (ผู้แสดงทาหน้าอำพรางตนและแต่งกายแบบจอมยุทธ์จีน) ล่อโก้ว (ดนตรีจีนที่ใช้บรรเลงเชิญเจ้ารับเจ้า) เปีย (ป้ายที่มีคำอวยพรเป็นภาษาจีน) แป๊ะยิ้ม แห่ไปรอบตลาดเขตเทศบาลบางมูลนาก ในชุมชนมีศาลเจ้าประจำชุมชนให้คนในชุมชนได้กราบไหว้บูชา เป็นศาลที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อแก้ว ภายในศาลตกแต่งตามความเชื่อของชาวจีน เนื่องจากเจ้าพ่อแก้วเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนบางมูลนากมาช้านาน
เจ้าพ่อแก้วเป็นบุคคลในตำนาน ที่มีเรื่องเล่าว่ามีท่อนไม้ลอยน้ำมาบริเวณริมแม่น้ำน่าน ลอยมาติดกับริมฝั่ง มีลักษณะหน้าตาคล้ายคน ชาวบ้านจึงช่วยกันนำท่อนไม้นั้นขึ้นมา และตั้งศาลเล็ก ๆ ให้อยู่และกราบไหว้บูชา ต่อมามีการมอบหมายให้อาแป๊ะห้อยนำท่อนไม้ที่พบไปให้ช่างแกะสลัก และตกแต่งให้สวยงามที่เยาวราช ข้างวัดเล่งเน่ยยี่หรือวัดมังกรกมลาวาส กรุงเทพมหานคร ชาวบางมูลนากก็ได้บริจาคเงินเพื่อสร้างศาลไม้ริมน้ำ เมื่อแกะสลักองค์เจ้าพ่อแก้วเสร็จก็ได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานยังศาล อาแป๊ะชรานามว่า "อาแป๊ะหยู" เมื่ออายุท่านได้ 85 ใน พ.ศ. 2538 ได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า เจ้าพ่อซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าริมแม่น้ำน่านฝั่งตรงข้ามวัดบางมูลนากนั้น แต่เดิมยังไม่มีใครรู้จักชื่อ ชาวจีนในตลาดก็ได้แต่บวงสรวงกราบไหว้กันตามประเพณีเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2498 ได้มีอาซิ้มชราคนหนึ่งมาจอดเรือตรงท่าหน้าศาลเจ้า เจ้าได้เข้าประทับทรง และได้บอกว่าท่านนั้นมีชื่อเป็นภาษาจีนซึ่งมีความหมายว่า "แก้ว" ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงได้เรียกขานนามท่านว่า "เจ้าพ่อแก้ว" (กาญจนา เหมือนเงิน, 2565)
ชุมชนบางมูลนากอยู่ในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปยังทิศใต้ประมาณ 52 กิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุม 354.94 ตารางกิโลเมตรมีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 2 เขต คือ 1) ภูมิประเทศฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีลำคลองหลายสายไหลผ่าน และมีน้ำมากเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น เป็นพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม และ 2) ภูมิประเทศฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน พื้นที่เป็นที่ราบเช่นกัน แต่มีคลองชลประทานซึ่งมีน้ำตลอดปี พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเกษตรกรรม (เว็บไซต์ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก”, ม.ป.ป.)
อำเภอบางมูลนากมีประชากรที่สำรวจในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 43,789 คน จากทั้งหมด 18,868 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรในเขตเทศบาลบางมูลนาก 7,890 คน และจำนวนครัวเรือน 3,714 ครัวเรือน กลุ่มชาติพันธุ์ที่พบมีส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ได้แก่ แต่จิ๋ว ไหหลำ ฮากกา ฮกเกี้ยน และคนไทยกลุ่มต่าง ๆ (การเคหะแห่งชาติ, 2565)
จีนในบริเวณเทศบาลบางมูลนาก โดยเฉพาะบริเวณตลาดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ จากการสัมภาษณ์ พวกเขายังคงความเชื่อของตนเอาไว้ และปฏิบัติตนตามหลักคุณธรรมความกตัญญูของขงจื๊อต่อบิดามารดาและบรรพบุรุษอยู่อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากพิธีกรรมในเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ของจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน เช็งเม้ง และสารทจีน โดยมีการไหว้บรรพบุรุษตามเทศกาลสำคัญของจีนทุกปี และมีการกลับมารวมตัวกันของญาติพี่น้อง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นจีนที่ยังคงดำรงอยู่ผ่านพื้นที่พิธีกรรมในวันเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ของจีน ขณะที่บางคนอาจจะไม่ได้ทำพิธีกรรมทั้งหมด ทำให้เห็นว่าความเชื่อในพิธีกรรมนั้นอาจลดความสำคัญลงบ้าง
"ก็ยังไหว้บรรพบุรุษอยู่ จะไหว้ตามเทศกาลสำคัญต่าง ๆ อย่างพวกตรุษจีน สารทจีน เช็งเม้ง" (อภิสิทธิ์ ประวัติเมือง, สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2566)
"พี่จะไหว้แค่ตามเทศกาลตรุษจีน กับสารทจีน เช็งเม้งแค่นั้น พวกเทศกาลอื่น ๆ ของจีน พี่ไม่ได้ไหว้แล้ว" (มติมนต์ ชูศรี, สัมภาษณ์, 2 มิถุนายน 2566)
"ที่บ้านครอบครัวก็ยังไหว้บรรพบุรุษอยู่ทุกปี พวกเทศกาลวันตรุษจีน สารทจีน เช็งเม้ง ลูกหลานก็จะกลับมารวมตัวกัน มาไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว" (จินดา จันทนสกุลวงศ์, สัมภาษณ์, 16 พฤษภาคม 2566)
"ไหว้ตามวันสำคัญอย่างตรุษจีน สารทจีน ก็จะนำของไปไหว้อากงอาม่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เราจะไหว้กันทุกปี" (มาลี จันทร์หิรัน, สัมภาษณ์, 2 มิถุนายน 2566)
"เทศกาลวันสำคัญของจีนก็จะไหว้ทุกปีอยู่แล้ว ครอบครัวพี่ทำต่อ ๆ กันมาทุกปี อย่างตรุษจีน เช็งเม้ง สารทจีนเนี่ย ก็จะเตรียมของไปไหว้ทุกปี" (อัจฉริยา ขำแป้น, สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2566)
นอกจากการดำรงประเพณีในฐานะที่เป็นกลุ่มทางสังคมของคนจีนแล้ว ชุมชนบางมูลนากยังมีกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานประจำปีที่เกี่ยวกับหลวงพ่อแก้วตามที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงยังเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูตลาดบางมูลนากตามโครงการพัฒนาพื้นที่แสดงวิถีชีวิตและชุมชนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ตลอดจนกิจกรรมการกุศลอื่น ๆ
ในทุก ๆ ปี ชาวบางมูลนากมีการจัดงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ 2 งาน งานแรกได้แก่งานประจำปีเจ้าพ่อแก้วซึ่งจัดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 3 ในเดือนธันวาคมของทุกปี มีระยะเวลาจัดงาน 6 วัน 6 คืน ในเช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นวันแรกของการจัดงานนั้น ชุมชนจะประกอบพิธีนำรูปปั้นองค์เจ้าพ่อแก้วจากศาลที่ประทับไปยังศาลจำลอง ณ สนามหน้าโรงเรียนอนุบาลบางมูลนากราษฎร์อุทิศ เพื่อทำพิธีแห่รอบตลาดและถนนในเขตเทศบาลบางมูลนาก ในพิธีแห่มีขบวนการแสดงต่าง ๆ ของผู้ที่ศรัทธาเจ้าพ่อแก้ว เช่น ขบวนแห่สิงโต มังกร เอ็งกอ เปีย ล่อโก้ว ตลอดการแห่ จากนั้นชุมชนจะนำเจ้าพ่อแก้วไปประดิษฐานยังศาลจำลองชั่วคราวอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนกราบไหว้ ส่วนอีกงานได้แก่งานวันเกิดเจ้าพ่อแก้วที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นับหลังจากวันตรุษจีนไปแล้ว 10 วัน มีการจัดงาน 3 วัน 3 คืน ในช่วงเช้าของวันแรกมีการอัญเชิญเจ้าพ่อแก้วแห่รอบตลาด และนำไปประดิษฐานยังศาลจำลองชั่วคราว และมีขบวนแห่และการแสดงต่าง ๆ เช่นเดียวกับงานประจำปีเจ้าพ่อแก้วที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม
1.คุณเมตตา สุขสวคนธ์
ประธานมูลนิธิแก้วคุ้มครอง ในปี พ.ศ. 2567 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ประกาศให้คุณเมตตา สุขสวคนธ์ ได้รับรางวัล "คนดีศรีจังหวัด" ประเภทประชาชน
2.นายแพทย์วิสุทธิ์ หิรัญยูปกรณ์
ราษฎรอาวุโสของบางมูลนาก ผู้ซึ่งเปิดคลินิกคลินิคหมอวิสุทธิ์-หมอ วัชรี หิรัญยูปกรณ์ รักษาผู้ป่วยในบริเวณตลาดบางมูลนาก รวมถึงพระครูสิริและหลวงพ่อหวั่น เกจิพระอาจารย์ชื่อดัง (เพจเฟสบุ๊ค “พิจิตรชีวิตเหนือกาลเวลา”, 2564)
3.คุณชิต ปานพลอย
ปราชญ์ชุมชนด้านเกษตรอินทรีย์ เป็นคนตำบลวังคู้ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เป็นบุคคลตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องจากคนในชุมชน เนื่องด้วยเกิดในครอบครัวเกษตรกรและทำอาชีพเกษตรกรด้วยความทุ่มเทมาทั้งชีวิต และได้ปฏิบัติตามแนวการผลิตเชิงเกษตรตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาของกรมพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ คุณชิตยังเป็นผู้เกษตรกรคนแรกที่ปลูกข้าวหอมนิล มะลิแดง และไรซ์เบอร์รี ด้วยแนวทางอินทรีย์คนแรก ทำให้ข้าวของเขาได้ส่งออกไปขายถึงทวีปยุโรป ความรู้และความเชี่ยวชาญของเขายังนำมาถ่ายทอดเป็นครูสอนเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย (เพจเฟสบุ๊ค "มูลนิธิแก้วคุ้มครอง เจ้าพ่อแก้ว อำเภอบางมูลนาก", 2567)
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนบางมูลนาก ด้านประเพณีและวัฒนธรรม คือ งานประจำปี และงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้ว เจ้าพ่อแก้วเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำเภอบางมูลนาก และอำเภอใกล้เคียงนับถือ มาเป็นเวลาหลายสิบปี ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม ของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปี มีคนในอำเภอและต่างอำเภอมาร่วมงานกันมากมาย ในงานช่วงเช้าวันเสาร์ของทุกปีจะมีขบวนแห่ เจ้าพ่อแก้วจากศาลเจ้าพ่อ ไปรอบตลาด แล้วไปประดิษฐานที่ศาลชั่วคราวบริเวณสนามหน้าโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก“ราษฎร์อุทิศ” เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้ เคารพสักการะ และมีงานเฉลิมฉลองรวม 6 วัน 6 คืน ส่วนงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้วจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นับหลังจากวันตรุษจีนไปแล้ว 10 วัน มีการจัดงาน 3 วัน 3 คืน ในช่วงเช้าของวันแรกมีการอัญเชิญเจ้าพ่อแก้วแห่รอบตลาด และนำไปประดิษฐานยังศาลจำลองชั่วคราว และมีขบวนแห่และการแสดงต่าง ๆ เช่นเดียวกับงานประจำปีเจ้าพ่อแก้วที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม
ในขบวนแห่เจ้าพ่อแก้วนั้นก็จะประกอบไปด้วย ขบวนการแสดงของสิงโต มังกร เอ็งกอ เปีย ล่อโก้ว แป๊ะยิ้ม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาวจีนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่สืบต่อกันมาและเข้มแข็งมาอย่างยาวนาน บางมูลนากมีคนจีนที่อาศัยอยู่จำนวนมากและมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือมีจีนหลากหลายกลุ่ม กลุ่มที่มีมากสุดได้แก่แต้จิ๋ว รองลงมาเป็นไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะหรือฮากกา และกวางตุ้ง นอกจากนี้ งานเจ้าพ่อแก้วจึงเป็นโอกาสที่ทำให้คนชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ชาวจีนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานประจำปีด้วย เช่น ขบวนแห่เจ้าพ่อแก้ว มีการเชิดสิงโตของกลุ่มชาติพันธุ์จีนถึง 4 กลุ่ม ได้แก่แต้จิ๋ว ไหหลำ ฮากกา และกวางตุ้น (สุชัญญา เมืองฤทธิ์, 2566)
งิ้วเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สะท้อนความเป็นจีน แต่องค์ประกอบของการแสดงของจีนแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกัน จากที่ผู้วิจัยไปสัมภาษณ์มาพบว่าเมื่อก่อนมีงิ้วอยู่ 2 กลุ่ม คืองิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำ แต่ในพิธีกรรมเจ้าพ่อแก้วในปัจจุบันเหลือการแสดงงิ้วของกลุ่มแต้จิ๋วเพียงกลุ่มเดียว กาญจนา ศิลกุล อายุ 63 ปี
ภูมิลำเนาบางมูลนาก อาชีพผู้รับบำนาญข้าราชการครู เป็นคนไทยที่เข้ามาเป็นเถ่านั้งงานเจ้าพ่อแก้วในปี 2565 เล่าว่าปัจจุบันเหลือการแสดงงิ้วของกลุ่มแต้จิ๋วเพียงกลุ่มเดียว เนื่องจากราคาการแสดงของงิ้วไหหลำแต่ละคืนมีราคาสูง (สัมภาษณ์, 9 พฤษภาคม 2566) อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กลุ่มมีภาษาที่ใช้ในการแสดง การแต่งกาย เนื้อเรื่องที่แสดง และโรงงิ้ว ที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของวัฒนา วัฒนศิริ ที่เล่าว่างิ้วแต่ละกลุ่มก็จะแสดงอัตลักษณ์ความเป็นจีนที่ต่างกัน การร้อง การแสดง เนื้อเรื่อง ก็บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของงิ้วแต่ละกลุ่มแล้ว
...งิ้วไหหลำจะแสดงเกี่ยวกับเรื่องของชีวิตประจำวัน ภาษาที่ร้องก็เป็นภาษาไหหลำ ส่วนงิ้วแต้จิ๋วจะเป็นเรื่องวรรณกรรมจีนที่ต่อสู้กัน ส่วนภาษาที่ร้องก็จะเป็นแต้จิ๋ว โรงงิ้วก็จะไม่เหมือนกัน... (วัฒนา วัฒนศิริ, สัมภาณ์, 16 พฤษภาคม 2566)
เจ้าพ่อแก้วจึงกลายเป็นวัตถุบุคคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนบางมูลนากให้ความเคารพกราบไหว้มาเนิ่นนาน งานประจำปีและงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้วจึงมีความสำคัญสำหรับคนในชุมชน นอกจากเจ้าพ่อแก้วจะเป็นศูนย์รวมศรัทธาของคนที่อาศัยอยู่ในบางมูลนากแล้ว พิธีกรรมเจ้าพ่อแก้วยังดึงดูดให้คนที่ออกไปทำมาหากินพื้นที่อื่นกลับบ้านและมารวมตัวกับเครือญาติ เพื่อน พี่น้อง และที่สำคัญที่สุดคือกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในงานพิธีกรรมเจ้าพ่อแก้ว ความศรัทธาต่อองค์เจ้าพ่อแก้วในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบางมูลนากและผู้ที่อาศัยอยู่พื้นที่ใกล้เคียง ทำให้งานประจำปีเป็นความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญในระดับจังหวัดของพิจิตรรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าพ่อแก้วที่แพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานพิธีกรรมเจ้าพ่อแก้วเป็นจำนวนมากในแต่ละปี (สุชัญญา เมืองฤทธิ์, 2566)
ภาษาไทยและภาษาจีนตามแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย เช่น แต้จิ๋วในกลุ่มคนจีนแต้จิ๋ว
ในชุมชนนี้มีการรื้อฟื้นและประกอบสร้างความทรงจำร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นแบบใหม่ โดยนำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนมารักษา ดำรงอยู่เพื่อแสดงให้คนภายนอกและคนรุ่นใหม่ได้รู้จัก อีกทั้งยังมีตลาดภายในชุมชนที่ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจภายในชุมชนมีความเข้มแข็ง ส่งผลให้มีรายได้มากขึ้น รวมถึงงานประจำปีที่ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนอีกด้วย ชุมชนจึงต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อให้เกิดการเยี่ยมชมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในระยะยาว ตลอดจนการสร้างรายได้ที่มีความยั่งยืน
ความท้าทายที่สำคัญคือตลาดบางมูลนากตั้งขนาบกับแม่น้ำน่าน ระดับน้ำในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำอื่นสูงขึ้นจนเกิดเป็นอุทกภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายให้กับชุมชน เช่นในปี พ.ศ. 2554 จังหวัดพิจิตรประกาศให้อำเภอบางมูลนากและอำเภออื่น ๆ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งกินระยะเวลาถึง 2 เดือนคือในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม (ประกาศจังหวัดพิจิตร ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2554) หรือในปี 2565 ในเดือนสิงหาคมที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลบ่าลงมาสมทบ จึงทำให้เทศบาลบางมูลนากประกาศเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออกจากพื้นที่ (เทศบาลเมืองบางมูลนาก, 2565)
บางมูลนากยังขึ้นชื่อว่ามีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหลายอย่างที่สำคัญตั้งแต่ในอดีต จนมีการสร้างคำขวัญประจำอำเภอว่า "ปลายอขึ้นชื่อ เลื่องลือมะม่วงแผ่น ดินแดนหลวงพ่อหิน ถิ่นข้าวขาวกอเดียว" สะท้อนให้เห็นความเฉพาะตัวของพื้นที่
กาญจนา เหมือนเงิน. (2565). บันทึกเถ่านั้ง งานงิ้ว เจ้าพ่อแก้ว บางมูลนาก. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.. สืบค้น 21 กันยายน 2567, https://online.pubhtml5.com/
การเคหะแห่งชาติ. (2565). รายงานข้อมูลประชากรและบ้าน 2565. สืบค้น 20 กันยายน 2567, http://housingkc.nha.co.th/
เทศบาลเมืองบางมูลนาก. (ม.ป.ป.). เทศบาลเมืองบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร. https://www.bangmulnak.go.th/
เทศบาลเมืองบางมูลนาก. (18 สิงหาคม 2565). เทศบาลเมืองบางมูลนากเตรียมความพร้อมรับมือปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านที่เพิ่มสูงขึ้น. https://www.bangmulnak.go.th/news/
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก. (ม.ป.ป.). ชุมชนบางมูลนากเมืองน่าอยู่. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, https://www.bangmunnak.com/
ปิยะกษิดิ์เดช เปลือยศรี และคณะ. (ม.ป.ป.). ประวัติศาสตร์ชุมชนบางมูลนาก. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
พิจิตร. (2565). ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร. สืบค้น 20 กันยายน 2567, http://www.m-culture.in.th/album/
สุชัญญา เมืองฤทธิ์. (2566). เจ้าพ่อแก้วกับการสร้างอัตลักษณ์ข้ามพรมแดนชาติพันธุ์ของชาวบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร (ปริญญานิพนธ์บัณฑิต). พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร.
เพจเฟสบุ๊ค “พิจิตรชีวิตเหนือกาลเวลา”. (2564). นายแพทย์วิสุทธิ์ หิรัญยูปกรณ์ ราษฎรอาวุโสของบางมูลนาก ให้การสนับสนุน #บางมูลนากเมืองน่าอยู่. https://www.facebook.com/permalink.
เพจเฟสบุ๊ค “มูลนิธิแก้วคุ้มครอง เจ้าพ่อแก้ว อำเภอบางมูลนาก”. (23 สิงหาคม 2567). คุณชิต ปานพลอย“ปราชญ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์ 100%”. https://www.facebook.com/keawkhumkrongbmn/photos/
Dailynews Online. (30 มกราคม 2566). “ลุงตู่” เดินตลาดบางมูลนาก ชาวพิจิตรร้องเพลงฉ่อยเชียร์เป็นนายกฯทุกสมัย. YouTube. https://www.youtube.com/watch
กาญจนา ศิลกุล, สัมภาษณ์, 9 พฤษภาคม 2566.
จินดา จันทนสกุลวงศ์, สัมภาษณ์, 16 พฤษภาคม 2566.
มติมนต์ ชูศรี, สัมภาษณ์, 2 มิถุนายน 2566.
มาลี จันทร์หิรัน, สัมภาษณ์, 2 มิถุนายน 2566.
วัฒนา วัฒนศิริ, สัมภาณ์, 16 พฤษภาคม 2566.
อภิสิทธิ์ ประวัติเมือง, สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2566.
อัจฉริยา ขำแป้น, สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2566.