
ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสาน และการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ มีผลผลิตทางการเกษตรที่โดดเด่นและหลากหลาย ทั้งพืชสวน ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ กับวิถีชีวิตและการทำเกษตรแบบยั่งยืน
ในอดีตชื่อ บ้านหนองบัวหล่ม แต่ด้วยที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่สูงจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ ให้สอดคล้องกับที่ตั้งจึงเอาชื่อ "หนองบัว" มารวมกับคำว่า "เทิง" ซึ่งแปลว่า ที่สูง ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้าน "บัวเทิง"
ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสาน และการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ มีผลผลิตทางการเกษตรที่โดดเด่นและหลากหลาย ทั้งพืชสวน ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ กับวิถีชีวิตและการทำเกษตรแบบยั่งยืน
บ้านบัวเทิงตั้งหมู่บ้านเมื่อประมาณ พ.ศ. 2372 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว คนกลุ่มแรกที่เข้ามาเป็นชาวลาวเวียง หรือลาวจากเวียงจันทน์ สาเหตุมาจากขณะนั้นไทยยกทัพไปตีเวียงจันทร์ ทำให้คนลาวแตกทัพหนีเข้ามาตามลำแม่น้ำมูล แรกเริ่มเดิมทีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่โนนบ้านบัวท่าเพราะเห็นว่ามีป่าและน้ำอุดมสมบูรณ์ดี มีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อหนองบัวหล่มใช้ทำมาหากิน ต่อมาเกิดสงครามอินโดจีน ประมาณ ปี พ.ศ. 2482-2483 จึงพากันย้ายถิ่นฐานออกจากโนนบ้านบัวท่า สาเหตุของการย้าย เนื่องจากในช่วงนั้นจะมีทหารมาเกณฑ์คนงานเข้าไปทำงานในการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เสียหายจากสงครามในตัวเมืองอุบลราชธานี คนลาวที่รวมกันมาอยู่ที่โนนบ้านบัวท่ากลัวถูกจับไปเป็นคนงานก่อสร้าง จึงแยกย้ายกันหลบหนีมารวมกลุ่มกันตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหนองน้ำที่เรียกชื่อว่าหนองบัวหล่มเก่า ใช้ทำมาหากินปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน ผู้นำชุมชนขณะนั้นชื่อ พ่อใหญ่หนูกะลอม ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านหนองบัวหล่ม แต่ที่ตั้งหมู่บ้านซึ่งอยู่ที่สูง จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับที่ตั้ง จึงเอาชื่อ "หนองบัว" มารวมกับคำว่า "เทิง" ซึ่งแปลว่าที่สูง และตั้งชื่อว่าบ้าน "บัวเทิง" หมู่บ้านตั้งเป็นทางการเมื่อประมาณ พ.ศ. 2483 ขณะตั้งหมู่บ้านช่วงแรกมีอยู่ประมาณ 20-30 ครอบครัว แบ่งกันอยู่เป็น 3 คุ้ม คือ คุ้มกลางบ้าน คุ้มวัดและคุ้มบ้านผู้ใหญ่
บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 2.834 ตารางกิโลเมตร ราว 1,771 ไร่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสว่างวีระวงศ์ประมาณ 14 กิโลเมตร ชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลาดเอียงด้านทิศเหนือลงไปจนถึงแม่น้ำมูล และมีลำห้วยขนาดเล็กไหลผ่านคือ ห้วยสังขะไพ และห้วยขี้ขอนดอก (ห้วยลำตาโปง) โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำมูล
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หนองแก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองสะโน หมู่ที่ 7 ตำบลท่าช้าง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบัวท่า หมู่ที่ 5 ตำบลท่าช้าง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 820 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 390 คน ประชากรหญิง 430 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 301 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)
บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเป็นการทำนากว่าร้อยละ 80 ทำส่วนทำไร่ ร้อยละ 10 และอาชีพรับราชการ รับจ้างทั่วไปอีกร้อยละ 10 โดยรายได้ส่วนใหญ่ของชุมชนมาจากภาคการเกษตร ทั้งทำนา ทำสวน ทำไร่ ไม้ผล ไม้ประดับ เช่น มะนาว พุทราสามรส กล้วย ผักต่าง ๆ ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น
อาชีพเกษตรกรรมอยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ถึงขนาดมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่าประชาชนคนใดต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้อพยพมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ เนื่องจากมีพื้นที่เป็นที่ดอน ดินดีเหมาะแก่การทำการเกษตร อยู่ติดกับแม่น้ำมูลไม่ขาดแคลนน้ำแต่น้ำไม่ท่วม แสดงให้เห็นว่าอาชีพทางการเกษตรมีความสำคัญและผูกพันกับวิถีชีวิตชุมชนมานาน ในอดีตทรัพยากรในชุมชนยังอุดมสมบูรณ์ ความเป็นอยู่เรียบง่ายพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก พืชผักก็เก็บหาจากป่าธรรมชาติ ปลาก็หาจากห้วย หนองในชุมชน
นอกจากนี้ชุมชนบ้านบัวเทิงยังเป็นหนึ่งในห้าของศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบ ธกส. และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่มีรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีระบบ ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการทำการเกษตรกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร มีแหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่สำคัญ คือ ดอนปู่ตา ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ช่วยกันปกป้องรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างคืน สามารถเข้าพักที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโฮมสเตย์บ้านบัวเทิง นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้การรณรงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ศึกษาอีกด้วย
บ้านบัวเทิงมีวิถีวัฒนธรรมความเชื่อแบบชาวอีสาน คือ การปฏิบัติตามจารีตท้องถิ่น ฮีตสิบสองคองสิบสี่ และประเพณีตามวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีความเชื่อเรื่องดอนปู่ตา ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวอีสานที่นับถือสืบต่อกันมา มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน หลังจากอาศัยอยู่ได้ระยะหนึ่ง ได้มีชาวบ้านต่างหมู่บ้านเข้าไปตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ใกล้หมู่บ้าน พอต้นไม้ใหญ่ล้มก็ได้เกิดอาเพศ ลมพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขเหตุการณ์ใด ๆ ชาวบ้าน จะต้องล้มตายหรือย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นจึงได้ส่งตัวแทนชาวบ้านไปนิมนต์พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนตฺโร) หรือชื่อที่คนทั่วไปเรียกว่า พระครูดีโลด เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืององค์แรก (พ.ศ. 2397-2485) ในสมัยนั้นมาปัดเป่าความชั่วร้ายหรือสิ่งไม่ดีในหมู่บ้านตามความเชื่อ และหลวงปู่ยังได้นำไม้มงคลมาฝังไว้กลางหมู่บ้านเป็นเสาหลักบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้เคารพกราบไหว้บูชาและป้องกันสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้านอีก หลังจากที่ท่านพระครูวิโรจน์กลับไปแล้ว สิ่งชั่วร้ายที่เคยเกิดขึ้นก็หมดไป และไม่เกิดขึ้นอีกเลยจนปัจจุบันจึงมีประเพณีกราบไหว้ บูชาเสากลางบ้านสืบต่อกันมาทุกปี
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
1.สวนดอกเบญจมาศ เป็นไม้ประดับที่มีอยู่ในชุมชน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศดอกขนาดใหญ่ จากการประกวดในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี งานไม้ดอกไม้ประดับของเทศบาลวารินชำราบทุกปี สวนดอกเบญจมาศในชุมชน คือ สวนของนายประสิทธิ์ บุญแก้ว สวนของนายสุริยันต์ จารุการ ลำพังเพียงดอกเบญจมาศอย่างเดียวก็สร้างรายได้เข้าชุมชนมากกว่าปีละ 5 แสนบาท
2.เที่ยวชมดอนปู่ตา ป่าดิบแล้งที่อยู่ใกล้เมืองผืนเดียวที่ยังเหลืออยู่ และมีสภาพอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ทั้งเถาวัลย์ที่เป็นสมุนไพรขนาดเล็ก ไม้ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่สูงมากกว่า 20 เมตร มากกว่าร้อยต้น มีสัตว์ป่ามากมาย ทั้ง ไก่ป่า นกนานาชนิด กระรอก กระแต กิ้งก่า สัตว์เลื้อยคลาน งู จำนวนมาก มีเห็ดมากมายเป็นอนุสรณ์ทางธรรมชาติที่มีค่ามาก การใช้ประโยชน์ หมู่บ้านอื่น ๆ รอบ ๆ ป่า 4-5 หมู่บ้าน จะมาเก็บเห็ด หาฟืน การเลี้ยงปู่ตา มีการนำเอาวัฒนธรรมชุมชนมาปรับใช้ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็น ในอนาคตชุมชนจะปรับเปลี่ยนจากป่าธรรมดาให้เป็นสถานที่สำหรับแหล่งการเรียนรู้จากธรรมชาติ ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปศึกษาเรียนรู้คุณค่า ประโยชน์ของป่าไม้
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากจะได้ชมสวนไม้ดอก ไม้ผล แล้วด้วยเหตุที่ชุมชนมีอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก จึงได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากบรรพบุรุษ บางส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เกิดจาการลองผิดลองถูก และปรับใช้กับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
- การใช้พลูป่าล่อแมลงวันทองจนสามารถกำจัดแมลงวันทองที่เป็นศัตรูของไม้ผล ส้ม พุทรา มะนาว ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ไม่เน่าเสีย ลดการใช้สารเคมีได้จำนวนมากนับแสนบาทต่อปี ชุมชนเองก็ได้ปักชำหน่อเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวผู้สนใจอีกด้วย
- การใช้เกลือโรยรอบต้นส้มโอทำให้ไม่เป็นส้มโอเนื้อแข็งกระด้าง
- การใช้ไฟล่อแมลงล่อหนอนแดงที่เป็นตัวการเจาะทำลายต้นไม้ในสวนผลไม้เช่นพุทรา ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะนาว และประหยัดเงินจำนวนมากต่อปี
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นอีสาน (สำเนียงอุบลราชธานี) ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสาน และการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่ชุมชนบ้านบัวเทิง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
เดิมชุมชนบ้านบัวเทิงนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวและปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลังการทำนา เช่น ปอ ถั่ว แตงกวา มันสำปะหลัง จนกระทั่งปี 2530 มีเกษตรกรชาวจังหวัดนครปฐมได้เข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกกุหลาบและองุ่นที่บ้านบัวเทิง และได้จ้างคนในชุมชนเป็นคนงานช่วยดูแลสวน อีกทั้งยังถ่ายทอดวิธีการปลูก การดูแลรักษาไม้ดอกไม้ประดับให้กับคนในชุมชน จนทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกุหลาบแหล่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี จนมีหน่วยงานภาครัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนปัจจัยการผลิตจึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อสร้างโอกาสและอำนาจในการต่อรองทางการตลาด งบประมาณที่ได้ก็นำมาสร้างอาคารโรงเรือนและจัดหาปัจจัยการผลิตมาให้สมาชิกในกลุ่มซึ่งมีประมาณ 20 คน เกษตรกรชุมชนบ้านบัวเทิงสามารถปลูกกุหลาบได้คุณภาพดีจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ จึงสามารถส่งขายได้เพียงในตัวจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง
หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาปลูกดอกเบญจมาศ เนื่องจากการปลูกกุหลาบนั้นทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2543 ได้มีการปลูกไม้ผลยืนต้นบนเนื้อที่ราว 40 ไร่ ซึ่งก็คือ พุทราพันธุ์สามรส ซึ่งได้พันธุ์มาจากจังหวัดนครนายก โดยการแนะนำของนายวิโรจน์ สวนประเสริฐ การปลูกพุทราจะปลูกครั้งเดียว และให้ผลผลิตยาวนาน ซึ่งสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกดอกเบญจมาศ พื้นที่ชุมชนบัวเทิงจึงกลายเป็นแหล่งปลูกพุทราของจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันกำลังพัฒนาเรื่องการแปรรูปพุทราให้เป็นแยม ซึ่งสามารถทำได้ทั้งผลสดและผลสุก เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กิติพจน์ แสนสิงห์. (2552). โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบมีส่วนร่วมของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนบ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ชุมชนต้องเที่ยว. (2563). ชุมชนบ้านบัวเทิง จ.อุบลราชธานี. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://www.facebook.com/
บ้านบัวเทิง. (18 กุมภาพันธ์ 2554). บ้านบัวเทิง. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2568, จาก http://banbuatueng.blogspot.com/
มติชนออนไลน์. (14 กรกฎาคม 2560). ชุมชนต้นแบบ : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดย:สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน-กมลวรรณ พลับจีน. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://www.matichon.co.th/
สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน. (2560). ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/