Advance search

บ้านปราสาท

ร่วมเรียนรู้อารยธรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง พร้อมกับความหลากหลายของกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบรส ที่ชุมชนบ้านปราสาทใต้ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

หมู่ที่ 7
บ้านปราสาทใต้
ธารปราสาท
โนนสูง
นครราชสีมา
อบต.ธารปราสาท โทร. 0 4496 6454
วิไลวรรณ เดชดอนบม
26 ก.พ. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
26 ก.พ. 2025
บ้านปราสาทใต้
บ้านปราสาท

ในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ธารปราสาท เชื่อกันว่าในอดีตเคยมีปราสาทหินตั้งอยู่ในลำธาร จึงตั้งชื่อว่า บ้านปราสาท ส่วนคำว่า ใต้ มาจากที่หมู่บ้านปราสาทมีการแบ่งอาณาเขตเหนือ-ใต้ โดยฟากที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือเรียกว่า บ้านปราสาทเหนือ และฟากที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้เรียกว่า บ้านปราสาทใต้


ชุมชนชนบท

ร่วมเรียนรู้อารยธรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง พร้อมกับความหลากหลายของกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบรส ที่ชุมชนบ้านปราสาทใต้ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

บ้านปราสาทใต้
หมู่ที่ 7
ธารปราสาท
โนนสูง
นครราชสีมา
32420
15.245757792471032
102.3709876522758
องค์การบริหารส่วนตำบลธารปราสาท

บ้านปราสาทใต้เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ผู้คนมักจะเรียกบ้านปราสาทใต้ ว่า “บ้านปราสาท” (ซึ่งก็หมายรวมถึงบ้านปราสาทเหนือด้วย) ที่มาของชื่อบ้านปราสาทเป็นที่เชื่อกันในชุมชนว่าในอดีตกาลเคยมีปราสาทหินตั้งอยู่ในลำธารปราสาท เมื่อถึงช่วงฤดูแล้งระดับน้ำจะลดลงจนสามารถเดินชมลำธารปราสาทได้ ซึ่งบริเวณท้องน้ำเป็นพื้นแข็งเหมือนปูลาดด้วยหินซากปราสาท โดยมีตำนานเกี่ยวกับปราสาทหินในลำน้ำแห่งนี้ว่า ในอดีตกาลมีการก่อสร้างปราสาทหินแข่งกัน 3 แห่ง คือ ปราสาทหินพิมาย ที่อำเภอพิมาย ปราสาทหินพนมวัน ที่อำเภอเมือง และปราสาทหินบ้านปราสาทนี้ โดยตกลงกันว่าที่ใดสร้างเสร็จก่อนให้ปล่อยโคมเป็นสัญญาณ ที่พิมายยังสร้างไม่เสร็จแต่ปล่อยโคมก่อน ดังนั้นฝ่ายบ้านปราสาทจึงยกปราสาททั้งหลังทิ้งลงน้ำ ทำให้เกิดที่มาของชื่อลำธารปราสาท และเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านปราสาท และตำบลธารปราสาท มาจนถึงปัจจุบัน

บ้านปราสาทใต้ หมู่ที่ 7 ตั้งอยู่ในตำบลธารปราสาท ห่างจากตัวอำเภอโนนสูงประมาณ 18 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,982 ไร่ โดย 1,867 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรม บ้านปราสาทใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน การตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่เป็นคุ้ม ๆ ตามกลุ่มเครือญาติ รอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นทุ่งนา ทางทิศเหนือของหมู่บ้านจะมีลำน้ำเรียกว่า “ลำธารปราสาท” ซึ่งเปรียบเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงคนในชุมชน โดยน้ำจากลำน้ำสายนี้ถูกนำมาใช้ทั้งเพื่อการอุปโภค และการบริโภค รวมถึงการเกษตรและการประมงพื้นบ้าน และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปราสาทเหนือ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสัมฤทธิ์ ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านใหม่เกษมใต้ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านธารปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 622 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 300 คน ประชากรหญิง 322 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 215 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่าน ความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะแผ่ขยายมาถึงจังหวัดนครราชสีมาจนถือเป็นจังหวัดชั้นนำทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน แต่ทั้งนี้สภาพสังคมส่วนใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมายังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม รวมถึงบ้านปราสาทใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ที่ทำกันเป็นส่วนมาก คือ การทำนาตามฤดูกาล แต่เนื่องจากการทำนาของเกษตรบ้านปราสาทใต้อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากบางปีฝนไม่ตกตามดูกาล หรือบางปีฝนน้อย ทำให้ไร่นามีน้ำไม่เพียงพอ พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เฉาตาย และให้ผลผลิตไม่เต็มที่ 

นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้วยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่ทำควบคู่กันไป เช่น ข้าราชการ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป รวมถึงลูกจ้างในภาคบริการการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากบ้านปราสาทใต้มีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ คือ แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทใต้ ที่กำลังถูกผลักดันจากชุมชนและหน่วยงานภาครัฐให้กลายเป็นแหล่งเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา จึงมีการร่วมกันก่อตั้งโฮมสเตย์เพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มาเรียนรู้วัฒนธรรมและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น งานหัตถกรรมพื้นบ้านทั้งการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่ถือเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในภาคอีสานนอกจานี้ยังมีผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นกก และต้นธูปฤาษี (ต้นลำพรรณ) ซึ่งหาได้จากรอบ ๆ ลำน้ำธารปราสาทที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีการประยุกต์ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและใช้งานได้จริง ทั้งกระเป๋า แฟ้มใส่เอกสาร เสื่อพับ หมวก รองเท้า กล่องกระดาษทิชชู ที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านปราสาทนอกช่วงเวลาการไปทำไร่ทำนาได้เป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ดี ตามที่ทราบกันแล้วว่าบ้านปราสาทใต้นั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทั้งยังมีฐานะเป็นแหล่งโบราณคดีที่นับว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมเรียนรู้อารยธรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง พร้อมกับความหลากหลายของกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบรส ทั้งการเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนโบราณ ผ่านพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท เรียนรู้หัตถกรรมเส้นใยพืช ภูมิปัญญาโบราณจากริมน้ำธารปราสาท ชมวิธีการทอผ้าไหมมัดหมี่ ของฝากเมืองโคราช สักการะศาลปู่ตา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ลัดเลาะเข้าสวน บุกแปลงปลูกดอกรักแหล่งใหญ่ของหมู่บ้าน ชมหลุมขุดค้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท และเดินเล่นรับลมชมวิวข้ามลำน้ำธารปราสาทบนสะพานตะโกนรัก

อนึ่ง บ้านปราสาทใต้ยังเป็นแหล่งปลูกดอกรักส่งไปยังร้านดอกไม้ค้าส่งใหญ่ ๆ เพื่อใช้ในงานร้อยมาลัย หรืองานดอกไม้ประดับตกแต่งสถานที่ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เพราะเป็นดอกไม้เศรษฐกิจที่ปลูกขายส่งได้ในราคาที่ดีมาก

บ้านปราสาท นับเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการทั้งในด้านการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ติดต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน โดยภายในพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท มีการจัดแสดงการจำลองวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งข้าวของเครื่องใช้โบราณที่หาชมได้ยาก เครื่องมือการจับสัตว์น้ำพื้นถิ่น เครื่องมือในการเพาะปลูก พร้อมทั้งการบอกเล่าเรื่องราวของพิธีกรรมโบราณที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชุมชนอย่างการทำนา ในพิธี “ทำขวัญยุ้งข้าว” ซึ่งเป็นความเชื่อโบราณในการอัญเชิญพระแม่โพสพให้ช่วยดูแลปกปักรักษายุ้งข้าวให้ปลอดภัย

อีกประเพณีหนึ่งที่ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุด ซึ่งชาวบ้านปราสาทใต้ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีไม่ขาด คือ การสักการะศาลปู่ตา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ขนาด 9 คนโอบ ซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองชาวบ้านให้ใช้ชีวิตกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยจะมีพิธีบวงสรวงทำบุญกันเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน

นอกจากคติความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมที่เกี่ยวพันกับการทำเกษตรกรรมและดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บ้านปราสาทยังถือเป็นชุมชนพุทธศาสนิกชนเต็มตัว เนื่องจากชาวบ้านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อเรื่องบุญบาป ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาด้วยเช่นเดียวกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่และเก่าแก่รองลงมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า บริเวณนี้เคยมีชุมชนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว หลักฐานที่ขุดค้นพบ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 3,000 ปี ฝังอยู่ในชั้นดินที่ลึกที่สุด แสดงถึงการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมายาวนาน ลดหลั่นขึ้นมาเป็นชั้นตามช่วงสมัย พร้อมทั้งของประดับและภาชนะยุคโบราณที่แตกต่างกันในแต่ละชั้นดิน เช่น ภาชนะดินเผา หม้อปากแตร และเครื่องมือสัมฤทธิ์ รวมถึงของประดับและภาชนะยุคโบราณที่แตกต่างกันในแต่ละชั้นดิน เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด และภาชนะดินเผาปากแตรเคลือบน้ำดินสีแดงแบบลายเชือกทาบและขัดมัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายทางโบราณคดีในการเข้าใจถึงวิถีชีวิตและอารยธรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์

สะพานตะโกนรัก

สะพานตะโกนรัก เป็นสะพานไม้ข้ามลำธารปราสาทเชื่อมคนสองหมู่บ้านระหว่างบ้านเหนือและบ้านใต้ที่เดินสัญจรผ่านไปมาเข้าหากัน โดยเมื่อเดินสัญจรบนสะพานนี้จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์และวิถีชีวิตทั้งสองฝั่งลำน้ำธารปราสาท ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังถือเป็น 1 ใน 9 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษกและพิธีกาญจนาภิเษกและพิธีเฉลิมฉลอง 72 พรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และในทุก ๆ ปี ทางชุมชนยังมีการจัดงาน “ประเพณีวิ่งตะโกนรัก” เพื่อประชาสัมพันธ์และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยชุมชนในแบบของบ้านปราสาทใต้ โดยชื่อ "สะพานตะโกนรัก" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความรักสมัครสมานสามัคคีกันของคนสองหมู่บ้านที่เดินข้ามไปมาหากัน ให้ตะโกนบอกรักกันทุกวันหลังเดินสวนทางกันบนสะพาน จึงได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมความสวยงามของสะพานตะโกนรัก พร้อมทั้งชมความสวยงามของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ชมความสวยงามของแม่น้ำในวิถีชนบทได้ตลอดทุกวันในช่วงฤดูหนาว

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นอีสาน สำเนียงโคราช ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทและแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2568. https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/922

ไพจิตร ประดิษฐ์ผล. (2553). คุณภาพชีวิตในชุมชนท่องเที่ยวโฮมสเตย์ กรณีศึกษา โฮมสเตย์บ้านปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา. (ม.ป.ป.). ปราสาทบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา. สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา, กรมศิลปากร. สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2568. https://www.finearts.go.th/

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)(ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านปราสาท. สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2568. https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/5/

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). หมุนเวลาย้อนวันวานก่อนประวัติศาสตร์ เรียนรู้รากอารยธรรมแหล่งโบราณคดี: ชุมชนบ้านปราสาทใต้ จังหวัดนครราชสีมา. สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2568. https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/reviewTravel/content/14/

NATION. (2563, 25 พฤศจิกายน). นครราชสีมา ชวนเที่ยวหน้าหนาว ชมสะพานไม้เก่าแก่อายุ 3 พันปี แหล่งเที่ยวลำธารปราสาทแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านบูรณะซ่อมแซมให้เป็นสะพานตะโกนรักและสามารถใช้สัญจรไปมาได้. สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2568. https://www.nationtv.tv/news/

อบต.ธารปราสาท โทร. 0 4496 6454