Advance search

บ้านใหม่หางกระเบน, ทุ่งมะขามหย่อง, บ้านใหม่เหนือ, บ้านใหม่ใต้

ชุมชนแกะสลักไม้ ภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกลายเป็นทุนของชุมชนที่ถูกส่งต่อมากว่า 80 ปี

หมู่ที่ 4
บ้านใหม่
บ้านใหม่
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
อบต.บ้านใหม่ โทร. 0 3539 8327
ชลลดา สุขขีรส, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
4 พ.ย. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
15 ก.พ. 2025
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
5 มี.ค. 2025
บ้านใหม่
บ้านใหม่หางกระเบน, ทุ่งมะขามหย่อง, บ้านใหม่เหนือ, บ้านใหม่ใต้

ชุมชนบ้านใหม่นี้เป็นหนึ่งในตำบลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก ทรงคุณค่าของเมืองไทย ตำบลบ้านใหม่ เดิมชื่อ "ตำบลกรุงเก่า" ความเป็นมาของชื่อ "บ้านใหม่" คือ ในสมัยโบราณก่อนการตั้งถิ่นฐานตั้งรกรากเมื่อสร้างบ้านขึ้นมาก็จะเรียกกันว่าบ้านใหม่ คือ บ้านหลังใหม่ จากนั้นก็เรียนชุมชนแห่งนี้จนกลายมาเป็นชื่อเรียกบ้านใหม่ในปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนแกะสลักไม้ ภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกลายเป็นทุนของชุมชนที่ถูกส่งต่อมากว่า 80 ปี

บ้านใหม่
หมู่ที่ 4
บ้านใหม่
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
13000
14.389286183052013
100.52103482894863
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่

ชุมชนบ้านใหม่เป็นคำกล่างถึงกลุ่มหมู่บ้านในตำบลบ้านใหม่หนึ่ง ในตำบลของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นตำบลที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี ตำบลบ้านใหม่เดิมเรียก "บ้านใหม่มะขามหย่อง" เป็นชุมชนเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยามีทั้งคนไทย จีน ลาว อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเป็นเหล่า ต่อมาปี 2492 ประกาศจัดตั้งเป็นตำบล ชื่อว่า "ตำบลบ้านใหม่" ตามชื่อนำหน้าหมู่บ้าน ซึ่งมักมีคำว่า "บ้านใหม่" นำหน้า มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ประชาชนรวมกลุ่มกันตั้งถิ่นฐาน แยกเป็นสองฟากฝั่งแม่น้ำ มีพื้นที่ทั้งหมด 9.22 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่บ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน เนื้อที่โดยรวมประมาณ 9.22 ตารางกิโลเมตร ราษฎรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม บางหมู่บ้านก็ทำอิฐมอญขาย ประชาชนทุกหมู่บ้านขึ้นชื่อว่ามีฝีมือด้านการแกะสลักไม้ทำบ้านทรงไทย และประตูหน้าต่าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษยัง จนกลายเป็นทุนทางชุมชนที่ดีมากว่า 80 ปี

บ้านใหม่ หมู่ 4 มีระยะห่างจากอำเภอพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับบ้านหางกระเบนใต้ หมู่ 8 ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับบ้านคลองนอก หมู่ 5 บ้านคลองใน หมู่ 6 และบ้านท้ายไผ่ หมู่ 7 ส่วนทิศใต้ติดกับบ้านใหม่ใต้ หมู่ 3 ส่วนตำบลบ้านใหม่มีอาณาเขตทิศเหนือจดตำบลพุทลา อำเภอบางประหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศใต้ จด ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออก จด ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทิศตะวันตก จด ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บ้านใหม่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม มีทุ่งนา น้ำท่วมถึง ไม่มีภูเขา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านภายในตำบล บ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน คือ คลองท้ายไผ่-พุทเลา คลองหางกระเบน คลองมหาพราหมณ์ แหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ลักษณะดังกล่าวทำให้ช่วงที่มีน้ำหลากน้ำจึงท่วมทุกพื้นที่ ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเกิดภาวะน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย บ้านใหม่จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ซึ่งเป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เป็นแหล่งรับน้ำจากหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ในการรับมือน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก จะมีการผันน้ำเข้า "โครงการแก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง" ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาภาวะน้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง (อบต.บ้านใหม่, ม.ป.ป.)

แม้ว่าชุมชนบ้านใหม่จะไม่ได้ปรากฏเป็นข่าวจากการได้รับผลกระทบน้ำท่วม แต่สามารถเทียบเคียงผลกระทบได้จากชุมชนช่างแกะสลักไม้ที่ตำบลภูเขาทองซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร และอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับตำบลบ้านใหม่ ในปี พ.ศ. 2559 ชุมชนนี้เคยประสบปัญหาน้ำท่วมและส่งผลกระทบต่ออาชีพแกะสลักและไม้ซึ่งเป็นทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำคัญสำหรับการทำมาหากิน ทำให้ชาวบ้านอาชีพแกะสลักต้องยกของหนีน้ำท่วมในบริเวณบ้านของตนเองและต้องมาแกะสลักบนถนนหรือพื้นที่ที่ทางรัฐจัดไว้ให้ (MGR Online, 2559) 

ประชากรในพื้นที่เป็นคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอาศัยอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้มารุ่นต่อรุ่น หรือเรียกกว่าเป็นคนอยุธยาโดยพื้นเพ ไม่ได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น อีกทั้งเป็นชุมชนเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยามีทั้งคนไทย จีน ลาว และมีการย้ายอพยพจากถิ่นอื่นคือผู้อื่นที่แต่งงานเข้ามาในชุมชน ในอดีตก็มีชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากลาวเวียงจันท์ หรือที่เรียกว่าลาวเวียง ที่หนีภัยสงครามอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปัจจุบันอาศัยอยู่ตรงบริเวณวัดจันทร์ประเทศ โดยปัจจุบันก็จะเป็นเพียงเชื้อสายที่สืบทอดต่อกันมาแล้วเท่านั้นโดยเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ (อบต.บ้านใหม่, ม.ป.ป.; วีรพล น้อยคล้าย และมรุต กลัดเจริญ, 2567)

สถิติกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่าประชากรในบ้านใหม่ หมู่ 4 มีจำนวน 507 คน จาก 193 ครัวเรือน ส่วนประชากรในตำบลบ้านใหม่ทั้งหมด 4,575 คน จาก 1,527 ครัวเรือน

พื้นที่เขตบ้านใหม่ปกครองด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่โดยมีกลุ่มอาชีพ ดังนี้ 1) กลุ่มอาชีพแกะสลัก 2) กลุ่มเกษตรกร ปลูกพืชหลักได้แก่ข้าวและข้าวโพดข้าวเหนียว และปลูกพืชผักสวนครัว รวมถึงประกอบอาชีพปศุสัตว์ คือ เลี้ยงไก่ เป็ด และปลาในกระชัง 3) กลุ่มงานจักสาน 4) นวดแผนไทย 5) ขนมไทย 6) สมุนไพรไทย โดยส่วนใหญ่อาชีพหลักในชุมชนคือแกะสลักไม้ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

อาชีพแกะสลักในตำบลบ้านใหม่ถือว่ามีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนั้น หลังจากที่อยุธยาแตกพ่ายแพ้ให้กับอาณาจักรพม่าในขณะนั้น พบว่าช่างแกะสลักมีฝีมือในราชสำนักที่ตกหล่นไม่ได้ถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ช่างแกะสลักเหล่านั้นได้หลบหนีไปตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำในบริเวณที่เรียกว่า "กรุงเก่า" ซึ่งก็คือพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ในปัจจุบัน ทำให้วิชาความรู้ด้านแกะสลักไม้ในถ่ายทอดจากช่างในวังสู่คนสามัญและกระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง การสืบทอดวิชาดังกล่าวเกิดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นศิลปหัตถกรรมแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียง โดยมีอาจารย์ไสว เดชศรี เป็นบุคคลสำคัญในการรับทอดและสืบทอดความรู้ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 โดยอาจารย์สไวซึ่งเป็นคนกรุงเทพมหานคร ได้แต่งงานกับอาจารย์ทองขาว ดำเนินโฉม ซึ่งในเวลานั้นอยู่หมู่ 5 ตำบลบ้านใหม่ ผู้ซึ่งได้ความรู้การแกะสลักช่างไม้มาจากบรรพบุรุษ และรับทำหมูโต๊ะบูชาและธรรมาสน์เทศบุกบกให้กับผู้สั่งบริเวณเสาชิงช้าที่กรุงเทพฯ ความต้องการมีมากขึ้นจึงทำให้ทั้งคู่จึงต้องอบรมและเผยแพร่ความรู้ให้กับคนเป็นจำนวนมากเพื่อทำสินค้าให้ทันกับความต้องการ จนทำให้การแกะสลักกลายเป็นอาชีพสำคัญของชุมชนเป็นร้อยครัวเรือนให้ตำบลบ้านใหม่ และมีโรงงานแกะสลักไม้ถึง 4 โรงงาน ลักษณะเด่นของงานไม้สลักของที่นี่คือมีความประณีตสวยงามแสดงถึงความละเอียดและอ่อนช้อย (อบต.บ้านใหม่, ม.ป.ป.; ธรรม์มยุรา สุรัติสุพพัต, 2560; วีรพล น้อยคล้าย และมรุต กลัดเจริญ, 2567)

ชุมชนบ้านใหม่มีขนบธรรมเนียมและประเพณีคล้ายกับชุมชนไทยอื่น ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดภาคกลางอื่น ๆ คือ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีกวนข้าวกระยาทิพย์ ประเพณีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งวันปีใหม่ เป็นต้น แต่ประเพณีที่ยึดถือกันมานานคือการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ของไทย

1.นายไสว เดชศรี หรือ "อาจารย์ไสว"

ประชาชนในตำบลบ้านใหม่ 10 ชุมชน เรียกชื่อท่านจนเป็นที่รู้จักกัน จากการเป็นครูสอนวิชาศิลปหัตถกรรมแกะสลักไม้ ด้วยลวดลายไทย อาจารย์ไสวเป็นผู้นำเอาวิชาแกะสลักไม้ด้วยลวดลายไทยมาสอนให้กับผู้ที่สนใจโดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ จนทำให้คนในตำบลบ้านใหม่มีอาชีพแกะสลักไม้ กันเกือบทุกหลังคาเรือน 

อาจารย์สไว เป็นคนกรุงเทพมหานคร เกิดในปี พ.ศ. 2453 ที่บริเวณเสาชิงช้า ไม่ไกลจากศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นบุตรของนายสวาท และนางกรด เดชศรี จบการศึกษาจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และเมื่อจบการศึกษายังได้ทำงานที่กรุงเทพฯ สักระยะหนึ่ง ก่อนแต่งงานกับอาจารย์ทองขาว เดชศรี คนอยุธยา และได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านคลองนอก หมู่ 5 ตำบลบ้านใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาจารย์ทองขาว ซึ่งในเวลานั้นได้เริ่มทำอาชีพแกะสลักโต๊ะหมู่บูชาและธรรมมาสน์สำหรับพระเทศน์แล้ว ทั้งคู่แกะสลักและส่งขายสินค้าให้ทางผู้สั่งบริเวณเสาชิงช้าจนผลิตไม่ทัน จนกลายเป็นที่มาทำให้อาจารย์สไวและอาจารย์ทองขาวเริ่มเผยแพร่ความรู้ด้านแกะสลักให้กับคนในหมู่บ้านและใกล้เคียงเพื่อทำสินค้าส่งขาย จากปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา ทั้งคู่ถือว่าได้เริ่มอบรมและถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนจนทำให้การแกะสลักไม้กลายเป็นอาชีพของทุกครัวเรือนในตำบลบ้านใหม่ (ธรรม์มยุรา สุรัติสุพพัต, 2560)

ทักษะที่อาจารย์ไสวมีความเชี่ยวชาญและได้สอนผู้คนตั้งแต่การเขียนลายไทย การลงลาย และการฉลุลาย นับเป็นเวลากว่า 70 ปีที่ความรู้และทักษะดังกล่าวได้ถ่ายทอดมาสู่ชุมชน ที่เป็นภูมิปัญญาที่ปรากฏในวัดหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น ประตูโบสถ์ของวัดทุ่งสีกัน ที่ดอนเมือง กรุงเทพฯ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพฯ ที่มีนายสมศักดิ์ เจริญไทย ซึ่งถือว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นที่ 3 ของอาจารย์ไสว เดชศรี ความดีงามของอาจารย์สไวที่เป็นที่ประจักษ์ จึงทำให้ชุมชนสร้างอนุสรณ์เชิดชูเกียรติ อาจารย์ไสวและอาจารย์ทองขาว เดชศรี ตั้งอยู่ในวัดจันทร์ประเทศ ที่บ้านคลองใน หมู่ 6 (ธรรม์มยุรา สุรัติสุพพัต, 2560)

ศิลปะแกะสลักไม้ของตำบลบ้านใหม่จึงทำให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มหัตถกรรมแกะสลักไม้ และพัฒนาเป็นสินค้าโอท็อป ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน และมีการพัฒนารูปแบบการแกะสลักเพิ่มขึ้น ทั้ง พระ บานประตูโบสถ์ ช่อฟ้า ฐานงาช้าง ประตูบ้าน เป็นต้น

2.นายทวีป ดวงนิมิต

งานศึกษาของธรรม์มยุรา สุรัติสุพพัต (2560) ยังระบุถึงช่างแกะสลักอีกคนคือนายทวีป ดวงนิมิต อายุ62 ปี ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ปราชญ์ท้องถิ่นทางด้านงานแกะสลักไม้ลายไทย" แห่งบ้านใหม่ทุ่งมะขามหย่อง ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทั้งงานไม้แกะสลักและปูนปั้น เขาได้รับความรู้เกี่ยวกับการแกะสลักมาจากแม่ของเขาที่ไปรับงานมาทำที่บ้านจากอาจารย์สไวและอาจารย์ทองเขา นายทวีปเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนประถมวิทยาคารและไปต่อที่โรงเรียนอยุธยาศึกษา แต่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี จึงต้องออกจากการเรียนกลางคันและมาหารายได้รับจ้างขูดและตัดไม้กับแม่ของตนเอง ได้ค่าแรงวันละ 5 บาทในเวลานั้น แต่เนื่องด้วยสุขภาพของแม่ไม่ดีจึงเลิกกิจการและส่งต่องานให้กับน้าที่อยู่ในตำบลภูเขาทอง ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านใหม่ จากนั้นนายทวีปได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิค และได้รวมกลุ่มกับเพื่อนไปรับงานแกะสลักโต๊ะหมู่บูชามาทำเองจนเป็นอาชีพที่เป็นตัวเป็นตนเป็นต้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 เขาและเพื่อนมีประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งในการบูรณะพระบรมมหาราชวัง เพื่อฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525 ความรู้ความสามารถของนายทวีปได้ส่งต่อไปยังต่างประเทศซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ในเวลาต่อมา ใน พ.ศ. 2530 นายสไวได้เดินทางไปยังประเทศบรูไน ไปเป็นช่างแกะสลักไม้และตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทอันเฟริท์ดีไซน์ ที่ได้รับโครงการก่อสร้างพระราชวังของสุลต่านบรูไน ตั้งแต่ อาคาร โรยัลบรูไน โปโลคลับ จำนวน 11 อาคาร วังของพระเชษฐาและพระอนุชาของสุลต่าน ฮัดซัน โบโรเกียร์ การรับงานโครงการนี้ ทำให้ช่างทวีปได้ชักชวนช่างไม้แกะสลักคนอื่น ๆ อีก 30 คนไปร่วมงาน ซึ่งไม่ใช่คนจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น แต่มีช่างไม้แกะสลักจากจังหวัดอื่นด้วย คณะช่างไม้แกะสลักจากประเทศไทยจึงรับงานนี้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 หรือวิกฤติ "ต้มยำกุ้ง" ที่เริ่มต้นในประเทศไทยและส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรูไนก็ได้รับผลกระทบโดยเช่นกัน จึงทำให้การจ้างงานด้านแกะสลักลดลงจากเศรษฐกิจที่หดตัวลง ส่งผลให้คณะช่างแกะสลักจึงต้องอพยพกลับประเทศไทยและภูมิลำเนาบ้านเกิด ต่อมาได้มารับงานกับนายสุชิน ประสบผล ตัวแทนบริษัทที่รับงานจากกรมศิลปากร ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ไปทำงานที่โรงงานไม้จนกระทั่งบริษัทปิดตัว จากนั้นจึงเน้นการรับงานแกะสลักที่บ้านแทนและรับเป็นวิทยากรพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับการสลักไม้กับโรงเรียนปฐมวิทยาคาร โรงเรียนระดับมัธยมต้นในบ้านใหม่ หมู่ 4 โดยการสนับสนุนจาก อบต. บ้านใหม่

3.นายเหรียญ แพทย์สิทธิ์ หรือ "ตาเหรียญ"

นายเหรียญ แพทย์สิทธิ์ หรือ "ตาเหรียญ" ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เป็นที่รู้จักและยกย่องในฐานะช่างแกะสลักไม้ประจำบ้านใหม่ หมู่ที่ 4 ได้รับรางวัล "ช่างสิบหมู่" จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว

จากการสัมภาษณ์รสสุคนธ์ แพทย์สิทธิ์ บุตรสาวของตาเหรียญ เธอเล่าว่าตาเหรียญเกิดวันวันศุกร์ ในปี พ.ศ. 2482 แต่ไม่ทราบวันที่และเดือนเกิดที่แน่ชัด พื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรชายของพ่อเหลือแม่ก้อย แพทย์สิทธิ์ ต่อมาได้สมรสกับนางสำราญ สมบัติ (สกุลเดิม) ปัจจุปันใช้นามสกุลแพทย์สิทธิ์ เมื่อแต่งงานแล้วได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านใหม่ใต้ หมู่ 3 ตำบลบ้านใหม่ สำหรับประวัติด้านการทำงานของตาเหรียญนั้น ในช่วงแรก ตาเหรียญมีอาชีพเป็นคนงานโรงสีข้าวในบ้านหัวดุม หมู่ 1 ตำบลบ้านใหม่ แต่เมื่อได้แต่งงานกับนางสำราญ จึงเปลี่ยนอาชีพมาทำงานเกี่ยวกับการต่อหุ่นเฟอร์นิเจอร์และโต๊ะหมู่บูชา พร้อมกับการแกะสลักลายทุกชนิด โดยฝึกหัดมาจากรุ่นครูไสว เดชศรี และลูกศิษย์รุ่นต่อ ๆ มาของครูสไว จึงทำให้ตาเหรียญมีทักษะฝีมือที่ชำนาญมากขึ้น ต่อมามีการประกวดการต่อหุ่น ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตาเหรียญได้เข้าร่วมกันแข่งขันและได้รางวัลช่างสิบหมู่และได้รับโล่เกียรติคุณ "รางวัลช่างสิบหมู่" ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

บ้านใหม่และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลบ้านใหม่ ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านเรือนตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดทั้งตำบล มีวิถีชีวิตอยู่อย่างชาวชนบท มีขนบธรรมเนียมและประเพณี คือประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีกวนข้าวกระยาทิพย์ เป็นต้น ประชาชนอยู่อาศัยกันแบบครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย เพราะประชาชนไม่ได้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่ ไปหางานทำที่อื่น มีวิถีชีวิตริมน้ำให้เห็นอยู่บ้าง เนื่องจากหมู่บ้านมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้ต้องมีการสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้าน ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ ครอบครัวอยู่อาศัยกันอย่างอบอุ่น มีการเอื้ออาทรกันในหมู่บ้าน

ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำตำบล 6 แห่ง ได้แก่ วัดราชบัวขาว วัดโพธิ์เผือก วัดเกตุ วัดบำรุงธรรม วัดจันทร์ประเทศ และวัดกุฎีลาย บางวัดเหล่านี้มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้บางวัดสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และผลิตเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ให้คนมาเช่าเพื่อกราบไหว้บูชา เช่น วัดโพธิ์เผือกมีลูกอมเสริมดวง วัดเกตุมีกิจกรรมลอดโบสถ์เสริมดวงชะตา วัดจันทร์ประเทศมีหลวงพ่อหมอแดงซึ่งชาวบ้านให้ความศรัทธา มักจะมาขอพรให้สุขภาพแข็งแรง และวัดราชบัวขาวมีการปลุกเสกเครื่องรางของขลังเสริมบารมี นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่ออื่น ๆ และมีสิ่งเคารพกราบไหว้ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่แก้ว ศาลเจ้าพ่อสีชมพู ศาลเจ้าแม่โพสพ (วีรพล น้อยคล้าย และมรุต กลัดเจริญ, 2567)

งานศึกษาของวีรพล น้อยคล้าย และมรุต กลัดเจริญ (2567) ระบุว่าบ้านใหม่และตำบลบ้านใหม่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเนื่องจากมีจุดเด่นที่หลากหลายที่สามารถพัฒนาให้มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นชาติพันธุ์ลาวเวียง พื้นที่ประวัติศาสตร์ในฐานะที่พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงเก่าที่มีอุทยานประวัติศาสตร์และวัดวาอารามที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว และภูมิปัญหาการแกะสลักที่เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP โดยกรมพัฒนาชุมชน

ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร


ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแกะสลักซึ่งเป็นงานฝีมือ ดังนั้นชิ้นงานแต่ละชิ้นไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการทำที่ชัดเจนได้มากนัก รายได้จึงขึ้นอยู่กับงานที่ทำ ถ้าช่วงไหนมีงานแกะสลักมากรายได้ก็จะดี การจับจ่ายใช้สอยในชุมชนก็จะดีตามไป ถ้างานน้อยรายได้ก็จะได้รับน้อยเงินใช้จ่ายในชุมชนก็น้อยลง


ในปัจจุบัน 2567 ระบบสาธารณูปโภคมีการพัฒนาดีขึ้น มีน้ำประปา ถนน ไฟฟ้า น้ำดื่มที่ดีให้กับคนในชุมชน


ในตำบลมีโรงเรียนประถมศึกษา เช่น โรงเรียนปฐมวิทยาคาร โรงเรียนวัดกุฎีลาย และมี สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น ทำให้คนในชุมชนมีการศึกษามากขึ้น แต่ในปัจจุบันนิยมเรียนในตัวเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากขึ้น เช่น โรงเรียนประตูชัย โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ และโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ส่วนในชุมชนเองมีศูนย์การศึกษา ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาอาชีพ ศูนย์กีฬาประจำตำบล ศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร 


ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ ในตัวชุมชนมีวัดจำนวน 6 แห่ง ประกอบไปด้วย วัดราชบัวขาว วัดโพธิ์เผือก วัดเกตุ วัดบำรุงธรรม วัดจันทร์ประเทศ และวัดกุฎีลาย แต่ละวัดมีชื่อเสียงทั้งเกจิอาจารย์และวัตถุมงคลที่สร้างความศรัทธาให้กับผู้คนจำนวนมากมาอย่างยาวนาน


สภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านใหม่และตำบลบ้านใหม่เป็นที่ราบลุ่ม ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาจึงได้รับผลกระทบอุทกภัยบ่อยครั้ง หรือแทบทุกปี แต่ชุมชนยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งปลูกข้าว ข้าวโพด กล้วย เป็นต้น แม้จะไม่มีป่าแต่ก็มีสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ยังสามารถหาปลาได้ตามแม่น้ำ

1.พื้นที่ตำบลบ้านใหม่มี "พระราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย" ทุ่งมะขามหย่อง ที่นอกจากจะเป็นสมรภูมิรบไทย-พม่าหลายครั้งแล้ว ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรจนต้องพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้างรัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยจึงได้ร่วมกันสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535

2.โรงเรียนประถมวิทยาคาร ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 4 เปิดเรียนระดับประถมจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมาเกือบ 90 ปี ในปี พ.ศ. 2555 โรงเรียนได้เสริมหลักสูตรการเรียนแกะสลักไม้ให้กับนักเรียนในระดับมัธยม 1-3 โดยเป็นความริเริ่มของ อบต.บ้านใหม่ สมัยที่นายคำรณ ทานธรรม เป็นนายกฯ อบต. โดยเชิญให้นายทวีป ดวงนิมิต และปราชญ์ที่มีภูมิปัญญาด้านนี้มาเป็นวิทยากรพิเศษสอนตั้งแต่วิชาเขียนลายไทยเพื่อรู้จักลวดลายไทยเบื้องต้น การใช้สิ่วซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแกะสลักไม้ และการแกะสลักไม้เป็นสิ่งของต่างๆ เช่น ป้ายชื่อ และป้ายบ้านเลขที่ โดยมีลายไทยเป็นองค์ประกอบ (ธรรม์มยุรา สุรัติสุพพัต, 2560; โรงเรียนปฐมวิทยาคาร, 2564: สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น, ม.ป.ป.)

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง. Amazing THAILAND. https://thai.tourismthailand.org/Attraction/

สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น. (ม.ป.ป.). ทวีป ดวงนิมิต. https://thaiartisan.org/artist/775

ธรรม์มยุรา สุรัติสุพพัต. (2560). หัตถกรรมการแกะสลักไม้แห่งบ้านใหม่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยากับการสืบทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชนรุ่นใหม่. วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา, 9(1), 41-54.

เฟสบุ๊ค “วัดโพธิ์เผือก-ทุ่งมะขามหย่อง พระอาจารย์ต้อม”. (25 กุมภาพันธ์ 2562). ลูกอมมหามงคล พระเจ้ากรุงธนบุรี” วัตถุมงคลที่มีมวลสารศักดิ์สิทธิ์มากมาย พระอาจารย์ต้อมตั้งใจจัดเตรียมไว้ให้แก่ศิษยานุศิษย์และสาธุชน ที่มาร่วมงาน” พิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ ในวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2562”. Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php/

เฟสบุ๊กโรงเรียนปฐมวิทยาคาร. (11 พฤศจิกายน 2558). Facebook. https://www.facebook.com/pathomwittayakarn

วีรพล น้อยคล้าย และมรุต กลัดเจริญ. (2567). รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ กรณีศึกษาตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิจัยราชภัฏกรุงเก่า, 11(1), 23-36.

โรงเรียนปฐมวิทยาคาร. (25 มีนาคม 2564). กิจกรรมเรียนรู้สู่อาชีพ (เขียนลายไทยและแกะสลัก) โรงเรียนปฐมวิทยาคาร. YouTube. https://www.youtube.com/watch

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานสำคัญขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่. https://www.ban-mai.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา. (2567). วันที่ 9-10 เมษายน 2567 นายคำรณ ทานธรรม. [Image]. Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา. (2567). วันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 06.00 น. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่. [Image]. Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา. (2567). วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 นายคำรณ ทานธรรม. [Image]. Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php

MGR Online. (29 กันยายน 2559). ชาวชุมชนแกะสลัก” กรุงเก่าต้องขนย้ายข้าวของขึ้นมาแกะสลักโต๊ะหมู่บูชาบนถนนหนีน้ำท่วม. https://mgronline.com/local/detail/

รสสุคนธ์ แพทย์สิทธิ์, บุตรสาวของตาเหรียญ, สัมภาษณ์, 16 กุมภาพันธ์ 2568.

อบต.บ้านใหม่ โทร. 0 3539 8327