Advance search

บ้านถ้ำ-หนองเบี้ย

บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งภูเขา สายน้ำ ประวัติศาสตร์ชุมชนที่น่าสนใจ และเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

หมู่ที่ 13
บ้านถ้ำตับเตา
ศรีดงเย็น
ไชยปราการ
เชียงใหม่
อบต.ศรีดงเย็น โทร. 0 5305 0060
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
5 มี.ค. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
5 มี.ค. 2025
บ้านถ้ำตับเตา
บ้านถ้ำ-หนองเบี้ย

สันนิษฐานว่ามาจาก "ดับเต้า" เป็นภาษาล้านนา (คำเมือง) หมายถึง การดับขี้เถ้า ซึ่งเกิดจากไฟป่าตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีต ในระยะต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "ตับเตา" ซึ่งใช้เป็นชื่อถ้ำและชื่อชุมชนในปัจจุบัน


บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งภูเขา สายน้ำ ประวัติศาสตร์ชุมชนที่น่าสนใจ และเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

บ้านถ้ำตับเตา
หมู่ที่ 13
ศรีดงเย็น
ไชยปราการ
เชียงใหม่
50320
19.662898851149365
99.11759089110727
องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดงเย็น

ในระยะแรกช่วง พ.ศ. 2475-2500 เป็นระยะก่อร่างสร้างตัว เดิมทีในขณะนั้นบริเวณบ้านถ้ำมีบ้านอยู่ 5 หลัง ส่วนหนองเบี้ยที่อยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ มีบ้านอยู่ 3 หลัง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าและหนองน้ำขนาดใหญ่ มีเบี้ยหอย สัตว์น้ำสัตว์ป่าชุกชุม การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างกลุ่มที่อยู่บ้านถ้ำและหนองเบี้ยจะต้องใช้เรือ ในระยะต่อมาจึงมีการชักชวนญาติพี่น้องเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติม โดยแบ่งที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงกัน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จึงเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2501-2519 เป็นระยะขยายตัวของชุมชน บ้านเรือนยังไม่หนาแน่น ชุมชนถูกจัดรวมให้เป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านเด่นร้องธาร ขึ้นต่อตำบลปงตำ อำเภอฝาง ในส่วนของวัดถ้ำตับเตาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ มีการสร้างถาวรวัตถุ เช่น บันไดทางขึ้นถ้ำตับเตา โดยทางคณะสงฆ์อำเภอฝาง สมัยพระครูโสภณ เจติยาราม เจ้าคณะอำเภอขณะนั้นรักษาการณ์เจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครองดูแล ในหมู่บ้านได้มีการเปิดโรงเรียนโดย ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) ใช้วัดเป็นที่เรียน ในระยะนี้มีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาสักการะทำบุญที่วัดถ้ำตับเตาและถ้ำงามกันมาก เพราะได้ตัดถนนมีเส้นทางเข้าออกที่สะดวกขึ้น ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก รับกับกระแสศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดถ้ำตับเตา ทำให้ชุมชนเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ช่วงปี พ.ศ. 2520-2530 ราชการประกาศให้ชุมชนเป็นหมู่บ้าน อพป. โดยผ่อนผันให้ประชาชนอพยพเข้ามาจับจองที่ดินตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย มีการตั้งโรงเรียนประถมศึกษาในหมู่บ้าน เริ่มมีการปลูกพืช ทำสวนปลูกถั่ว ยาสูบ มีการโค่นป่าเลื่อยไม้มาสร้างบ้านและส่งขายตามใบสั่งของนายทุนกันอย่างแพร่หลาย คนหนุ่มสาวอพยพไปขายแรงงานนอกหมู่บ้าน หรือไปทำงานบริการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกันมาก

ช่วงหลังปี พ.ศ. 2531 เป็นช่วงที่ตำบลปงตำแยกการปกครองออกจาก อ.ฝาง เป็นกิ่งอำเภอไชยปราการ ใน พ.ศ. 2531 และเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2537 และแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ ศรีดงเย็น หนองบัว ปงตำ และแม่ทะลบ เช่นเดียวกับบ้านถ้ำหนองเบี้ย(เดิม) ได้แยกออกจากบ้านเด่นร้องธารเป็นบ้านหมู่ที่ 13 ของตำบลศรีดงเย็น ในระยะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจทุนนิยมฟองสบู่รุ่งเรือง ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 ยุคทองของการซื้อขายที่ดิน นายทุน นายหน้า กว้านซื้อที่ดินอย่างเอิกเกริก กระแสการซื้อขายเก็งกำไรที่ดินของชาวบ้านที่ได้หักรางถางพงบุกเบิกกันมากันมาถูกขายเปลี่ยนมือ กรรมสิทธิ์ครอบครองไปสู่นายทุนต่างถิ่นหลายแปลง ขณะที่องค์รวมของการพัฒนาประเทศรัฐบาลเร่งพัฒนา สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนานใหญ่ ความเจริญได้เข้ามาถึงหมู่บ้านพร้อมกับความสะดวกสบายของถนนลาดยาง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จานรับดาวเทียม และเครื่องอำนวยความสะดวกจากเงินผ่อนได้เปลี่ยนสภาพวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบชนบทในอดีตค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงหดหาย 

บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายเชียงใหม่-ฝาง หรือถนนโชตนา ก่อนถึงตัวอำเภอไชยปราการประมาณ 8 กิโลเมตร ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 2 กิโลเมตร สภาพทั่วไปของหมู่บ้านจะโอบล้อมไปด้วยภูเขาป่าไม้ พื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบที่มีอยู่พอสมควรและตามไหล่เขา มีไร่สวนของชาวบ้าน มีลำธารน้ำไหลผ่าน สภาพบรรยากาศที่นี่จึงเย็นสบาย สภาพที่ตั้งของหมู่บ้านแยกเป็นสองส่วนหลัก คือ ป๊อกบ้านถ้ำตับเตา และป๊อกบ้านหนองเบี้ย ที่อยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ชาวบ้านจะปลูกสร้างบ้านเรือนรวมกันอยู่เป็นกระจุกตามเครือญาติของตน ตัวบ้านมีทั้งบ้านที่สร้างด้วยไม้และสร้างด้วยคอนกรีตแบบสมัยใหม่ ส่วนมากเป็นบ้านชั้นเดียว

บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาวพื้นเมืองล้านนา และกลุ่มชาวเขาที่อาศัยกระจายกันอยู่ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 13 บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,319 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 650 คน ประชากรหญิง 669 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 325 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ มีแรงงานพม่าอพยพเข้ามารับจ้างในหมู่บ้านบ้าง บนภูเขาสูงมีกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งบ้านเรือนอยู่ คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านไม่มีรายได้เป็นที่แน่นอน เนื่องจากว่ามี อาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น ปลูกหอม กระเทียม รับจ้างทำไร่ เก็บพืชผลทางการเกษตร รับจ้างเลื่อยไม้ เป็นต้น หรืออาจไปรับจ้างที่โรงงานแปรรูปพืชผลทางการเกษตรซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้าน ส่วนอาชีพเกษตรกร เนื่องจากที่ดินที่จะทำการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์มีอยู่น้อย ส่วนหนึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุนที่ดินที่รกร้างก็ปลูกอะไรไม่ได้เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีสภาพเป็นด่างสูงหรือที่เรียกว่า ดินขาน มีชาวบ้านบางรายปลูกพืชสวนอยู่บ้าง เช่น ลิ้นจี่ ลำไย พืชล้มลุกอื่น ๆ และมีการประกอบอาชีพการทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัว ควาย ปลาในกระชัง เป็นต้น

บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีแบบแผนของประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อไม่ต่างจากคนพื้นเมือง และวัฒนธรรมล้านนาทั่วไป ที่เห็นชัดเจน คือ ความมีศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีวัดถ้ำตับเตาที่เป็นศูนย์รวมของความศรัทธา ชาวบ้านมีความเชื่อและประเพณีที่ผูกพันระหว่างวัดกับบ้านมายาวนาน นับได้ตลอดชีวิตของคนทั้งอดีตและปัจจุบัน ประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้านจึงต้องข้องเกี่ยวกับวัดทางพิธีศาสนา ได้แก่ งานประเพณีสรงน้ำพระ แห่ไม้ค้ำสะหลี (ต้นโพธิ์) ในวันสงกรานต์ การทำบุญตามประเพณีหกเป็ง (วันมาฆบูชา) ประเพณีต่าง ๆ ในสิบสองเดือน เป็นต้น

วัดถ้ำตับเตา ไม่ปรากฏหลักฐานที่มาแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เพียงแต่สันนิษฐานตามหลักฐานจากสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด คือ พระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดกว่า 9 เมตร สร้างด้วยอิฐและปูนพอกด้วยยางไม้รักปิดทองตามแบบศิลปะอยุธยา จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาส (พระอธิการศิลปชัย ญาณวโร หรือ ตู้น้อย) ซึ่งทราบจากอดีตปลัดอำเภออาวุโส (นายปลายมาศ พิรภาดา) อีกต่อหนึ่งเล่าว่า มีผู้เฒ่าท่านหนึ่งเล่าให้ฟังแต่ก่อนนี้มีป้ายเขียนบอกไว้ว่าถ้ำนี้เคยเป็นที่ประทับพักแรมของกองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถก่อนติดตามพระนเรศวรไปตีเมืองตองอู ในปี พ.ศ. 2135 โดยสมเด็จพระเชษฐาเคลื่อนทัพไปทางเชียงดาว เข้าพักพลที่เมืองหางซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองในราชอาณาจักรสยาม ที่สันนิษฐานอย่างนี้เพราะคนโบราณแต่ละถิ่นแคว้นตามความคุ้นเคยหากจะก่อสร้างถาวรวัตถุใดมักจะใช้แบบก่อสร้างตามพื้นถิ่นภูมิลำเนาเดิมของตน ถ้ำตับเตา สันนิษฐานว่ามาจาก "ดับเต้า" เป็นภาษาล้านนา (คำเมือง) หมายถึง การดับขี้เถ้า ซึ่งเกิดจากไฟป่าตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีต ในระยะต่อมาจึงเพี้ยนเป็น ตับเตา ใช้เป็นชื่อถ้ำและชื่อชุมชนในปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.ถ้ำตับเตา เป็นศาสนสถานโบราณ มีตำนานความเป็นมาหลายร้อยปี ตั้งอยู่บ้านหมู่ 13 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้จรดแนวดอยเชียงดาว และเป็นหนึ่งในเทือกเขาสลับซับซ้อนติดชายแดนประเทศพม่าทางทิศตะวันตก บริเวณเขตวัดจากบริเวณเชิงเขา ถ้ำตับเตามีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ มีลำธารน้ำใสไหลมาจากแหล่งน้ำรูที่อยู่ห่างออกไปทางใต้กิโลเมตรเศษไหลผ่าน ถ้ำตับเตามีลักษณะพิเศษกว่าถ้ำอื่น ๆ ที่มีทั้งถ้ำมืดและถ้ำแจ้ง ในถ้ำมืดมีความลึกประมาณ 2 กิโลเมตร มีความอลังการน่าสนใจต่อการเที่ยวชมไม่น้อย มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่างเช่น ทรายไหลแล้ง ประตูรอดบาป ธาตุนิ่ม เกร็ดระยิบระยับของหินงอกหินย้อย ส่วนถ้ำแจ้งนั้นในอดีตหลายร้อยปีเคยเป็นที่พักของผู้สัญจรผ่านจากพม่ามาไทยหรือไทยไปพม่า รวมถึงเป็นจุดพักพลของการเคลื่อนทัพ ที่สำคัญเป็นนิวาสถานของความศักดิ์สิทธิ์ของนักบวช ฤษี นักพรต แต่ครั้งโบราณของพม่าและไทยใช้เป็นที่ปฏิบัติสัปปายะบำเพ็ญศีลภาวนา

2.น้ำรู หรือแหล่งต้นน้ำผุดจากโพรงน้ำใต้ดินในแนวเขาหินปูน ดอยถ้ำงาม-ถ้ำตับเตา มีสภาพคล้ายบ่อน้ำแต่ไม่อาจหยั่งความลึกได้ จึงเป็นความน่าอัศจรรย์ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าน้ำจากน้ำรูมาจากที่ใด น้ำในน้ำรูมีสีฟ้าใสราวกับน้ำทะเลที่ใสสะอาด และมองเห็นสาหร่ายอย่างชัดเจน ซึ่งน้ำรูในบริเวณถ้ำตับเตามีถึง 4 บ่อด้วยกัน คือ รูบ่อหิน รูต้นเติม รูตะเคียน และรูหลวง

3.หนองเบี้ย ภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบเป็นหนองน้ำที่รองรับน้ำจากรูต้นเติมและรูตะเคียน หนองเบี้ยเป็นหนองน้ำที่มีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน คือ ด้านทิศใต้ ตะวันออก และทิศตะวันตก เป็นหนองน้ำที่ได้รับการสนับสนุนขุดลอกพัฒนา โดยหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสูน (สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ) กรมป่าไม้ อยู่ห่างจากถนน รพช.ประมาณ 1.5 กิโลเมตร และแยกจากเส้นทางในหมู่บ้านประมาณ 4-500 เมตร เป็นทางดินขรุขระ ถ้าฝนตกหนักจะเป็นแอ่งโคลนตมน้ำขังรถยนต์ แล่นไม่สะดวก แต่ก็มีอาณาบริเวณโล่งกว้างพอที่จะจัดวางภูมิสถาปัตย์ได้อย่างดีซึ่งทางป่าไม้ได้ออกแบบไว้แล้วจากคำบอกเล่าของคนแก่ในหมู่บ้านเมื่อสมัยแต่ก่อนหนองเบี้ยเคยมีผืนน้ำ ความกว้างหลายพันไร่จรดถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ช่วงหน้าน้ำคนในหมู่บ้านจะออกติดต่อทำธุระ หรือไปวัดถ้ำตับเตาต้องใช้เรือพายในการเดินทาง ปัจจุบันพื้นที่น้ำหนองเบี้ยเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าไร่คือมีขนาดกว้าง 280 เมตร ยาว 480 เมตร

4.ป่าดงชมพู เป็นผืนป่าในที่ลุ่มชุ่มน้ำ ช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน น้ำจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณฝนตกแต่ละปี สภาพโดยทั่วไปของต้นไม้ในป่า ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้ออ่อน เป็นป่าที่รกเต็มด้วยพรรณไม้หลากหลาย มีพืชสมุนไพร พืชที่ชาวบ้านนิยมเป็นอาหาร และมีสัตว์เล็ก ๆ อาศัยร่มไม้ใบบังอยู่อย่างหลากหลาย 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัชรินทร์ ศรีสัตบุตร. (2546). โครงการรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านถ้ำ-หนองเบี้ย ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดงเย็น. (ม.ป.ป.). แหล่งท่องเที่ยว : น้ำรูตะเคียน บ้านหนองเบี้ย (จังหวัดเชียงใหม่). สืบค้น 5 มีนาคม 2568, จาก https://www.sridongyen.go.th/

อบต.ศรีดงเย็น. (22 กุมภาพันธ์ 2563). อ่างเก็บน้ำหนองเบี้ย. สืบค้น 5 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

อบต.ศรีดงเย็น. (13 มีนาคม 2563). ถ้ำตับเต่า. สืบค้น 5 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

อบต.ศรีดงเย็น โทร. 0 5305 0060