
บ้านตะโกมีชื่อเสียงโด่งดังจากวัดตะโกที่มีพระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโก ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่อยู่โดดเด่นกลางวัด ประกอบกับวัดตะโกมีหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก เกจิชื่อดังที่สร้างแรงศรัทธาให้ผู้คนมาสักการะและเช่าซื้อวัตถุมงคลจำนวนมาก
บ้านตะโก หมู่ 2 เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ดั้งเดิมมีประชากรอพยพมาจากเวียงจันทร์ มาตั้งบ้านเรือนและเรียกชุมชนเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มตะโก และกลุ่มดอนหญ้านาง ชื่อตะโกจึงเป็นชื่อกลุ่มของชุมชนดั้งเดิมที่มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีต้นตะโกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนอีกกลุ่มอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นหญ้านางขึ้นเป็นจำนวนมาก ต่อมามีจำนวนบ้านเรือนมากขึ้นและพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านขึ้นมา จึงนำเอาสภาพและลักษณะพื้นที่มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านตะโก
บ้านตะโกมีชื่อเสียงโด่งดังจากวัดตะโกที่มีพระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโก ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่อยู่โดดเด่นกลางวัด ประกอบกับวัดตะโกมีหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก เกจิชื่อดังที่สร้างแรงศรัทธาให้ผู้คนมาสักการะและเช่าซื้อวัตถุมงคลจำนวนมาก
ข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง (ม.ป.ป.) ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2435 หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงที่มีชาวลาวจากเวียงจันทน์ อพยพเข้ามาในสยาม และตั้งถิ่นฐานตั้งแต่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และตามเส้นทางที่มายังอำเภอท่าเรือ และอำเภอภาชี แต่ในเวลานั้นยังไม่ได้เรียกพื้นที่นี้ว่าอำเภอภาชีเช่นปัจจุบัน การกวาดต้อนและอพยพมาในเวลานั้นนอกจากชาวลาวแล้ว ยังมีชาวจีนที่อพยพจากอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ร่วมมาด้วย (ศุภกาณฑ์ นานรัมย์, 2564) และในอำเภอภาชี ชาวลาวและผู้อพยพได้แยกตัวออกเป็น 2 กลุ่มโดย กลุ่มหนึ่งนั้นอยู่ที่บ้านอรัญญิกเป็นกลุ่มที่ตีมีดอรัญญิก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ของอำเภอภาชีในปัจจุบัน (ศุภกาณฑ์ นานรัมย์, 2564) กลุ่มที่ 2 ได้เข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่ที่ชุมชนวัดตะโกในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และได้มีการสร้างวัดขึ้นมา โดยยึดต้นตะโกเป็นชื่อของพื้นที่เลยใช้ชื่อว่าวัดตะโก เนื่องจากในบริเวณตรงที่สร้างวัดนั้นมีต้นตะโกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชุมชนบ้านตะโก มีต้นตะโกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันยังคงเหลืออยู่แต่ไม่มาก เนื่องจากชาวบ้านตัดเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แต่ยังคงพอมีให้เห็นอยู่บ้าง (องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง, ม.ป.ป.)
บ้านตะโก หมู่ 2 นั้นมีความเชื่อมโยงกับวัดตะโกอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเป็นวัดประจำหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในระดับชาติและสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้วยความศรัทธาทั้งที่มีต่อบุคคล ได้แก่พระครูสุนทรธรรมนิวิฐ (หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก) ซึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "หลวงพ่อรวย" ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่ได้มีคนศรัทธามากมายจนถึงวันที่ท่านมรภาพในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 สิริอายุครบ 95 ปี รวมถือครองพรรษา 76 พรรษา ในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 มติชนออนไลน์ (2560) ได้เสนอเรื่องราวปาฏิหาริย์ของเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดตะโก อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือหลวงพ่อรวย ที่เมื่อมรณภาพไปได้ 100 วันแล้ว (สำนักงานพระพุทธศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ม.ป.ป.) คณะสงฆ์และลูกศิษย์ลูกหากลับพบว่าสังขารของพระอาจารย์รูปนี้กลับไม่เน่าเปื่อย ทำให้แรงศรัทธาของผู้คนที่มีต่อหลวงพ่อรวยที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นเช่นนั้นเพราะท่านมีเมตตาธรรม ทางวัดจึงนำสรีระสังขารของท่านมาบรรจุภายในโลงแก้วเพื่อที่ให้ลูกศิษย์นั้นได้มากราบไหว้
หลวงพ่อรวยเกิดในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ที่บ้านตะโก เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 12 ปี ที่วัดตะโก พออายุถึงเกณฑ์จึงอุปสมบทโดยมีเจ้าอาวาสวัดภาชีเป็นพระอุปัชฌาย์ จนหลวงพ่อรวยอุปสมบทจนถึง พ.ศ. 2484 จึงได้ฉายาว่า "ปาสาทิโก" หลวงพ่อรวยเมื่อศึกษาเพียงพอสำหรับด้านคันถธุระแล้ว ได้เดินทางไปเรียนกรรมฐาน ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระครูที่เก่งและมีความสามารถ ในสมัยนั้น เช่น หลวงพ่อแจ่ม วัดแดงเหนือ ผู้เชี่ยวชาญด้านคาถา (ไทยรัฐออนไลน์, 2565) วิทยาอาคม หลวงพ่อรวยจึง เป็นหนึ่งในบรรดาพระเกจิอาจารย์ การที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่มีความแข็งเป็นอมตะและเชี่ยวชาญวิชาอาคม มีความเก่งทางด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ ที่เชี่ยวชาญวิชาอาคมโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรีเป็นหนึ่ง ขณะที่มีความเป็นอยู่สมถะ เรียบง่าย พูดน้อย ถามคำตอบคำ จึงเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ พร้อมทั้งวัตถุมงคลที่ผลิตขึ้นมาสร้างความศรัทธาให้กับหลวงพ่อรวยและวัดตะโกอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเลสข้อมือ พระเครื่อง แหวน สติกเกอร์ (นภสร อบรมกลิ่น, 2567) งานของวันชัย สอนศิริ (2566) ระบุว่าการผลิตวัตถุมงคลของวัดตะโกและหลวงพ่อรวยแบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2512 และช่วงหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงการมรณภาพของหลวงพ่อรวย จึงทำให้มีวัตถุมงคลมากมายหลายรุ่น เป็นทั้งที่วัดจัดสร้างขึ้น และปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัด รวมไปถึงการสาธารณประโยชน์ทั้งหลาย
สำหรับวัดตะโกนั้นมีพระมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามประจำวัดตะโก เริ่มการก่อสร้างขึ้น ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประธาน โดยในเวลานั้นซึ่งยังมีชีวิตอยู่เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้ร่วมกันออกแบบโดยอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรมไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัญชา ชุ่มเกษร ดร.องอาจ หุดากร และอาจารย์ตะวัน วีระกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงมหาธาตุเจดีย์มีขนาดสูงใหญ่ มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโล่งกว้าง ซึ่งหลังจากที่หลวงพ่อรวยมรณภาพ ทางวัดตะโกจึงได้นำสังขารของท่านใส่โลงแก้ว เปิดให้ผู้คนเข้ามากราบไหว้ได้ตั้งแต่ 9.00-16.00 น. (สำนักงานพระพุทธศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ม.ป.ป.)
ดังที่กล่าวแล้วว่าบ้านตะโกมีชื่อเสียงจากวัดตะโกและหลวงพ่อรวย ความศรัทธาของท่านนั้นกว้างขวางจนปรากฏในสื่อต่าง ๆ รวมถึงที่มีการแต่งเพลงสร้างความศรัทธาให้ขยายไปไกล โดยงานศึกษาของนภสร อบรมกลิ่น (2567) ได้สรุปว่ามีเพลงที่ประพันธ์เกี่ยวกับหลวงพ่อรวยอยู่ทั้งหมด 6 เพลง ได้แก่ 1) เพลง "วอนหลวงพ่อรวย" (2562) ขับร้องโดย มนต์แคน แก่นคูณ คำร้องและทำนอง โดย สลา คุณวุฒิ 2) เพลง "พรหลวงพ่อรวย" (2562) ขับร้องโดย ส้ม อรพรรณ แต่งคำร้องและทำนอง โดยปัญญา สุวรรณทิพย์ 3) เพลง "หลวงพ่อรวยช่วยที" (2562) โดยศิลปิน หมู บ่อพลอย แต่งคำร้องและทำนอง โดย จ๊ะ ธนกร และหมู บ่อพลอย 4) เพลง "หลวงพ่อรวย" (2563) โดยศิลปิน แอ๊ด คาราบาว 5) เพลง "แฟนหายไปไหว้พ่อรวย" (2563) โดย ต่าย อรทัย แต่งคำร้องและทำนองโดย สลา คุณวุฒิ และ 6) เพลง "พบกันที่วัดตะโก" (2564) โดยศิลปิน ตู๋หลู ชัชรินทร์xหนิง ๆ คำพระนาง แต่งคำร้องและทำนองโดยสลา คุณวุฒิ
จากการวิเคราะห์บทเพลงทั้งหมดที่กล่าวถึงหลวงพ่อรวย โดย 3 ใน 6 เพลงแต่งคำร้องและทำนองโดยสลา คุณวุฒิ และ 2 ในทั้งหมด 6 เพลงมีการกล่าวถึงวัตถุมงคล ได้แก่ "วอนหลวงพ่อรวย" "หลวงพ่อรวย" และ "แฟนหายหลวงพ่อรวยช่วยที" โดยเฉพาะเหรียญและเลส ซึ่งถือการสร้างสัญญะหรือความหมายผ่านบทเพลง ที่สร้างความนิยมต่อผู้คนที่ศรัทธาและนับถือต่อหลวงพ่อรวยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความหมายที่ทำให้เกิดความร่ำรวย ชนะความยากจนหรือขจัดหนี้สิน หรือการใช้เลสหรือเหรียญเพื่อให้แฟนกลับมา ในเรื่องของเพลงที่พูดถึงความจน โดยเฉพาะเพลง "หลวงพ่อรวยช่วยที" ที่อ้อนวอนให้ตนสามารถหมดหนี้ การเงินราบลื่นไม่ติดขัน การที่ได้เลสรุ่น "ชนะจน" จะทำให้การเงิน การงานนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง ส่วนอีกเพลงนั้นเป็นพูดถึงการมีหนี้สินและต้องการที่ใช้หนี้เหล่านั้นให้หมด จึงขอให้หลวงพ่อรวยให้ความเมตตาเพื่อที่ได้หมดหนี้หมดสิน ความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อรวย วัดตะโก จึงแยกไม่ขาดจากความโด่งดังและความนิยมที่มีต่อวัตถุมงคลที่มีความหมายถึงความร่ำรวย ชนะความยากจน และความไม่ราบรื่นอื่น ๆ ในชีวิต ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง (นภสร อบรมกลิ่น, 2567)
บ้านตะโก หมู่ 2 มีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองแห หมู่ 9
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 1 บ้านตะโก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ บ้านดอนหญ้านาง หมู่ 3
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองแหและบ้านตะโก หมู่ 1
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านตะโกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตำบลดอนหญ้านาง โดยทั่วไปเป็นที่ดอนและเป็นพื้นที่มีคลองระพีพัฒน์ไหลผ่าน ซึ่งไหลมาจากตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นลำคลองสายหลักเหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม สำหรับบ้านตะโก หมู่ 2 นั้นมีคลองชลประทานซ้าย 1 รับน้ำจากโครงการคลองชลประทานนครหลวง ตอนอรัญญิก โดยส่งนําไปให้พื้นที่หมู่ตะโก หมู่ 1 ตะโก หมู่ 22 บ้านดอนหญ้านาง หมู่ 3 และบ้านหนองแห หมู่ 9
เนื่องด้วยแหล่งที่ตั้งของบ้านตะโกและตำบลดอนหญ้านาง จึงทำให้การเดินทางและคมนาคมมีความสะดวก โดยมีการคมนาคมทางบกโดยเฉพาะถนนเป็นหลักที่สามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล โดยมีถนนสายชนบท 4 สายหลัก ได้แก่ 1) ทางหลวงจังหวัด สายท่าเรือ-ภาชี ทางหลวงท้องถิ่น (ร.พ.ช.) สายบ้านตะโก-บ้านโคกกระต่าย ทางหลวงท้องถิ่น (ร.พ.ช.) สายบ้านตะโก-บ้านหนองขนาก ทั้งนี้ยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟสายเหนือ ซึ่งมีสถานที่ที่บ้านดอนหญ้านาง หมู่ 3
ส่วนสภาพภูมิประเทศด้านการเกษตรนั้น สภาพดินทั่วไปเป็นดินเหนียว มีคุณภาพต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีน้อยเนื่องจากมีการใช้ที่ดินเพื่อการทำนาและปลูกพืชอื่น ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ธาตุอาหารที่สำคัญของพืชหมดไป ขาดการฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่ตัดถนนสายหลักใช้ในการประกอบ พาณิชยกรรม ค้าขาย
บ้านตะโก หมู่ 2 มีประชากร สำรวจในเดือนธันวาคม 2567 จำนวน 274 คน จาก 111 ครัวเรือน ส่วนทั้งตำบลดอนหญ้านาง มีประชากรทั้งหมด 2,893 คน จาก 1,079 ครัวเรือน (กรมการปกครอง, กระทรวงมหาดไทย)
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรและเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญและนิยมปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว นอกจากการปลูกพืชเศรษฐกิจแล้วยังมีการปลูกไม้ผลและพืชผักสวนครัวไว้บริโภคภายในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงไก่แบบในครัวเรือนและฟาร์มขนาดใหญ่ ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง มีฟาร์มไก่ จำนวน 3 ฟาร์ม อาชีพรองลงมาคือ รับจ้างทั่วไป พนักงาน ลูกจ้างบริษัทหรือโรงงาน และงานบริการอื่น ๆ และงานรับราชการในหน่วยงานราชการและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น
ชาวบ้านตะโก หมู่ 2 มีกลุ่มอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.ดอนหญ้านาง ได้แก่ กลุ่มสตรีที่ทำขนมหวานห่อนึ่งและห่อหมก
เนื่องด้วยบ้านตะโกเป็นที่ตั้งของวัดตะโก ดังนั้น จึงมีกลุ่มและคณะทำงานที่ทำหน้าที่ดูแลวัดซึ่งต้องเชื่อมกับชุมชน รวมถึงกลุ่มที่จัดการการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะคณะกรรมการวัดตะโก ซึ่งเป็นคณะทำงานที่คอยดูแลและจัดการความเป็นระบบของวัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรหาและระดมทุนเพื่อที่จะมาจัดสร้างวัตถุมงคล โดยเริ่มต้นพิจารณาว่ามีวัตถุประสงค์หลักว่าจัดทำขึ้นเพื่อสิ่งใด ต้องมีงบเท่าไหร่ในการจัดสร้าง การจัดสรรงบที่ใช้เพื่อการสร้างวัตถุมงคลนั้นพิจารณาจากทุนของวัดที่มีอยู่แล้วจำนวนหนึ่งเป็นจุดตั้งต้นเพื่อให้เกิดการผลิต จากนั้นจะมีการระดมทุนจากการทำบุญ โดยต้องระบุจำนวนที่ต้องการสร้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้เงินอย่างโปร่งใส และป้องกันข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้เงิน และเมื่อจัดสร้างวัตถุมงคลเสร็จสิ้นแล้วนำมาให้เช่าบูชา ทางวัดจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ผลิตให้ครบจำนวน วัดจะนำมาให้เช่าบูชาตามจำนวนที่กำหนด โดยมีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ผลิตครบถ้วน และกรรมการจะไม่เก็บวัตถุมงคลไว้เอง แต่เปิดให้ผู้ที่สนใจเช่าบูชาเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการจัดการวัด (ไวยาวัจกรของวัดตะโก และกรรมการวัดตะโก, สัมภาษณ์, 27 พฤษภาคม 2567)
นอกจากนี้ พระมหาธรรมทส ขนติพโล หรืออาจารย์แก้ว ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะโก หลังจากที่หลวงพ่อรวยมรณภาพ ได้แต่งตั้งบุคลากรเพื่อทำงานด้านต่าง ๆ ภายในวัด ได้แก่ แผนกบาลี แผนกธรรม แผนกแม่บ้าน แผนกซ่อมบำรุง แผนกสื่อออนไลน์ รวมถึงแผนกที่ต้องบริหารจัดการเกี่ยวกับผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมและสักการะวัดตะโกและหลวงพ่อรวย (สุรัสวดี อุทัยพจน์ และสิริวราชย์ สุทธิแสน, 2565)
บ้านตะโก หมู่ 2 มีการจัดประเพณีประจำปีเช่นเดียวกับบ้านอื่น ๆ ในตำบลดอนหญ้านาง ประเพณีสำคัญ ได้แก่ ทำบุญกลางบ้าน กวนข้าวทิพย์ และประเพณีข้าวต้มลูกโยน นอกจากนี้ ยังจัดประเพณีสำคัญเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ ของไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าพรรษา และออกพรรษา และประเพณีขึ้นปีใหม่
ส่วนกิจกรรมสำคัญของบ้านตะโกที่เกี่ยวข้องกับวัดตะโกและหลวงพ่อรวยนั้น ได้แก่ วันเกิดหลวงพ่อรวย ซึ่งตรงกับวันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสำคัญสำหรับวัดตะโกด้วย โดยคณะกรรมการวัดจะจัดให้เป็นวันหนึ่งในการจัดพิธีพุทธาภิเษกหรือพิธีการจัดสร้างวัตถุมงคล นอกจากนี้ พิธีพุทธาภิเษกยังสามารถจัดในวันสำคัญอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะเทศกาลวันสงกรานต์ และงานเทศกาลทอดกฐินของวัดตะโก การประกอบพิธีและให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของวัตถุมงคลแสดงให้เห็นการสร้างความเชื่อและความศรัทธาในตัวของพระเกจิที่เข้ารวมในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก อาชิเช่น วัดไตรมิตรวิทยาราม/กรุงเทพมหานคร วัดประดู่/สมุทรสงคราม และวัดชินวราราม/ปทุมธานี เป็นต้น โดยที่พระเกจิอาจารย์ต่างก็มีลูกศิษย์ที่มีความศรัทธาของตนเองอยู่แล้ว เมื่อมาเข้าร่วมพิธีก็พากันตามมาเช่าวัตถุมงคลนั้นเพื่อที่เกิดจากความศรัทธาต่อหลวงพ่อองค์นั้น โดยการประกอบพิธีพุทธาภิเษกนั้นจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09:09 น. และเสร็จสิ้นในช่วงเวลา 12:09 น. หรือใช้เวลาในการประกอบพิธี 3 ชั่วโมง การดำเนินพิธีพุทธาภิเษกนั้นประกอบด้วย 1) พระประธาน 2) เครื่องสักการะ 3) ผลไม้ 4) วัตถุมงคล ที่นำมาใช้ในการประกอบพิธี (นภสร อบรมกลิ่น, 2567)
นอกจากนี้ ในวันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปี ทางวัดตะโกและชุมชนบ้านตะโก จะมีการการจัดงานบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงพ่อรวย
1.พระวชิรภาวนาภิรัต (ธรรมทส ขันติพโล) หรือ "พระอาจารย์แก้ว" ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะโก หลังจากที่หลวงพ่อรวยมรณภาพ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่วางโครงสร้างการบริหารจัดการวัดตะโก พระอาจารย์แก้ว เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2521 บ้านตะเคียนด้วน หมู่ที่ 5 ตำบลโพธิ์เอน อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายล้วน และมารดาชื่อนางลัดดา พืชจันทร์ แต่ได้มาบวชเณรที่วัดตะโกในปี พ.ศ. 2533 และหลวงพ่อรวยได้ตั้งชื่อให้พระมหาธรรมทสในขณะนั้นว่า "เณรแก้ว" พระอาจารย์แก้วมีความตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีอย่างจริงจัง และตัดสินใจไปเรียนศึกษาที่วัดสามพระยา กรุงเทพฯ จนเมื่ออายุครบ 21 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2542 ที่พัทธสีมาวัดสามพระยา เขตพระนคร มีพระราชปริยัติบดี วัดสามพระยา เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระครูปลัดสุวัฒนเถรคุณ ธรรมทส วัดตะโก เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามว่า "พระวชิรภาวนาภิรัต" และในที่ประชุมมหาเถรสมาคมในวันที่ 10 กันยายน 2567 มีมติเห็นสมควรยกย่องเชิดชูพระอาจารย์แก้ว เจ้าอาวาสวัดตะโก รองเจ้าคณะอำภาชี เป็นพระราชาคณะ และเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 2 (ไทยรัฐออนไลน์, 2561; ข่าวสดออนไลน์, 2567; สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, 2567)
ทุนทางสังคมในตำบลดอนหญ้านาง มีความโดดเด่นในหลายด้านที่เอื้อต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
1.เครือข่ายทางสังคมและความร่วมมือ ชุมชนมีโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็งผ่านการสร้างเครือข่ายที่แน่นแฟ้นระหว่างหมู่บ้านทั้ง 10 หมู่ เช่น กลุ่มอาชีพที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของสมาชิก เช่น กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มทำขนม และกลุ่มผลิตพวงมาลัย โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านางเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและให้การสนับสนุน
2.การจัดการและสวัสดิการชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสผ่านการสังคมสงเคราะห์ เช่น การให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงการสนับสนุนโครงการกู้ชีพ-กู้ภัย เพื่อความปลอดภัยในชุมชน
3.วัดตะโกและวัตถุมงคล ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนบ้านตะโก องค์การบริหารส่วนตำบล และอำเภอภาชี มีวัดตะโกที่มีความสำคัญทางศาสนา วัดตะโกปัจจุบันกลายเป็นที่ท่องเที่ยวและแหล่งรวมศรัทธาที่มีต่อชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และมีความศรัทธาต่อหลวงพ่อรวย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสร้างรายได้ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาและสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนักท่องเที่ยวไทยแล้ว ข้อมูลจากกรรมการวัดตะโกยังระบุว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนให้ความสนใจมาเที่ยววัดตะโกจำนวนหนึ่ง หลังจากที่มีดาราหรือผู้มีชื่อเสียงได้มาเที่ยวและอัดคลิปวิดีโอเผยแพร่ในสื่อโซเชียล คุณวัตร ไวจยากรณ์ วัดตะโก เปิดเผยว่า "ชาวจีนที่มาไหว้หลวงพ่อรวยนั้นตามมาจากดาราจีนที่กำลังไม่มีงาน เขามาไหว้กลับไปมีงานชาวจีนเลยแห่กันมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย" (สัมภาษณ์, 27 พฤษภาคม 2567) และพวกเขาก็สนใจที่จะมาเช่าวัตถุมงคลไปบูชา
นอกจากนี้ คุณสอง (นามสมมติ) อายุ 24 ปี เปิดร้านเช่าวัตถุมงคลภายในวัดตะโกมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวจีนที่เข้ามากราบไหว้หลวงพ่อรวยที่เดินทางมาที่วัดและเช่าวัตถุมงคลด้วยตนเอง โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนนั้นมักนิยมมาวัดตะโตในช่วงปลายปียาวไปจนถึงต้นปี "วัตถุมงคลที่มาอันดับหนึ่งในการเลือกเช่าเลยเป็นเลส รองลงมาจะเป็นแหวน และสุดท้ายจะเป็นพวกของที่ระลึก" (คุณสอง, สัมภาษณ์, 24 กรกฎาคม 2567)
เนื่องด้วยชุมชนบ้านตะโกอยู่ในภาคกลางจึงพูดภาษาไทยในการสื่อสาร แต่สำเนียงการพูดอาจเนิบช้าและมีความคล้ายกับสำเนียงพูดในจังหวัดสุพรรณบุรี แต่อาจจะไม่หนักหรือชัดเท่า ซึ่งคนในชุมชนแห่งนี้มักจะบอกว่า "ก็เหน่อ แต่ไม่เหมือนคนสุพรรณฯ"
จุดแข็ง : อบต.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการชุมชน
จุดอ่อน : บุคลากรขาดการส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถ
โอกาส : นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น
อุปสรรค : -
จุดแข็ง : มีลักษณะพื้นที่เหมาะสมในการดำเนินการด้านการเกษตร เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม และมีคลองน้ำที่ไหลผ่าน เช่น คลองระพีพัฒน์ คลอง 1 ซ้าย คลอง 2 ขวา ฯลฯ และประชาชนจำนวนมากประกอบอาชีพด้านการเกษตร
จุดอ่อน : เกษตรกรยังใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชหรือทำการเกษตร และการส่งเสริมด้านการเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง
โอกาส : การบริโภคในปัจจุบันที่มีกระแสนิยมในการบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ ประกอบกับรัฐบาลเห็นความสำคัญของเรื่องการเกษตรปลอดสารพิษ
อุปสรรค : ขาดการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างต่อเนื่อง
จุดแข็ง : มีการแบ่งหน่วยงานและหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงาน
จุดอ่อน : ขาดบุคลากรในการทำงาน ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
โอกาส : ประชาชนมีการศึกษาสูงสามารถรับข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการปฏิบัติงาน
อุปสรรค : กระแสทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
จุดแข็ง : มีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย มีการประสานงานกับสถานีตำรวจ
จุดอ่อน : แนวทางในการปฏิบัติงานด้านการจัดระบบชุมชน สังคม ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง
โอกาส : มีหน่วยงานหรือองค์กรฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด
อุปสรรค : ประชาขนขาดความรู้ ความเข้าใจ และขาดความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย
จุดแข็ง : มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาค
จุดอ่อน : ถนน สะพาน มีการชำรุดบางจุด และระบบประปาไม่ไหลบ่อยครั้ง
โอกาส : พื้นที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ
อุปสรรค : เกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่น
จุดแข็ง : ชุมชนมีวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ มีวัดสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาอยู่ในเขตพื้นที่
จุดอ่อน : เด็กและเยาวชนรุ่นหลังไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม คุณธรรมและจริยธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
โอกาส : จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองมรดกโลก ทำให้มีการรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ต่าง ๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาและอนุรักษ์ วัฒนธรรม รวมถึงประเพณีของท้องถิ่น และมีหน่วยงานหรือองค์กรฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
อุปสรรค : ความทันสมัยของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นลืมรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ และการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด
จุดแข็ง : ผู้บริหารให้ความสำคัญและมีนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จุดอ่อน : ในพื้นที่ไม่มีสถานกำจัดขยะของชุมชน
โอกาส : พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการ สาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยมีหน่วยงาน ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคส่งเสริมและสนับสนุนถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล
อุปสรรค : -
ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านตะโก หมู่ 2 เขตพื้นที่ตำบลดอนหญ้านาง ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางพุทธศานาอื่น ๆ เช่น วัดดอนหญ้านาง ที่มี "พระครูพินิตสังฆการ" หรือ "หลวงพ่อเสาร์ สาวกนาโม" อดีตเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียง และเป็นเกจิอาจารย์ที่ทำพิธีปลุกเสกคือตะกรุดลูกปืนที่เป็นต้นตำรับและสร้างชื่อเสียงให้กับท่านและวัดดอนหญ้านางในเวลาต่อมา (ข่าวสดออนไลน์, 2566)
ข่าวสดออนไลน์. (18 พฤษภาคม 2566). อริยะโลกที่ 6 - หลวงพ่อเสาร์ สาวกนาโม วัดดอนหญ้านาง อยุธยา. ข่าวสดออนไลน์. https://www.khaosod.co.th/newspaper/
ข่าวสดออนไลน์. (19 กรกฎาคม 2567). มงคลข่าวสด - พระวชิรภาวนาภิรัต วิ. พระเกจิศิษย์หลวงพ่อรวย. ข่าวสดออนไลน์. https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/
ไทยรัฐออนไลน์. (15 กุมภาพันธ์ 2561). ตั้งพระมหาธรรมทส อดีตเณรแก้ว ลูกศิษย์หลวงพ่อรวย เป็นเจ้าอาวาสวัดตะโก. ไทยรัฐออนไลน์. https://www.thairath.co.th/news/local/
ไทยรัฐออนไลน์. (26 ธันวาคม 2565). ประวัติหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก เกจิดังวัดตะโก. ไทยรัฐออนไลน์. https://www.thairath.co.th/lifestyle/
นภสร อบรมกลิ่น. (2567). หลวงพ่อรวยกับวัตถุมงคล: ผู้กระทำการ ความหมายและการประกอบสร้างความศรัทธา. ปริญญานิพนธ์บัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร.
วัดตะโกหลวงพ่อรวย อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา-กรรมการ. (16 กุมภาพันธ์ 2568). #รับพรหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก วัดตะโก. Facebook. https://www.facebook.com/photo/
มติชนออนไลน์ (31 ตุลาคม 2560). แห่เช็คเลขฝาโลง หลังสรีระสังขาร ‘หลวงพ่อรวย’ ครบ 100 วัน ‘ไม่เน่า-ไม่เปื่อย’. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/education/
วันชัย สอนศิริ (2566). กระบวนการสร้างศรัทธาและพัฒนาปัญญาของพระมงคลสิทธาจารย์ (หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก) วัดตะโก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. ปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชดวิทยาลัย.
โรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลบุคลากร. https://tagodonynang.thai.ac/
ศุภกาณฑ์ นานรัมย์. (2564). ภาชีในประวัติศาสตร์ไทย. วารสารวิจัยราชภัฏกรุงเก่า, 8(3), 111-118.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (2565). วัดตะโก. http://www.m-culture.in.th/album/
สุรัสวดี อุทัยพจน์ และสิริวราชย์ สุทธิแสน. (2565). แนวทางการพัฒนาศักยภาพการท่องเทียวเชิงศาสนา กรณีศึกษาวัดตะโก อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (2567, 11 กันยายน). มส.เห็นชอบยกย่อง 2 เกจิดัง เจ้าคุณอิฏฐ์ วัดจุฬามณี เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 และ พระอาจารย์แก้ว’ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 2. https://ayutthaya.prd.go.th/
สำนักงานพระพุทธศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (ม.ป.ป.). วัดตะโก. https://aya.onab.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง. (2562). ประวัติความเป็นมา. https://donyanang.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง. (2566). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. https://donyanang.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง. (2566). ข้อมูลประชากรในพื้นที่. https://donyanang.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง. (2566). ทุนทางสังคมตำบลดอนหญ้านาง. https://donyanang.go.th/
สมคิด, กรรมการวัดตะโก, สัมภาษณ์, 27 พฤษภาคม 2567.
สอง (นามสมมติ), เจ้าของร้านวัตถุมงคลที่วัดตะโก, สัมภาษณ์, 24 กรกฎาคม 2567.
วัตร, ไวจยากรณ์ วัดตะโก, สัมภาษณ์, 27 พฤษภาคม 2567.