Advance search

ตลาดเก่าหนองจอก

ตลาดเก่าหนองจอก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะแก่การค้าขาย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดตัดกันของลำคลองหลายสาย อาทิ คลองแสนแสบ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่นี้กลายเป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยน ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ

ถนนบุรีภิรมย์
หนองจอก
หนองจอก
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 เม.ย. 2023
ตลาดเก่าหนองจอก

เขตหนองจอกสันนิษฐานว่ามาจากสภาพพื้นที่แต่เดิม ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำและพบดอกจอกลอยอยู่เหนือน้ำ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2554 คำว่า ‘หนอง’ หมายถึง แอ่งน้ำ ส่วน ‘จอก’ หมายถึง ชื่อไม้น้ำชนิดพิสเทีย สตราติโอต แอล. (Pistia stratiotes L.) ในวงศ์บอน (Araceae) ลอยอยู่บนผิวน้ำ ลำต้นสั้น มีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเป็นแผ่นสีเขียวสดซ้อน ๆ กันเป็นกลุ่ม ขนาดยาว 5 - 10 เซนติเมตร


ตลาดเก่าหนองจอก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะแก่การค้าขาย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดตัดกันของลำคลองหลายสาย อาทิ คลองแสนแสบ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่นี้กลายเป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยน ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ

ถนนบุรีภิรมย์
หนองจอก
หนองจอก
กรุงเทพมหานคร
10530
สำนักงานเขตหนองจอก โทร. 0-2543-1143
13.857181777953139
100.86546881049698
กรุงเทพมหานคร

ตลาดเก่าหนองจอก นับได้ว่าเป็น ‘ตลาดชุมชนริมน้ำ’ เก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณคลองแสนแสบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ที่มีอายุกว่า 100 ปี ด้วยอายุที่มากทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดเก่าหนองจอกตามเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุคสมัย คือยุคเริ่มต้น (พ.ศ. 2411 - 2453) ยุคเจริญรุ่งเรือง (พ.ศ. 2453 - 2500) และยุคซบเซา (พ.ศ. 2500 - 2557)

ยุคเริ่มต้น ในช่วงปี พ.ศ. 2411 – 2453 ได้มีการขุดคลองแสนแสบรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้ายู่หัว เพื่อการลำเลียงอาวุธและเสบียงอาหารในสงครามเวียดนามกับไทย ซึ่งต่อมาได้มีการขยายการค้ากับต่างประเทศเป็นผลให้มีพ่อค้าต่างประเทศอพยพเข้ามาทำมาหากินในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะชาวจีนที่มีความชำนาญทางการค้า โดยบริเวณที่ตั้งของ ‘ตลาดเก่าหนองจอก’ เป็นจุดตัดของคลองสิบสอง คลองสิบสาม และคลองแสนแสบ ทำให้เกิดเป็นบริเวณที่มีความได้เปรียบและเกิดการก่อตั้งเป็น ตลาดชุมชนริมน้ำ เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกงที่อำนวยต่อการสัญจร และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในพื้นที่ จะเห็นได้จากลักษณะของการตั้งถิ่นฐานที่มีความกระจุกตัวอยู่ในบริเวณแนวคลองแสนแสบ ทำให้การเดินทางเข้าถึงพื้นที่ตลาดเก่าหนองจอกในช่วงเวลาดังกล่าว อาศัยการใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ประกอบกับใช้เป็นเส้นทางในการค้าขายและขนส่งสินค้า โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้กลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย โดยมีการเปิดร้านค้าทำการขายแบบที่ใช้พื้นที่ด้านหน้าของอาคารเรือนแถวไม้ฝั่งคลองแสนแสบเป็นพื้นที่ในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ประกอบกับร้านค้าภายในตลาดเก่าหนองจอกส่วนใหญ่เป็นร้านขายของชำ ยาสมุนไพรแผนโบราณ เครื่องสังฆภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการเกษตร นอกจากนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบตลาดเก่าหนองจอกส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิมที่มีการประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตลาดหนองจอกในรูปแบบของการเป็นลูกค้าในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนเพราะต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ยุคเจริญรุ่งเรือง ในช่วงปี พ.ศ. 2453 – 2500 นับว่าเป็นยุคที่เข้าสู่ความเจริญของตลาดเก่าหนองจอก โดยสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นทางด้านการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น และแพร่กระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งภายในตลาดเก่าหนองจอก เห็นได้จากสินค้าและผู้คนที่เข้ามาในตลาดมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในยุคนี้จึงเกิดการขยายและต่อเติมอาคารเพิ่มมากขึ้นในบริเวณทางทิศใต้ของอาคารเรือนไม้แถวชุดเดิม การสร้างอาคารขึ้นใหม่นั้นเป็นบริเวณฝั่งคลองแสนแสบ โดยรูปแบบของอาคารยังคงเหมือนกับยุคก่อนหน้า นอกจากนี้ที่พบว่าในยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้าได้เข้ามาสู่บริเวณตลาดเก่าหนองจอกมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาเรือขึ้นเพื่อใช้ให้ได้หลายรูปแบบ อาทิ มีการใส่ใบพัด เครื่องยนต์ประกอบกับลำเรือ เป็นต้น ประกอบกับในช่วงเวลานี้เป็นยุคที่เกิดกิจการ ‘เรือเมล์โดยสาร’ ของนายเลิศ เศรษฐบุตร เข้ามาให้ใช้บริการบริเวณตลาดเก่าหนองจอก เป็นผลให้การสัญจรเข้าถึงพื้นที่ตลาดเกิดความคึกคัก จากผู้คนที่สัญจรผ่านไปมามากขึ้น ซึ่งตลาดเก่าหนองจอกได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการสัญจรทางน้ำที่สำคัญของบริเวณชุมชนตลาดเก่าหนองจอก จากที่กล่าวไปเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีเป็นผลต่อความสะดวกสบายในการสัญจร จึงเป็นผลให้การเข้าถึงพื้นที่ตลาดเก่าหนองจอกได้ง่าย ผู้คนต่างหันมาประกอบอาชีพค้าขายกันจำนวนมาก และมีการเปิดร้านค้าที่หลากหลายภายในตัวตลาด ถือว่าเป็นการนำความเจริญเข้ามาสู่พื้นที่เพราะผู้คนในพื้นที่ต่างได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในตลาดเก่าหนองจอกได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าปุงเถ้ากงขึ้น เสร็จประมาณปี พ.ศ. 2546 พร้อมกับโรงเรียนหนองจอกกงลิบฮัวเคียว นับว่าเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและสถานที่ที่ให้ความรู้แก้ลูกหลานคนในตลาด รวมทั้งคนที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบ ท้ายที่สุดสิ่งที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของตลาดเก่าหนองจอกในยุคนี้ คือ ‘ศาลเจ้าปุงเถ้ากง’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากรายได้ที่เข้าถึงในพื้นที่

ยุคซบเซา ในช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2557 เนื่องจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เข้ามาในบริเวณชุมชนหนองจอกมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาโครงข่ายการสัญจรทางบก เกิดการถมดินเพื่อสร้าง ‘ถนนบุรีภิรมณ์’ รวมถึงการขยายตัวของอาคารบ้านเรือนออกจากชุมชนเดิมตามแนวคลอง และขยายตัวไปตามแนวถนนที่มีการสร้างขึ้นใหม่มากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้ ทุ่งนา มาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่จอดรถ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบทั้งสองฝั่งคลอง และมีการสร้างเส้นทางถนนเข้ามาถึงบริเวณพื้นที่ตลาดเก่าหนองจอก กล่าวคือในช่วงเวลานี้จะเห็นการถมคลองแสนแสบบางส่วนเพื่อสร้างถนนบุรีภิรมณ์ โดยถนนสายนี้ตัดผ่านบริเวณปากทางเข้าตลาดเก่าหนองจอก ซึ่งเป็นถนนที่ได้มีการตัดขึ้นใหม่เชื่อมต่อกับถนนเชื่อมสัมพันธ์ที่ตัดผ่านบริเวณตลาดหนองจอก (ตลาดใหม่) ส่วนถนนภายในตลาดเก่าหนองจอกยังคงมีขนาดเล็ก ผู้คนจึงไม่สะดวกในการใช้พาหนะในการเข้าถึงภายในตลาด ประกอบกับการสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองแสนแสบสองฝั่งคลองขึ้น ทำให้เรือยนต์โดยสารขนาดใหญ่ไม่สามารถแล่นผ่านบริเวณตลาดเก่าหนองจอกได้เหมือนยุคก่อนหน้า ส่งผลให้ผู้คนบางส่วนต้องเริ่มที่จะอพยพบ้านถิ่นฐานตั้งอาคารบ้านเรือนตามแนวถนนแทน รวมถึงการปิดตัวของร้านค้าที่ส่งผลให้ตลาดเก่าหนองจอกเกิดความซบเซา

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าปัจจัยในการตั้งถิ่นฐานของ ‘ชุมชนตลาดเก่าหนองจอก’ คือ ‘ตลาด’ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางชุมชน นับว่าเป็นสถานที่สำหรับพบปะและแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเพื่อการดำรงชีพ ดังนั้นปัจจัยในการดำเนินของชุมชนตลาดจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีกับชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะการคมนาคมทางน้ำที่เอื้อต่อการคมนาคมขนส่งผลิตผลทางการเกษตรและเครื่องอุปโภคต่าง ๆ สู่ชุมชน ซึ่งในอดีต โครงข่ายของแม่น้ำ ลำคลอง เป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงผู้คนและพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตลาดเก่าหนองจอกตั้งอยู่บริเวณที่เป็นจุดตัดกันของลำคลองหลายสาย ได้แก่ คลองแสนแสบ คลองสิบสอง คลองสิบสาม และคลองลำปลาทิว ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นทำเลที่เหมาะสมต่อการค้าขายเป็นอย่างยิ่ง

เขตหนองจอกมีคูคลองจำนวนมากเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม ทำนาข้าว และการคมนาคม วิถีชีวิตของคนในชุมชนหนองจอกส่วนใหญ่จึงเป็นชุมชนริมน้ำ คลองสายหลักในปัจจุบันยังมีอยู่ 10 สาย อาทิ คลองแสนแสบ คลองลำปลาทิว คลองเก้า คลองสิบ คลองหลวงแพ่ง และคลองนครเนื่องเขตต์ มีคลองซอยต่าง ๆ เชื่อมกับคลองสายหลักอีก 94 คลอง รวมเป็น 104 คลอง ทั้งหมดที่กล่าวล้วนสะท้อนให้เห็นสภาพแวดล้อมแบบกว้าง ซึ่งเห็นได้จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานของ ‘ชุมชนในเขตหนองจอก’

จากภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ. 2495 แสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตหนองจอก ซึ่งบ้านเรือนจะเกาะตัวตามแนวลำคลองต่าง ๆ โดยมีการกระจุกอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณตลาดหนองจอก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2543 ภาพถ่ายทางอากาศได้แสดงพื้นที่เขตหนองจอกที่มีความแน่นของชุมชนมากขึ้น ซึ่งขยายตัวออกจากชุมชนเดิมตามแนวคลอง และขยายตัวตามแนวถนนที่สร้างขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามสภาพโดยทั่วไปยังคงมีลักษณะเป็นแบบชนบท ยังคงมีพื้นที่ล่างว่างเป็นจำนวนมาก พื้นที่โล่งนี้เดิมทีเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันนักค้าที่ดินได้ซื้อไว้เก็งกำไร ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมโดยเจ้าของที่ดินได้ให้เกษตรกรเช่าที่ดินไว้ทำนาข้าว นาหญ้า บ่อปลา เป็นต้น

จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ภายในตลาดเก่าหนองจอก ปัจจุบันพบว่า มีจำนวนน้อยลง โดยมีผู้อาศัยเพียง 65 คน เฉลี่ยครัวเรือนละ 1 – 2 คน (เป็นข้อมูลลงพื้นที่ในปี พ.ศ. 2557 จากงานวิจัยที่ศึกษา) เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นของคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปหางานทำในเมืองมากขึ้น ทำให้บ้านบางหลังถูกทิ้งร้างและมีสภาพที่ทรุดโทรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิต

สภาพแวดล้อมของ เขตหนองจอก ที่เป็นพื้นที่ทางการเกษตรมีโครงข่ายของคลองจำนวนมาก ทำให้พื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร ซึ่งใน ‘อดีต’ วิถีชีวิตของผู้อาศัยในพื้นที่ตลาดเก่าหนองจอกสามารถพึ่งพาธรรมชาติรอบตัวได้อย่างเต็มที่ เพราะมีทั้งปลาในคลอง และพื้นที่โดยรอบเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์ตามที่ธรรมชาติรังสรรค์ กล่าวคือพื้นที่บริเวณของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของตลาดเก่าหนองจอกเคยมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเดินเข้าไปเก็บผักได้ ดังนั้น ปลาและพืชผักต่าง ๆ จึงเป็นอาหารหลักโดยไม่ต้องหาซื้อให้ลำบาก ส่งเสริมให้ชีวิตสุขสบายและมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับธรรมชาติ ทว่าใน ‘ปัจจุบัน’ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์เช่นอดีต พื้นที่ต่าง ๆ ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลทำให้ไม่สามารถเข้าไปรุกล้ำได้ อย่างไรก็ดี ในคลองยังคงมีปลาอยู่พอสมควร ผู้ที่ตั้งบ้านริมคลองยังคงมีการยักยอกจับปลาเพื่อบริโภคและเพื่อนำไปขาย และมีกระชังเลี้ยงปลา จะเห็นได้จากจำนวนผู้คนไม่น้อยที่นั่งตกปลาบริเวณริมคลองต่าง ๆ ในพื้นที่แห่งนี้

เศรษฐกิจชุมชน

ผู้คนที่มาซื้อสินค้าและบริการในตลาดหนองจอกเป็นคนที่พักอาศัยอยู่ในละแวกนี้เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันบรรยากาศการค้าขายภายในตลาดเก่านั้นไม่คึกคักดั่งในอดีต โดยสินค้าและบริการมีหลากหลาย ขนมปัง และขนมต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าเบ็ดเตล็ด ทั้งขายส่ง และขายปลีก ราคาเหมาะสม อีกทั้งบางอย่างไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป จึงสามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ เพราะมีลักษณะของรสชาติที่เฉพาะตัว และเป็นสินค้าที่หาซื้อทั่วไปไม่ได้ ได้แก่ ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านขายสมุนไพรและยาแผนโบราณ ตามลำดับ แต่พวกร้านขายของชำกลับต้องได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทางธุรกิจจากภายนอก ต่างจากทั้งสองร้านก่อนหน้าที่สามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามร้านค้าต่าง ๆ ยังคงขายให้กับผู้อยู่อาศัยภายในชุมชนและละแวกใกล้เคียงได้เนื่องจากสะดวก และความผูกพันในฐานะลูกค้าประจำ นอกจากนี้พวกเครื่องใช้และอุปกรณ์ทางการเกษตรยังคงค้าขายได้ดี เพราะผู้คนในพื้นที่ยังคงประกอบอาชีพทางการเกษตร สินค้าภายในตลาดเก่าและตลาดสดนั้นเป็นคนละประเภทกัน ทำให้ไม่เกิดการแก่งแย่งแข่งกันทางธุรกิจ

ปัจจุบันการคมนาคมได้ย้ายจากน้ำขึ้นมาบนบก ประกอบกับตลาดและห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่กำลังเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดส่งผลให้ตลาดริมน้ำซบเซา ลดบทบาทและความสำคัญลง ท้ายที่สุดมีแนวโน้มที่จะเลือนหายไปจากสังคมในที่สุด ดังนั้น ‘ตลาดพื้นถิ่น’ จำเป็นต้องมีสินค้าและบริการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถหาได้จากตลาดและห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ได้ เพื่อรับมือกับการแข่งขันทางธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้ยังคงรักษาเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมการค้าขาย และวิถีชีวิตให้มีความต่อเนื่องสืบไป

ศาสนา

ศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชน ทั้งอิสลาม พุทธ และคริสต์ ประชาชนส่วนใหญ่ของเขตหนองจอกนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนร้อยละ 75 มีมัสยิดอยู่ถึง 47 แห่ง ส่วนวัดพุทธมี 19 แห่ง โบสถ์คริสต์ 1 แห่ง และศาลเจ้าจีน 3 แห่ง จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข ซึ่งผู้ที่อาศัยภายในตลาดเก่าหนองจอกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ วัดชุมชนคือ วัดหนองจอก ครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์จะไปประกอบพิธีทางศาสนาที่โบสถ์เซนต์เทเรซา ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบตลาดเก่า นอกจากนี้ยังมี ศาลเจ้าปุงเถ้ากง ที่เป็นศาลเจ้าที่ผู้อาศัยในชุมชนตลาดเก่าหนองจอกเคารพสักการะ พิธีประจำปีจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนทุกปี ซึ่งลักษณะทางกายภาพของศาลเจ้าประจำชุมชนที่อยู่สภาพที่ดีเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของชุมชนยังคงดำเนินอยู่ได้อย่างดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่มีผลต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพภายในตลาดเก่าหนองจอก ส่งผลให้กิจกรรมการค้าและบริการต่าง ๆ ในตลาดเกิดความซบเซา ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงตลาดเก่าหนองจอกที่ทำให้ได้ยากขึ้น กล่าวคือ ‘ตลาดเก่าหนองจอก’ บริเวณที่ตั้งติดกับถนนบุรีภิรมย์มีเพียงฝั่งเดียว คือบริเวณ ‘หัวตลาด’ ทางฝั่งทิศตะวันออกของตลาดเก่าหนองจอกที่จะเห็นว่ายังคงมีการเปิดร้านค้าให้บริการอยู่ แต่สำหรับส่วนบริเวณ ‘ท้ายตลาด’ ที่ไม่ได้ติดกับถนนบุรีภิรมย์ทำให้การเข้าถึงได้ยาก จึงเป็นผลให้ร้านค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลง และอีกสาเหตุหนึ่ง คือการเกิด ‘ตลาดหนองแห่งใหม่’ ที่มีลักษณะเป็นตลาดสด โดยสร้างขึ้นบริเวณทิศใต้ของตลาดเก่าหนองจอก ซึ่งมีการเชื่อมต่อและการเข้าถึงจากถนนบุรีภิรมย์ได้สะดวกกว่าเป็นผลให้คนนิยมหันไปบริโภคและซื้อสินค้าภายในตลาดแห่งใหม่มากกว่า ทว่าสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ร้านค้าภายในตลาดเก่าหนองจอกบางส่วนยังคงสามารถดำรงอยู่ได้ คือการขายสินค้าประเภทที่หาซื้อได้ยากจากตลาดแห่งใหม่ อาทิ ยาสมุนไพรแผนโบราณ เป็นต้น

แต่ท้ายที่สุดตลาดเก่าหนองจอกยังคงขาดสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญหรือความเก่าแก่ของพื้นที่ เห็นได้จากในปัจจุบันที่ ตลาดเก่าหนองจอก ไม่ได้มีสินค้าลักษณะเด่นที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อจากแหล่งอื่น ๆ ให้เข้ามาใช้บริการซื้อสินค้าภายในตลาดเก่าแห่งนี้


ปัญหาทางด้านสังคม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในตลาดเก่าหนองจอก โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านประชากร เนื่องจากผู้คนจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน การศึกษา และการรวมกลุ่มทางสังคม ที่จะส่งผลให้ตลาดเก่าหนองจอกสามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งปัญหาทางด้านสังคมที่พบภายในตลาดเก่าหนองจอก คือการขาดความร่วมมือของคนภายในตลาด อันเนื่องมาจากการย้ายออกของคนดั้งเดิมในตลาดเก่าหนองจอกไปสู่แหล่งทำงานภายในเมือง เป็นผลให้บ้านเรือนถูกปล่อยทิ้งร้างไว้จนมีสภาพเสื่อมโทรมลง

จากการไม่ให้ความร่วมมือของคนภายในชุมชน กล่าวคือผู้อาศัยที่เป็นเจ้าของอาคารได้ปล่อยอาคารให้ทิ้งร้างไว้ และไม่ยอมขายบ้านให้แก่ผู้อื่นที่มีความสนใจ แม้จะพยายามในการโน้มน้าวจากภาครัฐและคนในชุมชน จึงส่งผลให้การเปิดร้านค้าภายในตลาดรวมทั้งผู้คนที่อยู่อาศัยจำนวนลดน้อยลง ดังนั้น ตลาดในปัจจุบันจึงมีความซบเซาและขาดความคึกคักเป็นอย่างมาก


ปัญหาทางด้านกายภาพ เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพื้นที่ พบว่าภายในตลาดเก่าหนองจอกที่มีปัญหาด้านกายภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนและได้เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน ดังนี้

1.การทรุดโทรมของอาคาร เรือนแถวไม้บางหลังภายในตลาดเก่าหนองจอกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน มีอายุกว่า 100 ปี เนื่องจากสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดความทรุดโทรมผุพังลงไปมาก สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ประกอบกับขาดการทำนุบำรุงหรือซ่อมแซม อีกทั้งอาคารบางหลังยังถูกปล่อยทิ้งร้าง โดยส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในยุคเก่า คืออาคารเรือนแถวที่สร้างขนานไปกับแนวคลองแสนแสบ ขนาดความสูงสองชั้น มีโครงสร้างอาคารเป็นไม้ แต่กลับมีสภาพที่ทรุดโทรม

2. ความไม่สอดคล้องกันของรูปแบบอาคาร เนื่องจากการปรับปรุงอาคารบางหลังที่มีสภาพทรุดโทรม ซึ่งใช้โครงสร้างเหล็กและคอนกรีตแทนโครงสร้างไม้ที่เป็นลักษณะดั้งเดิม โดยสร้างขนาน แทนที่ หรือปะปนไปกับอาคารที่มีลักษณะเป็นอาคารเรือนแถวไม้ชุดเดิม ส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งของรูปแบบของสถาปัตยกรรมเก่าและสมัยใหม่ภายในตลาดเก่าหนองจอก อีกทั้งยังทำให้คุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นอาคารเรือนไม้เก่าแก่ของตลาดเก่าชุมชนริมน้ำเริ่มหมดไป

3. ทางเดินเท้าสภาพเสื่อมโทรม ทางเดินเท้าภายในตลาดเก่าหนองจอกมีลักษณะเป็นเส้นตรงที่แบ่งกั้นระหว่างอาคารเรือนแถวไม้ที่ตั้งริมคลองแสนแสบกับอาคารเรือนแถวที่ตั้งอยู่บนฝั่ง ในปัจจุบันทางเดินเท้านี้มีสภาพที่เสื่อมโทรมลง คือมีรอยแตกร้าวของพื้นคอนกรีตเป็นวงกว้าง อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ที่ใช้งานได้

4. การรุกล้ำทางเดินเท้า เห็นได้จากการตั้งสินค้าบริเวณด้านหน้าของอาคารที่รุกล้ำเข้ามาในบริเวณพื้นที่ทางเดินเท้า ส่งผลให้การสัญจรบริเวณทางเดินเท้า และการขนส่งสินค้าต่าง ๆ เกิดความไม่สะดวก และทางเดินเท้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะแคบลง

5. ทรรศนะอุจาด ในปัจจุบันบรรยากาศภายในตลาดเก่าหนองจอก พบว่ามีการติดตั้งป้ายโฆษณา และโปสเตอร์ที่โดเด่นบนฝาผนังด้านหน้าของตัวอาคาร ทำให้เกิดทรรศนะอุจาดที่ไม่น่ามองและขาดความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมภายในตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงสายไฟเข้าสู่บ้านเรือนภายในตลาด โดยการเดินสายไฟที่มีความสูงค่อนข้างต่ำจึงบดบังตัวอาคาร ประกอบกับสายไฟยังมีสภาพที่เสื่อมโทรม เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย รวมถึงการนำกระดาษลังและสิ่งของไปพาดไว้บนสายไฟ ส่งผลให้เกิดความไม่สวยงามและไม่น่าเข้ามาซื้อสินค้า

6. ความเสื่อมโทรมของคลองแสนแสบ เห็นได้จากน้ำในคลองแสนแสบ แม้ว่าจะเป็นคลองที่สำคัญกับคนในตลาดเก่าหนองจอกในสมัยอดีต ทว่าในปัจจุบันกลับมีสภาพที่เสื่อมโทรมลงน้ำในคลองลดน้อยลง น้ำค่อยข้างขุ่น และมีสภาพที่เน่าเสียจากขยะทั้งที่เป็นพลาสติด เศษอาหาร และคราบน้ำมันลอยอยู่ในบริเวณคลองและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลมาจากการทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียของคนภายในตลาดเก่าหนองจอกลงคู่คลอง โดยไม่ได้รับการบำบัดน้ำก่อนทิ้งลงคลอง อีกทั้งการขาดความร่วมมือในการช่วยกันดูแลรักษาสภาพของน้ำในคลอง จึงเป็นผลให้ทัศนียภาพโดยรอบของตลาดเก่าหนองจอกนั้นมีความแย่ลง ไม่ดึงดูดให้คนอยากเข้ามาซื้อสินค้า

‘ตลาดเก่าหนองจอก’ เป็นตลาดริมคลองที่มีอายุกว่า 100 ปี เป็นที่รู้จักในนาม ‘ตลาดสะพานเด่น’ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นท่าเทียบเรือของรถเมล์ขาวนายเลิศที่จะเดินทางสู่สะพานเฉลิมโลก ย่านประตูน้ำ ในกรุงเทพมหานคร และมีตลาดคู้อยู่ริมคลองแสนแสบที่ยังที่เรือนไม้ห้องแถวริมน้ำสภาพดั้งเดิม มีสะพานไม้กระดานที่ยังใช้ทอดข้ามคลองอยู่ จึงใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ย้อนยุคในหลาย ๆ เรื่อง

นก ปีกกล้า. (2562). อันซีนใหม่ย่านหนองจอก นั่งเรือ ชมธรรมชาติเดินตลาด 100 ปี กินอาหารฮาลาล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.kidjapak.com/archives/.

บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. (2566). เขตคลองมองเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน.

พนิดา ดำรงอ่องตระกูล. (2557). การพัฒนาพื้นที่ตลาดเก่าหนองจอก กรุงเทพมหานคร. สารนิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต สาขาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พนิดา ดำรงอ่องตระกูล. (2557). การพัฒนาพื้นที่ตลาดเก่าหนองจอก กรุงเทพมหานคร. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล., 19(2), 148-161. 

มนทัต เหมพัฒน์. (2548). การศึกษาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเรือนแถวไม้ตลาดเก่าหนองจอก ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและสังคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.