
บ้านคลองเหล็กบน แหล่งโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี ชุนชนที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ชัดให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนมาตั้งแต่ราว 6,000 ปีก่อน
เรียกตามชื่อของลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ คลองเหล็กบน
บ้านคลองเหล็กบน แหล่งโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี ชุนชนที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ชัดให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนมาตั้งแต่ราว 6,000 ปีก่อน
เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่บ้านคลองเหล็กบนปัจจุบันมีภูเขาที่สำคัญ คือ เขาแก้วกำปราง ลักษณะของป่าเป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติมีพันธุ์ไม้นานาชนิด เช่น ไม้มะค่า ไม้ยางนา ไม้ยางแดง ไม้ตะแบก ไม้กันเกรา มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ช้าง เสือ ลิง หมูป่า หมี ควายป่า เลียงผา เม่น กวางสมัน นก และด้วยความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์จึงทำให้มีทาก มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติที่มีน้ำไหลตลอดปี คือ คลองเหล็กบน การเรียกชื่อหมู่บ้านจึงเรียกตามชื่อของลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ คลองเหล็กบน
พ.ศ. 2503 นายเหมียน เพื่องวงค์ และนายสุรินทร์ อิ่มเอี่ยม เป็นคนกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาหาของป่า และเจาะน้ำมันยางบริเวณบ้านคลองเหล็กบนไปขายยังตลาดหนองคล้า ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้เห็นว่าพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้ชักชวนครอบครัวและเพื่อน ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันไปทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านคลองเหล็กบนแห่งนี้เป็นจำนวนมากอย่าง โดยส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านหนองคล้า และอีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียงในแถบภาคตะวันออก เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี
บ้านคลองเหล็กบน หมู่ที่ 7 ตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้ว 5 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอท่าใหม่ 40 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดจันทบุรี 45 กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดจันทบุรี โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 ตำบลแก่งหางแมว อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่ 1 ตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับหมู่ 6 ตำบลคลองพลู อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ลักษณะภูมิอากาศ
บริเวณบ้านคลองเหล็กบนมีลักษณะสภาพอากาศร้อนชื้น มี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 7 บ้านคลองเหล็กบน ตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 844 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 418 คน ประชากรหญิง 426 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 322 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)
การประกอบอาชีพของชาวบ้านคลองเหล็กบนในระยะแรก เริ่มจากการที่ชาวบ้านเข้ามาเก็บของป่าและเจาะน้ำมันยาง ต่อมาเมื่อมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกข้าวไร่ ปัจจุบันมีการทำไร่สับปะรด สวนยางพาราและการทำสวนผลไม้ ประกอบด้วย พริกไทย ทุเรียนเงาะ มังคุด ลองกอง ขนุน ชมพู่ ส้มโอ และมะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไปด้วย
บ้านคลองเหล็กบน เป็นชุมชนชาวพุทธ ชาวบ้านนับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในระยะแรกตั้งหมู่บ้านยังไม่มีวัด ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ชั่วคราวอยู่ประมาณ 1 ปี ต่อมาจึงได้สร้างต่อเป็นสำนักสงฆ์เขาแก้ว ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2551 สำนักสงฆ์เขาแก้วนี้ได้รับอนุญาตให้เป็นวัดเขาแก้ว เป็นสถานที่ในการปฏิบัติศาสนพิธีตามพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประชุม ปรึกษาหารือในการพัฒนาหมู่บ้าน
แหล่งโบราณคดีบ้านคลองเหล็กบน
แหล่งโบราณคดีบ้านคลองเหล็กบน เป็นแหล่งที่มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ เช่น กำไลสำริด เครื่องมือหินกะเทาะปลายแหลม ขวานหินขัด ลูกปัดสีเหลืองและสีฟ้า เครื่องประดับสำริด เป็นต้น โดยมีจุดที่ขุดพบทั้งสิ้น 8 จุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยมีการตั้งชื่อแหล่งที่พบตามชื่อเจ้าของบ้าน เช่น แหล่งสวนนายประดิษฐ์ ชมจิตร แหล่งสวนนายชาติ ชัยเสนาะ ตามหลักฐานที่พบเหล่านี้ทำให้เชื่อว่ามีมนุษย์ยุคโบราณอาศัยอยู่บริเวณนี้เมื่อ 6,000 ปีมาแล้วแหล่งโบราณคดีบ้านคลองเหล็กบน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่พบเครื่องมือหิน ได้แก่ ขวานหินขัด และส่วนที่พบกำไลสำริด โดยส่วนที่พบเครื่องมือหินเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร หลักฐานที่พบทั้งหมดบนผิวหน้าดิน (Surface Finds) โดยพบขณะที่เจ้าของที่ดินทำการเพาะปลูกแล้วเก็บรวบรวมไว้ และพบโดยการสำรวจ มีดังนี้
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ กะเทาะด้านเดียว มีรอยกะเทาะขนาดใหญ่ตรงกึ่งกลางแล้วตกแต่งโดยรอบ กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 12.3 เซนติเมตร หนา 1.4 เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ กะเทาะด้านเดียว กว้าง 6.7 เซนติเมตร ยาว 15.3 เซนติเมตรหนา 1.4 เซนติเมตร ทำจากหินชนวo
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ กะเทาะ 2 ด้านมีการแต่งความคม กว้าง 4.4 เซนติเมตร ยาว 10.3 เซนติเมตร หนา 1.4 เซนติเมตร ทำจากหินกรวดแม่น้ำ
- เครื่องมือหินกะเทาะแบบบาง กะเทาะด้านเดียว อาจจะใช้เป็นใบมีด มีรอยชำรุดหักกลางตามความยาว กว้าง 3.2 เซนติเมตร ยาว 10.1 เซนติเมตร หนา 0.7 เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปทรงกลม กะเทาะด้านเดียวและมีรอยกะเทาะโดยรอบเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.2 เซนติเมตร หนา 1.6 เซนติเมตร ทำจากหินปูน
- ขวานหินขัดแบบมีบ่า รูปทรงแบนทั้ง 2 ด้าน ชำรุดบริเวณด้านใช้งาน บ่ากว้าง 3 เซนติเมตร ส่วนตัวของขวานกว้าง 5.6 เซนติเมตร ยาว 8.6 เซนติเมตร หนา 1.6 เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- ขวานหินขัดแบบมีบ่า ด้านหน้าแบน ด้านหลังเป็นรูปโค้งแบบหลังเต่า มีร่องรอยการแต่งคมบ่ากว้าง 2.8 เซนติเมตร ส่วนตัวของขวานกว้าง 4.4 เซนติเมตร ยาว 8.7 เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- เครื่องมีหินปลายแหลมรูปทรงคล้ายลูกดอก กะเทาะด้านเดียว มีรอยบากหรืออาจจะเป็นรอยหักเพราะการตกแต่งเป็นรอยลึกลงไป 2.8 เซนติเมตร กว้าง 4.3 เซนติเมตร ยาว 8.6 เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- ขวานหินขัด ชำรุดหักบริเวณกึ่งกลาง กว้าง 4.1 เซนติเมตร ยาวจากปลายคมของขวานหินถึงส่วนที่หัก 3.7 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร ทำจากหินควอทไซท์ ขวานหินขัดขนาดเล็ก กว้าง 3.6 เซนติเมตร ยาว 3.7 เซนติเมตร หนา 1 เซนติเมตร ทำจากหินควอทไซท์ หินลับ มีร่องรอยการลับหรือแต่งคมของเครื่องมือหินสึกเป็นร่องลึก ทำจากหินกรวดแม่น้ำ
- เศษภาชนะดินเผา เนื้อดินมีทั้งแบบผิวเรียบและแบบตกแต่งผิวเป็นกดประทับลายขูดขีด
- ฝาจุกปิดภาชนะ ส่วนจุกเป็นรูปทรงกลมนูน ส่วนที่เป็นฝาแตกชำรุดเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เนื้อดินสีเหลืองตามลักษณะของดินเผาไฟ
- เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องเคลือบ เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นส่วนใด สีเคลือบสีน้ำตาล สีเทา เนื้อแกร่ง
- กำไลสำริด ลักษณะทรงกลมเรียบ ปลายสุดของกำไลทั้ง 2 ด้าน โค้งงอเข้าหากันแล้วปล่อยเป็นช่องว่างไว้ไม่ได้เชื่อมต่อกัน เส้นผ่าศูนย์กลางรอบใน 5.5 เซนติเมตร รอบนอก 6.3 เซนติเมตร
ภาษาพูด : ภาษาไทย
ภาษาเขียน : อักษรไทย
วัดเขาแก้ว. (18 กุมภาพันธ์ 2558). แหล่งโบราณคดี เขาแก้ว บ้านคลองเหล็กบน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568. จาก https://www.facebook.com/
สุริยะ สุวดิษฐ์. (2553). โครงการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านคลองเหล็กบนเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านคลองเหล็กบน ต.เขาแก้ว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
สำนักวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี. (ม.ป.ป.). สถานที่สำคัญของจังหวัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568. จาก http://164.115.23.146/chanthaburi/archeology3.html