
ตลาดศาลเจ้า หรือที่ชาวสุราษฎร์ธานีเรียกติดปากว่า "ตลาดโต้รุ่ง" แหล่งการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นตลาดกลางคืนขึ้นชื่อของชาวสุราษฎร์ธานี รวมไปถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่แวะเวียนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย
"ตลาดศาลเจ้า" มีที่มาจากบริเวณหน้าตลาดมีศาลเจ้าอ๋องฮกเกี้ยนและศาลเจ้าไหหลำบ้านดอนตั้งอยู่ แต่ภายหลังได้ย้ายตลาดจากบริเวณดังกล่าวมาตั้งที่ถนนตีเหล็กซึ่งไม่ได้มีความหนาแน่นของประชากรมากนัก โดยเทศบาลตั้งใจเรียกชื่อใหม่ว่า "ตลาดถนนตีเหล็ก" แต่กระนั้นประชาชนในพื้นที่ยังชินปากเรียกตลาดนี้ว่า "ตลาดศาลเจ้า" อยู่จนถึงปัจจุบัน
ตลาดศาลเจ้า หรือที่ชาวสุราษฎร์ธานีเรียกติดปากว่า "ตลาดโต้รุ่ง" แหล่งการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นตลาดกลางคืนขึ้นชื่อของชาวสุราษฎร์ธานี รวมไปถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่แวะเวียนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย
ตลาดศาลเจ้า หรือที่ชาวสุราษฎร์ธานีเรียกติดปากว่า "ตลาดโต้รุ่ง" หรือ "ตลาดถนนตีเหล็ก" เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ริมถนนตีเหล็ก ในตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นตลาดกลางคืนเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนมากจะเน้นขายอาหารเป็นหลัก สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดตลาดศาลเจ้านั้นเกิดจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะแก่การค้าขาย จนบริเวณนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในเวลาต่อมา และเนื่องด้วยพื้นที่นี้เป็นย่านคนจีน จึงได้มีการสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มาเคารพสักการะ โดยมีการอัญเชิญองค์เทพเจ้าจากมณฑลฮกเกี้ยนของประเทศจีนมาประดิษฐาน รายล้อมด้วยย่านการค้าและศาสนสถานของชาวสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้พื้นที่นี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายบริเวณหน้าศาลเจ้า เป็นลักษณะแผงหาบเร่และรถลาก นานวันจำนวนพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาค้าขายบริเวณหน้าศาลเจ้าก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนขยายตัวเป็นตลาดหน้าศาลเจ้าอ๋องฮกเกี้ยน และประชาชนในท้องถิ่นได้เรียกตลาดนี้ว่า "ตลาดศาลเจ้า" อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนเข้ามาค้าขายเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้พื้นที่บริเวณตลาดศาลเจ้าเดิมไม่มีระเบียบ รวมไปถึงที่ตั้งเดิมของตลาดศาลเจ้าอยู่ใกล้กับที่ตั้งของบริษัทรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ ทำให้การใช้รถบริเวณแยกบ้านดอนลำบาก จึงทำให้ทางเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี (ปัจจุบันเป็นเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี) ได้ทำการย้ายตลาดศาลเจ้ามาที่ถนนตีเหล็กบริเวณหน้าวัดไทรเพื่อจัดระเบียบตลาด จึงทำให้พื้นที่มีระเบียบมากขึ้น
ตลาดศาลเจ้าหลังจากที่ย้ายมายังที่ตั้งแห่งใหม่ในช่วงแรก ๆ มีคนเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ตั้งของตลาดอยู่บริเวณหน้าวัดไทร จึงทำให้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ตลาดศาลเจ้าเข้าใจว่าทางวัดไทรได้มีการจัดเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลอง อันเนื่องมาจากบรรยากาศภายในตลาดมีความคึกคัก บวกกับสินค้าที่ขายภายในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นอาหารรับประทานเล่นพร้อมทาน ดังนั้นจึงกลายเป็นเสน่ห์ของตลาดศาลเจ้าที่ทำให้คนเข้ามา ใช้บริการตลาดเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ตลาดศาลเจ้า หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ตลาดโต้รุ่ง" เป็นตลาดที่มีความเก่าแก่กว่า 50 ปี ตั้งอยู่บริเวณถนนตีเหล็กข้างวัดไทร และบางส่วนของซอยรัฐรังสรรค์ 1 และซอยรัฐรังสรรค์ 2 ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตลาดศาลเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ปกครองส่วนท้องถิ่นเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะทางกายภาพที่ล้อมรอบไปด้วยตลาดและย่านเศรษฐกิจของเมือง ซึ่งพื้นที่ตลาดศาลเจ้ามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนต้นโพธิ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ วัดไทร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนหน้าเมือง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนบ้านดอน
ตลาดศาลเจ้าเป็นเขตชุมชนที่มีการอพยพเข้ามาของประชากรเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะย้ายเข้ามาเพื่อทำการค้าขายในพื้นที่ตลาดศาลเจ้า เนื่องจากในปัจจุบันตลาดศาลเจ้าถือว่าเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงและสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีผู้คนแห่เข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการย้ายที่ตั้งของตลาดศาลเจ้าก็มีส่วนทำให้มีประชากรย้ายเข้ามาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มคนดั้งเดิม เป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตลาดศาลเจ้าดั้งเดิมหรืออาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน ได้แก่ ชาวพื้นเมืองและชาวจีน ส่วนมากกลุ่มคนดั้งเดิมมักจะประกอบอาชีพการค้าขายอาหารและสิ่งของที่เป็นปัจจัยในการใช้ชีวิตเป็นหลัก กลุ่มคนดั้งเดิมจะอาศัยอยู่ในพื้นที่อาคารที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีบางส่วนที่ย้ายออกไปอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่รอบนอกของตลาด เนื่องจากสภาพอาคารเก่ามีความแออัดจากจำนวนประชากรที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
2.กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ เป็นบุคคลภายนอกที่ย้ายเข้ามาเพื่อเข้ามาค้าขาย โดยย้ายเข้ามาหลังจากตลาดศาลเจ้าได้ย้ายที่ตั้งตลาดจากบริเวณหน้าศาลเจ้าฮกเกี้ยนมาที่บริเวณหน้าวัดไทร คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเห็นว่าตลาดศาลเจ้าเป็นตลาดที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งเศรษฐกิจหลักของสุราษฎร์ธานี จึงเข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย
ตลาดศาลเจ้า เป็นตลาดแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งพาณิชยกรรมที่มีการค้าขายอย่างหนาแน่น อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับศาสนสถานสำคัญหลายแห่ง ส่งผลให้พื้นที่ตลาดศาลเจ้ากลายเป็นสถานที่ที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในปัจจุบันลักษณะเศรษฐกิจของตลาดศาลเจ้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมการค้าและบริการเป็นหลัก โดยสินค้าที่นำมาขายในตลาดศาลเจ้าจะเน้นไปทางด้านอาหาร โดยเฉพาะสตรีทฟูดที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งผลิตโดยตรงหรือเป็นสินค้าที่พ่อค้า-แม่ค้าผลิตและจัดเตรียมเอง ขนส่งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถจักรยานยนต์แบบพ่วงข้างส่วนตัว หรือจ้างรถสองแถวแบบเหมาจ่าย รูปแบบของสินค้าจะเป็นทั้งลักษณะนั่งรับประทานที่ตลาดและซื้อกลับบ้าน
ประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่ตลาดศาลเจ้านั้นมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาและสภาพภูมิประเทศของพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากอยู่ใกล้วัด ศาลเจ้า และริมแม่น้ำตาปี ดังนั้นจึงมีเทศกาลที่สำคัญและมีชื่อเสียง เช่น ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว เป็นประเพณีสำคัญที่กระทำในวันออกพรรษา (แรม 1 ค่ำเดือน 11) ของทุกปี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังวันออกพรรษา รวมแล้วเป็นเวลากว่า 9 วัน 9 คืน ในแต่ละปีจะมีเรือพระจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาจอดเรียงรายบริเวณริมแม่น้ำตาปี ทั้งเรือบกและเรือน้ำ เพื่อให้ผู้คนได้นำปัจจัยมาใส่ในตู้บนเรือพระที่วัดจัดเตรียมไว้ โดยมีความเชื่อว่า "ทำบุญร้อยวัด ในวันเดียว" นอกจากจะมีการชักพระแล้วยังมี กิจกรรมแยกย่อยอีก 2 ส่วน คือ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว
ภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตลาดศาลเจ้านั้นได้มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณริมแม่น้ำตาปีของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากติดแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญสายหนึ่งของภาคใต้ ทำให้เอื้ออำนวยในการติดต่อค้าขายกับคนที่มาจากพื้นที่อื่น ๆ และที่สำคัญแม่น้ำก็ถือเป็นปัจจัยหลักในด้านการคมนาคมของยุคนั้น โดยเริ่มต้นจากมีพ่อค้าชาวจีนได้อพยพเข้ามาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ขยายตัวมาทางทิศตะวันออก จนมาถึงบริเวณถนนตีเหล็ก ซึ่งในอดีตนั้นเคยเป็นที่ตั้งของโรงตีเหล็กของชาวจีนที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก รวมไปถึงบริเวณถนนตีเหล็กซึ่งอยู่ใกล้วัดกลางเก่าและท่าเรือเกาะที่เป็นต้นตอของเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้น ต่อมาได้มีการปรับปรุงภายในพื้นที่ให้กลายมาเป็นตึกแถว 2 ชั้น โดยใช้ไม้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยสร้างรายล้อมรอบถนนตีเหล็กตามแนวคิดการตั้งถิ่นฐาน โดยมีลักษณะเป็นแนวยาวตามเส้นทางคมนาคมที่สะดวก โดยอาจจะตั้งอยู่เป็นกลุ่มติดต่อกันในเขตที่เป็นชุมชนการค้า ในเวลาต่อมาได้มีการใช้ปูนมาเป็นวัสดุในการก่อสร้างไปควบคู่กับไม้ บริเวณโดยรอบของพื้นที่ได้มีการสร้างศูนย์การค้าและมีร้านค้าหลายแห่งจนกลายมาเป็นย่านการค้า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมไปถึงสร้างและปรับปรุงศาลเจ้าขึ้นมาเพื่ออัญเชิญองค์เทพจากจีนมาประดิษฐานภายในศาลเจ้า เพื่อให้คนได้เข้ามาสักการะ ด้วยความที่เป็นศาลเจ้าที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานีทำให้มีผู้เข้ามาสักการะเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรในพื้นที่ ทำให้เกิดกิจกรรมการค้าที่หลากหลายขึ้น ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นผลทำให้มีพ่อค้า-แม่ค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และบริเวณโดยรอบพื้นที่ได้ออกมาทำการค้าขายบริเวณหน้าศาลเจ้าอ๋องฮกเกี้ยน จนกลายมาเป็นหาบเร่แผงลอย
ลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมภายในพื้นที่ตลาดศาลเจ้านั้นนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่มีการพัฒนาให้มีความสอดคล้องตามยุคสมัย ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตในพื้นที่ตลาดศาลเจ้าได้เป็นอย่างดี โดยในยุคแรกรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในพื้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำตาปี ในลักษณะโครงสร้างเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว และมุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าวหรือหลังคาใบมะพร้าว ซึ่งในระยะต่อมาได้มีการพัฒนาไปเป็นตึกแถว 2 ชั้น ใช้วัสดุเป็นไม้ และเพิ่มปูนเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง มีการประยุกต์ใช้ไม้แกะสลักประดับมากขึ้น โดยตึกแถวจะสร้างในลักษณะเรียงตามเส้นถนนล้อมรอบตัวถนนให้กลายเป็นเป็นที่ตั้งของโรงตีเหล็กของชาวจีนไหหลำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ถนนตีเหล็กหรือที่ตั้งของตลาดเจ้า เป็นที่ตั้งของโรงตีเหล็กถึง 8 โรง ส่งผลทำให้พื้นที่บริเวณนี้ กลายเป็นศูนย์รวมในด้านงานฝีมือต่าง ๆ ได้แก่ โรงเลื่อย อู่ต่อเรือและโรงสี เป็นต้น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ตลาดศาลเจ้า. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/
คฤจภค. (12 มกราคม 2566). เที่ยวตลาดศาลเจ้า Night Street Food ดังของเมืองสุราษฎร์ มาสุราษฎร์แล้วต้องห้ามพลาดนะบอกเลย. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2568, จาก https://travel.trueid.net/
ตลาดศาลเจ้า สุราษฎร์ธานี. (4 ตุลาคม 2563). ตลาดศาลเจ้าสุราษฎร์ธานี. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/
พิมพ์ชนก เกิดเอี่ยม (2564). การพัฒนาพื้นที่ตลาดศาลเจ้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปกรณ์ ปรียากร. (2538). ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาในการบริหารการพัฒนา. สามเจริญพาณิช.
วิถีตากล้อง. (27 มิถุนายน 2561). อยู่กรุงเทพมันว้าวุ่น ต้องหาเรื่องออกมาเที่ยว. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/
สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์. (2549). ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
อมรา พงศาพืชญ์. (2549). ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.