Advance search

บ้านบางเทา

บางทอง

ชุมชนบ้านบางเทาเป็นชุมชนชาติพันธุ์ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามที่ยังคงแบบแผนการดำเนินชีวิตตามบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัด และเป็นชุมชนมุสลิมที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในจังหวัดภูเก็ต

หมู่ที่ 5
บ้านบางเทา
เชิงทะเล
ถลาง
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านบางเทา
บางทอง

บ้านบางเทา ปรากฏข้อสันนิษฐานความเป็นมาของชื่อชุมชน ดังนี้

  1. ชื่อ “บางเทา” มีข้อสันนิษฐาน ว่ามาจาก “ต้นไม้” ชื่อ “ต้นเทา” ที่ขึ้น ปกคลุมบริเวณสองฝั่งคลองมีลักษณะคล้ายต้นไทร ลำต้นใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไปรอบ ๆ ทำให้บริเวณนี้มีอากาศร่มรื่น ดังนั้นผู้คนที่ผ่านไปมาจึงเรียกขานหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “คลองต้นเทา” หรือ “บางต้นเทา” ซึ่ง “บางเทา” คลองบางเทา มีต้นน้ำไหลมาจาก “น้ำตกเหนือโตน” ไหลผ่านมัสยิดเก่าและมัสยิดใหม่ออกทะเลบริเวณหาดบางเทา
  2. ชื่อ “บางเทา” มีข้อสันนิษฐาน ว่ามาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณน้ำตกเหนือโตน ซึ่งน้ำจากการล้างแร่ มีสีขุ่นเทาไหลลงบาง (คลอง) จึงเรียก บางเทา
  3. ชื่อ “บางเทา” มีข้อสันนิษฐาน บ้านบางเทา ในอดีตสภาพหมู่บ้านที่มีลำคลองขนาดใหญ่ไหลผ่านชาวบ้านเรียกว่า “บาง” ลำคลองแห่งนี้ในอดีตมีความเจริญด้านการค้า เพราะมีเรือสำเภาจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายสินค้า ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีคนขุดพบแร่ทองคำจำนวนมาก จนเป็นที่เรียกขานของคนทั่วไปว่า “บ้านบางทอง” และได้เรียกเพี้ยนมาเป็น “บ้านบางเทา” จนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนบ้านบางเทาเป็นชุมชนชาติพันธุ์ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามที่ยังคงแบบแผนการดำเนินชีวิตตามบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัด และเป็นชุมชนมุสลิมที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในจังหวัดภูเก็ต

บ้านบางเทา
หมู่ที่ 5
เชิงทะเล
ถลาง
ภูเก็ต
83110
วิสาหกิจชุมชน โทร. 0-7632-5877, อบต.เชิงทะเล โทร. 0-7627-1096
7.979801
98.29483
องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล

ชุมชนบางเทา มีอายุประมาณ 200 ปี คาดว่าก่อตั้งเป็นชุมชนหลังศึกถลาง กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานแรกเริ่มของชุมชนเป็นคนในท้องถิ่นซึ่งแต่เดิมนั้นมีชาวท้องถิ่นอาศัยอยู่บ้าง ต่อมามีบางส่วนอพยพมาจากอาเจ๊ะ เกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย ผู้ที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานมีผู้นำศาสนาอิสลามมาด้วยคือ ต้นตระกูลคหาปนะและต้นตระกูลจำปาดะ ต่อมามีบางส่วนมาจากมาเลย์ ปากีสถาน และอื่น ๆ เมื่อเข้ามาได้ทำการประกอบอาชีพประมงเพราะอ่าวบางเทามีที่จอดเรือที่สามารถหลบลมหลบฝนได้ ขณะที่บางส่วนประกอบอาชีพเหมืองแร่ ค้าขาย เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมจากการแต่งงานกระทั่งเป็นบางเทาเป็นชุมชนชาติพันธุ์มุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูเก็ต

อย่างไรก็ดีในทางเศรษฐกิจชุมชนบ้านบางเทาผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกด้านฝั่งอันดามันที่รุ่งเรืองอย่างถึงขีดสุด สมาชิกในชุมชนจำนวนไม่น้อยต่างก็มีประสบการณ์เศรษฐกิจเหมืองแร่ทั้ง “การร่อนแร่” โดยใช้ “เลียง” อุปกรณ์พื้นบ้านทำจากไม้รูปทรงคล้ายกระทะรวมถึง “การทำเหมืองแร่ในทะเล” โดยใช้เรือ ขุดแร่บริหน้าอ่าวบางเทา อ่าวเชิงทะเล และอ่าวกมลา กระทั่งสิ้นสุดของยุคเหมืองแร่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกระทั่งปัจจุบัน ทุกวันนี้บ้านบางเทาก็ยังผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายใต้กระแสของทุนโลกเช่นเดียวกับอดีตในยุคอุตสาหกรรมเหมืองแร่

หมู่บ้านบางเทา ตั้งอยู่ที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ห่างจากอำเภอถลางไปทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่ของหมู่บ้านทั้งหมด 1,500 ไร่

  • ทิศตะวันออก ติดกับ ภูเขา
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลกมลา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศเหนือ ติดกับ เทศบาลเชิงทะเล

หมู่บ้านบางเทา แบ่งพื้นที่เป็นบางเทานอก บางเทาในและบางเทาใต้ โดยมีขอบเขตดังนี้

  • บางเทานอก บริเวณจาก อบต.เชิงทะเล ถึงบ้านสารวัตรกำนันประทีป ประกอบด้วย เกาะค้างคาว ในเหมือง โหนขี้ทราย บ้านตากแดด นอกหนน สาเหตุที่เรียกว่า บางเทานอก เพราะว่าพื้นที่อยู่ด้านนอกติดกับทางออกนอกหมู่บ้าน
  • บางเทาใน หรือ ในบ้าน เป็นชุมชนดั้งเดิมของหมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านเหนือ เหนือโตนและนอกนา
  • บ้านใต้ เริ่มตั้งแต่ รร.บางเทา ถึงหาดสุรินทร์ ประกอบด้วย นอกเล พลายโหนด (หาดสุรินทร์) ลุ่มเฟื่อง ควนกลาง ควนตาหนู

ชุมชมบางเทามีลักษณะของพื้นที่ประกอบด้วยแนวชายฝั่งทะเลและภูเขา หรือสามารถกล่าวได้ว่าด้านหลังติดภูเขาและด้านหน้าติดทะเล ภูเขาในพื้นที่ทอดตัวแนวเหนือใต้ขนานกับชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิประเทศเป็นชายหาดแนวยาวที่มีลักษณะเป็นอ่าวเว้ารวมถึง เกาะและแหลม ได้แก่ อ่าวบางเทา เกาะกระทะ เกาะแวะ แหลมสิงห์ บริเวณบางเทามีหาดทราย 4 หาด คือ หาดแหลมสิงห์ หาดสุรินทร์ หาดบางเทา และหาดลายัน 

ภูมิอากาศอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูร้อน ซึ่งฤดูฝนคนในพื้นที่เรียกว่า “หน้าโยก” คือ ลมพัดแรงทะเลมีคลื่นสูงในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงนักท่องเที่ยวจะไม่นิยมท่องเที่ยว ชาวบ้านจะเรียกว่า หน้าโลว์ หรือ (Low Season) ช่วงนี้สมาชิกในชุมชนบางส่วนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เช่น ทำสวน หรือ ทำประมงชายฝั่ง และฤดูท่องเที่ยว คือ ช่วงหน้าไฮน์ (Hi Season) ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจำนวนมากนำรายได้มาสู่คนในพื้นที่

ชุมชนบางเทา เป็นชุมชนมุสลิม 100 เปอร์เซ็นต์ ความสัมพันธ์ของชุมชนบางเทาเปรียบเสมือน “ครอบครัวใหญ่” เมื่อพบเจอมักจะทักทายกันถามสารทุกข์สุขดิบกันแบบคนในครอบครัว ฉะนั้นการถามว่า “เป็นลูกใคร” “หลานใคร” จะสามารถสืบได้ถึงพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือนับญาติกันได้ ชุมชนบางเทาประกอบด้วยนามสกุลที่พบมากดังนี้

  1. จำปาดะ
  2. คหาปนะ
  3. มานะบุตร
  4. เกราะเหล็ก
  5. สาเหล่
  6. ปะหนัน
  7. เชื้อสมัน
  8. สำราญ
  9. พันธ์ฉลาด

กลุ่มอาชีพในชุมชนบ้านบางเทามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือกันและกันของสมาชิกในชุมชนทั้งด้านการสร้างอาชีพ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพ การจัดหาเงินทุน เช่น กลุ่มน้ำพริกเกาะค้างคาว สมาชิกสร้างรายได้จากการขายน้ำพริก โดยกลุ่มเริ่มจากการทำน้ำพริกเพื่อมากินข้าวร่วมกันทุกคนเห็นว่ามีรสชาติดี จึงลงความเห็นร่วมกันว่า ควรสร้างกลุ่มทำน้ำพริกขายเพื่อสร้างรายได้ จากนั้นมีการพัฒนาสูตรและรูปแบบผลิตภัณฑ์กระทั่งได้รับรางวัลสินค้าชุมชน ปัจจุบันกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งมากพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ซึ่งน้ำพริกสูตรใหม่ที่คิดค้นและจะผลิตเพื่อจำหน่ายคือ น้ำพริกสัปปะรด โดยใช้วัตถุดิบสัปปะรดภูเก็ตเป็นส่วนประกอบสำคัญและสาเหตุที่เรียกว่า “กลุ่มน้ำพริกเกาะค้างคาว” เพราะสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งของกลุ่มเป็นพื้นที่การทำนามีต้นตาลขึ้นกระจายไปทั่วทำให้มีค้างคาวจำนวนมากมาเกาะที่ต้นตาล ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า "เกาะค้างคาว" และเมื่อลูกตาลสุกก็นำลูกตาลมาบีบให้เละเพื่อใช้ทำขนมตาลขายในชุมชน

ปฏิทินกิจกรรมของชุมชนบ้านบางเทามีความสัมพันธ์กับศาสนาอิสลาม ในรอบปีชุมชนจัดงงานสำคัญคือ

  • “วันอีด” หมายถึง รื่นเริง เฉลิมฉลอง หรือ “ตรุษ” ประกอบด้วย “วันตรุษอีดิ้ลฟิตร” และ “วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา” เป็นวันรื่นเริงของพี่น้องมุสลิม ซึ่งชาวบางเทาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ใน “วันอีด” มีมหกรรมวันอีด จัดโดยกลุ่มโดยเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รื่นเริงสนุกสนาน ในรูปแบบฮาลาลร่วมกันภายในชุมชน

  • วันตรุษอีดิ้ลฟิตร หรือวันออกบวช หลังจากการถือศีลอด ในวันนี้มุสลิมชำระล้างร่างกายให้สะอาด สวมใส่ชุดสวยงามประกอบศาสนกิจที่มัสยิด หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาสมาชิกทุกคนในครอบครัวร่วมกันรับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันในหมู่เครือญาติ และเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวและชุมชนให้ให้อภัยซึ่งกันและกัน หากปฏิบัติต่อกันไม่เหมาะสมในห้วงที่ผ่านมา

  • วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา หรือ วันกุรบาน เป็นวันที่มุสลิมชุมชนบางเทาและมุสลิมทั่วโลก ประกอบพิธีกรรมเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน โดยมัสยิดประกาศเชิญชวนสมาชิกในชุมชนที่สามารถเป็นเจ้าภาพบริจาคเงินเพื่อซื้อวัว มาใช้ในพิธีกรรมซึ่งเนื้อวัวจากการประกอบพิธีกรรมมีการแจกจ่ายไปยังสมาชิกในชุมชน

  • พิธีเข้าสุนัต การขลิบที่ปลายอวัยวะเพศชายของเด็กชาวมุสลิมเพื่อความสะอาด และในรอบปีชุมชนมีการจัดให้เด็กที่สามารถเข้าร่วมในพิธีกรรมได้ มาใช้บริการกับทีมแพทย์ที่ทางหน่วยงาน องค์การบริหารส่วนตำบล เชิงทะเลจัดเตรียมไว้ การทำกิจกรรมจัดแบ่งเป็น 2 วัน ในช่วงเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม โดยวันแรกของพิธีเป็นการนำเด็ก ๆ ไปท่องเที่ยวเพื่อให้ผ่อนคลาย วันที่ 2 เป็นวันที่จัดพิธี

1. นายยุโสป สำราญ : ผู้เชี่ยวชาญการทำพิธีโกนผม ขึ้นเปลเด็กในชุมชนอดีตอิหม่ามมัสยิด

2. นายสมุทร สาเหล่ : บิหลั่นประจำมัสยิด (บิหลั่น หมายถึง ผู้อาซาน หรือผู้เรียกร้องผู้คนให้มาละหมาดที่มัสยิด)

3. วิลาส สมาน : ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ อัล-อิสลามียะห์ กรรมการอิสลามประจำมัสยิด

ทุนของชุมชนบ้านบางเทาสามารถจำแนกได้ทั้งทุนทางภาพ ทุนทางชีวภาพ ทุนทางวัฒนธรรมและทุนมนุษย์ ทุนดังกล่าวมีบทบาทและส่งเสริมให้ชุมชนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่สมาชิกในชุมชน

ทุนกายภาพ ลักษณะภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นชายหาดและอ่าว ส่งเสริมให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวแก่ชุมชน ถ้าหากย้อนกลับไปยังอดีตลักษณะทางกายภาพเอื้อให้เกิดการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เมื่อหมดยุคเหมืองแร่ดีบุกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาแทนที่ก็ยังเอื้อให้ชุมชนสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ

ทุนชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพของบ้านบางเทาสามารถไล่เรียงจากพื้นที่ท้องทะเลที่อุดมด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด กระทั่งไต่ระดับความสูงถึงภูเขาที่วางตัวแนวเหนือใต้ทางตะวันออกของหมู่บ้านที่เอื้อต่อพืชพรรณนานาชนิดที่ชุมชนนำมาเป็นอาหาร และการเพาะปลูกพืชทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา รวมทั้งสวนผลไม้ที่ผลิตผลนำมาค้าขายในชุมชน เช่น จำปาดะ สัปปะรด ทุเรียนบ้าน

ทุนวัฒนธรรม บ้านบางเทาเป็นชุมชนมุสลิมที่สมาชิกของชุมชนปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังนั้นศาสนาจึงเป็นที่มาของภูมิปัญญาที่สำคัญของชุมชน เช่น ภูมิปัญญาพิธีสุนัต ที่สัมพันธ์กับด้านสุขอนามัย ภูมิปัญญาการขึ้นเปลของมุสลิม ที่สัมพันธ์กับการดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน ภูมิปัญญาจากการละหมาดที่เป็นอุบายเพื่อให้เกิดการทำจิตใจให้มีสมาธิ ภูมิปัญญาการแบ่งปันและการให้ที่ซ่อนอยู่ในการซักกาด เป็นต้น ความเข้มแข็งและจุดแข็งของชุมชนบ้านบางเทาด้านศาสนา ในฐานะที่ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตส่งเสริมให้ชุมชนสามารถรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันและกันเพราะความเป็นพี่น้องทางศาสนา

ตลาดนัดในฐานะทุนทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางสังคมที่สมาชิกในชุมชนบ้านบางเทา ผู้คนละแวกใกล้เคียงรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาพักอาศัยในบริเวณหาดสุรินทร์ หาดบางเทา และหาดกมลา มาปะทะสังสรรค์ทางสังคมร่วมกัน เช่น ตลาดนัด โรงเรียน ที่ตั้งของกลุ่มอาชีพ กุโบร์หรือสุสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดนัด เป็นพื้นที่ทางสังคมที่กล่าวได้ว่านี่คือเสน่ห์ของชุมชนบ้านบางเทาที่คนในชุมชนบ้านบางเทา ชุมชนละแวกใกล้เคียง นักท่องเที่ยว มักมาจับจ่ายซื้อของอย่างไม่ขาดสายเพราะราคาไม่แพงอาหารรสชาติดี และหากเป็นอาหารทะเลมีความสด เพราะได้มาจากชุมชนประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ตลาดนัดในชุมชนมี 3 จุด คือ

  • ตลาดนัดหมู่บ้านบางเทา เป็นตลาดนัดลำดับแรกของชุมชน เปิดตลาดวันพุธและวันศุกร์
  • ตลาดนัดนอกเล เป็นตลาดนัดลำดับสองของชุมชน  เปิดตลาดวันอังคารและวันศุกร์
  • ตลาดนัดหลังโลตัส เป็นตลาดนัดหลังสุด  เปิดตลาดวันจันทร์และวันพฤหัสบดี

ภาษาพื้นถิ่นภาคใต้ภูเก็ต


การขยายตัวของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากหลากหลายวัฒนธรรม รวมถึงผู้คนหลากหลายที่ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นเข้ามาทำงานและพักอาศัยทั้งในและรอบชุมชนบ้านบางเทา ส่งผลให้รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย ทว่าชุมชนบ้านบางเทาซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต ยังสามารถดำรงอัตลักษณ์วัฒนธรรมอิสลามได้ท่ามกลางความหลากหลายโดยเฉพาะ “อาหาร” ที่ยังคงความเป็น “อาหารฮาลาล” และ “ชุมชนอาหารฮาลาล” ซึ่งแม้แต่ร้านสะดวกซื้อรวมถึงร้านค้าในชุมชนก็ไม่ขายอาหารที่ทำจากเนื้อสุกรและสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอร์

ความท้าทายจากเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวที่รายรอบชุมชนบ้านบางเทานี้ ทำให้ชุมชนเล็งเห็นถึง “การสร้างมูลค่า” จาก “ทุนวัฒนธรรมด้านอาหาร” โดยเฉพาะ “อาหารฮาลาล” ที่มีร้านค้ากระจายทั่วไปในชุมชน และอาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และอาหารที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทางศาสนาอิสลาม อาทิ แกงแพะ ข้าวยำ ขนมเดือน ขนมก้านบัว น้ำพริกเกาะค้างคาว เป็นต้น อาหารเหล่านี้ถึงแม้ว่าพื้นที่อื่นหรือชุมชนอื่นจะมีการทำอาหารในลักษณะคล้าย ๆ กัน ทว่ารสชาติ วัตถุดิบ หรือสูตรการทำอาหาร ก็มีความเฉพาะถิ่นที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์อาหารมุสลิมบ้านบางเทา

กลุ่มในชุมชนเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เน้นด้านอาหารจึงเล็งเห็นว่าควรร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมอาหาร เพื่อยกระดับให้ชุมชนบ้านบางเทาเป็น “ชุมชนอาหารฮาลาลภูเก็ต” ในอีกด้านหนึ่งเป็นการส่งเสริมให้ทุนวัฒนธรรมของชุมชนสามารถสร้างมูลค่า เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้รับประโยชน์จากทุนวัฒนธรรมของชุมชน

ชุมชนบ้านบางเทามีการปะทะประสานและมีความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลง ดังกลุ่มเยาวชนบ้านบางเทาที่ก่อตั้งโดยองค์การบริการส่วนตำบลเชิงทะเล ชื่อ "กลุ่มชาบ๊าบ" ในด้านหนึ่งเป็นเสมือนการสร้างผู้นำทางวัฒนธรรมรุ่นใหม่ในชุมชนเยาวชนกลุ่มนี้มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน 

กลุ่มเยาวชนมีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีด้านการค้าออนไลน์ ด้านการกีฬา ด้านศิลปะ มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนทั้งในกลุ่มผู้อาวุโส และกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชนบ้านบางเทา เช่น การสร้างช่องทางค้าขายออนไลน์ให้ผู้ค้ารายย่อยในกลุ่มค้าออนไลน์ชื่ออันดามันฮาลาล ออนไลน์ ดังกรณีของพ่อค้าไก่ทอดรถเข็นในบ้านบางเทา ร้านขายกาแฟเล็ก ๆ ของวัยรุ่นในชุมชน ผู้ประกอบการแฮมเบอร์เกอร์โฮมเมด (homemade) โดยการสร้างช่องทางการค้าออนไลน์โดยไม่คิดมูลค่า

การใช้เทคโนโลยีในการสร้างให้เกิดมูลค่านี้ ด้านหนึ่งก็เป็นเครื่องมือในการปะทะประสานและมีความสำคัญในการเชื่อมโยงให้เกิดการอยู่ได้ อยู่ดี อยู่เด่นของชุมชนด้วยวัฒนธรรมชุมชนที่มีความสมสมัย ในท่ามกลางสภาพการณ์ของการปะทะประสานและความยืดหยุ่นในความเป็นชุมชนชาติพันธุ์มุสลิมบ้านบางเทากับความเป็นชุมชนเมือง/สังคมสมัยใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมให้ทั้งกับคนรุ่นพ่อ แม่ รวมถึงกลุ่มเยาวชนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

ธำรงค์ บริเวธานันท์. (2565). โครงการการสำรวจเก็บข้อมูลชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านทุนวัฒนธรรมกรณีชุมชนภาคใต้ (ชุมชนบ้านบางเทา ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต) : รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง. สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน), (ออนไลน์). 2556, สืบค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/