
ตลาดเก่าราชบุรี หรือตลาดโคยกี๊ ชุมชนย่านการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต ย่านพาณิชยกรรมคู่เมืองราชบุรีบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้ากับการเข้ามาของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เปลี่ยนแปลงสู่ถนนคนเดิน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
ตลาดเก่าราชบุรี หรือตลาดโคยกี๊ ชุมชนย่านการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต ย่านพาณิชยกรรมคู่เมืองราชบุรีบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้ากับการเข้ามาของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เปลี่ยนแปลงสู่ถนนคนเดิน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
ริมแม่น้ำแม่กลองย่านนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลายยุคสมัยมีลักษณะเป็นแนวยาวอยู่ริมน้ำเพื่อการเพาะปลูก ราชบุรีเป็นศูนย์กลางของมณฑลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้รวมเมืองที่อยู่ใกล้ชิดกัน ได้แก่ เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งราชบุรีใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางการเดินทางไปยังเมืองอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก จึงได้มีการแต่งตั้งเป็นมณฑลราชบุรีและได้ตั้งที่บัญชาการมณฑล ณ เมืองราชบุรี หรือศาลมณฑลราชบุรีไว้ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เช่นเดียวกันกับพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี ซึ่งปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเก่าและได้มีการตั้งสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี พร้อมทั้งมีศาสนสถานมากมายทั้งไทยและจีน และสถานศึกษาโรงเรียนสุริยวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในจังหวัดราชบุรี
พื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีมีความคึกคักของผู้คนที่เข้ามาติดต่อราชการและสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดจากการย้ายของผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยริมน้ำ มีที่อยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานที่ราชการ จนกลายเป็นศูนย์กลางชุมชนและเศรษฐกิจ จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นพื้นที่ที่มีการค้าขายมากขึ้น จากที่อยู่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองบนเรือหรือแพเกิดการขยับขยายขึ้นมาตั้งถิ่นฐานบนบก พร้อมดึงดูดชนชาติอื่นเข้ามาแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมเนื่องจากสามารถสัญจรไปยังทะเลอ่าวไทย ซึ่งรวดเร็วกว่าการสัญจรทางบก นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการผลิตโอ่งมังกรซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองราชบุรี
การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาด้านกายภาพที่ส่งผลต่อพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี มาจากนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายการสัญจรทางบก การสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่ง ระบบไฟฟ้า น้ำประปา และการเข้ามาของวิวัฒนาการใหม่ ๆ เช่น ยานพาหนะ ซึ่งการปรับปรุงเส้นทางการสัญจรทางบกให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลในอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี พัฒนาเป็นรูปแบบตามแนวเส้นทางถนน อีกทั้งช่วงนี้มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำแม่กลองทำให้การสัญจรทางเรือหรืออยู่อาศัยบนแพจึงเริ่มลดน้อยลง เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานบนบกมากขึ้น พร้อมทั้งผู้คนหันมาประกอบอาชีพบนบกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเส้นทางถนนที่กว้างขวางและทางเท้าที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกทั้งทางน้ำและทางบก มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้อาคารจากเป็นคลังเก็บสินค้าหรือที่อยู่อาศัยกลายเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยกึ่งพาณิชยกรรม
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีและพื้นที่โดยรอบให้มีการเข้าถึงที่สะดวกมากขึ้น พร้อมทั้งการพัฒนามุ่งให้พื้นที่นั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ไฟฟ้าที่เข้าถึงทุกพื้นที่ การสร้างสิ่งปลูกสร้างในการตั้งถิ่นฐานและการค้าขายในช่วงนี้จึงเป็นในรูปแบบแนวยาวตามถนนจากระยะเดินทางที่รวดเร็ว การขนส่งสินค้าทางบกที่ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางเรือ มีการขยายนโยบายการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำแม่กลองและการสร้างอาคารพาณิชยกรรมมากขึ้น จึงส่งผลให้ไม่พบเห็นการอยู่อาศัยบนเรือหรือเรือนแพบริเวณตลาดเก่าราชบุรี รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนในพื้นที่ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงจากช่วงก่อตั้งตลาดเก่าราชบุรี
เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รอบตลาดเก่าราชบุรี รูปแบบอาคารบริเวณโดยรอบของย่านตลาดเก่าราชบุรี เริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้วัสดุจากหลังคาสังกะสีหรือกระเบื้องคอนกรีตเป็นหลังคาคอนกรีตเรียบ มีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารภายนอกให้มีความแข็งแรงและมีความสวยงามมากขึ้น ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองให้มีความสวยงามและเป็นจุดเช็กอิน (Check-in) แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังพื้นที่ และเป็นจุดรวมพลในการจัดกิจกรรมและเทศกาลต่างๆ ในปัจจุบัน
พื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี อยู่ในเขตการปกครองเทศบาลเมืองราชบุรี ตั้งอยู่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มีขนาดพื้นที่ 48 ตารางวา (5 ไร่ 1 งาน) โดยประมาณ มีอาณาเขตติดต่อแม่น้ำแม่กลอง สถานศึกษา และสถานที่ราชการหลายแห่ง
ในปัจจุบันตลาดเก่าราชบุรีอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ได้เข้ามาพัฒนาและจัดระเบียบตลาดเก่าราชบุรี อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดศูนย์กลางการค้าและชุมชนแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดกลางในตลาดเก่าราชบุรีที่มีการจัดรูปแบบใหม่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ย่านตลาดเก่าราชบุรีซบเซาลง
พื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี เดิมมีการสัญจรผ่านทางแม่น้ำแม่กลองเป็นหลักต่อมา ได้มีการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มความสะดวกมากขึ้น ทำให้การสัญจรเข้ามายังพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีสามารถเดินทางได้หลากหลายเส้นทาง ในปัจจุบันหากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทางหลัก โดยเส้นทางถนนเพชรเกษมระยะทาง 102 กิโลเมตรโดยประมาณ โดยเส้นทางถนนพระรามที่ 2 ระยะทาง 144 กิโลเมตรโดยประมาณ และโดยรถไฟจากสถานีกลางบางซื่อ ระยะทาง 84 กิโลเมตรโดยประมาณ การสัญจรภายในอำเภอเมืองราชบุรีสามารถสัญจรได้ทางน้ำและทางบก ซึ่งการสัญจรทางน้ำคือผ่านทางแม่น้ำแม่กลองสามารถสัญจรไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้ เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม ทะเลอ่าวไทย เป็นต้น ในปัจจุบันการสัญจรทางน้ำที่สามารถเห็นได้บ่อย คือ การเดินเรือข้ามฟาก และการขนส่งน้ำมัน ดินทราย เส้นทางการคมนาคมทางบกที่มีการพัฒนามากขึ้นจึงมีความสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้การสัญจรทางน้ำได้ถูกลดความสำคัญลง การสัญจรภายในอำเภอเมืองราชบุรีมีหลากหลายรูปแบบ โดยยานพาหนะที่ผู้คนมักเลือกใช้คือจักรยานยนต์ ซึ่งในพื้นที่มีบริการรถสองแถว รถสามล้อเครื่อง จักรยานยนตร์รับจ้าง กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี โรงเรียนสุริยวงศ์ ไปรษณีย์ไทยราชบุรี อีกทั้งภายในตลาดเก่าราชบุรีมีทางสำหรับการเดินอยู่ทั่วตลาด จึงสามารถจำแนกการสัญจรและการเข้าถึงตลาดเก่าราชบุรีได้ 2 ประเภท คือ เส้นทางการสัญจรทางบก และเส้นทางการสัญจรทางน้ำ เดินทางโดยยานพาหนะส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะก็ได้
พื้นที่บริเวณย่านตลาดเก่าราชบุรี เป็นชุมชนพื้นที่ริมแม่น้ำแม่กลองที่อยู่คู่เมืองราชบุรีมามากกว่า 100 ปี แม่น้ำสายนี้เดิมเป็นเส้นทางหลักในการล่องเรือไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองจึงสามารถพบเห็นชุมชนมากมาย พื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีจึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางชุมชน มีความคึกคักจากการเป็นสถานที่แวะพักเรือและเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จากพื้นที่โล่งมีการรวมตัวของผู้คนในพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ก่อเกิดเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นย่านที่มีความสำคัญในทุกยุคสมัยตั้งแต่ด้านศูนย์กลางชุมชนและการค้าจนถึงการเป็นเมืองหน้าด่านเนื่องจากพื้นที่มีขอบเขตที่ติดกับพม่า อีกทั้งมีการเข้าถึงของนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญ คือ การแต่งตั้งราชบุรีให้เป็น “มณฑลราชบุรี” ส่งผลต่อของพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีให้มีเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองกว่าเดิม ครบครันด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปาที่เข้าถึง ศาสนสถาน สถานศึกษา และสถานที่ราชการมากมาย ทำให้พื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีเป็นที่รู้จักจากคนหลากหลายพื้นที่ จึงเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานจากผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เช่น คนไทยเชื้อสายจีน
เศรษฐกิจของพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีขับเคลื่อนได้จากกิจกรรมด้านพาณิชยกรรมและการให้บริการ ในอดีตส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบที่พาณิชยกรรมแทบทุกอาคาร แต่ในปัจจุบันร้านเก่าแก่บางส่วนได้ปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการเช่าอาคารอย่างต่อเนื่องสำหรับทั้งการอยู่อาศัยเองและปล่อยเช่าต่อ อาชีพหลักของผู้คนที่ยังคงเช่าอาคารอยู่นั้น ส่วนมากเป็นอาชีพค้าขายและการบริการ ซึ่งสินค้าในการค้าขายในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นประเภทของใช้ ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า ร้านขายของชำ ร้านขายยา นอกเหนือจากนั้นยังมี ร้านขายผ้า เครื่อง สังฆทาน ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง โรงแรม และห้างทองหลายแห่ง
อีกทั้งพื้นที่ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนานจึงมีร้านค้าเก่าแก่ที่ยังคงเป็นร้านที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงหลายแห่ง มีการซื้อขายกันรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) ร้านค้าที่เปิดในอาคาร เช่น ร้านขายยาแผนโบราณ คือ ร้านนางม้วนจำหน่ายยาไทยและร้านซินทงเช้ง สองร้านนี้เป็นร้านยาจีนแผนโบราณที่ในอดีตผู้คนให้ความสนใจเชื่อมั่นและมีผู้คนเข้ามารับการักษาเป็นจำนวนมาก (2) ร้านค้าแผงลอย เช่น ร้านหมูสะเต๊ะซอยศาลเจ้า และในส่วนการบริการ โรงแรมกวงฮั่ว เป็นสถานบริการแห่งแรกของพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี ในอดีตเป็นที่พักค้างแรมที่นิยมของผู้ที่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ อีกทั้งบริเวณโดยรอบตลาดเก่าราชบุรี ถึงแม้ในปัจจุบันตลาดเก่าราชบุรีไม่ได้คึกคักเหมือนเดิมแต่ยังคงมีสินค้าที่มีความครบครัน
ทั้งนี้ ในพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี หรือตลาดเก่าโคยกี๊ ยังมีการเปิดเป็นถนนคนเดินราชบุรี ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง โดยจะเปิดในช่วงเย็นของทุกวันศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความคึกคักได้เป็นอย่างดี จากการเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ของนักท่องเที่ยว ผู้คนจากต่างพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง โดยมีทั้งการบริการร้านอาหาร สตรีทฟู๊ด สินค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน เสื้อผ้า ของใช้ การบริการวาดภาพ และกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ในถนนคนเดินย่านตลาดเก่าราชบุรี
1. กิจกรรมการอยู่อาศัย ในปัจจุบันตลาดเก่าราชบุรีที่มีความซบเซาไม่คึกคักเท่าอดีต อีกทั้งมีกิจการร้านค้าปิดลงอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่โดยรอบตลาดเก่าราชบุรีนั้นยังมีความคึกคักและมีร้านค้าที่หลากหลาย จึงทำให้กิจกรรมในการอยู่อาศัยของพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรียังคงเป็นประเภทที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป อีกทั้งภายในพื้นที่มีการตั้งชมรมในการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีจึงมีการใช้อาคารเพื่อประกอบกิจกรรมการอยู่อาศัยเป็นหลัก
2. กิจกรรมการค้าขาย ในการค้าขายในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีมีกิจกรรมค้าขายในรูปแบบตามเส้นถนน กล่าวคือหากพื้นที่ไหนที่ติดกันถนนก็จะมีร้านค้ามาการประกอบกิจกรรมการค้าขาย ซึ่งในพื้นที่สามารถพบเห็นได้ 3 รูปแบบ ส่วนมากเป็นการประกอบกิจกรรมภายในอาคาร ประกอบกิจกรรมแบบหาบเร่แผงลอย และประกอบกิจกรรมภายในตลาดกลาง และเนื่องจากรูปแบบพื้นที่ที่ติดถนนจึงทำให้บางร้านมีการตั้งแผงร้านค้ารุกล้ำพื้นผิวจราจร ทำให้ทางเดินและพื้นผิวจราจรในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีมีการสัญจรที่ลำบากและไม่ปลอดภัย
3. กิจกรรมการบริการ พื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีนั้นมีการประกอบกิจกรรมด้านการบริการ กระจายอยู่ภายนอกรอบตลาดเก่าราชบุรี แต่ภายในตลาดเก่าราชบุรีนั้นมีเพียงโรงแรมกวงฮั่ว ร้านขายยา และร้านเย็บผ้า คนในพื้นที่จึงนิยมออกไปใช้บริการยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ธนาคาร ร้านเสริมสวย ร้านอินเทอร์เน็ต คลินิก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าที่ยังคงเปิดกิจการและอาคารที่มีการอยู่อาศัยนั้นเป็นพ่อค้าแม่ค้าดั้งเดิม และมีแนวโน้มที่ผู้คนจะย้ายออกอย่างต่อเนื่องจากความซบเซาของตลาดกลางที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี ในการใช้พื้นที่แบบที่อยู่อาศัยกึ่งพาณิชยกรรมนั้นสามารถพบเห็นได้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามารับช่วงต่อหรือเข้ามาเช่าใหม่ มีการเข้ามาปรับปรุงอาคารจึงทำให้อาคารบางอาคารขาดความกลมกลืนกับอาคารโดยรอบ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีเยอะในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี เนื่องจากเมืองราชบุรีในปัจจุบันมีความเจริญอย่างต่อเนื่องจึงมาพร้อมกับทางเลือกให้การเข้าใช้บริการที่มากขึ้น เกิดห้างสรรพสินค้าขึ้นหลายแห่ง จึงทำให้พื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีมีความซบเซาเพิ่มขึ้น
ประเพณี วัฒนธรรม และการรวมตัวของคนในพื้นที่
พื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุจากในช่วงการก่อตั้งพื้นที่เป็นในช่วงที่จีนมีการอพยพมาทางแม่น้ำเพื่อมาทำมาหากินและพื้นที่บริเวณริมน้ำนั้นมีศักยภาพที่ดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้ามาลงหลักปักฐาน เดิมเน้นการค้าขายบริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง อาคารในพื้นที่จึงเป็นเพียงที่พักอาศัยของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ต่อมามีการพัฒนาพื้นที่ ทำให้ความเจริญได้กระจายตัวออกไปจากอาคารที่อยู่อาศัยจึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยกึ่งพาณิชยกรรมเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองราชบุรี เกิดการรวมตัวกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อความสนิทสนมกันในพื้นที่ อีกทั้งมีการตั้งศาลเจ้าเจียวตี้เอี้ยขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในพื้นที่
การประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรม เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนมาเป็นกลุ่มคนชายไทยเชื้อสายจีน ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมจึงเป็นการสืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน มีมากมายหลายประเพณีหลัก ๆ ที่มีการจัดทุกปี คือ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลกินเจ เทศกาลตวนอู่หรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ทำบุญกลางแจ้ง ซึ่งบางประเพณีอาจไม่ได้มีการรวมตัวกันทุกคนในพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมเป็นเพียงกันจัดของแต่ละบ้าน แต่การเตรียมของทำพิธีต้องมีการออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้ผู้คนได้ออกมามีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ โดยหลังประกอบพิธีการต่าง ๆ ก็จะมีการแลกเปลี่ยนอาหารขนมจากการไหว้เจ้า ซึ่งบ่งชี้ถึงการอยู่อาศัยแบบพึ่งพาพึ่งอาศัยกันในพื้นที่
นอกจากนี้ในการรวมตัวกันประกอบกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากทางวัฒนธรรม ประเพณี ตลาดเก่าราชบุรีได้มีการตั้งชมรมคนตลาด ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานทางภาครัฐ เป็นการจัดชมรมรวมตัวกันเพื่อพึ่งพากันในยามขับขนและการกระจายข่าวสาร กิจกรรมทางประเพณีต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบสื่อออนไลน์ และการเดินแจกใบปลิวเพื่อให้เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทุกกลุ่มวัย ซึ่งการรวมตัวของชมรมคนตลาดทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งการรวมตัวกันจะมีการรวมตัวกันที่บริเวณท่าเทียบเรือเทศบาลราชบุรี บริเวณทิศเหนือของตลาดเก่าราชบุรี โดยกิจกรรมที่จัดประจำคือรวมตัวกันออกกำลังกาย อีกทั้งมีการรวมตัวกันให้ความรู้ในด้านสิ่งต่าง ๆ ทั้งเพื่อนำไปประกอบอาชีพและเพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมที่ดีขึ้น เช่น การให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอันตรายพร้อมจัดสรรพื้นที่สำหรับทิ้งขยะอันตราย
ปัญหาความซบเซาของพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี จากบริเวณตลาดเก่าราชบุรีเป็นจุดศูนย์กลางเมื่อเวลาผ่านไปความเจริญได้ขยายตัวออกไปตามแนวถนนที่มีมากขึ้น แหล่งเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมายส่งผลต่อทางเลือกในการค้าขายและการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนนั้นเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพื้นที่ตลาดเก่าไม่มีศักยภาพมากพอที่จะดึงดูดกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายใหม่เข้ามายังพื้นที่ ต่างจากอดีตที่เป็นพื้นที่ที่มีร้านค้าที่หลากหลายและมีความทันสมัยของสินค้า ในปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือความคึกคักในพื้นที่พร้อมทั้งปัญหาการจราจรที่ติดขัดตลอดทั้งวัน ร้านค้าแผงลอยที่อยู่บริเวณสองข้างทางที่ไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งทิ้งสิ่งสกปรกลงพื้นส่งกลิ่นเหม็น พื้นที่บริเวณตลาดเก่าราชบุรีจึงเป็นพื้นที่ของผู้คนมักจะหลีกเลี่ยง ใน พ.ศ. 2563 เกิดวิกฤตการณ์ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้ยิ่งเข้ามาในพื้นที่น้อยลง ส่งผลต่อพื้นที่มีความซบเซาอย่างต่อเนื่อง
อาคารในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี ผู้เช่าอาคารส่วนมากจะเป็นการรับช่วงต่อกัน แต่ในปัจจุบันผู้คนรุ่นใหม่เริ่มมีแนวทางและทางเลือกในการพื้นที่ในการดำรงชีวิตที่ต่างไปจากรุ่นสู่รุ่น ผู้คนรุ่นใหม่มีปัจจัยในการเลือกพื้นที่ในการตั้งถิ่นฐานคำนึงหลายด้านมากขึ้น เช่น การสัญจรที่มีการเข้าถึงที่สะดวกสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ ความปลอดภัย พื้นที่สีเขียว เป็นต้น อีกทั้งการจราจรที่ติดขัดเส้นทางเดินที่ไม่ปลอดภัยส่งผลต่อการเข้าถึงยาก ผู้คนจึงเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ เหลือแต่เพียงผู้คนในวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้คนในวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ การรวมตัวในการจัดกิจกรรมที่ค่อย ๆ ลดหายไป อีกทั้งภายในตลาดเก่าราชบุรีขาดพื้นที่ในการจัดกิจกรรมสำหรับการพบปะซึ่งกันและกัน และขาดสิ่งอำนวยความในการเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็น ทางเท้าไม่สะดวกต่อการเดิน อย่างไรก็ตาม ผู้คนเก่าแก่ส่วนใหญ่ยังคงรู้จักกันแต่ความสนิทสนมพึ่งพากันซึ่งกันนั้นได้ต่างไปจากเดิม เพราะขาดการพบปะซึ่งกันทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในตลาดเก่าราชบุรีค่อย ๆ เลือนหายไป ซึ่งอาจส่งผลต่อวัฒนธรรมและประเพณีที่เลือนหายตาม
จากการที่ร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่เป็นระเบียบเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร ทั้งการเดินและการขับขี่ การทิ้งของเสียลงพื้นถนนส่งกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ ปัญหาสายไฟพันกันและป้ายโฆษณาต่าง ๆ ตามอาคารที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้คนในพื้นที่ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซาผู้คนต่างทยอยย้ายออกจากพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่ตลาดเก่าราชบุรีในยามเย็นมีความเปลี่ยวเป็นอย่างมาก และจากแสงไฟที่ไม่เพียงพอในตอนกลางคืนและไม่มีกล้องวงจรปิดในพื้นที่ จึงอาจเป็นแหล่งซ่องสุมที่นำพาซึ่งอันตรายต่าง ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ระบบสาธารณูปโภค
1. ไฟฟ้า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริการจ่ายกระแสไฟฟ้าพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่ทุกครัวเรือน
2. ประปา หน่วยงานที่รับผิดชอบการจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี คือ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาราชบุรี โดยกองการประปารับผิดชอบด้านการให้บริการน้ำที่สะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค และใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. การระบายน้ำ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กองช่างสุขาภิบาล ดูแลในด้านระบบระบายน้ำ โดยพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีเป็นระบบท่อรวมน้ำดีและเสียจากทุกครัวเรือนที่ไหลลงท่อระบายน้ำที่เป็นท่อเปิดสองข้างถนน สู่การบำบัดและปล่อยลงแม่น้ำแม่กลอง
4. การกำจัดน้ำเสีย เนื่องจากพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรีเป็นแหล่งชุมชน เทศบาลเมืองราชบุรีจึงได้มีการเพิ่มบ่อบำบัดน้ำเสียและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันได้สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณทิศเหนือของตลาดเก่าราชบุรีในการบำบัดและปล่อยสู่แม่น้ำแม่กลอง
5. การจัดเก็บขยะ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้มีการดำเนินการจัดการขยะในพื้นที่ โดยการจัดจ้างเอกชนเข้ามาจัดการขยะภายในพื้นที่ตลาดเก่า ราชบุรีในช่วงเวลา 18.00-19.00 น. ของทุก ๆ วัน คนในพื้นที่จะนำขยะใส่ถุงวางไว้หน้าอาคารของตนเอง
ระบบสาธารณูปการ
1. สถานศึกษา ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงตลาดเก่าราชบุรี คือ โรงเรียนสุริยวงศ์ ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย มีระยะห่างจากตลาดเก่าราชบุรีประมาณ 500 เมตร ในส่วนระดับมัธยมตอนต้นและมัธยมตอนปลายผู้คนในพื้นที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรี ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษประจำจังหวัดราชบุรี มีระยะห่างประมาณ 1 กิโลเมตร ในทางทิศตะวันออกของตลาดเก่าราชบุรี
2. สถานพยาบาล ตลาดเก่าราชบุรีอยู่ภายใต้รัศมีการให้บริการของโรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิระดับสูง เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดราชบุรี จึงมีความพร้อมในด้านการแพทย์ในแต่ละสาขาวิชา มีระยะห่างประมาณ 1.5 กิโลเมตร ในทางทิศใต้ของตลาดเก่าราชบุรี
3. สถานีตำรวจ การดูแลความปลอดภัยและความสงบสุขของคนในพื้นที่ย่านตลาดเก่าราชบุรี ภายใต้การดูแลของ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ บนถนนอัมรินทร์ มีระยะห่างจากตลาดเก่าราชบุรีประมาณ 200 เมตร
4. ศาสนสถาน ภายในตลาดเก่าราชบุรีมี 1 แห่งคือ ศาลเจ้าเจียวตี้เอี้ย ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งศรัทธาของผู้คนชาวจีนในพื้นที่ตลาดเก่าราชบุรี ในอดีตมีการจัดกิจกรรมประเพณีตลอดทั้งปี แต่ในปัจจุบันได้ลดหลงเหลือเพียงประเพณีที่จำเป็น อีกทั้งในบริเวณใกล้เคียงหากออกไปประมาณ 650 เมตร มีศาสนสถานศาลเจ้ากวนอู คนในพื้นที่จึงนิยมออกไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่ อีกทั้งคนในพื้นที่นิยมเดินทางไปประกอบกิจกรรมทางศาสนาในวัดใกล้เคียง เช่น วัดช่องลม วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร เป็นต้น
ขวัญจิรา มีสุทธิปัญญา. (2566). การพัฒนาพื้นที่ย่านตลาดเก่า จังหวัดราชบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
เที่ยวไทยกัน & Benyot. (2566). ตลาดเก่าโคยกี๊. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://www.wongnai.com/
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ตลาดเก่าโคยกี๊. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/
Similan Run. (21 สิงหาคม 2565). ถนนคนเดินตลาดเก่าโคยกี๊ ราชบุรี. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://th.trip.com/
Gmg ตตจม. (2563). ตลาดเก่าโคยกี๊. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568, จาก https://www.wongnai.com/