Advance search

บ้านยางทอง ชุมชนเก่าแก่กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดอ่างทอง ที่มากด้วยทรัพย์สินทางปัญญา วิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม กับการนำเอามรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างงานสร้างอาชีพจนเป็นรายได้หลัก และช่วยพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชุมชน

หมู่ที่ 8
ยางทอง
บางเจ้าฉ่า
โพธิ์ทอง
อ่างทอง
อบต.บางเจ้าฉ่า โทร. 0 3561 0222
กฤษฏา อุ่นลาวรรณ
20 มี.ค. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 มี.ค. 2025
บ้านยางทอง


บ้านยางทอง ชุมชนเก่าแก่กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดอ่างทอง ที่มากด้วยทรัพย์สินทางปัญญา วิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม กับการนำเอามรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างงานสร้างอาชีพจนเป็นรายได้หลัก และช่วยพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชุมชน

ยางทอง
หมู่ที่ 8
บางเจ้าฉ่า
โพธิ์ทอง
อ่างทอง
14120
14.702171184010977
100.42023817289211
องค์การบริหารส่วนตำบลบางเจ้าฉ่า

บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า เป็นกลุ่มชุมชนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชุมชนในพื้นที่ตำบลบางเจ้าฉ่ามีประวัติศาสตร์ร่วมกับตำนานของบรรพบุรุษนักรบแห่ง "แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ" หรือจังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย "นายฉ่า" ได้รวบรวมชาวบ้านเข้าร่วมต้านพม่าที่ค่ายบางระจัน เมื่อค่ายบางระจันถูกตีแตกในวันจันทร์ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 หลังจากต่อสู้กับพม่าได้ 5 เดือน นายฉ่าและชาวบ้านที่รอดชีวิตจึงหนีพม่าและมาหลบซ่อนตัวอยู่ที่บริเวณป่ายาง ต่อมาจึงได้สร้างบ้านเรือนที่นี่ โดยเริ่มแรกมีบ้านเพียง 3 หลัง ทางทิศตะวันตกของลุ่มแม่น้ำน้อย เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน "สร้างสามเรือน" ในขณะนั้น เพราะเริ่มแรกมีบ้านเพียงสามหลังเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปมีการแบ่งพื้นที่การปกครอง จัดตั้งเป็นตำบลและให้ตั้งชื่อตำบลของตัวเองขึ้นมา ชาวบ้านจึงใช้ชื่อของนายฉ่า ซึ่งเป็นผู้กล้าหาญ และได้เลือกถิ่นฐานที่อุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลานได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ว่า "ตำบลบางเจ้าฉ่า"

ประวัติศาสตร์ชุมชนอีกชุดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านบางส่วนโดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพจักสานถ่ายทอดหรืออธิบายกับแขกผู้มาเยือนที่สนใจประวัติศาสตร์วิถีการดำเนินชีวิตของคนบางเจ้าฉ่าที่สัมพันธ์กับงานจักสานเป็นการเฉพาะ ซึ่งได้ถ่ายทอดไว้ว่า สมัยก่อนชาวบ้านบางเจ้าฉ่าทำจักสานยามว่างจากการทำนา โดยสานกระบุง ตะกร้า ใช้สอยภายใน ครัวเรือน ต่อมาเริ่มสานเพื่อนำไปขายให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและที่วัดไชโยทุกวันพระ โดยต้องใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ตีสอง เพื่อนำกระบุงตะกร้าที่สานไปขายที่วัดไชโยราวตีห้า และเมื่อมีผู้นิยมใช้เครื่องจักสานของบางเจ้าฉ่ามากขึ้น ก็เริ่มมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารอซื้อเหมาทุกวันพระ ในราคาที่พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด เป็นเช่นนี้อยู่นานหลายปี จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2515-2516 สินค้าจากญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่นิยมของชาวไทย มีการใช้ภาชนะพลาสติกแทนเครื่องจักสานไม้ไผ่ ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคาเครื่องจักสานของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านได้พูดคุยกันถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง จึงตกลงกันว่าจะไม่นำเครื่องจักสานที่ทำได้ไปขายที่วัดไชโย แต่จะนำมารวมไว้ที่วัดยางทอง ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนบ้านยางทอง หมู่ที่ 8 และคิดจะหาทางจำหน่ายเอง เมื่อไม่มีเครื่องจักสานจากบางเจ้าฉ่าไปขายทำให้พ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามาติดต่อที่บางเจ้าฉ่าเพื่อขอซื้อผลิตภัณฑ์จักสาน ทำให้ชาวบ้านมีประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อต่อรองและกำหนดราคาด้วยชุมชนเอง จนกลายเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์วิถีการดำเนินชีวิตของคนบางเจ้าฉ่าที่สัมพันธ์กับงานจักสาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านยางทอง หมู่ที่ 8 ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองประมาณ 9 กิโลเมตร โดยมีถนนลาดยางสายโพธิ์ทอง-ท่าช้าง สร้างเลียบคลองชลประทานยางมณีเป็นถนนสายหลักในการเดินทางเข้าสู่ตำบลบางเจ้าฉ่า

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในแถบนี้ตั้งเรียงอยู่ริมฝั่งขวาหรือทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาขนาดเล็กที่แยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีป่าไม้และภูเขา ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย และเนื่องจากเป็นตำบลที่อยู่ใกล้แม่น้ำน้อย ทำให้อากาศเย็นสบาย ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด ฤดูฝนฝนตกชุกตามฤดูกาล และมักจะมีน้ำท่วมบ้างในพื้นที่ลุ่ม แต่น้ำจะระบายออกตามระดับน้ำของแม่น้ำน้อย โดยพื้นที่ชุมชนเขตตำบลบางเจ้าฉ่ามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อื่น ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลอ่างแก้ว อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง โดยมีแม่น้ำน้อยกั้น
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลโคกพุทรา อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

ในอดีตชุมชนบางเจ้าฉ่านิยมสร้างบ้านเรือนริมแม่น้ำน้อย โดยเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงตามแบบบ้านไทยสมัยก่อน ลักษณะบ้านเรือนปลูกติดกันเนื่องมาจากเป็นเครือญาติหรือการขยายครัวเรือนออกไปของลูกหลาน ที่มักจะปลูกบ้านอยู่ในอาณาเขตที่ดินเดียวกับพ่อแม่ ใช้การปลูกต้นไม้และพืชผักสวนครัวเป็นรั้วตามธรรมชาติ เพื่อบอกอาณาเขตของแต่ละบ้าน และมีที่นาอยู่อีกแห่งหนึ่งห่างจากที่อยู่อาศัย ส่วนมากเป็นที่นาผืนใหญ่ ซึ่งเกิดจากการเบิกถางที่รกร้างและปรับเป็นที่นา

ต่อมาเมื่อมีการสร้างประตูระบายน้ำในปี 2500 ทำให้ความแรงของแม่น้ำน้อยลดลง รวมไปถึงเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะอยู่ในปริมาณปริ่มตลิ่ง ตามระดับการควบคุมที่ระดับประตู ระบายน้ำเป็นตัวกำหนด ไม่หลากท่วมชุมชนเหมือนเช่นแต่ก่อนมา นอกจากนี้แม่น้ำน้อยซึ่งเคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักในการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้าน หรือเป็นเส้นทางเดินทางติดต่อกับโลกภายนอก มีเรือเมล์วิ่งออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีสถานีต้นทางคือ กรุงเทพ (ท่าเตียน) ชัยนาท ต้องยุติบทบาทลง เนื่องจากมีประตูน้ำขวางทำให้เรือไม่สามารถแล่นผ่านได้ ประกอบกับมีการตัดถนนสายหลัก โพธิ์ทอง-ท่าช้าง ทำให้หน้าบ้านซึ่งเคยอยู่ติดกับแม่น้ำน้อยเปลี่ยนมาเป็นหลังบ้าน แม่น้ำน้อยเปลี่ยนบทบาทเป็นแม่น้ำเพื่อการล่องเรือท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว มีบ้านเรือนไทยริมน้ำเพื่อเป็นจุดขายให้กับหมู่บ้านจักสานเพื่อการท่องเที่ยว และเริ่มมีการปลูกบ้านเรือนติดกับแนวถนนมากขึ้น และสร้างบ้านเรือนแบบสมัยใหม่เป็นตึกทั้งหลังหรือลาดปูพื้น คอนกรีตส่วนล่างและเป็นไม้ข้างบน

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 707 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 333 คน ประชากรหญิง 374 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 227 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ประชากรในชุมชนยางทองรวมไปถึงผู้คนในชุมชนทั้ง 8 หมู่บ้านในตำบลบางเจ้าฉ่า มีการไปมาหาสู่กัน เนื่องจากเป็นเครือญาติที่มีการแต่งงานกันไปมาภายในชุมชน ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแบ่งพื้นที่การปกครองและจัดตั้งเป็นตำบลและประกอบด้วย 8 หมู่บ้านเหมือนอย่างปัจจุบัน ลักษณะพิเศษทางด้านเครือญาติที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ทำให้ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อของคนในชุมชนตำบลบางเจ้าฉ่า เป็นไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกันบ้างในเรื่องของการปกครอง อาชีพ และการตั้งบ้านเรือน ที่เป็นไปตามภูมิสังคม

เนื่องจากพื้นที่เดิมก่อนที่จะกลายมาเป็น 8 หมู่บ้านดังเช่นในปัจจุบัน พบว่าชาวบ้านเป็นเครือญาติกันไม่กี่ตระกูล กระจายอยู่ในตำบลบางเจ้าฉ่า ขณะที่ส่วนหนึ่งแต่งงานและย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งมีสายตระกูลหลัก 4 สายได้แก่

  1. ตระกูลของปู่ช้าง และย่าเนียม ช่างบรรจง ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของหมู่บ้าน ปัจจุบันมี นายสมพงษ์ ช่างบรรจง เป็นรุ่นเหลน ซึ่งเป็นผู้ช่วยกำนันและคณะกรรมการของศูนย์กลางชุมชน
  2. ตระกูลของปู่พิน และย่าพลอย จันทร์หอม ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือหมู่บ้าน ปัจจุบันมีนางวันดี จันทร์หอม เป็นรุ่นเหลน ซึ่งทำอาชีพจักสานและเป็นคณะกรรมการของศูนย์กลางชุมชน
  3. ตระกูลของปู่คล้าม และย่าหาด สิงหรัญ ซึ่งอยู่บริเวณวัดยางทอง มียายเฟื่อง สิงหิรัญ เป็นหลาน สายตระกูลนี้มีบทบาททางด้านการจักสานในชุมชน เนื่องจากยายเฟื่อง สิงหิรัญ เป็นหัวหน้ากลุ่มจักสานกลุ่มที่สำคัญของบางเจ้าฉ่า ปัจจุบันได้โอนความรับผิดชอบทั้งหมดของกลุ่มให้ลูกสาวคือนางสาวสิริรัศม์ สิงหรัญ เป็นผู้ดูแล
  4. ตระกูลปู่แสงกับย่าพัน ฉิมมาลี ซึ่งปัจจุบันลูกหลานได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น

ในอดีตพื้นที่ชุมชนในเขตบางเจ้าฉ่าประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันด้วยเหตุที่การทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักในอดีตไม่ได้รับความนิยม ทำให้แต่ละหมู่บ้านในตำบลบางเจ้าฉ่า มีอาชีพหลักที่เปลี่ยนไป ทั้งรับราชการและรับจ้างทั่วไป ทำงานในโรงงาน ในส่วนของชุมชนยางทอง หมู่ที่ 8 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพจักสาน และมีแนวโน้มที่อาชีพจักสานจะกลายเป็นอาชีพหลักแทนอาชีพเกษตรกรรมในหลายหมู่บ้าน เนื่องมาจากการได้รับผลตอบแทนที่สูงและลงทุนต่ำ ผู้นำชุมชนและหน่วยงานจากภายนอกให้การสนับสนุน อาชีพเกษตรกรรมจึงค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยเฉพาะในหมู่ที่ 8 บ้านยางทอง ซึ่งเป็นชุมชนจักสานแต่ดั้งเดิม เหลือเพียง 14 ครอบครัว ในปี พ.ศ. 2544 ที่ยังคงทำนาอยู่ในลักษณะให้ชาวบ้านหมู่อื่นมาเช่าทำ และในปี พ.ศ. 2547 เหลือครอบครัวที่ยังทำอยู่เพียง 11 ครอบครัวเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ที่ประกอบอาชีพจักสานในหมู่ที่ 8 มีจำนวนลดลง คือ จาก 75 ครอบครัว ในปี พ.ศ. 2544 เหลือ 68 ครอบครัว ในปี พ.ศ. 2547 ทั้งนี้เนื่องมาจากหลายครอบครัวได้เปลี่ยนจากอาชีพจักสานมาเป็นผู้ประกอบการและพ่อค้ารับซื้อผลิตภัณฑ์จักสานจากหมู่บ้านอื่นในตำบลบางเจ้าฉ่าและตำบลใกล้เคียง ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

จากอิทธิพลของที่ตั้งของตำบลบางเจ้าฉ่า ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง จึงส่งผลให้ชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนผสมผสานระหว่างชนบทและเมือง และมีแนวโน้มหลายประการที่ความเป็นเมืองจะขยายเข้าไปสู่ในทุกหมู่บ้านของตำบล ได้แก่ ความสะดวกสบายในการคมนาคม จากการมีถนนสายหลักเชื่อมผ่านทุกหมู่บ้าน การมีไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ร้านค้า และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เข้าไปสู่ชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ที่ 8 บ้านยางทอง ซึ่งเป็นศูนย์กลาง และศูนย์รวมการบริหารงานของทั้ง 8 หมู่บ้าน ทั้งจากการที่มีหน่วยงานและสถานที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะในการดำเนินกิจกรรมส่วนร่วม รวมไปถึงเป็นที่ตั้งของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และศูนย์กลางชุมชนตำบลบางเจ้าฉ่า ส่งผลให้คนในหมู่ที่ 8 บ้านยางทอง มักเรียกชื่อชุมชนของตนว่า "บางเจ้าฉ่า" แทนชื่อบ้านยางทอง

ชุมชนแห่งนี้มีลักษณะเป็นชุมชนผสมระหว่างชุมชนชนบทและชุมชนเมือง และเนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ทำให้มีรากฐานทางด้านวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากระบบการผลิตแบบสังคมเกษตรกรรมที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี จารีต เหมือนกับชุมชนชนบทอื่นในภาคกลางของไทย เป็นสังคมที่มีวัดเป็นศูนย์รวมทุกด้านจากครั้งอดีต มีภูมิปัญญาด้านการจักสานซึ่งถือเป็นมรดกจากวัฒนธรรมการทำอาชีพเกษตรกรรมที่เน้นการพึ่งตนเองของบรรพบุรุษ และเป็นทุนของชุมชนที่สำคัญที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจชุมชนในเวลาต่อมา เมื่อบางเจ้าฉ่าเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีมิติทางด้านเศรษฐกิจเป็นแกน ทำให้บทบาทของวัดและวัฒนธรรมแบบสังคมเกษตรกรรมจางลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนกำลังปรับเปลี่ยน และเรียนรู้ข้อดีและข้อเสียของการกลายเป็นชุมชนจักสานท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่พัฒนามาจากทุนวัฒนธรรมฐานเดิมที่บรรพบุรุษสั่งสมมา

1.กำนันสุรินทร์ นิลเลิศ

กำนันสุรินทร์ นิลเลิศ ผู้นำรูปแบบใหม่ในบริบทชุมชนที่มิติทางเศรษฐกิจเป็นแกนนำ การทำงานของกำนันสุรินทร์ นิลเลิศ แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสามารถในฐานะผู้นำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในชุมชนบางเจ้าฉ่า เป็นอย่างมากทั้งการนำชุมชนบางเจ้าฉ่าเข้าสู่ธุรกิจการจักสาน การนำทุนและความช่วยเหลือจากภายนอกเข้ามาในชุมชน การยุติข้อขัดแย้งในเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจโดยการสร้างระบบการบริหารแบบศูนย์กลางชุมชนขึ้นมาเพื่อรองรับกับการเป็นชุมชนแบบใหม่ที่มีระบบเศรษฐกิจเป็นแกน ส่งผลให้บางเจ้าฉ่าเป็นชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากการดำเนินธุรกิจจักสานและการท่องเที่ยว มีการขยายฐานกิจกรรมที่ต่อเนื่องมาจากธุรกิจทางด้านการจักสาน โดยเป็นผลมาจากการทำแผนชุมชน ที่ได้ทดลองจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงในระยะเริ่มต้น และจากกระบวนการทำแผนทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มกิจกรรมที่กิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสอดคล้องและให้เป็นไปในทิศทางที่ตรงกับความต้องการของคนชุมชน

เครื่องจักสานบางเจ้าฉ่า

จากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี พ.ศ. 2540 ทำให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพเสริมให้กับสมาชิกในชุมชน เป็นผลก่อให้เกิดการส่งเสริมอาชีพจักสานไม้ไผ่ จากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นทุนเดิม จากการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและจักสานไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริม ชาวบ้านได้พัฒนาฝีมือและรูปแบบผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่จนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้รายได้จากการจักสานไม้ไผ่เป็นรายได้หลักที่เสริมสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ กลายเป็นสินค้า OTOP ที่มีคุณภาพสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้

บางเจ้าฉ่าแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ ซึ่งครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสานและเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประเภทนี้ไว้ งานจักสานของบางเจ้าฉ่านี้มีความละเอียดประณีตสวยงามสามารถพัฒนางานฝีมือตามความต้องการของตลาด ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าจนสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ

พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่

พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 จัดแสดงเครื่องจักสานหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นเครื่องมือทำนา เครื่องมือดักสัตว์ ภาชนะ เครื่องใช้ไม้สอยภายในครัว เช่น กระบุง ตะกร้า ข้อง ไซ กรงนกเขา สุ่มไก่ และเครื่องจักสานรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เช่น กระเป๋าถือ หีบเก็บของ ของตกแต่งบ้านอีกหลายรูปแบบ รวมถึงป้ายนิทรรศการประวัติความเป็นมาของเครื่องจักสาน เครื่องจักสานที่ทำขึ้นในท้องถิ่นต่าง ๆ พัฒนาการเครื่องจักสาน กำนันสุรินทร์เสริมว่า ไผ่ที่ใช้จักสานลวดลายที่ละเอียดประณีต ต้องเป็นไม้ไผ่สีสุกที่มีความอ่อนตัวของไผ่ ทำให้จักสานลวดลายส่วนเล็ก ๆ ได้ดีกว่าไผ่ทั่วไป

บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงฝีพระหัตถ์ในการตกแต่งกระเป๋าจักสานของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถึง 3 ใบ พร้อมลายพระหัตถ์ของพระองค์บนไม้ไผ่ในวันที่พระองค์เสด็จเยี่ยมชุมชนบางเจ้าฉ่าอีกด้วย ภายนอกพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีโครงการ "บางเจ้าฉ่าโฮมสเตย์" ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ การนั่งรถอีแต๋นทัวร์ เพื่อชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย แวะตามจุดต่าง ๆ จุดสาธิตการย้อมสีเส้นตอก จุดสาธิตการผลิตเครื่องจักสาน ชมและชิมผลไม้ตามฤดูกาลที่ขึ้นชื่อ อย่าง มะปราง มะยงชิด และกระท้อน ชมต้นยางยักษ์ 2 ต้น บริเวณวัดยางทอง ที่สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 200 ปี แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ใกล้ ๆ ก็คือ วัดไชโยวรวิหาร และวัดขุนอินทประมูล ซึ่งมีพระนอนสมัยสุโขทัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ

กิจกรรมในภาคค่ำจะได้ชมการแสดง การขับร้องเพลงพื้นบ้าน ชมการแสดงนาฏศิลป์จากเยาวชน ซึ่งเป็นการแสดงของคนในหมู่บ้านนั่นเอง กิจกรรมในหลาย ๆ กิจกรรมของหมู่บ้าน กำนันสุรินทร์ถือว่าเป็นผลที่ดีทั้งชาวบ้าน และผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในหมู่บ้าน กิจกรรมนี้ก็สอดคล้องกับ โครงการ "ศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวบางเจ้าฉ่า" ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการมีพื้นที่ และการทำกิจกรรมร่วมกันของทุกช่วงวัย บริเวณโดยรอบของชุมชนยังมีจัดทำเป็นเส้นทางการเดินรถจักรยานเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวบางเจ้าฉ่าด้วยตนเองได้อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย


เครื่องจักสานของบางเจ้าฉ่า ได้รับความนิยมและมีผู้สนใจจากภายนอก จากชื่อเสียงเรื่องความคงทนและการความประณีตในชิ้นงาน ชาวบ้านจึงเริ่มที่จะพัฒนาอาชีพจักสานเป็นอาชีพหลักแทนการทำนา ชาวบ้านทุกคนจะสานเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน และขายให้กับชุมชนอื่น ซึ่งต่อมาก็เริ่มมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อเครื่องจักสานของบางเจ้าฉ่าในราคาที่พ่อค้าคนกลางกำหนด ประกอบกับในช่วงปี 2515 เริ่มมีการใช้ภาชนะพลาสติกแทนเครื่องจักสานไม้ไผ่ ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคาเครื่องจักสานของชาวบ้านมากกว่าเดิม

ต่อมาเมื่อพระครูศิริพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดยางทอง และนักพัฒนาชุมชนที่เข้ามาให้คำแนะนำชาวบ้านในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองพ่อค้าคนกลาง ชาวบ้านจึงมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยถึงการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง และนำมาซึ่งการรวมกลุ่มจักสานของชุมชน อันเป็นการรวมกลุ่มครั้งแรกในปี 2516 เพื่อรวบรวมผลผลิตนำไปขายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แสดงถึงทุนทางสังคมในสมัยนั้น ในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อต่อสู้กับปัญหา

เมื่อชุมชนได้เริ่มติดต่อกับภายนอก ทั้งในขั้นเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนข้าว และผลิตผลทางการเกษตรระหว่างกันกับชุมชนใกล้เคียง จนถึงการแลกเปลี่ยนเครื่องจักสานซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชนกับอาหารจากภายนอกชุมชนซึ่งชุมชนเริ่มผลิตไม่พอ เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการทำนามาเป็นการปลูกไม้ยืนต้น ตลอดจนการเลิกทำนาเนื่องจากราคาข่าวตกต่ำ และหันมาประกอบอาชีพจักสานจนกระทั่งพัฒนาจนกลายมาเป็นอาชีพหลัก ชุมชนบางเจ้าฉ่าได้แสดงให้เห็นถึงว่าชุมชนแห่งนี้มีต้นทุนของวัฒนธรรมการค้าขายมายาวนาน และผลจากภูมิปัญญาทางด้านการจักสานทำให้ชุมชนแห่งนี้มีศักยภาพที่จะดึงความสนใจและเงิน สนับสนุนทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานการพัฒนาต่าง ๆ โดยการจัดการของผู้นำที่มีศักยภาพอย่างกำนันสุรินทร์ นิลเลิศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาภายในชุมชนบางเจ้าฉ่าอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านระบบสาธารณูปโภค มีร้านจำหน่ายสินค้าและพิพิธภัณฑ์ชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้นจากการจักสาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โกสินทร์ ดอกบัว. (2551). ทุนทางสังคมกับการดำรงอยู่ของชุมชนชนบท กรณีศึกษา ชุมชนท่องเที่ยว ตำบลบางเจ้าฉ่า หมู่ที่ 8 บ้านยางทอง อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ ตำบลบางเจ้าฉ่า. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://db.sac.or.th/museum/

องค์การบริหารส่วนตำบลบางเจ้าฉ่า. (ม.ป.ป). ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://bangchaocha.go.th/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง. (21 พฤษภาคม 2567). พช.โพธิ์ทอง สนับสนุนและติดตามงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน บ้านยางทอง หมู่ที่ 8 ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://district.cdd.go.th/phothong/2024/05/21/

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง. (ม.ป.ป.). บ้านบางเจ้าฉ่า. สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://angthong.m-culture.go.th/

อบต.บางเจ้าฉ่า โทร. 0 3561 0222