Advance search

บ้านก้างปลา ชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิมบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรม การพลิกฟื้นระบบการเพาะปลูกด้วยการรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่จนทำให้มีผลผลิตที่ปลอดภัย สร้างเสริมศักยภาพชุมชน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หมู่ที่ 5
บ้านก้างปลา
ด่านซ้าย
ด่านซ้าย
เลย
ทต.ศรีสองรัก โทร. 0 4203 6499
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 มี.ค. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
21 มี.ค. 2025
บ้านก้างปลา

ในอดีตในหมู่บ้านมีต้นก้างปลาซึ่งเป็นไม้พุ่ม มีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาโรคงูสวัด แก้ผื่นคัน มักพบริมตลิ่ง ร่องน้ำ ลำห้วย แม่น้ำ บริเวณซำ หรือพื้นที่ขนาดเล็กที่มีน้ำขังตลอดปี นอกจากนี้ หมู่บ้านยังมีสถานที่ที่เรียกกันว่า "สะนาก้างปลา" ซึ่งคำว่า "สะนา" หมายถึง บริเวณขนาดใหญ่ที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี ซึ่งพบต้นก้างปลาขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงคาดว่าชื่อหมู่บ้านน่าจะมาจากชื่อพืชชนิดหนึ่ง คือ ต้นก้างปลา ที่เคยพบมากในอดีต


ชุมชนชนบท

บ้านก้างปลา ชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิมบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรม การพลิกฟื้นระบบการเพาะปลูกด้วยการรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่จนทำให้มีผลผลิตที่ปลอดภัย สร้างเสริมศักยภาพชุมชน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บ้านก้างปลา
หมู่ที่ 5
ด่านซ้าย
ด่านซ้าย
เลย
42120
17.257624006436185
101.18129514604014
เทศบาลตำบลศรีสองรัก

เดิมชาวบ้านก้างปลาย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านเดิ่น หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบ ขึ้นมาปลูกข้าวไร่และเลี้ยงวัวควายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งหมู่บ้านก้างปลาปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่สูง ทว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นตั้งอยู่ไกลจากบ้านเดิ่น การเดินทางไป-กลับ ขึ้น-ลงเขาทุกวันจึงไม่สะดวก เหตุนี้จึงทำให้ชาวบ้านเดิ่นกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำกินที่บ้านก้างปลาอย่างถาวร

บริเวณที่สร้างหมู่บ้านครั้งแรกจะตั้งห่างไปทางทิศตะวันตกราว 2 กิโลเมตรของหมู่บ้านในปัจจุบัน เพราะเห็นว่าเป็นทิศทางลมผ่าน อยู่แล้วสบาย จึงตัดสินใจตั้งรกราก ชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวอยู่หลายปี ต่อมาเกิดเหตุฝูงควายที่เลี้ยงไว้เกิดไล่ขวิดกันจนตกลงไปตายในถ้ำ ประกอบกับที่อยู่อาศัยคับแคบ ในราวปี พ.ศ. 2472 ครอบครัวนายขื่น เชื้อบุญมี และอีกหลายครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายครัวเรือนมาตั้งอยู่บริเวณที่เป็นหมู่บ้านก้างปลาปัจจุบัน

ที่ตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่มีพื้นที่กว้างขวาง ทำให้สามารถเลี้ยงควายได้มากกว่าเดิม รวมถึงยังมีห้วยน้ำอุ่นไหลผ่าน เป็นชัยภูมิที่เหมาะต่อการตั้งหมู่บ้านและดำรงชีพ ต้นทศวรรษที่ 2500 เกิดโรคฝีดาษระบาดทำให้ชาวบ้านล้มตายไปหลายคน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงไปหาหมอสมุนไพรมารักษา โดยใช้ยารากไม้ฝนกิน รักษากันจนถึงที่สุด หากชาวบ้านเกิดตายจะหามกันไปฝังที่ป่าช้าทันที เพราะเกรงว่าหากปล่อยไว้จะเกิดโรคระบาด

กระทั่งปี พ.ศ. 2507 หมู่บ้านเกิดโรคมาลาเรียหรือไข้ป่าระบาด ในช่วงเวลานี้มีหมอจากสุขศาลาบ้านเหนือ (ตั้งอยู่ในตัวอำเภอด่านซ้าย) ขึ้นมารักษาที่บ้านก้างปลา ปรากฏว่าหมอที่เดินทางขึ้นมารักษาเกิดติดโรคไข้มาลาเรีย ขณะที่ชาวบ้านบางรายเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง แสดงอาการเพ้อคล้ายกับผีเข้า และพูดจาไม่รู้เรื่อง ชาวบ้านเชื่อว่าผู้ป่วยถูกผีกระทำ ชาวบ้านทั้งหมดจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น เช่น รายที่ย้ายไปไกลถึงหมู่บ้านในอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ที่ย้ายไปอยู่กันมากที่สุด คือ บ้านศาลาน้อย ซึ่งเดิมเป็น "ปาง" ที่เลี้ยงวัวควายยังไม่เป็นหมู่บ้าน เนื่องจากมีทำเลที่เหมาะต่อการตั้งบ้านเรือนและมีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนย้ายไปบ้านโป่ง บ้านกกจำปา บ้านน้ำพุ และบ้านกกเหี่ยน

พ.ศ. 2509 ชาวบ้านก้างปลาที่อพยพย้ายไปบ้านกกเหี่ยนและหมู่บ้านอื่น ๆ ทยอยกลับมาทำมาหากินที่บ้านก้างปลาตามเดิม โดยครอบครัวแรกที่ย้ายกลับเข้ามา คือ ครอบครัวนายเมือง เชื้อบุญมี และครอบครัวอื่นจึงทยอยตามมา ก่อนขยายครัวเรือน สร้างหมู่บ้านจนกระทั่งปัจจุบัน

ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้านก้างปลา ชาวบ้านสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากต้นก้างปลา เป็นไม้พุ่มมี สรรพคุณทางยา ช่วยรักษาโรคงูสวัส แก้ผื่นคัน ต้นก้างปลามักพบริมตลิ่ง ร่องน้ำ ลำห้วย แม่น้ำหรือบริเวณ "ซำ" หรือพื้นที่ขนาดเล็กที่มีน้ำขังตลอดปี นอกจากนี้ หมู่บ้านยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "สะนาก้างปลา" ซึ่งคำว่า "สะนา" หมายถึง บริเวณขนาดใหญ่ที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี พืชพรรณไม้น้ำขึ้นทั่วไปบริเวณ โดยเฉพาะจะพบต้นก้างปลาขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน เพราะเดิมชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากสะนาก้างปลาเป็นแหล่งอาหารทั้งคนและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัวควายจะใช้สะนาก้างปลาเป็นที่แช่น้ำระบายความร้อนและหากินหญ้าได้รอบ ๆ แหล่งน้ำ

ปัจจุบันไม่พบต้นก้างปลาที่หมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะเป็นดัชนีบ่งบอกถึงการถูกคุกคามของระบบนิเวศสะนาและลำน้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ พืชหลาย ๆ สายพันธุ์ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะเป็นผลมาจากการทำการเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีแล้วเกิดการชะล้างเมื่อยามฝนตก น้ำหลาก ทำให้ต้นก้างปลาตายหายไปจากหมู่บ้าน

บ้านก้างปลา ตำบลศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพื้นที่ราว 9,500 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ป่า 8,795 ไร่  พื้นที่เกษตร 1,100 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัย 70 ไร่  โดยที่ดินทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำพุและบ้านศาลาน้อย ในเขตเทศบาลศรีสองรัก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกกเหี่ยน ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย และบ้านศาลาน้อย เทศบาลศรีสองรัก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำพุ ในเขตเทศบาลศรีสองรัก

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านก้างปลามีเทือกเขาสลับซับซ้อน ภูเขาทอดตัวต่อจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ มีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 500-1,100 เมตร มีผืนที่ป่าไม้หนาแน่นเพียงบางส่วน นอกจากนี้ยังมีที่ราบระหว่างหุบเขา บางแห่งเป็นที่ราบลุ่มแคบ ๆ สลับกับหุบเขา โดยเฉลี่ยบ้านก้างปลามีที่ราบเพียงราวร้อยละ 4-5 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการเกษตร นอกนั้นเป็นพื้นที่ลาดเอียงระหว่างหุบเขา เป็นผืนป่าที่เหมาะสำหรับทำไร่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำไร่ข้าวข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วดำ ฝ้าย ยางพารา ไม้ผลยืนต้น ฯลฯ ส่วนดินจะมีลักษณะเป็นดินร่วนผสมดินปนทราย และตามภูเขามีป่าไม้เบญจพรรณกระจายอยู่ทั่วไป

บ้านก้างปลามีสภาพอากาศเป็นมรสุมเขตร้อนมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน สภาพภูมิอากาศทั่วไปของหมู่บ้านมีอากาศแปรปรวนตลอด อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน หนาวถึงหนาวจัดในฤดูหนาว และมีฝนตกชุกระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม อย่างไรก็ตามช่วงเวลาของฤดูกาลในปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงและยากต่อการกำหนดช่วงฤดูกาลแน่ชัด ทั้งนี้หากแบ่งโดยหลักการของสภาพอากาศจะพบว่า ฤดูฝนจะเริ่มราวปลายเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนกันยายน ระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนมกราคมอากาศจะหนาวจัด หลังจากนั้นเป็นช่วงที่อากาศร้อนและจะร้อนจัดในเดือนมีนาคม-เมษายน ระยะนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.ทรัพยากรป่าไม้ บ้านก้างปลามีพื้นที่ป่ากว่า 8,795 ไร่ หรือ 88% ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพป่าส่วนใหญ่ค่อนข้างทรุดโทรมต่างจากอดีตช่วงก่อตั้งหมู่บ้านที่มีสภาพสมบูรณ์ เพราะจากคำบอกเล่าของชาวบ้านต่างสื่อในทิศทางเดียวกัน คือ เป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ มีสัตว์ทั้งเสือ ช้าง ลิง ค่าง ฯลฯ พืชพรรณหลัก ๆ เป็นกลุ่มพืชที่มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อแย่งชิงแสงแดดได้ดีที่สุดในระบบนิเวศป่า อีกทั้งยังเจริญเติบโตทางความสูงได้ดีกว่าพืชกลุ่มอื่น ๆ ทำให้พืชกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นที่ลำต้นตรงและมีความสูงมาก รวมถึงยังแผ่ขยายพุ่มเรือนยอดปกคลุมพุ่มเรือนยอดของกลุ่มไม้สายพันธุ์อื่น เช่น ยางดง ข้าวหลามดง ตีนเป็ด มะคำดีควาย ปีบและชาด นอกจากนี้ยังมีสภาพป่าเป็นป่าผสมระหว่างป่าเบญจพรรณผสมดินเขา พันธุ์ไม้หลากหลายชนิดเป็นพวกไม้วงศ์ก่อหลายชนิด เช่น ก่อเดือย ก่อข้าว ก่อตลับ ก่อหิน ก่อหนาม

2.ทรัพยากรน้ำ มีแหล่งน้ำที่สำคัญ เช่น

  • ห้วยน้ำอุ่น มีต้นน้ำอยู่ที่บ้านกกเหี่ยน ตำบลโพนสูง ไหลผ่านบ้านก้างปลา บรรจบห้วยศอกที่บ้านเด่นและไหลลงไปรวมแม่น้ำหมันที่บ้านเดิ่นกลางเมืองด่านซ้าย ห้วยน้ำอุ่นมีน้ำมากช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคมของปี และมีน้ำน้อยช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายน ชาวบ้านก้างปลาใช้ประโยชน์ในการเกษตร เช่น การปลูกผัก ในลำห้วยมีสัตว์น้ำทั้งปลา หอย กุ้ง ปู ชาวบ้านหาสัตว์น้ำจากลำห้วยได้เกือบทั้งปี
  • ห้วยซำกกเต่น เป็นลำห้วยสาขาของห้วยน้ำอุ่น มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ชาวบ้านใช้เป็นประปาภูเขา และยังใช้เป็นสถานที่หาสัตว์น้ำประเภทปู กบ และพืชน้ำ โดยห้วยซำกกเต่นจะมีน้ำมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนพฤศจิกายนของปี และมีน้ำน้อยในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมิถุนายนของปี บางปีน้ำในลำห้วยแห้งเป็นจุด ๆ
  • ห้วยกกงิ้วแดง เป็นลำห้วยสาขาของห้วยน้ำอุ่น ลำห้วยมีความยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ชาวบ้านใช้เป็นประปาภูเขาของหมู่บ้าน และยังใช้เป็นสถานที่หาสัตว์น้ำประเภทปลา หอย กุ้ง ปู กบ และพืช โดยห้วยกกงิ้วแดงจะมีน้ำมากในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนธันวาคมของปี และมีน้ำน้อยในช่วงเดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคมของปี
  • สะนาหลวง เป็นลำห้วยสาขาของห้วยน้ำอุ่น น้ำไหลจากสะนาหลวงไหลลงไปห้วยโศกป่าเลา ลำห้วยมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน สะนาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำ ด้านล่างมีสระน้ำ ชาวบ้านหาปลา หอย ปลาไหล ผักกูด ไปบริโภคได้ โดยสะนาหลวงจะมีน้ำมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคมของปี และมีน้ำน้อยในช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายนของปี
  • ห้วยโศกป่าเลา เป็นลำห้วยสาขาของห้วยน้ำอุ่น มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ชาวบ้านใช้เป็นประปาภูเขาของหมู่บ้าน สามารถนำมาบริโภคได้ ด้านอาหารมีกบ ปู ปลา ผัก หน่อไม้ โดยห้วยโศกป่าเลาจะมีน้ำมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม และมีน้ำน้อยในช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายน

3.ทรัพยากรที่ดิน ลักษณะทางธรณีวิทยาของบ้านก้างปลาอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นลูกคลื่น เป็นกลุ่มดินที่มีเนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินร่วน และดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีเศษหินปะปนมาก เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดพวกตะกอนลำน้ำ หรือเกิดจากการสลายตัวผุพังของหินหลายชนิดที่มีเนื้อละเอียด จึงมีทั้งดินลึกและดินตื้น มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำและค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง ซึ่งเกิดในสภาพพื้นที่ดอนที่เป็นลูกคลื่นจนถึงเนินเขาความลาดชัน แต่ชาวบ้านสามารถทำการเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวนประเภทผลไม้หรือปลูกไม้ยืนต้นต่าง ๆ ได้

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านก้างปลา ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 271 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 141 คน ประชากรหญิง 130 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 95 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ลักษณะครัวเรือนของบ้านก้างปลาจะเป็นครอบครัวขยาย เมื่อแต่งงานแล้วนิยมอยู่เรือนกับข้างพ่อแม่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามแต่ตกลง แต่มีบางครัวเรือนที่แยกไปอยู่ต่างหาก พร้อมรับมรดกที่ดินจากพ่อแม่

ด้านการเลือกคู่ครองของคนบ้านก้างปลาในอดีตจะมี 2 ลักษณะ คือ ผู้ใหญ่จัดหาให้ หรือชอบพลอกันเอง ส่วนใหญ่คนในชุมชนจะแต่งงานกับคนบ้านเดียวกันหรือหมู่บ้านใกล้เคียง เนื่องจากสมัยนั้นการเดินทางไม่สะดวก อีกทั้งคนในหมู่บ้านไม่นิยมเดินทางไปไหนไกล ๆ พ่อแม่บางรายจะแบ่งที่ไร่และที่สวนให้เป็นมรดกและปลูกบ้านเรือนอยู่ใกล้พ่อแม่ 

ปัจจุบันชาวบ้านก้างปลาเริ่มแต่งงานกับคนต่างถิ่นมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ออกไปทำงานต่างถิ่นแล้วพบคู่ครองต่างพื้นที่ หรือบางคนอาจย้ายไปอยู่ที่บ้านคู่ชีวิตที่อยู่ต่างถิ่น ด้วยเหตุนี้แรงงานในภาคเกษตรของบ้านก้างปลาจึงมีแนวโน้มที่พบคนรุ่นใหม่น้อยลง

ในอดีตการดำเนินชีวิตของชาวบ้านก้างปลาจะทำไร่ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคภายในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์เป็นอาหาร และหาของป่าตามฤดูกาล ส่วนคนเฒ่าคนแก่ครัวเรือนใดที่เลี้ยงสัตว์ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะออกไปเลี้ยงวัว ควาย และเลี้ยงไก่ วิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้านก้างปลา คือ ทำการเกษตร (ทำไร่) เมื่อว่างเว้นจากงานไร่ มักจักสานไม้ไผ่ งานฝีมือต่าง ๆ เช่น กระติบข้าวเหนียว เข่งข้าวโพด กระด้ง หวดนึ่งข้าวเหนียว ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้นอกเหนือฤดูกาลทำนา อย่างไรก็ตาม งานจักสานเหล่านี้มักเป็นผู้สูงอายุประมาณ 60-70 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ต้องออกไปไร่ ไม่มีเวลามากพอที่จะทำงานจักสาน

ในสมัยก่อนชาวก้างปลามีการเลี้ยงวัวควายเกือบทุกครัวเรือน แต่ปัจจุบันนั้นหลายครอบครัวไม่ได้เลี้ยงแล้ว หันมาทำไร่อย่างเดียว ชาวบ้านมองว่าการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ต้องใช้พื้นที่กว้าง ช่วงหลังวัวควายยังไปทำลายพืชผลทางการเกษตร ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งในท้ายที่สุดครัวเรือนต่าง ๆ จึงทยอยเลิกเลี้ยงวัวและหันมาทำการเกษตรอย่างเต็มตัว สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเลี้ยงสัตว์ยังทำให้เกิด “คำ” ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมชาวบ้านก้างปลาอย่าง คำว่า “ไปเลี้ยง” นั้นหมายถึง การที่ลูกแต่งงานออกเรือน บางครัวเรือนเมื่อลูกบางคนแต่งงานแล้วจะนำวัวควายไปเลี้ยงเอง บางคนฝากให้พ่อแม่เลี้ยงเอาไว้ พอวัวควายออกลูกจะแบ่งกันคนละครึ่งกับพ่อแม่ (วัวออกลูกสองตัวก็แบ่งคนละตัว) พอไม่มีคนเลี้ยงวัวควายให้ก็จะขายพร้อมกันหมดทั้งฝูง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำการเกษตรของชาวบ้านก้างปลาจะทำกันบนภูเขาสูง เริ่มต้นจึงต้องใช้วิธีการเดินเท้า จนกระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ. 2546 จึงเปลี่ยนมาใช้รถอีแต๊กขับขึ้นเขาไปทำไร่ เกือบทุกบ้านจึงจำเป็นต้องมีรถเพื่อความสะดวกในการขนปุ๋ย ขนยาฆ่าแมลง และขนส่งพืชผลทางการเกษตร ส่งผลทำให้คนบ้านก้างปลาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ทำไร่กันเกือบทั้งปี 

หลังจากปี พ.ศ. 2555 เป็นช่วงที่ชาวบ้านก้างปลาหลายครัวเรือนต่างพยายามหันมาทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรกรรมทางเลือกกันมาก ทั้งนี้เป็นเพราะหลังจากที่แนวคิดเกษตรทางเลือกได้แพร่เข้ามาสู่บ้านก้างปลาเมื่อกลางทศวรรษที่ 2550 เกษตรกรบางครัวเรือนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ ใช้วิธีแบบผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาดั้งเดิม หลังจากได้ปรับเปลี่ยนหันมาทำการเพาะปลูกตามแนวคิดและหลักการของเกษตรทางเลือกแบบยั่งยืน จนสามารถที่จะบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้าต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นจากเดิมได้ ปัจจุบันชาวบ้านจึงมีการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย ทั้งพืชสวน พืชไร่ และผลไม้ต่าง ๆ เช่น ยางพารา มะขามหวาน เงาะ แก้วมังกร มันสำปะหลัง ถั่ว ผักกาด ฯลฯ เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดีตลอดทั้งปี นอกจากนี้ในปัจจุบัน รูปแบบการประกอบอาชีพของชาวบ้านก้างปลาไม่ได้มีเพียงภาคการเกษตร แต่ยังมีการประกอบอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง รับราชการ อาชีพในภาคการบริการ และการท่องเที่ยว โดยบ้านก้างปลาได้เปิดให้คนภายนอกชุมชนเข้าไปพักค้างแรม จับจ่ายซื้อสินค้า ผลผลิตทางการเกษตรของคนในชุมชน มีที่พักโฮมสเตย์ และลานกางเต็นท์ไว้รับรอง

ผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล

1.ฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-มิถุนายน) ชาวบ้านก้างปลามีพืชผักที่ใช้นิยมรับประทานกันเป็นประจำ คือ เพกา ที่ชาวบ้านนิยมนำฝักไปย่างแล้วใช้เป็นเครื่องเคียงกับลาบและยำต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีแคป่าที่ชาวบ้านนำยอดอ่อนมาแกล้มกับน้ำพริกต่าง ๆ รวมถึงต้นเสี้ยวที่ชาวบ้านจะเก็บยอดอ่อนมาใส่แกงต่าง ๆ

2.ฤดูฝน (กรกฎาคม-ตุลาคม) พืชที่สำคัญช่วงฤดูนี้ คือ พืชที่ใช้เป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก หรือใช้แกล้มกับลาบและยำต่าง ๆ ได้แก่ ผักขม ผักขมป่า ผักขมหนาม ผักปลัง ไผ่โจด ไผ่บง ไผ่หลาม ไผ่เฮียะ ไผ่ตง ไผ่ไร่ ไผ่ไลล่อ ผักพาย ผัก กันจอง ผักกูด ผักแขยง ผักหนอก บัวบก ส่วนพืชที่ใช้เป็นส่วนผสมของแกงคือพวกหน่อไม้อ่อนทั้งหลาย เช่น ไผ่บง ไผ่หลาม ไผ่แฮียะ ไผ่ตงและไผ่ไร่

3.ฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) พบพืชที่มีความโดดเด่นในช่วงเวลาดังกล่าวคือ พืชที่ใช้แกล้มกับน้ำพริกและยำต่าง ๆ คือ ผักชีช้าง แคป่า เสี้ยว และผักกูด ส่วนพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบของแกง คือ บอนและมันเสา

ชาวบ้านก้างปลานับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ดังเห็นจากขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ความเชื่อเรื่องผีและความเชื่อเรื่องกวน (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ขณะเดียวกันชาวบ้านยังมีงานบุญประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชนที่สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ส่วนประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาหากเป็นสมัยก่อนจะร่วมกันจัดที่วัดโพนชัย ในตัวอำเภอด่านซ้าย กระทั่งปี พ.ศ. 2536 ได้เริ่มก่อสร้างวัดศรีมงคลขึ้นที่บ้านก้างปลา นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2555 ได้สร้างสำนักสงฆ์ (วัดป่า) ขึ้นอีกแห่งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

ส่วนความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเป็นความเชื่อดั้งเดิม ชาวบ้านก้างปลาส่วนใหญ่เชื่อกันว่าตามป่า ตามภูเขา ถ้ำ แม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง และรอบหมู่บ้านจะมีดวงวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ผู้ใดละเมิดหรือไม่เคารพบูชาจะได้รับอันตราย เจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ นานา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นไทด่าน ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐิตินันท์ ใกล้ชิด. (2566). ระบบที่ดินและพฤฒพลัง: ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านปฏิบัติการทางสังคมของเกษตรกรสูงอายุ กรณีบ้านก้างปลา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เอกรินทร์ พึ่งประชา, บัวลอง ศิริ, วิโรจน์ อินทร์วงษ์, บัวพันธ์ พิมสารี และ สมัย ฐานหมั่น. (2560). โครงการวิจัยการสร้างศักยภาพของครัวเรือนในระบบผลิตทางการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร: กรณีศึกษาหมู่บ้านก้างปลา อ.ด่านซ้าย จ.เลย: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

จันทร์เพ็ญ เชื้อบุญมี. (2567). ขออนุญาตแอดมินขายเงาะโลละ35 สามกิโล100 ส่งฟรีเขตด่านซ้าย. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

ฐานเศรษฐกิจ. (15 เมษายน 2562). ชุมชนต้นแบบบ้านก้างปลา สู่ด่านซ้ายโมเดล ลดปัญหาเขาหัวโล้น. สืบค้น 21 มีนาคม 2568, จาก https://www.thansettakij.com/

ไทยโพสต์. (26 มีนาคม 2562). บ้านก้างปลาโมเดลพลิกชีวิตเกษตรกรอาบสาร ลดเขาหัวโล้น. สืบค้น 21 มีนาคม 2568, จาก https://www.thaipost.net/

สยามธุรกิจ. (14 กุมภาพันธ์ 2561). บ้านก้างปลาอ.ด่านซ้าย จ.เลย หมู่บ้านต้นแบบ Smart Farmer ใช้เกษตรทางเลือก. สืบค้น 21 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

Ek Phingpracha. (8 เมษายน 2562). เมื่อเดือนก่อน มีโอกาสแวะเดินที่ตลาดพืชผักปลอดภัย รพร.ด่านซ้าย. สืบค้น 21 มีนาคม 2568, จากhttps://www.facebook.com/ 

Pachara Swangpon. (10 พฤษภาคม 2567). บรรยากาศยามเย็นวันนี้ครับ ลานกางเต็นท์ไร่ช่างอุ้ม. สืบค้น 21 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

ทต.ศรีสองรัก โทร. 0 4203 6499