
ตลาดเก่าโอเดียน ชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในจังหวัดนครปฐมมาอย่างยาวนาน ผ่านกาลเวลาที่มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีร้านค้าขายสินค้าหลากหลายประเภททั้งของสดและสินค้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ถือเป็นแหล่งรวมธุรกิจขนาดเล็กที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน
มาจากชื่อของบริษัทภาพยนตร์โอเดียน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของจำนวนประชากรจนกลายเป็นชุมชน จึงเรียกชื่อว่า "ตลาดเก่าโอเดียน" ตามชื่อของโรงภาพยนตร์
ตลาดเก่าโอเดียน ชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในจังหวัดนครปฐมมาอย่างยาวนาน ผ่านกาลเวลาที่มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีร้านค้าขายสินค้าหลากหลายประเภททั้งของสดและสินค้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ถือเป็นแหล่งรวมธุรกิจขนาดเล็กที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน
นครปฐม เป็นอู่อารยธรรมสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานในแผ่นดินสุวรรณภูมิ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าเมืองนครปฐมตั้งอยู่ริมทะเล เป็นเมืองเก่าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมานับตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ และยังเป็นราชธานีสำคัญในสมัยทวาราวดี ในยุคนั้นนครปฐมเป็นแหล่งเผยแพร่อารยธรรมจากประเทศอินเดียรวมถึงพระพุทธศาสนา นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญ มีชนชาติต่าง ๆ อพยพเข้ามตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้เกิดความแห้งแล้งในบริเวณนั้น เพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้ประชาชนอพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำ นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะที่ทรงยังผนวชได้ธุดงค์ไปพบพระเจดีย์ใหญ่ไม่มีที่ใดเทียบเท่า ครั้นเมื่อได้ขึ้นครองราชสมบัติจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบองค์เดิมไว้ และใช้ชื่อ "พระปฐมเจดีย์" ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี และยังโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชาเพื่อให้การเสด็จมานมัสการสะดวกขึ้น
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านเมืองนครปฐมซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่ารก พระองค์จึงโปรดให้ย้ายชุมชนบริเวณนครชัยศรีริมแม่น้ำนครชัยศรีมาอยู่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จากนั้นจึงสถาปนาให้เป็นจังหวัดนครปฐม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐานและฝึกซ้อมรบแบบเสือป่า และยังให้สร้างสะพานเจริญศรัทธาข้ามคลองเจดีย์บูชาเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟกับองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างพระร่วงโรจนาฤทธิ์ทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ และบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ให้สมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน (สำนักงานจังหวัดนครปฐม, ม.ป.ป.)
สภาพชุมชนเมืองนครปฐมมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยเส้นทางคมนาคมหลัก 3 สายที่วางตัวขนานกันตามแนวยาวของพื้นที่ ได้แก่ ทางรถไฟที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือ คลองเจดีย์บูชาซึ่งตั้งอยู่กลางพื้นที่ และถนนเพชรเกษมที่ตั้งอยู่ด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ เส้นทางทั้งสามนี้ถือเป็นโครงสร้างหลักที่กำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินในชุมชนบริเวณใกล้กับองค์พระปฐมเจดีย์ โดยพื้นที่ใกล้เคียงกับแนวคลองเจดีย์บูชามีการจราจรที่หนาแน่นที่สุดและมีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุด
คลองเจดีย์บูชาเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญในอดีต และถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นครปฐมเกิดการเจริญเติบโตตามพัฒนาการของเทคโนโลยีการขนส่งและการเพิ่มจำนวนประชากร โดยเส้นทางน้ำนี้มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาต่อมา โดยสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินทางระหว่างจังหวัดนครปฐมและกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าในท้องถิ่นเพื่อส่งออกไปยังตลาดขนาดใหญ่ โดยบริเวณริมคลองด้านตะวันออกขององค์พระปฐมเจดีย์มีตลาดก่อตัวขึ้นอย่างถาวรเพื่อให้บริการแลกเปลี่ยนและรวบรวมสินค้าหรือที่รู้จักกันในชื่อ "ตลาดสายหยุด" หรือ "ตลาดซอย 2" ในปัจจุบัน กระทั่งมีการสร้างเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรีผ่านด้านเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ไม่สามารถทดแทนบทบาทของคลองเจดีย์บูชาในด้านการขนส่งทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตามการตัดถนนเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมระหว่างคลองเจดีย์บูชาและสถานีรถไฟ ส่งผลให้ตลาดขยายตัวออกมาตามเส้นทางด้านเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ โดยพื้นที่ใกล้เคียงกับเส้นทางใหม่กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าเกิดขึ้น 2 แห่งใกล้กัน ได้แก่ ตลาดบนและตลาดล่าง (ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ซึ่งโครงสร้างของตลาดนี้ถูกกำหนดโดยคลองเจดีย์บูชาและเส้นทางรถไฟ
ใน พ.ศ. 2485 การสร้างเส้นทางหลวงเพชรเกษมจากกรุงเทพมหานครผ่านจังหวัดนครปฐมได้ส่งผลให้เกิดบทบาททางเศรษฐกิจใหม่ในอีก 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดเก่าโอเดียนและตลาดบริเวณโรงแรมนครอินทร์ โดยมีร้านค้าและสถานบริการต่าง ๆ เกิดขึ้นเรียงรายตามความยาวของเส้นทางนี้ ซึ่งในอดีตพื้นที่บริเวณตลาดเก่าโอเดียนเป็นเพียงชุมชนของชาวสามล้อและร้านซ่อมจักรยาน การตัดถนนเพชรเกษมผ่านชุมชนตลาดเก่าโอเดียนทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ส่งผลให้มีการก่อตั้งตลาดเก่าโอเดียน ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการค้าขายอย่างยาวนาน โดยมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาของการขนส่งและการค้าขายในพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา ในช่วงแรกตลาดนี้เป็นที่ตั้งขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น พืชผักผลไม้ โดยชื่อตลาดเก่าโอเดียน ได้ชื่อมาจาก บริษัทภาพยนตร์โอเดียน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่เดิมทีตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ภายหลังบริษัทภาพยนตร์โอเดียนได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ การพัฒนาพื้นที่นี้ส่งผลให้มีการก่อสร้างบ้านให้ประชาชนเช่าอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทำให้ให้จำนวนประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้คน จนรวมกันกลายเป็นชุมชนชื่อ "ตลาดเก่าโอเดียน" ตามชื่อของโรงภาพยนตร์
ตลาดเก่าโอเดียนในอดีตเป็นตลาดที่ตั้งอยู่บนที่ของราชพัสดุ ซึ่งมีการปลูกสร้างบ้านให้ประชาชนเช่าอยู่อาศัยและเก็บค่าเช่าโดยราชพัสดุ ตลาดนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่ถนนเพชรเกษมสร้างเสร็จและเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนครปฐม โดยมีการค้าขายสินค้าต่าง ๆ ทั้งในตลาดสดและร้านค้าตามเส้นทางที่สำคัญ
ตลาดเก่าโอเดียนตั้งอยู่บนถนนราชวิถี ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม มีลักษณะเป็นชุมชนขนาดเล็ก ทว่ามีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่น และเป็นชุมชนที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครปฐม มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนหลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ โรงเรียนไผทวิทยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ องค์พระปฐมเจดีย์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนราชวิถี
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดนครปฐม มีมวลสภาพอากาศขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ทำให้จังหวัดนครปฐมมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป กับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดพามวลอากาศชื้นจากทะเลและมหาสมุทรปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูฝน ทำให้จังหวัดนครปฐมมีฝนตกทั่วไป แบ่งฤดูกาลของจังหวัดนครปฐมออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
1.ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่มีคุณสมบัติเย็นและแห้งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยในช่วงนี้ แต่เนื่องจากจังหวัดนครปฐมอยู่ในภาคกลาง อิทธิพลของบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมในช่วงฤดูหนาวจะช้ากว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นช้ากว่าทั้งสองภูมิภาค โดยเริ่มมีอากาศหนาวประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด คือ เดือนธันวาคม
2.ฤดูร้อน เริ่มเมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดลง คือ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ในระยะนี้จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าว โดยเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี
3.ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยจะเลื่อนขึ้นมา พาดผ่านบริเวณภาคกลางและภาคเหนือเป็นลำดับในระยะนี้ ทำให้มีฝนตกชุกขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเดือนที่มีฝนตกชุกมากที่สุดในรอบปีและเป็นช่วงที่มีความชื้นสูงคือเดือนกันยายน
ประชากรที่อาศัยอยู่ในละแวกตลาดเก่าโอเดียนประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและอาชีพที่แตกต่างกัน ได้แก่
1.คนไทยพื้นเมือง ประชากรกลุ่มนี้เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐมมาเป็นเวลานาน โดยสืบเชื้อสายมาจากชาวไทยดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคโบราณ ลักษณะเด่นของคนไทยพื้นเมืองในละแวกตลาดเก่าโอเดียน คือ การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เช่น การทำนาและการทำสวน แต่เมื่อชุมชนเริ่มพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้น ประชาชนกลุ่มนี้ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อค้าแม่ค้า และแรงงานในภาคบริการมากขึ้น
2.คนไทยเชื้อสายจีน เป็นกลุ่มประชากรที่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการค้าของชุมชนตลาดเก่าโอเดียนอย่างมาก โดยบรรพบุรุษของคนกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากประเทศจีนตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านเส้นทางอ่าวไทยและแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ จนกระทั่งเข้ามาตั้งรกรากบริเวณจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่ติดกับแม่น้ำนครชัยศรี คนไทยเชื้อสายจีนในละแวกตลาดเก่าโอเดียนส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าของกิจการและร้านค้าในตลาด เช่น ร้านขายของชำ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านทอง ร้านอาหาร และธุรกิจค้าส่งสินค้าเกษตร ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของนครปฐม
3.คนไทยเชื้อสายลาว โดยเฉพาะชาวลาวโซ่งและลาวครั่ง เป็นอีกกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่นครปฐม โดยอพยพเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวไทยเชื้อสายลาวในละแวกชุมชนตลาดเก่าโอเดียนส่วนใหญ่นิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ และปลูกพืช นอกจากนี้ บางครอบครัวยังมีอาชีพค้าขายและเป็นช่างฝีมือ เช่น การทอผ้าและการทำหัตถกรรมพื้นบ้าน
จีน, ไทดำ, ลาวครั่งตลาดเก่าโอเดียนเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของจังหวัดนครปฐม ทำให้ประชาชนในละแวกนี้มีอาชีพที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งภาคเกษตรกรรม การค้าปลีก อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และภาคบริการ การค้าขาย และธุรกิจขนาดเล็ก
ประชากรส่วนใหญ่ในตลาดเก่าโอเดียนประกอบอาชีพค้าขาย โดยตลาดแห่งนี้มีร้านค้าหลายประเภท เช่น ร้านขายของชำและสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านขายเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ร้านอาหาร ร้านขนม และร้านขายวัตถุดิบอาหาร ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และร้านทองและร้านอัญมณี พ่อค้าแม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีความชำนาญด้านการค้าและการบริหารธุรกิจ บางครอบครัวสืบทอดกิจการมาหลายชั่วอายุคน ทำให้ตลาดเก่าโอเดียนกลายเป็นแหล่งค้าส่งและค้าปลีกที่เก่าแก่ของจังหวัด
บริเวณรอบชุมชนตลาดเก่าโอเดียนยังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น โรงสีข้าว โรงงานทำขนม และโรงงานผลิตอาหารแปรรูป บางครอบครัวยังประกอบอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทำเครื่องจักสาน งานฝีมือ และการทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ประชาชนในชุมชนตลาดเก่าโอเดียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดสำคัญในบริเวณใกล้เคียง เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและประเพณีของชาวนครปฐม ประชาชนมีการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร การเวียนเทียนในวันสำคัญ และการถวายสังฆทาน ขณะเดียวกันชาวไทยเชื้อสายจีนยังมีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ มีศาลเจ้าและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นที่เคารพของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ศาลเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมในช่วงเทศกาลกินเจ โดยประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่นิยมจัดพิธีไหว้เจ้าช่วงตรุษจีนและสารทจีน
ประเพณีสำคัญของชุมชนตลาดเก่าโอเดียน
1.งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นงานบุญประจำปีของจังหวัดนครปฐม จัดขึ้นช่วง เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวตลาดเก่าโอเดียนนิยมเข้าร่วมพิธีทำบุญ สักการะพระปฐมเจดีย์ และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในงาน
2.เทศกาลตรุษจีน เป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนในตลาดโอเดียน มีกิจกรรมไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ แจกอั่งเปา และจุดประทัดเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล พร้อมด้วยขบวนแห่เชิดสิงโตและมังกรในบางปี
3.เทศกาลสารทจีน เป็นพิธีไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ ครอบครัวชาวจีนในตลาดจะจัดโต๊ะไหว้เจ้าและถวายของเซ่นไหว้ให้กับบรรพบุรุษของตน
4.เทศกาลกินเจ ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนจะงดเว้นเนื้อสัตว์ และปฏิบัติตนตามศีล 10 ข้อ มีการจัดโรงทานเจตามศาลเจ้าต่าง ๆ และร้านค้าในตลาดเก่าโอเดียนหลายแห่งจะปรับเมนูเป็นอาหารเจ
5.ประเพณีสงกรานต์และพิธีแห่พระร่วงโรจนฤทธิ์ ชาวตลาดเก่าโอเดียนนิยมเข้าร่วมพิธีสรงน้ำพระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด มีขบวนแห่และกิจกรรมรื่นเริง เช่น การเล่นน้ำสงกรานต์ และการจัดงานรื่นเริงในตลาด
ชุมชนตลาดเก่าโอเดียน จังหวัดนครปฐม ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิต โดยมีการผสมผสานระหว่างประเพณีไทย จีน และลาว ประชากรส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่สืบทอดกิจการมาหลายรุ่น ศาสนาหลักของชุมชนคือศาสนาพุทธ โดยมีวัดพระปฐมเจดีย์และศาลเจ้าเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางศาสนา ประเพณีสำคัญที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลกินเจ และงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนนี้
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ตลาดเก่าโอเดียนมีพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของชุมชนและการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม
ในช่วงเริ่มต้น ตลาดเก่าโอเดียนเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม โดยเป็นสถานที่สำหรับการซื้อขายสินค้าท้องถิ่น เช่น อาหารสด สินค้าพื้นเมือง และผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตร ชาวบ้านในพื้นที่และผู้ค้าที่เข้ามาจากภายนอกต่างพึ่งพาตลาดนี้เป็นแหล่งทำมาหากิน การตั้งตลาดในพื้นที่นี้ส่งเสริมการค้าขายและการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป การเติบโตของตลาดเก่าโอเดียนก็เริ่มขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เช่น การเปิดร้านอาหาร ร้านขายของใช้ต่าง ๆ และธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและกิจกรรมท้องถิ่น อุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชุมชน เช่น ธุรกิจร้านค้าปลีกและบริการ ทำให้เศรษฐกิจในตลาดเก่าโอเดียนมีความหลากหลายและยั่งยืนมากขึ้น การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดนครปฐม รวมถึงตลาดเก่าโอเดียนทำให้เกิดการเติบโตในธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหารและที่พัก ทั้งนี้ตลาดเก่าโอเดียนได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ในปัจจุบัน
กระปุกดอทคอม. (2566). งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำปี 2566 เทศกาลงานบุญรื่นเริงใหญ่ จ.นครปฐม. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2025, จาก https://travel.kapook.com/
กินเที่ยวนครปฐม. (23 พฤศจิกายน 2565). บรรยากาศยามเช้า ตลาดบ้านฉัน. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2025, จาก https://www.facebook.com/
เกื้อกูล มัลลิกาพิพัฒน์. (2551). การปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนตลาดเก่า: กรณีศึกษา ชุมชนตลาดเก่าโอเดียน จังหวัดนครปฐม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
เทศบาลนครนครปฐม. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2025, จาก https://www.nakhonpathomcity.go.th/
สำนักงานจังหวัดนครปฐม. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครปฐม. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2025, จาก https://nakhonpathom.go.th/
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดนครปฐม. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2025, จาก https://www.nkppao.go.th/