Advance search

บ้านคลองหัวช้าง ชุมชนแห่งการพึ่งพาตนเอง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์จากสิ่งรอบตัว นำไปสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ และทรัพยากรชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาศักยภาพชุมชน คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอพรมเช็ดเท้า และการทำเกษตรแบบผสมผสาน

หมู่ที่ 10
คลองหัวช้าง
คลองเรือ
วิหารแดง
สระบุรี
อบต.คลองเรือ โทร. 0 3627 7600
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มี.ค. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มี.ค. 2025
บ้านคลองหัวช้าง

ในอดีตบริเวณพื้นที่ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีลำคลองซึ่งไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ และมีช้างป่ามากินน้ำในลำคลอง เมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงเรียกว่า คลองหัวช้าง ต่อมาเมื่อมีการตั้งเป็นชุมชนจึงเรียกว่า "บ้านคลองหัวช้าง" ตามชื่อคลองน้ำดังกล่าว


บ้านคลองหัวช้าง ชุมชนแห่งการพึ่งพาตนเอง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์จากสิ่งรอบตัว นำไปสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ และทรัพยากรชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาศักยภาพชุมชน คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอพรมเช็ดเท้า และการทำเกษตรแบบผสมผสาน

คลองหัวช้าง
หมู่ที่ 10
คลองเรือ
วิหารแดง
สระบุรี
18150
14.372806349093596
101.05352439618355
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเรือ

บ้านคลองหัวช้างเดิมขึ้นอยู่กับบ้านยางคู่ หมู่ที่ 5 ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี คนส่วนใหญ่เรียกว่า บ้านเขาวิหาร ตามชื่อของสำนักสงฆ์เขาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2536 จึงได้แยกหมู่บ้านออกมาและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านคลองหัวช้าง" ซึ่งได้ตั้งชื่อตามคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยก่อนพื้นที่หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์มาก และมีลำคลองต้นน้ำไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ตลอดหมู่บ้าน ลำคลองดังกล่าวจะมีช้างลงมากินน้ำเป็นประจำ และต่อมามีคนไปหาปลาได้พบหัวช้างในลำคลอง จึงได้เรียกลำคลองนั้นว่า "คลองหัวข้าง" ซึ่งชื่อหมู่บ้านก็ได้ตั้งชื่อตามลำคลอง

พ.ศ. 2536 เป็นจุดเริ่มของการก่อตั้งหมู่บ้านคลองหัวช้างซึ่งได้แยกตัวออกมาจากหมู่บ้านยางคู่ หมู่ที่ 5 และเริ่มการปกครองหมู่บ้านขึ้นใหม่ภายใต้การนำของผู้ใหญ่สังวาล คชประเสริฐ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเป็นคนแรก สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ (จากเดิมขึ้นกับหมู่บ้านยางคู่) ส่วนหนึ่งย้ายมาจากจังหวัดใกล้เคียง และประชากรบางส่วนอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีทั้งการอพยพมาตามเพื่อน และการเข้ามาทำมาหากิน ด้วยการประกอบอาชีพดั้งเดิมของสมาชิกในชุมชน คือ การสืบทอดวิถีการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานการผลิตเพื่อยังชีพ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขามีแหล่งน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร จนกลายเป็นชุมชนที่ขยายตัวมากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านคลองหัวช้าง ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดสระบุรี อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวิหารแดงประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสระบุรีประมาณ 34 กิโลเมตร มีเนื้อที่ของหมู่บ้านรวม 2.88 ตารางกิโลเมตร (1,800 ไร่) ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านโดยทั่วไปเป็นที่ราบติดเชิงเขาซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของหมู่บ้าน มีแหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่คลองหัวช้างและลำรางคลองหัวช้างไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ตลอดหมู่บ้าน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ไหลบรรจบกับคลองห้วยกรวดหมู่ที่ 9 ตำบลคลองเรือ สภาพพื้นที่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย (น้ำตกสามหลั่น)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 9 ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านคลองหัวช้าง ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 532 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 256 คน ประชากรหญิง 276 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 189 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

การปกครองของหมู่บ้านคลองหัวช้างจะแบ่งการปกครองออกเป็น 6 คุ้ม แบ่งแยกตามโซนพื้นที่ของหมู่บ้านเพื่อให้สะดวกต่อการดูแลสมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึงผ่านหัวหน้าคุ้ม มีผู้นำท้องที่ฝ่ายปกครอง คือ ผู้ใหญ่บ้าน และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งสามารถประสานงาน และร่วมมือกันทำงานร่วมกับแกนนำของหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่สามารถทำหน้าที่เชื่อมประสานความต้องการของชุมชนไปยังหน่วยงานภาครัฐได้ มีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อทำหน้าที่ในการปกครองด้านต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

ไทยพวน

สมาชิกในชุมชนบ้านคลองหัวช้างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำนา เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ดฟาง ปลูกพืชผักสวนครัว กรองแฝกมุงหลังคา และรับจ้างทั่วไป ประชาชนบางส่วนทำงานโรงงานอุตสาหกรรม ทำโฮมสเตย์ขนาดเล็ก และทอพรมเช็ดเท้าเป็นอาชีพเสริม โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม ทำนา การเพาะเห็ด ปลูกผักสวนครัว และทอพรมเช็ดเท้า

เนื่องจากประชาชนในชุมชนบ้านคลองหัวช้างมีอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำสวน ทำไร่ นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม เช่น การเพาะเห็ด การปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาชีพเสริมในช่วงที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร จึงมีการรวมกลุ่มอาชีพทางการเกษตร ได้แก่ กลุ่มเพาะเห็ดฟาง กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัว กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพบ้านคลองหัวช้าง กลุ่มกองหญ้าแฝก กลุ่มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต่างก็ส่งผลถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิกและชุมชน รวมถึงสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นจากการนำผลผลิตทางการเกษตรไปขาย และมีการนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางสินค้า และเพิ่มความน่าสนใจ ดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น เช่น กลุ่มเพาะเห็ดฟาง สามารถเก็บเห็ดรับประทานได้เอง หรือนำไปขายได้ทันที และนำเห็ดไปแปรรูปเป็นเห็ดสามรส กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนอีกอย่างหนึ่ง กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัว สามารถทำน้ำมันตะไคร้ไล่ยุง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มและชุมชน เป็นต้น

กลุ่มอาชีพทอพรมเช็ดเท้าบ้านคลองหัวช้าง เป็นกลุ่มแรกเริ่มของการรวมกลุ่มอาชีพในชุมชนบ้านคลองหัวช้าง และได้รับการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นกลุ่มหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชนด้วย ซึ่งที่มาของการจัดตั้งกลุ่มมาจากเดิมสมาชิกในชุมชนมีหนี้สินนอกระบบ มีฐานะยากจน ผู้นำชุมชนเล็งเห็นว่าควรให้สมาชิกในชุมชนมีอาชีพเสริม อีกทั้งสมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งมีความรู้ ความสามารถในด้านการทอเสื่อกก ผู้นำชุมชนจึงรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนที่มีความสนใจให้รวมกลุ่มทอพรมเช็ดเท้าขึ้น ซึ่งพรมเช็ดเท้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาได้นาน และสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและชุมชนด้วย

ชาวบ้านคลองหัวช้างมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีส่วนใหญ่ลักษณะคล้ายกับประชาชนในแถบทางภาคกลางทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพ การทำเกษตรกรรม และพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ

ประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีทำบุญในงานวันสำคัญทางพุทธศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานบวช ฯลฯ โดยมีวัดคลองหัวช้างเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีประเพณีทำบุญกลางบ้าน โดยจะจัดให้มีในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันเริ่มหายไปเพราะชาวบ้านส่วนหนึ่งออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทางแกนนำชุมชนจึงรื้อฟื้นประเพณีขึ้นอีกครั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นได้กลับมารดน้ำผู้ใหญ่ โดยกิจกรรมวันงานเริ่มในช่วงเช้ามีการตักบาตร ช่วงสายเป็นการอาบน้ำผู้สูงอายุ โดยมีการจัดรวมทั้งหมู่บ้านเพื่อเป็นการทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่า และร่วมกันทำบุญสืบทอดประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป จุดประสงค์ของการทำบุญกลางบ้าน คือ การทำบุญให้กับบรรพบุรุษเพื่อความเป็นสิริมงคลของหมู่บ้าน

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีดั้งเดิมของคนในพื้นที่ จะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ซึ่งข้าวทิพย์เป็นการรวมวัตถุดิบหรือธัญพืชทุกชนิดที่ได้รับบริจาคมาจากผู้มีจิตศรัทธา โดยผ่านกระบวนการทางสงฆ์และพราหมณ์ สมาชิกในชุมชนจะจัดให้มีเทวดาและนางฟ้ามาประกอบพิธีตามความเชื่อของพราหมณ์ การคัดเลือกเทวดาและนางฟ้าจะเลือกจากเด็กที่อยู่ในหมู่บ้าน ช่วงอายุตั้งแต่ 5-15 ปี โดยเทวดาและนางฟ้าจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ มีเทวดา 2 คน นางฟ้า 2 คน ซึ่งจะให้เทวดาหาบวัตถุดิบที่จะใช้ในการกวนข้าวทิพย์ให้กับนางฟ้าที่จะทำการกวนข้าวทิพย์เปิดพิธีก่อนในหม้อแรก หลังจากนั้นสมาชิกในชุมชนถึงจะกวนต่อได้ ประเพณีนี้จัดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า เป็นการสักการบูชาเทวดาอารักษ์ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา และการเลือกจะจัดขึ้นตรงกับวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นการถวายการสักการบูชาต่อพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อในพุทธประวัติของวันวิสาขบูชา สมาชิกในชุมชนเชื่อว่าใครที่ได้กินข้าวทิพย์จะมีอายุยืน หายจากโรคภัย และเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต

วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านคลองหัวช้างอย่างหนึ่ง คือ กลองยาวประยุกต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตีกลองยาว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปได้มีการรวมคนในชุมชนที่มีความสามารถในการตีกลองยาว และจัดตั้งเป็นกลุ่มกลองยาวประยุกต์เพื่อบรรเลงประกอบในงานมงคลต่าง ๆ ของตำบล โดยจะมีพิธีกรรม หรือประเพณีการไหว้ครูกลองยาวซึ่งจัดขึ้นในเดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำของทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์การเรียนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองหัวช้าง

ศูนย์การเรียนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองหัวช้าง เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ต้องการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพเสริม สร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นสมาชิกในกลุ่มอาชีพตามความสนใจและความสามารถ ตลอดจนมีการส่งเสริมให้มีการขยายเครือข่ายไปยังสมาชิกและหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการแนะนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งผู้นำชุมชน และสมาชิกในชุมชนที่เป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพเป็นวิทยากรที่ต่างก็มีทักษะ ความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจนเป็นอย่างดี จึงเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้กับคนที่เข้ามาศึกษาดูงานชุมชน ตลอดจนการจัดกิจกรรมที่ให้ความรู้กับการเปิดชุมชนให้คนภายนอก หรือองค์กรภายนอกที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองหัวช้าง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กันมากขึ้น จึงทำให้ชุมชนบ้านคลองหัวช้างเป็นที่รู้จักในการเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงระดับภาคกลาง มีการขยายผลพัฒนาเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ จากศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองหัวช้าง ได้แก่

  1. แผนการเรียนรู้ชุมชนอย่างยั่งยืน
  2. กลุ่มทอพรมเช็ดเท้าบ้านคลองหัวช้าง เรียนรู้การพัฒนากลุ่มอาชีพอย่างยั่งยืน
  3. การพัฒนาที่ดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  4. กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพบ้านคลองหัวช้าง เรียนรู้การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ปุ๋ยปั้นเม็ด
  5. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงปลาในบ่อปูน
  6. เรียนรู้พลังงานทดแทน ได้แก่ เตาเผาถ่าน น้ำส้มควันไม้ แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์
  7. ฐานการเลี้ยงหมู
  8. ฐานการเลี้ยงไก่ไข่
  9. ฐานการเพราะเห็ดฟาง
  10. ฐานการเพาะเห็ดขอน
  11. ฐานการเลี้ยงกบ
  12. ฐานการปลูกพืชผสมผสาน ข่าเศรษฐกิจ

โครงการโฮมสเตย์เพื่อพัฒนาบ้านคลองหัวช้าง 

โครงการโฮมสเตย์เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาหมู่บ้าน โดยผู้นำชุมชนตั้งเป้าหมายในระยะ 10 ปีข้างหน้า ด้วยการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ หรือโฮมสเตย์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน สามารถเรียนรู้ และสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงเป็นการช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน ให้คนภายนอกที่สนใจได้เรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งโฮมสเตย์บ้านคลองหัวช้างได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ประจำปี 2556 รับรองโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้ โครงการโฮมสเตย์ยังได้รับการขยายผลไปยังหมู่ที่ 4 บ้านห้วยกรวด เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยวด้วย

โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง

ชุมชนบ้านคลองหัวช้างได้มีการทำงานร่วมกับองค์กรเอกชน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มแรกนั้น ปตท. เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อวางแนวท่อก๊าซธรรมชาติตามแนวไฟฟ้าแรงสูงผ่านชุมชนบ้านคลองหัวช้าง จากนั้นจึงมีนโยบายคืนกำไรให้สังคม ได้มีการจัดงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ช่วยเหลือต่อยอดพัฒนากลุ่มทอพรมเช็ดเท้า และยังได้รับการต่อยอดงบประมาณสนับสนุนอีกครั้ง เพื่อพัฒนาพื้นที่ศึกษาดูงานให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองหัวช้าง เป็นศูนย์เรียนรู้ที่รวมความรู้เกี่ยวกับวิถีพอเพียงในชุมชน และได้เข้าร่วมเครือข่ายลูกโลกสีเขียวกับ ปตท.

ในเวลาต่อมา ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองหัวช้างชนะการประกวดศูนย์เรียนรู้ระดับเขต ของจังหวัดสระบุรี ได้รับคัดเลือกจาก ปตท. เพื่อเข้าร่วมโครงการ "รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง" ซึ่งได้มีการขยายผลวิถีพอเพียงไปสู่อีก 9 หมู่บ้านในตำบลคลองเรือ ซึ่งเน้นการขับเคลื่อน และพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเป็นกลุ่มเครือข่ายระดับตำบล โดยการจัดรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวิถีพอเพียงร่วมกันในตำบล นอกจากนั้นยังมีการบูรณาการ เครือข่ายการเรียนรู้ โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายครัวเรือนอาสา และจุดเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตำบล ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายให้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงาน หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น

บ้านคลองหัวช้าง ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี มีภาษาที่ใช้สื่อสารในหมู่บ้านคลองหัวช้าง ส่วนใหญ่เป็นภาษาลาวพวน และภาษาไทยกลาง นอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนที่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร


แรกตั้งชุมชนประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน โดยเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา มีแหล่งน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรกรรม จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการพัฒนาตามแบบทุนนิยม ทำให้การทำเกษตรผสมผสานแปรเปลี่ยนเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เน้นการผลิตเพื่อขายเพื่อการส่งออก

พ.ศ. 2535-2540 เกิดกระแสการซื้อขายที่ดินจำนวนมากเพื่อปลูกยูคาลิปตัส ประกอบกับแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สมาชิกในชุมชนเริ่มมีหนี้สินจากการประกอบอาชีพ สมาชิกในชุมชนหลายคนจึงตัดสินใจขายที่ดินให้กับกลุ่มนายทุน จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก สมาชิกในชุมชนในหมู่บ้านขายที่ดินไปเป็นจำนวนมาก ที่ดินที่ใช้สำหรับทำการเกษตรลดลงโดยถูกเปลี่ยนมือไปให้กับนายทุนใช้เพื่อการปลูกต้นยูคาลิปตัส สมาชิกในชุมชนบางส่วนออกไปทำงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม บางส่วนกลายเป็นลูกจ้างปลูกต้นยูคาลิปตัส ช่วงปี พ.ศ. 2542 เกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม เนื่องจากการปลูกยูคาลิปตัสทำให้เกิดการขวางทางน้ำ และใบยูคาลิปตัสที่หล่นลงไปในน้ำก็ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรหรือการบริโภคได้ แกนนำหมู่บ้านจึงเริ่มคิดเรื่องของการประกอบอาชีพอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยพบว่ามีอาชีพทอพรมเช็ดเท้าที่ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก มีความน่าสนใจ เนื่องจากสมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งในหมู่บ้านที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องการทอเสื่อกก จึงได้รวมกลุ่มไปดูงานที่ตำบลเขาเพิ่มและได้นำมาเป็นอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน โดยจัดตั้งกลุ่มทอพรมเช็ดเท้าขึ้นในปี พ.ศ. 2542 และได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิตภายในหมู่บ้าน เพื่อให้สมาชิกกลุ่มในหมู่บ้านมีเงินทุนกู้ยืมไปประกอบอาชีพและลดปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ โดยสมาชิกในชุมชนสามารถกู้ยืมเงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านได้

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำหมู่บ้านยังคิดเรื่องของการทำเกษตรเชิงผสมผสาน โดยชักชวนให้สมาชิกในชุมชนหันมาปลูกพืชแบบผสมผสานแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ให้สมาชิกในชุมชนได้มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย จึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงสภาพดินโดยหมอดินอาสา เนื่องจากสภาพดินในพื้นที่มีคุณภาพต่ำเป็นกรดจัด จึงได้มีการฟื้นฟูและพัฒนาที่ดินขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติการทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ การปลูกป่าการ ทำไร่นาสวนผสม ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกในชุมชนสามารถปลูกพืชได้ผลผลิตดีและเป็นการลดการใช้ สารเคมีลดรายจ่ายในครัวเรือนได้

พ.ศ. 2544 ทางหมู่บ้านจัดตั้งกลุ่มกองทุนหมู่บ้านคลองหัวช้างขึ้นเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนให้สมาชิกในชุมชนได้กู้ยืมเงินไปหมุนเวียนได้ และจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มทอพรมเช็ดเท้าสามารถจดทะเบียนพรมเช็ดเท้าเป็นโอทอประดับ 2 ดาว ส่งผลให้เกิดการขยายกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ การตั้งกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดฟาง อาชีพปลูกพืชผักสวนครัว ฯลฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพให้กับสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ได้

พ.ศ. 2546 กี่เหล็กที่ใช้สำหรับทอพรมเช็ดเท้าได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งทำให้กลุ่มทอพรมเช็ดเท้าสามารถขายกี่ และอุปกรณ์ทอพรมเช็ดเท้าได้

พ.ศ. 2548 ทางหมู่บ้านได้ปรึกษากับฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ถึงนโยบายการคืนกำไรให้กับสังคมของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้เขียนโครงการเสนอของบประมาณสนับสนุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างกลุ่มทอพรมเช็ดเท้า จนกระทั่งหมู่บ้านได้รับงบประมาณสนับสนุนจัดสร้างอาคารกลุ่มทอพรมเช็ดเท้า และในปีเดียวกันเริ่มมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชุมชนขึ้นภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี มีการจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพบ้านคลองหัวช้าง โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาที่ดินจังหวัดสระบุรี ทำให้สมาชิกในชุมชนมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้น ปัจจุบันกลุ่มทอพรมเช็ดเท้าของหมู่บ้านคลองหัวช้างได้ขยายเครือข่ายไปยังสมาชิกเครือข่าย 50 เขตในกรุงเทพมหานคร และมีการขยายผลวิถีพอเพียงไปอีก 9 หมู่บ้าน โดยเน้นการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เป็นกลุ่มเครือข่ายระดับตำบล โดยการจัดรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาและวิถีพอเพียงร่วมกันในตำบล ทั้งยังมีการบูรณาการเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายครัวเรือนอาสา และจุดเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตำบลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้แก่ผู้มาศึกษาดูงานหรือผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายผลในเรื่องของการจัดทำหมู่บ้านโฮมสเตย์ไปยังหมู่บ้านห้วยกรวด หมู่ที่ 4 เพื่อสามารถรองรับจำนวนผู้มา ศึกษาดูงานได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 หมู่บ้านคลองหัวช้างได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง (CEO) ของอำเภอวิหารแดง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ (Best Practice) ของจังหวัดสระบุรี ต่อมาชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข (Smart Village) อันดับ 1 ของจังหวัดสระบุรี พร้อมกับรับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับรางวัลหมู่บ้านเขียวขจีดีเด่นไปพร้อมกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปิริญา โลศิริ. (2557). การสื่อสารแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านคลองหัวช้าง จังหวัดสระบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พรมอเนกประสงค์ คลองหัวช้าง. (2568). สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

โรงเรียนชาวบ้าน. (2562). ภาพถ่าย. สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/RongReanChoabaan/

โรงเรียนชาวบ้าน. (2564). ภาพถ่าย. สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/RongReanChoabaan/

โรงเรียนชาวบ้าน. (2565). ภาพถ่าย. สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/RongReanChoabaan/

ทั่วถิ่นแดนไทย. (16 มีนาคม 2562). เดินตามวิถีที่บ้านคลองหัวช้าง จ.สระบุรี. สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.thaipbs.or.th/program/TuaThin/

องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเรือ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไป. สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.klongrua.go.th/

Thaimiceconnect. (ม.ป.ป.). บ้านคลองหัวช้าง. สืบค้น 22 มีนาคม 2568, จาก https://www.thaimiceconnect.com/

อบต.คลองเรือ โทร. 0 3627 7600