ชุมชนป่าจากปากแม่น้ำตรัง
ชื่อบ้านควนมอง จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลพื้นถิ่นกำเนิดและเติบโตในพื้นที่ควนมอง รวมทั้งงานวิจัยชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดตรัง (วรรณา นาวิกมูลและคณะ, 2547, น.61) กล่าวถึงที่มาของชื่อบ้านควนมองที่เล่าสืบต่อมาว่า ในช่วงเริ่มสร้างหมู่บ้าน นายมอง และ นางหยา สองสามีภรรยาเป็นครอบครัวแรกที่เข้ามาบุกเบิกและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ซึ่งในอดีตบริเวณนี้มีเพียงบ้านไม่กี่หลัง ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานในลักษณะชุมชนดังปัจจุบัน ฉะนั้นเมื่อใครไปใครมาหรือต้องการติดต่อกับคนในพื้นที่ หากมีใครถามว่า ไปไหน จึงใช้การระบุชื่อสถานที่โดยอ้างอิงจากบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ว่า ไปบ้านหยามอง
กระทั่ง "บ้านหยามอง" กลายเป็นชื่อเรียกติดปากเมื่อต้องการอ้างอิงตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนที่อาศัยในบริเวณนี้ บ้านหยามอง มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ควนมอง" ให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็น "ควน" ในภาษาถิ่นใต้ หมายถึง พื้นที่เนินเขา ภูเขา และสอดคล้องกับพื้นที่ตำบลกันตังใต้ที่มีภูเขาลักษณะเข้าโดดวางตัวแนวเหนือใต้ ชื่อว่า "เขาจุปะ" ตั้งอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้าน เมื่อขึ้นไปจุดยอด "เขาจุปะ" สามารถมองเห็นปากแม่น้ำตรังและอำเภอกันตังได้อย่างชัดเจน
ชุมชนป่าจากปากแม่น้ำตรัง
บ้านควนมอง จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส กล่าวว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณวัดกันตังใต้ ในพื้นที่ชุมชนบ้านควนมองเป็นสถานที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นมีการขุดหลุมเพื่อหลบภัยจากการโจมตีทางอากาศบริเวณลานวัด ซึ่งแต่ละหลุมสามารถเชื่อถึงกันได้ หลังจากสงครามยุติชุมชนดำเนินชีวิตในรูปแบบสังคมเกษตรโดยการทำนามาโดยตลอด กระนั้นก็ตามมีการปลูกพืชไร่ พืชสวน ร่วมกับการทำนา
ช่วง ปี พ.ศ. 2518 - 2520 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรจากการทำนามาเป็นการปลูกยางพารา ทำให้การทำนาค่อย ๆ หมดไปจากบ้านควนมอง ซึ่งในช่วงนี้เองเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มมีระบบไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน ทำให้สมาชิกในชุมชนเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต ตะเกียงน้ำมันก๊าดและไต้ค่อยๆ หมดไปจากชุมชน พร้อม ๆ กับการตั้งโรงงานปลากระป๋องในพื้นที่ สมาชิกในชุมชนควนมองและใกล้เคียงเริ่มหันมาทำงานตัดแต่งปลา เพื่อบรรจุกระป๋องในรูปปลา กระป๋อง
ช่วงปี พ.ศ. 2520 - 2525 ช่วง 5 ปี นี้ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้้นฐานในชุมชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างถนนคอนกรีต ทำให้ชุมชนมีความสะดวกมากขึ้นในการนำผลผลิตทางการเกษตรไปขายรวมถึงการเข้ามารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในชุมชน และถนนนำมาซึ่งความสะดวกในการสัญจรของสมาชิกในชุมชน
ช่วง ปี พ.ศ. 2544 นอกจากการทำการเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกยางพารา การปลูกปาล์มน้ำมัน การทำพืชสวน พืชไร่ สมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพด้านการประมง เพราะชุมชนตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตรังซึ่งมีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ รวมถึงป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ทว่าในปี พ.ศ. 2544 มีการประกาศห้ามใช้อวนลาก อวนรุนและโพงพาง รวมถึงการประกาศเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน ส่งผลให้สมาชิกชุมชนต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำการประมง ที่ต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในด้านหนึ่งนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแต่ชุมชนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทว่าในที่สุดชุมชนก็สามารถปรับรูปแบบการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดสู่ชายฝั่งอันดามัน ส่งผลให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามันของประเทศไทยได้รับผลกระทบตลอดแนวชายฝั่ง ทว่าชุมชนบ้านควนมองไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะพื้นที่ป่าชายเลนรอบชุมชน ทำหน้าที่ซับแรงคลื่นจึงไม่ส่งผลต่อชุมชนมากเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ หลังจากเหตุการผ่านมาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีนโยบายการปลูกป่าชายเลนและอนุรักษณ์ป่าชายเลน เอื้อให้ชายฝั่งของบ้านควนมองที่ติดทะเลมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ปี พ.ศ. 2550 ยุบโรงเรียนบ้านกันตังใต้ จากนั้นปรับโรงเรียนบ้านกันตังใต้ เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนสำหรับผู้พิการ รองรับผู้พิการในเขตอำเภอกันตังและอำเภอใกล้เคียง
ปี พ.ศ. 2551 เพื่อการบริหารจัดการด้านสวัสดิการ ทั้งด้านสุขอนามัยสาธารณสุข เบี้ยยังชีพ รวมถึงสิทธิด้านอื่น ๆ ของสมาชิกชุมชน มีการย้ายชาวบ้านจากบ้านหัวเกาะซึ่งอยู่ตรงข้ามชุมชนหลังโรงเรียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านควนมอง เพราะเดิมชาวบ้านจากหัวเกาะย้ายถิ่นไปมาระหว่างบริเวณหัวเกาะ กับ บ้านควนมอง ซึ่งเป็นการย้ายไปมาแบบไม่มีทะเบียนบ้าน ส่งผลให้ขาดสิทธิที่พึงมี ดังนั้นจึงย้ายชาวบ้านบริเสณหัวเกาะมาตั้งถิ่นฐานอย่างถูกต้องในบ้านควนมอง หมู่ที่ 2
ปี พ.ศ. 2562 - 2564 เหตุการไวรัสโควิด - 19 ส่งผลต่อสมาชิกในชุมชนในหลากมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รูปแบบการดำรงชีวิตของชุมชนบ้านควนมองเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน และส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจแก่สมาชิกในชุมชน
ปี พ.ศ. 2566 หลังจาก ไวรัสโควิด - 19 เริ่มเบาบาง การดำเนินชีวิตของสมาชิกในชุมชนด้านสังคมวัฒนธรรม เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาดังเดิม ต้นปี พ.ศ. 2566 มีการหล่อพระประธานวัดกันตังใต้ สมาชิกในชุมชนบ้านควนมอง รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาที่ทราบต่างมาร่วมงานบุญหล่อพระพุทธรูปประจำวัดกันตังใต้อย่างมากมาย
ตำบลกันตังใต้ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตรัง ภายในพื้นที่จึงมีคลองสายเล็ก ๆ เชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักไหลคดเคี้ยวเข้ามาในพื้นที่ ชุมชนบ้านควนมองจึงมีพื้นที่ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำตรัง ซึ่งมีทรัพยากรป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน นอกจากพื้นที่ที่ติดแม่น้ำตรัง ด้านตะวันออกของชุมชนติดกับเนินเขามีการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมของชุมชน ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศชุมชนบ้านควนมอง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ และ หมู่ที่ 6 บ้านกันตังใต้
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านจุปะ
- ทิศตะวันออก ติดกับ เขตป่าสงวน
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำตรัง
บ้านควนมอง หมู่ที่ 2 ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นหมู่บ้านหนึ่งใน 6 หมู่บ้านในพื้นที่การปกครองของตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กระนั้นก็ตามภายใต้นิเวศวัฒนธรรมของแต่ละหมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลกันตังใต้ ล้วนมีความสัมพันธ์กันภายใต้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการทับถมของดินตะกอนบริเวณปากแม่น้ำตรัง ที่เอื้อให้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง ทรัพยากรป่าชายเลน ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ชุมชนดำรงชีวิตสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ประกอบด้วยอาชีพประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงกุ้ง การทำสวนใบจาก รวมถึงการออกทะเลหาปลากับเรือประมงใหญ่
จากการอบรมปฏิบัติการเครื่องมือ 7 ชิ้น พบว่าสมาชิกในหมู่บ้านควนมองมีความสัมพันธ์กันในระบบเครือญาติ มีการแต่งงานกันระหว่างสมาชิกในชุมชน จากผังเครือญาติที่ผู้เข้ารับการอบรมจัดทำในการปฏิบัติการฝึกอบรม เมื่อนำมาประกอบกันพบว่ามีเครือข่ายระบบสายเครือญาติที่สัมพันธ์กันในชุมชน
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านควนมอง มีลักษณะของการกระจายเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มอยู่ไม่ไกลจากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เช่น พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่เชิงเขา จึงมีความสอดคล้องกับการประกอบอาชีพของสมาชิกของชุมชน นอกจากนี้ชุมชนมีความหนาแน่นบริเวณรอบ ๆ สถานที่ตั้งโรงงานตัดแต่งปลาเพื่อส่งโรงงานปลากระป๋องที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดตรัง รูปแบบของบ้านเรือนในอดีต ชุมชนมีการใช้ใบจากซึ่งเป็นพืชพรรณประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปมาใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นหลังคาในรูปแบบลักษณะบ้านมุงจาก ส่วนฝาบ้านทำมาจากไม้ไผ่ ต่อมาเพื่อความแข็งแรงของที่อยู่อาศัยจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย โดยใช้วัสดุที่มีความคงทนจำพวกไม้และซีเมนต์ เป็นวัสดุการสร้างบ้านเรือน
จากรูปแบบการตั้งถิ่นฐานที่มีลักษณะแบบกระจายเป็นกลุ่มในพื้นที่ที่เป็นแหล่งทรัพยากร จึงมีการบริหารจัดการชุมชนเพื่อให้สมาชิกของชุมชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในกิจกรรมและกิจการของชุมชน โดยการแบ่งพื้นที่ในลักษณะเป็นคุ้มซึ่งแต่ละคุ้มมีสมาชิกในชุมชนเป็นหัวหน้าและคณะกรรมการของแต่ละคุ้ม นอกจากนี้มีการรวมกลุ่มอาชีพของสมาชิกในชุมชนเพื่อร่วมกันทำกิจกรรม ช่วยเหลือกันและกันรวมถึงการสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกของกลุ่ม
ปฏิทินชุมชน มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างสมภูมิปัญญาของชุมชน เช่น ภูมิปัญญาด้านการประมง ภูมิปัญญาสังคมชาวน้ำ ภูมิปัญญาการต่อเรือ เป็นต้น ส่วนชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตอนในซึ่งเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา พบการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มุ่งหมายเพื่อขายผลผลิตแก่โรงงานอุตสาหกรรม อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและการประกอบอาชีพในครัวเรือน เช่น การทำพืชไร่ พืชสวน
นอกจากนี้ชุมชนมีการสั่งสมภูมิปัญญาการทำเกษตรกรรม ภูมิปัญญาเครื่องจักรสาน ภูมิปัญญาด้านการแพทย์ ภูมิปัญญาครูหมอโนรา นอกจากนี้มีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการประกอบอาชีพของชุมชนบ้านควนมองและชุมชนโดยรอบ จึงมีการปรับตัวและปรับลักษณะทางกายภาพให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตก่อเกิดเป็นนิเวศวัฒนธรรมและทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน ดังปฏิทินชุมชนตามรูปภาพประกอบ
1. นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี พ.ศ. 2557
นายณรงค์จันทร์พุ่ม เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ที่บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 7 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง บิดาชื่อ นายหมุน จันทร์พุ่ม มารดาชื่อนางดำ จันทร์พุ่ม สมรสกับนางมาลี จันทร์พุ่ม (สกุลเดิม กันตังกุล) มีธิดา 1 คน จบการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาตรีทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ จากวิทยาลัยการศึกษาบางแสน หรือมหาวิทยาลัยบูรพา ปี พ.ศ. 2516
ด้วยความชอบด้านศิลปะการแสดงด้านหนังตะลุงจึงเรียนรู้ด้วยวิธีการครูพักลักจำ รวมถึงการสอบถามจากผู้รู้เพื่อฝึกฝนให้มีความชำนาญ หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม กรุงเทพมหานคร จากนั้น ปี พ.ศ. 2520 มาย้ายมาปฏิบัติราชการที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง ช่วงมาสอนที่จังหวัดตรัง กระทรวงสาธารณสุขกำลังมีการรณรงค์ด้านการวางแผนครอบครัว ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมอบหมายให้อาจารย์ณรงค์ เป็นวิทยากรการอบรมโดยใช้หนังตะลุงเป็นสื่อในการรณรงค์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและได้ทำการแสดงหนังตะลุงเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับการทำหมันชาย ถึง 55 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน
ชื่อเสียงหนังตะลุงของอาจารย์ณรงค์ จึงได้รับการกล่าวขานทั่วจังหวัดตรังและภาคใต้ กระทั่งปี พ.ศ. 2531 มาช่วยราชการที่จังหวัดตรัง ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของจังหวัด ชื่อที่ใช้แสดง คือ คณะหนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต
อาจารย์ณรงค์ แสดงหนังตะลุงมาโดยตลอดและรับการเกียรติคุณจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษร์ธานี และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติด้านการแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง) ปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันสุขภาพไม่อำนวยจึงไม่ได้การแสดงหนังตะลุง แต่ยังเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะพื้นบ้านและสอนเยาวชนที่มีความสนใจเรียนรู้ด้านการรำมโนราห์ และหนังตะลุง
ทุนทางกายภาพ
ชุมชนบ้านควนมองมีลักษณะทางธรณีเป็นพื้นที่ที่เกิดจากตะกอนที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง พรุ ป่าชายเลน และชะวากทะเลดินตะกอนทับถมบริเวณปากแม่น้ำ (กรมทรัพยากรธรณี, 2550, น.15) ฉะนั้นลักษณะทางธรณีของพื้นที่จึงมีความสัมพันธ์กับทรัพยากร ป่าชายเลนที่กระจายบริเวณแนวชายฝั่งด้านตะวันตกของชุมชนบ้านควนมอง ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งของชุมชน เพราะป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ พื้นที่บริเวณนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำนำรายได้มาสู่ชุมชน นอกจากนี้ป่าชายเลนยังทำหน้าที่ในการดูดซับความรุนแรงของคลื่นที่ปะทะแนวชายฝั่ง ดังกรณีเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ปี พ.ศ. 2547 ชุมชนบ้านควนมองไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของคลื่น เนื่องจากแนว ป่าชายเลนลดความรุนแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาของชุมชนบ้านควนมอง แสดงถึงนิเวศวัฒนธรรมของชุมชน กล่าวคือเป็นการปรับตัวเพื่อเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมท่ามกลางบริบททางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ภูมิปัญญาของชุมชนบ้านควนมองจึงมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพประมงพื้นบ้าน เครื่องมือการประกอบอาชีพประมง และภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้าน
ทุนมนุษย์
- นายสุวรรณ สุเหร็น ปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับหมอบ่าวสาว
- นายสุรัญ บุญพรหม ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรอินทรีย์
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตลุง) ปี พ.ศ. 2557
ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดตรัง
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในหมู่บ้านควนมอง ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง รวมถึงกลุ่มก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลต่อครอบครัวของผู้สูงอายุและชุมชน มีแนวโน้มจะนำไปสู่ “ช่องว่างความสัมพันธ์” ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและชุมชน
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณ ยอดเขาจุปะ ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากปากแม่น้ำตรัง ใช้เป็นสถานที่ในการเฝ้าระวังกองทัพทหารญี่ปุ่นที่เข้ามายังปากแม่น้ำตรัง
กรมทรัพยากรธรณี. (2550). การจําแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ.
ดรุณี แก้วม่วง. (2525). ฐานะและความสำคัญของเมืองตรัง พ.ศ. 2352 – 2440. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธำรงค์ บริเวธานันท์ (2565). โครงการการสำรวจเก็บข้อมูลชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านทุนวัฒนธรรม กรณีชุมชนภาคใต้ (ชุมชนบ้านควนมอง ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ) : รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
วรรณา นาวิกมูล, เสาวณิต วิงวอน, กุลวดี มกราภิรมย์, อิราวดี ไตลังคะ และ วัชราภรณ์ อาจหาญ. (2547). ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดตรัง: รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดี.