Advance search

ชุมชนบ้านโกกโก่ ตั้งอยู่ในหมู่ 4 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เกิดขึ้นจากการรวมตัวจัดตั้งหมู่บ้านหลากหลายกลุ่ม เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรมที่มีมาแต่บรรพบุรุษไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น มีภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่ดินมีอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเพาะปลูก มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เพียงพอต่อการใช้อุปโภค บริโภคของชาวบ้านในชุมชน

หมู่ที่ 4
โกกโก่
แม่กาษา
แม่สอด
ตาก
อบต.แม่กาษา โทร. 08 1379 1093
ญาณิศา ลาภลิขิต
3 มี.ค. 2025
ปัญญา ไวยบุญญา
15 ก.ค. 2025
วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
27 มี.ค. 2025
โกกโก่

โกกโก่ มีที่มาจากต้นจามจุรีในภาษาเมียนมาที่เรียกว่า "โกะโก" ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พบในหมู่บ้านและบริเวณลำน้ำแม่ละเมา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านโกกโก่ ตั้งอยู่ในหมู่ 4 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เกิดขึ้นจากการรวมตัวจัดตั้งหมู่บ้านหลากหลายกลุ่ม เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรมที่มีมาแต่บรรพบุรุษไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น มีภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่ดินมีอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเพาะปลูก มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เพียงพอต่อการใช้อุปโภค บริโภคของชาวบ้านในชุมชน

โกกโก่
หมู่ที่ 4
แม่กาษา
แม่สอด
ตาก
63110
16.924453055295547
98.62875596342563
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา

ประวัติการก่อตั้งและการย้ายถิ่นของชุมชนบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ชุมชนบ้านโกกโก่มีประวัติการก่อตั้งยาวนานถึง 87 ปี (พ.ศ. 2476-2563) ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแม่น้ำ ป่าไม้ แหล่งที่ดินทำกินต่าง ๆ หลังจากการก่อตั้งหมู่บ้านโกกโก่ ชุมชนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในด้านต่าง ๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมากขึ้นในสังคม ชุมชนบ้านโกกโก่ อดีตชื่อบ้านหนองเขียด เป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง หรือคนสมัยก่อนเรียกว่า ชาวยาง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ประมาณ 25 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภคได้ตลอดทั้งปี ที่ดินเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ปลูกพืชผัก ทำไร่ ทำนาได้ผลผลิตดี จากนั้นเริ่มมีการอพยพเข้ามาในชุมชน เป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือ (จังหวัดลำปาง) จำนวน 4 ครัวเรือน เนื่องจากภูมิลำเนาเดิมที่ดินทำกินไม่ดี แห้งแล้ง ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ อาหาร สิ่งดำรงชีพต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ จึงพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านโกกโก่ จากนั้นก็มีกลุ่มผู้อพยพย้ายเข้ามาในชุมชนเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน ทุ่งกระจ่อ (ลำปาง) เถิน (ลำปาง) บ้านปากก่อง เมื่อประชากรในพื้นที่มากขึ้นได้มีการจับกลุ่มทำเกษตรกรรม ปลูกพริก มะเขือ อ้อย โดยขอแบ่งพื้นที่ทำกิน กับชาวปกาเกอะญอ

พ.ศ. 2476 ทำการตั้งชื่อว่าหมู่บ้านโกกโก่ เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือนายผัด ยะหัวฝาย รวมกลุ่มทำการเกษตร เพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ ทำนาข้าว รวมทั้งเข้าป่า เก็บของป่า อาหารป่ามาบริโภค และนำออกมาขายให้ชุมชนใกล้เคียง พ.ศ. 2500 นายปัน มุ่ยจันตา อดีตผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2507 ที่มีประกาศพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปหาของป่าได้ จึงปลูกข้าวและอ้อยเป็นหลัก เริ่มให้ชาวบ้านนำน้ำอ้อยที่ได้มาแลกที่ดิน เสาบ้าน เสาเรือน พื้นที่ทำการเกษตรกับชาวกะเหรี่ยง โดยแลกน้ำอ้อย 2 ถุงต่อที่ดินสร้างบ้านเรือน 1 หลังและทำการจดสิทธิบัตรถือครองโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2524 นายอ้าย คำพลอยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 เป็นช่วงเวลาที่มีผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนมากเป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือ และกลุ่มคนพื้นที่ใกล้เคียง มีการขยายพื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางการเกษตรกรออกไปตั้งแต่ภายในหมู่บ้าน จนถึงเขตติดต่อกับแม่จะเราซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียง ผู้ใหญ่บ้านอ้ายได้นำถั่วเหลืองเข้ามาให้ชาวบ้านเพาะปลูกแล้วนำไปขายนอกหมู่บ้าน

พ.ศ. 2528 นายแก้ว ยะหัวฝาย ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน มีการขยายหมู่บ้านและพื้นที่ทำกิน เนื่องจากมีอพยพเข้ามาภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำแปลงเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้มีขอบเขตหมู่บ้านที่ชัดเจนจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่บ้านสีใจ เกี้ยววงศ์ ได้ดูแลพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ การพัฒนาที่สำคัญของชุมชนบ้านโกกโก่นั้นคือโครงการเขื่อนทดน้ำโกกโก่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาจังหวัดตาก (กพจ.ตาก) กล่าวถึงการพัฒนาลุ่มน้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำกินใช้และน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรของราษฎรในเขตจังหวัดตาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้สร้างโครงการชลประทานขนาดกลางใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา จำนวน 6 โครงการ

พ.ศ. 2536 นายแก้ว ยะหัวฝายดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านอีกครั้ง มีการติดตามการประชุมการดำเนินแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในระยะยาว ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดตาก รวมถึงในชุมชนบ้านโกกโก่ด้วย พ.ศ. 2542 นายทอง มุ่ยจันตา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมกับภาครัฐบาลและภาคเอกชนมีมติให้จังหวัดขอรับการสนับสนุนมายังกรมชลประทานให้พิจารณาจัดแผนศึกษาและวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางชุมชนบ้านโกกโก่ ดำเนินการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2545 ภายใต้ชื่อโครงการเขื่อนทดน้ำโกกโก่ นายนิคม มะโนใจผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ขึ้นรับตำแหน่งและดูแลพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาทางด้านการทำเกษตรกรรม พื้นที่ทำไร่ทำนาของชาวบ้าน จัดการพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์และร่วมกันดูแลรักษา การทำปศุสัตว์ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

ปัจจัยย้ายถิ่นฐานของชุมชนบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ปัจจัยการย้ายถิ่นฐาน ของบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้แก่ 1.โอกาสใชเชิงเศรษฐกิจและระดับการครองชีพต่ำ 2.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในชนบท 3.การเพิ่มขึ้นของประชากร 4.การลดลงหรือการหมดไปของทรัพยากรตามธรรมชาติ 5.สภาพดินฟ้าอากาศ 6.ความต้องการทางสังคมของบุคคล 7.ความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินและร่างกาย 8.ความจำเป็นต้องติดตามผู้อื่นไป 9.ประเพณีบังคับ และปัจจัยดึง ได้แก่ การที่เมืองมีระดับความเจริญสูง เป็นศูนย์กลางการเมืองยุทธศาสตร์การศึกษาเศรษฐกิจและสังคมข่าวสารจากญาติมิตร หรือผู้ที่ชาวชนบทไว้วางใจเมืองมีบริการสังคมที่ดีกว่า มีโอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ดีกว่า

ชุมชนบ้านโกกโก่เดิมเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ ในปี พ.ศ. 2476 ชาวไทยภาคเหนือ (ลำปาง เถิน ทุ่งกระจ่อ ลำพูน) มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่ เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัจจัยหลักซึ่งในพื้นที่ภูมิลำเนาเดิมมีความแห้งแล้งมาก ไม่สามารถทำการเกษตรหรือทำกินอื่น ๆ ในพื้นที่ได้ และในพื้นที่จังหวัดลำปางมีลักษณะภูมิประเทศที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ จึงมีการเพิ่มจำนวนประชากรขึ้น เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งฝั่งยุโรปและชาวจีน เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจของจังหวัดลำปางเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวยุโรปที่เข้ามาประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้ และพ่อค้าชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเข้ามามีบทบาททางการค้าของลำปาง เช่น การค้าข้าว โรงสี กิจการไฟฟ้าต่าง ๆ ทำให้ชาวจีนมีอิทธิพลมากในพื้นที่จังหวัดลำปาง ชาวลำปางจึงมีพื้นที่ในการค้าขายลดลง พื้นที่ทางเกษตรต่าง ๆ และผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้จำเป็นจะต้องพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ใหม่ที่มีพื้นที่ทำกินเพียงพอต่อความต้องการของพวกพ้อง เมื่อมีชาวไทยย้ายถิ่นฐานเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่เดิมนั้นต้องมีการย้ายถิ่นฐานออกไปเนื่องจากลักษณะนิสัยของชาวกะเหรี่ยงที่มีความสันโดษ ไม่ชอบการอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่น ๆ และต้องการหาพื้นที่ทำกินใหม่ จึงรับและน้ำอ้อยจากชาวไทยที่ย้ายเข้ามาแลกกับที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และที่ทำกินทางเกษตรจากนั้นย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทำให้ชุมชนบ้านโกกโก่เป็นชุมชนบ้านโกกโก่เป็นชุมชนบ้านโกกโก่เป็นชุมชนชาวไทยภาคเหนือที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ถาวร

ในปี พ.ศ. 2516 พื้นที่อำเภอแม่สอดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และทำการเกษตรได้ดี มีผลผลิตดีในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่เกิดความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาล และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศจนนำไปสู่สงครามและกดดันทางเศรษฐกิจรวมถึงการทำการเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศประเมียนมา ทำให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ต้องอพยพหนีสงครามและความอดยากเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งรวมถึงการย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านโกกโก่ชั่วคราวเพื่อประกอบอาชีพค้าขายและเป็นแรงงานในอุตสาหกรรม ไร่สวนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่องปี พ.ศ. 2536 ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด บวกกับในช่วงเวลานั้นชุมชนเติบโตขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการอุปโภค บริโภคนั้นมากขึ้นตามไปด้วย รายได้จากการทำ เกษตรกรรมไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของครัวเรือน รวมถึงหลายครอบครัวมีปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้กระแสนิยมที่ผู้คนหันไปสนใจเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะมีรายได้ต่อเดือนที่มั่นคงกว่า สามารถยกระดับฐานะครอบครัวและตอบสนองความต้องการของรายจ่ายได้มากกว่าการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตและค่าตอบแทนไม่คงที่ การย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในชุมชนเมืองหรือพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรมจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับชาวบ้าน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในขั้นตกต่ำ ค่าเงินบาทลดตัวลง การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียชะงักตัวลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคเอกชนโดยตรง หลายแห่งพากันปิดตัว หรือมีนโยบายลดจำนวนพนักงาน แรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในโรงงาน ทำให้มีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมากย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาเดิมเนื่องจากสู้กับการดำรงชีวิตชุมชนเมืองในสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ไม่ไหว

ปี พ.ศ. 2556 การย้ายถิ่นภายในชุมชนบ้านโกกโก่นั้นไม่มีข้อมูลเด่นชัดมากนั้น ปัจจัยผลักที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานในช่วงเวลานี้นั้น ประกอบด้วย การเข้าไปศึกษาต่อในชุมชนเมือง ย้ายออกตามคู่สมรสหรือครอบครัว ย้ายออกเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยและชุมชนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจภาคเอกชนกลับมามีบทบาทอีกครั้งประชาชนบางส่วนจึงย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในชุมชนเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานนี้มีทั้งผู้ที่ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว และผู้ย้ายถิ่นฐานถาวร เช่นเดียวกับผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ย้ายเข้ามาภายในชุมชนในช่วงเวลานี้เป็นผู้ที่ย้ายเข้ามาเนื่องจากมีคู่สมรสหรือครอบครัวอาศัยอยู่ในชุมชน

ปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยเกิดวิกฤตจากการระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มาสามารถติดต่อได้ง่ายจากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูกหรือปาก เมื่อผู้ป่วยไอ จามหรือพูด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้คนทุกภาคส่วนโดยตรง เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่าง เพื่อลดการติดเชื้อ COVID-19 ทั้งการสั่งปิดกิจการต่าง ๆ ทั้งสถานบันเทิง โรงแรม พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work from home ร้านอาหารเปลี่ยนรูปแบบเป็นการซื้อกลับบ้านเพียงอย่างเดียว รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น ทำให้ประชาชนขาดรายได้ ธุรกิจต่าง ๆ ขาดทุนเกิดปัญหาการยกเลิกการจ้างงานและปิดตัวลง ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานกับภูมิลำเนาเดิม เนื่องจากไม่สามารถหารายได้ในชุมชนเมืองได้ ชุมชนบ้านโกกโก่เองได้มีการพัฒนาทางด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสินค้า OTOP และการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในพื้นที่ชุมชนกับเขื่อนทดน้ำโกกโก่ พัฒนาด้านการเกษตรกรรมแบบผสมผสานและปศุสัตว์ เป็นปัจจัยดึงที่ทำให้ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานออกไป ย้ายกลับเข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพในชุมชนเช่นเดิม

บ้านโกกโก่ ตั้งอยู่ในตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ตำบลแม่กาษามีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับภูเขา มีแม่น้ำและลำห้วยหลายสายไหลผ่าน เหมาะสำหรับการทำการเกษตร นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น น้ำพุแม่กาษา น้ำตก และ ถ้ำต่าง ๆ และในบริเวณบ้านโกกโก่ มีโครงการเขื่อนทดน้ำโกกโก่ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรแก่ชุมชน โดยบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอแม่ระมาด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่ปะ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลพะวอ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

บ้านโกกโก่ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 4 บ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 454 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 237 คน ประชากรหญิง 217 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 185 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านโกกโก่ ตั้งอยู่ในบ้านโกกโก่ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นศูนย์ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอาชีพให้ชุมชน โดยมีการจัดกิจกรรมฝึกอาชีพต่าง ๆ เช่น การถักพรมอเนกประสงค์ นอกจากนี้ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านโกกโก่ ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น เช่น ไข่เค็มน้ำแร่ และกล้วยฉาบ ซึ่งผลิตโดยกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์สตรีบ้านโกกโก่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยพืชที่ปลูกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว รองลงมาได้แก่ ข้าวโพด และพืชผักสวนครัว เช่น มะเขือ ถั่วลิสง ตะไคร้ กระเจี๊ยบขาว ฟักทอง เป็นต้น โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโกกโก่ มีประสบการณ์และทักษะที่เกี่ยวกับการเกษตรมาอยู่ก่อนแล้ว โดยเกษตรกรจะมีความรู้ในการปฏิบัติตามกระบวนการพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง และการกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช่สารเคมี

ปฏิทินชุมชนวัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ กิจกรรม วิถีชีวิต

เดือน วัฒนธรรมประเพณี วัฒนธรรมการเกษตร กิจกรรมในชุมชน
มกราคม บวชพระ หักข้าวโพดหน้าแล้ง ถอนกระเทียม แข่งขันกีฬาหมู่บ้าน งานวันเด็ก
กุมภาพันธ์ ทำบุญวันมาฆบูชา ทำบุญจี่ข้าวหลาม เก็บถั่ว (แปจี) แข่งขันกีฬาผู้สูงอายุ
มีนาคม ขึ้นบ้านใหม่ - -
เมษายน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (วันสงกรานต์) - -
พฤษภาคม บวชพระ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันวิสาขบูชา แต่งงาน (เริ่ม) ปลูกข้าวโพดหน้าฝนหว่านกล้าปลูกถั่วเขียว -
มิถุนายน บวชพระ แต่งงาน (เริ่ม) ทำนา ดำนา -
กรกฎาคม ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน เข้าพรรษา ทำบุญวันอาสาฬหบูชา เลี้ยงเจ้าที่บ้าน ทำไร่ ทำนา -
สิงหาคม   พักข้าวโพด ปลูกถั่วลิสง กิจกรรมวันแม่
กันยายน กิ๋นสลากหรือกิ๋นตาน (ทำบุญหาคนตาย) พักข้าวโพด ปลูกถั่วลิสง ปลูกถั่วแป (แปจี) -
ตุลาคม ทำบุญออกพรรษา ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ปลูกข้าวโพดหน้าแล้ง ปลูกถั่วลิสง -
พฤศจิกายน เทศกาลลอยกระทง ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เกี่ยวถั่วลิสง เกี่ยวข้าว -
ธันวาคม - ปลูกกระเทียม ปลูกหอม กิจกรรมวันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ แข่งกีฬาสีโรงเรียน (ศูนย์เด็กเล็ก) วันสิ้นปี

 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

งานปอย ประเพณีวัฒนธรรมหรืองานบุญต่าง ๆ ชาวภาคเหนือเรียกว่า งานปอย คืองานฉลองหรืองานรื่นเริงงานเทศบาลที่จัดขึ้นงานที่มีชื่อว่า "ปอย" นั้นมีด้วยกัน 4 ปอย คือ 

1.ปอยหลวง (งานฉลอง) เป็นงานทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองศาสนาสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตน และครอบครัว ถือว่าได้บุญกุศลแรงมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้านด้วยเพราะเป็นงานใหญ่ การทำบุญปอยหลวงที่นิยมทำกันคือทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำบุญงานปอยหลวง อีกอย่างหนึ่งคือ การแสดงความชื่นชมยินดีร่วมกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนในท้องถิ่นโดยการจัดมหรสพสมโภชเพราะหนึ่งปีถึงจะได้มีโอกาสได้เฉลิมฉลองถาวรวัตถุต่าง ๆ ได้หรือบางแห่งอาจใช้เวลาหลายปี เพราะสิ่งปลูกสร้างบางอย่างใช้เวลาสร้างนานมาก สิ้นเปลืองเงินทองมหาศาล จะต้องรอให้สร้างเสร็จและมีเงินจึงจะจัดงานเฉลิมฉลองเป็นงานปอยหลวงขึ้นมาได้

2.ปอยน้อย (งานบวชอุปสมบท) งานบวชพระ ปัจจุบันการบวชพระในวัดโกกโก่ ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนบ้านโกกโก่ มีพิธีกรรมต่าง ๆ คล้ายคลึงกับการบวชพระของชาวภาคกลาง ซึ่งการจัดงานขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพหรือครอบครัวของผู้ที่จะเข้าพิธีอุปสมบทว่าต้องการจัดงานเล็กหรือใหญ่ โดยมีขั้นตอนพิธีในการอุปสมบทหรือบวชพระดังนี้ ครอบครัวจะต้องไปบอกกล่าวกับเจ้าอาวาสวัดที่ต้องการบวชพระ จากนั้นในอดีตมีการเตรียมตัวนาคมีการแผ่นาบุญโดยให้คนใกล้ชิด 2-3 คน นำผ้าสบงจีวรใส่พานขึ้นไปตามบ้านญาติมิตรเพื่อ บอกนาบุญ เมื่อทราบแล้วก็จะยกพานผ้าขึ้นจรดหน้าผาก พร้อมทั้งกล่าวคำอนุโมทนาสาธุ แต่ปัจจุบันบอกบุญโดยการส่งการ์ดหรือบัตรเชิญให้ญาติพี่น้อง วันก่อนที่จะทำการอุปสมบทหรือ บรรพชา 1 วันหรือคนเหนือเรียกว่า วันดาปอย ตอนเย็นก่อนบวชจะมีพิธีโกนหัวนาค นาคจะรับศีลอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์พรมน้ำมนต์และสระผมนาค ผู้โกนหัวอาจเป็นพระสงฆ์หรือพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ หลังเปลี่ยนเครื่องแต่งตังนุ่งขาวห่มขาวเรียกว่า "ลูกแก้ว" กลางคืนจัดให้พี่พิธีสงฆ์เรียกว่า "การสวดผ้า" เจ้านาคต้องมีไตรจีวร และจะมีการทำขวัญนาคด้วยในคืนนี้และแห่นาคในวันบวชวันรุ่งขึ้น แห่รอบโบสถ์ 3 รอบ เป็นการบูชาพระพุทธศาสนา เมื่อครบ 3 รอบ นาคจะจุดธูปเทียน บูชาพัทธสีมา มีการกรวดน้ำให้เจ้านาครู้จักพระรัตนตรัย หลังจากนั้นญาติจะช่วยกันอุ้มนาคเข้าอุโบสถห้ามเหยียบธรณีประตู พ่อแม่นาคส่งไตรครองให้นาค เพื่อถวายพระอุปัชฌาย์ ถวายพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) และพระอนุสาวนาจารย์ ท่านล่ะ 3 กรวย จากนั้นกล่าวคำขอบรรพชารับศีล 10 พระอุปัชฌาย์คล้องบาตรสะพาน พระคู่สวดจะประกาศว่าผู้ชื่อนั้น ๆ ได้มาขออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วตั้งคำถามเป็นข้อ ๆ เรียกว่า "ขานนาค" เมื่อขานนาคเสร็จ นาคขออุปสมบทต่อคณะสงฆ์ คณะสงฆ์กล่าว อนุศาสตร์ (ข้อควนปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติขณะที่บวช) เมื่อจบอนุศาสน์ พระบวชใหม่ถวายของบูชาพระคุณแก่คณะสงฆ์ จากนั้นรับขอถวายเครื่องไทยธรรรมจากญาติขณะเดียวกันจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดา ญาติ เป็นอันเสร็จพิธี

3.ปอยข้าวสงฆ์ (งานทำบุญอุทิศหาผู้ตาย) ได้แก่ งานกิ๋นสลากหรือกิ๋นตาน เป็นงานบุญเพื่อถวายอุทิศให้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า จะจัดขึ้นในเดือนที่ 10 ของทุกปี 1 วันก่อนวันตานก๋วยสลากจะมีการจัดเตรียมสิ่งของไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม ดอกไม้ ของใช้ มาจัดเตรียมใส่ "ก๋วย" ซึ่งเป็นตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ลักษณะคล้ายชะลอม จะรองก้นด้วยใบตองหรือกระดาษหรือในปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นถังน้ำพลาสติกหรืออะลูมิเนียม เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อโดยวันนี้จะมีญาติสนิทมิตรสหายจากต่างหมู่บ้านมาร่วมกันจัดก๋วย ก๋วยสลากมีอยู่หลากหลายแบบหลายขนาด จามแต่ความคิดสร้างสรรค์และกำลังศรัทธาของแต่ละคน แบ่งออกเป็น 2 แบบกว้าง ๆ คือ ก๋วยน้อย กับ ก๋วยใหญ่ มีก๋วยพิเศษ เช่น ก๋วยย้อมหรือสลากย้อม

4.ปอยล้อ (งานศพพระสงฆ์หรือเจ้าเมือง) ทำบุญจี่ข้าวหลาม งานบุญที่จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลต่าง ๆ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่เทพยดา มีแม่โพสพ เป็นต้น ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางหลองข้าวของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวนทำให้การกินข้าวเปลือกหมดเร็ว ก่อนมีการเอาผลผลิตนั้นมาบริโภค มีพิธีการดังนี้ ขึ้นวัดหรือขึ้นวิหาร หลังจากการนำเอาขันข้าวไปถวายพระภิกษุเพื่ออุทิศบุญกุศลแด่บรรพชนแล้ว ศรัทธาประชาชนประจำวัดจะนำเอาข้าวจี่ ข้าวหลาม อาหารอีกส่วนหนึ่งนำขึ้นไปรวมกันบนวิหาร ซึ่งจะมีพิธีกรรมต่อไปนี้

  1. นำดอกไม้ใส่พานไปใส่ขันแก้วทั้ง 3
  2. เอาข้าวใส่บาตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
  3. เอาอาหารใส่ในถาดที่เตรียมไว้
  4. เอาน้ำหยาดหรือน้ำทักขิณา ใส่รวมกันในน้ำต้นหรือคนโทของวัด สำหรับกรวดน้ำร่วมกัน
  5. ใส่ดอกไม้ในพานขอศีล เรียก "ขันขอศีล"
  6. ใส่พานดอกไม้ในพานถวายไทยทาน (ขันนำทาน)

เมื่อพระสงฆ์ขึ้นพร้อมกันบนวิหาร มัคนายกจะขอศีลกล่าวนำถวายแล้วนำอาหารบิณฑบาต ข้าวจี่ข้าวหลามถวายพระสงฆ์ขึ้นพร้อมกันบนวิหาร มัคนายกจะขอศีลกล่าวคำถวายแล้วนำอาหารบิณฑบาต ข้าวจี่ข้าวหลาม ถวายพระสงฆ์อนุโมทนา หลังจากพระสงฆ์ให้พรแล้ว ศรัทธาประชาชนจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนและขอขมาพระรัตนตรัยแล้วก็กลับบ้าน

ขึ้นบ้านใหม่ เจ้าบ้านจะต้องหาฤกษ์วันทำบุญ นิมนต์พระมาทำพิธีที่บ้านเช่นกัน เชิญอาจารย์ผู้ประกอบพิธีมาด้วย การทำพิธีกรรมส่วนใหญ่อาจารย์จะเป็นผู้จัดแจงทั้งหมดว่าต้องเริ่มจากตรงไหนยังไงพระสงฆ์ก็สวดมนต์ตามพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ อาหาร ชาวบ้านก็จะใช้ข้าวเหนียวเป็นหลักในการตักบาตรพระสงฆ์ อาหารในงานก็จะเป็นอาหารพื้นบ้านแท้ ๆ เพื่อใช้ถวายพระและเลี้ยงแขกในงาน

งานแต่งงาน พิธีการแต่งงานจะจัดที่บ้านของผู้หญิง โดยผู้ชายจะหาฤกษ์งานยามดีเพื่อจัดพิธีแต่งงาน มีพิธีการ ดังนี้

  1. พิธีขอเขย ในเช้าวันแต่งงาน ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะเดินทางไปยังบ้านฝ่ายชายพร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนเพื่อทำการขอเขย ซึ่งก็คือการพูดเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายชายให้นำตัวเจ้าบ่าวและญาติพี่น้องแห่ขันหมากมายังบ้านฝ่ายหญิงให้ทันตามฤกษ์ที่ได้ตกลงกันไว้
  2. ขบวนขันหมาก เจ้าบ่าวจะนำญาติพี่น้องพร้อมขบวนแห่บายศรีที่มีขันดอกไม้หรือขันอัญเชิญ พานใส่ขันหมากเอก พร้อมพานใส่ของกำนัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่าขันหมากรอง ที่บรรจุหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบนาก และถุงข้าวเปลือก ข้าว ถั่ว งาพานบายศรี ส่วนเพื่อน ๆ ในขบวนถือพานใส่เสื้อผ้า ถุง และดาบ เพื่อแสดงฐานะของเจ้าบ่าว เมื่อขบวนมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องจ่ายค่าผ่านประตูให้กับขบวนกั้นประตูเงินประตูทองที่ญาติเจ้าสาวเตรียมมาต้อนรับ หลังจากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้าไปมอบเงินค่าน้ำนมให้กับคุณแม่ของเจ้าสาวเพื่อถือเป็นการตอบแทนพระคุณครอบครัวที่ได้เลี้ยงดูเจ้าสาวมาเป็นอย่างดี จากนั้นจึงเข้าไปรับตัวเจ้าสาวที่รออยู่ในห้องเก็บตัว จากนั้นบ่าวสาวจะเข้าสู่พิธีแต่งงานที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญ และผูกข้อมือบ่าวสาว
  3. พิธีเรียกขวัญ เมื่อเข้าสู่บริเวณประกอบพิธี เจ้าบ่าวจะนั่งทางขวา เจ้าสาวนั่งทางซ้ายจากนั้นผู้ประกอบพิธี เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญให้กับบ่าวสาวโดยจะเอ่ยเรียกขวัญด้วยภาษาถิ่นที่มีทำนองไพเราะอ่อนหวาน มีความหมายว่าให้ทั้งคู่รักกันยืนยาวชั่วชีวิต ขณะเดียวกันก็จะแทรกด้วยการเตือนสติบ่าวสาวว่า กำลังจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากหนุ่มสาววัยรุ่นสู่ความเป็นพ่อเรือนแม่เรือนที่จะต้องครองคู่กันอย่างมีสติ จากนั้นคือ พิธีปัดเคราะห์ ซึ่งทำเพื่อเอาเคล็ดให้บ่าวสาวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัย และอุปสรรคทั้งปวง ก่อนจะให้ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าสาวผูกข้อมืออวยพรคู่บ่าวสาว ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าบ่าว ปิดท้ายด้วยญาติสนิทมิตรสหายของทั้งสองฝ่าย
  4. พิธีผูกข้อมือ การผูกข้อมือ จะใช้ฝ้ายดิบหรือฝ้ายไหมผูกที่ข้อมือของบ่าวสาว โดยเจ้าสาวผูกที่ข้อมือซ้าย เจ้าบ่าวผูกที่มือขวา ระหว่างที่ผูกข้อมือก็จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาวแล้วจึงมอบซองเงิน ให้กับคู่บ่าวสาวใส่ในขันสลุง หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้ถอดฝ้ายมงคลออกให้ จึงถือเป็นอันเสร็จพิธีบางคู่อาจทำพิธีสืบชะตาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่ ซึ่งในการประกอบพิธีจะมีเสาไม้ 3 ต้นค้ำกันไว้เพื่อสื่อว่าให้ทั้งคู่ช่วยเหลือค้ำจุนกันไปตลอดชีวิต ขณะทำพีบ่าวสาวจะนั่งอยู่ใต้เสา 3 ต้นและนำสายสิญจน์ที่ผูกเสาทั้ง 3 ต้นมาสวมบนศีรษะและรับพรจากผู้ประกอบพิธี
  5. ส่งตัวบ่าวสาว มีการมัดมือบ่าวไว้ด้วยกันโดยมัดมือขวาของเจ้าสาวติดกับมือซ้ายของเจ้าบ่าว และให้พ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือข้างที่เหลือของเจ้าสาว (มือข้างซ้าย) ส่วนญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมืออีกข้างของเจ้าบ่าว (มือข้างขวา) แล้วพาเข้าไปยังห้องหอ ซึ่งปูผ้าวางหมอนชุดใหม่พร้อมโปรยกลีบดอกไม้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว และต้องไม่ลืมนำบายศรีและขันสลุงที่ใส่เงินทองที่ผู้มาร่วมงานได้ตอนมัดมือบ่าวสาวเข้าไปวางเตรียมไว้ด้วยกันอย่างยั่งยืนนอนเป็นตัวอย่างเพื่อเอาเคล็ดก่อน จากนั้นให้โอวาทในการครองเรือน แล้วปล่อยให้อยู่กันลำพังต่อไป
  6. เลี้ยงเจ้าที่ เป็นพิธีสำคัญของชุมชนบ้านโกกโก่ ในแต่ละปีชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหาร คาวหวานไปรวมกันที่หอทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่ของชุมชน ทำพิธีเซ่นอาหาร ให้เจ้าที่เจ้าทางหมู่บ้าน และเจ้าที่ของแต่ละบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลของหมู่บ้าน และชาวบ้านในชุมชนให้เจ้าที่ปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่ดีกินดี มีสุขไม่ทุกข์ ไม่เจ็บป่วย จะจัดเป็นประจำในเดือนกรกฎาคมของทุกปี

ทอดกฐิน ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายใน 1 เดือนหลังประเพณีออกพรรษาโดยวัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย ไม่ต่ำกว่า 5 รูปและแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ 1 ครั้ง มีพิธี ดังนี้

  1. จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปนมัสการสมภารเจ้าอาวาสวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กันการที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ
  2. เตรียมการ เมื่อจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้วให้กำหนดวัดทอดกฐินให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าอาวาสวัดท่านทราบวันกำหนดการจะมีการประกาศภายในหมู่บ้านว่าจะมีการทอดกฐินให้ชาวบ้านรู้ว่าวันนี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการทอดกฐิน
  3. เมื่อกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ จามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)
  4. วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ ส่วนมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีมหรสพต่าง ๆ สนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น โดยมากมักแห่ไปตอนเช้าและเลี้ยงพระเพล การทอดกฐินจะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของผู้จัด การเลี้ยงพระ ชาวบ้านจะจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย
  5. การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐิน คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย เมื่อจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์ อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

ทอดผ้าป่า ในปัจจุบันมีการปฏิบัติเช่นเดียวกันการทอดผ้าโดยทั่วไป แต่ไม่มีการจัดเป็นประจำเนื่องจากงบประมาณ และชาวบ้านไม่สะดวกจัดงาน

ทำบุญวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา (วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันออกพรรษา) ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาชาวบ้านจะพากันเข้าวัด ในตอนเช้า ทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังเทศน์ สวดมนต์ ถวายสังฆทาน ปัจจัย อาหาร ดอกไม้ธูปเทียน งดการทำบาปต่าง ๆ ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนที่วัดโกกโก่ ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชน

รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (วันสงกรานต์) จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน ทั้งพระพุทธรูปที่วัดและพระพุทธรูปที่บ้าน ซึ่งในเบื้องต้นจะนำดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระก่อน ต่อจากนั้นจึงใช้น้ำอบไทย หรือน้ำหอมประพรมที่องค์พระพุทธรูปนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคลให้ชีวิตประสบความร่มเย็น เกิดความสุขสวัสดี ทั้งแก่ตนเอง และบุคคลในครอบครัว จากนั้นชาวบ้านก็พากันตั้งขบวน เดินไปรอบหมู่บ้านเพื่อรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ผู้อาวุโส ปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน และผู้นำชุมชนให้ท่านทั้งหลายให้พร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน

วัฒนธรรมการเกษตร พืชเกษตรที่สำคัญของชุมชนบ้านโกกโก่ ได้แก่ 1.นาข้าว 2.ข้าวโพดหน้าแล้งและหน้าฝน 3.กระเทียม 4.ถั่วเขียว 5.ถั่ว (แปจี) 6.ถั่วลิสง 7.หอม ก่อนที่จะมีการหว่านเมล็ดพันธุ์ หรือเริ่มการเพาะปลูกชาวบ้าน ชุมชนบ้านโกกโก่เจ้าของพื้นที่แปลงเกษตรนั้นจะต้องมีการทำพิธีแรกข้าว เพื่อเป็นการบูชาเทพยดา พระแม่โพสพให้ช่วยดูแลพืชผัก ไม่ให้มีแมลง ศัตรูพืชใด ๆ ได้ผลผลิตดี โดยจะต้องสร้างฐาน 4 เสาไว้มุมใดมุมหนึ่งของแปลงที่นา หรือแปลงเกษตรผู้อื่น ๆ แล้ววางข้าว อาหาร เหล้าไว้บอกกล่าวถึงเจ้าที่เจ้าทางขออนุญาตทำการเพราะปลูกและขอให้ช่วยดูแลที่ทำกินให้ได้ผลผลิตงอกงาม และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนนำมาบริโภคให้ทำพิธีข้าวขวัญอีกครั้งโดยการตัดข้าว 1 กำมือมาผูกไว้บนยุ้งข้าว ถือว่าจะมีกินมีใช้ไม่รู้จักหมด

ทุนสังคม

กิจกรรมในชุมชน

  1. แข่งขันกีฬาหมู่บ้าน เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างหมู่บ้านในตำบลแม่กาษา จัดเป็นประจำทุกปี โดยให้แต่ละหมู่บ้านส่งตัวแทนมาแข่งขันกีฬากัน เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างชุมชนให้เกิดความสามัคคีและทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน
  2. งานวันเด็ก จัดเป็นประจำทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม โดยการจัดกิจกรรมเกม การละเล่นต่าง ๆ ให้เด็กและผู้ปกครองในชุมชนได้ทำร่วมกัน
  3. กิจกรรมวันแม่ / กิจกรรมวันพ่อ เข้าวัดตักบาตรในตอนเช้า หลังจากนั้นมีการพัฒนาปรับปรุงชุมชนให้มีความสะอาด ปรับภูมิทัศน์ต่าง ๆ ให้สวยงาม ตอนเย็นมีกิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพร
  4. แข่งกีฬาสีโรงเรียน (ศูนย์เด็กเล็ก) จัดเป็นประจำทุกปีในศูนย์เด็กเล็กบ้านโกกโก่ โดยจะแบ่งกลุ่มเด็กและผู้ปกครองมาแข่งขันกีฬาพื้นบ้านกัน
  5. วันสิ้นปี จัดกิจกรรมรื่นเริงในชุมชน ให้ทุกคนในชุมชนมาร่วมแลกของขวัญกัน ทำอาหารแต่ละบ้าน นำอาหารมาร่วมรับประทานกัน

ชุมชนบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้ภาษาถิ่นคำเมือง ในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน และภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยกลางสำหรับการสื่อสารกับคนภายนอกชุมชน และใช้สำหรับการเรียน รวมทั้งการติดต่อราชการ


พบว่า กิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชนเกิดจากการปรับตัวตามสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ความรักความสามัคคีกันภายในชุมชน


มีโครงการเขื่อนทดน้ำโกกโก่ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรแก่ชุมชน


พบว่า ชุมชนบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในปัจจุบันเป็นชุมชนชาวเหนือ วัฒนธรรมในชุมชนจึงเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของชาวเหนือทั้งสิ้น โดยวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิม ได้แก่ การบวชพระ แต่งงาน งานปอย บุญจี่ข้าวหลาม กิ๋นสลากหรือกิ๋นตาน (ทำบุญหาคนตาย) ทำบุญวันสำคัญทางศาสนา (วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา) พิธีเลี้ยงเจ้าที่บ้าน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ขึ้นบ้านใหม่ รดน้ำดำผู้ใหญ่วันสงกรานต์เทศกาลลอยกระทง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในชุมชนบ้านโกกโก่นี้เกิดจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ประชากรเพิ่มมากขึ้น ภาระงานหน้าที่ของแต่ละครอบครัวมีเพิ่มมากขึ้น มีการรับวัฒนธรรมใหม่จากกระแสสังคมนิยมเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งลักษณะของการเปลี่ยนแปลงคือ ลดพิธีการบางพิธีออกไป งดการจัดงานประเพณีเป็นประจำทุกปีเป็นจัดในปีที่ชุมชนมีความสะดวกในการร่วมมือกันจัดงาน เปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องมือที่สามารถทดแทนวัสดุดั้งเดิมต่าง ๆ ได้ และวัฒนธรรมด้านการเกษตร พบว่า ชุมชนบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบอาชีพหลัก คือ อาชีพเกษตรกร ปลูกพืชผักหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม หอม ถั่วเขียว ถั่วแปจี ถั่วลิสง ซึ่งก่อนการทำการเกษตรในแต่ละปี จะมีการทำพิธีข้าวแรก เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มปลูกพืชผักแต่ละปี ซึ่งพิธีข้าวแรกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล อาจใช้อุปกรณ์บางอย่างทดแทนของดั้งเดิมในครอบครัว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สุพรรณษา จันทรไชย. (2563). การศึกษาปัจจัยการย้ายถิ่นฐานเเละวัฒนธรรมที่คงอยู่ในชุมชน โกกโก่ ตำบลเเม่กาษา อำเภอเเม่สอด จังหวัดตาก. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 

ธีรศิลป์ กันธา และ อังคณา ตาเสนา (2565). แนวทางการพัฒนาเกษตรกรเพื่อเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก. บทความวิจัย. มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2568. https://so05.tci-thaijo.org

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2568. https://www.maekasa.go.th

ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ กศน.ตำบลแม่กาษา (2565). กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์สตรี ม.4 บ้านโกกโก่ ต.แม่กาษา อ.แม่สอด จ.ตาก. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568. https://www.facebook.com

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา. (ม.ป.ป.). วัดโกกโก่. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568. https://www.maekasa.go.th

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา. (2563). ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโกกโก่ หมู่ที่ 4 หยอดวัคซีนโปลิโอ ครั้งที่ 1. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568. https://www.maekasa.go.th

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ม.ป.ป.). บ้านโกกโก่ หมู่ที่ 4 ตำบลกาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก : โครงการเขื่อนทดน้ำโกกโก่. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568. https://projects.rdpb.go.th

กรมการปกครอง. (2567). ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568. https://stat.bora.dopa.go.th

อบต.แม่กาษา โทร. 08 1379 1093