Advance search

มัสยิดบางอ้อ

มัสยิดบางอ้อนับว่าเป็นมัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น และอนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยการบูรณะอาคารมัสยิดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ. 2554

ซอยจรัญสนิทวงศ์ 86
บางอ้อ
บางพลัด
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
28 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 เม.ย. 2023
มัสยิดบางอ้อ

ชุมชนมัสยิดบางอ้อ เป็นแขกแพกลุ่มหนึ่งที่ได้มารวมตัวกันผูกแพริมตลิ่งย่านบางอ้อ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่เรือกสวนเพาะปลูกผลไม้ ซึ่งจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่า “มัสยิดบางอ้อหลังแรกเป็นเรือนไม้บนแพสำหรับใช้ประกอบพิธีละหมาด แต่เมื่อชุมชนขยายจนมีจำนวนคนมาละหมาดมากขึ้น จึงได้ยกมัสยิดเรือนแพขึ้นมาบนฝั่งและขยายต่อเติมให้กว้างขึ้น”


มัสยิดบางอ้อนับว่าเป็นมัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น และอนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยการบูรณะอาคารมัสยิดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ. 2554

ซอยจรัญสนิทวงศ์ 86
บางอ้อ
บางพลัด
กรุงเทพมหานคร
10700
มัสยิดบางอ้อ โทร. 0-2423-0480, สำนกงานเขตบางพลัด โทร. 0-2424-3777
13.794982932880716
100.51126227787276
กรุงเทพมหานคร

ตามประวัติคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่า ‘แขกแพ’ คือกลุ่มชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บนเรือนแพ ซึ่งจอดอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำและคลองในอยุธยามาแต่เดิม โดยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี (Sunni) อีกทั้งยังประกอบขึ้นจากผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวอาหรับ ชาวมลายู และชาวจาม ฯลฯ ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายหรือรับราชการเป็นขุนนาง อีกทั้งการที่พวกเขาลงหลักปักฐานในอยุธยาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการแต่งงานกับคนท้องถิ่น ผสมกลมกลืนจนเรียกได้ว่าเป็น ‘มุสลิมท้องถิ่น’ (Localized Muslim) กลุ่มหนึ่งของลุ่มน้ำภาคกลาง

เมื่อถึงคราวกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 บรรดาแขกแพเหล่านี้อพยพหนีสงครามถอนเรือนแพล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมาหาทำเลปลอดภัย บ้างเข้าไปสมทบกับชุมชนชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตลาดแก้ว - ตลาดขวัญ (จังหวัดนนทบุรี) แต่ส่วนใหญ่จะล่องแพต่อลงมาจนถึงราชธานีใหม่ที่เมืองบางกอก โดยจะไปรวมตัวกันอยู่ที่กุฎีใหญ่ (มัสยิดต้นสน) ใกล้ปากคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) เพื่อประกอบศาสนกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่แขกแพบางกลุ่มไปตั้งชุมชนบริเวณปากคลองบางกอกน้อย (มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะฮ์) หรือลงใต้ไปจนไปถึงย่านคลองสาน และย่านบางลำพูล่าง (เจริญนคร) เหล่าลูกหลานของแขกแพเหล่านี้ยังคงสืบสายสกุล และมีสายสัมพันธ์เครือญาติโยงใยตลอดสายน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อยุธยาจนถึงกรุงเทพฯ จวบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับชุมชนมัสยิดบางอ้อ แขกแพกลุ่มหนึ่งได้มารวมตัวกันผูกแพริมตลิ่งย่านบางอ้อ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่เรือกสวนเพาะปลูกผลไม้ จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่า “มัสยิดบางอ้อหลังแรกเป็นเรือนไม้บนแพสำหรับใช้ประกอบพิธีละหมาด แต่เมื่อชุมชนขยายจนมีจำนวนคนมาละหมาดมากขึ้น จึงได้ยกมัสยิดเรือนแพขึ้นมาบนฝั่งและขยายต่อเติมให้กว้างขึ้น” จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2462 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนจึงได้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นมัสยิด และร่วมกับออกทุนทรัพย์สร้างมัสยิดก่ออิฐถือปูนอย่างดงงามหลังปัจจุบันขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ชาวชุมชนมัสยิดบางอ้อยังมีประวัติด้านการประกอบอาชีพที่น่าสนใจ อย่างการได้รับสัมปทานค้าไม้ซุงจากภาคเหนือ และนำเรือไปลากซุงมาจากปากน้ำโพธิ์ นอกจากนี้ ยังมีกิจการโรงเลื่อยไม้และเรือเมล์วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ - ปากน้ำโพอีกด้วย จากภาพถ่ายทางอากาศภาพหนึ่งของปีเตอร์ วิลเลียม - ฮันต์ ในปี พ.ศ. 2489 แสดงให้เห็นแพซุงผูกรวมกันทอดยาวอยู่ด้านหน้ามัสยิดบางอ้อและอู่ซุงขนาดใหญ่เป็นหลักฐานแสดงถึงอดีตกิจการอันรุ่งเรืองและเป็นรากฐานสำคัญให้กับคนชุมชนแห่งนี้ ทว่าหากสังเกตภูมินามย่านบางอ้อ - บางพลัด ในแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ยังคงปรากฏการใช้นามสกุลของนายห้างมุสลิมค้าซุงจากชุมชนมัสยิดบางอ้อเป็นชื่อเรียก อาทิ ซอยมุขตารี ซอยโยธาสมุทร ซอยสิทธิวณิช ซอยดำรงผล และซอยมานะจิตต์ เป็นต้น

มัสยิดบางอ้อเป็นแขวงหนึ่งใน 4 แขวงของเขตบางพลัด ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี โดยทิศตะวันออกติดลำน้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือและทิศตะวันตกจรดทางรถไฟสายใต้ และทิศใต้ติดแขวงบางพลัดตามแนวคลองบางพลัด 

แต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้นานาชนิด ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนมากตามริมแม่น้ำ ซึ่งแต่ก่อนเป็นที่จอกแพซุงเป็นตลาดค้าไม้ซุง และเป็นที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นติดต่อกันไป เนื่องจากเป็นที่ลาดชายตลิ่งจึงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้น้ำนานาชนิด อาทิ ต้นอ้อ ต้นพง ต้นลำพู และหญ้าคา มีลักษณะเป็นป่าหญ้าเป็นส่วนมาก ซึ่งถิ่นนี้มี "ต้นอ้อ" มากที่สุด จึงเป็นเหตุให้แขวงนี้ชื่อว่าบางอ้อ ตามชื่อต้นอ้อ

สมัยตอนต้นรัชการที่ 5 เริ่มมีประชาชนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัย และทำสวน ในขณะที่ชาวมุสลิมเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งและทำการค้าขายตามริมแม่น้ำในเวลาเดียวกัน มุสลิมกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบางอ้อจากทิศใต้และมีที่ดินเป็นของตนเอง ตระกูลต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่

  • ตระกูลท่านหม่าน และท่านพ่วง สกุลสิทธิวณิชย์ โยธาสมุทร และมานะจิตต์
  • สกุลซาลิมี สายท่านหมุด ปากคลองพระครูด้านเหนือ
  • สกุลดำรงผล นายอาดำ และนางผล เป็นต้นสกุล
  • สกุลซอลิฮี มีนายหม่านห้าง และท่านหยา กรีมี เป็นต้นสกุล
  • สกุลมุขตารี หรือค้าสุวรรณ ท่านอิบรอฮีม - นี เป็นเจ้าของที่ดินและบ้าน
  • สกุลท่านเปลี่ยน และท่านช่วง เป็นเจ้าของที่ดินและบ้าน
  • สกุลซาลิมี สายท่านน้อยและท่านขลิบ เป็นต้นสกุลและเจ้าของที่ดินที่ใช้สร้างมัสยิดบางอ้อ
  • สกุลวรพงษ์ ท่านจะ ตวนเล็ก เป็นต้นสกุล ปัจจุบันอพยพไปแล้ว
  • สกุลอิสมาอีล มีท่านอีน เป็นต้นสกุล ปัจจุบันเป็นตระกูลกรีมี
  • สกุลศุภพานิชย์ มีท่านแปลก และท่านหมัด (เนติ์) เป็นต้นตระกูล

ตระกูลที่เพิ่มเติมและขยายตระกูลที่เพิ่มเติมและขยายถิ่นออกไปทางเหนือ ได้แก่

  • สกุลมุขตารี ท่านหมิด และท่านพัน เป็นต้นสกุล อพยพมาจากคลองเตาอิฐด้านใต้
  • สกุลนิลพานิช ท่านหมัด ท่านส่า และท่านซุฟ เป็นต้นสกุล อพยพมาจากคลองบางรัก
  • สกุลยูซูฟ ท่านหมัด และท่านหยา เป็นต้นสกุลคลองเตาอิฐ
  • สกุลเพ็ชรทองคำ ท่านหมัด และท่านเซาะ ทิมเทศ สายท่านกุหลาบ (ญ) เป็นต้นสกุล
  • บูรณะวณิชย์ สายครูอีน จากสายท่านเปลี่ยน และท่านช่วง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปฏิทินชุมชน ได้แก่ ปฏิทินประเพณี 

  • มกราคม – ธันวาคม : เป็นประเพณีเลี้ยงอาหารละหมาดซุฮรีทุกวันศุกร์ และการเรียนศาสนาอิสลาม ทุกวันอาทิตย์
  • เมษายน: เป็นช่วงการเรียนภาคฤดูร้อนทางศาสนาอิสลาม
  • พฤษภาคม: เป็นเดือนรอมฎอน ถือศีลอด
  • มิถุนายน: เป็นวันอีดิลฟิตรี วันตรุษเล็ก
  • สิงหาคม: เป็นวันอีดิลอัฎฮา วันตรุษใหญ่

กิจกรรมของชุมชนที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมอาหารของชุมชมมัสยิดบางอ้อ คือโครงการอาหารสานใจ โดยมีคุณป้าไร - อุไร มุฮำหมัด และคุณกุ้ง - ซารีนา นุ่มจำนงค์ ผู้ริเริ่ม ‘โครงการอาหารสานใจ’ เกิดจากการที่สมาชิกในชุมชนเองต้องการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมอาหารเก่าแก่ โดยหยิบเอาอาหารมาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและเยาวชน เป็นการสร้างกิจกรรมให้ผู้ใหญ่ได้เปิดใจถ่ายทอดสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชนไปสู่เด็กรุ่นใหม่ เพื่อรักษาตำรับอาหารชาวบางอ้อให้ยังคงอยู่สืบไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

อาหารชุมชนมัสยิดบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

ในอดีตชุมชนมัสยิดบางอ้อเป็นชุมชนมุสลิมที่มีความโดดเด่นด้านการทำอาหารเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่นี่มีแม่ครัวพ่อครัวที่คนในชุมชนเรียกกันว่า ช่างแกง ช่างอาหารหวาน ที่มีรสมือเป็นเอกลักษณ์เป็นผู้รับหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงผู้ที่เข้ามาร่วมงานประจำปีของอิสลามเสมอ ๆ โดยในแต่ละปี ชาวมุสลิมจะมีงานประจำปี 2 งานใหญ่ แต่ละงานจะต้องมีการหุงอาหารตลอดคืน เพื่อให้ทันเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานในตอนเช้า ซึ่งทุกครั้งจะมีชาวบ้านออกมาช่วยเหลือกัน เป็นบรรยากาศที่รื่นเริงสนุกสนาน แต่ปัจจุบันภาพกิจกรรมเหล่านั้นได้จางหายไปจากชุมชน เพราะพ่อครัวแม่ครัวผู้มีความรู้ด้านการปรุงอาหารมุสลิมเริ่มเข้าสู่วัยชราไม่มีเรี่ยวแรงออกมาทำงานตามความถนัดของตนเองอีกต่อไปแล้ว ทุกครั้งที่มีเทศกาลประจำปี ชุมชนจึงใช้วิธีการจ้างแม่ครัวจากนอกชุมชนมาทำอาหาร ทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนเหมือนในอดีต ไม่มีความอบอุ่นแบบที่พี่ป้าน้าอามารวมตัวกันทำอาหารเหมือนเก่า ส่งผลให้วัฒนธรรมการทำอาหารและการส่งต่อความรู้ด้านการปรุงอาหารมุสลิมในชุมชนมัสยิดบางอ้อกำลังจะขาดช่วงไป โครงการอาหารสานใจจึงเป็นความตั้งใจที่ชาวชุมชนมัสยิดบางอ้อร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมองค์ความรู้และเรื่องราวของชุมชนตั้งแต่อดีตผ่านเมนูอาหารจานเด่นของชุมชน เช่น หรุ่ม ข้าวมะเขือเทศ แกงกะบาบเนื้อ ข้าวอาซูลอ ฯลฯ เพื่อส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปยังคนรุ่นใหม่ในชุมชนต่อไป

1. ข้าวอาซูรอ ข้าวทิพย์ตำรับมุสลิม อาหารจานสำคัญของชุมชนจานแรกที่จะขอแนะนำ เป็น ‘ข้าวอาซูรอ’ เมนูที่ปีหนึ่งจะปรุงกันแค่ครั้งเดียว โดยปีนี้ปรุงกันเมื่อเช้าตรู่ของเสาร์ต้นกันยายน เข้าสู่ช่วงเดือนสำคัญที่พี่น้องชาวมุสลิมเรียกว่า ‘เดือนอาซูรอ’ โดยกลุ่มแกนหลักของชาวชุมชนมัสยิดบางอ้อ ได้ช่วยกันขนบรรดาเครื่องปรุงกว่า 20 ชนิดมาร่วมกันปรุงอาหารอย่างพิเศษ เริ่มจากนำสมุนไพรมารวนน้ำมันกะทิให้หอมฟุ้ง ก่อนจะตามด้วยน้ำซุปไก่สูตรลับที่เคี่ยวข้ามคืน และข้าวเหนียวแดงที่เป็นวัตถุดิบแกน พร้อมธัญพืชและพืชหัวนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น งา ลูกเดือย เผือกกวน ข้าวโพด สาคู เม็ดบัว ฯลฯ โดยมีลำดับก่อนหลัง

2. หรุ่ม ที่ชุมชนมัสยิดบางอ้อมีอาหารจานเด่นประจำชุมชนอยู่หลายเมนู ซึ่งเป็นสูตรอาหารที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นและมักจะนิยมทำรับประทานกันเป็นประจำ เช่น หรุ่ม ซึ่งเป็นภาษาอาหรับมีความหมายว่าโรมัน หมายถึงประเทศตุรกีซึ่งเคยเป็นอาณาจักรโรมันตะวันออก ชื่อนี้จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อขนมของแขกจากประเทศตุรกี ซึ่งนิยมทำไว้รับประทานเป็นอาหารว่างพร้อมกับน้ำชา

3. กุหลาบยำบู มีที่มาจากกุหลาบจามุนหรือกุหลาบยามุน (Gulab Jamun) เป็นขนมหวานของชาวอินเดียตอนใต้ มักทำรับประทานในเทศกาลงานเลี้ยงสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ฮินดู หรืออิสลาม เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิดของอินเดีย และคนในแถบชมพูทวีป รวมไปถึงหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น มอริเชียส ตรินิแดดฯ จาเมก้า ฯลฯ สำหรับชุมชนมัสยิดบางอ้อมักจะทำกุหลาบยำบูรับประทานกันในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ อาทิ เดือนรอมฎอน วันตรุษอีดิลฟิตรี วันตรุษอีดิลอัฎฮา งานบุญ และงานแต่งงาน

4. กรอกจิ้มคั่ว เมนูอาหารอิสลามเก่าแก่ที่ชาวมุสลิมที่เป็นเจ้าของที่ดินของคนในชุมชนมุสลิมในอดีตมักทำไว้รับรองเวลาที่มีแขกมาเยี่ยมบ้านในงานบุญและงานสำคัญทางศาสนา ไม่ได้ทำรับประทานกันตามบ้านทั่วไปจึงทำให้ไม่มีสูตรตกทอดต่อมายังคนรุ่นลูกรุ่นหลานในวงกว้าง ปัจจุบันกรอกจิ้มคั่วสามารถหารับประทานได้ที่ชุมชนมุสลิมบางอ้อเท่านั้น โดยคุณป้าวรรณา เล็บขาว แม่ครัวเก่าแก่จะออกมาทำกรอกจิ้มคั่วขายให้คนในชุมชนเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น

5. แกงกะบาบ กะบาบเป็นอาหารจากตะวันออกกลางที่แพร่หลายไปทั่วโลก อินเดีย เรียก ‘แทนโดรี’ แขกมลายู เรียกว่า ‘สะเต๊ะ’ ญี่ปุ่นเรียก ‘ยากิโทริ’ กรีกเรียก ‘ซูลาฟกี’ ชาวตุรกีและเปอร์เซียนำกะบาบเข้าไปเผยแพร่ในยุโรป นักนิรุกติศาสตร์บอกว่า ‘กะบาบ’ รากมาจากภาษาเซมิติก แปลว่า เผาหรือย่าง ส่วนแกงกะบาบในชุมชนมัสยิดบางอ้อเป็นการประยุกต์ขึ้นมาเป็นเนื้อบดปั้นเป็นก้อนแล้วนำมาทอด

สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมของมัสยิดบางอ้อเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะเรอเนซองส์ ผสมบาโรก โมกุล ปั้นหยา อาหรับ และเปอร์เซีย โดยมีช่างผู้ก่อสร้างเป็นคนจีน อาคารมัสยิดเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ประดับลายปูนปั้นไว้โดยรอบ โดยโครงสร้างหลักของอาคารเป็นเรอเนซองส์ที่เน้นถึงเรื่องความสมมาตรและความเป็นสัดส่วนของรูปทรงเรขาคณิต ที่หน้าบันหรือจั่วมีความหรูหราแบบศิลปะบาโรก ขณะที่หลังคามัสยิดเป็นทรงปั้นหยา ส่วนโดมสีเขียวบนหลังคาหออ้าซานได้รับอิทธิพลจากรูปดอกบัวใหญ่ตามคติฮินดูและรูปหม้อน้ำของชาวอาหรับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของศิลปะโมกุล ทางขึ้นของหออ้าซานทั้งสองข้างเป็นบันไดวนทำด้วยไม้สักมีความแข็งแรงและสวยงาม โดยอาคารมัสยิดแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนโถงด้านหน้า เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดตัวขนานไปกับแนวลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนอาคารที่ 2 เป็นส่วนที่ทำพิธีละหมาด เป็นอาคารเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ไม่ประกบติดกับส่วนโถง แต่เอียงไปตามทิศทางที่ตรงกับทิศตะวันตก ซึ่งมีความหมายว่าผู้ทำละหมาดจะหันหน้าไปในทิศทางที่มุ่งสู่มักกะฮ์ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกวรรณ อำไพ . (2565). สดจากเยาวชน - สานสายใยแห่งขนม ชมมัสยิด@บางอ้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6893557.

ภัทร ด่านอุตรา. (ม.ป.ป.). ชมสถาปัตยฯ มุสลิมสยาม ชิมอาหารสานใจใน ชุมชนมัสยิดบางอ้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/bang-aor-community.

สุนิติ จุฑามาส. (2565). มัสยิดบางอ้อ พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://readthecloud.co/bang-o-mosque.

สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). มัสยิดบางอ้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://www.cicot.or.th/th/mosque/detail/231/2/มัสยิดบางอ้อ.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). มัสยิดบางอ้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/MatsayitBangO.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). อาหารสานใจ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/exhibition/24communities/bang-o/.