Advance search

ตลาดชุมแสง

ตลาดร้อยปี ชุมแสงเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีเอกลักษณ์โดดเด่นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอาหารการกิน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดแห่งนี้เป็น สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์

ชุมแสง
ชุมแสง
นครสวรรค์
ทม.ชุมแสง โทร. 0 5628 2159
ฤชุอร เกษรมาลา
29 มี.ค. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
31 มี.ค. 2025
ตลาดร้อยปีชุมแสง
ตลาดชุมแสง

คำว่า "ชุมแสง" มีข้อสันนิษฐานถึงที่มาอยู่ 2 ประการ

ประการแรก มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ต้นชุมแสง" มีลักษณะคล้ายกับต้นแจง สมัยก่อนมีขึ้นอยู่ทั่วไป ใช้ทำยารักษาโรคพรายเลือดลมสตรี ผลของต้นชุมแสงชาวบ้านจะเก็บไปใช้เป็นลูกกระสุนสำหรับธนู ต้นชุมแสงจึงเป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น และเป็นชื่อของชุมชนในพื้นที่นี้ต่อไป

ประการที่สองมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บันทึกว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำกองทัพออกทำการปราบก๊กต่าง ๆ ได้ตั้งค่ายสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์หรือคลังแสงสำหรับปราบก๊กเจ้าเมืองพิษณุโลกในบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณที่ตั้งค่ายแห่งนั้นว่า "คลังแสง" และต่อ ๆ มาได้เรียกเพี้ยนเป็น "ชุมแสง" 


ตลาดร้อยปี ชุมแสงเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีเอกลักษณ์โดดเด่นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอาหารการกิน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดแห่งนี้เป็น สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์

ชุมแสง
ชุมแสง
นครสวรรค์
60120
15.895897
100.308615
เทศบาลเมืองชุมแสง

ตลาดร้อยปีชุมแสง เป็นตลาดเก่าแก่ของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ในตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร คำว่า "ชุมแสง" มีที่มาจากข้อสันนิษฐาน 2 ข้อ คือ ข้อแรกมาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า 'ต้นชุมแสง" มีลักษณะคล้ายกับต้นแจง สมัยก่อนมีขึ้นอยู่ทั่วไปใบคล้ายใบมะปราง เขียวชะอุ่มตลอดปี โบราณใช้ทำยารักษาโรคพรายเลือดลมสตรี ผลของต้นชุมแสงชาวบ้านจะเก็บไปใช้เป็นลูกกระสุนสำหรับธนู ต้นชุมแสงจึงเป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นชื่อชุมชน ส่วนข้อที่สองมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บันทึกว่า สมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำกองทัพออกทำการปราบกักต่าง ๆ ได้ตั้งค่ายและเป็นที่สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์หรือคลังแสง สำหรับปราบกักเจ้าเมืองพิษณุโลก ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณที่ตั้งค่ายแห่งนั้นว่า "คลังแสง"และต่อ ๆ มาได้เรียกเพี้ยนเป็น "ชุมแสง"

ตลาดแห่งนี้แสดงถึงวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังคงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ยังคงแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายความเก่าแก่เอาไว้อย่างลงตัว และยังมีสะพานหิรัญนฤมิตหรือสะพานแขวนสะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้ผู้คนจากสองฟากฝั่งแม่น้ำน่านสัญจร ข้ามไป-มา โดยห้ามรถยนต์ 4 ล้อวิ่งผ่าน อนุญาตเฉพาะจักรยาน มอเตอร์ไซค์ และเดินเท้าเท่านั้น

ตลาดร้อยปีชุมแสง มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขาย เพราะมีการคมนาคมที่สะดวก โดยมีแม่น้ำน่านเป็นทางสัญจรหลักมาแต่อดีต อีกทั้งยังมีสถานีรถไฟสายเหนือ คือ สถานีชุมแสง ที่มุ่งสู่เชียงใหม่วิ่งผ่านมาตั้งแต่ปี 2450 สถานที่แห่งนี้จึงเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญในการขนถ่ายสินค้าระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง และมีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินค้าขายเป็นจำนวนมาก สินค้าหลักที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ตลาดแห่งนี้ก็คือ "ข้าว" โดยพ่อค้าและเกษตรกรจากทั้งอำเภอหนองบัวอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และจากจังหวัดใกล้เคียง จะนำข้าวเปลือกมาขายที่ตลาดเก่าร้อยปีชุมแสง และที่ตลาดเก่าร้อยปีชุมแสงนี้มีโรงสีข้าวเก่าถึง 6 โรง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ว่ากันว่าเรือบรรทุกข้าวมานั้นจอดเรียงรายเต็มลำน้ำน่านคึกคักเป็นอย่างมาก ยังไม่รวมเกวียนบรรทุกข้าวอีกนับร้อยเล่มที่มาจอดเรียงรายเมื่อพ่อค้ามาซื้อขายข้าวแล้วก็ต้องแวะพักค้างคืน อีกทั้งต้องซื้อของกินของใช้บรรทุกเกวียนหรือเรือกลับบ้าน ทำให้ในตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นย่านเศรษฐกิจตลาดที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก แต่ชุมแสงเป็นเหมือนชุมชนทางน้ำอีกหลาย ๆ แห่ง คือ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นมีถนนตัดผ่านเข้ามา ทำให้การสัญจรทางน้ำและทางรถไฟลดความสำคัญลง ส่งผลให้ปัจจุบันวิถีริมน้ำ ชุมชนการค้า และตลาดเก่าร้อยปีชุมแสงค่อย ๆ ลดความคึกคักลง แต่ก็ไม่ถึงกับเงียบเหงาซบเซา เพราะภายในตลาดร้อยปีชุมแสง ยังพบบรรยากาศการค้าขายที่คึกคักเช่นเดียวกันกับ "สถานีรถไฟชุมแสง" ที่อยู่ไม่ไกลจากตลาดนั้นก็เป็นอีกหนึ่งมุมย้อนยุคในชุมแสงที่ยังคงดูดีมีชีวิตชีวา

ตลาดเก่าร้อยปีชุมแสง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอชุมแสง อยู่บริเวณด้านตะวันออกของจังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 ซึ่งเป็นทางหลักเชื่อมระหว่างตัวจังหวัดนครสวรรค์ถึงอำเภอชุมแสง โดยมีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองจระเข้เผือก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทางรถไฟ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองระนง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำน่าน 

สภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันของตลาดร้อยปีชุมแสง เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน สภาพโดยรวมของตลาดจะคล้ายกันกับตลาดเก่าแทบทุกจังหวัดที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ใกล้สถานีตำรวจ ย่านการค้าชุมแสงในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาคารไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี มีทั้งส่วนอาคารตลาดเก่าที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมบ้างตามกาลเวลา และบางอาคารมีการถูกปรับปรุงบ้างในบางส่วน แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของความเก่าแก่คลาสสิกไว้ ลักษณะภายในตลาดเป็นตรอกซอกซอยที่สามารถเดินมาบรรจบกันที่สถานีรถไฟชุมแสงได้ ในส่วนของชุมชนค้าขาย ตลาดปัจจุบันก็เต็มไปด้วยเสน่ห์ของบรรยากาศย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนไม้ที่หลาย ๆ หลังมีประตูแบบโบราณชนิดที่คนเมืองหรือคนรุ่นใหม่ไม่ทันเห็น ตามตรอกซอยตลาดเก่าก็จะมีพ่อค้า แม่ค้า หรือร้านค้าตามบ้านที่ขายวางสินค้าอันหลากหลายประเภทที่เป็นสินค้าโชห่วยมีชีวิตมีการขายสินค้าอยู่ และที่ตลาดแห่งนี้ยังมีของกินทั้งอาหารคาวและหวานมากมายในซอกมุมเล็ก ๆ เน้นการค้าขายแบบเรียบง่ายและพอเพียง

การคมนาคม

ตลาดเก่าร้อยปีชุมแสง ใช้การสัญจรทางบกเป็นหลัก ได้แก่ 

1.ทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ มีสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอชุมแสงด้วยกัน 3 สถานี คือ สถานีคลองปลากดสถานีทับกฤช และสถานีชุมแสง 

2.ทางรถยนต์ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 เป็นทางหลัก และ

3.ทางเรือ ตามแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ประชาชนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านจะใช้เรือสัญจรไปมาหาสู่กันตามวิถีแบบดั้งเดิม

ประชากรในชุมชนตลาดร้อยปีชุมแสงส่วนมากเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีการสืบทอดวัฒนธรรมและการค้าขายมาตั้งแต่อดีต หลายครอบครัวดำเนินธุรกิจร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขายของชำ และร้านอาหารแบบดั้งเดิมที่เปิดมาหลายชั่วอายุคน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ย้ายออกจากชุมชนไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร และนครสวรรค์ ทำให้สัดส่วนของผู้สูงอายุในพื้นที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าจำนวนประชากรในชุมชนจะลดลง แต่การพัฒนาโครงการฟื้นฟูตลาดเก่าและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ช่วยกระตุ้นให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่บางส่วนเริ่มกลับมาเพื่อฟื้นฟูกิจการครอบครัว รวมถึงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสินค้าพื้นเมืองให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

ตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย นอกจากนี้ยังมีการทำการการเกษตร และการให้บริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละอาชีพมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวชุมแสง และเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน แตกต่างกัน

1.การค้าขายในตลาดเก่า

ตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ มีสินค้ามากมายหลากหลายประเภทวางจำหน่าย โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมืองที่สะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่ ร้านค้าในตลาดจำหน่ายสินค้านานาชนิด เช่น ขนมไทยโบราณ อาหารพื้นเมือง ของแห้ง และสินค้าหัตถกรรม ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น  

นอกจากนี้ ร้านค้าหลายร้านยังคงรักษาสถาปัตยกรรมและบรรยากาศของตลาดเก่าไว้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม ส่งผลให้ตลาดร้อยปีชุมแสงไม่เพียงแต่เป็นแหล่งจับจ่ายของชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย  

2.การเกษตรและการประมง

แม้ว่าการค้าขายจะเป็นอาชีพหลักของประชาชนในตลาดร้อยปีชุมแสง แต่ทั้งนี้ บางส่วนยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง โดยอาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร เช่น การปลูกข้าว พืชผักสวนครัว และผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชน รวมถึงมีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในตลาดท้องถิ่น การจับปลา การเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญสำหรับร้านอาหารในตลาด  

3.การให้บริการด้านการท่องเที่ยว

จากการฟื้นฟูตลาดเก่าและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้ประชากรในพื้นที่เริ่มหันมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมตลาดเก่าชุมแสง ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ ร้านอาหารพื้นเมืองและร้านกาแฟแบบย้อนยุคได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศของตลาดเก่า มีการขายของที่ระลึก สินค้าหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์พื้นเมือง เช่น ขนมไทยโบราณ เครื่องจักสาน และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว  

อาชีพของประชาชนในตลาดร้อยปีชุมแสงสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตดั้งเดิมและการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ การค้าขายยังคงเป็นหัวใจสำคัญของชุมชน ขณะที่การเกษตรและการประมงยังคงมีบทบาทในการสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนมาเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ตลาดร้อยปีชุมแสงจึงเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างลงตัว

ตลาดร้อยปีชุมแสง เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาพุทธ โดยยังคงรักษาวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ยังคงความเป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตนเอง ส่งผลให้ตลาดเก่าชุมแสงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และเป็นศูนย์กลางของประเพณีสำคัญที่สืบทอดต่อกันมา หนึ่งในประเพณีที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน คือ ประเพณีงานประจำปีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ชุมแสง ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความศรัทธาของชาวชุมชนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่  

1.งานวันคล้ายวันเกิดของเจ้าพ่อ เจ้าแม่ชุมแสง จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี  

2.งานประจำปี จัดขึ้นในเดือนธันวาคม โดยเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ของชุมชน  

ภายในงานมีการจัดมหรสพสมโภช รวมถึงพิธีอัญเชิญเจ้าพ่อ เจ้าแม่แห่รอบตลาดร้อยปีชุมแสง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนและผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งประเพณีดังกล่าวมีมาเป็นเวลากว่า 100 ปี และยังคงได้รับความศรัทธาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนนับพันคน ทำให้ประเพณีดังกล่าวกลายเป็น เทศกาลท่องเที่ยวประจำปีของอำเภอชุมแสงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาจากทั่วสารทิศให้เดินทางมาร่วมงาน  

ความศรัทธาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน

ตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นชุมชนที่มีความเชื่อและความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอย่างยาวนาน โดยมีศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง เป็นศูนย์กลางแห่งความเคารพนับถือของชาวบ้าน ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในพื้นที่ และมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ซึ่งเป็นที่พึ่งทางจิตใจของผู้คนในชุมชน  

ตลาดเก่าร้อยชุมแสง เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ประเพณีงานประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ และกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอชุมแสง นอกจากนี้ ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงยังเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชุมชนที่มีเรื่องราวและตำนานที่ถูกเล่าขานมายาวนาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ตลาดเก่าชุมแสงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และเยี่ยมชม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำน่าน ใกล้สถานีรถไฟชุมแสง สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เสน่ห์ของตลาดคืออาคารบ้านเรือนแบบโบราณอายุกว่า 100 ปี ชาวบ้านยังคงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ยังคงแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายความเก่าเอาไว้อย่างลงตัว บริเวณชุมแสงแกลเลอรีเป็นบ้านเก่าตั้งอยู่ริมน้ำ ภายในจัดแสดงภาพถ่ายและของใช้ในอดีตที่ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมีภาพวาดแนวสตรีทอาร์ตให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพเป็นที่ระลึก 

1.ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของตลาดร้อยปีชุมแสง

อาคารเรือนไม้แบบโบราณ อาคารในตลาดร้อยปีชุมแสงส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้สองชั้น ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สักและไม้เต็ง ซึ่งมีความคงทน โครงสร้างของอาคารเป็นเรือนแถวไม้ที่มีช่องลมและหน้าต่างบานเฟี้ยม เพื่อช่วยในการระบายอากาศและลดความร้อนภายในอาคาร นอกจากนี้ อาคารบางหลังยังคงปรากฏ ป้ายชื่อร้านค้าหรือนามสกุลเจ้าของบ้านที่เขียนเป็นตัวอักษรจีน สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าในพื้นที่

ซุ้มประตูและตรอกซอยเก่าแก่ ตลาดร้อยปีชุมแสงยังคงรักษาซุ้มประตูและตรอกซอยโบราณ ซึ่งสร้างจากอิฐและไม้ มีลักษณะแคบและทอดยาว ใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารและร้านค้าต่าง ๆ ถนนภายในตลาดปูด้วยอิฐหรือซีเมนต์แบบโบราณ ซึ่งช่วยคงบรรยากาศของตลาดเก่าไว้ได้เป็นอย่างดี

2.เอกลักษณ์และคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นศูนย์กลางการค้าขายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงรักษารูปแบบอาคารดั้งเดิมไว้ได้มากกว่าตลาดเก่าในพื้นที่อื่น ๆ สถาปัตยกรรมของตลาดแห่งนี้สะท้อนถึงความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีน ซึ่งปรากฏให้เห็นในลวดลายไม้แกะสลัก ป้ายชื่อร้านค้า และโครงสร้างบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์ ปัจจุบัน อาคารเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าโบราณ ร้านขนมไทย และร้านกาแฟแบบย้อนยุค ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดเก่าและต้องการสัมผัสบรรยากาศแบบดั้งเดิม

3.การอนุรักษ์และการพัฒนา

ปัจจุบันมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมของตลาดร้อยปีชุมแสง โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น การบูรณะอาคารไม้เก่า โดยคงโครงสร้างและรูปแบบดั้งเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของตลาดเก่า การใช้ประโยชน์จากอาคารเก่า โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านเปิดร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภายในอาคารไม้โบราณ การส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การจัดตลาดย้อนยุค ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

สถาปัตยกรรมของตลาดร้อยปีชุมแสงเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอายุยาวนาน โดดเด่นด้วยเรือนไม้โบราณ ซุ้มประตูและตรอกซอยเก่า ศาลเจ้าจีน และวัดโบราณ ปัจจุบัน ชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูตลาดเก่า โดยมุ่งเน้นให้ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย


การพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันมีการเน้นไปที่การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยว การเปิดกิจกรรมและงานประเพณีต่าง ๆ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชม โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและโครงสร้าง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชุมชนตลาดร้อยปีชุมแสงได้มีการปรับปรุงและบูรณะอาคารไม้เก่าที่มีค่าโดยไม่ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิม อาคารเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นร้านค้าหรือแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เช่น ร้านขนมไทยโบราณ ร้านกาแฟ และร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน

1.ราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  

ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนกั้นแม่น้ำน่านฝั่งตลาดร้อยปีชุมแสง เป็นถนนริมเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพบ้านเรือนและบรรยากาศริมแม่น้ำน่านประดิษฐานรูปหล่อพระองค์วันที่ 5 ธันวาคม 2545 สำนักงานเทศบาลเมืองชุมแสงจะมีการจัดงานประกอบพิธีสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชในวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี (ซึ่งเป็นวันปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี) วัตถุประสงค์ของการสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณในการกอบกู้เอกราชของชาติไทย และเทิดทูนในพระราชประวัติวีรกรรมที่กล้าหาญในการรวบรวมบ้านเมือง 

2.ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ชุมแสง

ตั้งอยู่ติดกับปากคลองจระเข้เผือก สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในตลาดร้อยปีชุมแสง ตามตำนานเล่าว่ามีขอนไม้ลอยตามลำน้ำน่าน วนเวียนทวนน้ำอยู่หน้าศาล เจ้าพ่อได้ประทับฝันให้ชาวบ้านนำขอนไม้นี้ขึ้นมาแล้วนำไปแกะสลักเป็นองค์เจ้าพ่อ และเจ้าพ่อจะประทับในไม้แกะสลักนี้ เพื่อปกป้องภัยพิบัติให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และปลอดภัยตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ยังเล่าอีกว่าเจ้าพ่อมีความรักกับเจ้าแม่เกยไชย (เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์) จึงประทับทรงให้ชาวบ้านชุมแสงไปสู่ขอเจ้าแม่เกยไชย โดยเจ้าพ่อได้ยกขันหมากทางเรือไปสู่ขอและแต่งงานกับเจ้าแม่เกยไชย หลังงานแต่งชาวบ้านก็อัญเชิญเจ้าแม่เกยไชยกลับมาประทับอยู่ที่ชุมแสงกับเจ้าพ่อ และได้แกะสลักไม้เป็นองค์เจ้าแม่ขึ้นมาใหม่ คู่กับองค์เจ้าพ่อ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ชุมแสง" จนถึงปัจจุบัน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ม.ป.ป.)

3.สะพานแขวนหิรัญนฤมิต

สะพานหิรัญนฤมิตสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2552 เพื่อไว้สำหรับให้ผู้คนจากสองฝั่งแม่น้ำน่านสัญจรไปมา โดยจะห้ามรถยนต์ 4 ล้อวิ่งผ่าน เนื่องจากในอดีตก่อนที่จะมีสะพานแห่งนี้ การเดินทางข้ามฟากของชาวบ้านนั้นจะต้องเดินทางโดยเรือรับจ้าง และเมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะมีปริมาณสูงขึ้นและไหลเชี่ยว ทำให้สร้างความลำบากเป็นอย่างมาก

4.สถานีรถไฟชุมแสง

สถานีรถไฟชุมแสง มีจุดเริ่มต้นใน พ.ศ. 2434 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟขึ้น จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังสถานีบ้านพาชีเพื่อทรงเปิดทางรถไฟสายเหนือ แล้วเลยเสด็จประพาสเมืองลพบุรีและมณฑลนครสวรรค์อันเป็นที่สุดของทางรถไฟในเวลานั้น โดยในคราวนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามกุฎราชกุมาร เสด็จไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จต่อไปยังหัวเมืองมณฑลพายัพ โดยมีพระราชประสงค์จะให้ทรงรู้จักคุ้นเคยกับเจ้านายและข้าราชการ ซึ่งประจำรับราชการในหัวเมืองประเทศราชที่ห่างไกลนั้น

พ.ศ. 2458 ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-สวรรค์โลก จึงผ่านบ้านชุมแสง มีสถานีรถไฟชุมแสงตั้งอยู่บริเวณแอ่งน้ำห่างจากแม่น้ำน่าน ประมาณ 150 เมตร เมื่อทางรถไฟสร้างเสร็จ ชาวจีนที่เคยเป็นกรรมกรวางรางรถไฟ จึงตัดสินใจปักหลักตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน ด้วยอาชีพค้าขายในตลาดชุมแสง ทำให้ความเจริญไหลบ่าสู่ตลาดร้อยปีชุมแสง

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). แหล่งศิลปกรรมย่านชุมชนเก่า อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ : สะพานหิรัญนฤมิต. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). แหล่งศิลปกรรมย่านชุมชนเก่า อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ : สถานีรถไฟชุมแสง. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ตลาดเก่าร้อยปีชุมแสง. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/

คนหลงทาง. (2563). ชุมแสง ย้อนเวลาพาเที่ยวเมืองเก่า. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://www.konlongtang.com/

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. (ม.ป.ป.). ท่องเที่ยวชุมแสง. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://narathippheng.github.io/

เทศบาลเมืองชุมแสง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://www.chumsaeng.org/

รัตนา การะเกษ. (2566). แนวทางการฟื้นฟูตลาดเก่าด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาตลาดเก่า 100 ปี ชุมแสง. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

True ID. (29 มกราคม 2564). สะพานหิรัญนฤมิต ที่เที่ยวถ่ายรูป ชุมแสง นครสวรรค์ สะพานข้ามแม่น้ำน่าน สุดคลาสสิค. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://travel.trueid.net/

True ID. (14 มีนาคม 2564). ตลาดร้อยปีชุมแสง ที่เที่ยวนครสวรรค์ สัมผัสตลาดเก่า คลาสสิค วิถีริมน้ำ. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2568, จาก https://travel.trueid.net/detail/

ทม.ชุมแสง โทร. 0 5628 2159