Advance search

หนองแขม

ชุมชนหนองแขมมีวัฒนธรรมร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ควรดำรงไว้เพื่อการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนหนองแขมในอดีตที่เป็นศูนย์กลางของการค้าขายตลอดแนวริมคลองภาษีเจริญหน้าวัดหนองแขม 

หนองแขม
หนองแขม
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 เม.ย. 2023
หนองแขม

บริเวณแขวงหนองแขมในอดีตมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งมีน้ำท่วมขังตลอด (หนองน้ำ) และมีต้นแขม (หญ้าขนาดสูงชนิดหนึ่ง) ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นพง ก่อนหน้านั้นเคยมีชื่อเรียกว่า ‘หนองน้ำแดง’ แต่ถูกลืมไปแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2413 พระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน เมืองนครปฐม ได้สร้างวัดขึ้นที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่ง และตั้งชื่อวัดว่า ‘วัดหนองแขม’ ซึ่งตามลักษณะของพื้นที่ ส่วนชาวบ้านได้ขุดบ่อไว้ริมหนองเพื่ออาศัยใช้น้ำจืดและเรียกว่า ‘บ่อหนองแขม’


ชุมชนหนองแขมมีวัฒนธรรมร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ควรดำรงไว้เพื่อการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนหนองแขมในอดีตที่เป็นศูนย์กลางของการค้าขายตลอดแนวริมคลองภาษีเจริญหน้าวัดหนองแขม 

หนองแขม
หนองแขม
กรุงเทพมหานคร
10160
สำนักงานเขตหนองแขม โทร. 0-2421-0939
13.676658373460588
100.33844535958403
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนตลาดหนองแขมถือว่าเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานเคียงคู่กับวัดหนองแขมที่สร้างขึ้นโดยพระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน อำเภอสามพราน เมืองนครปฐม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 และยังเป็นชุมชนที่มีความคึกคักและหนาแน่นไปด้วยผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีศูนย์รวมจิตใจอย่างวัดหนองแขม การทำมาค้าขายอย่างริมคลองภาษีเจริญ และการตัดผ่านของถนนเพชรเกษม 

กล่าวคือ ‘ชุมชนหนองแขม’ นั้นเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาร้อยกว่าปี ตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ ซึ่งเป็นคลองประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคมนาคม ติดต่อค้าขาย เชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาจากปากคลองบางกอกใหญ่ถึงแม่น้ำนครชัยศรี รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยเริ่มขุดคลองภาษีเจริญเมื่อปี พ.ศ. 2409 และได้เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2415 ซึ่งภายหลังจากมีการขุดคลองภาษีเจริญไปได้มีราษฎรเข้ามาตั้งถิ่นฐานสองฝั่งคลองภาษีเจริญและตามคลองซอยต่าง ๆ ถือได้ว่าชุมชนหนองแขมมีพัฒนาการจากคลองภาษีเจริญที่เริ่มขุดคลองจนถึงช่วงก่อนเปิดใช้คลองภาษีเจริญ ได้ถือกำเนิด ‘ชุมชนหนองแขม’ ขึ้นแล้ว โดยมีวัดหนองแขมเป็นศูนย์รวมจิตใจ ประกอบกับชุมชนหนองแขมนับว่าเป็นชุมชนที่มีการผสมผสานของกลุ่มชนที่หลากหลายพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งคนไทยจากในหลายพื้นที่และคนไทยเชื้อสายจีนจากที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยช่วงไทยเปิดประเทศ แต่ความหลากหลายนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าได้

โดยปัจจัยที่ทำให้ชุมชนหนองแขมเจริญก้าวหน้าได้นั้นเป็นเพราะทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกข้าว และคูคลองที่ส่งน้ำให้นาข้าว เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ส่งออกสำคัญของประเทศไทยในเวลานั้น นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนหนองแขมมีการตั้ง ‘โรงสีข้าว’ หรือ ‘โรงสีไฟ’ ที่ชุมชนนี้ถึง 4 โรง ส่งผลให้เป็นชุมชนเป็นศูนย์กลางการผลิตข้าวที่ครบวงจร เป็นทั้งชาวนา หลงจู๊รับซื้อข้าว เป็นเถ้าแก่โรงสี และเป็นพ่อค้าข้าว ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนจึงมีอาชีพที่มั่นคง ดังนั้นการมีโรงสีเก็บภาษีที่หนองแขมถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น เพราะการขนส่งสินค้าสมัยก่อนใช้การขนส่งทางน้ำเป็นหลัก และคลองภาษีเจริญเป็นคลองที่ขุดขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์เพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ฉะนั้นสินค้าที่มาจากจังหวัดทางทิศตะวันตก อาทิ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จะต้องผ่านเส้นทางน้ำทั้งสิ้น และสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาล มะพร้าว ผลไม้ เป็นต้น ส่วนสินค้าจากกรุงเทพมหานครที่จะนำไปค้าขายทางสมุทรสาคร ได้แก่ น้ำมัน นม สินค้าฟุ่มเฟือย ฯลฯ รวมทั้งทรายเพื่อใช้ในการก่อสร้าง พบว่าในอดีตมีเรือโยงบรรทุกของพ่วงต่อกันถึง 8 – 10 ลำ

จากที่กล่าวข้างต้นถึงความเจริญของชุมชนหนองแขมจากการมีโรงสีเก็บภาษี และการขุดคลองภาษีเจริญ หลังจากนี้เมื่อเกิดการจัดตั้งให้ชุมชนหนองแขมมีฐานะเป็น ‘อำเภอ’ ในปี พ.ศ. 2445 ยิ่งทำให้ชุมชนหนองแขมพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการตรวจงานการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ถนนทางเดิน สถานีตำรวจ เป็นต้น ท้ายที่สุดชุมชนหนองแขมไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางการค้าที่มีสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคจำหน่ายมากมาย แต่ชุมชนหนองแขมได้ถูกจัดเป็นตลาดใหญ่ทั้งบนบกและในน้ำ โดยปกติจะมีตลาดร้านค้าริมน้ำที่ชุมชนหนองแขมข้างวัดหนองแขมทางทิศตะวันออก และตลาดเตาอิฐ เขตอำเภอกระทุ่มแบน ด้านทิศตะวันตกของวัดเป็นตลาดที่มีของขายจำนวนมากตลอดทั้งวัน รวมทั้งตลาดสดที่เป็นตลาดนัดวันเว้นวัน เปิดให้บริการที่หน้าวัดหนองแขมตั้งแต่ตีสี่จนถึงเพล ทั้งหมดที่กล่าวล้วนมีผู้คนมาจับจ่ายจากชุมชนอื่นเป็นจำนวนมาก อาทิ ศาลายา ศาลาแดง บางบอน บางแค เป็นต้น

เมื่อชุมชนหนองแขมเติบโตจนได้เป็นชุมชนใหญ่ได้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2485 ถือเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ชื่อ ‘โรงเรียนประชาบาลตำบลหนองแขมสหราษฎร์บูรณะ’ (วัดหนองแขม) และในปี พ.ศ. 2492 ได้สร้างโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมแห่งเดียวและมีชื่อเสียงมากในสมัยก่อน โดยโรงเรียนทั้งสองที่กล่าวมานั้นมีนักเรียนจากชุมชนใกล้เคียงมาเรียนเป็นจำนวนมาก อาทิ หลักห้า กระทุ่มแบน ดอนไก่ดี บางยาง เป็นต้น

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2479 – 2483 ช่วงที่สร้างถนนเพชรเกษม ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้า การเกษตร และโรงสีไฟ อีกทั้งได้มีการประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่อง ‘ยุบอำเภอหนองแขม’ ให้เป็น ‘กิ่งอำเภอ’ อยู่ในความปกครองของอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในปี พ.ศ. 2481 เนื่องจากอำเภอหนองแขมมีขนาดเล็กและปริมาณงานไม่มาก เมื่อเทียบกับอำเภอข้างเคียงเช่นอำเภอภาษีเจริญ ทำให้อำเภอหนองแขมจำต้องลดบทบาทลง และการค้าขายได้เริ่มเข้าสู่การใช้เส้นทางบกเป็นหลัก อีกทั้งชาวนายังหันมาปลูกพืชผักแทน เนื่องจากมีราคาที่ดีกว่าและปลูกได้ตลอดทั้งปี ผิดกับการทำนาที่ทำได้เพียงปีละครั้ง สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนส่งผลให้โรงสีไฟค่อย ๆ ปิดกิจการตาม

ในที่สุดได้มีการสร้างถนนตัดเข้ามาถึงชุมชนหนองแขม การซื้อสินค้าจากภายนอกจึงสะดวกมากขึ้น การสัญจรค้าขายทางน้ำจึงค่อย ๆ หมดความสำคัญลง ชาวบ้านต่างหันมาปลูกดอกกล้วยไม้มากขึ้น จนนาผืนสุดท้ายได้กลายเป็นสวนกล้วยไม้

การพัฒนาเป็นชุมชนเมืองเริ่มคืบคลานเข้ามา เป็นผลให้พื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ และบ้านจัดสรร ผู้คนแบบชุมชนเมืองเข้ามาอยู่อาศัยแบบคนแปลกหน้า การเล่าขานความเป็นมาของชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นได้ขาดหายไป หลงเหลือเพียงชุมชนเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ริมคลองภาษีเจริญ

ขอบเขตของพื้นที่ชุมชนหนองแขม

เนื่องจากชุมชนหนองแขมในอดีตอยู่อาศัยริมสองฝั่งคลองภาษีเจริญและคลองซอยเป็นหลัก โดยมีวัดหนองแขมเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีอำเภอหนองแขม (อำเภอเก่า) อยู่ห่างจากวัดประมาณ 1,500 เมตร ดังนั้นในการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนหนองแขมจะต้องศึกษาชุมชนตามแนวคลองภาษีเจริญ เป็นระยะทางประมาณ 2,500 เมตร และลึกเข้าไปด้านละประมาณ 500 เมตร

ปัจจุบันขอบเขตของชุมชนหนองแขม มีการขยายตัวของชุมชนจากศูนย์กลางกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้พื้นที่ในการสร้างโรงงาน และเพื่อการอยู่อาศัยจึงมีการเข้ามาอยู่ของราษฎรจากแหล่งอื่นมาก รวมทั้งมีการใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ บ้านเรือนอาศัย ทำให้วิถีชีวิตของความเป็นชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปมาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงสร้างทางสังคมของชุมชนหนองแขม

ชุมชนหนองแขมนั้นมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกข้าว และคูคลองที่ส่งน้ำให้นาข้าว เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ส่งออกสำคัญของประเทศไทยในเวลานั้น นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนหนองแขมมีการตั้ง ‘โรงสีข้าว’ หรือ ‘โรงสีไฟ’ ที่ชุมชนนี้ถึง 4 โรง ส่งผลให้เป็นชุมชนเป็นศูนย์กลางการผลิตข้าวที่ครบวงจร เป็นทั้งชาวนา หลงจู๊รับซื้อข้าว เป็นเถ้าแก่โรงสี และเป็นพ่อค้าข้าว ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนจึงมีอาชีพที่มั่นคง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

สถาปัตยกรรมภายในชุมชน สิ่งหลงเหลือทางวัฒนธรรมที่สามารถสืบทอดเล่าเรื่องราวชุมชนในอดีตได้ ได้แก่ ‘วิหารหลวงพ่อโตหรือพระอุโบสถหลังเก่า’ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่เคยบ่งบอกถึงความเจริญในอดีต สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 แต่มีการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ถือว่าจัดเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สมส่วน มีการประดับตกแต่งที่วิจิตรประณีต แบบช่างพื้นเมือง ภายในยังมี ‘ภาพจิตรกรรมฝาผนัง’ เหนือกรอบประตูหน้าต่างเป็นภาพเทพชุมนุม โดยรอบคั่นด้วยพัดยศเป็นภาพที่เขียนแบบพื้นเมืองที่มีความละเอียดมากแม้ว่าจะใช้เพียงไม่กี่สี แต่ทำได้ลงตัว กลมกลืน งดงาม รวมทั้ง ‘หอไตร’ วัดหนองแขม ซึ่งเป็นหอไตรกลางสระน้ำที่มีสัดส่วนที่งดงาม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2440 อาคารกุฏิต่าง ๆ ภายในวัดสามารถเล่าเรื่องราวชุมชนได้อย่างดี อีกทั้งยังมี ‘เรือนพื้นถิ่น’ อาทิ เรือนไทย เรือนมะนิลา หรือเรือนปั้นหยา โดยเฉพาะเรือนไทยของ ‘สำราญ รอดรังนก’ ที่มีอายุถึง 100 ปี ที่ยังคงรักษารูปทรงเรือนไทยไว้จนถึงปัจจุบัน ท้ายที่สุด เรือนต่าง ๆ นั้นสามารถอธิบายถึงพัฒนาการของชุมชนได้หมด

ศาสนสถาน คือศูนย์รวมจิตใจ ศรัทธา สร้างพลังในการดำเนินชีวิตของชาวหนองแขมไม้ได้มีเพียงแค่วัดหนองแขมที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระสังกัจจายน์หรือหลวงพ่อโต เท่านั้น แต่ยังมีศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ ศาลเจ้าอาเนี้ยว หรือศาลเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวหนองแขมเคารพนับถือกว่าร้อยปี นอกจากศาลเจ้าพ่อสะแกเฒ่าได้เป็นที่เคารพนับถือของชาวหนองแขมมาร่วมร้อยปีเช่นเดียวกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนหนองแขมมีวัฒนธรรมร่องลอยทางประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ควรดำรงไว้เพื่อการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนหนองแขมในอดีตเป็นศูนย์กลางของการค้าขายตลอดแนวริมคลองหน้าวัดหนองแขม มีโรงสีไฟ และโรงอิฐ ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่บางส่วนที่ยังคงมีสภาพให้เห็นได้ชัดเจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ วิหารหลวงพ่อโตเดิม ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน, มีจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเดิมมีภาพที่ทรงคุณค่า, หอไตรของวัดหนองแขมที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และเรือนพื้นถิ่นที่อยู่บริเวณคลองหนองแขมอายุนับร้อยปี บ้านทรงปั้นหยาชั้นเดียว ซึ่งเคยเป็นบ้านพักนายอำเภอของหนองแขมตลอดจนอาคารร้านค้า และตลาด ซึ่งเรือนตลาดร้านค้าหนองแขมดั้งเดิมในอดีต จากการศึกษาพบว่า ได้มีการเสนอให้รักษาอาคารสถานที่โดยให้ตั้งคณะกรรมการในการจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่ง ‘ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม’ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมวิถีแบบดั้งเดิมจะเลือนหายไปกับกาลเวลา แต่ส่วนที่คงเหลืออยู่ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้บุคคลรุ่นหลังได้เห็นอดีต ความเจริญ วัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนได้ โดยประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการรักษาคงไว้ในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ชุมชนหนองแขมได้พัฒนาเข้าสู่การเป็นสังคมเมืองมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้วัฒนธรรมของชุมชนบางประการได้สูญหายไป แต่ยังคงหลงเหลือศิลปกรรมในท้องถิ่นที่ควรได้รับการดูแล อาทิ วิหารหลวงพ่อโต หรือพระอุโบสถหลังเดิม จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร หอไตร ของ ‘วัดหนองแขม’ ที่มีอายุเกินร้อยปี รวมทั้งเรือนพื้นถิ่นที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมควรได้รับการอนุรักษ์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังอายุร้อยปีภายในวิหาร และเรือนพื้นถิ่นอายุร้อยปีเช่นกัน นอกจากนี้ ควรมีการจัดการศิลปกรรมของท้องถิ่นอย่างจริงจัง มีการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนในอนาคต

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. (2566). เขตคลองมองเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน.

ปิยนาถ บุนนาค และคณะ. (2525). คลองในกรุงเทพฯ : ความเป็นมาการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ในรอบ 200 ปี (พ.ศ.2325-2525). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานเขตหนองแขม. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://webportal.bangkok.go.th/nongkhame/page/sub/114/ประวัติความเป็นมา.

อนุพงษ์ อิงฟ้าแสน. (ม.ป.ป.). การศึกษาประวัติศาสตร ชุมชน “ชุมชนหนองแขม”. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

อนุพงษ์ อิงฟ้าแสน และพนัส อุณหบัณฑิต. (ม.ป.ป.). ความพร้อมของประชาชนในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชุมชนหนองแขม ริมคลองภาษีเจริญ แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยธนบุรี, 6(11), 1-13.