การตีเหล็ก อาชีพหลักที่เคยสำคัญ แม้ปัจจุบันการถลุงแบบโบราณได้สูญหายไปแล้ว แต่ผู้คนบางส่วนก็ยังคงมีความผูกพันอย่างเช่นอดีต
มีการตั้งตามลักษณะเด่นของถิ่นฐานเดิม คือ บึงบกหลวง จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ่อหลวง ซึ่งคำว่าบ่อ นี้หมายถึง บ่อน้ำ บ่อที่มีน้ำ หรือแหล่งน้ำ ส่วนคำว่าหลวง หมายถึงสิ่งที่ใหญ่ คำว่าบ่อหลวงนั้นจึงหมายถึง บ่อใหญ่หรือบ่อน้ำที่ใหญ่ จึงถูกตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านบ่อหลวงในปัจจุบันซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกในตำบลบ่อหลวง
การตีเหล็ก อาชีพหลักที่เคยสำคัญ แม้ปัจจุบันการถลุงแบบโบราณได้สูญหายไปแล้ว แต่ผู้คนบางส่วนก็ยังคงมีความผูกพันอย่างเช่นอดีต
ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านบ่อหลวง
ชุมชนละเวือะบ้านบ่อหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางเข้าสู่บ้านบ่อหลวงคือเส้นทางฮอด - แม่สะเรียง ระยะทางห่างจากอำเภอฮอด 40 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1238 เมตร ภูมิประเทศรอบข้างจะเป็นภูเขา อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำเกษตรตามที่ราบระหว่างภูเขา ก่อนที่จะชื่อว่าบ้านบ่อหลวงเมื่อก่อน การตั้งชื่อในหมู่บ้านในสมัยก่อนได้มีการสันนิษฐานว่าการตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นมีการตั้งตามบ่อเหล็ก เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะในสมัยนั้นมีอาชีพหลักคือการตีเหล็ก การตีเหล็กนี้จัดว่าเป็นความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งด้วยจึงมีกลุ่มชาติพันธ์ุละเวือะบางกลุ่มคิดว่าจากการที่ละเวือะให้ความสำคัญกับการตีเหล็กนี้มากจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามบ่อเหล็ก กลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน บ่อหลวง แต่พอมีการสืบเรื่องราวในเวลาต่อมาจึงมีการให้ข้อมูลว่าแท้จริงนั้นมีที่มาของชื่อหมู่บ้านบ่อหลวงไม่ได้ตั้งขึ้นจากบ่อเหล็ก แต่มีการตั้งตามลักษณะเด่นของถิ่นฐานเดิมก็คือ บึงบกหลวง จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ่อหลวง ซึ่งคำว่าบ่อ นี้หมายถึงบ่อน้ำ บ่อที่มีน้ำ หรือแหล่งน้ำ ส่วนคำว่าหลวง หมายถึงสิ่งที่ใหญ่ คำว่า บ่อหลวง นั้นจึงหมายถึง บ่อใหญ่หรือบ่อน้ำที่ใหญ่ จึงถูกตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านบ่อหลวงในปัจจุบันซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกในตำบลบ่อหลวง
การเรียกชื่อชาติพันธุ์ตัวเองของชาวบ้าน บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
บ้านบ่อหลวงจะเรียกตัวเองว่า “ละเวือะ” หรือ “เลอเวือะ” แต่ชาวบ้านส่วนมากจะใช้คำเรียกชาติพันธุ์ตัวเองว่าละเวือะแต่คำว่าลัวะนั้นก็ยังมีใช้เรียกตัวเองอยู่บ้าง ส่วนมากที่เรียกชาวละเวือะ ว่า ลัวะ นั้นจะเป็นคนภายนอกมากกว่า กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะตำบลบ่อหลวงได้รับอาชญาบัตรจากเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 5 แห่งราชวงค์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งออกให้เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 45ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ปีเต่าไจ้ 1214 (พ.ศ. 2395) กำหนดให้พวกละเวือะเสียส่วยปีละเป็นเงิน 220 ข้าว 600 หาบ แล้วได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้าประจำทำงานให้หลวงตามกฎหมายเวลานั้น ละเวือะเรียกอาชญาบัตรนี้ว่า “หลาบเงิน” แล้วใส่หม้อดินฝังไว้ใต้ถุนบ้านของหัวหน้าอย่างมิดชิดดียิ่งใครจะแตะต้องไม่ได้นอกจากนั้นยังมีผีช่วยอารักษ์รักษาด้วย ถ้าจำเป็นจริง ๆ จะเปิดออกดูก็จะต้องทำพิธีไหว้ผีรักษานั้นเสียก่อน พิธีไหว้ผีต้องใช้หมูขนาดใหญ่หนึ่งตัวกับเหล้าสองขวดเป็นเครื่องเซ่นไหว้ สิทธิที่ละเวือะบ่อหลวงได้รับนี้ ได้ล้มเลิกไปนานแล้วตั้งแต่เมื่อได้โอนอำนาจจากการปกครองเชียงใหม่จากเจ้าผู้ครองนครไปขึ้นกับส่วนกลางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แต่ละเวือะที่ชุมชนบ้านบ่อหลวงยังคงเก็บรักษาอาชญาบัตรนี้ไว้เป็นอย่างดีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และบางครั้งละเวือะยังคงคิดว่าตนได้รับสิทธินั้นอยู่
บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอดจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอฮอดประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงเชียงใหม่ 120 กิโลเมตร เขตพื้นที่มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 251,656.25 ไร่ หรือ 402.65 ตารางกิโลเมตร
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
สภาพภูมิอากาศ มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 25.4 องศาเซลเซียส โดยมีค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.8 องศาเซลเซียส สภาพภูมิอากาศ อยู่ภายใต้อิทธิพลลมมรสุม 2 ชนิดคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งภูมิอากาศออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน
กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะในตำบลบ่อหลวงแต่เดิมนั้นได้อาศัยอยู่ในป่าที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับแถบชายป่าในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลุงมอม สุนันตา และลุงหล้า เป็งใจ ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านบ่อหลวงได้เล่าว่าในสมัยนั้นกลุ่มชาติพันธ์ุลัวะได้มีการอพยพและมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่าแถบดังกล่าวเรียกว่า บกหลวง ซึ่งสถานที่ที่ชื่อว่าบกหลวงนี้เป็นสถานที่ที่มีจุดเด่นคือมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งกลุ่มชาติพันธ์ุละเวือะ เรียกว่า บึงบกหลวง และอีกสถานที่หนึ่งคือ ห้วยทราย นอกจากสองที่นี้ยังมีสถานที่อื่น ๆ ด้วยแต่จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เนื่องจากนานมาแล้ว และกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะในสมัยนั้นก็มีการสันนิษฐานว่ามีการนับถือศาสนาพุทธและการควบคู่กับการนับถือผี บูชาผี และเลี้ยงผีด้วย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นผีป่าและเทวดาเทพารักษ์ เพราะอยู่กับธรรมชาติ และนอกจากนั้นยังมีหลักฐานการสร้างวัดในบริเวณบกหลวงและห้วยทรายอีกด้วย
ลุงหล้า เป็งใจได้กล่าวว่าเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรงมีการสันนิษฐานว่าโรคที่ระบาดนั้นเป็นโรคห่า หรืออหิวาตกโรค จึงทำให้วัดที่กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะสร้างนั้นยังไม่เสร็จก็มีการตั้งถิ่นฐานใหม่ ปัจจุบันวัดร้างนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า วัดร้างบกหลวงและวัดร้างห้วยทราย ต่อมาจึงมีการอพยพตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นสถานที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้สูงใหญ่สองต้นยืนคู่กันซึ่งห่างกันประมาณสองร้อยเมตร ก็คือบริเวณบ้านบ่อหลวงในปัจจุบัน
ในช่วงเวลาต่อมาความเจริญได้เข้ามาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตัดต้นไม้ใหญ่คู่นั้นไปต้นหนึ่งเพราะบริเวณพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ในการสร้างโรงเรียน ซึ่งก็คือโรงเรียนบ้านบ่อหลวงในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีให้เห็นอีกต้นหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณดังกล่าว แต่บริเวณของต้นไม้นี้ปัจจุบันเป็นบริเวณที่ถูกใช้เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้านบ่อสะแง๋ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะเรียกสถานที่นี้ว่า หนอง ในภาษาเหนือเรียกว่า ดงก๋ำ และสถานที่ดังกล่าวจะมีทุกหมู่บ้านเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะเชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำหน้าที่คอยปกป้องคอยรักษาหมู่บ้าน และจะมีการเลี้ยงผีดงก๋ำหนึ่งครั้งในหนึ่งปี เพื่อเป็นการบูชา ตอบแทน และแสดงความเคารพ เป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าจะทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น
ประชากรละเวือะเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการแยกย้ายหมู่บ้านและในปัจจุบันในตำบลบ่อหลวงมีกลุ่มชาติพันธ์ุละเวือะทั้งหมด 8 หมู่บ้านได้แก่ บ้านบ่อหลวง บ้านวังกอง บ้านขุน บ้านนาฟ่อน บ้านกิ่วลม บ้านแม่สะนาม บ้านบ่อสะแง๋ และบ้านบ่อพะแวน แต่ก็มีชาวละเวือะบางส่วนแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ตำบลบ่อสะลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เช่น หมู่บ้านกองลอยบ้านใหม่ทุ่งสน เป็นต้น ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่แยกออกจากหมู่บ้านบ่อหลวงมาร้อยกว่าปีที่แล้ว ส่วนตำบลบ่อหลวงในปัจจุบันทั้งหมดนั้นจะมีด้วยกัน 13 หมู่บ้าน โดย 5 หมู่บ้านที่เหลือ จะเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านแม่ลายเหนือ บ้านแม่ลายใต้ บ้านพุย บ้านเตียนอาง และบ้านแม่หืด
ในสมัยที่ละเวือะยังอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า ละเวือะจะสร้างวัดไว้เพื่อสื่อให้เห็นว่าละเวือะได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น ถ้าอพยพไปที่อื่นวัดก็จะถูกทิ้งร้างไป และถ้าย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ละเวือะก็จะสร้างวัดใหม่ เพราะว่าละเวือะในสมัยก่อนนั้นเคร่งในศาสนามาก วัดร้างในป่ายุคปัจจุบันจึงมีเยอะเพราะถูกทิ้งร้างไปจากการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะในอดีต
ลัวะ (ละเวือะ)อาชีพที่สำคัญของชาวละเวือะหลัก ๆ คือการทำไร่ทำนา ละเวือะบ้านบ่อหลวงทำเกษตรแบบผสมผสาน คือ ที่นาของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะพอพ้นช่วงปลูกข้าวแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะจะนำผักอย่างอื่นมาปลูกในที่ดินในนา เช่น พริก กะหล่ำปลีและมะเขือเทศ เพราะเป็นพืชผักที่ได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของโรงงานต่าง ๆ และปัจจุบันละเวือะหันมาปลูกผลไม้บ้างแล้ว เช่น อะโวคาโดและเสาวรส เพราะได้ราคาดีกว่าผักและยังเป็นที่ต้องการมากกว่าพืชผักอื่น ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะยังนำผลผลิตที่ได้จากสวนของตัวเองไปขายเองในเมืองเพราะได้ราคามากกว่าขายให้พ่อค้าคนกลาง และกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะบ้านบ่อหลวงยังชำนาญในการหาของป่าล่าสัตว์ เมื่อหามาได้ก็จะนำไปขายต่อ บางครอบครัวถึงขั้นเปิดแผงขายตามข้างถนนเพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว อาชีพรองก็จะเปิดร้านขายของ ขายกับข้าวเพื่อเลี้ยงชีพหรือรับจ้างทั่วไป
ในสมัยก่อนอาชีพหลักที่สำคัญมากของชาวละเวือะ คือ การตีเหล็ก อาชีพตีเหล็กมีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ละเวือะเก็บเศษแร่เหล็กซึ่งมีมากตามภูเขาใกล้หมู่บ้านมาถลุง แล้วตีให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หอก ดาบ มีด ขวาน จอบ เสียม เป็นต้น ผู้ใดตีเหล็กได้สมัยก่อนก็จะเป็นคนที่ร่ำรวยมาก เพราะได้รายได้จากการขายมีดและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับขายแลกเปลี่ยนและใช้ในครอบครัว ปัจจุบันอาชีพตีเหล็กนี้เหลือน้อยมากส่วนมากชาวบ้านเลิกทำกันแล้ว เพราะว่าในปัจจุบันหาซื้อเครื่องใช้พวกนี้ได้ง่ายตามท้องตลาด
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะบ้านบ่อหลวง
การแต่งกาย
กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะบ้านบ่อหลวงเครื่องแต่งกายของเขาในสมัยโบราณนั้นจะสวมเสื้อแขนยาวหลวม ๆ กับซิ่นสั้นครึ่งน่องเครื่องประดับนั้นจะเป็นแค่สร้อยคอลูกปัดสีดำจะไม่มีสีส้ม เหลือง แดง เหมือนชาติพันธุ์ละเวือะในพื้นที่อื่นและผู้หญิงจะสวมกำไลเงินทรงเกลียว ผู้ชายสวมเสื้อผ้าผ่าอกแบบเสื้อกุยเฮง กางเกงหลวม ๆ แบบกางเกงจีน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะนิยมสูบกล้อง ซึ่งโดยส่วนมากจะทำด้วยดินเผาและไม้ไผ่
ในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า กำไลเงิน ที่ผู้หญิงละเวือะนิยมสวมใส่ไว้ประดับแขนนอกจากจะเสริมความงามแล้ว จากความเชื่อในอดีตนั้น กำไลเงินนั้นยังเป็นยารักษาโรค ชาวละเวือะจะนำกำไลเงินมาแช่ในขันแล้วใส่น้ำลงไป นำน้ำที่ใช้แช่กำไลเงินนั้นมาดื่ม ซึ่งจะช่วยให้หายจากการป่วยไข้ และหายจากการเป็นตุ่มกลากเกลื้อนที่ผิวหนังอีกด้วย แต่ในปัจจุบันชาวละเวือะบ้านบ่อหลวงจะไม่แต่งกายตามแบบชุดชาติพันธุ์ ผู้หญิงคนเฒ่าคนแก่จะแต่งกายแบบใส่เสื้อในยุคสมัยปัจจุบันแล้วใส่กางเกงขายาวข้างในผ้าซิ่นที่ชาวละเวือะบ้านบ่อหลวงสวมอยู่นั้น จะไม่ใส่ผ้าซิ่นชุดชาติพันธุ์ละเวือะ แต่จะเป็นซิ่นสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากตลาดนัดทั่วไป เพราะว่าผ้าซิ่นละเวือะหาใส่ยากและหาซื้อยากในหมู่บ้านบ้านบ่อหลวง และละเวือะบ้านบ่อหลวงไม่มีคนทอผ้า ถ้าละเวือะบ้านบ่อหลวงต้องการสั่งผ้าซิ่นแบบละเวือะใส่ต้องสั่งมาจากละเวือะต่างพื้นที่ให้เขาทอมาให้ หรือเอาเอามีดเอาขวานไปแลกกับเสื้อผ้าอาภรณ์เพราะว่าละเวือะบ้านบ่อหลวงตีเหล็กเป็นอาชีพ
วัฒนธรรมอาหาร
อาหารหลัก ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะเป็นอาหารเมืองเช่นกันแต่เป็นอาหารที่หาได้ยากตามชนพื้นเมืองทั่วไป เพราะอาหารเมืองของละเวือะนั้นจะได้ทานเฉพาะตอนมีประเพณีหรือพิธีกรรม เช่น
- แกงข้าวเบือ แกงข้าวเบือเป็นแกงที่ใช้แกงเลี้ยงแขกตอนมีงานใหญ่ในหมู่บ้านเช่น งาน สมโภชท่านขุนหลวง ประเพณีงานแต่งงาน งานกินเลี้ยง เพราะว่าแกงข้าวเบือเป็นแกงที่ทำกินได้ เยอะ แกงข้าวเบือนั้นจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ข้าวต้มทรงเครื่อง ก็ได้เพราะว่าแกงข้าวเบือจะเป็นแกงที่ ใส่ข้าวสารลงไปในปริมาณเยอะ และใส่เลือดหมูขิงและเครื่องเคียงต่าง ๆ ให้ออกมามีรสชาติเข้มข้น และสีออกว่าเป็นสีเหลืองเหมาะสำหรับทำเลี้ยงคนในงานมงคล
- แกงโต๊ะสะเบือกหรือ แกงอ่อม แกงอ่อมเป็นแกงที่ขาดไม่ได้ในงานกินเลี้ยงหรืองานมงคลต่าง ๆ เพราะว่าชาวละเวือะนั้นมักจะใช้สัตว์ในการทำพิธีกรรมพอทำพิธีกรรมเสร็จจึงนำเนื้อสัตว์ไปทำแกงอ่อม แกงอ่อมเป็นอาหารที่ทำง่ายและยังสามารถนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านอีกด้วย
- ขนมอับสะเลาหรือขนมเขาควาย นิยมทำในทุก ๆ เทศกาลให้ลูกหลานที่มาจากต่างจังหวัดได้รับประทานกันถ้วนหน้า เครื่องเคียงที่ควบคู่กับอับสะเลาก็คือมะพร้าวกับน้ำตาลนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน บางบ้านก็จะเพิ่มถั่วดำหรือถั่วสิสงที่ตัวข้าวเหนียวเพื่อความน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทั้งนี้แล้วแต่ความชอบของตัวบุคคล นอกจากนั้นขนมเขาควายยังเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของละเวือะบ้านบ่อหลวงอีกด้วย
- ขนมปาด (กาละแม) คือ ขนมที่ทำกันทุก ๆ เทศกาลสงกรานต์ ขนมปาดประกอบด้วย แป้ง น้ำอ้อย มะพร้าว เป็นส่วนประกอบหลัก ขนมปาดเป็นที่ใช้แรงในการทำมากเพราะทุก ๆ คนต้องช่วยกันคนให้แป้งกับน้ำอ้อยให้เข้ากัน ขนมปาดจึงเป็นขนมแห่งความสามัคคีที่คนในครอบครัวต้องร่วมแรงร่วมใจกันให้ขนมออกมาสมบูรณ์และหอมอร่อย เพื่อที่จะเอาไปถวายพระ ขนมปาดมักจะกินควบคู่กับข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) และขนมปาดยังเป็นขนมที่ใช้ทำพิธีกรรมในเช้าวันสงกรานต์
- อับเนียง (ข้าวหนุกงา) คือ ข้าวที่นิยมรับประทานในตอนฤดูหนาว กลุ่มชาติพันธ์ละเวือะจะนิยมปลูกงาเองที่ละแวกบ้าน นำงาที่ที่เก็บมาได้ไปล้างให้สะอาดและนำงาไปคั่ว คั่วเสร็จนำไปโขลกให้ละเอียดใส่เกลือลงไปเล็กน้อยจากนั้นนำข้าวเหนียวมาโขลกให้เข้ากับงาที่ตำไว้ บางทีนิยมทานกับน้ำอ้อย หรือนำข้าวหนุกงาไปปิ้งก็จะได้อรรถรสไปอีกแบบ
ความเชื่อการนับถือผีที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะ
กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะในทุก ๆ ความเชื่อจะมีผีเข้ามาเกี่ยวข้อง ละเวือะในปัจจุบันยังมีการนับถือผีเป็นส่วนมากในทุก ๆ อิริยาบถจะมีความเชื่อแฝงอยู่ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน การถือผีเป็น ความเชื่อที่มีมาแต่เดิม และชาวละเวือะถือกันเคร่งครัดมาก ในสมัยเมื่อก่อนมนุษย์เป็นเครื่องเซ่นไหว้ของผี แต่ละเวือะที่บ้านบ่อหลวงในปัจจุบันนี้ได้ทิ้งความเชื่อนี้แล้ว และได้ใช้สัตว์ คือ ควาย หมู ไก่ และวัวแทน
ผีนอก เป็นผีผู้ใหญ่มีฐานะเทียบกับเจ้าหรือเทวดาอารักษ์ ได้แก่
- ผีละมัง หรือ ผีบรรพบุรุษ
- ผีขุนหลวงวิลังคะ
- ผีดงก๋ำ
ผีใน เป็นผีทั่วไปที่ช่วยคุ้มครองรักษาภายในครอบครัว ได้แก่
- ผีบ้านผีเรือน
- ผีต่ะอะงอง
การเซ่นไหว้ผีของชาวละเวือะบ้านบ่อหลวงปกติจะทำกันในเดือนแปดหรือเดือนเก้า ตามแบบปฏิทินล้านนาของทุก ๆ ปี แต่ถ้ามีเหตุการณ์พิเศษขึ้นเช่นภัยพิบัติหรือการเจ็บป่วย ก็อาจจะทำเพิ่มเติมอีกได้ตามความจำเป็น สำหรับเครื่องเซ่นหรือเครื่องสังเวยผีนอก ใช้ควายพันธุ์กระทงคือเป็นควายที่มีเขางอกออกมายาวเท่า ๆ กับใบหูหนึ่งตัวกับเหล้าอีกสิบสองขวดส่วนผีใน ใช้หมูสำหรับผีปูย่าหรือใช้ไก่ก็ได้
พิธีกรรมหรือประเพณีของชาวละเวือะของใช้ในพิธีกรรมที่ขาดไม่ได้นั้นก็คือเหล้าต้ม เหล้าต้มมีบทบาทกับทางพิธีกรรมของชาวละเวือะมาก เหล้าต้มเป็นเหมือนเครื่องบรรณการเซ่นไหว้ให้สำหรับผีต่าง ๆ เวลามีงานสำคัญต่าง ๆ เจ้าของพิธีจะสั่งเหล้าต้มจากชาวบ้านผู้ที่มีหน้าที่ต้มเหล้าเยอะ ๆ เพราะเป็นการสั่งเผื่อไว้ในหลาย ๆ ขั้นตอนของพิธีกรรมนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ รอก (ไผ่ที่สารออกมาเหมือนกรวยเล็ก ๆ) รอกนั้นชาวละเวือะจะสานพิธีต่อพิธีเลย ชาวบ้านจะสานไว้เยอะ ๆ เพราะต่อหนึ่งพิธีกรรมจะใช้หลายอัน รอกของชาวละเวือะนั้นจะเห็นได้ในทุก ๆ พิธีกรรม รอกจะเอาไหว้ใส่เครื่องในสัตว์สด ๆ เพื่อที่จะทำเอาไปเซ่นไหว้ผี และรอกยังนำเอาไปใส่สิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ได้อีกด้วย รอกเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ชาวละเวือะจะรู้กันว่าสิ่งของที่อยู่ภายในรอกนั้นเราจะนำไปเซ่นไหว้ให้ผี
พิธีกรรมเลี้ยงผีในหมูบ้านจะมีตระกูลสุนันตาเป็นผู้รู้และเปรียบเสมือนเป็นผู้บอกกล่าวให้ผี เวลาชาวบ้านจะทำพิธีกรรม ตระกูลสุนันตาเป็นตระกูลที่เก่าแก่และเป็นผู้รู้ซึ้งในทุกพิธีกรรมเลี้ยงผี คนในตระกูลสุนันตานี้จะไม่รับประทานสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเพราะเหมือนเป็นของแสลงเวลารับประทานเข้าไปจะมีตุ่มคันหรือกลากเกลื้อนขึ้นตามบริเวณร่างกาย หรือถ้าหนักเข้าเวลารับประทาน สัตว์จำพวกครึ่งบกครึ่งน้ำก็จะเกิดสิ่งที่ไม่ดีและไม่ชอบมาพากลภายในครอบครัว ซึ่งยังหาสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้
พิธีกรรมเลี้ยงผีของชาติพันธุ์ละเวือะ
โนกละมาง หรือพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษ
โนกละมาง คือพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาวละเวือะ จากการสัมภาษณ์ ชาวละเวือะเชื่อว่าหากเลี้ยงผีคนตายอย่างดีผลดีจะสะท้อนกลับมาหาตนเองและครอบครัว เสมือนว่าคนตายไม่ทิ้งคนเป็นและคนเป็นไม่ทิ้งคนตายเช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการตายเกิดขึ้น คนในครอบครัวจะจัดพิธีศพให้คนตายอย่างดีที่สุดเท่าที่ฐานะตนเองจะทำได้ แต่หากเวลานั้นฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดี เขาก็จะทำพิธีส่งควายหรือวัวซึ่งเป็นทรัพย์มีค่าไปให้ผู้ตายในภายหลัง หรือหากครอบครัวใดมีความพร้อมทำไร่ทำนาได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าพิธีส่งอาหาร เครื่องใช้หรือและวัวหรือควายก็ตาม พวกเขาก็สามารถเลี้ยงผีบรรพบุรุษตนเองได้อีกเท่าที่โอกาสและความพร้อมอำนวย เพราะสิ่งนี้ถือว่ายิ่งประพฤติก็ดีมีผลดีต่อครอบครัวตนทั้งสิ้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องเลี้ยงผีละมางบางทีเกิดจากที่คนในครอบครัวปัจจุบันหรือลูกหลานทำผิดผี ทำอะไรไม่บอกกล่าวทางผีบรรพบุรุษหรือละเลยผีบรรพบุรุษ ท่านจึงสำแดงด้วยการทำให้คนใดคนหนึ่งในครอบครัวป่วยไข้โดยไร้สาเหตุ พิธีกรรมเลี้ยงผีละมางจะเลี้ยงได้ทุกเมื่อยกเว้นช่วงเข้าพรรษา
กรณีในการเลี้ยงผีละมางหรือผีบรรพบุรุษนั้นจะขึ้นอยู่กับคนในครอบครัวและขึ้นอยู่กับผีบรรพบุรุษของเรา เวลามีคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ รักษาโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่หาย อาการคนป่วยในครอบครัวไม่ดีขึ้น คนในครอบครัวก็จะไปหาหมอดูชาวบ้าน (หมอดูหรือผู้มีคาถาอาคม) ถ้าหมอที่ดูบอกว่าคนในครอบครัวป่วยเพราะผีบรรพบุรุษ กลั่นแกล้งให้เจ็บไข้ ต้องเซ่นไหว้ไก่ ควายหรือหมูก็ได้ ตามที่ผีบรรพบุรุษของเราต้องการ ถึงจะหายขาดจากการป่วยไข้
พิธีกรรมเลี้ยงผีละมางหรือพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษนั้น เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของชาวละเวือะตั้งแต่สมัยโบราณและทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การจะกระทำอะไรสักอย่างนั้นที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลภายในบ้าน หรือเป็นการขนย้ายสิ่งของ ลูกหลานจะแต่งงานมีครอบครัวเราจะต้องบอกกล่าวบรรพบุรุษก่อน เพื่อที่ท่านจะได้ปกป้อง ถ้าจะทำการสิ่งใดแล้วไม่ได้บอกถือว่าเราทำอะไรข้ามหัวผู้ใหญ่ไม่ให้เกียรติบุคคลในครอบครัว และยังมีอีกความเชื่อหนึ่งในการเลี้ยงผีละมางก็คือ การมีบุตรชายในครอบครัว ครอบครัวใดได้กำเนิดบุตรชายต้องเลี้ยงควายถวายบรรพบุรุษ เพื่อว่าที่จะเติบโตมาจะเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้และต้องเลี้ยงตอนที่เด็กชายถึงวัยที่กำลังนั่งได้
การเลี้ยงผีละมางในรูปแบบนี้จะแค่บางตระกูลเท่านั้นที่ถือ บางตระกูลก็จะไม่เลี้ยงถ้าเราไม่เลี้ยงผีละมางผีบรรพบุรุษก็จะแกล้งเด็กให้ร้องไห้ ซึ่งเป็นการไม่ดีจึงต้องรีบจัดพิธีผีละมางอย่างเร่งด่วน ซึ่งตระกูลตาเตอะจะเชื่อในความเชื่อนี้ การเลี้ยงผีละมางนั้นผลที่ได้มาคือการที่คนในบ้านคนในครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุขไร้ทุกข์โรคภัยไข้เจ็บ เพราะผลพวงมาจากการที่เราเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ผีบรรพบุรุษก็จะคอยปกป้องลูกหลาน และผีบรรพบุรุษยังคอยเกื้อหนุนทุกสิ่งทุกอย่างส่งผลให้คนในครอบครัวและลูกหลานอยู่ดีมีสุข ปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีจากผีสางสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พิธีกรรมเลี้ยงผีดงกำ
ผีดงกำ เป็นผีที่ค่อยปกปักรักษาหมู่บ้านและผู้คนในชุมชนให้อยู่ดีมีสุข พิธีเลี้ยงผีดงกำนี้จะจัดขึ้นในเดือน 9 ของล้านนาในทุก ๆ ปี หรือจัดในช่วงเดือนกรกฎาคม ในชุมชนละเวือะบ้านบ่อหลวงนั้นจะมีอยู่ 2 ตระกูลที่เป็นแม่หลักในการทำพิธีกรรม ก็คือตระกูลสุนันตา ตระกูลสุนันตาเป็นตระกูลที่เขาเรียกกันว่าตระกูลผี เวลามีพิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านต้องให้คนเฒ่าคนแก่ในตระกูลสุนันตาเป็นฝ่ายบอกกล่าวผีก่อน และตระกูลขุนแก้ว ตระกูลขุนแก้วเป็นตระกูลที่สืบมาจากเจ้าขุนละเวือะในสมัยก่อน แต่ตระกูลสุนันตาจะมีบทบาทมากกว่า
ละเวือะมีความเชื่อว่าการทำพิธีกรรมเลี้ยงดงจะทำให้หมู่บ้านของตนมีความสุขสงบ ไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เพราะว่าผีดงเป็นผีดีที่คอยอารักษ์ชาวละเวือะในหมู่บ้านมาตลอด ละเวือะจึงตอบแทนด้วยการเซ่นไหว้ เพื่อแสดงความนับถือ ในป่าที่ละเวือะเอาของไปเซ่นไหว้ให้ผีนั้นก็จะมีป่ามอนอะแมง ป่าระอังตักและในป่าดอยปุย สาเหตุที่เอาของไปเซ่นไหว้ถึงในป่าลึก เพราะว่าสมัยก่อนชาวละเวือะที่สัญจรไปมาเห็นผีสิ่งสถิตอยู่แถวนั้น แล้วผีที่สิ่งสถิตในป่าลึกชอบเอาของของชาวละเวือะที่สัญจรไปมาเอาไปซ่อน พิธีกรรมเลี้ยงผีดงกำยังเป็นพิธีกรรมที่เก่าแก่มาก ชาวบ้านละเวือะปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ยุคของบรรพบุรุษถึงปัจจุบัน เพื่อสื่อถึงความเคารพและนับถือ
พิธีกรรมโนกสุมาหรือพิธีกรรมเลี้ยงผีบ้านผีเรือนของละเวือะ
พิธีกรรมโนกสุมานั้นเป็นพิธีกรรมที่ย่อยมาจากพิธีกรรมเลี้ยงผีดงกำ โนกสุมา คือ การเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนหรือเป็นการกล่าวสุมาขอโทษผีบ้านผีเรือนในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีบ้านจะทำได้เมื่อมีคนป่วยภายในบ้าน อาการป่วยที่รักษาแล้วไม่หาย และทำเพื่อความอยู่ดีเป็นสุขของครอบครัว กรณีที่เลี้ยงผีบ้าน 1 ตน จะเลี้ยงหมู 1 ตัว แต่ถ้าเลี้ยงผี 3 ตน จะใช้หมู 3 ตัวไก่ 12 ตัว หรือใช้ไข่ ก็ได้ เหล้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของพิธีกรรม
พิธีกรรมโนกสุมานี้มักจะเลี้ยงเมื่อลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เลี้ยงเพื่อให้ผีบ้านผีเรือนดูแลปกป้องลูกหลานทั้งที่อยู่ในหมู่บ้าน ทั้งที่อยู่ต่างจังหวัดให้อยู่รอดปลอดภัย ผีบ้านผีเรือนของละเวือะจะเตือนลูกหลานเสมอเมื่อทำสิ่งที่ผิดผี การเลี้ยงโนกสุมานั้นจึงเป็นพิธีกรรมที่จะต้องทำกันทุกปีเพื่อเหมือนเป็นการย้ำเตือนสำคัญ และให้ลูกหลานเหลนโหลนได้ทำสืบต่อไปไม่ให้สูญหาย
พิธีกรรมเลี้ยงผีต่ะอะงอง หรือพิธีกรรมบูชาเครื่องมือทำไร่ทำนา
เมื่อถึงฤดูกาลหว่านข้าวหรือเริ่มฤดูกาลทำไร่ทำทำนา การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของชาวละเวือะ มีดและขวานเครื่องมือเหล็กอื่น ๆในสมัยก่อนนั้นละเวือะจะเป็นคนที่ทำใช้กันเองและการได้เหล็กมาตีเป็นมีดในแต่ละครั้งไม่ใช่เครื่องง่าย เพราะการที่จะได้มีดมาแต่ล่ะด้ามนั้นยากมากกว่าจะได้ใช้กัน ละเวือะจึงตระหนักถึงคุณค่าข้าวของเครื่องใช้ที่ละเวือะลงมือทำเองเพื่อที่ลูกหลานจะได้ตระหนักถึงคุณค่าอุปกรณ์ทางการเกษตรที่เป็นเครื่องมือหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของละเวือะ ด้วยทุก ๆ การดำเนินชีวิตของละเวือะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีผีเข้ามาเป็นส่วนประกอบ พิธีกรรมเลี้ยงผีต่ะอะงอง เป็นพิธีกรรมที่ต้องเตรียมความพร้อมการทำไร่ทำนา ชาวละเวือะจะนำมีด ขวาน เคียวเกี่ยวข้าว จอบ เสียม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรไปเจิม เหมือนกับว่าถ้าอุปกรณ์เราดี งานหรือผลผลิตออกมาก็จะดีตามเช่นกัน ชาวละเวือะยังเชื่ออีกว่าการที่เราเอาเลือดไก่เป็นราดใส่อุปกรณ์ทางการเกษตรของเราจะทำให้มีดหรือสิ่งของมีคมไม่บาดหรือ ทำให้บาดเจ็บตอนทำงาน พิธีกรรมผีต่ะอะงองจึงเหมือนการแก้เคล็ดอีกทางหนึ่งของชาวบ้าน
ความเชื่อและการนับถือศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะ
นับถือศาสนาพุทธ
ในดินแดนลุ่มแม่น้ำปิงอันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติละเวือะนั้น ได้มีการนำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่แก่ชนชาติละเวือะด้วย ละเวือะจึงนับถือศาสนาพุทธ จนกระทั่งละเวือะได้สร้างวัดบ้านบ่อหลวงอย่างแพร่หลายเมื่อปี พ.ศ. 2373 การนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของละเวือะ ซึ่งตำนานชนชาติพันธุ์ละเวือะ “สุวรรณกำแดง กับ เสาอินทขิล” ฉบับใบลานจารึกด้วยตัวอักษรไทยยวน หรือไทยเมือง เขียนเมื่อ พ.ศ. 2429 ต่างก็ให้ภาพว่าชาวละเวือะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่หันมารับนับถือพระพุทธศาสนา ที่แทนด้วยภาพการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า
ส่วนทางวัดบ่อหลวง มีประวัติย่อที่กล่าวถึงการสร้างและปฏิสังขรณ์วัด ดังจารึกบนแผ่นไม้กระดานด้วยอักษรไทยวน ถอดเป็นตัวอักษรไทยดังนี้ “จุลศักราชได้ 1192 ตัวปีกดญี เดือน 4 เพ็ง เม็งวัน 4 สมรศรัทธามูลละทั้งภายในและภายนอก ภายในหมายมีสวาธุเจ้าชุวันเป็นเค้า พร้อมด้วยศิษย์โยมชุคน ๆ และ ปู่ชวร, ปู่มูลมา, ปู่พิน, ปู่น้อยมี, ปู่หล้า สร้างหัวทีและเติงศักราชได้ 1193 สวาธีศรีไชย บ้านชะญอม (วัดสันคะยอม อำเภอสันป่าตอง) และ สวาธุศรีวิละเมืองแจ๋ม (วัดหนองล่ม) เป็นเค้า พร้อมด้วยศิษย์โยมชุคน แลคุณพระอาด เชียงใหม่แล (พระอาสภะ) แก่เขียว แก่ลูน พร้อมด้วยศรัทธาทั้งหลาย ได้มาพร้อมกันเลิกสร้างปฏิสังขรณ์ คิดสร้างพระวิหารหลังนี้ สร้างไว้ค้ำชูพระศาสนา 5000 พระวัสสา สร้างเมื่อศักราชได้ 1193 ปีร้วงเหม้า”
ละเวือะบ้านบ่อหลวงเป็นละเวือะที่เคร่งครัดในศาสนาพุทธ โดยร้อยละเก้าสิบของคนในหมู่บ้านชาวละเวือะจะนับถือศาสนาพุทธกันหมดทุกคน ละเวือะบ้านบ่อหลวงได้เริ่มนับถือศาสนาพุทธตั้งแต่ตั้งถิ่นที่ลุ่มน้ำแม่ปิงก่อนที่จะอพยพมาปักหลักที่บ่อหลวง ละเวือะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะมีวัดที่นั่น ละเวือะให้ความสำคัญกับทุกวันสำคัญทางศาสนาวันศีลวันทานก็จะพากันไปวัดเพื่อรับศีลรับพร ตอนกลางคืนของวันศีลใหญ่ก็จะสวดมนต์ ละเวือะบ้านบ่อหลวงยังมีประเพณีตานข้าวใหม่และประเพณีหิงไฟพระเจ้าที่จัดในทุก ๆ เดือนของปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ชาวละเวือะบ้านบ่อหลวงจะไปหาไม้จี่ในป่าบ้านละมัดสองมัดเพื่อที่ตั้งใจศรัทธานำไปถวายพระเจ้าในวัด ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงคราวหน้าหนาวแล้ว พระพุทธรูปที่อยู่ในวัดก็จะหนาวด้วย ชาวละเวือะเลยนำไม้จี่มาถวายวัดกันแล้วนำมาเผาตอนเวลาตีห้าของวันประเพณีตานหลัวไฟพระเจ้าด้วยความที่ไม้จี่ยาวและเวลาเผามีเสียงดัง ตามความเชื่อบอกว่าพระเจ้าที่อยู่บนสวรรค์ก็จะได้ยินและรับรู้ได้ว่าเรากำลังประกอบการสิ่งใดอยู่
นับถือผีเซ่นสรวงบูชาขุนหลวงวิลังคะ
รูปปั้นอนุสาวรีย์ท่านขุนหลวงวิลังคะถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านตำบลบ่อหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2548 สร้างขึ้นไว้ว่า ไม่ให้ชาวละเวือะลืมบรรพบุรุษของตนเองและเป็นที่กราบไหว้ผู้ที่สัญจรไปมา ให้เกิดความโชคดีและเดินทางปลอดภัย เมื่อก่อนตอนสร้างจะมีแค่รูปปั้นท่านกับสมุนอำมาตย์ของท่าน แล้วท่านได้ไปเข้าฝันชาวบ้านให้สร้างหอผีกับเสาผูกวัวผูกควายของท่านไว้ ปัจจุบันมีผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางมากราบไว้ แต่วันสงกรานต์ไทยหรือปีใหม่เมือง ละเวือะบ้านบ่อหลวงก็จะดำหัวท่านขุนหลวงวิลังคะที่อนุสาวรีย์แห่งนี้
กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะจะมีการเซ่นไหว้ผีท่านขุนหลวงปีละ 1 ครั้ง คือ การจัดงานสมโภชท่านขุนหลวงวิลังคะ งานสมโภชขุนชาวบ้านละเวือะในทุกทั่วสารทิศจะช่วยกันเตรียมงานเป็นเดือน งานสมโภชท่านขุนหลวงวิลังคะจะจัดทุกวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เพราะว่าเป็นช่วงที่อากาศแห้งและลมหนาวยังคงพัดผ่านมาอยู่ ของใช้ภายในงานและของที่นำเซ่นไหว้ท่านขุนหลวงต้องทำมาจากธรรมชาติเท่านั้น เช่น ช้อนจากไม้ไผ่ จานชาม จากวัสดุธรรมชาติ ข้าวแกง ต้องเซ่นไหว้ท่านขุนหลวงวิลังคะต้องห้ามชิม ไม่ว่าจะรสชาติออกมาอย่างไรก็ห้ามชิมต้องถวายท่านก่อน ของที่ขาดไม่ได้ในการถวายก็จะมี บุหรี่ขี้โย กับเหล้า กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะที่มาร่วมงานต้องสวมใส่ชุดชาติพันธุ์ละเวือะและจัดซุ้มของละเวือะแต่ละหมู่บ้าน
ขุนหลวงวิลังคะ กษัตราละเวือะ
ต้นกำเนิดของท่านขุนหลวงวิลังคะ เป็นชนชาวละเวือะ หรือ ละว้า หรือลาวจักราช ซึ่งในอดีตชนกลุ่มนี้ปกครองอาณาจักรล้านนารวม 8 ดินแดน ภาคเหนือตอนบนของไทย ซึ่งแต่เดิมได้ขนานนามว่า “นครทัมมิฬะ” หรือ “นครมิรังคะกุระ” ซึ่งมีองค์พระอุปติราชปกครองสืบต่อกันมาจนสิ้นวงศ์อุปะติ และ เริ่มการปกครองโดยใหม่โดยวงศ์กุนาระ ซึ่งในสมัยพระเจ้ากุนาระราชาครองราชย์ได้ทรงเป็นชื่อเมืองมาเป็น ระมิงค์นคร “ขุนหลวงวิลังคะ” เป็นกษัตริย์องค์ที่ 13 ของ ระมิงค์นคร ในราชวงค์กุนาระ เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1200 ท่านทรงมีอิทธิฤทธิ์และฝีมือในการพุ้งเสน้า จนเป็นที่เลื่องลือ ท่านได้ทรงครองราชย์ ในสมัยเดียวกันกับที่พระนางจามเทวีครองราชนครหริภุญชัย ขุนหลวงวิลังคะ ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพุทธศักราช 1227 ที่ ระมิงค์นคร จนสมัยพญามังราย ได้เริ่มสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เชิงดอยสุเทพ และ สร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 1839 ได้ตั้งชื่อนครใหม่ว่า เวียงนพบุรีพิงค์ชัยใหม่ หรือเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ตำนานรักท่านขุนหลวงวิลังคะ ตามตำนานเล่าว่าท่านขุนหลวงวิลังคะได้ตกหลุมรักพระแม่จามเทวีกษัตริย์ตรงแห่งนครหริภุณชัย ฝ่ายพระนางจามเทวีพอได้เห็นรูปลักษณ์ของท่านขุนหลวงวิลังคะแล้วพระนางจามเทวีก็ไม่ได้เกิดความรักแต่อย่างใดเพราะท่านขุนหลวงไม่ได้เป็นชายหนุ่มที่หล่อเหลาและละเวือะยังเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น เพื่อจะเป็นการบ่ายเบี่ยงพระนางจามเทวีมีเงื่อนไข จึงท้าทดสอบ ความสามารถของท่านขุนหลวงวิลังคะหลายอย่างส่วนขุนหลวง ต่อมาพระนางจามเทวีบอกว่าถ้าหากท่านขุนหลวงวิลังคะ พุ่งหอกมาปักกลางเมืองหริภุญชัยได้ ก็จะบอกตกลงแต่งงานด้วย ท่านขุนหลวงวิลังคะเป็นคนมีคาถาอาคม ทรงพลังและชำนาญใน การพุ่งเสน้า (เสน้า หมายถึง หอกด้ามยาวมีสองคม) ขุนหลวงวิลังคะพุ่งเสน้าครั้งแรกไปตกที่นอกกำแพงเมืองหริภุณชัยด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเรียกว่า หนองเสน้า พระนางจามเทวีเห็นว่าเป็นอันตรายแก่เมืองและแก่ตนเองมาก เพราะถ้าท่านขุนหลวงพุ่งเสน้ามาตกตรงกำแพงเมืองตามสัญญา พระนางจามเทวีจะได้แต่งงานกับท่านขุนหลวงวิลังคะ พระนางจามเทวีจึงใช้วิธีไสยศาสตร์กับท่านขุนหลวงวิลังคะโดยการนำเศษพระภูษาของพระนางมาทำเป็นหมวกสำหรับผู้ชายและตามความเชื่อยังเล่าว่าพระนางจามเทวียังเท่าผ้าซิ่นที่เปื้อนเลือดประจำเดือนมาทำเป็นหมวกสวมทำหรับผู้ชายให้คาถาอาคมเสื่อมคลาย และยังนำเอาใบพลูมาทำหมากสำหรับเคี้ยวโดยเอาปลายใบพลูมาจิ้มเลือดประจำเดือนของพระนาง แล้วพระนางก็นำ 2 สิ่งนี้ไปถวายแก่ท่านขุนหลวงวิลังคะ ท่านขุนหลวง ได้รับของฝากจากพระนางจามเทวีจึงปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง จึงนำหมวกใบนั้นมาสวมลงบนศีรษะ และกินหมากที่พระนางจามเทวีมาถวาย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ชาวนั้นนาถือว่าเป็นของต่ำ ทำให้อำนาจและคาถาอาคมในตัวท่านขุนหลวงวิลังคะได้เสื่อมสลายลง เมื่อพุ่งสะเหน้าในครั้งต่อมาแรงพุ่ง ลดลงเสน้าจึงมาตกที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ
ก่อนเสียชีวิต ท่านขุนหลวงวิลังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ ณ สถานที่ที่ท่านขุนหลวงจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุณชัยได้ตลอดเวลา เสนาอำมาตย์ที่หามโลงศพท่านขุนหลวงวิลังคะได้เดินทางมาถึงทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง โลงศพได้คว่ำตกลงจากที่สนาม เสนาอำมาตย์จึงได้ฝังศพของท่านขุนหลวงวิลังคะไว้ ณ สถานที่บนภูเขาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุณชัยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง (หล้อง หมายถึง โลงศพ) ปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกชื่อภูเขาลูกนี้ว่า ดอยคว่ำหล้อง ตั้งอยู่บนภูเขาบริเวณเหนือน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ยอดเขาเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้าย โลงศพ บนยอดเขามีศาลของท่านขุนหลวงวิลังคะตั้งอยู่ ชาวบ้านบริเวณเชิงเขาเล่าว่า กลางคืนเดือนเพ็ญบางครั้งจะได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงบนยอดเขา และยังเชื่อว่าดวงวิญญาณของท่านขุนหลวงวิลัง คะยังสถิตอยู่บนเขาคว่ำหล้อง
ละเวือะที่อาศัยอยู่แนวเขาถนนธงชัย อำเภอแม่ริม อำเภอเสมอง จอมทอง แม่วาง แม่แจ่ม และที่บ่อหลวง จะสักรูปปั้นท่านขุนหลวงไว้สักการบูชา เพราะเชื่อกันว่า การทำพิธีกรรมผีเลี้ยงขุนหลวงวิลังคะนี้จะทำให้พืชผลดี ฟ้าฝน น้ำ ปลาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปีในเดือนเก้า เมืองที่ตรงกับเดือนมิถุนายน และเลือกวันก่อนที่จะลงสวน ทำไร่นา ให้เป็นผลตามความเชื่อ ต้องไม่ใช่วันพระ ไม่ใช่วันเสีย ไม่ใช่วันอาทิตย์ ไม่ใช่วันจันทร์ ไม่ใช่วันพุธ
ชาวลัวะมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษาลัวะ แต่เดิมมีการนับถือผี โดยเฉพาะผีเสื้อบ้าน และผีบรรพบุรุษ โดยเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะนับถือสายผีตามสามี และบุตรชายคนเล็กจะได้สิทธิ์ในการรับมรดกและดูแลสายผี ภายหลังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบ จึงได้มีการนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อดั้งเดิม และซึมซับรับวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมเลี้ยงผีของชาติพันธุ์ละเวือะบ้านบ่อหลวง
การเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมเลี้ยงผีในชุมชนละเวือะบ้านบ่อหลวงเป็นเพราะว่าในปัจจุบันนั้น ไม่ค่อยมีคนสืบและลูกหลานละเวือะส่วนมากจะไปในเมืองหรือต่างจังหวัดการกลับมาร่วม พิธีกรรมบางครั้งมันยากลำบากต่อการเดินทางทำให้บางส่วนเลือกที่จะไม่กลับไปร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีและขั้นตอนบางอย่างในการทำพิธีกรรมได้เลือนหายไปเพราะว่าคนในชุมชนละเวือะอาจต้องการกระชับเวลาในการทำพิธีกรรมและบางขั้นตอนได้ลืมไปบ้างแล้วจึงทำให้ไม่มีคนสืบสานต่อเจตนารมณ์ของคนในสมัยก่อนปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีหรือเรื่องผิดผีเริ่มห่างหายและมีน้อยมาก ในชุมชนบ้านบ่อหลวงถ้าเทียบกับสมัยก่อนพิธีกรรมเลี้ยงผีที่ยังสืบต่อและยังทำกันอยู่นั้นเหลืออยู่ไม่กี่พิธีกรรมแต่ชาวละเวือะก็ยังปฏิบัติการอย่างเคร่งครัดเพราะยังมีผู้คนบางส่วนต้องการที่จะสานต่อไปยังลูกหลานแต่บางครอบครัวที่แต่งงานกับคนเมืองเขาเลือกที่จะไม่เชื่อและทำตามพิธีกรรม บางพิธีกรรมของละเวือะ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
สังคมในปัจจุบันได้มีความทันสมัยมากขึ้น จึงทำให้มี ความเปลี่ยนแปลงลูกหลานก็จึงไม่มีความสนใจและอาจจะมีความเชื่อน้อยลงจนทำให้มีการละเลย พิธีกรรมเลี้ยงผีไปและคนเฒ่าคนแก่ที่รู้เรื่องจริง ๆ ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตบ้างทำให้ผู้สืบต่อมีน้อย การที่เราจะปฏิบัติตามหลักพิธีกรรมที่ถูกต้องจริง ๆ ต้องไปฟังจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าแก่แต่ในยุค ของปัจจุบันไม่ค่อยจะมีให้สัมภาษณ์
ในพื้นที่ชุมชนละเวือะบ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอดจังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มมีคนเมืองอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากจึงทำให้พิธีกรรมบางพิธีกรรมได้สูญหายไปและคนพื้นเมืองเริ่มมีบทบาทในหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้พิธีกรรมที่สูญหายไปก็สูญหายไปเลยไม่มีคนอนุรักษ์ให้เหมือนแบบเบ้าเดิม
การเปลี่ยนแปลงด้านของใช้ในพิธีกรรม
ในปัจจุบันถือว่าสิ่งของต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงทำให้บางตระกูลมีทุนทรัพย์ไม่พอในการจัดพิธีกรรมเลี้ยงผี เนื่องจากในอดีตมีเพียงไม่กี่หมื่นบาทก็สามารถที่จะจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีได้ แต่ปัจจุบันต้องมีงบประมาณในการจัดพิธีกรรมจำนวนเยอะมากเพราะแค่ควายตัวเดียวก็ราคา 20,000 – 30,000 แล้ว ทำให้บางตระกูลเปลี่ยนจากการใช้ควายเป็นอย่างอื่นเช่น วัว หมู หรือไก่แทน (ในกรณีที่ไม่มีทุนทรัพย์จริง ๆ) ชาวบ้านละเวือะจึงไม่เลี้ยงผีละมางกันทุกปีจะเลี้ยงเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น เพราะใช้งบประมาณเยอะในการจัดแต่ละครั้ง
การเปลี่ยนแปลงทางด้านของใช้ทางพิธีกรรมเลี้ยงผี ในส่วนของเครื่องใช้ในพิธีกรรมนั้นปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปในทางด้านที่สะดวกสบายมากขึ้นเพื่อประหยัดเวลาและสะดวกในการใช้งานสมัยก่อนละเวือะจะทำพวกเครื่องใช้ขึ้นมาเอง แต่ปัจจุบันพอหาซื้อได้ก็หาซื้อตามท้องตลาดเช่นอย่างเช่นพวกน้ำเต้าที่เมื่อก่อนไปหาเอาในป่า แต่ปัจจุบันก็หาซื้อได้ และเครื่องจักสานต่าง ๆปัจจุบันไม่ค่อยมีคนทำก็หาซื้อกันเองและเปลี่ยนจากเครื่องถ้วยดินเผาเป็นถ้วยพลาสติก หม้อดินเผาปัจจุบันไม่มีคนใช้แล้วก็เปลี่ยนมาใช้เป็นหม้อสแตนเลสเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน
เปลี่ยนแปลงด้านขั้นตอนปฏิบัติพิธีกรรม
การเปลี่ยนแปลงด้านพิธีกรรมด้านพิธีกรรมของพิธีกรรมเลี้ยงผีนั้น ลำดับพิธียังคงมีการปฏิบัติตามแบบแผนของในอดีตเอาไว้อย่างเคร่งรัดไม่มีการเปลี่ยนใด ๆ อย่างคงมีการทำพิธีตามลำดับดั้งเดิม คือก่อนทำพิธีกรรมต้องบอกกล่าวผีบรรพบุรุษก่อนเพื่อแสดงถึงว่าเราเคารพท่านและขั้นตอนการทำพิธีกรรมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากหนักยังคงแบบเดิมไว้อยู่ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงในด้านของวันและเวลาเพื่อให้ตรงกับวันที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ต้องเลี้ยงอย่างเร่งด่วนเพราะเป็นความเชื่อของละเวือะเรื่องของการเคารพผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ. (2555). ปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ”. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ณัฏฐวี ทศรฐ. (2540). ละว้า : พิธีกรรมและประเพณี. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.
ดวงกมล ตาเตอะ. (2561). พิธีกรรมเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะที่ยังคงหลงเหลือในเขตพื้นที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.
ทวี ประทีปแสง. (2542). พิธีกรรมและความเชื่อในการประกอบอาชีพเกษตรกรของชาวลัวะ บ้านเต๋ยกลาง ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (ส่งเสริมการเกษตร), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
นิไลวรรณ จันทร์สีมุ่ย. (2558). การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการปรับตัวหลังจากการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะกรณีศึกษาบ้านห้วยรากไม้หมู่ 9 ตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.
ป้อหลวงบ้าน. (2556). ตำนานขุนหลวงบะลังก๊ะ. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2561, จาก http://muslimchiangmai.net/
สุริยา รัตนกุล. (2539). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า. [เอกสารอัดสำเนา]. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โสภา เรือนแก้ว. (2559). ชนเผ่าลัวะ (Lua). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2561, จาก https://sopa2006.wordpress.com
Freethailand. (2561). ขุนหลวงบะลังก๊ะ (ขุนหลวงวิลังคะ). สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2561, จาก http://www.freethailand.com/
palmikanok. (2555). ขุนหลวงวิลังคะ. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2561, จาก https://kunluangwilungka.blogspot.com/