
บ้านแม่จันหลวง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าที่มีการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูงดอยแม่สลอง ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม หลังการเข้ามาของโครงการหลวงเพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์กาแฟจากท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ทุนทางธรรมชาติของสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม และการพัฒนาเพื่องสร้างเสริมศักยภาพชุมชน
บ้านแม่จันหลวง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าที่มีการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูงดอยแม่สลอง ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม หลังการเข้ามาของโครงการหลวงเพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์กาแฟจากท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ทุนทางธรรมชาติของสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม และการพัฒนาเพื่องสร้างเสริมศักยภาพชุมชน
บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวอ่าข่า ที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่สันเขา เชิงดอย หุบเขา เนินเขา เพื่อทำมาหากินตามวิถีเกษตรกรรม ซึ่งการเข้ามาของชุมชนนั้นชาวบ้านในอดีตจะประกอบอาชีพการทำไร่หมุนเวียน ทั้งการปลูกข้าวโพดและการปลูกข้าวในนาขั้นบันไดเป็นหลัก การโยกย้ายเข้ามาของกลุ่มคนในพื้นที่ไม่มีข้อมูลที่ทำให้ทราบแน่ชัดได้ว่าเริ่มตั้งถิ่นฐานขึ้นตั้งแต่ช่วงใด และชาวบ้านกลุ่มไหนเข้ามาจับจองพื้นที่จนเป็นชุมชน หรือกลุ่มของครัวเรือนในระยะแรก ทราบแต่เพียงว่า ชุมชนของชาวอาข่า บ้านแม่จันหลวง บ้านแม่เต๋อ ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นกลุ่มประชากรของชุมชนที่เดิมเคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับหมู่ที่ 1 ตำบลแม่สลองนอก ในระยะเวลาต่อมาจึงได้มีการแยกตัวของชุมชนตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ในช่วงราว 30 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป็นหมู่บ้านแม่จันหลวง และมีกลุ่มบ้านหรือหย่อมบ้านในเขตปกครองเดียวกัน คือ หย่อมบ้านแม่เต๋อ ซึ่งรวมกันเป็นชุมชนบ้านแม่จันหลวง หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีภูเขาโอบล้อมด้านหลังของหมู่บ้าน พื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อนเรียงรายกันไป บริเวณยอดเขาที่ห่างจากหมู่บ้านออกไปมีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก บริเวณป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่นี้ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่าพันสองร้อยฟุตส่งผลให้ดอยแม่สลองมีสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส ช่วงอากาศหนาวจัดอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะลดลงอยู่ที่ระหว่าง 4-6 องศาเซลเซียส ในเวลากลางคืน อากาศร้อนสุดอยู่ในระหว่างเดือนเมษายน อุณหภูมิจะลดลงอยู่ระหว่าง 25-32 องศาเซลเซียส ในเวลากลางวัน อากาศที่เย็นสบายไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดอยู่ในระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน อุณหภูมิจะลดลงอยู่ระหว่างประมาณ 15-20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปและสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของเขตพื้นที่ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดกับ เขตพื้นที่ชายแดนสหภาพเมียนมา
บ้านแม่จันหลวงเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นทางภาคเหนือ คือ อ่าข่า โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 973 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 515 คน ประชากรหญิง 458 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 229 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)
อ่าข่าด้วยสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจึงประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งวิถีชีวิตและภูมิปัญญาด้านการเกษตรกที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ในอดีตชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน ทั้งข้าวโพดและนาขั้นบันไดเป็นอาชีพหลัก ก่อนจะเปลี่ยนมาเพาะปลูกข้าวและพืชผักต่าง ๆ สำหรับบริโภคในครัวเรือน ควบคู่ไปกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อทำรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งพืชเศรษฐกิจหลักที่ชาวบ้านแม่จันหลวงนิยมปลูกจะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ พลัม ชา และกาแฟ ในบรรดาพืชทั้ง 3 กาแฟถือเป็นพืชที่สร้างรายได้และความมั่นคงได้สูงที่สุด และนั่นจึงทำให้การปลูกกาแฟเป็นที่นิยมในหมู่บ้าน จนกลายมาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านไปโดยปริยาย
กาแฟเข้ามาในหมู่บ้านแม่จันหลวงครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผ่านการนำเข้ามาของ อาจือ โซ่เซ ผู้นำอาวุโสของหมู่บ้าน ช่วงเวลาที่คนในหมู่บ้านยังไม่เข้าใจว่าเราปลูกกาแฟไปเพื่ออะไร เพราะการดื่มกาแฟยังไม่เป็นที่นิยม ถึงแม้ว่าเมล็ดกาแฟจะสามารถนำไปขายที่ร้านในตัวเมืองแม่สลองได้ แต่ก็ได้ในราคาไม่สูง ชาวบ้านจึงไม่ค่อยสนใจในการปลูกกาแฟเท่าไหร่นัก
มุมมองในเรื่องกาแฟของชาวบ้านเปลี่ยนไป เมื่อกาแฟดอยช้างเริ่มมีชื่อเสียง ชาวบ้านได้เริ่มหันมาปลูกกาแฟเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัว โดยเกษตรกรบ้านแม่จันหลวงจะปลูกกาแฟในระบบสวนผสม ซึ่งจะเป็นการปลูกกาแฟร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น เชอร์รี หรือผลท้อ ในช่วงแรกชาวบ้านจะนำกาแฟที่ปลูกได้ ไปจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปดอยช้างในรูปแบบกะลา และร้านกาแฟในตัวเมืองแม่สลอง โดยมีคุณอายิ ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ส่งเสริมและพลักดันกาแฟของชุมชน และส่งเข้าประกวดในหลายเวทีจนได้รับรองวันกลับมาซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีถึงคุณภาพของกาแฟบ้านแม่จันหลวง และศักยภาพของต้นทุนในการผลิตกาแฟของชุมชน
หลังจากที่กาแฟแม่จันหลวงของอายิได้รับรางวัล เกษตรกรในพื้นที่จึงเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น ชาวบ้านหันมาสนใจกาแฟอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นได้ทำให้กาแฟจากบ้านแม่จันหลวงเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบนดอยแม่สลอง เริ่มมองเห็นคุณค่าของการปลูกและการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพมากขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืน อายิ จึงได้ตัดสินใจรวมกลุ่มกับเกษตรกรคนอื่น ๆ เพื่อจัดตั้ง "กลุ่มชุมชนกาแฟแม่จันหลวง" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อุปกรณ์ สนับสนุนเครื่องมือ และตามหาตลาดใหม่ ๆ ในการขายกาแฟ เพื่อความมั่นคงทางรายได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันกลุ่มชุมชนกาแฟแม่จันหลวงมีสมาชิกอยู่ประมาณ 10 คน โดยมีอายิเป็นหัวเรือใหญ่ที่คอยรับซื้อผลผลิตจากบรรดาลูกสวนทั้งหมด นอกจากนี้ ยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านแม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้อีกด้วย
บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นทางภาคเหนือ คือ อาข่า โดยลักษณะของชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม กล่าวคือ ชาวบ้านในชุมชนนอกจากจะดำเนินชีวิตตามวิถีของการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวนกาแฟ ปลูกพืชผักต่าง ๆ ตามฤดูกาลที่หมุนเวียนไปแล้ว สมาชิกในชุมชนยังมีความเชื่อที่หลากหลาย ทั้งผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ และผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องการนับถือผี นับถือบรรพบุรุษตามวัฒนธรรมของกลุ่มชุนเผ่าภาคเหนือ อีกทั้งพื้นที่ชุมชนในตำบลแม่สลองนอกยังมีความหลากหลายของกลุ่มคน โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 7 กลุ่ม กิจกรรมประเพณีเทศกาลจึงมีความแตกต่างและหลากหลายตามแต่ละช่วงที่ชาวบ้านให้ความสนใจเข้าร่วม และติดต่อระหว่างกัน โดยมีประเพณีและกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ
- ประเพณีวันขึ้นปีใหม่
- ประเพณีตรุษจีน
- ประเพณีไหว้พระจันทร์
- ประเพณีโล้ชิงช้า
- งานเทศกาลชิมชา ซากุระงาม วัฒนธรรมชนเผ่า และกาแฟดอยแม่สลอง
- กิจกรรมตามความเชื่อท้องถิ่นตลอดทั้งปี ฯลฯ
1.อายิ มอโป๊ะกู่
เจ้าของรางวัลอันดับ 1 จากการประกวด 10 สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ปี 2560 ที่นอกจากจะเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับกาแฟจากดอยแม่สลองแล้ว อายิยังกลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในหมู่บ้านแม่จันหลวง เริ่มมองเห็นคุณค่าของการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ในปี 2560 อายิได้ส่งกาแฟเข้าประกวด 10 สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย โดยส่งตัวอย่างเมล็ดกาแฟเข้าประกวดในประเภท Washed Process ที่มีจุดเด่นคือ เป็นกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ราบชันบนความสูงเฉลี่ย 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีสภาพอากาศเป็นที่ร่มหลังเวลาบ่ายสองโมง ต้นกาแฟจะได้รับแสงแดดในตอนเช้า และได้ร่มเงาในตอนบ่าย นอกจากนี้ ในบริเวณที่ปลูกต้นกาแฟ ยังมีการปลูกต้นเชอร์รีและต้นพลัมเพื่อให้ร่มเงาเป็นบางจุด มีสภาพดินที่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เคยเป็นพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลี มะเขือเทศ และยอดมะระหวาน ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟมามากกว่า 10 ปี จึงทำให้ดินมีสภาพร่วนและชุ่มชื่นตลอดทั้งปี และด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมเหล่านี้ ที่มาผนวกรวมกับการแปรรูปอย่างพิถีพิถัน จึงทำให้กาแฟตัวอย่างของอายิ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภท Washed Process จากเวที 10 สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ปี 2017
นอกจากกาแฟตัวอย่างที่ได้รางวัลอันดับที่ 1 แล้ว ในปีเดียวกันนั้น อายิยังได้ส่งตัวอย่างเมล็ดกาแฟเพื่อเข้าประกวดอีก 3 ตัวอย่าง และสามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 4 และ 7 มาได้ โดยตัวอย่างที่ 2 ที่ได้รางวัลอันดับที่ 4 เป็นตัวอย่างเมล็ดกาแฟที่ผ่านการแปรรูปด้วยวิธี Dry Process ตัวอย่างที่ 3 เป็นตัวอย่างเมล็ดกาแฟที่ได้รับรางวัลอับดับ 7 เป็นตัวอย่างที่ผ่านการแปรรูปแบบ Washed Process เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 แต่ต่างกันที่ตัวอย่างนี้จะเป็นเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกบนพื้นที่สูง 1,100 เมตร ในสภาพอากาศที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน และมีสภาพดินที่แห้งกว่า ส่วนตัวอย่างที่ 4 เป็นตัวอย่างที่ อายิ ได้ทดลองผสมเมล็ดกาแฟสีแดงและสีเหลืองเข้าด้วยกัน ก่อนจะนำไปผ่านการแปรรูปแบบ Washed Process แต่น่าเสียดายที่ตัวอย่างนี้ไม่ได้รับรางวัล แต่ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นการทดลองที่ดี ที่สามารถนำไปปรับปรุงกาแฟของตนเองในอนาคตได้
บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่มีต้นทุนสำคัญของชุมชน คือ ทรัพยากรทางธรรมชาติ บ้านแม่จันหลวงเป็นพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง ล้อมรอบไปด้วยภูเขาและหุบเขาเรียงรายสลับซับซ้อน และมีพื้นที่ป่าไม้ที่เขียวขจี มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในท้องถิ่น ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเป็นพื้นที่ค่อนข้างหนาวเย็น ทำให้เหมาะสมต่อการปลูกไม้เมืองหนาว และพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ หลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกกาแฟ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งโดยมากประชากรในชุมชนเป็นเจ้าของสวนกาแฟ ทั้งที่เป็นแปลงขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็ก ตามแต่ละครัวเรือน ด้วยปัจจัยของต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมดังกล่าว ชุมชนจึงสามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิตกาแฟของบ้านแม่จันหลวงให้มีคุณภาพมายิ่งขึ้นจนเป็นที่ยอมรับได้
บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่คือ กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ซึ่งมีภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษาอ่าข่า โดยใช้เป็นภาษาหลักที่ติดต่อระหว่างกันภายในชุมชน
นุชนาฏ พุ่มวิเศษ. (2544). กระบวนการถ่ายทอดแนวคิดเกษตรผสมผสานของหมู่บ้านแม่จันหลวง จังหวัดเชียงราย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ผู้จัดการออนไลน์. (25 กันยายน 2567). “ปลูกกาแฟอะราบิกาใต้ร่มเงา” งานวิจัยสู่การพัฒนา สร้างป่า สร้างรายได้ ชุมชนบ้านแม่จันหลวง จังหวัดเชียงราย. สืบค้น 5 เมษายน 2568, จาก https://mgronline.com/
ศศช.บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง. (16 กันยายน 2565). ร่วมงานพิธี ในหมูบ้าน. สืบค้น 5 เมษายน 2568, จาก https://www.facebook.com/
ศศช.บ้านแม่จันหลวง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง. (27 สิงหาคม 2566). ร่วมงานประเพณีปีใหม่ โล้ชิงช้าประจำปี2566. สืบค้น 5 เมษายน 2568, จาก https://www.facebook.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). สืบค้น 5 เมษายน 2568, จาก https://www.maesalongnok.go.th/
Coffeetravelermag. (29 มิถุนายน 2567). 13TH ANNIVERSARY BLEND EP3 : กลุ่มชุมชนกาแฟแม่จันหลวง แห่งดอยแม่สลองนอก. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2568, จาก https://www.coffeetravelermagazine.com/