
เป็นชุมชนที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมอญ มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการเกษตรที่หลากหลายและเข้มแข็ง มีการคมนาคมสะดวก และมีวัดเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชุมชน
ประวัติความเป็นมาของบ้านเขาราบ ตั้งชื่อตามภูเขาเล็ก ๆ เตี้ย ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "เขาราบ"
เป็นชุมชนที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมอญ มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการเกษตรที่หลากหลายและเข้มแข็ง มีการคมนาคมสะดวก และมีวัดเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชุมชน
ประวัติความเป็นมาของบ้านเขาราบ ตั้งชื่อตามภูเขาเล็ก ๆ เตี้ย ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เขาราบ จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านยุคบุกเบิกพื้นที่และตั้งถิ่นฐานทำกินเล่าว่าคนที่มาตั้งถิ่นฐาน คือ ตาเวิกและตาปัด ซึ่งเป็นคนมอญ ในระยะแรกเข้ามาทำไร่ หาของป่ากินพอดำรงชีวิตคาดว่าน่าจะประมาณ 100 กว่าปีได้ แต่สมัยนั้นคนกลัวผีเพราะตามตำนานเรื่องเล่าของบ้านเขาราบขึ้นชื่อว่าผีดุ หมู่บ้านจึงมีระยะเวลาที่เว้นว่างจากการเข้ามาอาศัยอยู่ของคนกว่า 20 ปี และหลังจากนั้น ตาพร้อมซึ่งเป็นลุงของตาพิมได้เข้ามาทำนาและสร้างวัดบนเขาหลังจากเริ่มมีคนเข้ามาอยู่มากขึ้น ช่วงที่ตาพิมเกิดก็พบว่ามีวัดเขาราบแล้ว ครอบครัวของตาพิม คือ พ่อชด แม่แขก เป็นคนมอญย้ายมาจากวัดชำแระ ช่วงนั้นมีชาวบ้านย้ายมาพร้อม ๆ กันถึง 20 หลัง ซึ่งมาจากต่างพื้นที่ เช่น บ้านหัวหิน จากอำเภอบ้านโป่ง นครชุมน์ เขาพรุ วัดเกาะ สร้อยฟ้า แต่ตาพร้อมเข้ามาอยู่เป็นคนแรกและได้สร้างบ้านอาศัยอยู่ติดกับอนามัยเขาราบในปัจจุบัน คนแต่ก่อนแค่ทำกินแต่ไม่ได้สนับสนุนเรื่องการเรียน ทำนาแบบอาศัยน้ำฝน ไถนาไว้ถ้าฝนมาเร็วก็ดำ ฝนมาช้าก็หว่านไว้ ผลผลิตไม่ถึงครึ่ง ข้าวที่ปลูกสมัยนั้น คือ ข้าวเหลืองทอง ขาวสูง เหลืองปะทิว ถ้าได้ข้าว 50 ถัง นี้ถึงว่าได้เยอะ เกวียนได้มากสุด 1,200-1,400 บาท เกี่ยวแล้วแบกมาให้วัวเยียบ ถ้านาที่เป็นที่ดอนก็ได้นาน ช่วยกันทำวนไปแต่ละบ้านพอได้ข้าวก็ต้องแบ่งไว้ทำนาปลูก แบ่งขาย และไว้ทำกิน
ในสมัยนั้นทุกบ้านล้วนเลี้ยงวัวเพราะใช้วัวทำทุกอย่าง คนมอญที่เข้ามาอยู่อาศัยก็ทำนาปลูกข้าว บางคนเป็นมอญแต่ไม่ได้ถือผีมอญ สำหรับวัดเขาราบมีพระมอญที่จำพรรษาแต่ไม่ได้สวดมอญ การเข้าโรงเรียนในสมัยนั้นเข้าเรียนที่วัดเขาราบและแต่ก่อนมีพระสอนเด็กที่โรงเรียนบนเขาครูสอนทุกวันเว้นวันหยุด พอมีน้ำคลองซึ่งน้ำมาจากท่ามะกา กาญจนบุรี ก็เริ่มมีรถไถเข้ามา และเข้ามาวิธีการทำนาก็เปลี่ยนไปจากวิถีดั้งเดิม ข้าวแต่ก่อนจะออกพร้อมกัน ข้าวสมัยนี้ตามเวลาส่งผลให้ประเพณีการทำนาหายหมด คนสมัยก่อนอยู่คนเดียวไม่ได้จึงต้องช่วยกันทำเสมอในทุก ๆ กิจกรรม
สภาพพื้นที่
ลักษณะภูมิประเทศสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีระบบชลประทานค่อนข้างดีส่งน้ำไหลผ่าน เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช และทำนา ทำสวน ทำไร่ และการเกษตรต่างๆ มีปริมาณ น้ำจากคลองส่งน้ำตลอดทั้งปี สภาพดินอุดมสมบูรณ์ การคมนาคมสะดวก สภาพบ้านเรือนอยู่แบบกระจายยังไม่หนาแน่น
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านหนองขนาน หมู่ที่ 5 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองตายอ หมู่ที่ 9 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านดอนไม้ลาย หมู่ที่ 6 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองบัว หมู่ที่ 6 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม
ลักษณะภูมิอากาศ
อยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทยซึ่งมีสภาพภูมิอากาศอยู่ในเขตโซนร้อน ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ฤดู
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มพัดเข้าสู่ จังหวัดราชบุรี และจะสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หนาวปานกลาง
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และสิ้นสุดลงราวต้นเดือนพฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อนและอบอ้าว
บ้านเขาราบมีจำนวนครัวเรือน 204 ครัวเรือน ประชากรประกอบด้วยเพศชาย 291 คน เพศหญิง 304 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 595 คน
มอญการประกอบอาชีพ
- อาชีพหลัก ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ รับราชการ ค้าขาย ช่างเสริมสวย
- อาชีพรอง รับจ้างทั่วไป
- อาชีพเสริม เพาะเห็ด เย็บตุ๊กตา เผาถ่าน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ หมูขุน และอื่น ๆ
กลุ่มอาชีพ
- กลุ่มพัฒนาเพาะเห็ด
- กลุ่มเกษตรผสมผสาน บ้านเขาราบ
- กลุ่มเพาะเห็ดโรงเรือน
- กลุ่มเห็ดพัฒนาเขาราบเมืองใหม่
- กลุ่มเกษตรกรชุมชนเขาราบ
- กลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ด
- กลุ่มเกษตรผสมผสาน
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตทำเส้นขนมจีนแป้งหมัก
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | ทำบุญขึ้นปีใหม่ที่วัดเขาราบ |
กุมภาพันธ์ | เริ่มไถนาเตรียมดิน, ปลูกข้าว, เพาะปลูกข้าวนาปรัง |
มีนาคม | ทำนาปรัง, ดูแลแปลงข้าว หว่านปุย |
เมษายน | ทำบุญวันสงกรานต์, จัดประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุ ที่วัดเขาราบ ตำบลเตาปูน |
พฤษภาคม | ดูแลแปลงนา |
มิถุนายน | เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง |
กรกฎาคม | เตรียมดินปลูกข้าวนาปี |
สิงหาคม | ปลูกข้าวนาปี |
กันยายน | ดูแลนาปี |
ตุลาคม | ดูแลนา, ทำบุญวันออกพรรษา ที่วัดเขาราบ ตำบลเตาปูน |
พฤศจิกายน | ปลายเดือนเริ่มเกี่ยวข้าว |
ธันวาคม | เก็บเกี่ยวข้าวนาปี, ทำบุญสิ้นปี, สวดมนต์ข้ามปี, เก็บฟางขาย |
แพทย์แผนไทย / สมุนไพร / หมอพื้นบ้าน
- นางปาน รักทอง แพทย์แผนไทย(นวดแผนโบราณ)
- นางสบ เง่อเขียว หมอพื้นบ้าน (หมอกวาดยา)
ผู้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม / ประเพณีท้องถิ่น
- นายแผ้ว ผลอุดม มีความสามารถด้านอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น
- นายสุนทร องค์สอาด มีความสามารถด้านอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น
งานฝีมือต่าง ๆ
- นายขวัญเมือง เง่อเขียว มีความสามารถออกแบบ ก่อสร้าง
ผู้มีความรู้ด้านการเกษตร
- นายกฤษณะ ฮวดลิ้ม จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง พ่อสร้างลูกสาน
- นายสมชาย เตี๊ยกคำ มีความสามารถด้านหมอดินตำบล
- นายสำรวย แพ่งคำ มีความสามารถด้านหมอดินหมู่บ้าน
- นายบุญชู ผลอุดม ขยายพันธุ์พืช เพาะปลูก
ผู้มีความรู้ความเชื่อ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์
- นายแกลบ โพธารส มีความสามารถด้านไสยศาสตร์
ผู้มีความรู้ด้านการถนอมอาหาร
- นางนวล จำเหล่ มีความสามารถด้านดองหน่อไม้ ดองมะม่วง
ผู้มีความสามารถด้านการบริหารจัดการกลุ่ม/การบริหารจัดการกองทุน
- นายประสานต์ จำเหล่ มีความสามารถด้านบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน
- นางวรรณกร เง่อเขียว มีความสามารถด้านบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์
- นายสุนทร องค์สะอาด มีความสามารถด้านการบริหารดูแลกองทุนออมทรัพย์และกองทุนฌาปนกิจศพ ศพละ 30 บาท
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
- นางสำเนียง ฮวดลิ้ม มีความสามารถด้านการบริหารวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเส้นขนมจีนแป้งหมัก
วัดเขาราบ
ประวัติความเป็นมา ตั้งอยู่ หมู่ 6 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 21 ไร่ สร้างก่อน พ.ศ. 2468 ประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2468 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นวัดเก่าไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างแต่วัดอยู่บนภูเขาซึ่งยอดเขาเป็นที่ราบ จึงได้ชื่อว่า วัดเขาราบ พระล้วนได้ก่อสร้างเสนาสนะเพื่อใช้เป็นที่พักสงฆ์ และบำเพ็ญกุศล วัดได้รับการพัฒนาและบูรณะมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การบริหารการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระอธิการล้วน อินฺทโก พ.ศ. 2501-2542 รูปที่ 2 พระเปีย จิตจิตฺโต พ.ศ. 2542-2550 รูปที่ 3 พระอธิการยันต์ พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน
วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง. (2565). รายงานผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย (U2T) ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. http://www.taopoon.org/
นายบุญชู ผลอุดม, สัมภาษณ์, 25 กันยายน 2564
นายเตี๊ยะ แก้วสะอาด, สัมภาษณ์, 25 กันยายน 2564
นายประดิษฐ์ ผลอุดม, สัมภาษณ์, 25 กันยายน 2564
นายประสาน จำเหล่, สัมภาษณ์, 25 กันยายน 2564
นายพิม ผลอุดม, สัมภาษณ์, 25 กันยายน 2564