Advance search

ชุมชนเตาปูนมีความโดดเด่นในด้านการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว อ้อย และพืชสวนต่าง ๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรแบบพอเพียง และใช้เทคนิคการทำเกษตรแบบยั่งยืน

หมู่ที่ 2
บ้านเตาปูน
เตาปูน
โพธาราม
ราชบุรี
อบต.เตาปูน โทร. 0 3220 6380-3
ธนพร บุรีเลิศ
25 มี.ค. 2025
สลิลทิพย์ เนื้อนุ่ม
8 เม.ย. 2025
สลิลทิพย์ เนื้อนุ่ม
8 เม.ย. 2025
บ้านเตาปูน

สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านเตาปูน เดิมชาวบ้านเล่าว่าที่หมู่บ้านมีเตาเผาปูนคนโบราณในรุ่นบรรพบุรุษได้เข้ามาประกอบอาชีพเผาปูนขายและได้สร้างเตาเผาสำหรับเผาปูนขนาดใหญ่ไว้ โดยจะนิยมสร้างเตาเผาปูนอยู่ใกล้บริเวณริมแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าคลองบางสองร้อยที่ในสมัยก่อนสามารถเชื่อมต่อไปถึงทุ่งเขางูเพราะในสมัยนั้นการเดินทางสัญจรต้องเดินทางไปมาด้วยเรือเท่านั้น และรวมถึงเพื่อความสะดวกในการขนย้ายวัตถุดิบและขนส่งผลผลิตออกสู่ท้องตลาด สำหรับบริเวณที่ตั้งของเตาเผาปูนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 บ้านเตาปูน จากเรื่องราวและข้อมูลที่ชุมชนชาวบ้านได้เล่าสืบต่อกันมานั้น คาดว่าน่าจะมีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสภาพภูมิประเทศ เพราะการที่จังหวัดราชบุรีมีภูเขาหินปูนอยู่จำนวนมาก และได้มีการกล่าวถึงในเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริที่จะบูรณะสร้างพระปฐมเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับเจดีย์องค์เดิมนั้น ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ปูนขาวจากเมืองราชบุรีในการก่อสร้าง มีการก่อตั้งกองเผาปูนขึ้นที่เมืองราชบุรี แล้วขนลำเลียงปูนขาวที่ได้มายังเมืองนครชัยศรี นับจากนั้นอุตสาหกรรมเผาปูนขาวในจังหวัดราชบุรีจึงขยายตัวมากขึ้น


ชุมชนชนบท

ชุมชนเตาปูนมีความโดดเด่นในด้านการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว อ้อย และพืชสวนต่าง ๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรแบบพอเพียง และใช้เทคนิคการทำเกษตรแบบยั่งยืน

บ้านเตาปูน
หมู่ที่ 2
เตาปูน
โพธาราม
ราชบุรี
70120
13.722884061477632
99.78700197219196
องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเตาปูน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่าชุมชนนี้ ราว 160-170 ปีมาแล้ว ผู้อาวุโสของต้นตระกูลเล่าให้ฟังต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยนั้นที่บ้านเตาปูนมีต้นตระกูลใหญ่ ๆ อยู่ 4 นามสกุลประกอบด้วย นามสุกลสิทธิกูล ย้ายมาจากทางวัดเกาะ โพธาราม ต้นตระกูลชานุ ย้ายมาจากบางกระดี่ สมุทรสาคร ต้นตระกูลบัวเบา ย้ายมาจากบางกระเจ้า มหาชัย และนามสกุลวรรณกรี เป็นต้นตระกูลของพระครูบวรวิสุทธิวัตร หรือ หลวงปู่ต๊ะ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาช่องพราน องค์ที่ 6 ซึ่งต้นตระกูลที่กล่าวมาเป็นคนไทยเชื้อสายมอญทั้งหมด เข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้วก็เริ่มมีวัดเขาช่องพรานขึ้นมา แต่ก่อนที่มีวัดนั้นภายในถ้ำพบพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่จำนวนมาก

สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านเตาปูน เดิมชาวบ้านเล่าว่าที่หมู่บ้านมีเตาเผาปูนคนโบราณในรุ่นบรรพบุรุษได้เข้ามาประกอบอาชีพเผาปูนขายและได้สร้างเตาเผาสำหรับเผาปูนขนาดใหญ่ไว้ โดยจะนิยมสร้างเตาเผาปูนอยู่ใกล้บริเวณริมแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าคลองบางสองร้อยที่ในสมัยก่อนสามารถเชื่อมต่อไปถึงทุ่งเขางูเพราะในสมัยนั้นการเดินทางสัญจรต้องเดินทางไปมาด้วยเรือเท่านั้น และรวมถึงเพื่อความสะดวกในการขนย้ายวัตถุดิบและขนส่งผลผลิตออกสู่ท้องตลาด สำหรับบริเวณที่ตั้งของเตาเผาปูนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 บ้านเตาปูน จากเรื่องราวและข้อมูลที่ชุมชนชาวบ้านได้เล่าสืบต่อกันมานั้น คาดว่าน่าจะมีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสภาพภูมิประเทศ เพราะการที่จังหวัดราชบุรีมีภูเขาหินปูนอยู่จำนวนมาก และได้มีการกล่าวถึงในเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริที่จะบูรณะสร้างพระปฐมเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับเจดีย์องค์เดิมนั้น ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ปูนขาวจากเมืองราชบุรีในการก่อสร้าง มีการก่อตั้งกองเผาปูนขึ้นที่เมืองราชบุรี แล้วขนลำเลียงปูนขาวที่ได้มายังเมืองนครชัยศรี นับจากนั้นอุตสาหกรรมเผาปูนขาวในจังหวัดราชบุรีจึงขยายตัวมากขึ้น

ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการสร้างเตาเผาปูนจำนวนมากบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองและคลองสาขาต่าง ๆ เพื่อประกอบอาชีพทำปูนขาว-ปูนแดงส่งไปขายยังพระนคร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเตาเผาปูนที่ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 2 บ้านเตาปูน ตำบลเตาปูน อาจจะเป็นเตาเผาปูนโบราณที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเคยใช้เป็นเครื่องมือในการเผาปูนขายเพื่อเลี้ยงชีพก่อนจะถูกทิ้งร้างไปเพราะการล้มเลิกกิจการของโรงปูนหลวงในปี พ.ศ. 2442 และจากจดหมายเหตุแถลงการฝึกหัดยุทธวิธีเสือป่ากองเสนาหลวง (รักษาพระองค์) ปี พ.ศ. 2457 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฏข้อความในเอกสารว่า บ้านเตาปูนอยู่ข้างทิศใต้ห่างจากเขาช่องพรานประมาณ 50 เส้น มีเรือนประมาณ 50 หลัง มีคนประมาณ 150 คน ชาย 70 หญิง 80 เป็นมอญ 146 คน จีน 4 คน ตำแหน่งที่ตั้งเตาเผาปูนโบราณในปัจจุบันที่เดิมเคยเป็นเนินดินอยู่กลางทุ่งนาอันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน

สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีระบบชลประทานค่อนข้างดีส่งน้ำไหลผ่าน เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช และทำนา ทำสวน ทำไร่ และการเกษตรต่าง ๆ มีปริมาณน้ำจากคลองส่งน้ำตลอดทั้งปี มีคลองบางสองร้อยไหลผ่านหมู่บ้าน สภาพดินอุดมสมบูรณ์ การคมนาคมสะดวก

พื้นที่อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโคกทอง หมู่ที่ 1 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองสระ หมู่ที่ 4 ตำบลเตาปูน และหมู่ที่ 6 ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม
  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองกลางดง หมู่ที่ 6 ตำบลชำแระ และบ้านดอนมะขามเฒ่า หมู่ที่ 3 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม
  • ทิศใต้ ติดกับ คลองบางสองร้อย หมู่ที่ 9 ตำบลท่าชุมพล อำเภอโพธาราม

สถานที่สำคัญในชุมชน

  • เตาเผาปูนโบราณ เตาเผาปูนโบราณที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นรูปแบบสำหรับการเทียบเคียงและสันนิษฐานเค้าโครงของเตาเผาปูนโบราณของบ้านเตาปูน ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
  • สถานที่ตั้งเตาปูนกลางทุ่ง สภาพเตาเผาปูนโบราณที่อยู่กลางทุ่งนาก่อนจะถูกปรับไถหน้าดินเพื่อทำการเกษตร
  • วัดเขาช่องพราน
  • จุดชมวิวเขาช่องพราน
  • ตลาดนัดเขาช่องพราน
  • เขตห้ามล่าสัตว์

บ้านตาปูนมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 136 ครัวเรือน ประชากรประกอบด้วยเพศชาย 111 คน และเพศหญิง 121 คน รวมทั้งสิ้น 232 คน

  1. กลุ่มเกษตรกรบ้านดอนโพธิ์-ห้วยตาเซาะ
  2. กลุ่มทำลูกประคบ
เดือน กิจกรรม
มกราคม เกี่ยวข้าวนาปี, ทำบุญขึ้นปีใหม่ที่วัดเขาช่องพราน
กุมภาพันธ์ เตรียมดิน ปลูกข้าว เพาะปลูกข้าวนาปรัง
มีนาคม ทำนาปรัง ดูแลแปลงข้าว หว่านปุ๋ย
เมษายน จัดประเพณีสงกรานต์, ทำบุญวันสงกรานต์, รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุ ที่วัดเขาช่องพราน, เชิญผ้าผูกที่ยอดเจดีย์และแห่ธงตะขาบที่วัดเขาช่องพราน
พฤษภาคม ดูแลแปลงนา
มิถุนายน เลี้ยงพระและศาลกลางหมู่บ้าน, เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง
กรกฎาคม เตรียมดินปลูกข้าวนาปี
สิงหาคม ปลูกข้าวนาปี, พัฒนาข้างถนนและลอกคลอง
กันยายน ดูแลนาปี
ตุลาคม ทำบุญวันออกพรรษา ที่วัดเขาช่องพราน, ดูแลแปลงนา
พฤศจิกายน เตรียมเก็บเกี่ยวข้าวนาปี, งานลอยกระทงที่วัดเขาช่องพราน
ธันวาคม ทำบุญสิ้นปี, สวดมนต์ข้ามปี, เก็บเกี่ยวข้าวนาปี, เก็บฟางก้อนขาย, พัฒนาข้างถนนและลอกคลอง

ผู้อนุรักษ์ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม / ประเพณีท้องถิ่น ได้แก่

  • นายป่วน ชานุ มีความสามารถด้านเครื่องดนตรีไทย
  • นายสมชัย ชานุ มีความสามารถด้านภาษามอญ การอ่านคัมภีร์ และพิธีกรรมต่าง ๆ

ผู้มีความรู้ด้านการเกษตร

  • นายสา ชานุ การปรับใช้เทคโนโลยี
  • นายบุญเลิศ บุญไพโรจน์ การปรับใช้เทคโนโลยี

ผู้มีความสามารถด้านการบริหารจัดการกลุ่ม/การบริหารจัดการกองทุน

  • นางหอม บัวเบา การบริหารจัดการกองทุน
  • นางทองดี ไตรรงค์วิจิตร การบริหารจัดการกลุ่มปุ๋ย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง. (2565). รายงานผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย (U2T) ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. http://www.taopoon.org/

องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป อบต.เตาปูน. http://www.taopoon.org/site/

นายนม ชานุ, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2564

นายบุญเลิศ พลไพโรจน์, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2564

นายสิงหา  สิทธิกุล, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2564

นางปิ่น เต็มรัศมี, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2564

นายสมชัย ชานุ, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2564

นางสาวทองดี ไตรรงค์วิจิตร, สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม 2564

อบต.เตาปูน โทร. 0 3220 6380-3