Advance search

บ้านหัวทะเล

โต๊ะหวันเต๊ะห์ บุคคลที่เดินทางมาจากเมืองไทรบุรี เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับอัลกุรอ่าน ได้ถ่ายทอดวิชาการศาสนาด้วยการสอนให้กับคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงกว่า 50 ปี ภายหลังจากการเสียชีวิต ร่างของท่านถูกฝังไว้ที่สุสานมัสยิดการาหมาดบ้านหัวทะเล หรือบางคนเรียกกันว่า สุสานโต๊ะหวันเต๊ะห์ และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชนบ้านหัวทะเลด้านการศึกษาศาสนาเป็นอย่างมาก

หมู่ที่ 1
บ้านหัวทะเล
นาเคียน
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
สุพิชญา สุขเสมอ
10 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
27 เม.ย. 2023
บ้านหัวทะเล

“บ้านหัวทะเล” อาจมีที่มาจากพื้นที่ในชุมชนในอดีตที่เป็นพื้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญทางการคมนาคมติดต่อค้าขาย รวมทั้งเป็นท่าเรือขนาดเล็กของพ่อค้าและนักเดินทาง คำว่า “หัว” ซึ่งเป็นชื่ออวัยวะหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญและยังใช้เป็นคำเรียกจุดเริ่มต้น เช่น หัวสะพาน หัวถนน เป็นต้น กล่าวได้อีกอย่างว่าบริเวณดังกล่าวอาจเป็นท่าเทียบเรือที่พ่อค้า หรือนักเดินทางต้องเทียบเรือก่อนที่จะเดินทางไปในจุดอื่น ๆ ต่อไป และ “ทะเล” อาจมาจากที่คลองท่าแพที่เป็นน้ำกร่อยซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพื้นน้ำในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันคลองท่าแพจะส่งน้ำลงสู่อ่าวไทย จึงเป็นไปได้ว่า ทะเลที่เรียกนั้นมาจากคลองท่าแพซึ่งเป็นต้นน้ำในพื้นที่เป็นแอ่งหลุมขนาดใหญ่ในอดีต “บ้านหัวทะเล” จึงเป็นคำเรียกหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

โต๊ะหวันเต๊ะห์ บุคคลที่เดินทางมาจากเมืองไทรบุรี เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับอัลกุรอ่าน ได้ถ่ายทอดวิชาการศาสนาด้วยการสอนให้กับคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงกว่า 50 ปี ภายหลังจากการเสียชีวิต ร่างของท่านถูกฝังไว้ที่สุสานมัสยิดการาหมาดบ้านหัวทะเล หรือบางคนเรียกกันว่า สุสานโต๊ะหวันเต๊ะห์ และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชนบ้านหัวทะเลด้านการศึกษาศาสนาเป็นอย่างมาก

บ้านหัวทะเล
หมู่ที่ 1
นาเคียน
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
30000
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-0382-3550, อบต.นาเคียน โทร. 0-7544-7011
8.459986
99.930464
เทศบาลตำบลหัวทะเล

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

บ้านหัวทะเลในอดีตก่อนจะมีผู้คนมาจับจองพื้นที่ บางส่วนนั้นเป็นน้ำ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหลุมแอ่งขนาดใหญ่ โดยจะมีต้นน้ำที่ไหลมายังแอ่งหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำกร่อยที่ไหลมาจากคลองท่าแพ จึงทำให้พื้นที่ของชุมชนเป็นหลุมแอ่งขนาดใหญ่กลายเป็นพื้นน้ำ ซึ่งในอดีตพื้นที่บริเวณนั้นเคยเป็นแหล่งในการคมนาคมติดต่อค้าขายและอื่น ๆ กาลเวลาล่วงเลยมายาวนาน และเกิดการทับถมของชั้นดินทำให้ชั้นดินส่วนที่เป็นพื้นน้ำค่อย ๆ แห้งขอดลง

และอีกรายงานหนึ่งก็คือ บริเวณชุมชนดังกล่าวเคยเป็นทะเลมาก่อน ซึ่งได้รับทราบมาจากข้อมูลจากคำบอกเล่าของชุมชนที่ว่า ถ้าหากขุดดินลงไปลึกประมาณ 5-6  เมตร จะเห็นได้ว่าดินด้านล่างเป็นดินเลนทะเล พบเปลือกหอยหลากหลายชนิด ซึ่งนั่นหมายถึง เมื่อก่อนนั้นบริเวณนี้ น้ำทะเลสามารถที่จะเข้าถึงได้ และบางท่านบอกว่าหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่พอจะยืนยันได้ว่าพื้นที่แห่งนี้อาจเคยเป็นทะเลหรือชายเลนมาก่อน นั่นก็คือชิ้นส่วนของต้นไม้ ใบไม้ เมล็ดพืชและเปลือกหอย ซึ่งชาวบ้านบังเอิญพบเจอในระหว่างการขุดน้ำของชาวบ้าน ในระดับความลึก 3-4 เมตรโดยประมาณ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าพื้นที่แห่งนี้คงจะอยู่ต่ำกว่าในปัจจุบัน

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คน

พบว่าการเข้ามาของคนมุสลิมที่มาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชนั้นได้มีมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่อดีตกาลที่เมืองนครศรีธรรมราชเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน โดยผ่านรูปแบบการทำมาค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิมที่มาจากไหหลำและคุนหมิงประเทศจีน คนแขกที่มาจากอินเดีย ปากีสถาน หรือแม้แต่คนมลายูจากเกาะชวา หรือเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย และรวมถึงคนมาเลเซียเองก็ตาม อาจจะโดยการค้าขาย การเดินทางเพื่อหาที่ทำมาหากิน หรือการเสาะแสวงหาดินแดนใหม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่จึงทำให้มีมุสลิมได้เข้ามาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชอยู่เรื่อยมา และครั้งใหญ่สุดที่มุสลิมถูกเกณฑ์เข้ามาอาจจะด้วยความสมัครใจหรือถูกบังคับก็แล้วแต่ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้เข้าไปตีเมืองไทรบุรีเพราะการแข็งข้อ ขัดขืน ไม่ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเพื่อถวายแก่เมืองหลวง โดยสมัยนั้นพระยาไทรบุรีปะแงรัน เป็นเจ้าเมืองไทรบุรี ในการศึกครั้งนั้นเมืองนครฯ เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะพร้อมด้วยกับการกลับสู่เมืองนครด้วยกับคนมลายูในฐานะเชลยศึก จึงทำให้คนมุสลิมมลายูจำนวนมากถูกโยกย้ายโอนถ่ายจากเมืองไทรบุรี มาสู่มาตุภูมินครศรีธรรมราช อาจารย์กิตติพงษ์ พงค์ยี่ลำ เล่าว่า "เมื่อก่อนขุนนางที่ตามมาหรือที่เขาชวนกันมาร่วมกัน สร้างเมือง ใครทำนาก็ทำนา ประมงก็แบ่งเขตกัน วางเป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะฆ่าทำลาย เขาชวนมาสร้างเมือง เพื่อให้มีกำลังพลมาก เป็นแผนควบคุมกำลังพล ถ้าเขาไว้ที่โน้นพวกเขาก็จะแข็งเมือง คนไทยเรานี้ใจดีมาก" ซึ่งจากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าคนมุสลิมมลายูเมืองไทรบุรีเมื่อก่อนนั้นโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยความสมัครใจ และเต็มใจที่จะตามมา โดยการก่อตั้งชุมชนบ้านหัวทะเลนั้นมีทั้งบุคคลสำคัญ วัตถุเก่าแก่ รวมทั้งสถานที่สำคัญฯ ซึ่งเป็นผลให้เกิดชุมชนบ้านหัวทะเลขึ้น

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนบ้านหัวทะเลนั้นมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและที่ราบลูกคลื่นทั่วเขตพื้นที่ สภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันเท่าที่สังเกตมีสภาพเป็นที่ราบต่ำพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาและมีบางแห่งเป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังตลอดปี โดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือของสวนสมเด็จศรีนครินทร์ในปัจจุบัน มีทางน้ำที่เชื่อมต่อไปยังคลองทำแพ (คลองปากพูน) และแม่น้ำจากคลองสะพานราเมศวร์ (คลองท่าซัก) ไหลมาบรรจบกันโดยการหนุนจากน้ำทะเลเป็นน้ำเค็มก่อให้เกิดแอ่งน้ำขนาดใหญ่เป็นน้ำกร่อย ต่อมาก็ได้แห้งเหือดหายไปกลายเป็นพื้นดิน ดินที่พบส่วนใหญ่เป็นดินโลว์ ฮิวมิค กลี ซึ่งมีเนื้อดินละเอียด เหมาะแก่การเกษตร หรือเพาะปลูก ส่วนลักษณะภูมิอากาศมีลักษณะภูมิอากาศแบบลมมรสุมเมืองร้อนตลอดฤดูกาล อุณหภูมิเฉลี่ย 27.30 องศาเซลเซียส แบ่งออกเป็น 2 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน : ระหว่างเตือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน มีอากาศค่อนข้างร้อนตลอดฤดูกาล
  • ฤดูฝน : ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ซึ่งได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งในระยะนี้เป็นช่วงที่มีฝนตกหนาแน่น แต่ ณ ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศได้แปลเปลี่ยนไปอย่างมากฝนตกต้องไม่ตามฤดูกาล อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ชุมชนบ้านหัวทะเลมีอาณาเขตติดต่อกับบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลนาทราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 3 บ้านทุ่งจีน และหมู่ 9 บ้านปากสระ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชและตำบลปากพูน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 3 บ้านทุ่งโหนด

บ้านหัวทะเลมีประชากรโดยรวมทั้งหมด 6,241 คน เพศชาย 2,931 คน เพศหญิง 3,310 คน และมีครัวเรือน 3,656 ครัวเรือน 

ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทะเล ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอาชีพอื่น ๆ คือ เลี้ยงสัตว์ พนักงานโรงงาน รับจ้างทั่วไป รับราชการ และค้าขาย

ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทะเล ดังที่กล่าวไปว่าส่วนใหญ่จะทำอาชีพเกษตรกรรม คือ การทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ส่วนมากพืชผักที่ปลูกที่นอกเหนือจากการทำนา ได้แก่ ถั่ว แตงกวา แตงโม บ๊วย และมะเขือยาว และเมื่อพืชผลดังกล่าวให้ผลผลิตก็จะนำไปขายยังตลาดในเมือง ซึ่งในสมัยนั้นก็ได้แก่ ตลาดคูขวาง ตลาดยาว ตลาดสถานีรถไฟ ตลาดเย็น และการเดินทางเข้าไปขายของในตลาดส่วนมากก็จะใช้วิธีการเดินเท้า แบกหาม และก็บรรทุกตัวยรถรุน(รถเข็น) เพื่อนำพืชผัก ผลไม้เข้าไปขายในตลาด โดยการเดินผ่านสะพานยาวเพื่อเข้าสู่ตลาด เส้นทางการคมนาคมสัญจรภายในชุมชนบ้านหัวทะเล เมื่อก่อนนั้นถ้าหากว่าใครต้องการเดินทางเพื่อที่จะไปละหมาดหรือทำภารกิจใด ๆ ที่มัสยิด เขาจะต้องเดินผ่านกลางสุสานของมัสยิด เมื่อก่อนนั้นเป็นถนนเส้นเล็ก ๆ สายโบราณ ส่วนถนนเส้นปัจจุบันนี้จะเป็นเส้นใหม่ที่ตัดผ่านหน้าสุสานที่เพิ่งสร้างขึ้น

จากคำเล่าของโต๊ะฮายีตีเมาะฮ์และหวอมีเนาะเล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนนั้น เขาเดินผ่านกลางกุโบร์ ตรงกลางกุโบร์จะเป็นถนนเล็ก ๆ เส้นทางใหม่นี้ (ถนนที่ใช้ปัจจุบัน) เขาพึ่งทำขึ้นเมื่อไม่กี่วันนี้เอง" และโดยมากถ้าหากว่าต้องการที่จะต่อเติมหรือสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งของมัสยิด คนในชุมชนก็จะขนไม้ อิฐ หิน ดิน ทรายและปูน กันทางคลองริมมัสยิดด้วยเรือ หรือไม่ก็แบกขนด้วยกำลังคนในชุมชน เดินตามทางเท้าที่เป็นถนนเส้นเล็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งได้รับข้อมูลการบอกเล่าว่า เมื่อก่อนขนปูน ขนไม้มาทางลำคลองนั่นแหละ แต่ถ้าหากฤดูแล้ง สมัยนั้นไม่มีรถยนต์ ก็ต้องใช้แบกมาอย่างเดียว มีก็แต่รถรุนและต่อมาก็ได้มีการตัดถนนหนทางมากขึ้น จึงทำให้คนในชุมชนสามารถที่จะเดินทางเพื่อนำสินค้าไปขายที่ตลาดได้คล่องตัวขึ้นถนนสายแรกในตำบลนาเคียนที่ตัดผ่านชุมชนบ้านหัวทะเลนั้น คือ ถนนสายหน้าโพธิ์-ยวนแหล ถนนสายนี้ผู้สูงอายุในตำบลนาเคียนได้บอกว่ามีโต๊ะยีท่านหนึ่งในตำบลนาเคียนกับพระสงฆ์ที่วัดน้ำทรงรูปหนึ่ง ช่วยกันสร้าง จากข้อมูลการสัมภาษณ์นายร่มหลี มัชมูมาท ท่านกล่าวว่าถนนสายนี้นั้นนายปะเหยม วัฒนารถและคณะซึ่งเป็นคนในชุมชนบ้านหัวทะเล เป็นผู้สร้างขึ้นจนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 5 ชื่อเบญจมาภรณ์ ด้วยกับการอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพื่อคนส่วนรวมทั้งในชุมชนและบุคคลใกล้เคียงได้ ใช้ประโยชน์จากถนนที่ถูกสร้างขึ้น และถนนสายที่สองที่ตัดผ่านชุมชนบ้านหัวทะเล คือ ถนนสายทุ่งทำลาด (สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84) ไปยังหน้าเขามหาชัย ถนนสายนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้วในปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านก็เริ่มมีรถใช้ การเดินทางสะดวกขึ้นและในปัจจุบันถนนหนทางในชุมชนบ้านหัวทะเลมีเยอะขึ้นสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายมีถนนตัดผ่านหลายสายและตามซอกซอยต่าง ๆ ก็สามารถเดินทางได้ดีขึ้น

เส้นทางที่เก่าอีกเส้นทางหนึ่งก็คือ เส้นทางริมบ้านท่านขุนนาเคียนคณารักษ์บำรุง (ฮายีอิบรอฮีม) จากคำบอกเล่าของอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 นายหล้อ ระหังภัยและภรรยาเล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนพวกช้างเกวียน ก็ต้องมาให้ของกำนันกันที่นี่หมดแหละ (เพราะเป็นบ้านท่านขุน) ขนาดของถนนก็เท่านี้แหละ เป็นทางเก่าแก่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโนรา หรืออะไรก็ตาม มาพักที่บ้านนี้แหละ เดินไปจนถึงในเขียว (พรหมคีรี) โน้นแหละ โดยที่บ้านโต๊ะกาชอนั้น หลังบ้านแกจะเป็นถนนดิน แล้วไปออกถนนพระครุฑ ออกถนนชลประทาน ไปออกบ้านตาลโดยผ่าน หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 4 และก็หมู่ 7 ออกไปทางหลังโรงเรียนคลองดินนี้แหละ" แต่ไม่มีข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้ว่าใครเป็นคนสร้าง ณ ปัจจุบันถนนเส้นนี้จะเริ่มมาจากในเมืองแถว ๆ วัดศรีทวี ผ่านมาทางสะพานยาวตรงไปผ่านหมู่ 9 ผ่านโรงเรียนทวดเหนือ เข้ามายังบ้านกลางทุ่งจีน ผ่านตรงมายังถนนข้างบ้านท่านขุน ผ่านโรงเรียนคลองดิน ซึ่งอยู่ในเขตหมู่ 3 เสี้ยวหยักเข้าไปขึ้นถนนพระครุฑ ออกถนนชลประทาน เข้าเขตของหมู่ 4 และ 5 ลงไปทางทิศตะวันตกเข้าเขตหมู่ 6 และหมู่ 7 ผ่านทะลุออกไปถึงถนนบ้านตาล ผ่านมหาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ตรงไปยังเส้นน้ำตกอ้ายเขียว (พรหมคีรี) ถนนเส้นนี้ไม่ได้ตัดผ่านชุมชนบ้านหัวทะเล แต่เส้นทางจะตัดผ่านชุมชนบ้านทุ่งจีน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของชุมชนบ้านหัวทะเล มีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนหัวทะเลอย่างมากอีกเส้นหนึ่ง เพราะว่าคนในชุมชนบ้านหัวทะเลจะใช้เส้นทางนี้ในบางตอน เพื่อที่จะเดินทางข้ามสะพานยาวเพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดรถไฟและตลาดอื่น ๆ เพื่อที่จะไปซื้อและขายสินค้าในชุมชน

1. โต๊ะหวันเต๊ะห์

โต๊ะหวันเต๊ะห์เป็นบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชุมชนบ้านหัวทะเล เนื่องด้วยท่านนั้นเป็นครูและอาจารย์ ของชุมชนในยุคแรก ๆ ที่ได้มอบความรู้และสอนสั่งคนในชุมชนบ้านหัวทะเลและบริเวณรอบข้างด้วยความรู้ด้านศาสนาที่ท่านมี พร้อมกับนำคัมภีร์อัลกรุอ่าน ซึ่งเป็นธรรมนูญของศาสนา ท่านได้เขียนด้วยลายมือของท่านเอง มาเป็นแนวทางและหลักยึดในการถ่ายทอด และปฏิบัติศาสนกิจในรูปแบบต่าง ๆ ที่ศาสนาบัญญัติไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของท่านศาสดานบีมุฮัมมัดที่เคยได้สอนสั่งเอาไว้ นายบิดีน พยายาน อิหม่ามมัสยิดการาหมาด ชุมชนบ้านหัวทะเลคนปัจจุบันกล่าวว่า ภายหลังจากที่ท่านสืบทราบได้ว่ามีญาติคนสนิทถูกจับเป็นเชลยศึก มาไว้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านก็ได้เดินทางมาจากรัฐเกดะห์มายังเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อสืบเสาะแสวงหา จนในที่สุดได้เจอกับญาติคนสนิท (สาเปียะฮ์) ที่ชุมชนบ้านหัวทะเล ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ท่านประทับใจในพื้นที่ชุมชนและใช้ชีวิตอย่างถาวรในพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากท่านเห็นว่าบริเวณพื้นที่ของชุมชนนั้นเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม อีกทั้งพื้นที่ในชุมชนมีแหล่งน้ำที่เป็นคูคลองเป็นจำนวนมาก เพราะท่านมีความสามารถในการว่ายน้ำที่ดี ท่านจึงเลือกพื้นที่ในชุมชนอาศัยอยู่อย่างถาวร แต่มีบางรายงานได้บอกไว้ว่า โต๊ะสาเปียะฮ์ ไม่ใช่เป็นคนที่มาจากรัฐเกดะห์ หรือเป็นเชลย และก็ไม่ใช่ญาติพี่น้องของโต๊ะหวันเต๊ะห์ด้วย แต่เขาเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ที่นี่อยู่แล้ว แต่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับโต๊ะหวันเต๊ะห์เมื่อท่านมาอยู่ที่นี่ คอยช่วยเหลือโต๊ะหวันเต๊ะห์เสมอมา

ลักษณะบุคลิกของท่านจากบันทึกของนายบิดีน พยายาน อิหม่ามมัสยิดการาหมาด บ้านหัวทะเลคนปัจจุบันบันทึกไว้ว่า "ท่านเป็นชายที่มีความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ผิวขาวแดง นัยน์ตาสีน้ำข้าว ผมหยักศก สีดำแดง" แต่บางคนก็บอกลักษณะของท่านเพิ่มเติมไปอีกว่า มีขนมือสีแดง เพดานดำ ผมแดง ตัวขาว แต่บางสายรายงานก็ได้บอกเพิ่มเติมในลักษณะอื่นอีกคือ "ท่านนั้นมี ขนมือขาว ผมขาว ตัวขาว ขาวไปทั้งหมด"  และบางคนก็ได้รับการบอกกล่าวสืบทอดกันมาว่า "ฉันเคยได้ยินปะเล่าให้ฟังว่า ขนของโต๊ะหวันเต๊ะห์นั้นจะทวนขึ้นข้างบน จะไม่เป็นคนธรรมดาเหมือนเรา ๆ ขนจะเป็นสีขาว ตาจะออกสีแดง ๆ และก็มีการามัต ณ อัลเลาะห์ เป็นคนอาเล็มอูลามะนะ (อาเล็มอูลามะ คือ คนที่มีความรู้ศาสนา) เป็นคนศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่ง เป็นคนเกอร์ดอะห์ ไม่ใช่คนที่นี่ หน้าคล้าย ๆ คนอาหรับ ผิวขาว ปะเคยบอกว่า เขาก็ไม่ใช่ได้เห็นตัวจริง แต่ว่า โต๊ะ ๆได้เล่ามาให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ท่านเสียชีวิตนั้น คนเขาแห่กันเยอะมาก" ไม่ว่าจะรายงานใดก็มีความเป็นไปได้หมดทุกสาย แล้วแต่ว่าใครจะสังเกตและจดจำช่วงใดในอายุของท่าน ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ในวัยหนุ่มตอนปลายของท่านลักษณะ รูปร่าง หน้าตา ก็จะมีผิวขาวแดง นัยน์ตาสีน้ำข้าว ผมหยักศก สีดำแดง แต่พออายุมากขึ้น อวัยวะทุกอย่าง รวมทั้งเส้นผม หนวด เครา ก็จะขาวไปด้วยขึ้นอยู่กับว่าใครจะจดจำช่วงอายุของท่านในช่วงไหนเท่านั้นเอง 

ท่านนั้นมีความสามารถและมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาเป็นอย่างมาก ได้เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณและการศาสนาของชุมชน โดยภายหลังจากที่ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านศาสนาให้แก่ผู้คนที่เป็นเชลยศึก คนในชุมชน และบริเวณโดยรอบ ภายหลังจากที่ได้เจอตัวญาติคนสนิท (สาเปียะฮ์) เนื่องจากผู้คนเหล่านั้นมีความรู้ด้านศาสนาน้อยมาก โดยที่ท่านใช้อัลกรุอ่านจากมาเลเซีย ซึ่งเขียนด้วยมือของท่านเอง เพื่อใช้ในการถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้คนที่เป็นเชลยศึก และคนในชุมชน ท่านใช้ความรู้ความสามารถของท่านเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้คนเป็นระยะเวลาถึง 50 ปี หลังจากนั้นท่านก็เสียชีวิต ตลอดชั่วชีวิตของท่านนั้นไม่มีบุตรไว้สืบสกุล ซึ่งประเด็นของผู้สืบทายาทและภรรยานั้นโดยมากแล้ว คำบอกเล่าจะลงความเห็นกันว่า ท่านไม่มีบุตรและไม่มีภรรยาทั้งที่ในครศรีธรรมราช และที่รัฐเกดะห์ แต่ก็มีแค่ส่วนน้อยที่บอกว่าท่านเคยมีภรรยา จากคำพูดที่ว่า "แก (โต๊ะหวันต๊ะห์ มี 2 เมีย เคยได้ยินปะหยางลูฮเล่าให้ฟัง ตอนที่โต๊ะหวันเตะห์เขาไปทำอามายในกุโบรนั้น โดยที่เมียคนแรกจะเตรียมเสบียงไปส่งหนึ่งวันพออีกวัน เมีย อีกคนก็นำเสบียงไปส่งอีก แต่ว่าไม่มีลูก มาจากเกอร์เดาะห์พร้อมแกนั้นแหละ โดยโต๊ะหยางลูฮเล่าให้ฟังแบบนั้น"

ทุนกายภาพ

คลองริมมัสยิด ในอดีตคลองจะแบ่งรอยต่อระหว่างบริเวณมัสยิดกับสุสาน (กุโบร์) และเมื่อก่อนจะมีสะพานข้ามกันได้ ระหว่างมัสยิดกับสุสาน เมื่อก่อนคลองริมมัสยิดนั้นลึกมาก เราสามารถหาปลา และใช้เป็นเส้นทางสัญจรโดยเรือได้ เพื่อบรรทุก หรือขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ เช่น ปูนซีเมนต์ ไม้ รวมทั้งสิ่งของอุปโภค และบริโภคต่าง ๆ เป็นต้น จากคำบอกเล่าของหวอแอร์ "เมื่อก่อนเราเดินออกจากบาลาย แล้วก็ข้ามสะพานผ่านคลองไปเข้าสุสานได้เลย และก็ตอนนั้นมีต้นส้มท้อน(กระท้อน)อยู่บริเวณคลองนั้นด้วย คลองนั้นเมื่อก่อนลึกมาก และก็บาลายนั้นอยู่ทางทิศเหนือของบ่อน้ำและก็มัสยิดอยู่ทางทิศตะวันตกของบาลาย" จากคำบอกเล่าดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคลองริมมัสยิดนั้นจะเป็นตัวแบ่งเขตระหว่างมัสยิดกับสุสานและก็มีความกว้างพอสมควรเนื่องจากต้องใช้สะพานในการข้ามจากมัสยิดไปยังสุสาน และคนในชุมชนเองก็สามารถใช้ประโยชน์ต่าง ๆ มากมายจากลำคลองดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา บรรทุก ขนย้ายสิ่งของโดยเรือ เดินทางสัญจร เพื่อไปยังตัวเมือง เป็นต้น แต่ ณ ปัจจุบันนี้คลองได้หมดความสำคัญกับชาวบ้านไปแล้ว เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ในชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไป คลองตื้นเขินจนไม่มีน้ำให้ไหล มีต้นสาคูและหญ้าขึ้นปกคลุม ถึงแม้ว่าทางมัสยิดและองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงแกนนำของชุมชน จะช่วยกันขยายขนาดคลองและลอกคลองแล้วก็ตาม อีกทั้งปัจจุบันมีการสัญจรโดยถนนมากยิ่งขึ้น มีรถขับกันเกือบทุกบ้าน จึงทำให้เป็นสังคมเมืองมากขึ้น 

ทุนมนุษย์

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชุมชนบ้านหัวทะเลมีบุคคลสำคัญดังต่อไปนี้

1. โต๊ะหวันเต๊ะห์ เป็นอาจารย์คนแรกของชุมชนที่สอนวิชาการศาสนาแก่บุคคลในชุมชนสอนทั้งอัลกุรอ่านและกีตาบ

2. ขุนนาเคียนคณารักษ์บำรุง (ยายีอิบรอฮีม) เป็นผู้ที่มอบที่ดินให้สร้างโรงเรียนบ้านคลองดิน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่า 3 นามสกุลนี้เป็นผู้ให้ที่ดินไว้สร้างโรงเรียนเป็นตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลสุทธิการ ตระกูลวัฒนารถ และตระกูลระห่างภัย

3. บรรดาโต๊ะอิหม่ามของมัสยิดการาหมาดบ้านหัวทะเล นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยอ้างหลักฐานจากบันทึกของโต๊ะอิหม่ามบีตีน พยายาน ซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่ามคนปัจจุบัน ว่ามีอยู่ทั้งหมด 14 ท่าน ดังนี้

  • สมัยที่หนึ่ง อาหลี (อิหม่าม) โต๊ะหวันเต๊ะห์ (คอเต็บ) ส่วนบิหลันนั้นสลับกันเป็นเพราะสมัยนั้นไม่มีคนดำรงตำแหน่ง โดยทำพิธีทางด้านศาสนากันที่บาลายหลังแรก โดยใช้ชื่อว่า "บาลายโต๊ะหวันเต๊ะห์" มีอายุประมาณ 50 ปี
  • สมัยที่สอง เหม เลิศวงหัส (อิหม่าม) โต๊ะอำเยาะร์ (คอเต็บ) เป็นต้นคิดในการสร้างบาลายหลังที่ 2 แทนหลังเก่า
  • สมัยที่สามเลาะห์ รันทดสร้าง (อิหม่าม)
  • สมัยสี่ สะหมาน กายแก้ว หรือสมาน กายแก้ว (อิหม่าม) เป็นผู้ก่อสร้างมัสยิดหลังที่ 3 เนื่องจากประชากรมากขึ้น
  • สมัยที่ห้า อิดริส ปัตตานี (อิหม่าม)
  • สมัยที่หก อีสอ ระห่างภัย (อิหม่าม)
  • สมัยที่เจ็ด ดลรอหมาน ระห่างภัย (อิหม่าม) นายยะโกบ กายแก้ว (คอเต็บ) นายสมาน ดาบแสงทอง (บิหลัน)
  • สมัยที่แปด ฮัจยีอัชอารีย์ ระห่างภัย (อิหม่าม)
  • สมัยที่เก้า มะอีหมาน ระห่างภัย (อิหม่าม)
  • สมัยที่สิบ ฮัจยีโดบ สบู่ม้าย (อิหม่าม)
  • สมัยที่สิบเอ็ด ฮัจยีหนอ วัฒนารถ (อิหม่าม)
  • สมัยที่สิบสอง ฮัจยีสุเทพ ศรีเจริญ (อิหม่าม)
  • สมัยที่สิบสาม ฮัจยีสุกรี ชายคีรี (อิหม่าม)
  • สมัยที่สิบสี่ บิดีน พยายาน (อิหม่าม) พร้อมคณะกรรมการมัสยิดจึงคิดก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ (หลังที่ 4) เพราะว่าหลังเก่าทรุดโทรมมากแล้ว

4. โต๊ะอำเยาะฮ์ กับโต๊ะสาโรมเป็นครูสอนศาสนา เป็นบุคคลยุคแรกที่สร้างคุณประโยชน์ต่อชุมชนบ้านหัวทะเล โดยสอนศาสนาที่บาลาย

5. โต๊ะครูแก่ (ฮัจยียะกุ๊บ สุมาลี) ช่วงที่ท่านมีชีวิต ท่านเคยกล่าวปาฐกถาธรรมและให้คำสั่งสอนแก่ชาวบ้านหัวทะเล ในงานบุญและงานขึ้นบ้านใหม่ในชุมชนอยู่เนืองนิจ

6. โต๊ะครูหนุ่ม (ฮัจยียะโกบ พิศสุวรรณ) เคยสอนที่มัสยิดบ้านหัวทะเล

7. โต๊ะครูอาหลี (ฮัจยีอาหลี รักหมู่มาศ ช่วงที่ท่านมีชีวิต ได้ทำการสอนที่มัสยิดการาหมาดบ้านหัวทะเลทุกวันอังคาร ซึ่งท่านโต๊ะครูอาหลีได้รับการถ่ายทอดวิชาการศาสนาจากโต๊ะครูแก่(ฮัจยียะโกบ สุมาลี)

8. ครูแหว (นายเกษม เจริญวงศ์) ได้ทำการสอนที่มัสยิดหัวทะเลทุกวันอังคาร สืบทอดจากโต๊ะครูอาหลีจนถึงปัจจุบัน

9. นายปะเหยม วัฒนารถ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 5 ชื่อ เบญจมาภรณ์ เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มสร้างถนน และก็เป็นนายช่างใหญ่สร้างมัสยิดหัวทะเล

10. นายหนอ วัฒนารถ เป็นหมอชุมชน ให้การดูแลรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยของชุมชนในสมัยที่การแพทย์ยังเข้าไม่ถึงชุมชน

ทุนวัฒนธรรม

1. สุสานโต๊ะหวันเต๊ะห์ ร่างโต๊ะหวันเต๊ะห์ถูกฝังไว้ในสุสานของมัสยิดการาหมาด บ้านหัวทะเล ตำบลนาเคียน จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันสุสานของโต๊ะหวันเต๊ะห์ประดับด้วยกระเบื้องแผ่นล้อมรอบ ต้นโกศลสีเหลืองปลูกอยู่ใกล้กับสุสานของท่าน อีกทั้งมีม้านั่งหินอ่อน บรรยากาศภายในสุสานเต็มไปด้วยแมกไม้ที่ให้ร่มเงา ผู้คนจากที่ต่าง ๆ รวมทั้งชาวมาเลเซีย จากรัฐเกดะห์เคยมาเยี่ยมสุสานของท่านแล้ว ถึงแม้ว่าท่านจะเสียชีวิต แต่คุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนในชุมชนบ้านหัวทะเลตลอดกาล

2. มัสยิดการาหมาดศาสนสถานของชุมชน กว่าที่จะมาเป็นชุมชนบ้านหัวทะเลมาก่อนนั้น คนเดิม ๆ ของพื้นที่นี้ได้กระจายตัวมาจากมัสยิดหลังแรกของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งนั่นก็คือมัสยิดวัดคิดที่อยู่ใกล้กับวัดศรีทวี ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลดำรงศาสน์ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากความคับแคบของสถานที่ เพราะไม่สามารถที่จะขยายออกได้ และอีกอย่างสถานที่ดังกล่าวไม่มีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมและอาชีพที่ตนเอง ปัจจุบันมัสยิดการาหมาด ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนบ้านหัวทะเล ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มัสยิดเป็นอาคารสีฟ้า โดมสีน้ำเขียว รั้วเหล็กที่ถูกตัดเป็นลวดลายสวยงามล้อมรอบมัสยิด

3. บ่อน้ำโต๊ะหวันเต๊ะห์ บ่อน้ำนี้ทั้งคนในชุมชนเองและผู้ที่ได้มาเยี่ยมเยียนต่างก็เชื่อว่าอัลเลาะห์พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลามได้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ให้ ดังนั้นผู้คนก็เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะผู้คนจะใช้บ่อน้ำดังกล่าวในการแก้บน เมื่อบรรลุสิ่งที่บนบานศาลกล่าวไว้ตามที่ได้หวัง จึงได้ทำการแก้บนกับพระองค์อัลเลาะห์ผ่านบ่อน้ำภายในมัสยิดโดยการใช้อาบ ดื่ม ชโลมร่างกาย เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความผูกพันกับชุมชนมาตั้งแต่อดีตกาล

4. อัลกรุอ่านเขียนด้วยมือ อัลกรุอ่านที่เขียนด้วยมือของโต๊ะหวันเต๊ะห์นั้นมีสองเล่ม ซึ่งท่านได้นำมาจากเมืองไทรบุรี ปัจจุบันคือ รัฐเกดะห์ประเทศมาเลเซีย และอัลกรุอ่าน 2 เล่มนี้ถูกเขียนด้วยมือมาจากมาเลเซีย ไม่ใด้เริ่มเขียนที่นี่ ท่านใช้อัลกรูอ่านถ่ายทอดศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับอิสลามให้แก่ผู้คนที่อยู่ในชุมชน และคนบริเวณโดยรอบ จากบันทึกของโต๊ะอิหม่าม ว่า "ประวัติอัลกรุอ่านที่เขียนด้วยมือมีอยู่ 2 เล่ม ซึ่งโต๊ะหวันเต๊ะห์ได้นำมาจากประเทศมาเลเซียเพื่อมาสอนลูกหลานอ่านอัลกรุอ่าน อัลกรุอ่านเล่มหนึ่งพอท่านมีอายุมากแล้ว ท่านก็ได้มอบให้กับญาติผู้ใกล้ชิดคือนางสาเปียะห์ อยู่ต่อมานางสาเปียะห์ ก็ย้ายไปอยู่ไม้หลาและได้ให้อัลกรุอ่านเล่มดังกล่าวกับนางตาอีซอะห์ ซึ่งเป็นลูกของนางสาเปียะห์ ซึ่งต่อมานางตาอีซอะห์ก็มีอายุมาก แกก็ได้มอบให้ นายฮัจยีประจิเหยม นั่นก็คือ นายเหยม วัฒนารถ ให้เอาไปไว้ที่มัสยิด อัลกรุอ่านเล่มดังกล่าวเป็นมรดกของมัสยิด ไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด" จากบันทึกดังกล่าวได้บอกถึงการถืออัลกรุอ่านของโต๊ะหวันเต๊ะห์มาเป็นช่วง ๆ ของการส่งมอบต่อ ๆ กันมา และในที่สุดอัลกรุอ่านเล่มหนึ่งก็มาอยู่คู่กับมัสยิด การาหมาดบ้านหัวทะเล ตำบลนาเคียนอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มนัส สุทธิการ และคณะ. (2556). โต๊ะหวันเต๊ะห์ : ปูชนียบุคคล ตำนานแห่งความรุ่งเรืองของชุมชนบ้านหัวทะเล. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 26 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

เทศบาลตำบลหัวทะเล. (2556). ประชากร. ค้นจาก https://www.huathale.go.th/