
บ้านกุดหินเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อที่สามารถธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ชาวบ้านยังคงยึดถือความเชื่อดั้งเดิม อาทิ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและเจ้าพ่อเขาน้อย ดำรงรักษาประเพณีสำคัญและประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชนในการสืบสานมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้อย่างดีงาม
ชื่อหมู่บ้านกุดหิน คำว่า "กุด" หมายถึง คลองธรรมชาติ ขนาดกว้างพอประมาณ ยาวสั้นพอประมาณ ลักษณะคลองเป็นแบบมีที่สิ้นสุด และมีหินขนาดใหญ่อยู่กลางคลอง ลักษณะเป็นเวิ้งใหญ่ จึงได้ชื่อว่า "กุดหิน"
บ้านกุดหินเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อที่สามารถธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ชาวบ้านยังคงยึดถือความเชื่อดั้งเดิม อาทิ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและเจ้าพ่อเขาน้อย ดำรงรักษาประเพณีสำคัญและประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชนในการสืบสานมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้อย่างดีงาม
ชุมชนชาวญ้อในพื้นที่ตำบลคลองน้ำใส มีรากเหง้าประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยชาวญ้อกลุ่มนี้มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ส่งผลให้ชาวญ้อจำนวนหนึ่งได้อพยพหนีภัยสงครามเข้าสู่พื้นที่ชายแดนประเทศกัมพูชาในบริเวณที่มีลำน้ำคลองน้ำใสไหลผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว กลุ่มชาวญ้อได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ อาทิ บ้านเหล่าคา บ้านนาน้อย บ้านดงอรัญ และบ้านกูบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสได้แผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคอินโดจีน และเข้ายึดครองเมืองจันทบุรี ซึ่งนับเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยยอมยกดินแดนบางส่วน ได้แก่ ศรีโสภณและพระตะบอง ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อรักษาเมืองจันทบุรีไว้ ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางราชการได้มีการส่งราชเลขามาประกาศแจ้งต่อชาวญ้อในพื้นที่ว่ามีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่ในดินแดนที่กลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส หรือจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตประเทศไทย ชาวญ้อจึงได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งยังคงพำนักอยู่ที่บ้านกูบ อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพข้ามมายังฝั่งประเทศไทย และตั้งถิ่นฐานในพื้นที่คลองน้ำใส ในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐาน พื้นที่ดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับตำบลท่าเกด โดยมี "กำนันทึ้ง" เป็นผู้ปกครองท้องถิ่น ต่อมาเมื่อกำนันทึ้งถึงแก่กรรม "กำนันวรรณา" ได้ดำเนินการจัดตั้งตำบลคลองน้ำใสขึ้น และใช้วัดสุทธาวาสเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและชุมชน ทั้งนี้บ้านกุดหินถือเป็นพื้นที่เริ่มต้นของชุมชนญ้อคลองน้ำใสในยุคแรกเริ่ม
บ้านกุดหิน หมู่ที่ 4 ตั้งอยู่ในตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลฟากห้วย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 10 บ้านเขาน้อย ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
- ทิศใต้ ติดกับ ประเทศกัมพูชา
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลฟากห้วย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
สภาพพื้นที่ทั่วไปของชุมชนบ้านกุดหิน เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ชุมชนบ้านกุดหินมีเนื้อที่ประมาณ 6,000 ไร่ มี 3 ฤดูกาล (ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว)
- ฤดูร้อน เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนพฤษภาคม และเริ่มมีฝนตกเล็กน้อย
- ฤดูฝน เริ่มปลายพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม ช่วงฝนตกชุกเป็นเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มเดือนธันวาคม จนถึงเดือนมกราคม มีอากาศเย็นราว 1 สัปดาห์
ในปัจจุบันชุมชนมีสภาพบ้านเรือนที่มีความคงทนแข็งแรง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
สถานศึกษาในชุมชน คือ โรงเรียนกุดหินเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ข้อมูลประชากรจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พ.ศ. 2568 พบว่า หมู่ที่ 4 บ้านกุดหิน มีประชากรที่เป็นคนไทยจำนวน 1,043 คน แบ่งเป็นชาย 501 คน และหญิง 542 คน โดยมีประชากรที่ไม่ใช่คนไทย จำนวนทั้งหมด 16 คน แบ่งเป็นชาย 3 คน และหญิง 16 คน จำนวนประชากรทั้งหมดมี 1,059 คน ภายในชุมชนมีจำนวนบ้านทั้งหมด 330 หลัง ลักษณะบ้านเรือนในปัจจุบันสร้างด้วยปูนซีเมนต์เป็นหลัก เนื่องจากมีความคงทนแข็งแรง ทนต่อทุกสภาพอากาศ
ญ้อ, ไทโคราชอาชีพหลัก ประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น การทำนา ปลูกอ้อย และการเลี้ยงสัตว์
อาชีพเสริม เพาะปลูกพืชระยะสั้น เช่น การปลูกข้าวโพด ปลูกดาวเรือง และปลูกแคนตาลูป
องค์กร/กลุ่มอาชีพ กลุ่มเลี้ยงสุกรและกลุ่มปลูกพริก
ประเพณีแห่หอปราสาทผึ้ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยญ้อ ชุมชนบ้านกุดหิน ตำบลคลองน้ำใส จัดประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวญ้อทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในด้านการดำรงชีวิตและการทำมาหากิน ชาวญ้อเชื่อกันว่าประเพณีถวายปราสาทผึ้งเป็นการทำบุญประจำเทศกาลออกพรรษาที่ทำกันมาเนิ่นนานแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งมักจะถวายเครื่องอัฐบริวารและปัจจัยไปพร้อมกัน รวมทั้งข้าวสารอาหารแห้ง กะปิ น้ำปลา สมุด ยาสีฟัน ฯลฯ สามารถผูกใส่ปลายไม้ไผ่เหลาเป็นเส้น ๆ เพื่อเสียบประดับยอดของปราสาทผึ้ง บ้างก็ตั้งเป็นองค์กฐิน จะมีการแห่ปราสาทผึ้งไปถวายที่วัดประจำหมู่บ้าน ตามความเชื่อของไทยญ้อเชื่อว่า การถวายปราสาทผึ้งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และที่ตำบลคลองน้ำใสได้มีการจัดการประกวดปราสาทผึ้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วจำนวน 6 ครั้ง และในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นปีที่เข้าสู่ปีที่ 7 ในการประกวดหอปราสาทผึ้งจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทอนุรักษ์ โดยจะต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ประเภทสวยงามและประเภทสร้างสรรค์ สามารถใช้วัสดุได้หลากหลายไม่จำกัด
1.นายอำภัย บุญมาพงษ์ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
2.นางพะยอม มา ด้านแพทย์แผนไทย
3.นางสุดารัตน์ งามงด ด้านแพทย์แผนไทย
4.นางอำไพ ผลเต็ม ด้านแพทย์แผนไทย
5.นายเชน บุญมาพงษ์ ด้านภาษาและวรรณกรรม
6.นายพิชิต เกษแจ้ง ด้านปรัชญา
ภายในชุมชนมีการแสดงอัตลักษณ์และวิถีความเชื่อที่สื่อถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชนบ้านกุดหิน ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีประจำตำบล ภาษาที่มีเอกลักษณ์ และยังมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่โดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่) และด้านการแพทย์แผนไทย (นวดแผนไทย) และมีการใช้ลูกประคบร่วมกับการนวดแผนไทย
ภาษาญ้อที่ใช้ในชุมชนบ้านกุดหินเป็นภาษาพูดประจำกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากภาษาไทย โดยมีโครงสร้างและเสียงใกล้เคียงกับภาษาลาวเวียงจันทน์ ภาษาญ้อไม่มีรูปแบบการเขียน และลักษณะการพูดมีทั้งแบบอ่อนหวานและห้วน ขึ้นอยู่กับบริบทของการสนทนา แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ภาษาไทยแทนภาษาญ้อในการสื่อสาร
ชุมชนบ้านกุดหินมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้จากภาคเกษตรกรรม โดยในอดีตพึ่งพาแรงงานคนและสัตว์ เครื่องมือพื้นบ้าน และระบบแรงแลกแรง ทำให้ต้นทุนต่ำ แม้รายได้จะไม่มาก แต่ค่าครองชีพก็ต่ำเช่นกัน ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการนำเครื่องจักรกลและปัจจัยการผลิตสมัยใหม่เข้ามาใช้งาน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจึงยังไม่สูงนัก นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจระยะสั้นโดยได้รับทุนจากผู้ประกอบการภายนอก และบางครัวเรือนออกไปทำงานต่างถิ่นเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้วิถีชีวิตและโครงสร้างเศรษฐกิจของชุมชนเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ภาษาญ้อในชุมชนมีแนวโน้มลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเข้าถึงการศึกษา ทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร โดยเฉพาะในหมู่เด็กและเยาวชน ซึ่งนิยมใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาญ้อ การที่ผู้ปกครองไม่นิยมถ่ายทอดภาษาญ้อให้กับลูกหลาน และการที่เยาวชนไม่สามารถใช้ภาษาญ้อได้อย่างคล่องแคล่วนั้น ส่งผลให้ภาษาญ้อเริ่มมีการใช้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แม้บางคนยังสามารถฟังเข้าใจ แต่กลับไม่สามารถพูดโต้ตอบได้ ซึ่งสะท้อนถึงการลดลงของการใช้ภาษาญ้อในวิถีชีวิตประจำวันของชุมชน
กรมการปกครอง. (2568). ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2568. จาก https://stat.bora.dopa.go.th
กรุณา โตชัยภูมิ. (2567). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ที่มีความสัมพันธ์ต่อความเชื่อประเพณีและพิธีกรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ : กรณีศึกษาบ้านกุดหิน หมู่ที่ 4 ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำใส. (ม.ป.ป.). ทะเบียนข้อมูลศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นที่ตำบลคลองน้ำใส. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2568. จาก https://klongnumsai.go.th