
ชุมชนเข้มแข็ง มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ชุมชนที่มีความร่วมมือกันอย่างดีในระดับท้องถิ่น และร่วมรักษาพื้นที่ป่าชุมชนที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์ไม้พื้นเมือง สมุนไพร และสัตว์ป่า
เกิดจากการย้ายถิ่นประชากรราว 30 ครัวเรือน ได้อพยพลงมาจากประเทศลาว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ลงมาตั้งถิ่นฐาน และตั้งชื่อหมู่บ้านพร้าว ตามชื่อของหมู่บ้านเดิมที่ย้ายมา
ชุมชนเข้มแข็ง มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ชุมชนที่มีความร่วมมือกันอย่างดีในระดับท้องถิ่น และร่วมรักษาพื้นที่ป่าชุมชนที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์ไม้พื้นเมือง สมุนไพร และสัตว์ป่า
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2400 ได้มีประชาชนประมาณ 30 ครัวเรือน ได้อพยพลงมาจากเมืองลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) จากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐาน และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านพร้าว ตามชื่อของหมู่บ้านเดิมที่ได้ย้ายมา บ้านพร้าวได้ก่อสร้างหมู่บ้านและวัดขึ้น ณ ที่โรงเรียนบ้านพร้าว ต่อมาวัดได้เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนบ้านพร้าวในปัจจุบัน และชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิม เหลืออีกส่วนหนึ่งที่ยังคงอยู่บ้านพร้าวตามเดิม และยังมีประชาชนอีกหลายจังหวัดได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่มาจากทางภาคอีสาน และอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านส่วนมากจะพูดภาษาถิ่น หรือภาษาอีสาน
คนในชุมชนบ้านพร้าว หมู่ที่ 1 ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว แต่เดิมนั้นประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก ต่อมาในปัจจุบันได้มีการเผาข้าวหลามขายเป็นอาชีพเสริม แต่บางครัวเรือนยึดอาชีพการทำข้าวหลามขายเป็นหลัก ชุมชนบ้านพร้าวน่าจะเผาข้าวหลามขายมาไม่น้อยกว่า 70 ปี เพราะมีการสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น โดยจุดเริ่มต้นของข้าวหลามบ้านพร้าวนั้น เกิดจากเมื่อสมัยที่ประเทศกัมพูชา มีความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศ เป็นผลทำให้ประเทศไทยต้องส่งทหารจำนวนมากผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาประจำการ และอาหารการกินของทหารก็ลำบาก คนในชุมชนบ้านพร้าวซึ่งเดิมจะเผาข้าวหลามในยามว่างจากฤดูทำนา จึงหันมาทำข้าวหลามขายให้กับทหารที่มาอยู่ประจำการอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดเป็นอาชีพของชุมชนบ้านพร้าวจนถึงปัจจุบัน
ข้าวหลามบ้านพร้าว เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดสระแก้ว และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่สมัยโบราณที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นแต่ในปัจจุบันชุมชนบ้านพร้าว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เหลือครัวเรือนที่ยังเผาข้าวหลามเพียง 4 ครัวเรือน โดยมี 3 ครัวเรือน ที่ยังเผาข้าวหลามด้วยถ่าน และ 1 ครัวเรือน เผาข้าวหลามด้วยแก๊ส และคาดว่าจะไม่มีผู้สืบทอดต่อจากนี้แล้ว เนื่องจากรุ่นลูกรุ่นหลานส่วนใหญ่ไปทำงานอยู่ต่างถิ่น
บ้านพร้าวเป็นส่วนหนึ่งของ ตำบลวัฒนานคร ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอวัฒนานคร โดยอาณาเขตของตำบลวัฒนานครจะติดกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าเกษม และตำบลพรมเมือง ในอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเขาดิน และตำบลบ้านใหม่ ในอำเภอวัฒนานคร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตพื้นที่ของประเทศกัมพูชา (ซึ่งเป็นแนวชายแดน)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
บ้านพร้าว โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 1 บ้านพร้าว ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 796 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 409 คน ประชากรหญิง 387 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 425 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2568)
ป่าชุมชนบ้านพร้าว เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชาวบ้านพร้าว จึงมีกิจกรรม "การบวชป่า" ในเดือนพฤษภาคม ของทุกปี เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของป่า
ปฏิทินการใช้ประโยชน์ของป่า (Non-Timber Forest products Calendre)
กลุ่มหวาย กลุ่มไผ่ กลุ่มสมุนไพรและเครื่องเทศ กลุ่มแมลงอุตสาหกรรมและแมลงกินได้
เดือน | กลุ่ม | ชนิดของป่า |
มีนาคม - ธันวาคม | หวาย | หวายขม |
มิถุนายน - กันยายน | ไผ่สมุนไพร | ไผ่ป่า |
พฤษภาคม - สิงหาคม | ไผ่สมุนไพร | ไผ่โจด |
ตลอดทั้งปี | สมุนไพร | สังกรณี, หนอนตายหยาก, กำแพงเจ็ดชั้น, โลดทะนง |
มีนาคม - มิถุนายน | แมลงอุตสาหกรรมและแมลงกินได้ | น้ำผึ้ง |
กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม | แมลงอุตสาหกรรมและแมลงกินได้ | ไข่มดแดง |
กลุ่มพืชอาหาร
เดือน | กลุ่ม | ชนิดของป่า |
พฤษภาคม - พฤศจิกายน | พืชอาหาร | ผักหวานป่า |
กรกฎาคม - ธันวาคม | พืชอาหาร | ผักติ้ว |
กันยายน - ธันวาคม | พืชอาหาร | กลอย |
พฤษภาคม - พฤศจิกายน | พืชอาหาร | ผักสาบ |
มิถุนายน - สิงหาคม | พืชอาหาร | เห็ดระโงก, เห็ดไคล, เห็ดถ่าน |
พฤษภาคม - มิถุนายน | พืชอาหาร | เห็ดเผาะ |
สิงหาคม - กันยายน | พืชอาหาร | เห็ดโคน |
ทุนกายภาพ
ป่าชุมชนบ้านพร้าว ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชน ลักษณะป่าเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้เด่น ได้แก่ ไม้เต็ง รัง แดง ประดู่ ยางนา ไผ่ป่าชุมชนบ้านพร้าวช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ลดภาวะโลกร้อน ด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ เป็นแหล่งของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เห็ด หน่อไผ่ สมุนไพรต่าง ๆ และยังสร้างรายได้จากของป่าให้กับคนในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ประเพณี และภูมิปัญญา
ทุนวัฒนธรรม
การบวชป่า เป็นพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่จัดทำขึ้นโดยชาวบ้านหรือพระสงฆ์ร่วมกันทำพิธี "บวช" ให้กับต้นไม้เพื่อประกาศให้เห็นว่าป่าแห่งนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรตัดทำลายหรือบุกรุก
ทุนภูมิปัญญา
ข้าวหลามบ้านพร้าว เป็นภูมิปัญญาด้านอาหารที่มีกระบวนการทำ โดยนำเอาวัตถุดิบภายในท้องถิ่นมาแปรรูป เพื่อจำหน่าย และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของบ้านพร้าว
ขั้นตอน / วิธีทำ
- คัดเลือกไม้ไผ่ตัดทำเป็นกระบอก และทำความสะอาด
- นำใบตองผสมกับเปลือกมะพร้าว
- มาทำเป็นจุกกระบอกข้าวหลาม
- คั้นกะทิด้วยมือจนได้กะทิปริมาณตามที่ต้องการ แล้วนำน้ำตาลและเกลือมาผสมให้เข้ากันตามสัดส่วน
- นำข้าวเหนียวไปแช่น้ำประมาณ 4-6 ชม. เสร็จแล้วนำขึ้นมาผสมกับถั่วดำที่ต้มสุก
- กรอกข้าวเหนียวที่ผสมกับถั่วดำลงในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมเอาไว้ ประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของกระบอก
- ใส่น้ำกะทิที่ปรุงแล้วลงในกระบอก ประมาณเศษ 1 ส่วน 2 ของส่วนที่เหลือ ปิดฝาแล้วนำไปเผาในเตาที่เตรียมไว้
- เผาไฟ ประมาณ 3 ชั่วโมง
- เมื่อข้าวหลามสุกแล้ว นำมาปอกเปลือกออกพร้อมที่จะบริโภค และจำหน่ายต่อไป
ขั้นตอนการทำข้าวหลามสังขยา
- นำน้ำกะทิ ไข่ไก่ น้ำตาลปี๊บ และเกลือป่นผสมให้เข้ากัน และใช้อุปกรณ์ตีไข่ด้วยมือตีประมาณ 15 นาที
- เมื่อข้าวหลามที่เผาใกล้จะสุกแล้ว ใช้ไม้กลึงกลมแทงเข้ากลางกระบอกข้าวหลาม
- แล้วนำกะทิที่ผสมไว้แล้ว มาเทใส่เข้าไปในกระบอกข้าวหลามแล้วเผาต่อประมาณครึ่งชั่วโมง
- เมื่อข้าวหลามสังขยาสุกแล้ว นำมาปอกเปลือกพร้อมที่จะบริโภคและจำหน่ายต่อไป
เทคนิคและเคล็ดลับในการทำข้าวหลาม
- มะพร้าวจะต้องคั้นด้วยมือ จะได้น้ำกะทิ ที่มีความมันมากกว่าใช้เครื่อง
- ใส่ใบเตยลงไปในน้ำกะทิ ทำให้น้ำกะทิมีกลิ่นหอมของใบเตย
ทุนเศรษฐกิจ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวัฒนานคร ได้ส่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ลงพื้นที่ร่วมกับวิทยากร ดำเนินกิจกรรมโครงการส่งเสริมประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านพร้าวหมู่ที่ 1 ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยมีเนื้อหา 1.ฝึกอาชีพกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ การทำไข่เค็ม แบบแห้ง และแบบน้ำ 2.จัดทำแผนพัฒนากลุ่มอาชีพ 3.วางแผนการตลาด ให้คำปรึกษาด้านการขาย วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน สมาชิกกองทุนและครัวเรือนเป้าหมายของกองทุนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำเงินไปประกอบอาชีพ
ชุมชนบ้านพร้าว ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ใช้ภาษาอีสาน ในครัวเรือนและในชีวิตประจำวัน ภาษาไทยกลาง ใช้เป็นภาษาราชการใช้การสื่อสารทั่วไป
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวัฒนานคร ได้ส่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ลงพื้นที่ร่วมกับวิทยากร ดำเนินกิจกรรมโครงการส่งเสริมประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านพร้าวหมู่ที่ 1 ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยมีเนื้อหา 1.ฝึกอาชีพกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ การทำไข่เค็ม แบบแห้ง และแบบน้ำ 2.จัดทำแผนพัฒนากลุ่มอาชีพ 3.วางแผนการตลาด ให้คำปรึกษาด้านการขาย วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน สมาชิกกองทุนและครัวเรือนเป้าหมายของกองทุนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำเงินไปประกอบอาชีพ
ชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชน และดูแลโดยคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านพร้าว ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยตั้งกฎเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรมปลูกป่า ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 5 ไร่ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2564 โดยกล้าไม้ที่ใช้ปลูก ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน : กรมป่าไม้ และมีแผนจะปลูกเพิ่ม 10 ไร่ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 และชุมชนยังมีแผนจัดการไฟป่า โดยมีกิจกรรม ลาดตระเวนในพื้นที่ป่าชุมชน ทำแนวป้องกันไฟป่า และกำจัดเชื้อเพลิง,ชิงเผา และนอกจากนี้ป่าชุมชนบ้านพร้าวยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ทรัพยากรป่าชุมชน สมุนไพร เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าศึกษา และดูงาน แหล่งศึกษาสมุนไพร-มีโรงเรียนและแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ป่าชุมชนบ้านพร้าว ได้มีการสำรวจคาร์บอน คือการเปิดพื้นที่ที่พร้อมจะร่วมลงทุนสร้างเครดิตคาร์บอนร่วมกับหน่วยงานภายนอก เป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างคน ป่า และภาคธุรกิจ และบ้านชุมชนบ้านพร้าว ได้รับการรับรองคาร์บอนจากโครงการ LESS โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก
ข้าวหลามแม่สำรวจ (2561). ข้าวหลามสูตรโบราณ เจ้าแรก บ้านพร้าว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. Facebook. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2568. https://www.facebook.com
พนม สุทธิศักดิ์โสภณ และจักรพงษ์ รัตตะมมณี. (2562). ความหลากหลายชนิดของพืชพื้นล่างของป่าเต็งรังในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านพร้าว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 11 ฉบับที่ 22 กรกฎาคม – ธันวาคม 2562 สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. https://ph02.tci-thaijo.org
ภูบดินทร์ วงศ์อ้าย. (2566). การบริหารการจัดการป่าชุมชนบ้านพร้าว ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
รีคอฟ ประเทศไทย (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลป่าชุมชนบ้านพร้าว. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. https://www.thaicfnet.org
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2566). ข้าวหลามบ้านพร้าว “1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม _ หน้าแรก
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2566). ข้าวหลามบ้านพร้าว. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. http://www.m-culture.in.th
ส่วนภาคีเครือข่ายป่าชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน. (2560). ป่าชุมชนต้นแบบ วิถีคน วิถีป่า จังหวัดสระแก้ว. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. https://www.forest.go.th
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (2566). โครงการส่งเสริมประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านพร้าว หมู่ 1 ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. https://district.cdd.go.th
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2568). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืนค้นเมื่อ 9 เมษายน 2568. https://stat.bora.dopa.go.th
สุนทรี พลอยรุ่งโรจน์ (ม.ป.ป.). การประเมินมูลค่าของป่าในป่าชุมชน ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านพร้าว ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. ส่วนพัฒนาวนศาสตร์ชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2568. https://www.forest.go.th