หนึ่งในหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมและกลุ่มชาวกะซองมากที่สุดในบรรดาสี่หมู่บ้านของตำบลด่านชุมพล
ภายในหมู่บ้านมีการปลูกต้นชุมแสงตามลำคลอง ทำให้ในเวลากลางคืนหิ่งห้อยมาเกาะหากินส่องแสงสวยงาม จึงเรียกว่า "คลองชุมแสง" และในปัจจุบันตัดทอนคำลง เรียก "คลองแสง"
หนึ่งในหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมและกลุ่มชาวกะซองมากที่สุดในบรรดาสี่หมู่บ้านของตำบลด่านชุมพล
จากคำเล่าขานของชาวบ้าน “บ้านคลองแสง” แต่เดิมเรียกกันว่า “บ้านชุมแสง” ตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ชอบขึ้นตามหนองน้ำและพื้นที่ตามลำคลองของหมู่บ้าน คือ ต้นชุมแสง เป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งหอย ชอบเกาะในเวลากลางคืน ทำให้เกิดแสงระยิบระยับ สวยงาม ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองแสง” จนถึงปัจจุบัน
บ้านคลองแสง มีการก่อตั้งหมู่บ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ปี แรกเริ่มผู้คนได้มีการตั้งบ้านเรือนอยู่กันประมาณ 3-4 ครัวเรือน คือ นางเย็น นายคุด นางหอ ซึ่งคนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากชาว ฌอง (ชอง) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อพยพมาจากเขมร แล้วมาตั้งถิ่นฐานที่นี้ จึงสันนิษฐานได้ว่าคนในชุมชนนี้มีการสืบเชื้อสายมาจาก 4 ครอบครัวนี้ ในอดีตชาวกะซองตั้งหมู่บ้านอยู่กระจัดกระจายตามป่า มีการทำนา ทำสวน ต่างคนต่างครอบครัวต่างทำมาหากิน การคมนาคมใช้เป็นเส้นทางเกวียน หรือเดินทางในป่าในการไปมาหาสู่กัน เพราะในอดีตหมู่บ้านไกลจากตัวเมือง ทั้งทางอำเภอบ่อไร่ หรือจังหวัดตราด ดังนั้นเมื่อชาวบ้านจะเดินทางเข้าตัวเมือง ต้องเดินทางด้วยเรือ เดินทางและแวะค้างหนึ่งคืน ตามด้วยเดินเท้า และลงเรือที่แม่น้ำตราดเพื่อเข้าตัวเมืองตราด การเดินทางในอดีตทั้งไปและกลับจึงใช้เวลาหลายวัน เส้นทางสำคัญในอดีตของชาวบ้าน คือ คลองแสงและคลองพีด เป็นคลองขนส่งสินค้า ส่งหวาย ปัจจุบันคลองเหล่านี้ถูกลดบทบาทลงกลายเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนแทน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งตอง ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านด่านชุมพล และหมู่ที่ 4 บ้านทางกลาง ตำบลด่านชุมพล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านทับทิมสยาม ตำบลด่านชุมพล และอำเภอสำรูด ประเทศกัมพูชา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านทางกลาง และหมู่ที่ 6 บ้านปะเดา ตำบลด่านชุมพล
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
บ้านคลองแสง ตัวหมู่บ้านห่างจากอำเภอ 17 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดตราด 37 กิโลเมตร เดิมตั้งอยู่ในหมู่ 7 ตำบลด่านชุมพล ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการแยกอาณาเขตเป็นตำบลด่านชุมพลและตำบลนนทรีย์ ต่อมาทางราชการได้แบ่งแยกตำบลด่านชุมพลเป็น ตำบลนนทรี อีกตำบลหนึ่ง หมู่บ้านคลองแสงจึงถูกจัดตั้งเป็นหมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล และมีขนาดพื้นที่ชุมชน ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 31,250 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงสลับเนินเขาเตี้ยและภูเขา มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ประมาณ 96,375 ไร่ เป็นป่าเสื่อมโทรมที่กำลังฟื้นฟูประมาณ 6,250 ไร่ นอกนั้นเป็นพื้นที่อาศัยและที่ทำกินในหมู่บ้าน
สถานที่สำคัญ
ที่พักสงฆ์ เป็นศูนย์กลางความเชื่อพุทธศาสนาของชาวบ้านคลองแสง ที่ก่อตั้งมาประมาณ 5 ปีแล้ว โดยใช้พื้นที่ป่าช้าเก่า เนื่องจากมีพระธุดงค์มักจะเดินทางมาพักแรมที่ป่าช้าเป็นประจำ ชาวบ้านจึงปรับปรุงพื้นที่ดัดแปลงสร้างบ้านแบบดั้งเดิมให้พระธุดงค์ได้ใช้เป็นที่จำวัด จนพัฒนาให้กลายเป็นที่พักสงฆ์ขึ้น มีธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อช่วงเข้าพรรษาจะมีการหมุนเวียนมาส่งเพลให้กับพระสงฆ์ ครอบครัวละสองรอบ
พื้นที่สาธารณะและสาธารณูปโภค
อ่างเก็บน้ำคลองแสง, ศาลาประชาคม, ประปาหมู่บ้าน, สนามกีฬาหมู่บ้าน, สถานีอนามัยบ้านด่านชุมพล, กรมป่าไม้, สำนักงานสวนป่าด่านชุมพล, สระประมงหมู่บ้าน, หอกระจ่ายข่าว, สนามออกกำลังกายหมู่บ้าน และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- แหล่งน้ำ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเองในหมู่บ้าน พบแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภค ได้แก่ บ่อบาดาล 4 บ่อ ประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง สระน้ำ 3 แห่ง แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองแสง 1 แห่ง คลองพีด 1 แห่ง และคลองแสง 1 แห่ง
- หมู่บ้านคลองแสงมีป่าเขาถ้ำบ้านคลองแสง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านคลองแสง ส่งผลให้ป่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เนื่องจากมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเขาถ้ำ อาทิเช่น หมูป่า เก้ง กระรอก นกนานาชนิด หมีหมา พังพอน ลิ่น เม่น กระจง ลิง ชะนี นางอาย ฯลฯ
- พืช ซึ่งป่าเขาถ้ำมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านพันธุ์ไม้ มีไม้ยืนต้นจำนวนมาก อาทิเช่น ไม้พะยูน ต้นตะเคียน ไม้ยางแดง ต้นอินทนิน เป็นต้น สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคเบื้องต้นและพืชที่ไว้กินตามฤดูกาล เช่น เต่าร้าง เต่าเกียด ระกำ บอนหิน สะเดาดิน ดอกออบ สะตอป่า มะไฟป่า เป็นต้น
ประชากร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านคลองแสง จำนวน 299 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 800 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 437 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 363 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565) พบว่าประชากรประมาณ 70% ของหมู่บ้านคลองแสงเป็นชาวกะซอง ถือว่าเป็นกลุ่มกะซองที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดา 4 หมู่บ้านของตำบลด่านชุมพล อีกทั้งสี่หมู่บ้านต่างมีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นเครือญาติเชื้อสายกะซอง แต่นอกจากนี้ยังมีคนกลุ่มอื่นอาศัยอยู่ร่วมด้วย เช่น คนไทยทั้งจากในภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่น ๆ
ระบบเครือญาติ
แต่เดิมชาวกะซองในหมู่บ้านคลองแสงจะแต่งงานข้ามสายตระกูลภายในหมู่บ้าน เนื่องจากในอดีตการคมนาคมนั้นเดินทางลำบาก ทำให้ไม่สามารถสานสัมพันธ์กับบุคคลอื่นภายนอกหมู่บ้านได้ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะนิยมย้ายเข้ามาอาศัยกับฝ่ายหญิง มีการตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อและแม่ของฝ่ายหญิง การแบ่งมรดกจะแบ่งให้จำนวนที่เท่า ๆ กัน เหตุนี้ทำให้คนในหมู่บ้านเป็นญาติกันทั้งหมด แต่ในปัจจุบันเมื่อการคมนาคมสะดวกทำให้การแต่งงานมักแต่งกับคนต่างถิ่น ทำให้อาชีพที่มีในหมู่บ้านหลากหลายขึ้น
กะซอง, ชองกลุ่มอาชีพ
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านคลองแสงมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ สับปะรด ลองกอง ปลูกยางพารา เป็นต้น แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลง ทำให้การติดดอกออกผล ของผลไม้ก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งชาวสวนไม่สามารถบังคับธรรมชาติให้ผลผลิตออกนอกฤดูกาลได้ บางครั้งบางปีราคาผลไม้ต่ำ ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ชาวสวนผลไม้บ้านคลองแสงสามารถกำหนดอนาคตได้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้ในการลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดการซื้อปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ การที่ชาวบ้านดำรงวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ทั้งการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อรับประทานในครัวเรือน พร้อมทั้งยังมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่าย ในครัวเรือนเพื่อกำหนดอนาคตในการวางแผนชีวิตให้กับตนเองยามที่ราคาผลไม้ตกต่ำ
กลุ่มอาชีพจักสานบ้านคลองแสง เป็นกลุ่มอาชีพสานเข่ง (หลัว = ภาษท้องถิ่น) ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2547 เนื่องจากชาวบ้านมีความต้องการให้มีรายได้เป็นอาชีพเสริม โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มกัน เพื่อหาวัตถุดิบจากในหมู่บ้านมาทำการจักสาน ไว้ใช้ในการใส่ผลไม้สำหรับชาวสวน วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ หวาย ไม้ไผ่ คุ้ม ซึ่งเป็นพืชที่มีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน และหาได้ง่ายในท้องถิ่น
บ้านคลองแสงมีสำนักสงฆ์คลองแสง เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน จนเกิดความผูกพัน จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จะมีการฟังธรรมะและตักบาตรทุกวันพระ ส่วนทุกวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีการเข้าวัดทำบุญ เวียนเทียน และประชาชนจะหิ้วปิ่นโตเข้าวัดเพื่อทำบุญตักบาตร อาทิเช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันออกพรรษา วันเข้าพรรษา วันทอดกฐิน วันทอดผ้าป่า เป็นต้น และเมื่อวัดมีการทำบุญประจำปีของหมู่บ้าน ชาวบ้านคลองแสงจะมาช่วยกันโดยไม่ต้องขอความร่วมมือ หรือแจ้งให้ทราบเพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ในการมาช่วยกันด้วยน้ำใจ ทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย และผู้นำชุมชนได้เล็งเห็นความสำคัญ อาทิเช่น
- ประเพณีสงกรานต์ จะมีการจัดพิธีสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุภายในหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาของบ้านคลองแสง
- ประเพณีขึ้นปีใหม่ จะมีการร่วมกันของคนในหมู่บ้านทำบุญตักบาตร และร่วมกันจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีจัดการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านในตอนกลางวัน และเวลากลางคืนมีการแสดงของคนในหมู่บ้าน รวมถึงมีการจับฉลากสิ่งของกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ในหมู่บ้าน และมีการแจกของรางวัลสำหรับผู้มาร่วมกิจกรรม
- ประเพณีการเซ่นไหว้ผีแม่มด ชาวกะซองเรียกว่า ไหว้ผีแม่มด หรือ เล่นผี จะมีการทำพิธีในเดือน 3 ในช่วงเวลากลางคืน มีการเตรียมบายศรีปากชาม ตามจำนวนร่างทรงที่มาประทับ มีเครื่องดนตรีประกอบ รวมถึงมีการร้องเล่นเต้นรำ และมีการเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวร่วมทำพิธีขอขมาลาโทษกัน
1. นายบัญชา เอกนิกร ผู้ใหญ่บ้าน
2. ยายพุ่ม เอกนิกร อายุ 89 ปี ผู้อาวุโสชาวกะซองบ้านคลองแสง มีความสัมพันธ์ในฐานะมารดาของผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือ นายบัญชา เอกนิกร
ทุนกายภาพ
ด้วยปัจจัยทางกายภาพที่อยู่ใกล้แนวป่าเขาถ้ำที่เอื้อต่อการดำรงชีพ ผลผลิตที่ได้นำมาใช้ในครัวเรือน รวมถึงอาหารจากป่าตามฤดูกาล อาทิ หวาย ซึ่งชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก เนื่องจากหวายมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความอ่อนตัว แต่มีความเหนียว จึงสามารถดัดเป็นรูปทรงอิสระได้ ซึ่งความเหนียวของหวายช่วยรับน้ำหนักได้ดี จึงกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำข้าวของเครื่องใช้ โดยจะนำมาสานเป็นเครื่องเรือนไว้ใช้
ทุนวัฒนธรรม
ชาวกะซองในหมู่บ้านคลองแสงนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของหมู่บ้าน เนื่องจากเชื่อว่าผีสามารถควบคุมธรรมชาติได้เพราะตนควบคุมไมได้ เช่น ผีดี หรือวิญาณที่ให้คุณแก่ชาวบ้าน มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสถานที่ที่สิงสถิต ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ นำความสงบสุขมาให้ชุมชน ในที่นี้คือ ผีบรรพบุรุษ หรือผีเรือน ชาวกะซองเรียกว่า ผีสมุก หรือ ผีขมุก เป็นผีที่ประจำอยู่กับผู้หญิงและสืบทอดทางผู้หญิงจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีภาชนะไว้ใส่ลูกปัด แหวน อัญมณี ข้าวเปลือกไว้บนหัวนอนของผู้อาวุโสสูงสุดในบ้าน เพื่อให้คุ้มครองเรือนที่ตนอยู่ จะมีการเชิญร่วมพิธีสำคัญคือพิธีกินผีเรือน หรือพิธีแต่งงานของลูกสาวหรือหลานสาวในบ้าน ชาวบ้านยังเชื่อเรื่องการผิดผี คือการที่หนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงานอยู่ด้วยกันตามลำพังในห้องนอน หากทำผิดผีต้องมีการทำพิธีขอขมาลาโทษเพราะจะป่วยไข้ได้ ผีร้าย ชาวกะซองเรียกว่า ผีแม่มด ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณที่สามารถทำให้เกิดเภทภัยได้ หากมีการทำให้ไม่พอใจอาจเจ็บป่วยได้ ดังนั้นชาวบ้านจะเรียกแม่มด หรือหมอดูมาสื่อสาร จากนั้นมีการบนบานขอขมาเพื่อไถ่โทษด้วยของเซ่นไหว้คือ ไก่ ไข่ เหล้า ข้าวสาร และจะมีการทำพิธีเชิญมาร่วมในประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปี
ภาษาพูด : ภาษากะซอง (Kasong) จัดอยู่ในภาษาศาสตร์สาขาเพียริก (Pearic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) และภาษาไทยในการสื่อสารกับคนภายนอก
สำหรับในอดีตการจัดการทางสังคมมี 2 ลักษณะคือ (1) ผู้นำตามธรรมชาติ หมายถึงผู้อาวุโส หรือเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งหมู่บ้านว่ามีความสามารถ และเป็นที่เคารพนับถือแก่คนหมู่มาก ส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติเป็นหลัก (2) ผู้นำตามหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของภาครัฐ จะถูกเลือกตามกระบวนการของภาครัฐ มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล ปัจจุบันเหลือเพียงผู้นำตามหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของภาครัฐ ผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งตามการปกครองของกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันคือ นายบัญชา เอกนิกร ถือเป็นรุ่นที่ 4
ดำรงพล อินทร์จันทร์. (2559). พลวัตทางชาติพันธุ์ของคนพลัดถิ่นชายแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มชาติพันธุ์ กะซอง และซำเร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 27 เมษายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/