Advance search

บ้านวัดโบสถ์เป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 2,800 ไร่

วัดโบสถ์
เกาะทวด
ปากพนัง
นครศรีธรรมราช
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-3637-7770, เทศบาลเกาะทวด โทร. 0-7846-6188
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านวัดโบสถ์

ชื่อ “บ้านวัดโบสถ์” ถูกตั้งเป็นชื่อบ้านตามชื่อวัดโบสถ์ธาราวดีซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน


ชุมชนชนบท

บ้านวัดโบสถ์เป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 2,800 ไร่

วัดโบสถ์
เกาะทวด
ปากพนัง
นครศรีธรรมราช
80330
8.26744
100.08792
เทศบาลตำบลเกาะทวด

เรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้านวัดโบสถ์สามารถสะท้อนให้เห็นได้จากประวัติความเป็นมาของตำบลเกาะทวด ดังคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนว่า เหตุที่พื้นที่แถบนี้ได้ชื่อว่าเป็นเกาะ จนได้ชื่อว่าตำบลเกาะทวด มีสาเหตุจากลักษณะพื้นที่ที่มีคลองน้อยใหญ่หลายสายล้อมรอบ ส่วนคำว่า ทวด มาจากทวดที่หมายถึงเทวดาที่ปกปักรักษา เกาะทวด จึงหมายถึง พื้นที่ที่มีเทวดาอารักษ์ปกปักรักษา แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ว่า ในอดีตมีชายชราผู้หนึ่งมาจากเขาพระบาท อําเภอหัวไทร เข้ามาตั้งรกรากและแผ้วถางป่าเพื่อทําการเพาะปลูก และได้มีการสืบทอดลูกหลานมาเรื่อย ๆ เมื่อมีแบ่งเขตการปกครอง และต้องตั้งชื่อตําบล จึงเรียกชื่อพื้นที่แห่งนี้ตามเรื่องราวของชายชราว่า “เกาะทวด”

ที่มาของชื่อตําบลนั้นยังปรากฏอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างว่า เดิมทีเกาะทวดเป็นท่าจอดเรือของผู้ที่เข้ามาหาไม้ เพราะพื้นที่แห่งนี้อยู่ริมคลองใหญ่ คือ คลองบางไทร ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น คือต้นแค ชาวบ้านที่เข้าไปหาไม้หรือของป่า จะนําผ้าแดงหรือสีขาวมาพันไว้ที่รอบต้นแคใหญ่นั้น เพราะเห็นว่าลักษณะต้นไม้ผิดแผกไปจากไม้ชนิดอื่น ๆ และตั้งชื่อเรียกว่า “กอทวด” ชาวบ้านที่ผ่านมาผ่านไป จะต้องหยุดกราบไหว้และสักการะอยู่เป็นประจํา ต่อมาภายหลังมีการเพี้ยนเสียงกลายเป็น “เกาะทวด” อันเป็นที่มาของชื่อในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อตําบลเกาะทวด ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้เดิมนั้นเป็นป่ารกร้าง แต่มีคนเข้ามาแผ้วถางเพื่อเป็นพื้นที่เพาะปลูก สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่อําเภอปากพนังโดยรวมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อส่งออกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสามารถประมาณอายุการตั้งถิ่นฐานได้ว่าอาจมีการตั้งถิ่นฐานมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี (กาญจนา เหล่าโชคชัย, 2552: 54-55)

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านวัดโบสถ์เป็นหมู่บ้านหนึ่งในจํานวน 8 หมู่บ้านของตําบลเกาะทวด มีที่ตั้งอยู่ห่างจากเขตตลาดปากพนังหรือตัวเมืองปากพนังมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร มีพื้นที่ 3,119 ไร่ ถือเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่เป็นลําดับสองของตําบล มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านเกาะทวดและหมู่ที่ 8 บ้านหนองก๊กซง
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 7 บ้านเกาะน้อย
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 4 บ้านฆ้อ
  • ทิศตะวันตก ติดกับ อําเภอชะเมา อําเภอปากพนัง

การคมนาคม

การคมนาคมและการเดินทางมายังหมู่บ้านในปัจจุบัน สามารถใช้ได้เพียงเส้นทางบกโดยใช้ถนนได้เพียงทางเดียว ถนนลาดยางเส้นหลักที่ตัดผ่านพื้นที่ตําบลเกาะทวดนั้นมีอยู่หลายสาย แต่เส้นที่ตัดผ่านบ้านวัดโบสถ์ คือ ถนนพัฒนาการบางบูชาเพียงสายเดียว ส่วนถนนเส้นอื่น ๆ ภายในหมู่บ้านจะเป็นถนนดินแดง ทั้งถนนบ้านในฆ้อ ที่แยกจากถนนพัฒนาการบางบูชาเข้าหย่อมบ้านฆ้อ เข้าไปถึงหมู่ที่ 4 ถนนวัดโบสถ์ ที่แยกจากถนนพัฒนาการบางบูชาเข้าบริเวณวัดโบสถ์ และถนนซอยบ้านนาใน ซึ่งแยกจากถนนวัดโบสถ์เข้าสู่หย่อมบ้านนาใน เป็นทางเข้าสู่บริเวณแปลงนาของหมู่บ้าน

ประชากร

บ้านวัดโบสถ์มีประชากรจำนวน 823 คน จาก 166 ครัวเรือน ซึ่งหากเทียบกับขนาดพื้นที่หมู่บ้านแล้ว นับว่าหมู่บ้านวัดโบสถ์มีประชากรน้อยมาก

ความสัมพันธ์ภายในชุมชน

ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านเป็นไปในลักษณะเครือญาติ ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวดองกันทางสายเลือด ซึ่งส่งผลต่อการนับลําดับญาติ คือ การแต่งงานของคนในกลุ่มเครือญาติเดียวกัน สร้างความยุ่งยากในการนับพี่นับน้อง จนไม่สามารถนับได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละคน หรือแต่ละครอบครัวมีการลำดับญาติ หรือลำดับอาวุโสกันอย่างไร 

ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพในการทํานา อาชีพที่พบรองลงมาคือ ค้าขาย ทําสวน รับจ้าง และรับราชการ โดยชาวบ้านที่มีอาชีพหลักคือการทำนา มักจะมีอาชีพเสริมจากการรับจ้าง หรือค้าขายร่วมด้วย แต่การรับจ้างนั้นเป็นการรับจ้างหมุนเวียนในหมู่บ้านในการช่วงฤดูทํานา โดยกิจกรรมที่ต้องมีการจ้างแรงงานของคนในหมู่บ้าน คือ การหว่านข้าว รองลงมาคือ การไถเตรียมที่นา ส่วนกิจกรรมที่มีการจ้างแรงงานน้อยที่สุดคือ การหว่านปุ๋ยและฉีดยาฆ่าแมลง ซึ่งกิจกรรมการรับจ้างในหมู่บ้านที่หมุนเวียนกันเป็นผู้จ้างและผู้รับจ้าง ทําให้การกําหนด ค่าจ้างมาตรฐานจึงเป็นแบบรู้กัน ดังนั้นไม่ว่าจะไปรับจ้างกับใครในหมู่บ้าน ค่าแรงก็จะได้ในอัตราเดียวกัน เช่น ในช่วงหยามหรือช่วงทํานา ค่าจ้างหว่านข้าวปลูกอยู่ที่ถังละ 15 บาท ค่าจ้างหว่านปุ๋ยอยู่ที่กระสอบละ 50 บาท ค่าจ้างฉีดยาฆ่าแมลงราคา 50 บาทต่อถัง 20 ลิตร ส่วนราคารับจ้างไถเตรียมที่นาอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อไร่ ซึ่งราคาที่กําหนดไว้เหล่านี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามแต่สถานการณ์

ศาสนา ประเพณี และความเชื่อ

เนื่องจากบ้านวัดโบสถ์มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวบ้านในชุมชนจึงมีความเชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำนา เช่น ความเชื่อเรื่องวันแรกนา ความเชื่อเรื่องวันหว่านข้าว ความเชื่อเรื่องความปลอดภัยจากศัตรูพืช ความเชื่อเรื่องวันเก็บเกี่ยว และนําข้าวขึ้นยุ้ง

บ้านวัดโบสถ์มีช่วงเวลาประเพณีสำคัญประจำปี 2 ประเพณี คือ ประเพณีเดือนห้า และประเพณีเดือนสิบ

  • ประเพณีเดือนห้า หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านวัดโบสถ์ แม้ว่าจะไม่มีการจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ แต่ชาวบ้านมีธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน คือ การเวียนไปยังบ้านผู้อาวุโสผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เพื่อไปรดน้ำขอพรพร้อมกับไปเยี่ยมเยียน โดยลูกหลานบ้านที่ผู้อาวุโสอาศัยนั้น จะบอกวันที่จะเปิดบ้านต้อนรับแก่คนในหมู่บ้าน ซึ่งนิยมกําหนดในช่วงวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ในวันหนึ่งอาจจะเปิดพร้อมกันหลายบ้านก็ได้ ตามแต่เจ้าบ้านจะสะดวก

  • ประเพณีเดือนสิบ หรือสารทเดือนสิบ หรือช่วงรับตายาย โดยถือกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ดวงวิญญาณจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานในโลกมนุษย์ โดยวันที่สําคัญที่สุดคือวันสุดท้ายของช่วงเทศกาล หรือวันส่งตายาย ที่จะต้องมีการทําบุญครั้งใหญ่เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณก่อนที่จะเดินทางกลับ ช่วงเวลาเดือนสิบนั้นมีความสําคัญมากต่อจิตวิญญาณของชาวภาคใต้ในทุกพื้นที่ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสําคัญที่ชาวใต้จะถือ โอกาสเดินทางกลับบ้านเพื่อมาทําบุญยังบ้านเกิด หรือวัดที่เก็บรักษาอัฐิของบรรพบุรุษ และถือโอกาสเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องไปด้วย

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

การตั้งบ้านเรือนของบ้านวัดโบสถ์ในปัจจุบัน มีลักษณะกระจุกตัวเป็นกลุ่มหย่อมบ้าน แบ่งได้ ออกเป็น 3 หย่อม โดยชาวบ้านมีชื่อเรียกว่า หย่อมบ้านฆ้อ หย่อมบ้านวัดโบสถ์ และหย่อมบ้านนาใน ซึ่งเป็นการเรียกตามชื่อสถานที่ที่หย่อมบ้านนั้นอยู่ใกล้ชิด คือ

  • หย่อมบ้านฆ้อ ใช้เรียกหย่อมบ้านที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ติดกับเขตของหมู่ที่ 4 บ้านฆ้อ
  • หย่อมบ้านวัดโบสถ์ ใช้เรียกหย่อมบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณวัดโบสถ์
  • หย่อมบ้านนาใน ใช้เรียกหย่อมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ถัดจากบริเวณวัดโบสถ์ เข้ามาตามเส้นทางถนนสายนาใน

สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกอย่างหนักและต่อเนื่องในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม ซึ่งบ้านลักษณะนี้ส่วนมากเป็นบ้านที่มีอายุไม่ต่ํากว่า 20-30 ปี ในขณะที่บ้านเรือนที่สร้างขึ้นใหม่ จะสร้างด้วยคอนกรีต มีทั้งแบบบ้านชั้นเดียว และบ้านสองชั้น

โดยปกติชาวบ้านวัดโบสถ์จะไม่ปล่อยบริเวณรอบบ้านให้โล่ง แต่จะใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวปลูกพืชที่สามารถรับประทานนำประกอบอาหารได้ เช่น ฝรั่ง (หรือที่ชาวบ้าน นครศรีธรรมราชเรียกว่า ชมพู่) พืชผักสวนครัว บางบ้านอาจจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงพันธุ์พื้นเมือง เช่น วัว ไก่ สัตว์เลี้ยงเหล่านี้นอกจากจะเป็นอาหารสําหรับครัวเรือนได้แล้ว ยังสามารถเป็นแหล่งเงินทุนสํารองเมื่อคราวที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินด่วนอีกด้วย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


บ้านวัดโบสถ์ ตําบลเกาะทวด อําเภอปากพนัง เป็นพื้นที่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนภายนอกมาโดยตลอด นับจากการเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อส่งออกในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปสู่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยจะพบว่ามีการเริ่มทําอุตสาหกรรมประมงและนากุ้งในพื้นที่อําเภอปากพนัง ขณะเดียวกันชาวบ้านโบสถ์ก็เข้าไปลงทุนในธุรกิจนากุ้งเช่นเดียวกับชาวอําเภอปากพนังที่เข้าไปทํานากุ้งในพื้นที่ปากพนังฝั่งตะวันออกและตะวันตกบางส่วน หรือในช่วงที่บ้านวัดโบสถ์เริ่มมีการเปลี่ยนที่นาเป็นพื้นที่สวนมากขึ้น ในขณะที่รุ่นลูกหลานของชาวนาในหมู่บ้านต่างออกนอกพื้นที่ ยกระดับฐานะทางสังคมด้วยการศึกษา และออกไปแสวงหาอาชีพที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนื้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทในสังคมไทยภายหลังการดําเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วงปี พ.ศ. 2500 ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอําเภอปากพนังย่อมจะมีผลต่อชุมชนในหน่วยย่อยอย่างบ้านวัดโบสถ์ แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านวัดโบสถ์เองก็มีการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ชาวบ้านมีกระบวนการเลือกรับ ปรับใช้ และสร้างโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เพื่อให้ตนเองยังคงดำรงอยู่ และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุขภายใต้พลวัตที่เกิดขึ้น (กาญจนา เหล่าโชคชัย, 2552: 65-66)


บ้านวัดโบสถ์ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงมากว่า 25 ปีแล้ว ส่วนบริการด้านการประปา มีใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ทำให้หมู่บ้านวัดโบสถ์ทุกครัวเรือนมีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง 


บ้านวัดโบสถ์เป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกหลานเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นจากการที่แทบทุกครัวเรือนจะพยายามให้ลูกได้รับการศึกษาอย่างน้อยขั้นต่ำตามศักยภาพของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง คือ โรงเรียนวัดโบสถ์ ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ปีที่ 6 และโรงเรียนโสภณคณาภรณ์ ซึ่งเปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และถ้าครอบครัวใดมีศักยภาพในการส่งเสียมากขึ้น รวมทั้งลูกหลานมีความสามารถในการเล่าเรียน ก็จะนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนในตัวตลาดปากพนัง หรือในตัวอําเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพราะสามารถศึกษาจนถึงระดับจบมัธยมศึกษาได้อย่างต่อเนื่องจนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กาญจนา เหล่าโชคชัย. (2552). ทางเลือกเศรษฐกิจของชาวนาปากพนัง : กรณีศึกษาชาวนาบ้านวัดโบสถ์ ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566].

วัดโบสถ์ธาราวดี ม.5 เกาะทวด. (2563). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566].

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-3637-7770, เทศบาลเกาะทวด โทร. 0-7846-6188