Advance search

บ้านโก้งโค้ง

บ้านโก้งโค้ง หมู่บ้านชายทะเลลุ่มน้ำปากพนัง หมู่บ้านชาวประมงที่ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องราววิถีชีวิตไว้กับความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านบางโก้งโค้ง
ปากพนังฝั่งตะวันออก
ปากพนัง
นครศรีธรรมราช
อบต.ปากพนัง โทร. 0-7551-8418
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านบางโก้งโค้ง
บ้านโก้งโค้ง

ชื่อหมู่บ้านมีที่มาจาก 2 ที่มา

ที่มาแรกมาจากเรื่องเล่าของชายคนจีนถูกปูหนีบ แล้วไม่สามารถดึงมือออกจากรูปูได้ กระทั่งตกบ่ายน้ำทะเลขึ้น จึงถูกน้ำท่วมตายท่าโก้งโค้ง ชาวบ้านมาเห็นจึงเรียกว่า บ้านบางโก้งโค้ง

ที่มาที่สอง คาดว่าในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยมีคลองโก้งโค้งซึ่งมีโค้งเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านคลองโค้ง แต่ต่อมาเพี้ยนเป็น บางโก้งโค้ง


ชุมชนชนบท

บ้านโก้งโค้ง หมู่บ้านชายทะเลลุ่มน้ำปากพนัง หมู่บ้านชาวประมงที่ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องราววิถีชีวิตไว้กับความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านบางโก้งโค้ง
ปากพนังฝั่งตะวันออก
ปากพนัง
นครศรีธรรมราช
80140
8.403245
100.195202
องค์การบริหารส่วนตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก

ประวัติความเป็นมาของบ้านบางโคกโก้ง ตำบลปากพนัง เริ่มปรากฏหลักฐานและรายละเอียดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2474 ในช่วงแรกของการก่อตั้งหมู่บ้าน มีชาวบ้านที่อยู่อาศัยเป็นการถาวรประมาณ 2-3 ครัวเรือน และเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงมีการสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นและได้ขยายครัวเรือนในหมู่ญาติด้วยกันเองเป็น 20 ครัวเรือน ต่อมาทางราชการมีนโยบายในการตั้งชื่อหมู่บ้าน จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า “บ้านบางโก้งโค้ง” ตามชื่อที่ชาวบ้านแถบนี้ที่มักเรียกตามชื่อ ของลําน้ำที่ชื่อว่าคลองโค้ง ซึ่งเป็นคลองที่มีโค้งมาก ชาวบ้านมักเรียกชื่อว่าคลองโค้ง เมื่อชาวบ้านมาอยู่อาศัยร่วมกันเป็นจํานวนมากจึงเรียกชื่อว่าเป็น บ้านคลองโค้ง เพี้ยนมาเรื่อย ๆ เป็นบ้านบางโก้งโค้งในปัจจุบัน โดยมีสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของชาวบ้านที่นี่คือ “วัดบางโก้งโค้ง” โดย เด็กๆ ในหมู่บ้านมักจะไปเรียนหนังสือกับพระ เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีถนนใช้เหมือนปัจจุบัน การไปเรียนหนังสือกับพระและการสัญจรไปมาในหมู่บ้านจึงใช้เรือเป็นหลัก ซึ่งมีเพียงเรือพายและเรือแจวเท่านั้น พ.ศ. 2486 ชาวจีนได้ขุดคลองบริเวณปลายบางโก้งโค้งให้ติดกับทะเลมากขึ้น เพื่อให้เรือสินค้าและสําเภาขนาดใหญ่ผ่านไปมาได้ดี ซึ่งกิจการของคนจีนขณะนั้นคือการค้าถ่านและการซื้อปลาจากชาวประมงไทยไปขาย มีกิจการที่รุ่งเรืองมาก จึงจําเป็นต้องขุดคลองเพิ่ม ทําให้การคมนาคมทางน้ำได้สะดวกขึ้นมาก

อนึ่ง ชื่อของ “บ้านโก้งโค้ง” ตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมา ยังปรากฏที่มาอีกกระแสหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจีนว่า ในอดีตมีคนจีนจำนวนมากได้เดินทางอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณนี้ โดยเข้ามาตัดไม้เพื่อเผาถ่านเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะโกงกางซึ่งเป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีที่สุด อีกทั้งยังมีสัตว์น้ำมากชนิดทั้งปลา กุ้ง หอย และปูดํา จึงเหมาะสําหรับการตั้งถิ่นฐาน สําหรับการเผาถ่านเพื่อการค้าของคนจีนในยุคนั้น จึงทําให้มีการถางป่าเป็นบริเวณกว้าง โดยชาวจีนคนหนึ่งที่เข้าไปในป่าเพื่อตัดไม้มาเผาถ่านจนเหน็ดเหนื่อย ขณะนั่งพักผ่อนอยู่นั้น ได้เหลือบไปเห็นรูปู ซึ่งมีปูตัวใหญ่มาก ว่ากันว่าขนาดเท่าจานขนาดใหญ่ ชาวจีนตัดไม้คนนั้นอยากได้ปูใหญ่ไปเป็นอาหารเที่ยง จึงลุกขึ้นหมายจะจับปู แต่เนื่องจากชาวจีนคนนั้นไม่ชำนาญเรื่องการประมง ปูจึงหนีเข้ารูไป ด้วยหมายจะจับปูให้ได้ จึงเอามือล้วงลงไปในรูปูจนสุดแขน ปูจึงหนีบมือคนจีนคนนั้น เนื่องจากปูมีขนาดใหญ่ประกอบกับรูปูลึกมาก ทั้งดินที่ชาวจีนคนนั้นยืนอยู่ก็เป็นดินเลนจึงไม่สามารถดึงมือออกจากรูปูได้ จนกระทั่งถึงเวลาบ่ายเป็นช่วงเวลาที่น้ทะเลหนุนหรือช่วงน้ำขึ้น ชาวจีนคนนั้นจึงยืนจมน้ำตายในท่าโก้งโค้ง ชาวบ้านมาพบเห็นชาวจีนตายในท่าโก้งโค้งจึงเรียกขานกันว่า “บ้านบางโก้งโค้ง” ตั้งแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ปากอ่าวปากพนัง ตําบลแหลมตะลุมพุก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านชายทะเล
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านรากไม้
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านเกาะไชย

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนบ้านบางโก้งโค้งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน มีน้ำทะเลท่วมถึงเกือบตลอดทั้งปี การคมนาคมไม่สะดวกช่วงฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมบางช่วงของถนนไม่สามารถใช้การได้ ลักษณะดินเป็นดินเลนที่มีความเข็งตัว สามารถปลูกสร้างบ้านเรือนที่ปลอดภัยสําหรับการอยู่อาศัยได้ มีคลองสายสําคัญที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนในชุมชน คือคลองโก้งโค้ง ส่วนคลองใกล้เคียง คือ คลองบางท้องกุ้ง และคลองรากไม้

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปมีลักษณะแบบลมมรสุม มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ช่วงฤดูร้อนจะอยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ส่วนฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม ทั้งนี้สภาพภูมิอากาศเป็นเขตอากาศร้อนชื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมบกซึ่งพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นลมจากบกพัดลงทะเลและ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดจากทะเลขึ้นสู่ฝั่ง ในช่วงนี้บางปีอาจมีมรสุมคลื่นลมแรง ในบางปีจึงต้องอพยพมาหลบภัยที่รัฐจัดไว้ให้

ปัจจุบันบ้านโคกโก้ง ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 593 คน 

ชาวบ้านบางโคกโก้งมีอาชีพหลัก คือ การทำประมง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การทำประมงของชาวบ้านบางโก้งโค้งในปัจจุบันใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากมีความจําเป็นต้องพัฒนาศักยภาพการจับสัตว์น้ำโดยการปรับปรุงเครื่องมือทําการประมงชนิดต่าง ๆ เพื่อจับสัตว์น้ำให้ได้ในปริมาณมากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันในการจับสัตว์น้ำมีสูงมากซึ่งผกผันตรงข้ามกับชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่มีจำนวนน้อยลง ทำให้ผลกําไรจากการประกอบอาชีพประมงมีน้อยลง เช่น ในปัจจุบันการออกหาปลาจําเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทุกครั้ง วัสดุสําหรับการทําเครื่องมือประมงต้องซื้อเกือบทั้งหมด อาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดําที่มาทดแทนก็ไม่ประสบผลสําเร็จ ของป่าที่เป็นทรัพยากรที่สําคัญก็หาได้น้อยลง แต่ชาวบ้านยังมีความจําเป็นต้องใช้สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะต้องไปซื้อจากตลาดอําเภอปากพนังหรือในตัวจังหวัด

ชาวบ้านชุมชนบางโก้งโค้งมีวิถีชีวิตความป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่รวมกันเป็นครอบครัว แต่ถ้าลูกมีครอบครัวใหม่ส่วนใหญ่ก็มักจะยังสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ กันบ้านของพ่อแม่ หรือสร้างบ้านในที่ดินที่พ่อแม่มอบให้ ทุกคนในชุมชนรู้จักสนิทสนมเปรียบเสมือนญาติพี่น้อง อนึ่ง เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่คู่กับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล อีกทั้งพื้นที่ตั้งหมู่บ้านที่อยู่ในอาณาบริเวณของปาชายเลน เกือบทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จึงมีเรือหาปลาเป็นของตนเอง เมื่อได้ปลามาแล้วก็จะนำไปขายทำให้มีรายได้เข้าสู่ครอบครัว เหลือจากการขายจึงจะนำมาแจกจ่ายให้คนในครอบครัวและเพื่อนบ้านในชุมชนนำไปประกอบอาหาร แต่สำหรับครอบครัวที่ไม่มีเรือเป็นของตัวเองก็มักจะไปเป็นลูกจ้างในเรือหาปลาของเพื่อนบ้านแทน ก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ภายในชุมชน โดยเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์สำหรับหาปลาส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สร้างสรรค์และคิดค้นขึ้นเอง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียง สงบสุข ซึ่งยังคงดำเนินอยู่มาจนปัจจุบัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านบางโคกโก้ง (กองทุนพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง, 2547: 19-20 อ้างถึงใน พระบุญส่ง กิตฺติโสภโณ (ไกรวงศ์), 2555: 10-11) แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงก่อนวาตภัย พ.ศ. 2505 สัตว์น้ำมีอยู่จํานวนมาก ตลอดจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเพาะพันธุ์ คูคลอง ลําบางสาขาต่าง ๆ มีความลึกมากเนื่องจากน้ำไหลเวียนได้ตามธรรมชาติ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มีเรือเป็นของตนเอง เช่น เรือเซียด กุ้ง เรือหางยาวจับปูแสม เรือแจวใช้ในการลงอวนและอวนรุน

  • ช่วงปี พ.ศ. 2531 ยุคแห่งนากุ้ง อาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่พอมีเงินทุนจึงหันไปประกอบอาชีพทํานากุ้ง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการนำสารเคมีมาใช้ในการจับสัตว์น้ำในการทําการประมง ทําให้สัตว์น้ำลดลงเป็นจํานวนมาก

  • ช่วงปี พ.ศ. 2542 ยุคแห่งการปิดประตูระบายน้ำ ทําให้เกิดน้ำเน่าเสีย น้ำท่วมขัง น้ำในลําคลองสายไม่ไหลเวียน ทําให้พื้นคลองมีตะกอนทับถมเป็นจํานวนมาก เป็นเหตุให้คลองตื้นเขิน ระดับน้ำในคลองมีความเค็มสูงผิดปกติ สัตว์น้ำตาย ทําให้ชาวบ้านทํามาหากินลําบาก และใช้ต้นทุนในการประกอบอาชีพสูง

  • ช่วงปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา คือ ยุคแห่งความยากจน ชาวบ้านเริ่มประสบกับปัญหาการเลี้ยงชีพได้ไม่คุ้มกับต้นทุน ราคาผลผลิตตกต่ำ สัตว์น้ำเกือบทุกชนิดสูญพันธุ์ ส่วนอาชีพการทำนากุ้งก็ไม่ประสบความสำเร็จอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น การทิ้งน้ำเสีย ป่าไม้ถูกทําลาย ระบบธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ราคาตกต่ำและมีโรคระบาด

เนื่องจากบ้านบางโคกโก้งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดจากทะเลขึ้นสู่ฝั่ง บางปีอาจมีมรสุมคลื่นลมแรงจนพัดน้ำเข้าท่วมชุมชน อีกทั้งในช่วงบ่ายของทุกวันจะเป็นช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำจากคลองปากพนังเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชน ดังเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2555 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหมู่บ้านบางโคกโก้งเป็นเวลานานกว่า 5 เดือน สืบเนื่องจากน้ำได้เอ่อทะลักเข้าท่วมสูงในช่วงบ่ายของทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลหนุนที่จะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำปากพนังยกระดับไหลบ่าเข้าท่วมชุมชน บ้านเรือน โรงเรียน จนได้รับความเดือดร้อน ถนนบางช่วงในหมู่บ้านไม่สามารถใช้การได้อย่างสิ้นเชิง ต้องรอน้ำลดในช่วงค่ำจึงสามารถใช้การได้อีกครั้ง และเมื่อถึงช่วงบ่ายของวันถัดไปน้ำจะเข้าท่วมตามวงจรปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุน เป็นเหตุให้โรงเรียนบ้านโคกโก้ง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้านต้องปิดการเรียนการสอนในช่วงบ่ายของทุกวัน เพราะเกรงนักเรียนได้รับอันตราย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้เทศบาลเข้ามาทำถนนในหมู่บ้านให้สูงขึ้นเพื่อเป็นเขื่อนกั้นน้ำจากคลองปากพนัง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พระบุญส่ง กิตฺติโสภโณ (ไกรวงศ์). (2555). การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน : กรณีศึกษา บ้านบางโก้งโค้ง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

สถานที่ท่องเที่ยวภาคใต้. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://blogspot.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566].

MGR Online. (2555). พบหมู่บ้านรัฐลืม!! น้ำท่วมซ้ำซาก 5 เดือน/ปี ร.ร.ปิดครึ่งวันบ่ายให้เด็กหนีน้ำ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://mgronline.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566].

World Orgs. (ม.ป.ป.). โรงเรียนบ้านโก้งโค้ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thi.worldorgs.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566].

อบต.ปากพนัง โทร. 0-7551-8418