Advance search

ชุมชนบ้านหัวลำภูมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ต้นตาลโตนด วัตถุดิบสำคัญสำหรับการแปรรูปน้ำตาลโตนด ผลิตภัณฑ์สินค้าซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของคนในชุมชน   

บ้านหัวลำภู
ป่าขาด
สิงหนคร
สงขลา
อบต.ป่าขาด โทร. 0-7459-1111
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านหัวลำภู


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านหัวลำภูมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ต้นตาลโตนด วัตถุดิบสำคัญสำหรับการแปรรูปน้ำตาลโตนด ผลิตภัณฑ์สินค้าซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของคนในชุมชน   

บ้านหัวลำภู
ป่าขาด
สิงหนคร
สงขลา
90330
7.252018004
100.4869
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าขาด

บ้านหัวลำภู เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือเอกสารทางวิชาการใดสามารถระบุถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนได้อย่างแน่ชัด แต่หากพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของชุมชนที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเลสาบ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำประมงริมฝั่ง เกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ในพื้นที่ตั้งบ้านหัวลำภูยังเป็นแหล่งต้นตาลโตนด ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าอย่างมากทางเศรษฐกิจ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า การเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกิน และปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณบ้านหัวลำภู อาจมีการพิจารณาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์และการประกอบอาชีพเป็นหลัก 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรด บ้านเทพยา หมู่ที่ 3 ตําบลป่าขาด
  • ทิศใต้ จรด ทะเลสาบสงขลา
  • ทิศตะวันออก จรด หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตําบลทํานบ อําเภอสิงหนคร
  • ทิศตะวันตก จรด ทะเลสาบสงขลา และหมู่ที่ 2 ตําบลป่าขาด อําเภอสิงหนคร

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านหัวลำภูมีสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเลสาบ พื้นที่ส่วนใหญ่ถึงประมาณ 2,868 ไร่ ถูกนำไปใช้ไปโยชน์ด้านการเกษตร ประมงชายฝั่ง และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ว่างเปล่าประมาณ 899 ไร่ และนอกเหนือจากนี้ จะเป็นพื้นที่สำหรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัย 

สภาพภูมิอากาศ

พื้นที่ตั้งบ้านหัวลำภู อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน 

บ้านหัวลำภู มีประชากรทั้งสิ้น 440 คน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชน คือ กลุ่มวัยทำงานช่วงอายุตั้งแต่ 26-49 ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

บ้านหัวลำภู ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร มีการแบ่งเขตเขตการปกครองภายในหมู่บ้านออกเป็น 4 หย่อมบ้าน ตามลักษณะการตั้งบ้านเรือนที่ตั้งกันเป็นกลุ่ม ๆ ตามบริเวณต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวลำภู บ้านหัวหมอน บ้านทับอวน และบ้านหัวปรง โดยแต่ละหย่อมบ้านตามที่ได้กล่าวมานี้ มีลักษณะการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งบ้านเรือนมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • บ้านหัวลําภู : มีพื้นที่ทางทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลสาบสงขลาและมีป่าชายเลนกั้นกลางระหว่างชุมชนกับทะเลสาบ ชาวบ้านบริเวณนี้ประกอบอาชีพการทําประมง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ทํานาและตาลโตนด มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ทําสวนผลไม้ เช่น มะม่วง กล้วย มะพร้าว บางครัวเรือนทำสวนผสมกับการเลี้ยงหมูและเป็ด
  • บ้านหัวหมอน : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาและทําตาลโตนด มีสวนผลไม้ และสวนผสม (มะม่วง กล้วย มะละกอ) มีการปลูกต้นไผ่ หญ้าหวายข้อ และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว หมู ขุดบ่อบ่อเลี้ยงปลา พืชเศรษฐกิจสำคัญของบ้านหัวหมอนคือต้นตาลโตนดและสวนมะม่วงพิมเสน
  • บ้านทับอวน : มีพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลสาบสงขลา มีท่าเรือเทียบหมู่บ้าน ชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง เลี้ยงปลา อีกทั้งยังมีการทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นา ทําสวนมะม่วง และทําสวนผสม
  • บ้านหัวปรง : ทิศตะวันออกติดต่อกับคลองสายยู ทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลสาบสงขลา การใช้ประโยชน์ พื้นที่ของชุมชน ได้แก่ การทํานาและตาลโตนด มีสวนมะม่วง สวนผสม ปาล์มน้ำมัน ไผ่ และหญ้าหวายข้อ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ฝั่งที่ติดต่อกับตำบลทำนบ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้นส่วนใหญ่จะทำบ่อเลี้ยงกุ้ง 

ชาวบ้านหัวลำภูทุกครัวเรือนนับถือศาสนาพุทธ จึงอาจกล่าวได้ว่าบ้านหัวลำภูมีลักษณะเป็นชุมชนไทยพุทธ วิถีชีวิตอยู่กันแบบพี่น้องประดุจเครือญาติ คอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการรวมกลุ่มเพื่อประกอบศาสนกิจในวันสำคัญ เช่น ทําบุญสงกรานต์ ทําบุญเดือนสิบ งานพิธีต่าง ๆ เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน ชาวบ้านในชุมชนจะเดินทางมาช่วยเหลือบ้านที่มีงานพิธี เพื่อถือเป็นการแสดงน้ำใจ และแสดงมิตรสัมพันธไมตรีแก่กัน ซึ่งการรวมกลุ่มเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนาดังกล่าวนั้น ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นระหว่างกัน ทั้งยังเป็นการกระจายข่าวสารทั้งจากภายนอกและภายในชุมชนให้รับรู้ร่วมกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ : ป่าตาลโตนด และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น ปลา ปู ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของชาวบ้านหัวลำภู 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย 


เยาชนบ้านหัวลำภูส่วนใหญ่จะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนวัดป่าขาด ซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะเข้าเรียนในโรงเรียนสงขลาวิทยาคม รองลงมา คือ โรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ ส่วนในระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จะนิยมเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐทั้งที่อยู่ในจังหวัดสงขลา และต่างจังหวัด 


ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บ้านหัวลำภูมีลักษณะที่ตั้งทอดยาวไปตามริมฝั่งของทะเลสาบสงขลา ทําให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่เมื่อ พ.ศ. 2547 เริ่มมีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำมาตั้งในพื้นที่และปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลสาบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 เกิดวิกฤติการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ ปัญหาเรืออวนรุนเข้ามาทําประมงในเขตชุมชน ซึ่งนอกจากจะทําลายเครื่องมือประมงของชาวบ้านแล้ว ยังทําให้ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลง จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความตระหนักถึงความสําคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำและวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเอง จึงได้ร่วมกันคิดค้นพัฒนาแนวทางในการดูแล ปกป้อง และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยตนเอง เป็นเหตุให้เกิดการก่อตั้งเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำโดยชุมชนบ้านหัวลำภูในปี พ.ศ. 2555 เพื่อประสานงานกับศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนล่างสงขลา ในการกําหนดเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยใช้เวทีประชาคมหมู่บ้านเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในชุมชน จากเดิมที่สภาพพื้นที่ชายฝั่งมีการวางไซนั่งจนถึงริมฝั่ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน หลังจากที่มีการพูดคุยกันในชุมชน ชาวบ้านได้ร่วมใจกันรื้อไซนั่งที่วางไว้จนถึงริมฝั่งออกไป เพื่อให้เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำของชุมชน แล้วช่วยกันทํา "ตั้งกอ" ที่เป็นที่พักอาศัยหรือบ้านของสัตว์น้ำวัยอ่อนในบริเวณเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ พร้อมปักเขตไว้เป็นแนวเพื่อให้รู้ว่าเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำของชุมชน เพื่อป้องกันการรุกล้ำของเรือประมงเข้ามาในเขตอนุรักษ์ 

ในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาที่ติดกับหมู่ที่ 1 บ้านหัวลำภู มีการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ที่เรียกว่า “ฟาร์มทะเล” ห่างจากชายฝั่งเป็นระยะ 300 เมตร ซึ่งห้ามไม่ให้มีการทําประมงทุกชนิดในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนนอกเขตอนุรักษ์มีเครื่องมือประมง 2 ชนิด คือ ไซนั่ง และไซนอน โดยเครื่องมือประมงส่วนใหญ่เป็นไซนั่ง ที่เรียงต่อกันไปตลอดแนวทะเลสาบจนถึงบ้านปากบางภูมี อ.ควนเนียง จ.สงขลา ซึ่งเกิดจากพัฒนาการในการขับเคลื่อนของชุมชน

อรทัย หนูสงค์. (2560). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ: กรณีศึกษาหมู่ที่ 1 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ปริญยาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

อบต.ป่าขาด โทร. 0-7459-1111