
"ทรงวาด" ถนนสายเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่านการค้าสำคัญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เปิดประตูสยามสู่การค้าโลก ผ่านกาลเวลาที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนจะเงียบเหงาไปตามกาลเวลา และกลับมาเป็นย่านที่คึกคักอีกครั้งกับบรรยากาศสุดชิค และตึกสวยสุดคลาสสิกที่แต่งแต้มด้วยงานสตรีทอาร์ตตลอดสองฟากฝั่งถนน เพื่อคืนชีวิตที่เงียบเหงาของทรงวาดให้กลับมามีชีวิตชีวา
พื้นที่ทรงวาดเดิมทีเป็นชุมชนแออัดส่วนหนึ่งของย่านสำเพ็งที่มีเหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงวาดแนวถนนบนแผนที่ขึ้นมาใหม่ เป็นเส้นตรงจากท่าน้ำราชวงศ์เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดปทุมคงคาฯ เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ เพราะถ้าปล่อยให้ปลูกสร้างอาคารอย่างเดิม ตึกรามบ้านช่องก็จะแน่นหาทางเดินไม่ได้ และรับสั่งให้เปิดเป็นถนน รถจะได้มีโอกาสแล่น ไม่ต้องแออัด เมื่อสำเร็จ ความเจริญก็เข้ามาถึง ถนนสายนี้จึงมีนามว่า "ทรงวาด"
"ทรงวาด" ถนนสายเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่านการค้าสำคัญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เปิดประตูสยามสู่การค้าโลก ผ่านกาลเวลาที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนจะเงียบเหงาไปตามกาลเวลา และกลับมาเป็นย่านที่คึกคักอีกครั้งกับบรรยากาศสุดชิค และตึกสวยสุดคลาสสิกที่แต่งแต้มด้วยงานสตรีทอาร์ตตลอดสองฟากฝั่งถนน เพื่อคืนชีวิตที่เงียบเหงาของทรงวาดให้กลับมามีชีวิตชีวา
ความเป็นมาของถนนทรงวาดนั้นมีความสัมพันธ์กันกับย่านสำเพ็ง โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2325 และพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในบริเวณที่เดิมทีเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนจำนวนหนึ่ง พระองค์มีพระราชดำริให้ชุมชนชาวจีนนี้ย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่นอกกำแพงพระนครแถบวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส ไปจนถึงครองวัดสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร การย้ายชุมชนชาวจีนในครั้งนั้นเป็นเสมือนการบุกเบิกพื้นที่ด้านใต้พระนครให้กลายเป็นย่านการค้าสำคัญในเวลาต่อมา เรียกได้ว่า "สำเพ็ง" คือ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาได้มีการอพยพของชาวจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งในสำเพ็งเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเป็นแหล่งในการหาช่องทางทำมาหากินของชาวจีน ยิ่งเมื่อไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในช่วง พ.ศ. 2398 ลักษณะการค้าในตอนแรกเป็นการค้าแบบผูกขาด ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นการค้าเสรี เกิดปรากฏการณ์การนำเข้า-ส่งออกสินค้าอย่างคึกคัก จึงทำให้ชุมชนชาวจีนขยายตัวออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยทอดตัวไปตามแนวคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งขุดเป็นคลองคูเมืองรอบกรุงรอบสุดท้ายใน พ.ศ. 2397 และแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ขยายไปด้วย
ขณะเดียวกันการขยายตัวของเมืองก็มาพร้อมกับปัญหา ทั้งในด้านความแออัดของชุมชนเนื่องจากการตั้งบ้านเรือนใกล้ชิดกัน ยากต่อการบำรุงรักษา เกิดปัญหาสุขอนามัย ทั้งยังเกิดอัคคีภัยบ่อยครั้ง ใน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริเรื่องการตัดเส้นถนนและจัดระเบียบที่อยู่ใหม่ โดยทรงวาดแนวถนนลงบนแผนที่ เช่น ถนนราชวงศ์และถนนจักรวรรดิ ซึ่งภายหลังจึงมีชื่อว่า "ถนนทรงวาด"
ทรงวาดมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดหลังจากการตัดถนนด้านทิศตะวันออกแล้วเสร็จ อาคารริมน้ำในย่านทรงวาดเป็นโกดังสำหรับเก็บสินค้าประเภทข้าว พริกไทย เครื่องเทศ น้ำตาล น้ำมันมะพร้าว และสินค้าพื้นเมืองอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังต่างประเทศที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว พืชผลทางการเกษตรจากทั่วประเทศถูกลำเลียงและขนส่งมาทางน้ำเข้าสู่คลังสินค้าดังกล่าว เพื่อเตรียมขนถ่ายไปสู่ตลาดต่างประเทศ จนทรงวาดกลายเป็นย่านการค้าส่งพืชผลทางการเกษตรในระดับภูมิภาคในที่สุด อาคารส่วนใหญ่วางตัวในแนวยาวตั้งฉากกับแม่น้ำ มีเส้นทางลำเลียงสินค้าจากท่าเทียบเรือริมแม่น้ำที่เชื่อมต่อไปยังย่านทรงวาดต่อเนื่องไปยังสำเพ็งเป็นจำนวนมาก กระทั่งใน พ.ศ. 2517 เป็นยุคที่ถนนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการคมนาคมขนส่งเทียบเท่ากับเส้นทางน้ำ ขอบตลิ่งริมแม่น้ำที่เคยเว้าเข้าไปเป็นที่จอดเรือถูกถมกลายเป็นถนน ส่วนปลายถนนทรงวาดทางทิศตะวันตกมีอาคารใหม่เกิดขึ้นแทน
หลังจากการพัฒนาระบบขนส่งทางบกทั่วกรุงเทพมหานครแล้ว มีการยกเลิกการขนส่งสินค้าและท่าเรือในย่านทรงวาด กิจกรรมการค้าส่งของย่านเริ่มประสบปัญหาความเสื่อมถอยอันเกิดจากความไม่สะดวกในการขนส่ง ตลอดจนปริมาณสินค้าที่ขนส่งได้ลดลง ท่าเรือขนส่งสินค้าถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงท่าเรือโดยสารและข้ามฟากเท่านั้น ซึ่งในยุคนี้เรียกได้ว่าเป็น "ยุคซบเซา" ของย่านทรงวาดก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพของถนนทรงวาดในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปหลายประการตามยุคสมัย แต่ร่องรอยความรุ่งเรืองหลายอย่างยังคงปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้ ตัวอาคารเก่าอันสวยงามยังตั้งตระหง่านให้เห็นอยู่ ที่ตั้งของกิจการร้านค้าและโกดังที่เคยเป็นแหล่งเก็บและกระจายสินค้า ตึกแถวที่มีลวดลายผลไม้อันวิจิตร รวมถึงการค้าขายเครื่องเทศและเมล็ดพันธุ์ ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของย่านทรงวาดยังคงเปิดทำการเช่นเดียวกับวันวาน
ทรงวาดตั้งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของย่านเยาวราชอันโด่งดัง โดยพื้นที่แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเริ่มตั้งแต่บริเวณที่ตัดกับถนนจักรวรรดิ (สะพานพุทธ) ไปจนถึงบริเวณถนนราชวงศ์ (ซอยสมยศ) มีอาคารบ้านเรือนคั่นกลาง และช่วงที่ 2 จะเริ่มจากถนนราชวงศ์อีกฝั่งไปตัดกับถนนเจริญกรุง ครอบคลุมพื้นที่ 3 แขวงด้วยกัน คือ แขวงสัมพันธวงศ์ แขวงจักรวรรดิ และแขวงตลาดน้อย โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเจริญกรุงตั้งแต่สะพานเจริญสวัสดิ์ถึงสะพานดำรงสถิต
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองผดุงเกษมถึงปากคลองโอ่งอ่าง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองผดุงเกษมตั้งแต่สะพานเจริญสวัสดิ์ถึงปากคลองผดุงเกษมด้านทิศใต้
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองโอ่งอ่างตั้งแต่สะพานดำรงสถิตถึงปากคลองโอ่งอ่างด้านทิศใต้
โดยย่านทรงวาด หมายถึง พื้นที่และอาคารตลอดสองฝั่งถนนทรงวาด ซึ่งขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาณาเขตด้านทิศเหนือจรดแนวอาคารริมถนนทรงวาด ด้านทิศตะวันตกจรดแนวอาคารริมถนนราชวงศ์ ทิศตะวันออกสิ้นสุดที่แนวอาคารริมถนนทรงเสริมซึ่งเป็นถนนสายที่สั้นที่สุดในกรุงเทพฯ ส่วนทิศใต้จรดแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ย่านทรงวาดยังมีอาณาเขตติดต่อกับย่านสำคัญใกล้เคียง ได้แก่ ย่านการค้าสำเพ็ง-เยาวราชทางด้านทิศเหนือ และย่านสถาบันการเงินบริเวณถนนราชวงศ์
ถนนทรงวาดมีลักษณะเป็นเส้นตรงจากท่าน้ำราชวงศ์เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดปทุมคงคาฯ โดยมีถนนกว้าง 14 เมตร ระยะทางถนนทั้งสิ้น 1,196 เมตร ในปัจจุบันขนาบข้างไปด้วยอาคารพาณิชย์ซึ่งมีสภาพทรุดโทรม มีอายุ 10-80 ปี อาคารเหล่านี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสูง 2-5 ชั้น พร้อมกับตรอกซอกซอย และมีการใช้งานทั้งร้านค้า โกดังสินค้าที่เก็บสินค้าประเภทพืชผลทางการเกษตร ที่อยู่อาศัย ห้างร้าน ธนาคาร พื้นที่ให้เช่าสำหรับเก็บสินค้าจาก ย่านสำเพ็งและวาณิช 1 และได้มีการเกิดขึ้นของคาเฟ่ ร้านอาหาร โฮสเทล รวมไปถึงอาร์ตแกลเลอรี และสตรีทอาร์ตตามตรอกซอยของถนนทรงวาดมากมาย
ทรงวาดเป็นย่านที่มีประชากรค่อนข้างบางเบา แม้ว่าจะมีอาคารแออัดที่ถูกใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ก็มีเพียงเจ้าของอาคารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน และคนงานบางส่วนเท่านั้น โดยอาคารเหล่านี้จะกระจุกตัวอยู่บริเวณสะพานญวณและอาคารริมน้ำบางหลังเท่านั้น ส่วนอาคารพาณิชยกรรมอื่น ๆ ที่ตั้งเรียงรายหนาแน่นริมสองฝั่งถนนทรงวาดถูกใช้เป็นร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงโกดังเก็บสินค้าเท่านั้น
ถนนทรงวาด เป็นศูนย์กลางการค้าในยุคบุกเบิกของไทย ในอดีตมีกิจการห้างร้านหลากหลายประเภทดำเนินการอย่างคึกคัก มีการคมนาคมขนส่งสินค้าที่ครบครันทั้งทางบกและทางน้ำ โดยริมถนนทรงวาดยังเต็มไปด้วยโกดังกักเก็บสินค้า โดยเฉพาะเครื่องเทศที่ขึ้นชื่อลือชาจนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ถนนสายเครื่องเทศ"
ในฐานะที่ทรงวาดเปรียบเสมือนชุมชนการค้ายุคใหม่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เปิดประตูสยามสู่การค้าโลก ด้วยปัจจัยที่เหมาะสมหลายประการ ถนนทรงวาดจึงมีกิจการห้างร้านต่าง ๆ ตั้งเรียงรายอยู่บนเส้นทางนี้ กิจการหลายแห่งมีอายุร่วม 100 ปี โดยพัฒนาจากร้านห้องแถวเล็ก ๆ เติบโตเป็นบริษัทระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของย่านทรงวาดเป็นการดำเนินการทางการค้าส่งและโกดังสินค้าประเภทพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ เมล็ดพืช ข้าวสาร แป้ง เมล็ดกาแฟ และอาหารแห้งเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทพลาสติก ของเล่นเด็ก และเครื่องประดับ ซึ่งยังเปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ทรงวาดกลับมาครึกครื้นและได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่อีกครั้งภายหลังจากการจัดเทศกาลเมืองศิลปะ "บุกรุก" (BUKRUK Urban Arts Festival) ครั้งที่ 2 ในย่านทรงวาด-เจริญกรุง เมื่อ พ.ศ. 2559 และงานไฟทรงวาด เป็นส่วนหนึ่งที่ปลุกกระแสทำให้มีผู้คนแวะเวียนมาในย่านนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาเปิดกิจการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ทำให้ถนนทรงวาดเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทรงวาดในปัจจุบันนี้จะซบเซากว่าในอดีต ทั้งนี้ ก็ยังคงสถานะย่านพาณิชย์ แม้ภาพเรือขนส่งสินค้าที่มาจอดเทียบท่าจะหายไป แต่ก็แทนที่ด้วยรถราขนส่งที่วิ่งกันจอแจ ร้านค้าเก่าแก่ยังพอเปิดกิจการอยู่บ้าง ทว่าที่เพิ่มเติมมาคือร้านรวงเก๋ ๆ คาเฟ่เท่ ๆ และอาร์ตแกลเลอรีต่าง ๆ มากมายที่มาเสริมเติมแต่งเมืองเก่า ใต้ชายคาของสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เรียงรายอวดความงามอยู่สองฟากฝั่งถนน ทำให้ย่านทรงวาดแห่งนี้ยังมีชีวิตชีวาอยู่
ทรงวาดแม้จะเป็นย่านเล็ก ๆ ที่มีความยาวเพียง 1 กิโลเมตร แต่มีความสัมพันธ์กันในหลายแบบ หลายระดับ โดยร่วมกับชุมชนใกล้เคียงอื่น ๆ ในย่านเยาวราช สำเพ็ง และในเขตสัมพันธวงศ์ในการรวมตัวเป็นกลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่มวัฒนธรรมและศาสนา และกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ โดยมีการใช้พื้นที่หน้าศาลเจ้าปุนเถ้าจัดเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อของชาวจีน ได้แก่ การจัดเทศกาลกินเจ เทกระจาด การเล่นงิ้ว เทศกาลตรุษจีน และการสักการะพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในพื้นที่มาก โดยมีผู้เข้ามาสักการะตลอดทั้งปีอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้ ในบริเวณโรงเรียนเผยอิงซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่สอนภาษาจีนแบบแมนดารินที่มีความเก่าแก่กว่า 90 ปี ได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลวันเด็กหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของชาวจีนในพื้นที่นั้นด้วย นอกจากนี้ในเวลาเช้า และเย็นซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ปกครองไปรับ-ส่งบุตรหลาน เป็นโอกาสหนึ่งของการพบปะสนทนากันระหว่างผู้ปกครองและครูในช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วย
อาคารบ้านเรือนริมถนน พิพิธภัณฑ์มีชีวิตของย่านทรงวาด
จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ถนนทรงวาดคือแหล่งที่ตั้งกิจการห้างร้านหลากหลายชนิด ศูนย์กลางการค้าในอดีตแห่งนี้ไม่ต่างจาก "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" ย่านการค้าที่รุ่งเรืองยังดึงดูดโอกาสและสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่มากมาย หลายสิ่งหลงเหลือร่องรอยให้เห็นจนถึงวันนี้ มรดกที่สำคัญและชัดเจนที่สุดประการหนึ่ง คือ อาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมสวยงาม เมื่อกลุ่มอาคารอันโดดเด่นตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของยุคสมัยใหม่และวิถีชีวิตทางการค้าของผู้คนในท้องถิ่นสมัยปัจจุบัน บรรยากาศเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้ย่านถนนทรงวาดมีเสน่ห์เฉพาะตัวไม่แพ้ย่านอื่นในเมืองไทย
สิ่งปลูกสร้างหลายแห่งบนถนนทรงวาดไม่เพียงโดดเด่นเรื่องความสวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม กลุ่มอาคารที่ผ่านกาลเวลาล้วนเป็นร่องรอยสำคัญที่บ่งชี้ถึงเรื่องราวเบื้องหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์หลากหลายมิติ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของย่านทรงวาดที่ผู้คนมักจะนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ หนึ่งในนั้นคงมีรูปแบบของอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้อยู่ด้วย โดยสถาปัตยกรรมในย่านทรงวาดมีหลากหลายรูปแบบ โดยมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมตะวันตกอย่างกลมกลืน เช่น ตึกแถวสไตล์โคโลเนียล กอทิก ชิโน-โปรตุกีส และตึกที่มีลวดลายจากสถาปัตยกรรมแบบกรีกและโรมัน เช่น ตึกผลไม้และโรงเรียนเผยอิง ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง
1.ตึกผลไม้ เป็นตึกแถวแบบชิโน-โปรตุกีส ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากปีนังและสิงคโปร์ และได้ชื่อเรียกมาจากลวดลายปูนปั้นอันโดดเด่นที่ตกแต่งเป็นลายดอกไม้และผลไม้ ซึ่งแต่งได้เหมือนจนมีการกล่าวเกินจริงว่ามีนกมาจิกกินผลไม้เหล่านั้น ซึ่งมีที่มาจากสมัยก่อนที่ทรงวาดมีนำเข้าพืชผลทางการเกษตรมากมายหลายชนิด นอกจากนี้ นอกจากตัวผลไม้แล้ว ตึกผลไม้ยังปรากฏรูปแบบเสาโครินเทียน (Corinthian) หนึ่งในรูปแบบเสากรีกโบราณที่มีลวดลายประดับเป็นใบอะแคนทัส (Acanthus) แต่เสาที่ตึกแห่งนี้ดูจะมีความพิเศษกว่าแบบอื่น ๆ คือ มีรูปแบบหัวเสาที่ซ้อนขึ้นไปอีกชั้นที่บริเวณชายคา บริเวณหน้าต่างแต่งเป็นซุ้มโค้งประดับกระจกสี ซึ่งการตกแต่งลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นในอีกหลายตึกในทรงวาดเช่นกัน
2.ตึกโรงเรียนเผยอิง ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนของเจ้าสัวสำหรับคนจีนในย่านนี้ เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแฝด ต่อมาชาวจีนในชุมชนจึงตัดสินใจรื้อศาลเจ้าและอัญเชิญเทพไปฝากไว้ที่ศาลอื่นชั่วคราว ก่อนจะเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นโรงเรียนแทนเพื่อให้บุตรหลานชาวจีนได้เรียนหนังสือในภาษาของตนควบคู่ไปกับภาษาไทย ตึกของโรงเรียนเผยอิงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลประดับนาฬิกาและลวดลายปูนปั้น หน้าตาอาคารมีการใช้เทคนิคแต่งผิวอาคารด้วยการเซาะร่องให้ดูมีลักษณะคล้ายหิน ซึ่งเป็นเทคนิคของสถาปัตยกรรมยุคเรอแนซ็องส์ (Renaissance) รวมถึงมีการประดับลวดลายปูนปั้นและหัวเสา นอกจากนี้ ภายในโรงเรียนยังทำเป็นลักษณะล้อมคอร์ตที่กล่าวกันว่าเป็นการนำลักษณะของบ้านจีนเข้ามาใช้ประยุกต์ ทำให้พื้นที่ในโรงเรียนมีความโปร่งและดูกว้างขึ้น
3.ศาลเจ้าปุนเถ้ากง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลร่วมกันก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองในการดำเนินชีวิตและการค้าขาย สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสกุลช่างแต้จิ๋วแบบซี่เตี๋ยมกิม (สี่ตำแหน่งทอง) หลักฐานตามจารึกบนระฆังชี้ว่า ศาลนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเต้ากวง ปีที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง ภายในประดิษฐานองค์เทพเล่าปุนเถ้ากง ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นเทพผู้คุ้มครองชุมชน นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าต่าง ๆ และสิงโตจีนคู่ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยิ่งใหญ่และปกป้องภยันตราย
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
กีรติ สัทธานนท์. (2547). การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะและเส้นทางเชื่อมต่อบริเวณถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เกณิกา รวยธนพานิช. (15 กุมภาพันธ์ 2566). 4 HOURS in ทรงวาด กิน ดื่ม เสพอาร์ต สไตล์เมืองเก่า. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://thestandard.co/
จิดาภา กาญจนศุภวงศ์. (2564). แนวทางการปรับปรุงอาคารพาณิชย์เพื่อเป็นพื้นที่ทางศิลปะกึ่งพำนักศิลปินในย่านสร้างสรรค์: กรณีศึกษา ถนนทรงวาด กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (2521). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). องค์การค้าของคุรุสภา.
นันทนา กปิลกาญจน์. (2532). ผลกระทบของระบบผูกขาดทางเศรษฐกิจที่มีต่อสังคมเกษตรกรรมไทย : สมัยอยุธยาจนถึงสนธิสัญญาเบาริง พ.ศ.2398. รายงานผลการวิจัย. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
นิรมล เหง่าตระกูล. (2551). การปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยกับการฟื้นฟูบูรณะย่านพาณิชกรรมเก่าและคลังสินค้าริมน้ำ : กรณีศึกษาย่านทรงวาด กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
แน่งน้อย ศักดิ์สรี, หม่อมราชวงศ์. (2534). องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุปผา ทุมมานนท์. (2519). ประวัติศาสตร์ไทย. สุทธิสารการพิมพ์.
ปาณิสรา สุทธิกาญจนวงศ์. (21 เมษายน 2568). รู้จัก'ถนนทรงวาด'จากจุดกำเนิดเจ้าสัวไทยสู่ถนนสุดฮิปของวัยรุ่น GEN Z. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.amarintv.com/
ผู้จัดการออนไลน์. (2 กันยายน 2566). วันวาน-วันนี้ ที่ “ทรงวาด” จากย่านการค้าสำคัญสู่ย่านชิคสุดคลาสสิก. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://mgronline.com/
พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล, ภัทรียา พัวพงศกร และ ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ. (13 สิงหาคม 2564). Made in ทรงวาด รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://readthecloud.co/
ศิลปวัฒนธรรม. (8 ตุลาคม 2564). ทรงวาดศตวรรษ ตอน “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/
ศิลปวัฒนธรรม. (10 กันยายน 2564). ทรงวาดศตวรรษ ตอน กำเนิด “ถนนทรงวาด” ศูนย์กลางการค้า-เกษตรไทยยุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/
ศิลปวัฒนธรรม. (17 ธันวาคม 2564). ทรงวาดศตวรรษ ตอน เปิดตำนานธุรกิจเก่าแก่ในไทย จากกิจการย่านถนนทรงวาด สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล. สืบค้น 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/
ศรีศักดิ์ สปส.. (15 กันยายน 2567). งานไฟทรงวาด. สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://pr-bangkok.com/
สาวิตรี ทัพภะสุต. (2527). ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวไทย จีน ตะวันตกในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2358-2453. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์. (11 กุมภาพันธ์ 2568). “ถนนทรงวาด” ชุมชนจีนเก่าแก่กว่า 100 ปี มีที่มาอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/
อรอุมา สิริวัฒนชัย. (2546). การฟื้นฟูย่านพาณิชยกรรมและคลังสินค้าริมน้ำ ย่านทรงวาด กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ห่านคู่ Double Goose. (9 พฤศจิกายน 2567). ตึกผลไม้. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/
blue Bangkok. (11 สิงหาคม 2566). ตึกผลไม้ ทรงวาด. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.blockdit.com/
hlpvirtualtour. (ม.ป.ป.). จุดเริ่มต้นของย่าน ‘ทรงวาด’. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://hlpvirtualtour.com/
Journey Directory. (6 กันยายน 2566). เดินหลง(ใหล) ในทรงวาด. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/
Kapook. (ม.ป.ป.). ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ถนนทรงวาด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชนจีนเก่าแก่. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://travel.kapook.com/
Pimchanok Na Patalung. (9 มิถุนายน 2565). ทรงวาด: ย่านตึกเก่าที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของยุคใหม่. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://dsignsomething.com/
PookEats. (16 กุมภาพันธ์ 2566). รีวิว กู่หลงเปา ทรงวาด. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.wongnai.com/reviews/