Advance search

ประชานฤมิตร

ถนนสายไม้บางโพ

ถนนสายไม้บางโพ เป็นถนนสายเดียวในกรุงเทพฯ ที่ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร ในซอยประชานฤมิตรที่มีชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ครบวงจร ทั้งไม้แปรรูปสำหรับก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ไม้ตกแต่งบ้าน และบรรดาช่างแกะสลักไม้มากฝีมือร้านรวงสองข้างทางกว่า 200 ร้าน

ซอยประชานฤมิตร 24
บางซื่อ
บางซื่อ
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
29 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 เม.ย. 2023
ประชานฤมิตร
ถนนสายไม้บางโพ

ทางราชการได้เข้ามาปรับถนนลาดยางให้ใหม่หลายครั้ง จวบจน ปี พ.ศ. 2522 ได้รับการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และเปลี่ยนชื่อจากซอยร่วมสุขเป็นซอยประชานฤมิตร ซึ่งชื่อนี้มีความหมายในตัวเองยิ่งนัก


ถนนสายไม้บางโพ เป็นถนนสายเดียวในกรุงเทพฯ ที่ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร ในซอยประชานฤมิตรที่มีชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ครบวงจร ทั้งไม้แปรรูปสำหรับก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ไม้ตกแต่งบ้าน และบรรดาช่างแกะสลักไม้มากฝีมือร้านรวงสองข้างทางกว่า 200 ร้าน

ซอยประชานฤมิตร 24
บางซื่อ
บางซื่อ
กรุงเทพมหานคร
10800
ชุมชนสายไม้ โทร. 0-2585-0430, สำนักงานเขตบางซื่อ 0-2586-9977
13.809181063219352
100.5220098944772
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนประชานฤมิตรในสมัยก่อนที่จะเจริญรุ่งเรือง พื้นที่ดั้งเดิมชาวบ้านมีอาชีพทางการเกษตร ยกร่องทำสวน มีการปลูกทั้งส้ม ทุเรียน ขนุน ละมุด และลำไย เป็นต้น ถนนคันดินสมัยนั้นจะมีฝุ่นฟุ้งกระจายในช่วงหน้าแล้ง พอถึงหนาฝนจะกลายเป็นบ่อโคลน ซึ่งชาวบ้านใช้สัญจร ทั้งการเดิน, ขี่จักรยาน และขับรถยนต์แต่จำนวนไม่มาก โดยทั้งสองฝั่งถนนมีร้านค้าเป็นห้องแถวไม้ปลูกเป็นแถวยาว ถัดจากห้องแถวไม้ด้านหลังยังเป็นร่องสวน ปลูกไม้ผลมากมายเรียงราย นับตั้งแต่ปากซอยเข้ามาเลยทีเดียว อนึ่งใครจะกินสามารถเข้ามาเก็บสอยเอาตามใจชอบ ซึ่งในบริเวณโดยรอบมีแต่ความร่มรื่น นอกจากอาชีพทำสวนยังพบว่ามีการเผาข้าวหลามขายและมีชื่อเสียงว่าเป็นข้าวหลามสามรส อร่อยเป็นที่เลื่องลือจนขนานนามว่า ‘ซอยข้าวหลาม’ ที่เหลือเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง โดยหนึ่งในเจ้าของที่ดินเก่าแก่ (รายนามทั้ง 16 ท่านถูกระบุไว้เป็นเกียรติประวัติแก่ชุมชนและวงศ์ตระกูล) 

คุณปู่เฉลิม สุขมาก ท่านเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างถนนในชุมชนแห่งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า ท่านจึงได้ปรึกษาคุณครูวัติ ขำสายทอง เจ้าของที่ดินปากซอย, คุณพ่อพิศธรรมศาสตร์สิทธิ์ และท่านนายอำเภอสุมนต์ ปิ่นแก้ว ซึ่งเป็นนายอำเภอดุสิตสมัยนั้น (ในขณะนั้นพื้นที่แห่งนี้เป็นตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต) โดยทุกท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจออกเดินขอที่ดินจากเจ้าของที่ดินข้างละ 3 เมตร (เดิมเป็นคันดินกว้าง 2 เมตร จึงกลายเป็นถนนกว้าง 8 เมตร ในปัจจุบัน) ทว่าทางอำเภอไม่มีงบประมาณ ทำให้คุณปู่เฉลิม สุขมาก และคุณครูวัติ ขำสายทอง ได้ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นค่าจ้างในการเริ่มต้นทำถนน โดยในปี พ.ศ. 2504 มีการปรับเป็นถนนลาดยางและได้ตั้งชื่อว่า ‘ซอยร่วมสุข’ จากนั้นปี พ.ศ. 2522 ได้มีการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และเปลี่ยนชื่อเป็นซอยประชานฤมิตร ซึ่งชื่อนี้มีความหมายในตัวยิ่งนัก  เมื่อชุมชนมีความเจริญมากขึ้น วิถีชีวิตของชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาประกอบอาชีพทำการค้าขาย ทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนขยายเป็นแหล่งการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นรู้ที่จัก 

ชุมชนประชานฤมิตร เป็นชุมชนดั้งเดิมของเขตบางซื่อ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยประชานฤมิตร 24 ที่เป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 กับถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี โดยพื้นที่ของชุมชนมีสภาพดั้งเดิมเป็นสวน ซึ่งซอยประชานฤมิตรเมื่อแรกนั้นเป็นถนนคันดิน กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีคลองล้อมรอบ โดยทิศทางทั้งสี่ ดังนี้

  • ทิศตะวันออก ติดคลองบางโพขวาง (ซอยข้าวหลาม)
  • ทิศตะวันตก ติดท่าน้ำวัดบางโพ (แม่น้ำเจ้าพระยา)
  • ทิศเหนือ ติดคลองบ้านญวณ
  • ทิศใต้ ติดคลองบางโพ

ในอดีต ‘ชุมชนประชานฤมิตร’ ซอยประชานฤมิตร 24 ซึ่งเป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 กับถนนกรุงเทพ - นนทบุรี มีจำนวนประชากร 2,184 คน ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นแถวยาวไปตามสองฟากถนน ระยะทาง 1,100 เมตร รวม 546 หลังคาเรือน ในอาณาบริเวณพื้นที่ประมาณ 53 ไร่

ดั้งเดิม คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำสวนผลไม้ อาทิ สวนทุเรียน สวนมะม่วง และสวนขนุน เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปและความเจริญขยายเข้ามาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น ทำให้สภาพของสวนได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรือนแถวไม้ ตึกแถว และอาคารพาณิชย์ โดยผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ชาวจีนไหหลำที่ชักชวนกันมาอยู่เป็นกลุ่ม ทั้งในซอยนฤมิตร และซอยไสวสุวรรณ โดยเป็นชาวจีนที่ประกอบอาชีพแกะสลักไม้และทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ทำให้คนในชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนมาทำการค้าประเภทไม้แกะสลักเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ไม้ตกแต่งสำเร็จรูปมากขึ้น

ปัจจุบัน มีการประกอบธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ ทั้งการทำเฟอร์นิเจอร์ งานไม้สำหรับตกแต่งบ้าน การแกะสลักเครื่องไม้ และการทำธุรกิจค้าไม้แปรรูปทุกชนิด ในซอยประชานฤมิตรที่มีระยะทางตั้งแต่ด้านถนนประชาราษฎร์ สาย 1 ไปถึงถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี มีความยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร และมีร้านไม้มากกว่า 200 ร้านตลอดเส้นทางเดิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยมีสำนักงานเขตบางซื่อร่วมกับชุมชนประชาคมประชานฤมิตรในการจัดสร้างซุ้มประตูไม้ขึ้น 2 ฝั่ง และจัดกิจกรรมภายในซอยให้เป็น "ถนนคนเดิน ถนนสายไม้" เพื่อประชาสัมพันธ์ถนนสายไม้ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เจ้าของที่ดินเก่าที่ลูกหลานขอจารึกไว้ให้ปรากฏเป็นเกียรติแก่ชมชุน และวงศ์ตระกูล ดังนี้

  • คุณครูวัติ ขำสายทอง
  • พลโทเผชิญ นิมิตบุตร
  • คุณปลูก สุขศรีเจริญ
  • คุณเฉลิม สุขมาก
  • คุณเลี่ยม ศรีศิริกุล
  • คุณเลื่อม ศรีชมพู
  • คุณพุก ศรีชมพู
  • คุณปลื้ม ศรีชมพู
  • คุณจำนง เวียงเกตุ
  • คุณย่าสุมาลี วราทร
  • คุณปู่กลม วาดสันทัด
  • คุณย่าบ๊วย เวียงเกตุ
  • คุณย่าเอม ตุงคะบูรณะ
  • คุณปู่พลบ ธรรมศาสตร์สิทธิ์
  • คุณสะอาด (ไม่ทราบนามสกุล)
  • คุณย่าผาย (ไม่ทราบนามสกุล)

‘ซอยประชานฤมิตร’ ในย่านบางโพคือ ‘ถนนสายไม้’ ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยร้านรวงผลิตภัณฑ์ไม้ครบวงจร และใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร ในซอยนี้มีผู้ประกอบการ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้มากกว่า 200 ร้านค้า 

‘สิริวโร’ ร้านขายประตูเก่าแก่ของประธานชุมชน นามว่า ภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล และทายาทผู้สานต่อกิจการร้านขายประตูสิริวโร ได้เล่าว่า “สมัยก่อนบางโพ คือชนบท ส่วนในพระนคร คือตัวเมือง ซึ่งรับไม้มาจากทางภาคเหนือของไทย ล่องเจ้าพระยามาส่งตามโรงเลื่อยต่าง ๆ ในเมือง จนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าพื้นที่ในพระนครมีความคับแคบ และการตั้งโรงงานที่สร้างมลพิษ ได้มีการสั่งการให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ย้ายออกจากเขตเมือง ฉะนั้นโรงเลื่อยจึงจำเป็นต้องย้ายกันออกมา ประกอบกับแถวบางโพในตอนนั้นมีโรงเลื่อย สวนผลไม้ และมีพื้นที่ว่างอยู่จำนวนมาก ธุรกิจขายไม้แต่ละเจ้าได้ทยอยมาตั้งร้านกันที่บริเวณนี้ (ซอยประชานฤมิตร) อย่างพ่อผมเคยอยู่ที่วัดสระเกศมาก่อน พอเขาเห็นว่าแถวนี้น่าจะมาตั้งโรงงานได้ จึงเริ่มขยับขยายมา ส่วนช่างไม้ ช่างกลึง ช่างแกะสลัก ได้นำความรู้ที่มีกระจายตัวกันไป บ้างก็มาอาศัยอยู่ตามซอยย่อย ๆ ซึ่งหาตัวจับยาก แต่เมื่อก่อนในพื้นที่นี้ขายแต่ไม้อย่างเดียว ไม่มีพวกฮาร์ดแวร์ หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับไม้และการทำบ้าน แต่เมื่อคนจะซื้อลูกบิด กลอน ม่าน สเตนเลส กระจก บานพับ เพราะไม่รู้จะหาซื้อที่ไหนจึงได้ริเริ่มมีคนมาเปิดร้านขายอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อสนับสนุนกันทำให้ย่านนี้ครบวงจร”

มกเซ่ง โรงซอยไม้ที่สานต่อมาถึงรุ่นที่สาม ซึ่งบ้านหลังถัดจากร้านสิริวโรคือ ‘มกซ่ง’ มีจุดเด่นที่โครงสร้างเดิมแม้กาลเวลาผ่านมากกว่า 60 ปี มีความน่าหลงใหลและคลาสสิกไม่เสื่อมคลาย โดยมกเซ่ง คือ โรงซอยไม้ เป็นวิธีการแปรรูปไม้ สุภนิช เจนจรัตน์ กล่าวว่า “ครอบครัวของเธอขายไม้โครงสำหรับทำไส้ในของเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นไม้จริงทั้งท่อน ทำให้มกเซ่งแตกต่างจากร้านอื่นที่ขายไม้อัดและไม้จ๊อย” และ “โชคดีที่รุ่นอากงซื้อใจลูกค้าไว้ได้ เพราะสมัยก่อนจะอยู่ได้ หรือไม่ได้มันอยู่ที่ความจริงใจจริง ๆ แต่มันยากตรงที่หลายคนนั้นมักนิยมแบรนด์ใหญ่ ๆ เพราะว่ามีราคาที่ถูกกว่าและการเปลี่ยนนั้นไม่เสียดายเงินเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นไม้แท้จะทำให้การทำโต๊ะหนึ่งตัวมีราคาประมาณ 6,000 – 7,000 บาท หรือบางทีราคาขึ้นถึง 10,000 บาท ซึ่งทางร้านได้สื่อออนไลน์เข้ามาช่วยไว้ได้เยอะ”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลประกาศปิดป่า ห้ามตัดไม้ ทำให้เจ้าของโรงเลื่อยต้องซื้อไม้ซุงจากต่างประเทศ อาทิ พม่า ลาว มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งการขนส่งซุงจากทางน้ำมาใช้รถบรรทุกแทน และมีการลดการผลิตลง โรงเลื่อยหลายแห่งจึงต้องปิดกิจการและเปลี่ยนไปจำหน่ายไม้อัด ไม้แปรรูป และวัสดุทนแทนไม้แทน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นผลให้ธุรกิจค้าไม้เริ่มชะลอตัวลง และในปี พ.ศ. 2541 สำนักงานเขตบางซื่อ เห็นว่าชุมชนนี้มีความพิเศษในเรื่องของงานไม้ จึงเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจท้องที่ให้เป็นที่รู้จักกว้างมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นโครงการ ‘ถนนสายไม้’ ทว่าเจอโควิดระบาดหนักช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เป็นผลให้ชุมชนเริ่มเสื่อมโทรม มีแต่ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ย้ายออกจากพื้นที่ จนเป็นจุดเริ่มต้นให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร หาทางออกในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงจุดแข็งของชุมชนเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง มีการลงนาม MOU ร่วมกับชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - 2565)

โดยชุมชนได้เปิดพื้นที่ตามร้านค้า โรงไม้ ร้านแกะสลัก ช่างฝีมือ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ให้คณาจารย์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากภาควิชาต่าง ๆ ศึกษาเรียนรู้จากหน้างานจริง ๆ แบบที่ไม่สามารถหาได้ในหนังสือหรือห้องเรียน ก่อนร่วมกันออกแบบปรับปรุงผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ร่วมกับชาวชุมชนช่างไม้ รวมถึงจัดทำข้อเสนอพัฒนาชุมชน และเชิญชาวบ้านมาให้ข้อคิดเห็น อาทิการปรับปรุงคลองให้สัญจรได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มใหม่ ๆ ที่เดินทางจากรถไฟฟ้าเข้าถึงกลางชุมชนได้ง่ายขึ้น, การปรับปรุงถนนให้เข้ามายังชุมชนง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันไม่สามารถจอดรถข้างทางได้ ทำโกดังกลางแจ้งที่ลูกค้าสามารถดูสินค้าและสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ซึ่งนิสิตจุฬาฯ ทำงานร่วมกับชุมชนแข็งขันจนเป็นนิทรรศการ ‘บางโพซิเบิ้ล’ หรือ ‘BANG PO (SSIBLE)’ เสนอทางเลือกในการพัฒนาชุมชน ซึ่งจัดแสดงพื้นที่ชั้นล่างของร้านสมเกียรติการช่างในซอยประชานฤมิตรที่ปรับเป็นศูนย์เรียนรู้นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ เปิดแสดงในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2565 

ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่า “ชุมชนนี้มีของมีการรวมตัวทำงานเกี่ยวกับไม้สารพัด มีช่างฝีมือจำนวนมากในชุมชน ซึ่งเป็นลูกหลานซอยไม้หลังวัดสระเกศ หรือภูเขาทอง ย้ายมาตั้งถิ่นฐานกันที่บางโพกว่า 60 ปี แล้วทำให้ชุมชนประชานฤมิตรเป็นแหล่งขายไม้ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ถ้าได้รับการส่งเสริมการออกแบบที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์งานไม้ และผลักดันสู่แหล่งเรียนรู้งานไม้ที่มีชีวิตในกรุงเทพมหานคร จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ชุมชนติดต่อมาที่คณะฯ เพราะต้องการฟื้นฟูธุรกิจงานไม้ชุมชน” ฉะนั้นสำหรับปัญหาหลักฯ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรม กล่าวว่า “จากการรับฟังชุมชน พบว่าการขายสินค้าได้น้อยลง แม้กระทั่งไม้ที่แกะสลักลวดลายสวยงาม ส่วนมากเป็นกลุ่มลูกค้าเดิม ๆ ผลจากเทรนด์การออกแบบ และความชอบของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนชะลอตัว รวมถึงมีเศษวัสดุงานไม้เหลือทิ้งกลายเป็นขยะปริมาณมาก ทั้งยังไร้คนรุ่นใหม่สืบทอดวิชาช่างฝีมืองานไม้ในชุมชน”

ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูชุมชนของภาควิชาการและภาคประชาชน ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่า “ขณะนี้ได้รับการประสานจากสำนักงานเขตบางซื่อ สส. และ สก. มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับข้อเสนอการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนที่เกิดขึ้น เล็งเห็นศักยภาพชุมชนประชานฤมิตร รวมถึงหากจะจัดงาน ‘ถนนสายไม้’ อีกครั้ง ควรปรับเป็นเทศกาลสอดแทรกเรื่องวิถีชีวิต ย่านการค้าไม้ การออกแบบชุมชน ทำให้คนในชุมชน ผู้ประกอบการ และประชาชนเห็นถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ส่วนคณะสถาปัตยกรรม มีแนวโน้มจะขยายความร่วมมือกับชุมชนต่อไป”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชื่อแหล่งวัฒนธรรม เขตบางซื่อ: ถนนสายไม้ซอยประชานฤมิตร ประชาคมประชานฤมิตร. (ออนไลน์). (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก http://livingculturalsites.com/chapter29_04_01.html.

ไทยโพสต์. (2565). วาดอนาคต’ถนนสายไม้บางโพ’ ช่วยชุมชนอยู่รอด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.thaipost.net/tac/186812.

บริษัท ส.สามัคคี คอร์ปอร์เรทท์ จำกัด. (2554). บทความ ย้อนอดีตชุมชนประชานฤมิตร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.samakkeetimber.com/article_detail/view/82140.

ปณัยกร วรศิลป์มนตรี. (2564). บางโพแหล่งขายไม้ใหญ่สุดในกรุงเทพฯ ที่มีกว่า 200 ร้านค้าจนได้ชื่อว่า "ถนนสายไม้". (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://urbancreature.co/bangpho-wood-street

amazing thailand. (ม.ป.ป.). ถนนสายไม้ (ซอยประชานฤมิตร). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/ถนนสายไม้-ซอยประชานฤมิตร.

bangpho woodstreet. (ม.ป.ป.). แนะนำถนนสายไม้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://bangphowoodstreet.com/about

Thai PBS. (2565). จากรากสู่เรา ซีซัน 2 ชุมชนประชานฤมิตรจากสวนผลไม้สู่ถนนสายไม้แห่งบางโพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.thaipbs.or.th/program/JakRakSuRao/episodes/91803