Advance search

กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ "ธนาคารปูม้า" บ้านเกาะเตียบ ชุมชนที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับวิถีแห่งท้องทะเล กับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตผู้คนและธรรมชาติ และทรัพยากรท่องเที่ยวชุมชนที่มีความสวยงามช่วงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนชุมชน และสร้างเสริมศักยภาพของประชากรในพื้นที่

หมู่ที่ 7
เกาะเตียบ
ปากคลอง
ปะทิว
ชุมพร
อบต.ปากคลอง โทร. 0 7797 9777
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
29 พ.ค. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
5 มิ.ย. 2025
เกาะเตียบ


ชุมชนชนบท

กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ "ธนาคารปูม้า" บ้านเกาะเตียบ ชุมชนที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับวิถีแห่งท้องทะเล กับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตผู้คนและธรรมชาติ และทรัพยากรท่องเที่ยวชุมชนที่มีความสวยงามช่วงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนชุมชน และสร้างเสริมศักยภาพของประชากรในพื้นที่

เกาะเตียบ
หมู่ที่ 7
ปากคลอง
ปะทิว
ชุมพร
86210
10.870209278431885
99.50057601577147
องค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง

การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านเกาะเตียบ จากคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนทำให้ทราบข้อมูลว่า คนที่เข้ามาอาศัยในบริเวณพื้นที่นี้เป็นคนแรกคือ นายแดง ที่อพยพเข้ามาในช่วงหลายสิบปีก่อน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าย้ายมาจากพื้นที่ใด โดยนายแดงเห็นว่าบริเวณบ้านเกาะเตียบมีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก เช่น หมูเถื่อน ควายป่า เป็นต้น โดยนายแดงอาศัยการทำไต้เป็นอาชีพ นำน้ำมันจากต้นยางนาในพื้นที่ป่าไปคลุกกับเปลือกต้นเสม็ดเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง วิธีจุดไต้ของนายแดงนั้นจะใช้เหล็กไฟตีสองอันตีกันให้เกิดประกายไฟไปติดที่ปุยนุ่นในการให้แสงสว่างและดำรงชีวิต

ในระยะต่อมาได้มีครอบครัวของนายพล อิ้งชาย พาครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วย และสร้างบ้านในเกาะเตียบ ยึดอาชีพการทำน้ำมันยางเช่นเดียวกันกับนายแดง จากนั้นจึงได้ชวนนายตาอุ้งมาอยู่เป็นเพื่อน และมีการประกอบอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน ควบคู่ไปกับการทำน้ำมันยาง และการทำไร่ปลูกข้าวเพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือน เมื่อระยะเวลาผ่านไปผู้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้มีการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติม มาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ โดยเข้ามาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ในอดีตชาวบ้านจะใช้เรือในการเดินทางระหว่างพื้นที่เกาะใกล้เคียงและสำหรับทำประมง ในส่วนการเดินทางบนพื้นราบจะใช้เกวียน และการเดินเท้าเพื่อเดินทางไปยังชุมชนอื่น ๆ และเข้าในเขตพื้นที่เมือง บ้านเกาะเตียบมีเกาะอยู่ 1 เกาะ เป็นเกาะที่เล็กที่สุดในอ่าวทุ่งมหา ที่มีรูปร่างคล้ายกับตะปู ชาวบ้านเรียกว่า ลูกเตียบ มีระยะทางห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร ในช่วงน้ำลดสามารถเดินลงไปชมความสวยงามได้ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเตียบเลยก็ว่าได้

ชุมชนบ้านเกาะเตียบ พื้นที่ชุมชนจะตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณอ่าวที่เว้าเข้ามาในผืนดิน มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ค่อนข้างมาก มีแหล่งน้ำธรรมชาติจากคลองที่ไหลผ่านป่าชายเลน 3 คลอง คือ คลองน้ำดำ คลองซังส้ม และคลองถ้ำตาจันทร์ ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงกุ้ง และมีการขุดคลองเพิ่มอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ ที่ขุดโดย อบต. เพื่อนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปา ดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย แต่ในอดีตทรัพยากรป่าไม้มีความสมบูรณ์มาก ปัจจุบันมีความสมบูรณ์ลดลงแต่ยังมีสภาพดินดี สามารถใช้ปลูกพืชและทำเกษตรกรรมได้ ต่อมาป่าบกได้ถูกชาวบ้านเข้าไปทำสวนและใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ป่าลดลง ยังคงเหลือทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐบาลและชาวบ้านเข้าไปช่วยปลูกและอนุรักษ์พื้นที่เอาไว้

ลักษณะภูมิอากาศในพื้นที่ชุมชน มี 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน โดยฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนเดือนที่ร้อนที่สุด คือ เดือนเมษายนแต่อุณหภูมิสูงไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ในอดีตที่ผ่านมาฤดูกาลไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันฝนตกทั้งปี ส่วนช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนจะมีแสงแดดมากที่สุด เดือนธันวาคมจะมีแสงแดดน้อยที่สุด

ชุมชนบ้านเกาะเตียบ เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่การปกครองของบ้านท่าแอด หมู่ที่ 1 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร มีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านท่าแอด ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 663 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 318 คน ประชากรหญิง 345 คน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 248 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ชุมชนบ้านเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ชุมชนประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล จึงมีความเหมาะสมต่อการทำประมงเป็นอย่างมาก โดยเป็นการทำประมงพื้นบ้านตามภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นหลัก ประกอบกับพื้นที่บริเวณน่านน้ำชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีปริมาณสัตว์ทะเลเพียงพอต่อการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ อีกทั้งชาวบ้านยังมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรในท้องทะเล ทำให้มีจำนวนสัตว์น้ำที่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในพื้นที่หมุนเวียนตลอดทั้งปีตามระบบนิเวศ ชาวบ้านจึงแทบจะไม่มีปัญหาในด้านสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลมากนัก เพราะมีการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ พื้นที่ชุมชนเกาะเตียบยังอาศัยภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่ และทรัพยากรทางธรรมชาติโดยรอบชุมชน และบริเวณใกล้เคียงส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีการแวะเวียนเข้ามาของผู้คนเพื่อเยี่ยมชมความสวยงามตามธรรมชาติในพื้นที่ และเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งยังสามารถพบเจอวิถีชีวิตชุมชน และเรียนรู้เรื่องราวความเป็นอยู่ของท้องถิ่นได้ในเวลาเดียวกัน การท่องเที่ยวจึงก่อให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีกทางหนึ่ง ทั้งการค้าและบริการ เช่น การบริการเรือนำเที่ยว ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว การขายสินค้า ของที่ระลึก ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ชุมชนบ้านเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร นอกจากการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่สัมพันธ์กับกลุ่มอาชีพการทำประมง และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนแล้ว ชาวบ้านยังมีการดำรงชีวิตตามวิถีท้องถิ่น ตามความเชื่อในชุมชน โดยประชากรส่วนใหญ่ชุมชนนับถือศาสนาพุทธ และมีประชากรบางส่วนนับถือศาสนาอิสลาม วิถีชีวิตของชาวบ้านจึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อ การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาและข้อปฏิบัติต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นในชุมชนโดยส่วนใหญ่สอดคล้องกับวัฒนธรรมแบบชาวไทยทั่วไป เช่น ในช่วงเดือนเมษายน จะมีประเพณีงานบุญประจำปี คือ งานประเพณีสงกรานต์ตามอย่างวัฒนธรรมไทย ในเดือนกรกฎาคม จะมีงานบุญเข้าพรรษาตามวิถีของชาวพุทธ และมีงานทำบุญออกพรรษาเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการชักพระแข่งเรือตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวพุทธในพื้นที่ภาคใต้ และยังเป็นกิจกรรมสำคัญที่เป็นประเพณีของประชาชนทั้งตำบลอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสวยงาม จึงเป็นต้นทุนสำคัญของพื้นที่ ทั้งด้านทรัพยากรในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นทุนที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และเชื่อมโยงไปยังบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีส่วนให้การพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพชุมชนได้เป็นอย่างดี แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะเตียบมีความสวยงาม และบรรยากาศเหมาะสำหรับการพักผ่อนในพื้นที่บริเวณชุมชน ทั้งชายหาด ป่าชายเลน ท้องทะเล ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในท้องทะเล แหล่งท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง รวมไปถึงเกาะต่าง ๆ และความสวยงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์และงดงามไม่แพ้พื้นที่ใดเลย แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจของชุมชนเกาะเตียบ เช่น เกาะลูกเตียบ เกาะยอ ธนาคารปู ชายหาดริมทะเลชุมชนเกาะเตียบ พื้นที่ป่าชายเลน กิจกรรมล่องเรือชมความสวยงามของธรรมชาติท้องทะเลบ้านเกาะเตียบ กิจกรรมดำน้ำดูปะการังบริเวณทะเลน้ำตื้น กิจกรรมกางเต็นท์สัมผัสวิถีชีวิต สายลม เสียงคลื่นทะเลยามค่ำคืน และยังได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาวประมงท้องถิ่นในพื้นที่อีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในอดีตพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านเกาะเตียบมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นอย่างมาก ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพประมงเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคง เนื่องจากมีทรัพยากรเพียงพอต่อการยังชีพ และเป็นการประมงพื้นบ้านแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ หากินตามฤดูกาลเป็นหลัก ไม่ได้เป็นการทำประมงเชิงพาณิชย์มากนัก ต่อมาในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2543-2544 เริ่มมีการเข้ามาของกลุ่มทุน มีบริษัทมารับซื้อเนื้อปูเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ส่งผลให้เริ่มมีการทำประมงเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการจำปูที่เพิ่มปริมาณการจับเพื่อส่งขายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการใช้เครื่องหนักมือที่ทำลายระบบนิเวศและการแพร่พันธุ์ ส่งผลต่อจำนวนประชากรปูที่ลดลงเหลือเพียง 10% จากปริมาณที่เคยพบเจอในอดีต

กลุ่มชาวบ้านจึงเกิดแนวความคิดที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรปูในพื้นที่โดยใช้แนวความคิดการจัดทำ "ธนาคารปู" ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างแดน โดยผู้ริเริ่มแนวความคิดนี้คือ นายจาง ฟุ้งเฟื่อง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ลุงจาง" ซึ่ง "ธนาคารปู" ของกลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ชุมชนเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ได้ก่อตั้งในช่วงปี พ.ศ. 2545 หลังสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในพื้นที่ และเป็นธนาคารปูแห่งแรกของประเทศไทย ทำการฟื้นฟูและพัฒนาระบบการจัดการจัดเกิดความมั่นคง ในปี 2550 มีสมาชิกทั้งหมด 18 ราย จากเริ่มแรก 4 รายโดย ลุงจาง เป็นประธานกลุ่ม ด้วยความต้องการให้ชุมชนและกลุ่มประมงชายฝั่งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและป่าชายเลน อ่าวทุ่งมหา โดยเฉพาะปูม้าที่นับวันยิ่งลดน้อยลง เพื่อให้เป็นแหล่งทำมาหากิน จึงเริ่มต้นความคิดกับ ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และชักชวนให้ชาวชุมชนเกาะเตียบทำที่พักพิงให้แก่แม่ปูครรภ์แก่เพื่อดูแลให้รอดพ้นจากการนำไปขาย รอให้วางไข่เรียบร้อยก่อน จึงนำแม่ไปขายแล้วปล่อยลูกสู่ทะเลเป็นอาหารและแหล่งที่มาของรายได้ของชุมชน

ชุมชนบ้านเกาะเตียบ เป็นชุมชนในพื้นที่การปกครองของบ้านท่าแอด ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร โดยภายในชุมชนมีกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าแอด ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน มีกิจกรรมที่กลุ่มร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เติบโตได้เพื่อรักษาระบบนิเวศ เช่น การปลูกเสริมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งนอกจากจะฟื้นฟูธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็ง และกระบวนการเรียนรู้แบบการเพิ่งพาตนเองของชุมชน โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนคือสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 43 (สวี ชุมพร) ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนับสนุน ส่งเสริม กลไกในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน เพื่อรักษาบูรณาการและการคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

สุชาติ เอกไพฑูรย์. (2554). แนวทางการบริหารจัดการของผู้ประกอบการทางสังคมในบริบทประเทศไทย กรณีศึกษา : "ธนาคารปู" ของกลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ชุมชนเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัด ชุมพร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฐานข้อมูลกลางเพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายการมีส่วนร่วม. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าแอต. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2568, จาก https://cn.dmcr.go.th/detail.

รักบ้านเกิด. (2553). ธนาคารปูม้า. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2568, จาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดชุมพร. (2563). ธนาคารปู กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ชุมชนเกาะเตียบ ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2568, จาก https://www.opsmoac.go.th/chumphon-news-preview

องค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง. (2563). ข้อมูลสภาพชุมชนตำบลปากคลอง. องค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร.

บ้านเกาะเตียบ Baankohteab. (2568). [ภาพประกอบ]. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

กินปู ห้อยขา ทะเลชุมพร. (2568). [ภาพประกอบ]. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

อบต.ปากคลอง โทร. 0 7797 9777