
ชุมชนแหลมกลัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยชายแดนไทย-กัมพูชา สุดปลายแผ่นดินสยามด้านตะวันออก แหล่งที่อยู่อาศัยของหอยขาวจำนวนมากที่สุดในทะเลตะวันออก พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงามทั้งทางบก ชายฝั่ง และท้องทะเล
แหลมกลัด มีที่มาจากข้อสันนิษฐาน 2 ที่มา คือ มาจากสภาพพื้นที่ของที่ตั้งชุมชนที่อยู่ในบริเวณแหลมยื่นออกไปตามแนวชายฝั่งทะเลและเขตชายแดนไทย-กัมพูชา และจากตำนานเล่าว่ามีคนมาหาของป่าและถูกเสือกัดอยู่บ่อยครั้งในบริเวณแถบนี้ จึงเรียกว่า “แหลมกลัด”
และอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญคือ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จมายังพื้นที่ตำบลแหลมกลัด เพื่อดูแผนที่อาณาเขตและปัญหาระหว่างพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในเขตจังหวัดตราด และมีการตรัสแต่งตั้งนายเพ็ง เป็นหลวงนาวา (เพ็ง ประสิทธินาวา) เป็นผู้ปกครองพื้นที่แถบตำบลแหลมกลัดเป็นคนแรก รวมไปถึงเขตพื้นที่ตำบลชำราก และตำบลตะกางด้วย ต่อมาจึงมีการเรียกพื้นที่ชุมชนว่า แหลมตรัส ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น แหลมกลัด จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนแหลมกลัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยชายแดนไทย-กัมพูชา สุดปลายแผ่นดินสยามด้านตะวันออก แหล่งที่อยู่อาศัยของหอยขาวจำนวนมากที่สุดในทะเลตะวันออก พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงามทั้งทางบก ชายฝั่ง และท้องทะเล
เดิมพื้นที่แถบบริเวณนี้เป็นพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล บริเวณรอยต่อใกล้กับเขตพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และมีพื้นที่เป็นแหลมยาวไปตามแนวฝั่งทะเลและเขตพรมแดน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ได้มีการก่อตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้ต่อเนื่องกันมายาวนาน ในอดีตเรียกว่าชุมชน “ซ่องโจร” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มโจรผู้ร้ายเข้ามาหลบลี้พักอาศัย ต่อมามีคนตัดไม้นำเรือเข้ามาหาตัดไม้ในป่าแถบนี้ โดยล่องเรือทำมาหากินในพื้นที่เป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งขณะที่ล่องเรือไปในคลองและจอดทิ้งไว้เพื่อไปหาของป่า และเจอเสือกลัด จึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ที่เป็นแหลมยืนออกมาว่าแหลมกลัด และพอกลับมาที่เรือระดับน้ำในคลองเกิดลดลง ตามการขึ้นลงของน้ำทะเล จนเรือติดหล่มดินเลน จึงเรียกคลองน้ำนี้ว่า คลองรอท่าน้ำ คือต้องรอระดับน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติ จึงจะสามารถแล่นเรือสัญจรได้
ในยุคที่มีการสำรวจพื้นที่อาณาเขตแถบชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา บริเวณพื้นที่จังหวัดตราด ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจแผนที่ และนำแผนที่ไปถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงรับแผนที่ก็สนพระทัยที่จะเสด็จมาทอดพระเนตรพื้นที่จริง จึงเสด็จโดยเรือทางทะเลมายังพื้นที่แหลมกลัด และจะล่องเรือเข้าไปยังแม่น้ำตราด แต่เกิดลมพายุเสียก่อน จึงไม่สามารถล่องเรือเข้าแม่น้ำตราดได้โดยสะดวก จึงทรงสั่งให้นายเพ็งเป็นผู้ช่วยนำเรือเข้าไปยังจังหวัดตราด ต่อมาจึงพระราชทานแต่งตั้งนายเพ็ง เป็นหลวงนาวา (เพ็ง ประสิทธินาวา) เป็นผู้ปกครองพื้นที่แถบตำบลแหลมกลัดเป็นคนแรก รวมไปถึงเขตพื้นที่ตำบลชำราก และตำบลตะกางด้วย ต่อมาจึงมีการเรียกพื้นที่ชุมชนว่า แหลมตรัส ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น แหลมกลัด จนถึงปัจจุบัน
แต่เดิมพื้นที่ตำบลแหลมกลัดมีบ้านเรือนอยู่อาศัยกันน้อย เป็นป่าหนาแน่นติดต่อถึงภูเขาบรรทัด สัตว์เลี้ยงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เช่น หมู หมา วัว ควาย จะถูกสัตว์ป่า เช่น เสือ มากัดกินอยู่เป็นประจำ อีกทั้งคนในพื้นที่ก็ยังถูกเสือกัดตาย ต่อมาชื่อบ้านแหลมตรัสจึงเพี้ยนเป็นบ้านแหลมกลัด และเมื่อตั้งตำบลจึงเรียกว่าตำบลแหลมกลัด การตั้งบ้านเรือนของคนแหลมกลัดตอนแรก ๆ นั้นมีอยู่กันไม่มากนัก และมีอาชีพหลักอยู่สองอย่าง คือ ทำประมง และทำนา บ้านของชาวประมงจะตั้งอยู่ริมคลอง เรียกว่า คลองอ่าวระวะ มีต้นน้ำมาจากภูเขาบรรทัด น้ำตกสะพานหินไหลไปยังปากคลองอ่าวระวะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวประมง การปลูกบ้านของชาวประมงส่วนหนึ่งจะอยู่บนบกอีกส่วนหนึ่งจะยื่นลงไปในคลอง ส่วนที่ยื่นลงไปในน้ำเพื่อความสะดวกในการจอดเรือ การเดินทางไปหมู่บ้านอื่น ๆ ต้องใช้เวลามากเพราะต้องไปทางเรือ เรือที่ใช้คือเรือใบแจว หรือพาย
ต่อมาช่วง พ.ศ. 2480 ได้มีชาวจีนอพยพมาอยู่ที่ปากคลองอ่าวระวะประมาณ 20 ครอบครัวทำให้เกิดอาชีพใหม่ เรียกว่า ทำโป๊ะ เพราะเดิมคนพื้นบ้านจะทำประมงก็คือตกปลา ลาวปลา ไสเคยเพื่อทำกะปิ การทำโป๊ะจะได้ปลามาก ปลาที่ได้คือปลาทูและยังทำเป็นปลาเค็ม แต่จะมีเรือเมล์จากกรุงเทพเข้ามารับสินค้า ประมาณ 7-10 วัน ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น
ในปี พ.ศ. 2495 - 2499 ชาวจีนเริ่มอพยพออกไปจากชุมชนเหลืออยู่ 2 - 3 ครอบครัว ต่อมา พ.ศ. 2503 เรือของชาวบ้านเริ่มใส่เครื่องยนต์แทนการใช้ใบเรือ เรือที่ใส่เครื่องยนต์เดินทางได้ไกลและเร็วทำให้เกิดความหลากหลายในการทำประมง เช่น อวนลอย อวนลากตามมา ทั้งยังมีเรือโดยสารเดินทางเข้าตัวจังหวัดทำให้สินค้าซื้อขายง่ายขึ้น การปลูกบ้านที่เคยมุงด้วยจากเปลี่ยนมาเป็นมุงด้วยสังกะสีเพราะสามารถขนถ่ายง่าย ใน พ.ศ. 2509 มีรถยนต์เดินทางเข้าถึงบ้านแหลมกลัด คนที่มีอาชีพการทำนาจะสร้างบ้านเรือนอยู่ห่างๆ กัน จะมีพื้นที่เป็นที่ลุ่มไม่ไกลจากทะเลมากนักเป็นพื้นที่น้ำกร่อยสำหรับเป็นพื้นที่ทำนา การทำนาของคนสมัยก่อนจะใช้ควายสองตัวเทียมแอกในการไถคาด และจะมีการเอาแรงกันและกันแทนการจ้างช่วยกันไปช่วยกันมาจนเสร็จเรียบร้อย ใน พ.ศ. 2519 รถไถนาที่ใช้เครื่องยนต์ได้เข้ามาแทนที่ควาย จึงทำให้การไถนาแบบดั้งเดิมเริ่มหายไป
ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด มีพื้นที่ประมาณ 82 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 51,250 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองตราด เป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ไปทางทิศใต้ตามแนวถนนสาย ตราด-คลองใหญ่ ตำบลแหลมกลัดมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบก และในท้องทะเล ทั้งยังเป็นพื้นที่แหลมยาวไปตามแนวชายฝั่งและอาณาเขตดินแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
ตำบลแหลมกลัด มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลชำราก อำเภอเมืองตราด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทิวเขาบรรทัด แนวเขตประเทศกัมพูชา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่
ตำบลแหลมกลัดเป็นตำบลขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่กระจายกันไปในเขตพื้นที่ โดยมีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านแหลมกลัด ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 373 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 192 คน ประชากรหญิง 181 คน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 175 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)
ชุมชนตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจะประกอบอาชีพหลักด้านการทำประมง และการทำเกษตรกรรม โดยการทำประมงในท้องถิ่น จะเป็นรูปแบบการประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง เพื่อหาวัตถุดิบในท้องทะเล สัตว์ทะเล นำมาขายให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อ มีทั้งการขายในรูปแบอาหารทะเลสด และบางส่วนก็มีการแปรรูปอาหารทะเลก่อนนำไปจำหน่าย ส่วนของการประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรม มีทั้งการทำนา ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอยู่มาก ทั้งปัญหาสภาพแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆ อีก เช่น อาชีพค้าขาย รับราชการ และรับจ้างทั่วไป
ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของตำบลแหลมกลัดเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จึงมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่มีความสวยงาม และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชม ให้ให้มีกลุ่มอาชีพที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่พัก โรงแรม กลุ่มร้านค้า ร้านอาหารและบริการ ร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
การประกอบอาชีพทำนาของชาวบ้านในอดีต ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีที่ทำกินอยู่ไกลทะเลเป็นพื้นที่มีน้ำจืดหรือน้ำกร่อยและเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเหมาะแก่การทำนา โดยชาวบ้านในสมัยก่อนจะใช้ควายหรือกระบือในการไถนา ชาวบ้านจะใช้วิธีเอาแรงกันระหว่างบ้านใกล้เคียงหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ในการทำนาในอดีตส่วนใหญ่จะทำนาหว่านกันเป็นส่วนใหญ่ และต่อมาจึงทำนาดำ
การประกอบอาชีพทำนาในปัจจุบันได้มีการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาไถนา หรือแม้กระทั้งเกี่ยวข้าวก็จะใช้เครื่องจักรกลเข้ามาเกี่ยว เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็ว ประกอบกับค่าแรงงานที่สูงหากใช้แรงงานมนุษย์ การทำนาในปัจจุบันจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอดีตมาก ในอดีตไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง แต่ปัจจุบันใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีมาก การทำนาจึงไม่มีรายได้มากมายนัก เมื่อเสร็จจากการทำนาก็จะเตรียมปลูกพืชสวนครัว และพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน
ชุมชนแหลมกลัดเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างต่อเนื่อง ประชากรในชุมชนตำบลแหลมกลัดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ความเชื่อของชุมชนตำบลแหลมกลัดมีทั้งแบบดั้งเดิมคือการนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติ และแบบพุทธศาสนา สมัยก่อนจะมีการเซ่นไหว้ผีโลง โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมู หรือไก่ทั้งตัวเป็น ๆ แล้วมีการร้องเพลงเป็นทำนองเชิญผีเพื่อให้ลงมาเข้าสิงในร่างทรงแล้วก็ถามความเป็นอยู่ของผู้ที่มาเข้าร่าง ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ยังคงเหลืออยู่บ้างตามความเชื่อส่วนบุคคล แต่จะถูกกลืนด้วยวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวพุทธ ที่มีการรักษาสืบทอด และฟื้นฟูให้อยู่คู่กับชุมชน โดยมีประเพณีที่สำคัญและกิจกรรมทางสังคม ได้แก่
- ประเพณีสงกรานต์ จะมีการทำบุญก่อพระทราย มีการปล่อยเรือเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
- ประเพณีลอยกระทง ในบางปีจะมีการจัดการแข่งขันแข่งเรือพายภายในชุมชน การจัดงานลอยกระทงในตอนกลางคืน มีการลอยกระทง และมีการจัดมหรสพ เช่น การประกวดนางนพมาศ และมีการลอยกระทงช่วงเที่ยงคืน โดยจะมีการนิมนต์พระมาสวดมนต์ด้วย
- การแข่งขันสะบ้าล้อ โดยแต่ละหมู่บ้านนำมาแข่งขันกัน
- การตักบาตรเทโว ซึ่งจะจัดในช่วงหลังวันออกพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งจะพบกับขบวนของพระ เทพบุตร เทพธิดา นางฟ้า นางสวรรค์ เปรตและอสูรกาย ซึ่งชาวบ้านจะมาร่วมกันตักบาตรกันอย่างมากมาย
ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตำบลแหลมกลัด มีความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามหลากหลายของพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ทั้งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลบริเวณชาฝั่ง และทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติบนบกที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้พื้นที่ตำบลแหลมกลัดจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในหลากพื้นที่ และเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มที่แวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยว เยี่ยมชม และพักผ่อนในพื้นที่ตำบลแหลมกลัด ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่กระจายกันอยู่ทั่วทั้งตำบล โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้
- หาดทรายเงิน (มุกเมฆ)
- หาดลานทราย
- หาดทรายแก้ว
- หาดทับทิม
- หาดพลอยแด
- หาดมุกแก้ว
- หาดทรายงาม
- หาดพระชนก
- น้ำตกสะพานหิน
- น้ำตกท่าเส้น
- อนุสรณ์สถานเขาล้าน
- ศาลาราชการุณย์
- พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ตำบลแหลมกลัด ยังเป็นแหล่งพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรหอยขาวที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ในปีหนึ่งๆ ชาวบ้านบริเวณแถบนี้สามารถเก็บหอยขาวทั้งที่ทำเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ลักษณะโดยทั่วไปของหอยขาวหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหอยตลับ มีรูปร่างรีคล้ายรูปไข่ ตัวสีขาว มีลายแถบน้ำตาลถึงน้ำตาลไหม้ เปลือกมันเรียบ ในแต่ละชนิดมีลวดลายที่แตกต่างกัน จุดกึ่งกลางจะแข็งและหนาและมีลักษณะยาวอาจดูเหมือนรูปสามเหลี่ยมโค้งมนเท่ากันแต่ริมขอบทั้งหมดเสมอกัน กินอาหารโดยการกรองเช่นเดียวกับหอยสองฝาชนิดอื่น และมักพบฝังตัวอยู่ในโคลนหรือทราย โดยใช้เท้าเป็นอวัยวะช่วยในการขุดรูในพื้น โดยเวลาน้ำลง หอยตลับจะฝังตัวลงไปในทรายลึก 5-10 เซนติเมตร พบในเขตน้ำขึ้นน้ำลงไปจนถึงระดับความลึกประมาณ 20 เมตร นอกจากชายฝั่งทะเลแล้วยังพบหอยขาวอาศัยบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อยอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถพบหอยตลับอาศัยอยู่ในระดับความเค็ม ตั้งแต่ 10-36 ส่วนในพัน แต่ที่เหมาะสมอยู่ใน ช่วง 20-26 ส่วนในพัน หอยชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ได้ถึง 9 – 10 เซนติเมตร และมี น้ำหนักถึง 44 กรัม ในประเทศไทยหอยขาวหรือหอยตลับถูกเก็บขึ้นมาใช้ประโยชน์นานแล้ว ส่วนใหญ่ถูกเก็บขึ้นมาโดยมือในช่วงน้ำลง ในจังหวัดตราดจะพบมากที่ตำบลแหลมกลัด บริเวณหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 10
ทรัพยากรในพื้นที่ตำบลแหลมกลัด ในอดีตมีความสมบูรณ์มากไม่ว่าจะเป็นด้านที่ทำกิน ด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ ชาวบ้านจะอยู่อาศัยกันแบบสงบสุข แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติอันเนื่องมาจากประชากรมากขึ้นทรัพยากรลดน้อยลง มีการตัดไม้ทำลายป่าแม่น้ำลำคลองสกปรกเพราะชาวสวนทิ้งขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ สำหรับเรื่องที่ดินที่ทำกินก็น้อยลดลง เพราะมีนายทุนเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์
ภายหลังทางองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเยาวชนจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ไม่ว่าจะมีการจัดเก็บขยะมูลฝอย ปลูกป่าชายเลนเพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมป่าที่ถูกทำลายเพื่อให้มีความสมบูรณ์เหมือนเดิม การจัดเก็บขยะมูลฝอยช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียและการแพร่กระจายเพาะเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงผลกระทบต่อสัตว์น้ำ สำหรับป่าชายเลน ชาวบ้าน เยาวชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่าเพิ่มเติมหรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย การทำหญ้าทะเลเทียมเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์กับชาวบ้านเป็นอย่างมากเพราะเป็นสถานที่เพาะพันธ์สัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ อื่นๆ จึงเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านของตำบลแหลมกลัดและชาวบ้านตำบลข้างเคียงอีกด้วย
ไพรวัลย์ สิอิ้น. (2548). การศึกษาสถานการณ์หอยขาวเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์การวางแผนร่วมกันและใช้ประโยชน์จากหอยขาวอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของ ชุมชนบ้านแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค.
องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2566-2570. องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด.
องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด. (2565). สถานที่ท่องเที่ยว. องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด.
Tourism Authority of Thailand. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2568, จาก https://7greens.tourismthailand.org/2020
เที่ยวแหลมกลัด By อบต.แหลมกลัด. (2568). สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100081709042170
ท่องเที่ยวชุมชนบ้านแหลมกลัด. (2561). สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/raweetipparat/photos?locale=th_TH