
ตลาดน้ำริมคลองภาษีเจริญ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้ฐานความร่วมมือของคนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนในกรุงเทพฯ ที่มีกิจกรรมและสินค้าจากชุมชนบริการนักท่องเที่ยวมากมาย
"ตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ" มีที่มาที่เกี่ยวข้องกับลักษณะภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และวิถีของชุมชนริมน้ำ แต่เดิมมีชื่อว่า "คลองขุดใหม่" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คลองภาษีเจริญ" ตามชื่อ พระยาภาษีเจริญศรีภัคดี (เจ้าสัวสอน) ซึ่งเป็นผู้ออกทุนในการขุดคลองสายนี้
ตลาดน้ำริมคลองภาษีเจริญ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้ฐานความร่วมมือของคนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนในกรุงเทพฯ ที่มีกิจกรรมและสินค้าจากชุมชนบริการนักท่องเที่ยวมากมาย
ประวัติดั้งเดิมของคลองภาษีเจริญนั้นเริ่มมาจาก พระยาพิสณฑสมบัติบริบูรณ์ (มีนามเดิมว่า ยิ้ม ตัณสกุลพิศลยบุตร) ซึ่งรับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีตำแหน่งเป็นหลวงภาษีวิเศษ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ พระยาพิสณฑสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในสมัยนั้น และประชาชนทั่วไปเรียกว่า "เจ้าสัว" เป็นผู้ริเริ่มในการขุดคลองภาษีเจริญ โดยเริ่มตั้งแต่แม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร ถึงคลองบางกอกใหญ่ใกล้วัดปากน้ำภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการสัญจรทางน้ำ โดยมุ่งเน้นการส่งอ้อยและน้ำตาลจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปี พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระภาษีสมบัติสมบูรณ์เป็นแม่กลองงาน ขุดคลองยาว 620 เส้น (ประมาณ 25.6 กิโลเมตร) กว้าง 7 วา (ประมาณ 14 เมตร) พระราชทานค่าจ้างเป็นเงิน 112,800 บาท ขุดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2415 ชาวบ้านจึงเรียกคลองนี้ว่า "คลองภาษีเจริญ" ตามนามของแม่กองงาน ต่อมามีราษฎรย้ายมาอยู่ริมคลองภาษีเจริญมากขึ้นจนเป็นชุมชนใหญ่ จึงได้ตั้งเป็นอำเภอภาษีเจริญ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2442 จากการขุดคลองทำให้มีผู้คนเข้าไปทำมาหากินสร้างที่อยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น พื้นที่สองฝั่งคลองเป็นไร่นาและใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลักจึงมีเรือสินค้าขึ้นล่องจากบางช้าง ดำเนินสะดวกและที่อื่น ๆ เข้ามาจอดพักค้าขายอยู่หลายแห่ง เช่น ริมคลองบริเวณหน้าวัดม่วง ศาลเจ้าแม่ทับทิม เป็นต้น โดยแหล่งพักใหญ่ของชาวเรือ คือ ตลาดน้ำบริเวณสี่แยกคลองภาษีเจริญตัดกับคลองขุดพระยาราชมนตรีใกล้วัดนิมมานรดี ทำให้คลองภาษีเจริญเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการสัญจรและขนส่งสินค้า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ได้ใช้คลองนี้เป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญและเป็นอีกคลองหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ให้อนุรักษ์ไว้ (จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ของคณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, 2525)
ชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ บริเวณวัดนิมมานรดีเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ที่มีอย่างยาวนาน โดยเริ่มจากการสร้างวัดนิมมานรดี หรือชื่อเดิมคือ วัดบางแค ตั้งแต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 ประมาณ พ.ศ. 2350 ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ แต่เนื่องจากวัดบางแคในสมัยนั้นเป็นวัดที่อยู่รอบนอกเมือง และเป็นวัดป่า จึงถูกละเลยและเสื่อมโทรมลงไป
ในปี 2409 จึงมีการริเริ่มการขุดคลองภาษีเจริญขึ้นมา และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2415 ซึ่งคลองภาษีเจริญนี้เป็นคลองที่ขุดภายหลังจากการทำสัญญาเบาริง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการค้าขาย และความสะดวกในการขนส่งอ้อยและน้ำตาลในสมัยก่อน และต่อมาคลองสายนี้ได้กลายเป็นคลองที่มีความสำคัญในการค้าขายระหว่างหัวเมืองในแม่น้ำท่าจีนกับกรุงเทพฯ โดยบริเวณที่เป็นจุดตัดของคลองราชมนตรีและคลองภาษีเจริญที่ใกล้กับวัดนิมมานรดีนั้น เคยเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำใหญ่แห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นจุดแลกเปลี่ยนและค้าขายสินค้าที่สำคัญ
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) ในปี พ.ศ. 2415 วัดบางแคได้ถูกบูรณะและพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีขุนตาลวโนชากร (นิ่ม) และภรรยาชื่อดี เป็นผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งในสมัยนั้นเป็นกำลังใหญ่ในการบูรณปฏิสังขรณ์ และตัววัดนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิมมานรดีเพื่อเป็นเกียรติดังเช่นในปัจจุบัน ชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญนั้นได้เกิดขึ้นภายหลังจากการขุดคลองภาษีเจริญ โดยมีหลักฐานเป็นป้ายของตลาดน้ำคลองภาษีเจริญที่มีการเขียนว่าเป็นตลาดน้ำ 5 แผ่นดิน เกิดขึ้นตั้งแต่ในปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 102 หรือประมาณปี พ.ศ. 2426 โดยชุมชนแห่งนี้มีอายุประมาณ 136 ปี จากคำบอกเล่าของอาจารย์สุโชติ ดาวสุโข หรืออาจารย์เล็ก ที่เป็นคนเก่าแก่ในย่านวัดนิมมานรดี ("ท่องเที่ยวและเรียนรู้เส้นทางวัฒนธรรมย่านบางแค-ภาษีเจริญ", 2559) เล่าให้ฟังว่า บ้านของท่านเคยเป็นร้านค้าใหญ่ริมคลองภาษีเจริญ โดยริเริ่มจากบรรพบุรุษของท่านที่มาตั้งรกรากอยู่ริมคลองภาษีเจริญ ต่อมาได้มีการเปิดกิจการคล้ายกับห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน ซึ่งมีร้านค้าในลักษณะเดียวกันหลายร้าน รวมทั้งในอดีตคลองภาษีเจริญและคลองราชมนตรีนั้น เต็มไปด้วยเรือสินค้าต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นพืชผลทางการเกษตร ประกอบกับการลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นและได้มีการสอบถามพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในพื้นที่แห่งนี้ พบว่าในยุครุ่งเรืองของพื้นที่ตลาดน้ำคลองภาษีเจริญนั้น ได้มีการเปิดร้านค้าต่าง ๆ มากมาย อันได้แก่ ร้านทอง โรงรับจำนำ ไปจนถึงบ่อนไพ่ของจีน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าในสมัยก่อนนั้น ตลาดน้ำคลองภาษีเจริญนั้นมีความเจริญและรุ่งเรืองทางการค้าเป็นอย่างมาก แต่ภายหลังจากการตัดถนนเพชรเกษมนั้นเอง ทำให้ความรุ่งเรืองนั้นเสื่อมถอยไป เนื่องจากผู้คนหันไปใช้การสัญจรทางบกมากขึ้น และละเลยกับพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นพื้นที่สำคัญในสมัยก่อน ในปัจจุบันจึงมีการใช้พื้นที่บริเวณนี้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก และมีการประกอบกิจกรรมการค้าขายบ้างบางส่วน
โดยตลาดน้ำคลองภาษีเจริญเคยถูกฟื้นฟูให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุมาจากการเดินทางที่ค่อนข้างเข้าถึงลำบาก เนื่องจากในสมัยก่อน (ช่วงการฟื้นฟูตลาดน้ำในปี พ.ศ. 2553) นั้นสามารถเข้าถึงได้ผ่านรถยนต์ส่วนตัว รถสาธารณะ และเรือรับจ้างเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาการคมนาคมของการสัญจรทางน้ำ ในบริเวณคลองภาษีเจริญเป็นเรือโดยสาร (เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2557) นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาให้มีการเชื่อมต่อกันเป็นระบบ ราง-ล้อ-เรือ กับการคมนาคมระบบรางอย่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ BTS (เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2556) ในบริเวณท่าเรือบางหว้า ประกอบกับการเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของการรถไฟฟ้ามหานครหรือ MRT ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2562 นี้ ที่มีสถานีบางแคที่ตั้งอยู่ห่างกับพื้นที่ประมาณ 700 เมตรเท่านั้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง ให้สามารถเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น
ตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ ฝั่งตรงข้ามวัดนิมมานรดี เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัดนิมมานรดีเป็นศูนย์กลางชุมชน และเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญ โดยมีจุดเด่นคือ ลักษณะกายภาพที่ยังสามารถคงไว้ได้กลิ่นอายในอดีต ที่สามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ในสมัยก่อนไว้ได้
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองภาษีเจริญ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ซอยเทอดไท 90
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ซอยเทอดไท 86
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองราชมนตรี
จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรบริเวณชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญในเดือนธันวาคม 2567 ชาย 17,557 คน และหญิง 21,001 คน รวม 38,558 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2568)
ประชากรในชุมชนเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน (แต้จิ๋ว/ฮกเกี้ยน) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ริมน้ำ สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวจีนที่อพยพเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวไทยพุทธเดิม เป็นชาวไทยที่ตั้งบ้านเรือนตามแนวสวนผลไม้ริมน้ำ ดำรงชีวิตแบบเกษตรผสมผสาน ผูกพันกับวัดในชุมชน เช่น วัดปากน้ำ วัดนวลจันทร์ ฯลฯ และบางส่วนมีเชื้อสายมอญ/ลาวเวียงจันทน์ อพยพมาตามแนวคลองฝั่งธนฯ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีวัดบางแห่งในฝั่งคลองที่ยังมีประเพณีแบบมอญ เช่น ตักบาตรทางน้ำ ทำขนมแบบดั้งเดิม
จีน, มอญคนในชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญโดยเฉพาะในตลาดน้ำและพื้นที่รอบคลองมักประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ขายอาหารพื้นบ้าน เช่น ขนมไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ข้าวหมูแดง ขนมจีน ข้าวเหนียวมะม่วง ขายของชำและสินค้าชุมชน เช่น พืชผักจากสวนหลังบ้าน เครื่องจักสาน ของที่ระลึก การขายของจากเรือ แม่ค้าพายเรือขายของยังคงมีให้เห็นบ้างบางวัน โดยเฉพาะในวันหยุด ธุรกิจท่องเที่ยว/นำเที่ยว เช่น นำเรือพานักท่องเที่ยวชมคลองและวิถีชุมชน ให้เช่าจักรยาน นำเที่ยววัดริมคลอง โฮมสเตย์ขนาดเล็กที่เปิดพักค้างคืนในบรรยากาศริมคลอง
สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนตลาดคลองภาษีเจริญเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของการดำรงชีวิตแบบชาวคลองไว้ได้ในระดับหนึ่ง โดยอาชีพหลักยังเน้นการค้าขาย เกษตรผสมผสาน และงานฝีมือพื้นบ้าน ส่วนคนรุ่นใหม่บางส่วนเริ่มออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น แต่ยังกลับมาช่วยงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือเทศกาลสำคัญ
กิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์/เดือน
- ตลาดน้ำเสาร์-อาทิตย์ : ค้าขายอาหารพื้นบ้าน ขนมไทย สินค้าทำมือ
- ตักบาตรทางเรือ (วัดพระใหญ่/วันหยุดสำคัญ) : พระพายเรือรับบาตาตามบ้านและหน้าวัด
- กิจกรรมเยาวชนชุมชน : ทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อม เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น
- เวิร์กช็อปการทำขนม/หัตถกรรมพื้นบ้าน : ช่วงนักท่องเที่ยวเยอะหรือช่วงเทศกาล)
กิจกรรมประจำปี
- มกราคม : กิจกรรมตรุษจีน(ไม่ประจำทุกปี) ครอบครัวเชื้อสายจีนไหว้เจ้า แจกขนมเทียน ขนมเข่ง
- กุมภาพันธ์ : มาฆบูชา ทำบุญที่วัดใกล้คลอง เช่น วัดนาคปรก วัดนิมมานรดี
- มีนาคม : กิจกรรมรักษาความสะอาดคลอง ชาวบ้านร่วมกันเก็บขยะริมคลอง รณรงค์สิ่งแวดล้อม
- เมษายน : สงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ สรงน้ำพระ เล่นน้ำริมคลอง
- พฤษภาคม : วิสาขบูชา เวียนเทียน ทำบุญ ตักบาตรทางน้ำ
- มิถุนายน : ล่องเรือไหว้พระ 9 วัด ช่วงส่งเสริมการท่องเที่ยวในฤดูฝน
- กรกฎาคม : เข้าพรรษา ตักบาตรทางเรือ ถวายเทียนพรรษา
- สิงหาคม : วันแม่แห่งชาติ จัดกิจกรรมชุมชน ปลูกต้นไม้ริมคลอง
- กันยายน : วันสารทจีน ชาวจีนในชุมชนมีการไหว้บรรพบุรุษ แจกของไหว้
- ตุลาคม : ออกพรรษา ตักบาตรเทโว งานบุญใหญ่ วัดริมคลองมีพิธีกรรมและกิจกรรมชุมชน
- พฤศจิกายน : ลอยกระทง ชาวบ้านทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ร่วมลอยกระทงริมคลอง
- ธันวาคม : วันพ่อแห่งชาติ/ส่งท้ายปีเก่า ปลูกต้นไม้ รวมญาติทำบุญ กิจกรรมปีใหม่
1.คุณสมใจ ปราบภัย
ประธานชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ มีบทบาทสำคัญในการรวมตัวคนในชุมชนเพื่อฟื้นฟูตลาดน้ำขึ้นมาใหม่ในช่วงปี 2553 ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำภูมิปัญญา เช่น การทำขนมไทย งานจักสาน มาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเขตภาษีเจริญ ในการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และได้รับเชิญให้ไปพูดบนเวทีท้องถิ่นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
2.คุณยายละเอียด, คุณป้านวล และคุณป้าศรี
แม่ค้ารุ่นเก่าและสมาชิกกลุ่มสตรีชุมชน เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทำขนมต้ม ขนมใส่ไส้ ข้าวต้มมัด มีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้นักท่องเที่ยวและเยาวชน
คลองภาษีเจริญเป็นคลองเก่าแก่ที่เชื่อมต่อกับคลองหลายสาย เป็นเส้นทางสัญจรดั้งเดิมของชุมชน บ้านเรือนโดยรอบส่วนใหญ่ยังคงเป็นบ้านเรือนไทยเก่าที่คงเอกลักษณ์ชุมชนเกษตรริมน้ำ มีวัดวาอาราม เช่น วัดปากน้ำ วัดนิมมานรดี วัดนวลจันทร์ เป็นศูนย์กลางจิตใจและกิจกรรมชุมชน ยังคงมีการเดินทางริมคลองตลาดน้ำ โดยมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมท่องเที่ยว
ผู้สูงวัยในชุมชนมีภูมิปัญญา เช่น การทำขนมไทย การจักสาน การทำสมุนไพร เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน เช่น เป็นมัคคุเทศก์น้อย สาธิตกิจกรรม แกนนำชุมชน เช่น ผู้นำกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรม ฯลฯ มีบทบาทในการผลักดันชุมชน
ประเพณีตักบาตรทางน้ำ สงกรานต์ริมคลองที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนริมน้ำ อาหารท้องถิ่น เช่น ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ ขนมหม้อแกง ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น งานจักสานจากใบลาน การทำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว รวมไปถึงความเชื่อผสมผสานไทย เช่น ศาลเจ้าในชุมชน ประเพณีไหว้เจ้า
คลองภาษีเจริญ เป็นระบบนิเวศที่ใช้ทำเกษตร สัญจร และกิจกรรมท่องเที่ยว พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น มะกรูด ตะไคร้ ขิง ข่า ใบเตย ฯลฯ
มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อฟื้นฟูตลาดน้ำ และพัฒนาภูมิปัญญา มีกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมไปถึงเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษา
นอกจากนี้ชุมชนตลาดริมคลองภาษีเจริญยังมีสินค้า OTOP เช่น ขนมไทย งานหัตถกรรม ผักปลอดสาร ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวตลาดน้ำในชุมชน รวมไปถึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และมีการเริ่มต้นขายสินค้าและโปรโมตสินค้าชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญมีทุนชุมชนครอบคลุมทั้ง 6 ด้านโดยเฉพาะทุนทางวัฒนธรรม มนุษย์ และสังคมที่แข็งแรง สามารถนำไปต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืนได้อย่างชัดเจน
ชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการ และมีการพูดใช้ภาษาจีนกันในครอบครัวที่เป็นคนจีน
ในอดีตชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญมีลักษณะเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมพื้นบ้าน พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำสวนผลไม้ เช่น มะพร้าว มะม่วง กล้วย การหาปลาในคลอง เลี้ยงไก่ เป็ด และปลูกผักสวนครัว การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง หรือขายของบนเรือแบบเรียบง่าย และในบางพื้นที่ยังมีการทำหัตถกรรม เช่น เครื่องจักสานจากใบลานหรือทางมะพร้าว
ตลาดน้ำดั้งเดิมเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผู้คนในชุมชนใช้คลองเป็นเส้นทางการสัญจรและค้าขาย สินค้าถูกลำเลียงด้วยเรือพาย มักคึกคักเฉพาะช่วงวันพระหรือเทศกาลทางศาสนา
ช่วงหลัง พ.ศ. 2520-2540 การขยายตัวของเมือง ทำให้บางส่วนของพื้นที่กลายเป็นเขตชานเมือง เกษตรกรรมลดลงผู้คนเริ่มทำงานนอกชุมชน
ต่อมาตลาดน้ำคลองภาษีเจริญได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2553 โดยชุมชนร่วมกับภาครัฐ และภาคการศึกษา ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมฝั่งธนบุรี มีการจัดตลาดน้ำเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายสินค้าท้องถิ่น (ขนมไทย งานหัตถกรรม ผักพื้นบ้าน) และกิจกรรมท่องเที่ยว (ล่องเรือ ไหว้พระ เวิร์กช็อป) เพื่อดึงนักท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้เสริมจากสินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรม ซึ่งในปัจจุบันตลาดน้ำคลองภาษีเจริญเน้นเศรษฐกิจชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เช่น เกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต การขายสินค้าออนไลน์ และกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ สำนักงานวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ความร่วมมือของชุมชนในการพัฒนาตลาดน้ำและแหล่งเรียนรู้ การรวมกลุ่มของผู้ผลิตในชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ การเข้ามาของมหาวิทยาลัยและภาคการศึกษา ช่วยอบรมเรื่องการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการสื่อสารออนไลน์ รวมไปถึงเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและความสนใจในวิถีไทยย้อนยุค
เริ่มมีผู้คนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานสองฝั่งคลองภาษีเจริญหลังเกิดการขยายตัวของชุมชนริมฝั่งคลองมากขึ้น ทางราชการจึงจัดตั้ง "อำเภอภาษีเจริญ" ขึ้นในปี พ.ศ. 2442 มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดธนบุรี ต่อมาทางราชการได้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2515 พร้อมกับได้ยุบการปกครองท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลและเทศบาลรวมทั้งเปลี่ยนการเรียกชื่อตำบลและอำเภอใหม่อำเภอภาษีเจริญจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเขตภาษีเจริญสืบมาถึงปัจจุบัน
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2565). แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม: ตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.culture.go.th
ไทยรัฐออนไลน์. (6 กรกฎาคม 2565). วิถีชุมชนริมคลอง…ตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.thairath.co.th
พรพิชชา หลิมไชยกุล. (2561). การศึกษาการเปลี่ยนแปลงเรือนแถวไม้ของชุมชนริมน้ำเพื่อเสนอแนวทางการฟื้นฟูอาคารและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนตลาดน้ำคลองภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มหาวิทยาลัยสยาม. (2565). โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคลองภาษีเจริญ. คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม.
สำนักงานเขตภาษีเจริญ. (2566). รายงานผลการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพมหานคร
อภิญญา นนท์นาท. (2559). รายงานการท่องเที่ยวและเรียนรู้เส้นทางวัฒนธรรมย่านบางแค - ภาษีเจริญ. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://lek-prapai.org
Dhammakaya. (ม.ป.ป.). ตักบาตรทางน้ำโดยเรือพาย. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.dhammakaya.net/
Thai PBS. (11 เมษายน 2564). คลองภาษีเจริญ ถิ่นจีนในกาลก่อน. [วิดีโอ]. Youtube. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.youtube.com
Thai PBS. (25 เมษายน 2564). วิถีปลายคลองภาษีเจริญ. [วิดีโอ]. Youtube. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.youtube.com