Advance search

เกาะหมาก สวรรค์แห่งความสงบกลางทะเลตราดท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยหาดทรายขาว น้ำทะเลใส และบรรยากาศวิถีชีวิตเรียบง่าย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของผู้คนบนเกาะ

หมู่ที่ 1, 2
เกาะหมาก
เกาะกูด
ตราด
อบต. เกาะหมาก โทร. 0 3951 0748
ฤชุอร เกษรมาลา
6 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
7 มิ.ย. 2025
เกาะหมาก

ชื่อ "เกาะหมาก" มาจากการที่ในอดีตบริเวณเกาะแห่งนี้มีต้นหมากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกตามลักษณะภูมิประเทศว่า "เกาะหมาก" จนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

เกาะหมาก สวรรค์แห่งความสงบกลางทะเลตราดท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยหาดทรายขาว น้ำทะเลใส และบรรยากาศวิถีชีวิตเรียบง่าย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของผู้คนบนเกาะ

หมู่ที่ 1, 2
เกาะหมาก
เกาะกูด
ตราด
23120
11.823418
102.475322
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก

เกาะหมากเป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลตราดฝั่งอ่าวไทย ด้วยพื้นที่เกาะหมากนั้นมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของสันดอนทรายมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก มีพื้นที่รวมประมาณ 9,000 ไร่ โดยเป็นที่สาธารณประโยชน์ประมาณ 500 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินส่วนบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการทำสวนยางพาราและสวนมะพร้าว อันเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของชุมชน และมีการบุกเบิกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2447 ผู้ครอบครองที่ดินดั้งเดิมส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน แบ่งเป็น 5 ตระกูลสำคัญ ได้แก่ ตระกูลตะเวทีกุล วงษ์ศิริ สุทธิธนกูล จันทสูตร และสุขสถิตย์

เกาะหมากยังมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยในยุคล่าอาณานิคม โดยเฉพาะใน พ.ศ. 2436 หรือที่รู้จักกันในชื่อของเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรีและดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพื่อกดดันไทยให้ยอมเสียดินแดนบางส่วน และใน พ.ศ. 2446 ไทยต้องยกพื้นที่ตั้งแต่แหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ไปจนถึงเกาะหมาก เกาะกูด และเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการถอนกำลังทหารออกจากจันทบุรี ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ไทยสามารถเจรจาแลกเปลี่ยนดินแดนกลับคืนมา โดยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เพื่อให้จังหวัดตราดและหมู่เกาะต่าง ๆ รวมถึงเกาะหมากกลับคืนสู่การปกครองของไทย

ชนดั้งเดิมบนเกาะหมากส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งอพยพมาจากเมืองปัจจันตคีรีเขตร (ปัจจุบันคือเกาะกง ประเทศกัมพูชา) ในช่วงที่เมืองดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานในราวปี พ.ศ. 2447 ภายใต้การนำของ "หลวงพรหมภักดี" ซึ่งเป็นต้นตระกูล ตะเวทีกุล และเคยทำหน้าที่ควบคุมแรงงานชาวจีนบนเกาะกงในอดีต ทำให้ประชากรดั้งเดิมส่วนใหญ่บนเกาะมีสายสัมพันธ์เครือญาติกันอย่างแน่นแฟ้นจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2440 รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ เกาะหมากในระยะแรกขึ้นกับตำบลเกาะช้าง ในอำเภอเกาะช้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ได้มีการแยกพื้นที่หมู่ 8 ถึงหมู่ 11 ของตำบลเกาะช้าง มาตั้งเป็น "ตำบลเกาะหมาก" อย่างเป็นทางการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 พื้นที่บางส่วนของตำบลเกาะหมาก ได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านคลองหินดำ หมู่ที่ 4 บ้านอ่าวใหญ่–อ่าวสลัด และหมู่ที่ 5 บ้านคลองเจ้า ได้แยกออกไปตั้งเป็น "ตำบลเกาะกูด" ส่งผลให้ตำบลเกาะหมากเหลืออยู่เพียง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านอ่าวนิด และบ้านแหลมสน

จากการที่เกาะหมากตั้งอยู่ห่างจากฝั่งที่ว่าการอำเภอคลองใหญ่ถึงประมาณ 40 กิโลเมตร และมีความใกล้ชิดกับเขตแดนประเทศกัมพูชาทางด้านเกาะกงมากกว่าฝั่งไทย ประชาชนประสบความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลจึงได้ยกฐานะเกาะหมากและหมู่เกาะใกล้เคียงขึ้นเป็น "กิ่งอำเภอเกาะกูด" ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2533 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน

ต่อมาใน พ.ศ. 2550 ได้มีการยกระดับกิ่งอำเภอเกาะกูดขึ้นเป็น "อำเภอเกาะกูด" ตามราชกิจจานุเบกษาเล่ม 124 ตอนที่ 46ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

ปัจจุบันเกาะหมากมีฐานะเป็นเขตปกครองท้องถิ่นในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก (อบต.) โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเกาะให้ดำรงอยู่ร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เกาะหมากเป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของจังหวัดตราด รองจากเกาะช้างและเกาะกูด มีขนาดความกว้างประมาณ 5.8 กิโลเมตร และความยาวประมาณ 7.5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกระดาด โดยมีระยะห่างจากเกาะกระดาดประมาณ 1.3 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบของเกาะหมากประกอบด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยหลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่ม "หมู่เกาะหมาก" ซึ่งมีถึง 9 เกาะ ได้แก่ เกาะหมาก เกาะกระดาด เกาะระยั้งใน เกาะระยั้งนอก เกาะขาม เกาะผี เกาะนก เกาะนอก และเกาะใน

โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ น่านน้ำของตำบลเกาะช้างใต้ (อำเภอเกาะช้าง)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ น่านน้ำของตำบลไม้รูดและตำบลคลองใหญ่ (อำเภอคลองใหญ่)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ น่านน้ำของตำบลเกาะกูด (อำเภอเกาะกูด)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย

สภาพภูมิอากาศ

เกาะหมากมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม โดยเฉพาะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี ขณะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านในช่วงฤดูหนาวส่งผลกระทบต่อเกาะหมากเพียงเล็กน้อย ทำให้มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างฤดูกาลไม่มากนัก

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรบนพื้นที่เกาะหมาก ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวนิด และหมู่ที่ 2 บ้านแหลมสน ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวนิด ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 470 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 224 คน ประชากรหญิง 246 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 440 หลังคาเรือน

หมู่ที่ 2 บ้านแหลมสนตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 277 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 155 คน ประชากรหญิง 122 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 249 หลังคาเรือน

เกาะหมากเป็นเกาะกลางทะเลในเขตอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาและมีชายฝั่งทะเลยาวล้อมรอบ ประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก การประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชนจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อม

ในอดีตนั้นอาชีพหลักที่สำคัญ ได้แก่ การเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำสวนมะพร้าวและสวนยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สามารถปลูกได้ดีในสภาพภูมิอากาศและสภาพดินของเกาะ พื้นที่บริเวณราบใกล้ชายฝั่งมักใช้สำหรับปลูกมะพร้าว ส่วนพื้นที่เชิงเขาและราบสูงเหมาะสำหรับการปลูกยางพารา นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชอื่น ๆ เช่น กล้วย มะม่วง และพืชผักพื้นบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายภายในชุมชน

นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้าน ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ยังคงมีบทบาทในชีวิตของชาวเกาะ โดยใช้เรือขนาดเล็กและเครื่องมือประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อวนจับปลาและการหาสัตว์น้ำตามแนวป่าชายเลน การประมงพื้นบ้านแม้จะไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้สูง แต่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและวิถีชีวิตแบบพึ่งตนเองของชุมชน

แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เน้นความเงียบสงบและความเป็นธรรมชาติของเกาะหมาก ทำให้ประชากรบนเกาะจำนวนมากหันมาประกอบอาชีพด้านการให้บริการ เช่น การเปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ รีสอร์ตขนาดเล็ก ร้านอาหาร รวมถึงการให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ดำน้ำ พายเรือคายัค และนำเที่ยวเชิงนิเวศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของหลายครัวเรือน และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาะ

นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานบริการเพื่อเสริมรายได้ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ได้แก่ สบู่และน้ำมันมะพร้าว การผลิตของที่ระลึก งานหัตถกรรม รวมถึงการเปิดร้านขายของชำ ร้านเช่ารถจักรยานยนต์ และร้านกาแฟขนาดเล็กภายในชุมชน

ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สำคัญ

  • ผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ มะพร้าวและยางพารา มีการส่งออกไปจำหน่ายยังจังหวัดตราดและพื้นที่ใกล้เคียง
  • งานหัตถกรรมจากกะลามะพร้าว ผลิตในรูปแบบของของใช้และของตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟและของฝากที่ระลึก
  • ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว ทั้งในรูปแบบบริสุทธิ์และแปรรูป เช่น สบู่สมุนไพร
  • งานฝีมือผ้าบาติก ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มแม่บ้านจากหมู่ 1 และหมู่ 2 ถือเป็นสินค้าท้องถิ่นที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน

เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของเกาะหมากที่เป็นเกาะกลางทะเล ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยอาศัยความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมรอบตัว

ศาสนาและความเชื่อ

ประชาชนบนเกาะหมากส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธโดยผสมผสานระหว่างพุทธศาสนา ลัทธิพราหมณ์ และความเชื่อพื้นบ้านเกี่ยวกับผีสางเทวดา ซึ่งหลอมรวมกลายเป็นระบบความเชื่อเดียวกันภายในชุมชน พิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ จะจัดขึ้น ณ วัดเกาะหมาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางจิตใจและเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญของชาวบ้าน

ประเพณีและเทศกาลประจำปี

เกาะหมากมีการจัดกิจกรรมประเพณีและเทศกาลที่สืบสานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามัคคีภายในชุมชน และอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น

  • งานเกาะหมากสัมพันธ์ จัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งมักตรงกับวันเด็กแห่งชาติ ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การแสดงของเด็กและชาวบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน และกิจกรรมส่งเสริมชุมชนอื่น ๆ อีกมากมาย
  • งานประเพณีวันลอยกระทง จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยมีการแสดงกิจกรรมพื้นบ้าน การประกวดกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ตลอดจนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของเกาะหมาก

เกาะหมากเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญอย่างมากในภาคตะวันออกของประเทศไทย เนื่องจากมีความโดดเด่นด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทั้งในด้านภูมิประเทศและระบบนิเวศ รวมถึงมีบรรยากาศที่เงียบสงบ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เรียบง่ายและเป็นมิตร เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกาะหมากกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 

กิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายสามารถพบได้บนเกาะหมาก อาทิ การดำน้ำชมปะการัง การพายเรือคายัค การเดินป่า การปั่นจักรยานรอบเกาะ การเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นและการเรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้เกาะหมากยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นหลายแห่ง ได้แก่

  • อ่าวนิด เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของเกาะหมากและเป็นท่าเรือหลักที่เชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ มีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ขึ้น
  • อ่าวไผ่ - แหลมสน เป็นหาดทรายสีแดงที่มีลักษณะเฉพาะตัว เหมาะแก่การเดินเล่นและชมทัศนียภาพของเกาะกูดและเกาะกระดาด
  • อ่าวแหลมสวนใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “อ่าวเกาะหมากรีสอร์ท” เป็นชายหาดที่มีความยาวและสวยงาม เหมาะสำหรับการเล่นน้ำและชมพระอาทิตย์ตก อีกทั้งยังใกล้กับเกาะขามและสามารถมองเห็นเกาะผี
  • อ่าวขาว เป็นชายหาดที่เงียบสงบ มีความปลอดภัยในการเล่นน้ำ และสามารถเดินทางไปยังเกาะระยั้งนอกและระยั้งในได้อย่างสะดวก
  • เกาะขาม เป็นเกาะขนาดเล็กใกล้กับเกาะหมาก โดดเด่นด้วยหาดทรายขาว แหลมทราย และหินภูเขาไฟสีดำที่เป็นลักษณะเฉพาะของเกาะนี้
  • เกาะระยั้งใน - ระยั้งนอก โดยเฉพาะระยั้งนอกมีหาดทรายและแนวปะการัง เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้นและชมพระอาทิตย์ตก
  • เกาะกระดาด เป็นเกาะที่มีลักษณะภูมิประเทศแบนราบ มีหาดทรายรอบเกาะ และมีประวัติศาสตร์สำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเกาะนี้มีการเลี้ยงกวางและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

นอกจากนี้เกาะหมากยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีที่พักหลากหลายระดับ ตั้งแต่รีสอร์ตระดับหรูจนถึงโฮมสเตย์ ร้านอาหารท้องถิ่น คาเฟ่ บาร์ริมทะเล รวมถึงบริการเช่ารถจักรยานและจักรยานยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ชาวเกาะหมากมีการใช้ภาษาถิ่นที่เรียกว่า ภาษาซองจังหวัดตราด ซึ่งมีคำศัพท์และการออกเสียงคำบางคำไม่เหมือนภาษาไทยกลาง


เกาะหมากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอดีต โดยเฉพาะในช่วงยุคล่าอาณานิคมเมื่อ พ.ศ. 2436 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประเทศฝรั่งเศสได้เข้ายึดพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเมืองจันทบุรี รวมถึงดินแดนบางส่วนในทะเลตราดซึ่งรวมถึงเกาะหมากด้วย กระทั่งไทยต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรีในปี พ.ศ. 2446 ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 ไทยได้ดินแดนจังหวัดตราดและหมู่เกาะใกล้เคียงกลับคืนมาอีกครั้ง โดยแลกกับการยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้ฝรั่งเศส

ในอดีตการปกครองของเกาะหมากเคยขึ้นอยู่กับตำบลเกาะช้างในเขตอำเภอเกาะช้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ได้มีการจัดตั้งตำบลเกาะหมากขึ้น โดยแยกพื้นที่จากตำบลเกาะช้าง และในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการแยกพื้นที่บางส่วนของตำบลเกาะหมากไปจัดตั้งเป็นตำบลเกาะกูด ส่งผลให้เกาะหมากเหลือพื้นที่เพียง 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านเกาะหมาก และหมู่ที่ 2 บ้านแหลมสน เนื่องจากเกาะหมากตั้งอยู่ห่างจากอำเภอคลองใหญ่ประมาณ 40 กิโลเมตร และมีภูมิประเทศที่ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชา ประชาชนจึงประสบปัญหาในการติดต่อราชการ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกระดับเกาะหมากและเกาะใกล้เคียงเป็น “กิ่งอำเภอเกาะกูด” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2533 และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็น “อำเภอเกาะกูด” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2550 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปัจจุบันนี้เกาะหมากมีสถานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด 


เกาะหมากในอดีตมีฐานเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำสวนมะพร้าวและสวนยางพารา ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาในครัวเรือน นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังมีรายได้จากการประมงพื้นบ้านและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทะเลเพื่อจำหน่ายภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่น ทั้งในด้านชายหาดที่สวยงาม น้ำทะเลใส บรรยากาศสงบ และธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ ทำให้เกาะหมากเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และผู้ที่ต้องการพักผ่อนในสถานที่ที่เงียบสงบ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันการท่องเที่ยวได้กลายเป็นเศรษฐกิจหลักของเกาะหมาก โดยมีรีสอร์ต บ้านพัก ร้านอาหาร และกิจการบริการอื่น ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ได้ปรับตัวด้วยการเปลี่ยนอาชีพหรือเสริมอาชีพจากเกษตรกรรมมาเป็นผู้ประกอบการในการท่องเที่ยว เช่น การเปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ การเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น การให้บริการเช่าจักรยานยนต์ หรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและของที่ระลึกจากวัสดุธรรมชาติ

แม้การพึ่งพิงเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวจะนำมาซึ่งรายได้และความเจริญให้กับพื้นที่ แต่ชุมชนก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างสมดุล โดยยังคงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เช่น การใช้วัสดุธรรมชาติในการก่อสร้างที่พัก การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ในระยะยาว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระปุกดอทคอม. (7 สิงหาคม 2567). เกาะหมาก จังหวัดตราด รู้ไว้ไปเที่ยวแบบกูรู. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://travel.kapook.com/view157049.html

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เกาะหมาก จังหวัดตราด. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/

ชาคริต อ่องทุน. (2560). การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำตามบริบทการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ชุมชนในภาคตะวันออกของไทย. มหาวิทยาลัยศิลปากร

สมยา จันทร์ฟัก. (2558). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด. มหาวิทยาลัยบูรพา

อัญมณี เกิดพูนผล. (2533). ชาวเกาะที่มิใช่ชาวเล กรณีศึกษา : ชุมชนบ้านเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด. มหาวิทยาลัยศิลปากร

I Love Kohmak. (ม.ป.ป). ข้อมูลเกาะหมาก. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.ilovekohmak.com

อบต. เกาะหมาก โทร. 0 3951 0748