
บ้านคึกคักเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชาวมอแกลนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้จะได้พบกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และยังสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมอแกลนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาที่อื่นไม่ได้
บ้านคึกคักเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชาวมอแกลนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้จะได้พบกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และยังสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมอแกลนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาที่อื่นไม่ได้
ในอดีตบริเวณบ้านคึกคัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีสะพานข้ามคลองแห่งหนึ่งซึ่งมีโขดหินขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก สายน้ำที่ไหลเชี่ยวแรงกระทบโขดหินดังกล่าว ทำให้เกิดเสียง "คลุก คลัก คลุกคลัก" อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและไทยเชื้อสายจีน ได้เรียกเสียงนั้นตามที่ได้ยินว่า "คุกคัก คุกคัก" ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อเรียกพื้นที่ว่า “คุกคัก” โดยเป็นชื่อดั้งเดิมของชุมชนแห่งนี้
ต่อมาในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีนโยบายปรับเปลี่ยนชื่อสถานที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสมและเป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ขุนมสิงสวัสดิ์เห็นว่าชื่อ "คุกคัก" นั้นไม่เป็นมงคล เนื่องจากมีคำว่า "คุก" อยู่ในคำ จึงได้เสนอเปลี่ยนชื่อจาก "คุกคัก" เป็น "คึกคัก" ซึ่งมีความหมายเชิงบวกมากกว่า และนับแต่นั้นเป็นต้นมา พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักในชื่อว่า บ้านคึกคักจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดพังงาถือเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "ชาวเล" ตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันทั้งหมด 12 กลุ่ม โดยหมู่บ้านคึกคัก หรือที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกกันว่า "บ้านทุ่งหว้า" เป็นพื้นที่ที่มีประชากรชาวมอแกลนอาศัยอยู่มากที่สุด กลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนมีลักษณะเฉพาะที่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้ชายฝั่งทะเล เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพประมงซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ชาวมอแกลนจำนวนมากละทิ้งอาชีพประมง เนื่องจากความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้บางครอบครัวอพยพออกจากพื้นที่ชายฝั่ง และย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ด้านในของแผ่นดินมากขึ้น แต่ยังมีชาวมอแกลนบางส่วนที่ยังคงปักหลักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมริมทะเล
การตั้งถิ่นฐานของชาวมอแกลนในพื้นที่บ้านคึกคักเริ่มต้นจากครอบครัวผู้บุกเบิก 4 ครอบครัว ได้แก่
- ครอบครัวนายดอหละ-นางลอย คุมขำ
- ครอบครัวนายดัดหาญทะเล-นางเล็ก นาวารักษ์
- ครอบครัวนายผิน-นางกล้วย นาวารักษ์
- ครอบครัวนายหอมหาญทะเล
โดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในพื้นที่จนถึงก่อนเหตุการณ์สึนามิ ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในขณะนั้นมีครัวเรือนของชาวมอแกลนรวมประมาณ 40 ครัวเรือน ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในระยะเวลา 21 ปี จำนวนครัวเรือนของชาวมอแกลนในบ้านคึกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- การขยายตัวของครอบครัวใหญ่สู่ครอบครัวเดี่ยว ชาวมอแกลนมีโครงสร้างครอบครัวที่คล้ายคลึงกับชาวไทย คือ เมื่อบุตรหลานเติบโตและแต่งงานแล้ว มักจะออกเรือนและสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กับครอบครัวเดิมในละแวกเดียวกัน
- การอพยพย้ายถิ่นจากชุมชนมอแกลนหรือมอแกนอื่น ๆ เช่น จากบ้านปากจก ตำบลเกาะพระทอง และเกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื่องจากในอดีต ชาวมอแกลนจำนวนมากไม่มีสัญชาติไทย และไม่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากวิถีชีวิตที่โยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมให้ชาวมอแกลนบางกลุ่มย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่สามารถลงทะเบียนและพัฒนาให้ได้รับสัญชาติได้ เช่น บ้านคึกคัก ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และความปลอดภัย รวมถึงความรู้สึกอบอุ่นใจในการอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน
- การแต่งงานข้ามกลุ่ม ชาวมอแกลนบางส่วนได้แต่งงานกับคนต่างกลุ่ม เช่น ชาวมุสลิม ชาวพม่า ชาวอีสาน หรือคนท้องถิ่น ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรภายในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อมีพื้นที่เพียงพอ การตั้งบ้านเรือนจึงมักเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านคึกคักอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนมอแกลนบ้านคึกคัก มีลักษณะทางกายภาพเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ติดกับทะเลอันดามัน มีแนวชายหาดทอดตัวยาวขนานกับชายฝั่ง ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการทำประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชน และมีระบบนิเวศที่หลากหลาย ประกอบด้วยชายหาด ป่าชายเลน แนวปะการัง และแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ และยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งจำนวนมาก นอกจากนี้ในช่วงฤดูมรสุมพื้นที่บริเวณชุมชนอาจได้รับผลกระทบจากลมแรงและคลื่นสูง ขณะที่ในฤดูแล้ง สภาพอากาศโดยทั่วไปมีความเหมาะสมต่อการท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมทางทะเล
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 8 ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบางไทร อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
ลักษณะภูมิอากาศ
ตำบลคึกคักตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งจะมีภูมิอากาศแตกต่างจากภาคอื่นของประเทศไทย โดยมีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจากอิทธิพลของทิศทางลมและปริมาณน้ำฝน ทำให้สามารถแบ่งฤดูกาลออกเป็น 2 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ฝั่งตะวันออก ทำให้เป็นช่วงที่อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นและมีปริมาณน้ำฝนลดอย่างเห็นได้ชัด
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน โดยในช่วงนี้ชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้ จะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นลมที่พัดผ่านทะเลมาตลอดเป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง ทำให้มีฝนตกชุก
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านคึกคัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,682 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 868 คน ประชากรหญิง 814 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,206 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567) โดยประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวมอแกลน
มอแกลนการประกอบอาชีพของชาวมอแกลนบ้านคึกคักก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมง โดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่หาได้ง่าย เช่น ลอบ แห อวน และฉมวก แทนการใช้เครื่องมือทันสมัยซึ่งมีต้นทุนสูง เมื่อได้ผลผลิตจำนวนมากเกินความต้องการบริโภคในครัวเรือน ชาวบ้านมักจะแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน หากเหลือจึงนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพประมงในครั้งต่อไป สำหรับชายที่ไม่ได้ประกอบอาชีพประมงจะรับจ้างในงานทั่วไป เช่น ก่อสร้าง ดายหญ้า หรือกรีดยาง ขณะที่ผู้หญิงชาวมอแกลนส่วนใหญ่มีหน้าที่ดูแลครอบครัวและงานบ้านทั้งหมด
ภายหลังเกิดภัยพิบัติสึนามิ อาชีพของชาวมอแกลนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่ประกอบอาชีพประมงต้องหยุดชะงักเนื่องจากความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงในเหตุการณ์สึนามิ อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับการช่วยเหลือทางงบประมาณในการซ่อมแซมเรือก่าบาง รวมถึงความเชื่อมั่นในระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า บางครอบครัวจึงกลับมาประกอบอาชีพประมงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกอบอาชีพประมงยังนับว่าเหลืออยู่น้อยมาก โดยผู้ที่เคยทำประมงส่วนใหญ่เปลี่ยนไปประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและอาชีพอื่น ๆ มากขึ้น
ในอดีตชาวมอแกลนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีศาสนาเป็นหลัก เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่อพยพโยกย้ายอยู่ตลอดเวลา และพื้นที่ที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนเมือง ส่งผลให้อิทธิพลของศาสนาแผ่เข้าสู่ชุมชนได้ยาก อย่างไรก็ดี ชาวมอแกลนมีความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณต่าง ๆ ที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะวิญญาณในทะเลและป่าเขา ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านพิธีกรรมการไหว้สักการะวิญญาณดังกล่าว ความเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้ชาวมอแกลนมีจิตสำนึกในการรักษาป่าไม้และธรรมชาติที่สืบทอดต่อกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่น
ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวมอแกลนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากมีการย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งบนบกและกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดพังงา ชาวมอแกลนจึงมีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับคนในท้องถิ่นมากขึ้น ส่งผลให้หลายครอบครัวหันมานับถือศาสนาตามชุมชนท้องถิ่น เช่น ชาวมอแกลนที่อาศัยอยู่ในตำบลบางสักและบ้านทับตะวันนับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ชาวมอแกลนในพื้นที่เกาะนก อำเภอท้ายเหมือง บางครอบครัวนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนศาสนาคริสต์เพิ่งเริ่มแพร่หลายเข้ามาในกลุ่มชาวมอแกลนหลังจากเกิดภัยพิบัติสึนามิ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มีความเชื่อในศาสนาคริสต์ ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว ผู้นำศาสนาคริสต์จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจและเผยแพร่ศาสนา อย่างไรก็ตาม ชาวมอแกลนบ้านคึกคัก (บ้านทุ่งหว้า) ยังคงยึดมั่นในศาสนาพุทธเป็นหลัก แม้ในระยะแรกหลังภัยพิบัติสึนามิจะมีบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์บ้างก็ตาม
ด้านขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมของชาวมอแกลน เช่น พิธีเกิด พิธีแต่งงาน และพิธีศพ แม้ในปัจจุบันจะไม่ถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด เนื่องจากได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและระเบียบชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมทั้งอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมรอบด้านที่ผสมผสานเข้ามา
ในกรณีของชาวมอแกลนบ้านคึกคัก (บ้านทุ่งหว้า) ที่สามารถอ่าน เขียน และพูดภาษาไทยปักษ์ใต้ได้ ผู้ชายชาวมอแกลนจะบวชพระในช่วงเข้าพรรษาตามประเพณีของคนไทย และลูกหลานชาวมอแกลนบางส่วนก็เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจตามประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน อย่างไรก็ดี ประเพณีที่ยังคงหลงเหลือและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง คือ ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งจัดขึ้นโดยการรวมกลุ่มชาวมอแกลนจากพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกันจัดงาน ณ บริเวณท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ประเพณีนี้เป็นผลมาจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของชาวมอแกลนกับชุมชนท้องถิ่นตลอดมา
แม้ว่าขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมของชาวมอแกลนบางส่วนจะไม่สามารถสืบทอดได้ครบถ้วนตามแบบในอดีต แต่ความพยายามที่จะสืบสานประเพณีดังกล่าวให้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติและมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ประเพณี
- ประเพณีลอยเรือแพ เป็นประเพณี ที่ถือปฏิบัติกันแต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของทุกปีเป็น วันลอยเรือ โดยมีความเชื่อว่าการลอยเรือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้ทุกข์โศก โรคภัย สิ่งไม่ดี เคราะห์ร้ายต่าง ๆ ในชีวิตหลุดพ้นไป มีการตัดเล็บ ตัดผม เศษ เสื้อผ้า ใส่ลงเรือลอยไปในทะเล โดยเรือจะทำจากไม้ไผ่ ทำเป็นโครงหรือใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและลอยน้ำได้ จากนั้นใช้กระดาษที่มีสีสันต่าง ๆ ตกแต่งตัวเรือให้สวยงาม เรือมักมีขนาดยาว ประมาณ 4-5 เมตร มีทุ่นทำด้วยโฟมหรือไม้ไผ่ป้องกันไม่ให้เรือจม ซึ่งในประเพณีลอยเรือจะมีการประแอบพิธีสงฆ์ด้วย และในปัจจุบันในพื้นที่ยังคงมีชาวไทยและชาวมอแกลนสืบสานประเพณีนี้ โดยจัดขึ้นในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
- ประเพณีกินเจ หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า "กินผัก" ภาษาจีนเรียกว่า "เจี๊ยะฉ่าย" ถือเป็นประเพณีหนึ่งของชาวจีนที่ตกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนคึกคัก มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม นุ่งขาว ห่มขาว ไม่กินเนื้อสัตว์และของคาว จะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ในงานพิธีจะมีการอัญเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ มาเข้าทรงในร่างทรง ก่อนเริ่มพิธีหนึ่งวัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า ภาษาถิ่นเรียกว่า "อ้าม" และบ้านเรือน หน้าศาลเจ้าจะทำพิธียกเสาโกเต้ง เป็นเสาไม้สูงแขวนโคมไฟ 9 ดวง หมายถึง เทพเจ้านพเคราะห์ 9 องค์ ใช้น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิงตลอด 9 วัน
- ประเพณีวันสารทเดือนสิบ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ บุพการี ญาติมิตร ผีเปรตตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรที่ล่วงลับไปแล้ว มีความเชื่อกันว่าผู้ที่ล่วงลับจะมีโอกาสกลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านหรือที่วัดที่ฝังหรือเผาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีการจัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียน ของทำบุญเลี้ยงพระ ทั้งอาหารคาวหวานขนมต่าง ๆ เช่น ขนมเทียน ขนมต้ม ขนมท่อนใต้ ขนมดอกไม้ ขนมลา ขนมห่อ ฯลฯ ซึ่งขนมเหล่านี้ล้วนมีความหมายต่อการทำบุญวันสารททั้งสิ้น จะมีพิธีทางศาสนา คือ การสวดมนต์ไหว้พระ ฟังพระธรรมเทศนา ถวายสังฆทาน และนำอาหารใส่กระทง หลังกรวดน้ำบังสุกุลเสร็จชาวมอแกลนจะเข้ามาแย่งชิงอาหารที่ตั้งไว้ที่ร้านเปรต เรียกว่า "การชิงเปรต" อาคารคาวหวานที่ชิงได้ชาวมอแกลนจะนำไปตั้งเซ่นไหว้พ่อตา (ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว) ก่อนที่จะนำไปบริโภค
- ประเพณีหาบคอน จะกระทำในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ล้างบาปไปจากตัวหรือครัวเรือน โดยชาวมอแกลนจะนำของแห้งรวมใส่ไว้ในถุง นอกจากนั้นยังมีการตัดผม ตัดเล็บ ตัดเสื้อผ้า ใส่รวมไปด้วย แล้วนำมาผูกกับคอนและหาบไปไว้ที่ชายหาด เชื่อว่าได้นำทุกข์โศกโรคภัย เคราะห์ร้ายฝากทิ้งไปกับน้ำให้พ้นจากตัวและครอบครัว
- ประเพณีไหว้พ่อตา จะกระทำในช่วงเดือน 4 เป็นการบูชาพ่อตา (ตายาย) หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองปกปักรักษาเพื่อเป็นสิริมงคลให้นำพาซึ่งความสุข ความเจริญให้แก่ครอบครัว
ชาวมอแกลนบ้านคึกคักเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในเรื่องการถือครองสิทธิ์ในที่ดิน เนื่องจากที่ดินที่ชุมชนใช้สำหรับการอยู่อาศัยและทำมาหากินส่วนใหญ่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชุมชนและคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนโดยตรง
สถานการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุหลักจากลักษณะวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกลนที่เคยอาศัยแบบอพยพโยกย้ายและใช้ที่ดินในรูปแบบสัญญาทางธรรมชาติหรือข้อตกลงระหว่างชุมชนเท่านั้น โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนหรือดำเนินการทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ ทำให้เมื่อต้องเผชิญกับการพัฒนาของรัฐและการขยายตัวของพื้นที่เมืองที่ดินเหล่านี้จึงตกอยู่ในสถานะไม่มั่นคง และเสี่ยงต่อการถูกครอบครองหรือใช้ประโยชน์โดยผู้อื่น
ปัญหาความไม่มั่นคงทางสิทธิ์ในที่ดินนี้ ส่งผลให้ชาวมอแกลนขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อความขัดแย้งด้านทรัพยากรที่ดินระหว่างชุมชนกับภายนอก รวมถึงความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันท้องถิ่น ได้ดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินและสนับสนุนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้แก่ชุมชนชาวมอแกลนอย่างเป็นระบบ โดยมีการสำรวจและจัดทำทะเบียนที่ดินที่ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนมีหลักฐานทางกฎหมายในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมั่นคง
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายที่ดินและสิทธิชุมชน รวมถึงการพัฒนาระบบการจัดการที่ดินภายในชุมชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
เกศินี ทองทวีวิวัฒน์. (2549). สิทธิและผลประโยชน์ของชุมชนในสังคมไทย : กรณีศึกษากรรมสิทธิ์ที่ดินหลังสึนามิของชาวมอแกลนหมู่บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เทศบาลตำบลคึกคัก. (9 มิถุนายน 2565). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.khukkhak.go.th/
วรรณรุจ บุญแสง. (2561). ศูนย์วัฒนธรรมชาวเลบ้านทุ่งหว้า. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.google.com/maps/place/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (13 กุมภาพันธ์ 2568). มอแกลน. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/197