Advance search

บ้านเกาะไทรชุมชนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของมโนราห์โรงครู ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโบราณที่หาชมได้ยาก พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังคงดำรงไว้แบบดั้งเดิม

หมู่ที่ 4
บ้านเกาะไทร
ทุ่งไทรทอง
ลำทับ
กระบี่
อบต.ทุ่งไทรทอง โทร. 0 7564 3648
ฤชุอร เกษรมาลา
7 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 มิ.ย. 2025
บ้านเกาะไทร

"บ้านเกาะไทร" มาจากพื้นที่ในอดีตที่มีน้ำล้อมรอบคล้ายเกาะ และมีต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่เด่นกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกว่า "เกาะไทร" และใช้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน 


ชุมชนชนบท

บ้านเกาะไทรชุมชนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของมโนราห์โรงครู ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโบราณที่หาชมได้ยาก พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังคงดำรงไว้แบบดั้งเดิม

บ้านเกาะไทร
หมู่ที่ 4
ทุ่งไทรทอง
ลำทับ
กระบี่
81120
8.062100952316293
99.26456484238948
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งไทรทอง

บ้านเกาะไทร เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ โดยมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงต้นของการขยายตัวของชุมชนเกษตรกรรมในภาคใต้ในช่วงประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ชื่อของชุมชน "เกาะไทร" สันนิษฐานว่ามาจากลักษณะภูมิประเทศที่เคยเป็นที่ลุ่มน้ำ มีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่บริเวณกลางพื้นที่สูงคล้ายเกาะกลางน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านเกาะไทร"

ประชากรกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง โดยเข้ามาเพื่อหาพื้นที่ทำกิน ทำสวน ทำนา และทำไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นที่ราบสลับเนินเขา ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย เอื้อต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน

ในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐาน ชาวบ้านใช้ชีวิตเรียบง่าย และร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาชุมชน จนกระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านในเขตปกครองของตำบลทุ่งไทรทอง และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บ้านเกาะไทรเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวใต้ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การจัดพิธี มโนราห์โรงครู ที่ถือเป็นประเพณีสำคัญของชุมชน การทำบุญสารทเดือนสิบ การละเล่นพื้นบ้าน และการฟังเทศน์ในช่วงเทศกาล ส่งผลให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างคนในชุมชน ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกื้อกูล และเคารพผู้อาวุโส วิถีชีวิตในชุมชนสะท้อนถึงการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ และการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น

ชุมชนบ้านเกาะไทรตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นและลอนลาด โดยมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำเอื้อต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชสวนครัว

ในพื้นที่มีลำคลองและลำห้วยธรรมชาติหลายสายไหลผ่าน ช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรและระบบนิเวศในชุมชนได้เป็นอย่างดี รอบหมู่บ้านมีต้นไม้ใหญ่และพรรณไม้พื้นถิ่นที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ ทำให้บรรยากาศโดยรวมเงียบสงบ ร่มรื่น และเหมาะแก่การอยู่อาศัย

ผู้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และมีความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น ทั้งยังร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การจัดพิธีมโนราห์โรงครู ซึ่งมักใช้พื้นที่ร่มรื่นภายในหมู่บ้านเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม

อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อหมู่ที่ 5 บ้านบางบอน ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่
  • ทิศใต้ ติดต่อหมู่ที่ 6 บ้านไสใน ตำบลพรุดินนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อหมู่ที่ 3 บ้านทุ่งทับควาย ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อหมู่ที่ 1 บ้านพรุดินนา ตำบลพรุดินนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

สภาพภูมิอากาศ

ชุมชนบ้านเกาะไทร ตั้งอยู่ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีสภาพอากาศแบบเขตร้อนชื้น แบ่งเป็น 2 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูร้อน ที่อากาศค่อนข้างร้อนและแห้ง
  • ฤดูฝน ที่มีฝนตกชุก โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านเกาะไทร ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 931 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 476 คน ประชากรหญิง 455 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 358 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ชุมชนบ้านเกาะไทรเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยเฉพาะการปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้แก่ครัวเรือนในพื้นที่ ชาวบ้านมีความชำนาญในการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนปาล์มและยางพาราอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจชุมชนมีความมั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีประชาชนบางส่วนที่ประกอบอาชีพค้าขายภายในชุมชน เช่น การเปิดร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขายของชำ หรือการค้าขายสินค้าเกษตรในตลาดท้องถิ่น ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมและอำนวยความสะดวกแก่คนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ทำงานในอาชีพรับจ้างทั่วไป ทั้งในภาคการเกษตรและภาคบริการในพื้นที่ใกล้เคียง และบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับราชการและพนักงานหน่วยงานของรัฐ

ชุมชนบ้านเกาะไทรเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก รองลงมาคือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ประชากรในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและกลมเกลียว เนื่องจากมีความเข้าใจและเคารพในธรรมเนียมประเพณี รวมถึงวิถีปฏิบัติของแต่ละศาสนาอย่างลึกซึ้ง

ชุมชนบ้านเกาะไทรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ เช่น ประเพณีวันสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ประเพณีชักพระ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่สะท้อนความศรัทธาและความสามัคคีของชุมชน และประเพณีถือศีลกินเจ ซึ่งเป็นประเพณีที่สะท้อนถึงความเชื่อและการปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลสำคัญของชุมชน

ในทุกเทศกาลประเพณี ผู้คนในชุมชนให้ความสนใจและมีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพรียง เพราะประเพณีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

1.นางประวิง ชุมพงษ์ : มโนราห์บ้านเกาะไทร

นางประวิง ชุมพงษ์ หรือที่รู้จักในชื่อ "มโนราห์วิง" เกิดเมื่อปี 2484 ปัจจุบันอาศัยอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ นางประวิงเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งมโนราห์ใหญ่เพียงผู้เดียวในชุมชนบ้านเกาะไทรในปัจจุบัน

นางประวิงเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน ของ นายกลอม รักบุตร และนางฝ้าย รักบุตร โดยมีพี่น้องประกอบด้วย นายเหลียม รักบุตร, นางสาวฮิ่น รักบุตร, นางหนูกลิ่น รอดคุ้ม, นางประวิง ชุมพงษ์ และนางประคอง สิงหบำรุง ครอบครัวเดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนบ้านขอนพอ ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ก่อนที่จะย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนบ้านเกาะไทร เนื่องจากสามีของนางประวิงเป็นคนในชุมชนดังกล่าว

นางประวิงได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการประกอบพิธีกรรมมโนราห์โรงครูจากบิดา ร่วมกับพี่ชายคนโต โดยเริ่มหัดรำมโนราห์ตั้งแต่อายุ 15 ปี เนื่องจากทั้งสองมีความชื่นชอบและสนใจในการร่ายรำมโนราห์มาตั้งแต่เด็ก ผ่านการซึมซับและเรียนรู้จากบิดาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นผู้ที่ศึกษาขั้นตอนและพิธีกรรมมโนราห์โรงครูอย่างจริงจัง

สำหรับพี่น้องคนอื่น ๆ นั้น แม้จะสามารถร่ายรำได้บ้าง แต่ไม่ได้มีความสนใจหรือเรียนรู้พิธีกรรมมโนราห์โรงครูอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้องค์ความรู้และพิธีกรรมดังกล่าวถูกถ่ายทอดมายังลูกเพียงสองคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บางขั้นตอนหรือองค์ประกอบของพิธีกรรมอาจได้รับการลดทอนหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

มโนราห์โรงครูบ้านเกาะไทร พิธีกรรมแห่งศรัทธาและภูมิปัญญาถิ่นใต้

พิธีมโนราห์โรงครูเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเคารพบูชาครูผู้ถ่ายทอดศิลปะมโนราห์และเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยประกอบด้วยการรำและการขับร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสะท้อนความเชื่อ ความศรัทธา และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวใต้ การดำเนินพิธีจะมีการเตรียมงานอย่างพิถีพิถัน ทั้งการจัดสถานที่ การถวายเครื่องสักการะ และการแสดงมโนราห์ที่มีความศรัทธาอย่างลึกซึ้ง

พิธีมโนราห์โรงครูในชุมชนบ้านเกาะไทร เป็นผลจากความร่วมมือของสมาชิกชุมชนในการส่งเสริมและสืบสานประเพณีนี้ ทั้งผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งช่วยให้พิธีกรรมดังกล่าวยังคงความมีชีวิตชีวาและมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน

มโนราห์โรงครู เป็นพิธีกรรมสำคัญที่ชุมชนบ้านเกาะไทรยังคงรักษาและสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ "ครูโนราห์" ผู้เป็นต้นสายของศิลปะการแสดงมโนราห์ อีกทั้งยังเป็นการรวมพลังของคนในชุมชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

พิธีมโนราห์โรงครูเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเคารพบูชาครูผู้ถ่ายทอดศิลปะมโนราห์และเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยประกอบด้วยการรำและการขับร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสะท้อนความเชื่อ ความศรัทธา และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวใต้ การดำเนินพิธีจะมีการเตรียมงานอย่างพิถีพิถัน ทั้งการจัดสถานที่ การถวายเครื่องสักการะ และการแสดงมโนราห์ที่มีความศรัทธาต่อบรรพชน

รายละเอียดของพิธีกรรม

พิธีมโนราห์โรงครูของบ้านเกาะไทรจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา โดยมีขั้นตอนหลักดังนี้ 

  • ตั้งโรงครู ณ บริเวณศาลาหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน จัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ขันครู ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู และเครื่องไหว้ครูตามประเพณี
  • การรำถวายครู โดยโนราห์ในชุมชนจะร่ายรำในบทพิธีสำคัญ ได้แก่ รำอัญเชิญครู รำถวายครู และรำบทครู
  • การครอบครูและรับขันครู สำหรับผู้สืบทอดวิชาใหม่ หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับสายมโนราห์ ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
  • การขอขมาและแก้บน กรณีมีผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามของครูหรือมีคำบนบานศาลกล่าว

พิธีทั้งหมดจัดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เคร่งขรึม มีเสียงดนตรีมโนราห์อันเป็นเอกลักษณ์ประกอบตลอดพิธี และได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนทั้งผู้อาวุโส เยาวชน ตลอดจนผู้สนใจวัฒนธรรมจากพื้นที่ใกล้เคียง

พิธีมโนราห์โรงครูบ้านเกาะไทรไม่เพียงแต่เป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสามัคคี ความภาคภูมิใจในท้องถิ่น และการเรียนรู้ข้ามรุ่นระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่กับเยาวชน นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคต

ชาวบ้านเกาะไทรยังคงใช้ภาษาใต้ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นในการพูดคุยในชีวิตประจำวัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2557). มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ: พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.

จิรัชยา เจียวก๊ก และคณะ. (2558). ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นฐาน คนไทยควรศึกษา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ที่สุดโชว์. (ม.ป.ป.). โนราห์ Nohra. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.teesudshow.com/product/nohra/

ธนพร สังขรัตน์. (2564). การธำรงอยู่ของมโนราห์โรงครู: กรณีศึกษาหมู่บ้านเกาะไทร ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เธียรชัย อิศรเดช. (2552). นัยทางสังคมของพิธีกรรมโนราห์โรงครู กรณีศึกษาบ้านบ่อแดง. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศิลปวัฒนธรรม. (16 มีนาคม 2566). เจาะลึก “โนราโรงครู” พิธีกรรมหาชมยาก น้อมรำลึกบรรพชนของคนใต้. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งไทรทอง. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566–2570). สืบค้น 7 มิถุนายน 2568. จาก https://www.thungsaithong.go.th/

อบต.ทุ่งไทรทอง โทร. 0 7564 3648