Advance search

ย่านถนนพรหมราช กลิ่นอายเมืองเก่าที่มีชีวิต ด้วยอาคารสไตล์โคโลเนียลเรียงรายเคียงคู่ศาสนสถานสำคัญ สะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอุบลราชธานีอย่างลึกซึ้ง เติมสีสันด้วยวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ และกิจกรรมประเพณีแห่เทียนพรรษาอันเลื่องชื่อที่ชวนให้ถึงสัมผัสความงดงามของชุมชนท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ถนนพรหมราช
ในเมือง
เมืองอุบลราชธานี
อุบลราชธานี
ทน.อุบลราชธานี โทร. 0 4524 6061
ฤชุอร เกษรมาลา
7 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 มิ.ย. 2025
ถนนพรหมราช

ตั้งชื่อตามราชทินนาม "พระพรหมราชวงศา" (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 4 ต้นราชตระกูล "สุวรรณกูฏ" โดยในอดีตพระพรหมราชวงศา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เจ้าพระพรหม" เป็น 1 ใน 3 ขุนพลใหญ่ที่อพยพผู้คนจากเมืองหนองบัวลุ่มภูมายังพื้นที่ปัจจุบันของจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมตั้งเมืองใหม่ขึ้นเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถนนพรหมราชจึงตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านในฐานะผู้นำผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี


ย่านถนนพรหมราช กลิ่นอายเมืองเก่าที่มีชีวิต ด้วยอาคารสไตล์โคโลเนียลเรียงรายเคียงคู่ศาสนสถานสำคัญ สะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอุบลราชธานีอย่างลึกซึ้ง เติมสีสันด้วยวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ และกิจกรรมประเพณีแห่เทียนพรรษาอันเลื่องชื่อที่ชวนให้ถึงสัมผัสความงดงามของชุมชนท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ถนนพรหมราช
ในเมือง
เมืองอุบลราชธานี
อุบลราชธานี
34000
15.225763552467395
104.86383234274773
เทศบาลนครอุบลราชธานี

ถนนพรหมราชเป็นย่านที่สะท้อนถึงการพัฒนาของเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ย่านนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่มีความเก่าแก่และมีบทบาททางประวัติศาสตร์ด้านสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมของเมืองอุบลราชธานี โดยถนนพรหมราชมีแนวทางวิ่งจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ขนานไปกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการติดต่อและสัญจรของชุมชนตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานแรกเริ่ม โดยถนนพรหมราชนั้นตั้งชื่อตามราชทินนาม "พระพรหมราชวงศา" หรือ "เจ้าพระพรหม" (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 4 ผู้มีบทบาทสำคัญในการอพยพและตั้งถิ่นฐานผู้คนจากเมืองหนองบัวลุ่มภูมายังบริเวณนี้ และได้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23

ในอดีตย่านถนนพรหมราชเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตของชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำมูลเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรและขนส่ง โดยในยุคนั้นการเดินทางด้วยเรือเป็นวิธีหลักก่อนที่จะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลในภายหลัง การเชื่อมต่อทางน้ำนี้ส่งผลให้ถนนพรหมราชและถนนสายอื่น ๆ ในย่านพัฒนาขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำมูล 

ภายหลังศาสนาและวัฒนธรรมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในย่านนี้ โดยถนนพรหมราชเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ เช่น วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดศรีอุบลรัตนาราม และอาสนวิหารแม่พระนิรมล ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางศาสนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชน ทั้งยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนนอุปราชและสะพานข้ามแม่น้ำมูล ช่วยเสริมศักยภาพในการสัญจรทางบกและแบ่งย่านถนนพรหมราชออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ซึ่งแต่ละฝั่งมีลักษณะและบทบาทที่แตกต่างกันตามการใช้ประโยชน์ที่ดินและการเชื่อมต่อกับส่วนอื่นของเมือง

ย่านถนนพรหมราชจึงถือเป็นพื้นที่ที่สะท้อนประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเมืองอุบลราชธานีอย่างชัดเจน และยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน

ถนนพรหมราช เป็นถนนสายสำคัญที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของจังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะเป็นถนนสายหลักที่มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการคมนาคมของจังหวัด ตลอดแนวถนนประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ ตึกเก่าสไตล์โคโลเนียล อาคารที่พักอาศัย สถานที่ราชการ รวมถึงศาสนสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อาทิ วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี อีกทั้งถนนพรหมราชยังตั้งอยู่ใกล้สวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

การใช้พื้นที่ของถนนพรหมราชมีลักษณะเป็นย่านพาณิชยกรรมผสมผสานกับย่านที่พักอาศัย โดยมีร้านค้า ร้านอาหารพื้นเมือง ธุรกิจบริการ และสถานประกอบการขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ตลอดแนวถนน การค้าขายในย่านนี้มีความคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลประเพณีต่าง ๆ นอกจากนี้ ย่านถนนพรหมราชยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพภูมิอากาศ

ย่านถนนพรหมราชอยู่ภายใต้สภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ประกอบด้วย 3 ฤดูกาล ได้แก่

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยมักเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ซึ่งระยะเวลาการทิ้งช่วงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละปี
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงปลายเดือนมกราคม เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศ จึงได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภูมิภาคอื่น ทำให้อุณหภูมิลดลงเร็วกว่าเขตอื่น
  • ฤดูร้อน เริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม แม้บางปีอากาศจะยังคงเย็นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มร้อนอบอ้าวตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และอาจเริ่มมีฝนตกในช่วงปลายเดือนเมษายน

ประชากรในย่านถนนพรหมราช จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย โดยกลุ่มประชากรหลัก ได้แก่ ชาวไทอีสานและชาวลาวอุบล ซึ่งเป็นกลุ่มคนพื้นถิ่นที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่ กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รวมถึงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและกิจกรรมทางสังคมในชุมชน

นอกจากนั้น ย่านถนนพรหมราชยังมีชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความสำคัญ ได้แก่ ชาวญวน ชาวจีน และชาวซิกข์ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยชาวญวนเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อหลบหนีความขัดแย้งในประเทศต้นทาง ชาวจีนเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเด่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า ส่วนชาวซิกข์เป็นกลุ่มชนที่เข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและได้สร้างศาสนสถานของตนเองในพื้นที่

ประชากรในย่านถนนพรหมราชนี้โดยรวมมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสังคม ทำให้ย่านถนนพรหมราชเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งในด้านภาษา ประเพณี และวิถีชีวิต ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนและความหลากหลายทางสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจในเมืองอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง

จีน, ไทยวน

ถนนพรหมราช ถือเป็นหนึ่งในย่านสำคัญของเมืองเก่าในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ภายในพื้นที่นี้ประชาชนประกอบอาชีพหลากหลายประเภท สะท้อนถึงการปรับตัวและความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่

อาชีพที่พบมากที่สุดในย่านถนนพรหมราช คือ ภาคการค้าและบริการ ซึ่งประกอบด้วยร้านค้าขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น ร้านอาหารพื้นเมือง ร้านของชำ ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงร้านจำหน่ายเครื่องเขียน เสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านกาแฟ โรงแรมขนาดเล็ก และร้านเช่าจักรยาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน นับเป็นภาพสะท้อนของความมีชีวิตชีวาและความคล่องตัวทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ในย่านนี้

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมพื้นบ้านที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เช่น การทำเทียนพรรษา การแกะสลักเทียน รวมถึงงานทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย ที่เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา อาชีพเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความผูกพันระหว่างชุมชนกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชากรบางกลุ่มที่ประกอบอาชีพรับราชการในหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับถนนพรหมราช 

ย่านพรหมราชเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิตของชาวย่านพรหมราชสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความเชื่อ ประเพณี และกิจกรรมทางสังคมที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรกรรม ประมง และค้าขายในตลาดท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนโดยรวม การดำเนินชีวิตในชุมชนนี้มีความผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับวิถีชุมชนที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก โดยยึดมั่นในประเพณีท้องถิ่น เช่น การร่วมกันจัดงานบุญประจำปี งานพิธีกรรมทางศาสนา และกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความสามัคคีและความมั่นคงทางสังคม

วัดและศาสนสถานในย่านพรหมราชมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพื้นที่พบปะของชาวบ้านในโอกาสต่าง ๆ วิถีชีวิตของประชาชนจึงเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและการปรับตัวเข้ากับกระแสสังคมยุคใหม่ แม้จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ชาวย่านพรหมราชยังคงรักษาอัตลักษณ์และความผูกพันในชุมชนไว้อย่างมั่นคง

ในช่วงการตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลราชธานี ปรากฏความเชื่อหลัก 2 ลักษณะ คือ การนับถือศาสนาพุทธและการนับถือผี ซึ่งสะท้อนผ่านศาสนสถานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชา นอกจากนี้ ยังมีการสืบสานประเพณีและพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อในผีและสิ่งลี้ลับต่าง ๆ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2424 เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองอุบลราชธานี พร้อมการตั้งศาสนสถานที่บริเวณบุ่งกาแซว ทำให้เกิดความหลากหลายทางศาสนาในย่านพรหมราชมากยิ่งขึ้น

ย่านพรหมราชเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญหลายแห่งของทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ได้แก่ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งมีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และวัดศรีอุบลรัตนาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ทั้งสองวัดเป็นวัดธรรมยุติกนิกายที่มีบทบาทสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมของเมืองอุบลราชธานี นอกจากนี้ อาสนวิหารแม่พระนิรมล ซึ่งเป็นที่ตั้งของมิสซังอุบลราชธานีและเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เป็นศาสนสถานสำคัญของศาสนาคริสต์ในพื้นที่นี้

การตั้งอยู่ใกล้กันของศาสนสถานทั้งสองศาสนา ส่งผลให้ย่านพรหมราชเป็นพื้นที่โดดเด่นทางด้านความเชื่อ มีการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างศาสนสถานและชุมชนอย่างใกล้ชิด ประชาชนและชุมชนในเมืองอุบลราชธานีร่วมกันอุปถัมภ์ศาสนสถานเหล่านี้ โดยเฉพาะในยามเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ศาสนสถานมักทำหน้าที่เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวและศูนย์กลางการช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกสู่ผู้ประสบภัย

แม้ว่ากายภาพของศาสนสถานจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ความศักดิ์สิทธิ์และบทบาททางสังคมยังคงอยู่โดยมีการสืบสานกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อต่าง ๆ ในพื้นที่เกิดความประนีประนอมและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่งผลให้ศาสนาในย่านพรหมราชยังคงมีความสำคัญและคุณค่าต่อชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับศาสนาพุทธ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าย่านพรหมราชเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่หลายแห่ง เช่น วัดเหนือท่า ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2322-2325 วัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างในปี พ.ศ. 2396 ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในภาคอีสาน และวัดศรีทอง (ปัจจุบันชื่อวัดศรีอุบลรัตนาราม) ที่สร้างในปี พ.ศ. 2398 วัดทั้งสองเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมของเมืองอุบลราชธานี มีการจัดกิจกรรมประเพณีสงฆ์น้ำพระแก้วในวันสงกรานต์ และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์การศึกษาให้กับชาวเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลให้วัดเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการศึกษาอย่างสำคัญ

ความเชื่อเรื่องผีในย่านพรหมราชยังคงมีความชัดเจน ผ่านบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่กล่าวถึงความเชื่อเรื่องผีดุบริเวณบุ่งกาแซวก่อนการตั้งถิ่นฐานของศาสนาคริสต์ ความเชื่อนี้ยังสะท้อนผ่านพิธีกรรมท้องถิ่น เช่น บุญข้าวประดับดิน ซึ่งเป็นการบูชาผีและภูตผีวิญญาณตามความเชื่อพื้นบ้านที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2424 โดยมีการตั้งอาสนวิหารแม่พระนิรมลที่บุ่งกาแซว ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาที่สำคัญในพื้นที่และขยายฐานชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยชุมชนคริสต์ประกอบด้วยชาวเมืองอุบลและชาวญวนที่อพยพมาจากเวียดนามเพื่อหลบหนีการข่มเหงทางศาสนา อาสนวิหารแม่พระนิรมลจึงเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของชาวคริสต์ โดยเฉพาะในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในเมืองอุบลราชธานี แม้ว่าสถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ความสำคัญของศาสนสถานยังคงอยู่ผ่านกิจกรรมทางศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนคริสต์กับสังคมโดยรวม

ย่านพรหมราชเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน โดยมีความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาพุทธและความเชื่อเรื่องผีที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับการผสมผสานกับศาสนาคริสต์จนเกิดเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ย่านถนนพรหมราช รากฐานประวัติศาสตร์ สู่อัตลักษณ์เมืองอุบล

ย่านถนนพรหมราชถือเป็นศูนย์กลางสำคัญที่อุดมด้วยทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของชุมชนเมืองอุบลราชธานี ด้วยพื้นที่นี้ประกอบศาสนสถานและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ดังนี้

1.วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดสุปัฏนารามวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำมูลทางด้านตะวันตกของเมืองอุบลราชธานี มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะวัดที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 และเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสายธรรมยุติกนิกายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในวัดยังมีอาคารศาสนสถานที่ได้รับการออกแบบอย่างงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตก โดยเฉพาะพระอุโบสถและหอไตรกลางน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของวัด

2.วัดศรีอุบลรัตนาราม

วัดศรีอุบลรัตนาราม หรือ "วัดกลาง" เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในย่านถนนพรหมราช ตั้งอยู่ใกล้กับสวนทุ่งศรีเมือง เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อวัดในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัตนากร อาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในวัดมีความวิจิตรโดยเฉพาะพระอุโบสถที่มีลวดลายปูนปั้นและจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรงดงาม สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในพื้นที่

3.อาสนวิหารแม่พระนิรมล

อาสนวิหารแม่พระนิรมลเป็นศาสนสถานสำคัญของคริสต์ศาสนาในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บริเวณต้นถนนพรหมราชฝั่งตะวันตก โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงที่ชาวญวนคาทอลิกอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้ ตัวอาสนวิหารได้รับการออกแบบตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก มีลักษณะเรียบง่าย แต่สง่างาม เป็นจุดศูนย์กลางทางจิตวิญญาณและกิจกรรมของชุมชนชาวคริสต์ในเขตเมืองเก่า และยังเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงถึงความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมในย่านถนนพรหมราช

4.ตึกเก่าสไตล์โคโลเนียล

ตึกเก่าสไตล์โคโลเนียลที่กระจายตัวอยู่ตลอดแนวย่านถนนพรหมราชถือเป็นทุนทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง อาคารเหล่านี้มักสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 มีลักษณะเด่นคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปกับท้องถิ่น เช่น หน้าจั่วโค้ง เสาโรมัน ซุ้มประตูโค้ง และลูกกรงเหล็กดัด เป็นหลักฐานทางกายภาพที่สะท้อนถึงยุคสมัยแห่งการเปิดรับอิทธิพลตะวันตก และการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยตึกเหล่านี้เคยใช้เป็นร้านค้า ที่พักอาศัย และที่ทำการของพ่อค้าชาวจีน เวียดนาม และชาวพื้นถิ่น

ย่านถนนพรหมราชไม่เพียงแต่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองอุบลราชธานีเท่านั้น หากยังเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ในด้านศาสนา วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาเมืองในเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ย่านถนนพรหมราช จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการคมนาคมมาอย่างยาวนาน ถนนสายนี้ไม่เพียงเป็นเส้นทางหลักในเขตเมืองเก่าเท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชนเมืองอุบลอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลแห่เทียนพรรษา ซึ่งนับเป็นงานประเพณีประจำปีอันยิ่งใหญ่ที่ย่านถนนพรหมราชมีบทบาทสำคัญในฐานะเส้นทางหลักของขบวนแห่และกิจกรรมสำคัญของงาน

ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวจังหวัดอุบลราชธานี มีจุดมุ่งหมายเพื่อถวายเทียนพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ตามวัดต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝน ขบวนเทียนพรรษาแต่ละต้นได้รับการแกะสลักอย่างวิจิตรและงดงาม แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมถึงความสามารถทางศิลปหัตถกรรมของช่างฝีมือท้องถิ่น ขบวนแห่เหล่านี้จะเคลื่อนผ่านย่านถนนพรหมราช ซึ่งกลายเป็นเวทีสำคัญของการแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความสามัคคีของชุมชน

นอกจากความสำคัญในด้านประเพณีแล้ว ย่านถนนพรหมราชยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานและสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรม อาทิ วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และอาสนวิหารแม่พระนิรมล วัดศรีอุบลรัตนารามมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ผสมผสานความงามแบบดั้งเดิมกับความทันสมัย วัดทุ่งศรีเมืองมีชื่อเสียงจากหอไตรกลางน้ำอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่เลื่องลือในด้านความงามทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ส่วนอาสนวิหารแม่พระนิรมล โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั้นเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชนชาวคริสต์เชื้อสายเวียดนามที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมื่อกว่าร้อยปีก่อน

ในช่วงเทศกาลแห่เทียนพรรษา ถนนพรหมราชจึงไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเส้นทางของขบวนเทียน แต่ยังเป็นเวทีที่หลอมรวมมิติทางศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศต่างหลั่งไหลเข้ามาร่วมชื่นชมความงดงามของต้นเทียน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนฟ้อนรำ และซึมซับบรรยากาศของความศรัทธาและความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น

"ถนนแห่งศรัทธาและแสงเทียน" : ย่านถนนพรหมราชกับบทบาทสำคัญในประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี

ถนนพรหมราชถือเป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จังหวัดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอันเลื่องชื่อ โดยถนนพรหมราชเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลักในขบวนแห่เทียนและพื้นที่กิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญ โดยตลอดแนวถนนจะประดับตกแต่งอย่างงดงามด้วยธง ต้นไม้ประดิษฐ์ และองค์ประกอบศิลป์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานจากทั้งในและต่างประเทศ

ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน แสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและความสามารถทางศิลปหัตถกรรมของคนในท้องถิ่น โดยในช่วงวันเข้าพรรษาของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมหล่อเทียนพรรษา การแกะสลักเทียนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงขบวนแห่เทียนอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งมักเริ่มต้นหรือผ่านถนนพรหมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศาสนสถานสำคัญและอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม เช่น วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

ถนนพรหมราชจึงทำหน้าที่ทั้งในฐานะ "เวทีทางกายภาพ" ที่รองรับขบวนแห่ และ "พื้นที่เชิงสัญลักษณ์" ที่เชื่อมโยงผู้คนกับความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ย่านนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้ร่วมกันในการจัดเตรียมขบวนเทียน พักค้าง และประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีและพลังของชุมชนในการธำรงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ได้อย่างมั่นคง

ถนนพรหมราชสายนี้ไม่เพียงแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมือง หากยังเป็นเส้นเลือดสำคัญแห่งชีวิตทางจิตวิญญาณจากบรรพชน ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประเพณีแห่เทียนพรรษากลายเป็นเอกลักษณ์ระดับประเทศที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ

กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). วัดสุปัฏนารามวรวิหาร. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.finearts.go.th/

กระทรวงวัฒนธรรม, ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม. (4 พฤษภาคม 2555). ประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568. จาก http://www.m-culture.in.th/album/view/133812/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). วัดศรีอุบลรัตนาราม. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/

จังหวัดอุบลราชธานี. (ม.ป.ป.). ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัด. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://ubonratchathani.go.th/

ปลื้มปิติ จุลโคตร. (2565). อิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ปรากฏในเมืองอุบลราชธานี พ.ศ. 2430-2475. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ย่านเก่าเล่าอุบล. (11 กรกฎาคม 2567). ภาพ ถนนพรหมราช- ราชบุตร มุมเดียวกัน ถ่ายเมื่อ ปี 2470. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

ย่านเมืองเก่า อุบลราชธานี Ubon Old Town. (2567). [ภาพประกอบ]. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/ubonoldtown?locale=hi_IN

ลลิดา บุญมี. (2563). คุณค่าทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์: กรณีศึกษา ย่านถนนพรหมราช จังหวัดอุบลราชธานี. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สังฆมณฑลอุบลราชธานี. (ม.ป.ป.). อาสนวิหารแม่พระนิรมล (อุบลราชธานี). สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก http://www.ubondiocese.org/churchUbon/UbonCathedral/Cathe.html

สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน. (ม.ป.ป.). วัดกลาง. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple/pdf/fTP0026.pdf

สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน. (12 กุมภาพันธ์ 2567). อาญาสี่ปกครองเมืองอุบล. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จากhttps://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/

True ID. (10 กรกฎาคม 2567). ประวัติประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี วันเข้าพรรษา ประเพณีเก่าแก่กว่าร้อยปี. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://travel.trueid.net/detail/

Ubon Ratchathani Moving Forward. (2558). [ภาพประกอบ]. สืบค้น 7 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/Ubonpage/

ทน.อุบลราชธานี โทร. 0 4524 6061