
บ้านปูเต้อ หมู่ 4 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คือชุมชนปกาเกอะญอที่โดดเด่นด้วยวิถีชีวิตผูกพันกับช้างและธรรมชาติ หมู่บ้านช้างที่อยู่ใกล้เมืองแม่สอด และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมวันช้างไทยของทุกปี
บ้านปูเต้อ หมู่ 4 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้นำชื่อของ พือพาเต้อ หรือผู้ก่อตั้งชุมชนที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่ในบริเวณบ้านปูเต้อปัจจุบัน มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เมื่อเวลาผันเปลี่ยน มีการเรียกชื่อหมู่บ้านจาก "บ้านพาเต้อ" เพี้ยนมาเป็น "บ้านปูเต้อ" ซึ่งได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านปูเต้อ หมู่ 4 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คือชุมชนปกาเกอะญอที่โดดเด่นด้วยวิถีชีวิตผูกพันกับช้างและธรรมชาติ หมู่บ้านช้างที่อยู่ใกล้เมืองแม่สอด และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมวันช้างไทยของทุกปี
บ้านปูเต้อ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีชื่อปกาเกอะญอว่า "แบวกลา" ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของปกาเกอะญอเชื้อสายคาเรนนี ก่อตั้งประมาณ 200 ปี หรือ ประมาณห้าชั่วอายุคนช้างมีความสำคัญหมู่บ้านปูเต้อ โดยคนในชุมชนได้อธิบายว่า "หมู่บ้านปูเต้อเป็นหมู่บ้านของคนเลี้ยงช้าง" โดยมีพือพาเต้อ หรือ ที่มีการเรียกในปัจจุบันว่า พือปูเต้อเป็นผู้เข้ามาบุกเบิกก่อตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พือปูเต้อ เป็นนักรบชาวปกาเกอะญอมีรูปร่างสูงมีรอยสักบริเวณลำตัวแขนขาพือปูเต้อได้กลับ ไปยังภูมิลำเนาเดิมพื้นที่ไม่เหมาะแก่การทำ ไร่นาจึงได้อพยพเพื่อหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จนมาตั้งบ้านอยู่ในบ้านปูเต้อปัจจุบัน
ประมาณ พ.ศ. 2460 ก่อตั้งชุมชน โดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญในชุมชนได้ ดังนี้ พ.ศ. 2489 ก่อตั้งโรงเรียนปูเต้อ ทำให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านปูเต้อได้รักการศึกษามากขึ้น และไม่ต้องไปเรียนหนังสือไกล ๆ อย่างเช่นในตัวเมืองแม่สอด
พ.ศ. 2509 ข้าวโพดเริ่มเข้ามา อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือการทำไร่ ทำนา ปลูกเข้า แต่เมื่อข้าวโพดเริ่มเข้ามาจึงทำให้กลายเป็นอาชีพหลักแทนการปลูกข้าว ทำให้ข้าวโพดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ส่งออก ส่วนข้าวก็ปลูกเพื่อบริโภคกันภายในหมู่บ้านปูเต้อ
พ.ศ. 2521 ถนนเข้าหมู่บ้าน จากหมู่บ้านห้วยผักหละเข้ามายังหมู่บ้านปูเต้อ ซึ่งมีการสร้างถนนแบบราดยางและเทคอนกรีต ทำให้ชาวบ้านมีเส้นทางการสัญจรและการคมนาคมที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งนี้เมื่อถนนถูกสร้างให้มีความสะดวกขึ้น ทำให้เกิดการค้าขายระหว่างกันมากขึ้นเนื่องจากการเข้าถึงชุมชนเข้าได้ง่ายและอำนวยความสะดวกต่อการขนส่งสิ้นค้าต่าง ๆ อีกด้วย
พ.ศ. 2524 ก่อตั้งวัดปูเต้อ โดยการบริจาคที่ดินของชาวบ้านปูเต้อ เพื่อสร้างเป็นวัดที่เป็นศูนย์ใจกลางของคนปูเต้อ และชาวบ้านนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศพม่าเข้ามาจำพรรษาในวัดปูเต้อ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์และพระพุทธรูปที่โดดเด่น และมีเจดีย์พระธาตุอินแขวนจำลอง ซึ่งวัดและประติมากรรมทั้งนี้ได้รับการสร้างที่เป็นอิทธิพลของประเทศพม่า
พ.ศ. 2526 ก่อตั้งสถานีอนามัย เมื่อมีสถานีอนามัยเข้ามาทำให้การไปรักษากับหมอตำแยลดน้อยลงอย่างมากจนเหลือแค่เพียงการจับเส้นและนวดคลายกล้ามเนื้อเพราะการที่ไปรักษากับอนามัยมีความสะอาดมากกว่าและปลอดภัยมากกว่าจึงทำให้การรักษาโรคต่าง ๆ กับหมอตำแยลดลง และไปรักษาที่อนามัยและโรงพยาบาลแทน
พ.ศ. 2535 ยุติการสัมปทานไม้ในพื้นที่ปาระหว่างรอยชุมชนที่คิดกับอำเภอพบพระ และมีการประกาศ เป็นเขตสวนป่าพบพระ
พ.ศ. 2537 ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านปูเต้อ ทำให้คนในชุมชนมีความสะดวกสบายขึ้นโดยเฉพาะในช่วงตอนกลางคืนที่ใช้ไฟที่ให้ความสว่างในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นโทรทัศน์ ตู้เย็น วิทยุ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อไฟฟ้าเข้าถึงชุมชนทำให้ความทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกตามมามากมาย
พ.ศ. 2547 ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ Bwe K' Lar School เมื่อมีการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ Bwer Lar School ทำให้เด็ก ๆ ที่ไม่มีบัตรประชาชนและเด็ก ๆ ที่มาจากฝั่งประเทศพม่าสามารถที่จะเรียนหนังสือได้เพราะ ที่นี้มีการเรียนการสอนทั้ง 2 ระบบ นั้นก็คือหลักสูตรการศึกษาตากระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตร กศน. หรือ การศึกษานอกโรงเรียน
พ.ศ. 2548 สร้างโบสถ์คริสต์ เมื่อมีการสร้างโบสถ์ขึ้นจริงทำให้คนที่นับถือศาสนาคริสต์มีสถานที่ที่เป็นที่ยืดเหนี่ยวจิตใจและสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามหลักศาสนาจากตอนแรกที่ไม่มีจึงจำเป็นที่จะต้องไปประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่บ้านของคนคริสต์
พ.ศ. 2549 เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ การเกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหมู่บ้านปูเต้อส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับคนในหมู่บ้าน เช่น อาคารบ้านเรือนเสียหายหนักถึง 2 หลัง และส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อพื้นที่ทางการเกษตรเกือบทั้งหมด
พ.ศ. 2553 จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายคนรักช้างปูเต้อ ยะพอ โดยมีผู้ก่อตั้งคือ นายวิรัตน์ ตราดรรชนี พ.ศ. 2553 จัดงานวันข้างไทยขึ้นครั้งแรก ณ วัดปูเต้อ
พ.ศ. 2556 จัดตั้งป่าชุมชน ประมาณ 206 ไร่
พ.ศ. 2560 จัดตั้งปางช้าง Retro ในหมู่บ้าน พ.ศ. 2560 เยาวชนบวชป่าชุมชนครั้งแรก ณ ป่าชุมชนบ้านปูเต้อ
บ้านปูเต้อ หมู่ 4 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ห่างจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่กุเหนือ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่กุ
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยไม้แป้น ตำบลมหาวัน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโกช่วย หมู่ที่ 10 ตำบลแม่กุ
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยผักหละ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่กุ
บ้านปูเต้อ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 4 บ้านปูเต้อ ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,709 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 849 คน ประชากรหญิง 860 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 445 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนเมษายน 2568)
ปกาเกอะญอศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงช้างตามภูมิปัญญาปกาเกอะญอบ้านปูเต้อ แนวคิดศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงช้างของชาวบ้านปูเต้อ มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างคน ช้าง และธรรมชาติ โดยยึดหลักภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่มองช้างเสมือนสมาชิกในครอบครัว เช่น คำกล่าวที่ว่า "มีนายกให้ลูกสาว มีช้างยกให้ลูกชาย" หรือ "มีช้าง ย่อมมีป่า" ศูนย์นี้ไม่ใช่เพื่อการแสดงหรือขี่ช้าง แต่เพื่อสร้างความเข้าใจความผูกพันของชุมชนกับช้าง ผ่านกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เช่น การบวชป่าและวันช้างไทย โดยจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จุดมุ่งหมายเพื่อให้คนภายนอกเรียนรู้วิถีชุมชน ขณะเดียวกันเยาวชนในชุมชนก็ได้สืบทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างอย่างยั่งยืน
กลุ่มเยาวชน "แบวกลาโพแอ้ลือล้า" ทำหน้าที่ช่วยงานต่าง ๆ ภายในชุมชน ทั้งงานด้านการปกครอง พัฒนา และศาสนา รวมถึงจัดกิจกรรมร่วมกับวัด เช่น การขายดอกไม้ในงานบุญและแบ่งรายได้เพื่อบำรุงศาสนา กลุ่มนี้มีการเก็บเงินสมาชิกปีละ 100 บาท สำหรับกิจกรรมทำบุญและเป็นเจ้าภาพกองกฐิน วัตถุประสงค์หลักคือ การพัฒนาหมู่บ้าน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสืบสานวัฒนธรรมปกาเกอะญอ กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเก็บขยะ ปลูกต้นไม้ ทำแนวกันไฟ รวมถึงการเล่นดนตรีพื้นบ้าน ทอผ้า จักสาน และการใช้ภาษาปกาเกอะญอในการสื่อสาร
กลุ่มแม่บ้าน เน้นการสร้างรายได้เสริมจากการทอผ้าด้วยมือ และทำน้ำพริกขาย ทั้งในและนอกชุมชน เช่น เสื้อเชโปร่ที่ทอเอง ใช้เวลาทอ 2 วัน ต้นทุน 350 บาท ขายตัวละ 500 บาท และน้ำพริกขายกระป๋องละ 20 บาท กลุ่มแม่บ้านมีเป้าหมายเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพิ่มรายได้ และเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชน โดยมีการรวมตัวกันทำอาชีพ แบ่งรายได้เข้ากองกลาง และผลักดันสินค้าชุมชนออกสู่ตลาดภายนอก
กิจกรรมและพิธีกรรมในการเลี้ยงช้างของชาวบ้านปูเต้อ
1.กิจวัตรประจำวัน : ชาวบ้านปูเต้อเลี้ยงช้างแบบล่ามโซ่ วันละสองช่วง คือช่วงเช้า (07.00-08.00 น.) และเย็น (17.00 น. เป็นต้นไป) โดยใช้โซ่ยาว 15-20 เมตร มัดขาข้างเดียว ปล่อยให้ช้างหากินตามธรรมชาติ หากมีการใช้งานลากไม้ จะใช้งาน 3 วัน พัก 1 วัน ส่วนในแต่ละฤดูกาล ช้างจะถูกพาไปเลี้ยงในพื้นที่ต่างกัน เช่น ป่าห้วยระพิ้ง (หน้าฝน) สวนป่าพบพระ (หน้าหนาว) ใกล้แม่น้ำเมย ถ้ำเมย หรือหมู่บ้านยะพอ (หน้าร้อน) เพื่อให้มีน้ำและอาหารเพียงพอ ในปางช้าง ช่วงเช้าจะพาไปอาบน้ำ ปล่อยให้กินอาหาร ช่วงกลางวันถ้าอากาศร้อนจะอาบน้ำอีกครั้ง และใช้งานช้างตามความเหมาะสม ก่อนจะล่ามไว้หรือปล่อยใกล้ปางเมื่อเย็น
2.พิธีกรรมประจำปี : จะมีพิธี "ขะแก" ทุกวันพระหรือเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้ช้าง โดยใช้น้ำส้มป่อยพรมตัวช้าง พร้อมของไหว้ เช่น ข้าว เกลือ พริก บุหรี่ และเมื่อจะนำช้างไปทำงานนอกหมู่บ้าน เจ้าของต้องทำพิธีบนบานศาลพือพะโด้ เพื่อขอให้คุ้มครองคนและช้างให้ปลอดภัย โดยการแก้บนใช้หมู 1 ตัว และเหล้า 10 ขวด
ประเพณี พิธีกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในหนึ่งรอบปี
พิธีกวนข้าวทิพย์ (หย่าฮุ) พิธีกรรมกวนข้าวทิพย์ เป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้กับตัวเราเอง ในรอบปีจะมีการปฏิบัติพิธีกรรมนี้ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นการต่อชะตาชีวิตให้กับตัวเอง ให้พ้นจากภัยอันตรายหรือโรคร้ายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตัวเรา การทำพิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมที่พึงปฏิบัติเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ความโชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิด ออกจากชีวิต เมื่อได้ทำพิธีกรรมนี้แล้วเชื่อว่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายก็จะหมดไป โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่มาหา จะมีแต่การนำพาสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต เพื่อเป็นการดี ทุกคนจะต้องประกอบพิธีกรรมนี้ปีละครั้งของทุกคนและทุกครอบครัว
วันช้างไทย วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีตามปฏิทิน ได้เห็นถึงความสำคัญต่อคนทุกคนที่ไม่เคยเห็นได้มาสัมผัสกับช้าง และชมประเพณีพิธีกรรมที่จัดแสดงขึ้นตามวิถีชีวิตของปกาเกอะญอในวันช้างไทย
พิธีทำบุญเจดีย์ทราย (โค๊ะโพลู่) ช่วงเดือน เมษายน เชื่อว่าเป็นการขอบคุณทรัพยากรธรรมชาติ ที่ให้ที่ทำกิน ให้ทรัพยากรอยู่กับชุมชนต่อไป
พิธีแห่ลูกแก้ว ช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน (เทกุ-ตาลา) เป็นการแห่ลูกแก้ว ในครอบครัวที่มีลูกชายจะต้องร่วมในประเพณีนี้เพราะเชื่อว่าอานิสงส์จากการบวชจะทำให้บิดามารดาได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้นการบวชหรืองานแห่ลูกแก้วเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีอานิสงส์อย่างมาก
พิธีสืบชะตาบ้าน เดือนเมษายน สืบเนื่องจากวันสงกรานต์เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นทุกปี และถัดจากนั้นไม่กี่วันก็จะมีการจัดพิธีสืบชะตาบ้านหรือหว้อฮิ๊ การสืบชะตาเกิดจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เหตุผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเคราะห์ร้าย จำเป็นต้องขจัดปัดเป่า ซึ่งหากกระทำแล้วจะทำให้ชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ
พิธีเลี้ยงเจ้าบ้าน เจ้าเรือน และเจ้าที่ เดือนเมษายน พฤษภาคม กันยายน เป็นการขอให้คนครอบครัวอยู่ดีมีสุขไม่มีสิ่งชั่วร้ายมาทำอันตรายกับคนในครอบครัว และการขอฟ้าขอฝน รวมถึงการขอบคุณที่ทำการเกษตรเพื่อให้รักษาพิชพรรณต่าง ๆ
พิธีผูกข้อมือเรียกขวัญเดือนแปด (ลาขู่กี้จือ) พิธีผูกข้อมือเรียกขวัญให้กับคนในครอบครัวหลังจากต่างคนต่างเหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานในรอบปี และได้รับความเจ็บป่วย มีความทุกข์ยาก หมดกำลังใจในการทำงาน การผูกข้อมือมือเรียกขวัญเชื่อว่าทำให้ลูกหลานและคนในชุมชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุขและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและเป็นการสร้างความสามัคคีที่ดีแก่คนในครอบครัวและชุมชน
วันเข้าพรรษา (ว้อหนี) เดือนกรกฎาคม วันเข้าพรรษาเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล เนื่องจากพระสงฆ์ออกเดินทางเผยแผ่ธรรมในฤดูฝน ทำให้พืชผลและสัตว์เล็ก ๆ ของชาวบ้านเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงกำหนดให้พระสงฆ์ "จำพรรษา" หรือพำนักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอด 3 เดือนฤดูฝน (แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง 15 ค่ำ เดือน 11) โดยมีข้อยกเว้นบางกรณี เช่น การไปรักษาคนป่วย หรือธุระสำคัญของสงฆ์การจำพรรษาทำให้ประชาชนสามารถเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม รักษาศีล และส่งเสริมการบวชในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นช่วงแห่งการบำเพ็ญกุศลที่สำคัญในพระพุทธศาสนา
วันออกพรรษา (ว้อแทวะ) เดือนตุลาคม วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นวันปวารณา ซึ่งเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ตักเตือนกันด้วยเมตตาและความปรารถนาดี หลังจากนี้ พระสงฆ์สามารถออกเดินทางเผยแผ่ธรรม ค้างแรมในที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดพระวินัย เป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญและบำเพ็ญกุศลอย่างต่อเนื่อง
พิธีกรรมทำบุญขนมจีน (คอนอลา) เดือนกันยายน คอนอ แปลว่า ขนมจีน ลา แปลว่าเดือน หมายถึง เดือนแห่งการถวาย สาเหตุที่นำขนมจีนมาถวายพระ เพราะเปรียบเสมือนการต่อชีวิตของตนเองให้มีความยืนยาวเหมือนเส้นขนมจีน
พิธีกรรมส่งนก (เซอท่อโท่) ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พิธีเชอท่อโท่เป็นพิธีสำคัญของชาวปกาเกอะญอที่จัดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทำไร่ข้าว เป็นการเลี้ยงส่งนกผู้คุ้มครองข้าวตลอดปี ขอขมาเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในไร่ พร้อมทั้งเป็นการเลี้ยงญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธี ถือเป็นการสิ้นสุดฤดูกาลทำนาในรอบปีอย่างสมบูรณ์
พิธีกรรมเรียกขวัญเม็ดข้าว (แสะท่อบือซ่า) เดือนพฤศจิกายน เพื่อเรียกขวัญข้าวก่อนจะไปโม่
1.นายสุชาติ ตราดรรชนี ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
2.นายผจญ สุวรรณคำพรรณ ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
3.นายสมศักดิ์ ภราดรวิสุข ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
4.นายดนุพล ตราดรรชนี ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
ทุนกายภาพ
หมู่บ้านปูเต้อตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ราบลุ่มมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ล้อมรอบด้วยภูเขาและเนินเขา พื้นที่บางส่วนเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และป่าแพะ ซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์และเคยเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว อ้อย และมันสำปะหลัง ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้ลดลงอย่างชัดเจน
ปัจจุบันพื้นที่ในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 10% พื้นที่ทำกิน 60% และพื้นที่ป่า 30% โดยพื้นที่ป่ามีสถานะทางกฎหมายซ้อนทับระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่สอด และสวนป่าเศรษฐกิจขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งป่าชุมชนจำนวน 2 แปลง รวม 207-3-43 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่หากินและเลี้ยงช้าง ตลอดจนใช้ประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยมีการออกกฎควบคุมการใช้ประโยชน์และมีกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น การปลูกป่า ป้องกันไฟป่า และป้องกันการบุกรุกทำลายป่า สำหรับทรัพยากรน้ำ หมู่บ้านปูเต้อมีแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 สาย ได้แก่ แม่กุโกล จี่โพโกล ตะดี้โกล และตะคอโกล ซึ่งชุมชนใช้ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมถึงมีแหล่งน้ำตกธรรมชาติที่ชาวบ้านเรียกว่า "กุย" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงช้าง
ทุนมนุษย์
1.นายสุชาติ ตราดรรชนี ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
2.นายผจญ สุวรรณคำพรรณ ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
3.นายสมศักดิ์ ภราดรวิสุข ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
4.นายดนุพล ตราดรรชนี ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้เรื่องช้าง
ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านปูเต้อ
ภูมิปัญญาปกาเกอะญอในการเลี้ยงช้างบ้านปูเต้อ ความรู้สึกของชาวบ้านปูเต้อที่มีต่อข้างข้างเปรียบเสมือนคนในครอบครัว ช้างเป็นมรดกที่ตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ นอกจากนี้ข้างยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นหมู่บ้านช้างของบ้านปูเต้อ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านปูเต้อทำให้ชาวบ้านต้องมีความรัก ความผูกพันกับข้าง ดังนั้นชาวบ้านปูเต้อจึงอยากให้ชั้นอยู่คู่กับหมู่บ้านปูเต้อ และเพื่อเป็นมรดกสู่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป ถึงแม้ว่าครอบครัวตัวเองจะไม่มีช้างแต่ก็เห็นช้างตั้งแต่เด็กได้ใกล้ชิดกับช้าง จึงทำให้มีความผูกพันกับช้าง และเปรียบช้างเหมือนกับเพื่อนคนหนึ่งและยังถือว่าช้างเป็นสัตว์ประจำหมู่บ้านปูเต้อ
ปัจจุบันบ้านปูเต้อมีการเลี้ยงช้าง 2 รูปแบบ คือ
1.เลี้ยงแบบมัด ใช้โซ่มัดช้างกับต้นไม้ในบริเวณที่มีอาหารเพียงพอ โซ่ยาวประมาณ 10 เมตร ให้ช้างเดินกินอาหารได้สะดวก โดยมัดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนเปลี่ยนจุดมัดจะพาช้างไปดื่มน้ำ การเลี้ยงแบบนี้ช่วยควาญช้างทำงานอย่างอื่นได้ ไม่ต้องเฝ้าตลอดเวลา และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในฤดูฝน
2.เลี้ยงแบบปล่อย ปล่อยให้ช้างหากินตามธรรมชาติ แต่มีควาญช้างคอยดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันช้างกินพืชไร่ชาวบ้าน ล้ำเขต หรือเจอกับระเบิดและการลักลอบตัดงา เจ้าของช้างต้องดูแลเองหรือจ้างคนในพื้นที่ดูแล
ลำดับ | อาการ | วิธีการรักษาแบบเก่า | วิธีการรักษาแบบปัจจุบัน |
ปวดตา |
1.ล้างตา โดยการนำกระเทียมมาทุบผสมกับเกลือในขวดน้ำเขย่าให้เข้ากันแล้วนำไปเทใส่ตาช้างใช้มือรองน้ำใต้ตาช้างเพื่อเวลาช้างกระพริบตานำจะได้เข้าไปในตาช้าง 2.เป่ามนต์ โดยการเชิญผู้รู้ในเรื่องของการเป่ามนต์ เพื่อเป่าให้เศษไม้หรือสิ่งปฏิกูลที่ติดอยู่ในตาออกมาโดยการใช้คาถา |
น้ำยาหลอดตาช้าง | |
เป็นแผลจากการใช้งาน โดนไม้แทง โดนฟัน เป็นฝี |
ประคบด้วยยาสมุนไพร องค์ประกอบยาสมุนไพร ได้แก่ เซะมื่อขมิ้น พอปว่า น้อก่อหล่า ซู เปลือก เพกา นำยาสมุนไพรไปต้มในน้ำ แล้วนำเอาผ้าชุบน้ำสมุนไพรประคบที่แผลของช้าง ถ้าแผลสกปรกมากให้ใช้น้ำล้างแผลก่อนหลังจากประคบเสร็จใช้น้ำตาล หากไม่มีน้ำตาลใช้ผงถ่านผสมกับเปลือกไม้ ค้อเบ้โรยใส่แผลช้างเพื่อให้เนื้องอกเร็ว | ฉีดยาแก้อักเสบ/ทาด้วยยาแก้อักเสบหรือยาม่วง | |
ท้องอืด | ใช้มือล้วงขี้ช้างออกมา | ใช้มือล้วงชี้ช้าออกมา | |
ท้องเสีย | กินยอดส้มป่อย | ฉีดยา | |
เป็นไข้ | ปรึกษาหมอช้าง ฉีดยา |
งานหัตถกรรม
1.จักสาน เป็นหัตถกรรมที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ มาสร้างเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น สุ่มไก่ ซึ่งขายในราคา 150 บาท ใช้เวลาทำ 1-2 ชั่วโมง รับทำตามสั่ง โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นทั้งชาวบ้านและคนนอกพื้นที่ สร้างรายได้เสริมให้ชุมชน
2.ทอผ้า เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ (แบวกลา) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้กี่ทอผ้าทอด้วยมือ เช่น การทอเชง่อ ใช้เวลาทอ 2 วัน ต้นทุน 350 บาท ขายตัวละ 500 บาท เป็นแหล่งรายได้สำคัญ และยังใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมทอผ้าในชุมชนอีกด้วย
ทุนสังคม/การเมือง
การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงช้างตามภูมิปัญญาปกาเกอะญอบ้านปูเต้อ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ดำเนินการผ่านความร่วมมือของผู้นำชุมชน เยาวชน และหน่วยงานภายนอกอย่างใกล้ชิด โดยผู้นำชุมชนทำหน้าที่เชื่อมประสาน ส่วนเยาวชนมีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่
หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่
- วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว.ตาก - สนับสนุนด้านวิชาการและงานวิจัย
- มูลนิธิช้างไทย - ส่งเสริมความรู้และการอนุรักษ์ช้างไทย
- อบต.แม่กุ - สนับสนุนการจัดการพื้นที่และสวัสดิการชุมชน
- อ.อ.ป. และป่าไม้ตาก - สนับสนุนการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า
- อบจ.ตาก และ ททท. - สนับสนุนงบประมาณและประชาสัมพันธ์
ชาวบ้านปูเต้อจะใช้ภาษาในการสื่อสารกับคนภายนอกชุมชนด้วยภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และใช้ภาษาปกาเกอะญอในการสื่อสารภายในกลุ่มซึ่งหากเป็นภาษาของคนในชุมชนอดีตจะพูดเป็นภาษา "แบวกลา"
ชุมชนบ้านปูเต้อได้พยายามหาทางออกในการคืนถิ่นให้กับช้างบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่มีการจัดงานวันช้างไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของช้างบ้านและกระตุ้นให้คนในพื้นที่รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง "อนาคต คนกับช้าง" ซึ่งได้ข้อเสนอให้มีการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมแก่ช้าง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมป่าไม้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษาเพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ ก่อนการจัดงานวันช้างไทยในปี 2561 ได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนถึงการจัดสรรพื้นที่สำหรับเลี้ยงช้าง โดยมีแนวคิดให้ใช้พื้นที่สวนป่าพบพระเป็นศูนย์การเรียนรู้ช้างของชุมชน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ต้องหารือเพิ่มเติม ปัจจุบันช้างในหมู่บ้านปูเต้อเหลือเพียง 18 เชือก และอยู่ในหมู่บ้านจริงเพียง 9 เชือก ส่วนที่เหลือเดินทางไปรับจ้างตามแหล่งท่องเที่ยวอื่น หากสามารถจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ช้างขึ้นได้จริง ก็จะช่วยให้ช้างได้กลับคืนถิ่น และสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่
การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงช้างตามภูมิปัญญาปกาเกอะญอบ้านปูเต้อ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ดำเนินการผ่านความร่วมมือของผู้นำชุมชน เยาวชน และหน่วยงานภายนอกอย่างใกล้ชิด โดยผู้นำชุมชนทำหน้าที่เชื่อมประสาน ส่วนเยาวชนมีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่
หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่
- วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว ตาก - สนับสนุนด้านวิชาการและงานวิจัย
- มูลนิธิช้างไทย - ส่งเสริมความรู้และการอนุรักษ์ช้างไทย
- อบต.แม่กุ - สนับสนุนการจัดการพื้นที่และสวัสดิการชุมชน
- อ.อ.ป. และป่าไม้ตาก - สนับสนุนการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า
- อบจ.ตาก และ ททท. - สนับสนุนงบประมาณและประชาสัมพันธ์
หมู่บ้านปูเต้อตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ราบลุ่มมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ล้อมรอบด้วยภูเขาและเนินเขา พื้นที่บางส่วนเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และป่าแพะ ซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์และเคยเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว อ้อย และมันสำปะหลัง ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้ลดลงอย่างชัดเจน ปัจจุบันพื้นที่ในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 10% พื้นที่ทำกิน 60% และพื้นที่ป่า 30% โดยพื้นที่ป่ามีสถานะทางกฎหมายซ้อนทับระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่สอด และสวนป่าเศรษฐกิจขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งป่าชุมชนจำนวน 2 แปลง รวม 207-3-43 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่หากินและเลี้ยงช้าง ตลอดจนใช้ประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยมีการออกกฎควบคุมการใช้ประโยชน์และมีกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น การปลูกป่า ป้องกันไฟป่า และป้องกันการบุกรุกทำลายป่า สำหรับทรัพยากรน้ำ หมู่บ้านปูเต้อมีแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 สาย ได้แก่ แม่กุโกล จี่โพโกล ตะดี้โกล และตะคอโกล ซึ่งชุมชนใช้ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมถึงมีแหล่งน้ำตกธรรมชาติที่ชาวบ้านเรียกว่า "กุย" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงช้าง
ปัจจุบันพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำลดลงอย่างมากจากการขยายพื้นที่ทำกิน ทำให้ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างที่มีอยู่ได้ ส่งผลให้ช้างบางส่วนต้องถูกนำไปเลี้ยงในพื้นที่อื่นที่เสี่ยงและมีค่าใช้จ่ายสูง ชุมชนจึงมีข้อเสนอแนวทางในการแก้ไข เช่น การฟื้นฟูป่า การปลูกพืชอาหารช้าง การทำฝายชะลอน้ำ และการพัฒนาตลาดพืชที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น การบวชป่าและการจัดตั้งป่าชุมชน ทั้งนี้ชาวบ้านปูเต้อมีความเชื่อว่าการรักษาช้างไว้ในชุมชนจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการอนุรักษ์ป่าและแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน
สายัณห์ พัฒนเกียรติทวี. (2560). การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน บ้านปูเต้อ ตำบลเเม่กุ อำเภอเเม่สอด จังหวัดตาก. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สัญญา พัฒนเกียรติทวี. (2560). รูปเเบบศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงช้างตามภูมิปัญญาปกาเกอะญอบ้านปูเต้อ ตำบลเเม่กุ อำเภอเเม่สอด จังหวัดตาก. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
กรมการปกครอง. (2567). ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2568. https://stat.bora.dopa.go.th
MGR Online. (9 มีนาคม 2560). รักช้าง อนุรักษ์ช้าง เที่ยวงาน “วันช้างไทย ณ บ้านปูเต้อ” จ.ตาก. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2568. https://mgronline.com
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กุ (ม.ป.ป.). สถานที่สำคัญ งานช้างไทย “ชมรมคนรักช้าง” บ้านปูเต้อ จังหวัดตาก. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2568. https://www.maeku-tak.go.th