บ้านแหลม ชุมชนริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ป่าเสม็ดที่อายุหลายร้อยปี
ชุมชนบ้านแหลม หมู่ที่ 5 ตําบลปากรอ อําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนชนบทที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลาตลอดทั้งหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นแหลมยื่นยาวออกมาในอ่าว สมัยก่อนการเดินทางสัญจรไปมาค้าขาย ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เรือพายและเรือยนต์เป็นยานพาหนะหลักในการเดินทาง พื้นที่ของชุมชนบ้านแหลมจะเชื่อมโยงและติดต่อกับ ตําบลท่าหิน ตําบลบางเขียด และตําบลชะแล้ ซึ่งในอดีตกาลเดินทางสัญจรไปมาส่วนใหญ่จะใช้ทางเรือผ่านบ้านแหลม เพื่อไปพักเรือที่หมู่ 6 บ้านแหลมจาก ด้วยลักษณะพื้นที่ของชุมชนบ้านแหลม หมู่ที่ 5 ติดต่อกับหมู่ที่ 6 บ้านแหลมจาก และมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม จึงเรียกว่า “บ้านแหลม”
สภาพแวดล้อม
สภาพพื้นที่ทั่วไปของชุมชนบ้านแหลม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ราบริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ลักษณะภูมิอากาศ มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูร้อน ในช่วงฤดูร้อนสภาพอากาศจะร้อนชื้น สภาพดินเป็นกรดจัด พื้นที่จึงไม่อํานวยต่อการเพาะปลูก เนื่องจากน้ำใต้ดินกร่อยลึกประมาณ 80-120 เมตร โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ําในการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนช่วงฤดูฝน น้ำจะท่วมขังพื้นที่ เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำทะเลจะยิ่งหนุนขึ้นสูงและไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้าน ดังนั้น สภาพน้ำในพื้นที่บ้านแหลมจะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล คือ จืด กร่อย และเค็ม ในช่วงที่มีมรสุมน้ำจะขุ่นและมีตะกอนมาก
ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านแหลมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปกคลุมด้วยพื้นที่ป่าไม้ทั่วทั้งหมู่บ้าน มีความอุดมสมบูรณ์ และเพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ทะเล ป่าไม้ และสัตว์นานาชนิด ทําให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในชุมชน บ้านแหลม กลายเป็นสิ่งจําเป็นและมีความสําคัญยิ่งต่อคนในชุมชนบ้านแหลม
ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น เพื่อการเกษตรกรรม การปลูกพืชปาล์ม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากเป็นพืชทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ค่อนข้างสูง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืช ผัก ไม้ยืนต้น ไม้ผล ทําสวน ทําไร่ ทํานา แต่ด้วยสภาพพื้นที่มีความเป็นกรด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืชทางการเกษตร ทําให้พื้นที่ดังกล่าวเสื่อมสภาพและรกร้างว่างเปล่า อีกทั้งยังมีสาเหตุมาจากจํานวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยับขยายครัวเรือนที่อยู่อาศัย การสร้างอาณาเขตการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เพิ่มขึ้น การขยับขยายพื้นที่ทำมาหากิน ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ ทั้งตนเอง ครอบครัว และความอยู่รอดของคนในชุมชน
ป่าเสม็ดชุมชนบ้านแหลม
พื้นที่ป่าเสม็ดของชุมชนบ้านแหลมมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ห่างจากริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ส่วนที่สอง คือ พื้นที่ป่าเสม็ดที่อยู่บกบนของชุมชนบ้านแหลม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ป่าเสม็ดทั้งสองส่วนเป็นป่าเสม็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอายุหลายร้อยปี
การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลม มักอยู่เป็นชุมชนในละแวกเดียวกัน ทําให้เกิดระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่มีความรักใคร่สามัคคีกัน ทําให้การรวมตัวหรือการรวมกลุ่มเพื่อทํากิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งภายในชุมชนเป็นไปได้ง่าย
ด้วยทําเลที่ตั้งของชุมชนบ้านแหลมติดกับชายฝั่งทะเลสาบสงขลา มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ทําการประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก ซึ่งทรัพยากรทางทะเลที่มีมากที่สุดในทะเลสาบสงขลา ได้แก่ ปลาขี้ตัง ปลาแขยง ปลาทง ปลากรด กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม ปลาดุกทะเล เป็นต้น แต่เนื่องจากรายได้ที่จากการทำอาชีพประมงนั้นไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงปากท้อง ชาวบ้านจึงต้องประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้แก่ครัวเรือน เช่น การค้าขาย การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ การเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงกบ การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ตามบริเวณบ้าน และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
วิถีชีวิต
ชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับทะเลสาบสงขลาและป่าไม้เป็นอย่างดี เนื่องจากในอดีตชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก เช่น การออกเรือหาปลา การวางกัดดักปลาในทะเลสาบสงขลา การตกปลาด้วยคันเบ็ดตกปลา การวางไซดักปลาตามโพรงหญ้าในชุมชนริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงพื้นบ้านล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์จากวัสดุที่มีอยู่ในชุมชนทั้งสิ้น เช่น ไม้ถ่อเรือ ไซดักปลา และหลักในทะเล ส่วนใหญ่ก็ทํามาจากไม้เสม็ดที่มีอยู่ในชุมชนบ้านแหลมทั้งสิ้น แม้ว่าในปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวบ้านแหลมจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่อาชีพประมงยังเป็นอาชีพที่ยังคงอยู่คู่วิถีชีวิตชาวบ้านหลมและทะเลสาบสงขลา แต่เพื่อเพิ่มแนวทางในการหารายได้ ได้มีการพัฒนาวิถีการประกอบอาชีพใหม่ เช่น การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง และการ เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง การทําบ่อกุ้ง เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ในการทําประมง ยังคงอาศัยวัสดุที่มีอยู่ในชุมชนเช่นเดิม
ประเพณี และวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านแหลม ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ประเพณีทําบุญเดือนสิบ หรือวันสารทเดือนสิบของไทย ประเพณีสงกรานต์ การรดน้ำดําหัวผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ประเพณีการแข่งเรือ การทําบุญวันว่าง การแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีการทอดกฐินสามัคคี เป็นต้น
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ด้วยทําเลที่ตั้งของชุมชนบ้านแหลมที่ตั้งติดกับทะเลสาบสงขลา ทําให้การสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมในอดีตนิยมตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานที่อยู่อาศัยติดริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เพราะสะดวกต่อการเดินทางสัญจร การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมในอดีต นิยมสร้างเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง เนื่องจากในช่วงฤดูฝนน้ำทะเลหนุนสูงและไหลเข้าท่วมพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน ปัจจุบันได้มีชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานอยู่เป็นจํานวนมาก เนื่องด้วยทําเลที่ตั้งของชุมชนบ้านแหลมอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ทําให้ปัจจุบันมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสร้างบ้านเรือนถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้นทั้งสองข้างทางตลอดทั้งหมู่บ้าน และนิยมสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยติดริมถนน บางครัวเรือนก็สร้างเพิ่มเติมจากหลังเดิมที่อยู่ติดริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา โดยมาสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกหนึ่งหลังที่ติดริมถนน เพื่อรองรับการขยายครัวเรือนในอนาคต บางครัวเรือนสร้างบ้านหลังเล็กติดกับชายฝั่งทะเลสาบสงขลา และสร้างบ้านหลังใหญ่ให้ติดริมถนน เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางสัญจรไปมาทั้งทางบกและทางน้ำ บางครัวเรือนยังคงอยู่ที่เดิมแต่ปรับปรุงเรื่องเส้นทางเข้าบ้านให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยการถมดินและกั้นรั้วบ้านเพื่อแบ่งอาณาเขตที่แน่นอนแต่รูปแบบบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมยังคงสร้างบ้านแบบยกพื้น อาจจะปรับเปลี่ยนวัสดุ อุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้น แต่ยังคงรักษาและใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนเช่นเคย
ทุนทางสังคม
ทุนทางสังคมของชุมชนบ้านแหลมเกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดผลผลิตขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ทั้งปัจจัยสี่ ความรู้ ภูมิปัญญาประสบการณ์ ชีวิตของผู้คน ตลอดจนสินทรัพย์อื่น ทั้งที่เป็นสังหา และอสังหา ก่อให้เกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการอยู่ดีมีสุข โครงการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน ศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์ซ่อมสร้างชุมชน สถานีอนามัยหมู่บ้าน ธนาคารรีไซเคิล และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดําเนินทรงงานในพื้นที่ชุมชนบ้านแหลม และทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณป่าบ้านแหลม เบื้องต้นได้มีการสํารวจพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลม ทำให้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่ป่าเสม็ด ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการทํานาแต่ไม่ได้ผล เนื่องด้วยสภาพพื้นดินเป็นดินเค็มที่มีความเป็นกรดแฝง จึงถูกทิ้งให้เป็นสภาพทุ่งโล่ง ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2553 พื้นที่ดังกล่าวจึงได้ถูกกำหนดและจัดตั้งเป็นโครงการศึกษาทดลองวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่มูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทําให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านแหลมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมพัฒนาที่ดิน และกรมประมง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดที่มีคุณค่า รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำในระบบนิเวศให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
อุมาพร บุญรัตนัง. (2557). ป่าเสม็ด: การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชนบ้านแหลม ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ปริญยาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.