
บ้านห้วยมาลัย หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเขตชนบทของไทยที่อยู่ห่างไกลจวนจะถึงชายแดนเมียนมา หมู่บ้านแห่งนี้หลากหลายด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา ทั้งยังรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในชุมชนมาตั้งแต่ครั้งอดีต
มาจากลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านที่มีลำน้ำสายเล็ก ๆ พาดผ่านกลางหมู่บ้าน เรียกว่า "ห้วย" ส่วนคำว่า "มาลัย" มาจากการร้อยรวมประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อพยพเข้ามายังหมู่บ้านแห่งนี้คล้ายการร้อยพวงมาลัย จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน "ห้วยมาลัย" ที่เรียกกันมาจนปัจจุบัน
บ้านห้วยมาลัย หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเขตชนบทของไทยที่อยู่ห่างไกลจวนจะถึงชายแดนเมียนมา หมู่บ้านแห่งนี้หลากหลายด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา ทั้งยังรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในชุมชนมาตั้งแต่ครั้งอดีต
บ้านห้วยมาลัยเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นพื้นที่รองรับหรือพื้นที่จัดสรรให้กับประชาชนตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ เดิมพื้นที่บริเวณบ้านห้วยมาลัยเป็นพื้นที่ของเขตป่าเขาช้างเผือก และได้มีกลุ่มชนมอญและปกาเกอะญอจากบ้านเวียคะดี้เข้ามาทำไร่หมุนเวียนอยู่ภายในเขตบ้านห้วยมาลัยในปัจจุบัน ในช่วงนั้นเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านคลุไค่ เป็นภาษาปกาเกอะญอ หมายถึง ห้วยน้ำแห้ง เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีสายล้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน กล่าวกันว่าเดิมพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพในเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือ เก้ง กวาง เลียงผา ช้าง นก อีกทั้งยังเป็นอาหารที่เลี้ยงชีวิตของชาวบ้านในละแวกนั้น ให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่าของผืนป่า แต่เมื่อความเจริญก้าวหน้าความต้องการขยายระบบอุตสาหกรรม พื้นที่ป่าที่เป็นทรัพยากรถูกทำลาย เนื่องจากได้มีโครงการการจัดสร้างเขื่อนวชิราลงกรณเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหมู่บ้านห้วยมาลัย กล่าวคือ หมู่บ้านห้วยมาลัยเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับจัดสรรให้เป็นพื้นที่รองรับชาวบ้านจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ได้แก่ ประชาชนจากบ้านหนองประโด่ง บ้านละว้า และบ้านเกริ่งสะดา ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอพยพเข้ามาระหว่าง พ.ศ. 2526-2528 เมื่อเข้ามาตั้งหลักแหล่งกันเป็นการถาวรแล้วจึงได้คิดตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า "บ้านห้วยมาลัย" ที่มาจากลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านที่มีลำน้ำสายเล็ก ๆ ไหลพาดผ่านกลางหมู่บ้าน เรียกว่า "ห้วย" ส่วนคำว่า "มาลัย" มาจากการร้อยรวมประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อพยพเข้ามายังหมู่บ้านแห่งนี้คล้ายการร้อยพวงมาลัย จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านที่เรียกกันมาจนปัจจุบัน
บ้านห้วยมาลัยตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หมู่บ้านห้วยมาลัยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบล ซึ่งห่างจากตัวอำเภอสังขละบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัด 225 กิโลเมตร ใช้เส้นทางถนนทางหลวงชนบท 3202 มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยกบ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านใหม่พัฒนา ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเวียคะดี้ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
บ้านห้วยมาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นลุ่มแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยเนินเขาหรือที่ราบระหว่างหุบเขาที่มีห้วยน้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้าน แต่จะมีเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เส้นทางน้ำนี้เปรียบเหมือนเส้นทางความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้น มีสัตว์น้ำนานาชนิดแวะเวียนมาให้ชาวบ้านได้ประกอบอาหารเพื่อยังชีพต่อไป เมื่อจบสิ้นฤดูฝนลำน้ำจะเริ่มเหือดแห้งจนเห็นเพียงต้นหญ้าที่ปกคลุมร่องน้ำเท่านั้น
เนื่องจากหมู่บ้านห้วยมาลัยมีสภาพพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณพื้นที่ป่าและภูเขา จึงทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับร่องมรสุมที่พัดผ่านเข้ามา ซึ่งสภาพอากาศโดยทั่วไปจะเป็นแบบฝนเมืองร้อน อากาศแห้งแล้งในฤดูหนาว ฤดูแล้ง และฤดูฝนมีฝนตกชุก อากาศมีความชื้นสูง การแพร่กระจายของฝนมีความแตกต่างกันชัดเจนทำให้พื้นรที่บริเวณบ้านห้วยมาลัยสามารถจำแนกฤดูกาลแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาลตามช่วงระยะเวลา ดังนี้
- ฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มเมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดลง ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยมีอากาศร้อนจัดอยู่ในเดือนเมษายน
- ฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ในระยะนี้เป็นช่วงของการพัดพาลมเย็นจากประเทศจีนมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้บ้านห้วยมาลัยมีอากาศเย็นและแห้งแล้ง มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม
- ฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม เป็นระยะเวลา 5 เดือน รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ทำให้มีฝนตกชุกในช่วงนี้ เป็นช่วงที่มีความชื้นสูง และมีฤดูฝนยาวนานกว่าฤดูอื่น โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านห้วยมาลัย ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,374 คน แยกเป็นประชากรชาย 717 คน ประชากรหญิง 657 คน จำนวนหลังคาเรือน 484 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)
บ้านห้วยมาลัยเป็นหมู่บ้านที่เดิมทีมีชาวมอญและชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ก่อน แล้วจึงมีชาวไทยที่ย้ายมาพร้อมกันจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ทำให้บ้านห้วยมาลัยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประชากรที่อพยพมาจากท้องถิ่นต่าง ๆ โดยโครงสร้างครอบครัวของหมู่บ้านห้วยมาลัย มีโครงสร้างเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ละครอบครัวนั้นต่างย้ายมาอาศัยอยู่จากหลายแหล่ง ซึ่งอาศัยกันเป็นแบบเครือญาติอยู่ร่วมกัน เช่น ตระกูลไทรสังขละไพรวัลย์ สังขละตระกูล ตระกูลพันธ์นาค และตระกูลสง่างามซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมมาจากหมู่บ้านละว้า (จุฑามณี แท่นมงคลมาศ, 2557)
ปกาเกอะญอ, มอญชาวบ้านห้วยมาลัยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างกรีดยางพารา รับจ้างถางหญ้าในสวนยาง ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง
การทำเกษตรกรรมเป็นอีกหนึ่งอาชีพของประชากรกว่าครึ่งหนึ่งในหมู่บ้าน เดิมการทำเกษตรในหมู่บ้านห้วยมาลัยนั้นเป็นการเกษตรแบบหมุนเวียน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแบบเชิงเดี่ยว พืชที่นิยมปลูกกันมากที่สุดจนกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา งา อ้อย (ส่งร้านขายน้ำอ้อย) ทำนาข้าว ปลูกมันสำปะหลัง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัวเนื้อ และควาย
การค้าขาย ภายในหมู่บ้านมีร้านขายของชำขนาดกลาง ซึ่งภายในร้านจะมีสินค้าให้เลือกหลายรูปแบบ ตั้งแต่ของใช้อุปโภค บริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร ยาสามัญประจำบ้าน กระจายอยู่ตามซอยต่าง ๆ ของหมู่บ้าน
นอกจากนี้ยังมีหาของป่า ซึ่งอาจสลับสับเปลี่ยนชนิดของป่าที่หาไปตามฤดูกาล และเนื่องจากบ้านท่ามาลัยเป็นทางผ่านของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของตำบลหนองลูไปยังอำเภอสังขละบุรี ภายในหมู่บ้านจึงมีตลาดเล็ก ๆ คล้ายว่าเป็นตลาดนัดทุกวันพฤหัสบดี ภายในตลาดชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านจะทำสินค้าต่าง ๆ มาวางขาย ทั้งสินค้าท้องถิ่นและสินค้าตามกระแสนิยมให้ได้เลือกหา
อนึ่งในปัจจุบันชาวบ้านห้วยมาลัยมีโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แนวทางการประกอบอาชีพมีกว้างออกไป โดยปัจจุบันจะพบกลุ่มคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้น เช่น ทำงานในส่วนงานราชการทั่วไป เช่น โรงพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแคว โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย ซึ่งมีทั้งรับราชการ มีทั้งรับราชการ เป็นพนักงานราชการ ลูกจ้างกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ในอำเภอ แม่บ้าน เป็นต้น นอกจากนั้นกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ยังนิยมไปทำงานต่างจังหวัดตั้งแต่อำเภอทองผาภูมิ ไทรโยค และในตัวเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ด้วยหมู่บ้านห้วยมาลัยเป็นพื้นที่ได้รับการจัดสรรจากการไฟฟ้าฯ จากผลกระทบการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ และชาวบ้านได้อพยพเข้ามาจากหลากหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนชุมชนมีความหลากหลายทางศาสนาศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม มีศาสนสถานที่สำคัญ คือ วัดห้วยมาลัยและโบสถ์ยาระเดน นอกจากนี้ยังมีพระธาตุเจดีย์โลกอุดร เดิมสถานที่บริเวณที่สร้างเจดีย์องค์ปัจจุบันได้มีการขุดพบสัตถุอิฐ (อิฐศิลาแลง) มากมาย สันนิษฐานว่ายุคก่อนคงเคยมีการสร้างเมืองมาก่อนและอาจเคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร ต่อมาใน พ.ศ. 2547 ได้มีการสร้างเจดีย์แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2549 ตั้งชื่อว่า "เปียวะเส่ตี่" เป็นภาษาเมียนมา ซึ่งมีความหมายว่า "พระธาตุเจดีย์โลกอุดร" โดยบ้านท่ามาลัยจะมีการจัดงานไหว้พระธาตุเจดีย์โลกอุดรเป็นประจำทุกปี ถือเป็นงานบุญใหญ่ของหมู่บ้าน โดยจัดขึ้นระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ตามแต่ความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ตรงกันกับงานทำบุญพระธาตุที่วัดอื่นในตำบลจัดขึ้น การทำบุญไหว้พระธาตุเจดีย์โลกอุดรจะมีการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ช่วงเย็นจะมีการแสดงกิจกรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยมาลัย ทั้ง การแสดงรําตง (การละเล่นของชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) รําวง การแข่งขันชกมวย เครื่องเล่นต่าง ๆ เช่น บ้านลม ปาลูกโป่ง สอยดาว และ ร้านค้าอาหารพื้นบ้าน เช่น ขนมจีนน้ำยาหยวก ตะบองโจ้ ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ต่าง ๆ และอุปกรณ์เครื่องครัวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ กําหนดจัดในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัยและเหล่าเทพเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก ชาวบ้านจะช่วยกันสร้างเรือไม้ไผ่และจัดเตรียมตุงที่ทำด้วยกระดาษหลากสีสันเพื่อประดับเรือให้สวยงาม อีกทั้งเป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาวปกาเกอะญอและชาวมอญ ในวันประกอบพิธีจะมีการเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ การบูชาเรือจะทำโดยนําตุงกระดาษและอาหารคาวหวาน 9 อย่าง ประกอบด้วย ข้าวสวย กล้วย ข้าวตอก ถั่วลิสง ส้มโอ อ้อย มะพร้าว หมากพลู น้ำเปล่าไปบูชาเรือ ส่วนการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ จะทำโดยการนำธูปเทียนตามวันเกิดไปไหว้และสะเดาะเคราะห์ที่เรือ และจะมีการเผาธูปเทียนในวันสุดท้ายของงานในเวลากลางคืน
ภาษาพูด : ภาษามอญ ภาษากะเหรี่ยงสะกอ ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
กีรกฤษณ์ มงคลทิพย์. (22 กรกฎาคม 2567). นั่งฟั่งเรื่องราวของคนในพื้นที่ก็สนุกดีเหมือนกันครับ. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/
จุฑามณี แท่นมงคลมาศ. (2557). ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนบ้านห้วยมาลัย ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี - ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. (5 กุมภาพันธ์ 2568). พรุ้งนี้ วันที่ 6 ก.พ. 68 อย่าลืมมาเลือกผู้ใหญ่บ้านกันนะคะชาวบ้านห้วยมาลัย ม.6 ต.หนองลู เวลา 08.00-15.00 น. ณ ศาลาในวัดห้วยมาลัย. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/
เพ็ญพรรณ อินปันตี. (2552). วิถีแห่งจอมป่า : รักษาผืนป่าตะวันตก. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร.
สำนักปลัด องฝค์การบริหารส่วนตำบลหนองลู. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2568, จาก https://fa7.naxapi.com/