Advance search

คลองบางกอกน้อย ชุมชนริมคลองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า พร้อมเปิดรับให้ผู้คนได้สัมผัสภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านงานหัตถกรรมดั้งเดิม และลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านประเพณีของชุมชน

ศิริราช
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตบางกอกน้อย โทร. 0 2424 0056
ฤชุอร เกษรมาลา
6 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2025
คลองบางกอกน้อย


คลองบางกอกน้อย ชุมชนริมคลองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า พร้อมเปิดรับให้ผู้คนได้สัมผัสภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านงานหัตถกรรมดั้งเดิม และลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านประเพณีของชุมชน

ศิริราช
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
10700
13.762992
100.478677
กรุงเทพมหานคร

"บางกอกน้อย" เป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันว่า "ฝั่งธนบุรี" โดยมีพื้นที่ครอบคลุมสองฝั่งของคลองบางกอกน้อย ซึ่งในอดีตเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง (Flood Plain) มีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานและเพาะปลูก

ในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะคดโค้งเป็นรูปเกือกม้า ส่งผลให้การสัญจรทางน้ำเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลานาน สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้นในปี พ.ศ. 2080 เพื่อย่นระยะทางการเดินเรือจากปากน้ำไปยังกรุงศรีอยุธยา คลองลัดดังกล่าวจึงกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนสายเก่าของแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น “คลองบางกอกน้อย” สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่บางกอกน้อยในอดีตมีบทบาทสำคัญในฐานะจุดตัดของแม่น้ำสายเก่ากับสายใหม่ จึงกลายเป็นจุดรวมของการค้าขายและการคมนาคมทางน้ำนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่มีตะกอนทับถมทำให้ดินดี อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

คำว่า "บางกอกน้อย" ปรากฏในแผนที่ของชาวต่างชาติหลายฉบับตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยคำว่า "บาง" สื่อถึงทางน้ำหรือชุมชนริมน้ำ และคำว่า "บางกอกน้อย" นั้นเชื่อว่าสื่อถึงบริเวณของบางกอกที่มีผู้คนอยู่อาศัยบางตากว่าบริเวณบางกอกใหญ่ทางทิศใต้

ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บางกอกน้อยเป็นพื้นที่สำคัญด้านคมนาคม การค้า และยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ วัดวาอาราม และชุมชนของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวมุสลิม และชาวจีน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

พื้นที่บริเวณ "ปากคลองบางกอกน้อย" นับว่ามีความสำคัญมาแต่โบราณ เป็นศูนย์กลางของชุมชนบางกอกน้อย โดยเฉพาะในช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยายังไหลผ่านเส้นทางสายเก่า บริเวณหัวมุมโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน ซึ่งตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานและอพยพเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ปัจจุบัน ปากคลองบางกอกน้อยยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในหลายด้าน ดังนี้

  • ด้านสาธารณสุข : เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราชและศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  • ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ : มีพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และแผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก
  • ด้านศาสนา : มีวัดอมรินทราราม วัดสุวรรณาราม และมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์
  • ด้านเศรษฐกิจชุมชน : มีตลาดเก่า เช่น ตลาดศาลาน้ำร้อนและตลาดศาลาน้ำเย็น

พื้นที่คลองบางกอกน้อยเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและเพาะปลูกมาแต่โบราณ โครงสร้างชุมชนรอบคลองประกอบด้วยบ้านเรือนไม้แบบดั้งเดิมตั้งเรียงรายริมคลอง และวัดวาอารามเก่าแก่จำนวนมาก ทั้งนี้ ลำน้ำบางกอกน้อยทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่อดีต การขุดคลองลัดบางกอกในสมัยกรุงศรีอยุธยาทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดตัดของเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ และส่งเสริมให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของประชากรหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และจีน

ชุมชนในพื้นที่คลองบางกอกน้อยจึงก่อตัวขึ้นอย่างหนาแน่นตลอดสองฝั่งคลอง โดยเฉพาะบริเวณปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งกลายเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีวัดวาอารามเก่าแก่ตั้งเรียงราย และบ้านเรือนไม้แบบไทยดั้งเดิมปลูกสร้างชิดริมน้ำ ลักษณะการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสายน้ำกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างลึกซึ้ง

ลำน้ำบางกอกน้อยจึงเปรียบได้กับเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่มาช้านาน โดยทำหน้าที่ทั้งเป็นเส้นทางสัญจร เส้นทางการค้าขาย และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำจืด ปลา และพืชน้ำ ซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานราก

พื้นที่คลองบางกอกน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีลักษณะเป็น "สังคมพหุวัฒนธรรม" ประชากรในพื้นที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 3 กลุ่ม ได้แก่

1.ชาวไทยพุทธ เป็นกลุ่มประชากรดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีบทบาทสำคัญในชุมชน โดยเฉพาะในด้านศาสนาและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา ชาวไทยพุทธส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณตอนในของคลอง เช่น ชุมชนวัดสุวรรณาราม ชุมชนบ้านบุ เป็นต้น ในอดีตมีข้าราชบริพารจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ เนื่องจากอยู่ใกล้กับพระราชวังหลวง วังหลัง และวังหน้าในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์

2.ชาวไทยมุสลิม มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาฝั่งเหนือเมื่อครั้งมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวอาหรับ-เปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้ตั้งมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์เป็นศูนย์กลางชุมชน ชาวมุสลิมยังคงรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น

3.ชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางของคลอง โดยเฉพาะในย่านตลาดใกล้วัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าจีนเก่าแก่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ แม้ปัจจุบันจำนวนประชากรเชื้อสายจีนจะลดลง เนื่องจากการย้ายถิ่นของลูกหลาน แต่ก็ยังคงมีบทบาทในชุมชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและกิจกรรมความเชื่อของศาลเจ้า

ประชากรในพื้นที่คลองบางกอกน้อยจึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา ประกอบด้วยชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และรูปแบบการรวมกลุ่มทางสังคมของตนเอง ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีพลวัตทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว

ชุมชนคลองบางกอกน้อยถือเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานครที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างชัดเจน โดยกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีลักษณะทางวัฒนธรรมและรูปแบบการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันอย่างโดดเด่น ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่

กลุ่มชาวไทยพุทธ

ชาวไทยพุทธในย่านคลองบางกอกน้อยมีรากฐานประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับราชสำนักในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง ทำให้มีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชบริพารและขุนนาง เช่น ย่านบ้านบุ นอกจากนี้ ชาวไทยพุทธยังมีวิถีชีวิตแบบชาวสวนโดยใช้พื้นที่ดินตะกอนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ ทุเรียนบางขุนนนท์ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสวนผลไม้จะแบ่งเป็น "สวนใน" และ "สวนนอก" พร้อมจำแนกย่อยเป็น "สวนบางบน" และ "สวนบางล่าง" ตามภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ผลผลิตจากสวนจะถูกนำไปจำหน่ายในตลาดท้องน้ำสำคัญ เช่น ตลาดน้ำปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้ในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวไทยพุทธยังมีความเชี่ยวชาญในงานฝีมือและหัตถกรรมดั้งเดิมที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ชุมชน ได้แก่

  1. ชุมชนบ้านบุ มีชื่อเสียงด้านงานตีโลหะขันลงหิน
  2. ชุมชนบ้านเนิน เชี่ยวชาญด้านการทำฆ้องวง
  3. ชุมชนบ้านช่างหล่อ ผลิตและหล่อพระพุทธรูป
  4. ชุมชนบ้านข้าวเม่า มีภูมิปัญญาการทำข้าวเม่าหมี่และขนมไทย
  5. ชุมชนตรอกมะตูม รู้จักจากการทำมะตูมเชื่อมซึ่งสืบทอดมากว่า 100 ปีแม้ว่าปัจจุบันผู้สืบทอดอาชีพเหล่านี้จะลดลง เช่น การทำขันลงหินที่เหลือเพียงโรงงานเดียว คือ "โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา" แต่ชาวชุมชนยังคงพยายามอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มชาวไทยมุสลิม

ชาวไทยมุสลิมบริเวณปากคลองบางกอกน้อยในอดีตมีอาชีพหลักเป็นพ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะการค้าขายเครื่องเทศ กำยาน สีผึ้ง และการผลิตที่นอนยัดนุ่นที่มีชื่อเสียงภายใต้ชื่อ "ที่นอนบางกอกน้อย" ซึ่งได้รับความนิยมเทียบเคียงกับที่นอนราชบุรี

ในปัจจุบัน กลุ่มชาวไทยมุสลิมยังคงมีอาชีพที่โดดเด่นในการทำอาหารสำรับแบบมุสลิม หรือ "อาหารแขกแพ" ซึ่งมีวัตถุดิบและเครื่องเทศเฉพาะทางตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น ข้าวหมกสามสี ขนมปังยุม และซาโมซ่า อาหารเหล่านี้เป็นที่นิยมในเทศกาลสำคัญ เช่น อีดิ้ลฟิตริ และอีดิ้ลอัฏฮา รวมถึงกิจกรรมชุมชนและเทศกาลอาหารมุสลิมบางกอกน้อย

กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน

ชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ โดยเฉพาะในชุมชนบ้านบุ มีบทบาทสำคัญด้านพาณิชยกรรมและการค้า ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางอาชีพหลัก ได้แก่ การค้าไม้ วัสดุก่อสร้าง โรงน้ำแข็ง และตลาดค้าปลีก เช่น ตลาดวัดทอง และตลาดไร้คาน ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของพื้นที่ นอกจากนี้ชาวจีนยังสร้างศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง เป็นศูนย์รวมจิตใจและส่งเสริมความมั่นคงในการทำธุรกิจของชุมชน

การประกอบอาชีพของชุมชนคลองบางกอกน้อยสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน แม้อาชีพบางประเภทจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและลดจำนวนลงในยุคปัจจุบัน แต่ชุมชนยังคงรักษาและพยายามสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและอาชีพดั้งเดิมไว้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

วิถีชีวิตของผู้คนในคลองบางกอกน้อยเดิมสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับลำน้ำ ทั้งการคมนาคม การตั้งบ้านเรือน และการทำมาหากิน ชุมชนไทยพุทธยังคงมีความผูกพันกับวัดและพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ในขณะที่ชาวมุสลิมและจีนต่างมีศาสนสถานและพิธีกรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อของตน

พื้นที่บางกอกน้อย โดยเฉพาะบริเวณปากคลองบางกอกน้อย นับเป็นย่านสำคัญของฝั่งธนบุรีที่มีความหลากหลายทางศาสนาอย่างเด่นชัด ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ความเชื่อของชาวจีน ศาสนาคริสต์ รวมถึงความเชื่อพื้นบ้าน ซึ่งดำรงอยู่เคียงคู่ชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในด้านพระพุทธศาสนา ชุมชนไทยพุทธบริเวณคลองบางกอกน้อยมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานผ่านการตั้งวัดสำคัญก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วัดดุสิดาราม วัดอมรินทราราม และวัดสุวรรณาราม ซึ่งล้วนเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่และศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน

วัดดุสิดารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเหนือของปากคลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดเสาประโคน เป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณะและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดดุสิดาราม มีการรวมวัดใกล้เคียงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัดแห่งนี้ในภายหลัง

วัดอมรินทราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของปากคลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดบางว้าน้อย สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีความสำคัญอย่างยิ่งในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับวังของพระบรมวงศานุวงศ์ และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่จนได้รับพระราชทานนามว่า "วัดอมรินทราราม"

วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ เดิมชื่อวัดทอง เป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับการบูรณะหลายครั้ง ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดของย่านนี้

บริเวณลึกเข้าไปในคลองวัดทอง ซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองบางกอกน้อย ยังเป็นที่ตั้งของวัดราษฎร์อีกหลายแห่ง เช่น วัดสุทธาวาส (วัดดุสิต) และวัดอมรทายิการาม (วัดใหม่ยายมอญ) รวมถึงวัดสำคัญอื่น ๆ เช่น วัดใหม่ยายแป้น วัดศรีสุดาราม วัดนายโรง วัดภาวนาภิรตาราม และวัดสุวรรณคีรี ซึ่งแต่ละวัดล้วนมีบทบาทเป็นศูนย์กลางจิตใจของชุมชน

ชาวไทยพุทธในพื้นที่มีความเคารพนับถือพระพุทธรูปประจำวัดอย่างมาก เช่น หลวงพ่อโบสถ์น้อย วัดอมรินทราราม และหลวงพ่อศาสดา วัดสุวรรณาราม นอกจากนี้ยังให้ความเคารพต่อพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ อาทิ หลวงปู่ทับ วัดสุวรรณาราม ผู้สร้างพระปิดตาเนื้อโลหะอันเลื่องชื่อ หลวงปู่รอด วัดนายโรง ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาและเบี้ยแก้ และหลวงปู่รุ่ง วัดสุวรรณคีรี ผู้มีชื่อเสียงด้านการปรุงยาสมุนไพรในอดีต

ด้านศาสนาอิสลาม ชุมชนมุสลิมในบางกอกน้อยมีรากเหง้ามาจากชาวอาหรับ-เปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้อพยพเข้ามายังกรุงธนบุรีหลังการเสียกรุง ช่วงต้นชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในเรือนแพ และต่อมาจึงได้ตั้งชุมชนบนฝั่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ทำให้ชาวมุสลิมถูกย้ายมาฝั่งเหนือของคลองบางกอกน้อยและก่อตั้งมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ หรือมัสยิดหลวงบางกอกน้อย ซึ่งเป็นศูนย์กลางศรัทธาและพิธีกรรมของชุมชนมุสลิมในพื้นที่

ชุมชนมุสลิมในปัจจุบันมีลักษณะเป็นชุมชนปิด แต่ละบ้านไม่มีรั้วแบ่งกั้น และสามารถเดินถึงกันได้โดยสะดวก ส่งผลให้วัฒนธรรมและประเพณีส่วนใหญ่ยังคงสงวนไว้ภายในชุมชนและไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในพื้นที่โดยรอบ

สำหรับความเชื่อของชาวจีนในพื้นที่นั้น แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็มีบทบาทสำคัญ ชาวจีนตั้งบ้านเรือนปะปนกับชาวไทยพุทธ และมีศาลเจ้าเป็นศูนย์รวมศรัทธา อาทิ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง หรือศาลเจ้าบางกอกน้อย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในย่าน และยังมีศาลเจ้าอื่น ๆ เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าฉางเกลือ ศาลเจ้าพ่อบ้านขมิ้น ศาลเจ้าพ่อสิงห์โตทอง และศาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งสะท้อนถึงความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ดำรงอยู่ในย่านบางกอกน้อยมาอย่างยาวนาน

ในด้านศาสนาคริสต์ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทในพื้นที่บางกอกน้อย แต่ปรากฏภาพไม้กางเขนบนจิตรกรรมฝาผนังของวัดสุวรรณารามซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ถึงศาสนาคริสต์ในพื้นที่ ปัจจุบันมีโบสถ์คริสเตียนชื่อ "โบสถ์จีนเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีส บางกอกน้อย" ตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำเย็นเดิม แม้ยังมีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางศาสนาในพื้นที่

นอกจากศาสนาหลักและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แล้ว ชาวชุมชนคลองบางกอกน้อยยังคงมีความเชื่อพื้นบ้านที่สืบทอดกันมา เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า ครูช่าง ร่างทรง เทพแห่งไฟ และแม่เตาของชุมชนขนมไทย รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสายน้ำ เช่น สิงโตปากคลองบางกอกน้อย เจ้าแม่สิงโตทอง พรายน้ำ และความเชื่อในการบูชาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมถึงเสด็จพ่อสามพระยา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างวิถีชีวิตของชาวชุมชนกับศาสนา ความเชื่อ และสายน้ำแห่งบางกอกน้อยอย่างแยกไม่ออก

ประเพณีของชุมชนคลองบางกอกน้อย

ชุมชนคลองบางกอกน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิต จึงสะท้อนออกมาในรูปแบบของประเพณีที่หลากหลาย ทั้งที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษและประเพณีที่เกิดขึ้นใหม่ตามบริบทสังคมเมือง โดยสามารถจำแนกประเพณีออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.ประเพณีดั้งเดิม

เป็นประเพณีที่ชาวไทยพุทธในชุมชนคลองบางกอกน้อยสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเกี่ยวข้องกับวัดสำคัญในพื้นที่ เช่น วัดอมรินทราราม วัดสุวรรณาราม วัดดุสิดาราม และวัดนางชี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในชีวิตทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน ประเพณีที่ยังคงมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • งานปิดทองพระบาทจำลอง วัดอมรินทราราม
  • งานสงกรานต์ วัดอมรินทราราม และวัดสุวรรณาราม
  • งานบุญสารทเดือนสิบ วัดดุสิดาราม
  • งานลอยกระทง วัดสุวรรณาราม
  • งานชักพระ วัดนางชี ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

2.ประเพณีที่เกิดขึ้นใหม่

เกิดจากการสร้างสรรค์ของชุมชน โดยผสมผสานกับวัฒนธรรมร่วมสมัยและเหตุการณ์สำคัญ ตัวอย่างเช่น

  • งานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดสุวรรณาราม
  • งานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ "2 ปี 2 เดือน 2 วัน" วัดสุวรรณาราม

แม้ว่าในบางช่วง เช่น ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะทำให้รูปแบบของประเพณีบางอย่างต้องปรับเปลี่ยน เช่น ลดขนาดกิจกรรม งดการจัดงาน หรือเน้นความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่ชาวชุมชนยังคงยึดถือและอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คลองบางกอกน้อย : แหล่งภูมิปัญญาหัตถกรรมและศูนย์กลางวัฒนธรรมหลากหลายศาสนา

คลองบางกอกน้อยถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ งาน "ขันลงหินบ้านบุ" ซึ่งเป็นงานตีโลหะสำริดที่ผสมผสานเทคนิคและฝีมือช่างชั้นสูงอย่างประณีต ชุมชนบ้านบุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านเครื่องโลหะจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นับเป็นต้นแบบภูมิปัญญาที่มีคุณค่าระดับชาติ นอกจากนี้ ชุมชนตรอกข้าวเม่ายังคงรักษาวิธีการทำขนมไทยตำรับโบราณ เช่น ข้าวเม่า กะละแม และข้าวเหนียวแดง โดยใช้กรรมวิธีดั้งเดิมที่ไม่ผสมแป้งหรือน้ำตาลอุตสาหกรรม ทำให้รสชาติขนมคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างโดดเด่น ขณะที่ชุมชนตรอกมะตูมมีภูมิปัญญาในการถนอมอาหารแบบดั้งเดิม ด้วยการผลิตมะตูมเชื่อมที่มีเนื้อนุ่ม รสชาติหวานละมุน และสีสันสดใส เป็นวิชาชีพที่สืบทอดมาอย่างยาวนานและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ในแง่ศาสนาและความเชื่อ คลองบางกอกน้อยยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญหลายแห่ง อาทิ วัดดุสิดาราม วัดอมรินทราราม และวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธในพื้นที่ ขณะที่มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมในด้านศาสนา การศึกษา และวิถีชีวิต ส่วนศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงและศาลเจ้าจีนอื่น ๆ ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีน สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและอาชีพการค้าในชุมชนอย่างลงตัว นอกจากนี้ ศาสนสถานเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย

ชุมชนคลองบางกอกน้อยยังคงรักษาและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานลอยกระทง งานชักพระ งานวัด รวมถึงการล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลอง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงช่วยคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน สร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในระยะยาว

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย


ชุมชนคลองบางกอกน้อยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ริมคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมและการค้าขายหลักของกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ

ในอดีตเศรษฐกิจของคลองบางกอกน้อยมีฐานรากมาจากเกษตรกรรมและการค้าทางน้ำเป็นหลัก โดยเฉพาะการเพาะปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียนบางขุนนนท์ และการทำสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ การค้าขายสินค้าผ่านตลาดน้ำปากคลองบางกอกน้อยทำให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องถิ่น

นอกจากภาคเกษตรกรรมแล้ว ชุมชนยังมีอาชีพหัตถกรรมและการผลิตสินค้าดั้งเดิม เช่น งานตีโลหะขันลงหิน งานทำฆ้องวง และการหล่อพระพุทธรูป ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและนอกพื้นที่

กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน ต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ โดยกลุ่มชาวไทยมุสลิมเน้นการค้าขายเครื่องเทศและสินค้าเฉพาะทาง ขณะที่ชาวจีนมีความเชี่ยวชาญด้านพาณิชยกรรมและค้าปลีก

เมื่อเมืองกรุงเทพมหานครมีการขยายตัวและพัฒนาระบบคมนาคมที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การก่อสร้างถนนและสะพาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนจากการพึ่งพาการคมนาคมทางน้ำมาเป็นทางบก ส่งผลให้รูปแบบเศรษฐกิจของคลองบางกอกน้อยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ตลาดน้ำที่เคยคึกคักลดบทบาทลง ขณะที่กิจกรรมการค้าปลีกและบริการในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ผู้คนในชุมชนเริ่มหันไปประกอบอาชีพใหม่ เช่น งานบริการ ร้านอาหาร ร้านค้า และธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้เสริม

นอกจากนี้ การลดจำนวนของผู้สืบทอดงานหัตถกรรมดั้งเดิม เช่น งานขันลงหินและการทำมะตูมเชื่อม แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์. (ม.ป.ป.). ย่ำเรือนเยือนถิ่นริมคลองบางกอกน้อย. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.nairobroo.com/

ศุภธัช คุ้มครอง. (2564). การสืบทอดและการสร้างสรรค์ประเพณีของชาวชุมชนคลองบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Explore World. (29 มิถุนายน 2562). คลองบางกอกน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2478. สืบค้น 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

50+. (14 สิงหาคม 2563). คลองบางกอกน้อย. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com

สำนักงานเขตบางกอกน้อย โทร. 0 2424 0056