บ้านสังแกแลสง่างาม ปู่พราหมณ์ศักดิ์สิทธิ์ มีเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงโคพื้นเมือง เลื่องลือผ้าไหม ห่างไกลยาเสพติด
เดิมบริเวณหมู่บ้านมีต้นสะแกขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสะแก” ตามชื่อต้นไม้ (ภาษาพื้นเมือง) ต่อมาจากสะแกเพี้ยนเป็นสังแก จึงเรียก “บ้านสังแก” มาจนปัจจุบัน
บ้านสังแกแลสง่างาม ปู่พราหมณ์ศักดิ์สิทธิ์ มีเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงโคพื้นเมือง เลื่องลือผ้าไหม ห่างไกลยาเสพติด
“กูย” เป็นชื่อเรียกที่คนกูยใช้เรียกตนเอง แปลว่า “คน” ส่วนคนไทยจะเรียกคนกูยว่า “ส่วย” หลักฐานการเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กูย เริ่มมีปรากฏตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ผู้นำชาวกูยทำความดีความชอบตามจับช้างพระยาเผือกส่งคืนสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย ทำหน้าที่ส่งสิ่งของต่าง ๆ ตามความต้องการของส่วนกลาง ได้แก่ นำช่าง แก่นสน ยางสน ปีกนก นอรมาด และงาช้าง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า “ส่วย” ชาวสยามจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กูยว่า “คนส่งส่วย” ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ชาวกูยประสบปัญหาไม่มีสิ่งของส่งให้แก่ทางการไทย ผู้นำจึงเอาตัวคนกูยส่งเป็นส่วยแทน ชาวกูยจึงได้ชื่อว่าเป็น “คนส่วย” และคนไทยได้เรียกชาวกูยว่า “ส่วย” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการอธิบายว่า พื้นฐานของชาวกูยส่วนใหญ่เป็นสังคมกึ่งทาสของชาวเขมรโบราณ เป็นผู้ขุดเหล็ก ตีเหล็ก หล่อสำริด ใช้เครื่องมือหิน และทำอาวุธให้แก่นักรบเขมรในอดีต นอกจากนี้ชาวกูยยังมีความชำนาญในการจับช้าง ทำหน้าที่ในการจับช้างศึกให้เจ้านาย นอกเหนือจากงานดังที่กล่าวไปข้างต้น ชาวกูยยังถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่สกัดหิน ก่อปราสาท รวมถึงขุดสระน้ำขนาดมหึมาที่มีปรากฎอยู่มากมายในนครธม และเมืองอื่น ๆ ในกัมพูชา และภาคอีสานตอนใต้ของไทย อันเป็นร่องรอยทางอารยธรรมอันเก่าแก่ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเขมร ในพงศาวดารเมืองละแวกได้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กูยไว้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการยกกองทัพไปช่วยเขมรปราบขบถจนได้รับชัยชนะ ทำให้เขมรและกูยมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน
ในส่วนของราชอาณาจักรไทยได้มีการกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กูยไว้ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2200 ตรงกับ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวกูยจากเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ บริเวณนี้ในอดีตเป็นดินแดนที่ปราศจากการปกครองของอาณาจักรใด ๆ กลุ่มชาติพันธุ์กูยจึงปกครองกันเองอย่างอิสระ ต่อมาราว พ.ศ. 2303 สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ พระยาช้างเผือกแตกโรงหนีมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ คณะหัวหน้ากูยได้พาพรรคพวกบริวารออกติดตามจับช้างเผือกส่งคืนแก่สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ จึงมีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” พร้อมพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าปกครองกลุ่มชาติพันธุ์ ในสมัยกรุงธนบุรีคนไทยเรียกชาวกูยว่า “เขมรป่าดง” เพราะสันนิษฐานจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมูลไปจนถึงเมืองจำปาศักดิ์ สาละวัน อัตปือ ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นป่า และอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นดินแดนเขมรป่าดงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 กลุ่มชาติพันธุ์กูยถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานข้าไพร่แผ่นดินสยาม และมีหน้าที่จัดส่งส่วยให้แก่ทางการสยาม ทว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปชายฉกรรจ์ชาวกูยมักหลบหนีการกะเกณฑ์แรงงาน ส่งผลให้การนำส่งส่วย และการเกณฑ์แรงงานเริ่มประสบความยุ่งยาก บางครั้งมีการซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าพนักงงานแล้วหลบหนีเข้าป่า จนเกิดเหตุการณ์กบฏหลายครั้ง เช่น กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2363 (เป็นกบฏของข่า คาดว่าอาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กูย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ข่า” เป็นภาษาลาว มีความหมายว่า “คนรับใช้” ตรงกับคำว่า “ข้า”) เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และอีสานตอนใต้ ทางการสยามมีคำสั่งให้เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพไปปราบปราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรกเกล้าฯ ให้จับสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวชาวกูยโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง (คนงานเกี่ยวหญ้าส่งช้างหลวง) ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนเขตธนบุรี ต่อมาเมื่อรัฐไทยได้เข้าไปทำการจัดเก็บภาษีบริเวณอีสานตอนใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควายส่งไปยังกรุงเทพมหานคร นโยบายการจัดเก็บภาษีดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขขอบเขตภาษีของคนป่า ทำให้ชาวกูยไม่มีสิ่งของเป็นส่วยส่งไปให้ทางการ จนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ชาวกูยจึงได้เอาตัวคนกูยส่งเป็นส่วยแทนสิ่งของ ในสมัยรัชการที่ 5 มีการแผ่ขยายอำนาจของชาติตะวันตกเข้าสู่บริเวณอินโดจีน ทางการไทยจำต้องร่างนโยบายเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะชายแดนอีสานใต้ที่มีการผนวกดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ากับรัฐสยาม ให้ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์เปลี่ยนใช้สัญชาติไทย และบังคับห้ามมิให้ลงช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ชาติส่วย (กูย) ผู้ไท ดังที่เคยปฏิบัติมาเด็ดขาด กล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์กูย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในบริเวณอีสานตอนใต้ ลาวใต้ และกัมพูชาตอนบน (ตะวันออกเฉียงเหนือทะเลสาบเขมร) มีวิวัฒนาการวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เกี่ยวข้องและผสมกลมกลืนกับชนชาติไทยตลอดมา ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กูยตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศีรษะเกษ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และอุบลราชธานี
สำหรับชาวกลุ่มชาติพันธุ์กูยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์สันนิษฐานว่าอพยพมาจากเมืองอัตปือแสนแป ซึ่งอยู่บริเวณริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของลาว คาดว่าอพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แรกตั้งเมืองสุรินทร์นั้นมีชาวกูยอาศัยอยู่ทั่วทั้งเมืองร่วมกับชาวเขมร แต่ด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรที่อยู่สูงกว่าวัฒนธรรมกูย ชาวไทยจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กูยและเขมรที่อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนแถบนี้รวมกันว่า “เขมรสูง” และเรียกชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชาว่า “เขมรต่ำ” จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวกูยที่อาศัยอยู่ปะปนกับทั้งชาวไทย เขมร และลาว ส่งผลให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันด้านวัฒนธรรมระหว่างชาติพันธุ์ มีการผสมผสาน กลมกลืน และยอมรับซึ่งวัฒนธรรมของกันและกัน ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กูยได้รับและถือสัญชาติไทยเกือบทั้งหมดแล้ว รวมถึงรับเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตน
บ้านสังแก ภายใต้การปกครองของตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ เป็นหนึ่งพื้นที่ชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ ที่ปรากฏเป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์กูยในปัจจุบัน ซึ่งคนในชุมชนได้นำเอาอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมที่เคยมีประวัติศาตร์ร่วมกัน ทั้งไทย ลาว และเขมร เข้ามาผสมร่วมกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตนได้อย่างกลมกลืน
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
สภาพที่ตั้งของบ้านสังแก ตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมเพาะปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ โค กระบือ สุกร และไก่ สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าว มีพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากดินในพื้นที่มีลักษณะเป็นดินทรายขาดธาตุอาหาร ใต้ดินมีเกลือหินทำให้ดินเค็มและแห้ง ส่งผลให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร
สถานที่สำคัญ
ศาลเจ้าปู่พราหมณ์
ศาลเจ้าปู่พราหมณ์เป็นศาลประจำชุมชนบ้านสังแก ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ในอดีตศาลปู่พราหมณ์เป็นศาลที่สร้างด้วยไม้ เมื่อ พศ. 2545 ชาวบ้านสังแกได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะสร้างศาลเจ้าปู่พราหมณ์หลังใหม่ด้วยปูนปูพื้นกระเบื้องเคลือบ
สำนักสงฆ์ศรีสังแก
สำนักสงฆ์ศรีสังแก เป็นที่พักชั่วคราวของพระสงฆ์ที่เข้ามาจำวัดที่บ้านสังแก ส่วนใหญ่จะเป็นพระธุดงค์ ในบางครั้งสำนักสงฆ์ศรีสังแกจะถูกใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีกรรมทางความเชื่อของชาวบ้าน
ประชากร
จากข้อมูลการสำรวจประชากร พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวนบ้าน 159 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 664 คน โดยแบ่งเป็นชาย 352 คน และหญิง 312 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 256ถ)
ความสัมพันธ์เครือญาติ
ชาวกูยให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติเป็นอย่างมาก ให้ความเคารพยำเกรงผู้อาวุโส มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การจะตัดสินใจทำอะไรจะต้องผ่านการปรึกษาหารือกับผู้อาวุโสก่อนเสมอ การนับถือเครือญาติของชาวกูยจะนับถือทั้งเครือญาติฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยเครือญาติทั้งสองฝ่ายจะมีศักดิ์และฐานะทางสังคมเท่าเทียมกัน ครอบครัวของชาวกูยบ้านสังแกมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก แต่เมื่อลูกสาวแต่งงาน ลูกเขยจะต้องมาอาศัยอยู่บ้านพ่อแม่ภรรยา ทำให้ขณะนั้นครอบครัวจะมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย เมื่อผ่านไประยะหนึ่งลูกสาวและลูกเขยจึงจะออกมาสร้างบ้านใหม่ของตนเอง แต่ยังอยู่ในอาณาเขตที่ดินของพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่แบ่งเป็นมรดกแก่ลูก ๆ ทว่าลูกสาวคนใดที่อาศัยอยู่ในครอบครัวและคอยดูแลปรนนิบัติพ่อแม่มักจะได้รับส่วนแบ่งมรดกมากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ตามจารีตของชาวกูย ลูกชายมักจะไม่ได้รับทรัพย์สมบัติจากพ่อแม่ เมื่อแต่งงานไปเป็นเขยจึงต้องมานะบากบั่น ขยันทำมาหากิน และให้ความเคารพพ่อตาแม่ยายเปรียบเสมือนพ่อแม่อีกคนหนึ่ง
กูยการประกอบอาชีพ
อาชีพหลัก: อาชีพหลักของชาวกูยบ้านสังแก คือ การทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่การทำนาของชาวบ้านสังแกจะทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น เนื่องจากชุมชนยังต้องอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยหลักในการทำนา เพราะน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำอื่นนั้นไม่เพียงพอ
อาชีพเสริม: ชาวบ้านสังแกมีอาชีพเสริม คือ การทำไร่ และรับจ้าง การทำไร่จะมีไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่สำหรับทำการเกษตรของหมู่บ้านค่อนข้างแห้งแล้ง ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกข้าวโพด และปอ ซึ่งมีระยะเก็บเกี่ยวต่อจากการทำนา เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว พื้นที่ทางการเกษตรจะไม่สามารถใช้การได้ ชาวบ้านจึงจะพากันออกไปรับจ้างในตัวเมือง ต่างจังหวัด และกรุงเทพฯ เช่น รับจ้างตัดอ้อย ก่อสร้าง ทำโรงงาน และลูกจ้างร้านอาหาร นอกจากนี้ยังมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำเส้นใยมาทอเป็นผ้าไหม ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ประจำชุมชน ในการผลิตผ้าไหมของบ้านสังแกนั้น ผลิตขึ้นเพื่อการจำหน่ายสู่ท้องตลาด และเพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้หลังจากการว่างจากการทำไร่ ทำนา และยังเป็นโครงการของกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านสังแก ผ้าไหม 1 ผืน มีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับการลักษณะการยกลาย และความยากง่ายของการมัดลาย พันธุ์ไหมที่ชาวบ้านสังแกนำมาปลูก ได้มาจากเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ สายพันธุ์ Bivoltine เป็นพันธุ์ที่อยู่ในแถบอากาศอบอุ่น โดยนิยมนำมาผสมกับสายพันธุ์ Monovoltine เพื่อให้ได้รังไหมสีขาวที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ Ployvoltine เป็นพันธุ์ไหมที่อยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น และสายพันธุ์บุรีรัมย์
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน: ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการในรูปแบบร้านค้าชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง แชมพู ผงซักฟอก นอกจากนี้ยังมีพืชผักสวนครัวต่าง ๆ เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ ข้าวโพด เป็นต้น
การซื้อขายแลกเปลี่ยนนอกชุมชน: ส่วนใหญ่เป็นผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ปอ ข้าวโพด รวมถึงพืชผักสวนครัวต่าง ๆ ที่นำออกไปขายต่างชุมชน และตลาดในตัวเมือง
องค์กรดำเนินกิจกรรมชุมชน
บ้านสังแกมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มเลี้ยงสุกร กลุ่มค้าขาย กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มธนาคารข้าว แต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการในการดำเนินงาน มีระเบียบข้อบังคับ และจัดทำบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานให้สมาชิกภายในกลุ่มสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประจำชุมชนต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมกลุ่มอาชีพ การรณรงค์กำจัดยุงและสำรวจลูกน้ำยุงลาย การจัดงานตามเทศกาลวันสำคัญ มีการจัดตั้งกองทุนเงินสัจจะ และกองทุนเงินฌาปนกิจ เป็นต้น
ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ชาวกูยบ้านสังแกนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชุมชน ขณะเดียวกันก็ยังมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ทั้งผีสางเทวดา และความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อเหล่านี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวกูยตั้งแต่เกิดจนตาย มีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ต่าง ๆ เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น ชาวกูยให้ความเคารพผีบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก ทุกปีจะต้องมีการประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยการนำเอาข้าวสุก เหล้า เนื้อสัตว์ กรวยใบตอง ผ้า เงินสลึง หมากพลู นำมาวางไว้ใต้หิ้งบูชา แล้วเริ่มประกอบพิธีโดยการนำเอาน้ำตาลมาโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าวสุก แล้วกล่าวอธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครองตนเองและครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง ในระดับชุมชนจะมีการประกอบพิธีกรรมที่ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน คือ ศาลเจ้าปู่พราหมณ์ เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงนอบน้อมต่อผีบรรพบุรุษผู้ปกป้องคุ้มครองผู้บ้าน โดยจะกระทำเป็นประจำทุกปีสม่ำเสมอ นอกจากผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวกูยยังมีความเชื่ออื่น ๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ เช่น ผีปอบ ผีเจ้าเข้าทรง
ผีปอบ ตามความเชื่อของชาวกูย ผีปอบถือเป็นผีชั้นต่ำ เป็นวิญญาณร้ายที่เกิดจากคาถาอาคม ไสยศาสตร์มนต์ดำ มีฤทธิ์ทำให้คนเจ็บป่วย คลุ้มคลั่ง กระทั่งเสียชีวิตในที่สุด หากคนในหมู่บ้านมีอาการเจ็บป่วยซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีปอบ ชาวบ้านจะเชิญครูบามาประกอบพิธีกรรมไล่ผีปอบออกจากร่าง
ผีเจ้าเข้าทรง เป็นการนับถือผีเพื่อเสี่ยงทาย และพิสูจน์หาความกระจ่างเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นกับคนในชุมชน ตลอดจนหาวิธีแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ผีเจ้าเข้าทรงของชาวกูยมี 2 ลักษณะ คือ แกลออ และแกลมอ
แกลออ เป็นการประทับทรงวิญญาณชั้นสูง เช่น ปู่ตา เทพารักษ์ เจ้าที่ มีผู้ทำพิธีเชิญวิญญาณประทับทรงเพียงคนเดียว เมื่อประทับทรงแล้วคนทรงจะบอกเล่าเรื่องราวหรือสาเหตุแห่งความเจ็บป่วย พร้อมทั้งวิธีแก้ไข
แกลมอ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพชน ชาวกูยเชื่อว่าทุกคนจะมีดวงวิญญาณบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา ทุกปีจะมีการจัดพิธีกรรมการแสดง “แกลมอ” เพื่อบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจและรักษาผู้ป่วยไข้ การแสดงแกลมอเป็นพิธีกรรมที่ส่งผลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นในชุมชน พิธีกรรมจะเริ่มจากการอัญเชิญดวงววิญญาณบรรพบุรุษให้เข้ามาประทับร่างคนทรง จากนั้นให้ลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีมาผูกข้อมือให้คนทรงพร้อมแจ้งความประสงค์ที่ได้อัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมา เสร็จแล้วคนทรงจะดื่มกินเครื่องสังเวย แล้วลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบ ๆ เครื่องสังเวย ช่วงเวลานี้ผู้ร่วมพิธีกรรมจะมีอาการสั่นเทิ้ม ลุกขึ้นฟ้อนรำรอบเครื่องสังเวยเช่นเดียวกับคนทรง
ชาวกูยมีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตลอดทุกช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ได้แก่ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด พิธีกรรมเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู พิธีกรรมการบวช พิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงาน และพิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย
พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด ชาวกูยมีคำที่ใช้เรียกการเกิดว่า “กูอั้ว” ในภาษาอีสานเรียกว่า “การอยู่กรรม” หรือภาษาไทยกลาง คือ “การอยู่ไฟ” เป็นเวลาประมาณ 7-15 วัน ตามความเชื่อเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น โดยจะมีกฎข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามความเชื่อ เมื่อครบกำหนดการอยู่ไฟแล้วจะมีการประกอบพิธีกรรม “ปะซากอนงาน” หรือ “พิธีรับขวัญเด็ก” คือการผูกข้อมือให้เด็กและแม่ มีการตั้งชื่อเด็ก และอวยพรให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
พิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงดู และการอบรมบุตร สังคมชาวกูยในอดีต เมื่อบุตรเติบโตขึ้นพ่อแม่จะพาบุตรไปพบพระที่วัด หรือผู้มีความสามารถทางไสยศาสตร์ ให้ผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์หรือตระกรุด หรือมอบพระเครื่องให้เป็นวัตถุมงคลประจำตัวปกป้องคุ้มครองบุตรหลานให้รอดพ้นจากการกระทำคุณไสย และโรคภัยไข้เจ็บ
พิธีกรรมการบวช เชื่อว่าเป็นการทดแทนบุญคุณของบิดามารดา และเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อลาสิกขาบทแล้วมักจะแต่งงาน เพราะเชื่อว่าผู้ที่ผ่านการบวชแล้ว จะสามารถเป็นคนดีของสังคม และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี
พิธีกรรมเกี่ยวกับการสมรส พิธีการสมรสของชาวกูยมีลักษณะเฉพาะในขั้นตอนการสู่ขอ ฝ่ายชายจะนำสินสอดมาวางให้ครึ่งหนึ่งจากที่ฝ่ายหญิงเรียกไป และอีกครึ่งหนึ่งไว้เป็นข้อผูกพันของผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย เรียกว่า “การแขวนขอ” หากว่าทั้งคู่สามารถอยู่ร่วมกันได้ดีจะไม่มีการเรียกร้องเอาสินสอดที่เหลือ แต่หากอยู่ร่วมกันไม่ได้ฝ่ายชายจะต้องนำสินสอดที่เหลือมาวางให้ฝ่ายหญิง การแต่งงานของชาวกูยจะทำในช่วงเดือนคู่ โดยเฉพาะช่วงเดือน 4 และเดือน 6 (เดือนมีนาคม และพฤษภาคม) การสมรสของชาวกูยจะมีการประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญด้วยภาษากูยในบทเริ่มต้น และให้พรในตอนท้าย หลังจากพิธีสู่ขวัญ หมอสู่ขวัญจะป้อนไข่ขวัญทำนายชีวิตคู่จากไข่และไก่ต้ม ผู้ร่วมงานผูกข้อมือ ส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องหอ และร่วมรับประทานอาหารตามประเพณี
ประเพณีเกี่ยวกับการตาย การตายเป็นขั้นตอนในวาระสุดท้ายของชีวิต ชาวกูยเชื่อว่าเป็นการส่งผู้ตายได้ให้ไปเกิดใหม่ จึงมีการจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปเผาพร้อมศพ เช่น เสื้อผ้า ถ้วย ชาม เป็นต้น
เนื่องจากชุมชนบ้านสังแก ตำบลแตล เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมอย่างกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมของชาวกูยกับชาติพันธุ์อื่น ทั้งเขมร ลาว และไทย ทำให้ในรอบ 1 ปี ชาวกูบ้านสังแกมีประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับประเพณีฮีต 12 ซึ่งเป็นประเพณี 12 เดือนของชาวไทยอีสาน แตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังตารางแสดงประเพณีพิธีกรรมในแต่ละเดือนของชาวกูยต่อไปนี้
เดือนตาม ปฏิทินสุริยคติ | เดือนตาม ฮีตสิบสอง | ฮีตสิบสองของ ชาวไทยอีสาน | ฮีตสิบสองของ ชาวกูย |
ธันวาคม | อ้าย | บุญข้าวกรรม | - |
มกราคม | ยี่ | เข้าปริวาส | เซาะพาแทน |
กุมภาพันธ์ | สาม | บุญคูณลาน | แซนยะจูฮ์ |
มีนาคม | สี่ | บุญข้าวจี่ | บุญมาฆะ |
เมษายน | ห้า | บุญพระเวส | - |
พฤษภาคม | หก | บุญสงกรานต์ | แซนยะจูฮ์ |
มิถุนายน | เจ็ด | บุญบั้งไฟ | - |
กรกฎาคม | แปด | บุญเข้าพรรษา | แซนยะจูฮ์เพรียม |
สิงหาคม | เก้า | บุญซำฮะ | กันซง |
กันยายน | สิบ | บุญข้าวสาก | แซนโฏนตา |
ตุลาคม | สิบเอ็ด | บุญออกพรรษา | หลอฮ์พสา |
พฤศจิกายน | สิบสอง | บุญกฐิน | บุญกฐิน |
การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
บ้านในภาษากูยเรียกว่า “ดุง” วิถีการสร้างบ้านเรือนของชาวกูยจะไม่พิถีพิถันกับการตกแต่ง แต่จะอยู่แบบธรรมชาติมากที่สุด โดยมีความเชื่อในการสร้างบ้านตามคำโบราณว่าพื้นที่ปลูกเรือนต้องมีรูปร่างดุจดวงจันทร์ รูปเรือสำเภาหรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ลักษณะการตั้งเรือนจะต้องหันหน้าเรือน และทอดบันไดไปทางทิศตะวันออก เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความสว่างรุ่งเรือง ห้ามหันหน้าเรือนไปทางทิศตะวันตกเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าทิศตะวันตกเป็นทางผ่านของภูตผี และดวงวิญญาณ ปกติจะเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง โดยใช้ส่วนที่เป็นใต้ถุนบ้านสำหรับเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ด้านข้างปลูกเพิงสำหรับเก็บอุปกรณ์ทางการเกษตร ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างบ้านรูปแบบใหม่ทั้งแบบชั้นเดียว และสองชั้น ด้วยปูนและกระเบื้องเคลือบ โดยใช้พื้นที่ว่างในบริเวณบ้านสร้างเป็นยุ้งฉางเก็บข้าว
วัฒนธรรมการแต่งกาย
ผู้หญิงสูงอายุชาวกูยส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน ส่วนหญิงวัยกลางคนจะสวมเสื้อคอกระเช้าขณะอยู่บ้าน เมื่อออกไปร่วมงานบุญ หรืองานเทศกาล จะสวมเสื้อที่ตัดด้วยผ้าไหมมีแขนทับ และสวมผ้าถุงที่ตัดด้วยผ้าไหม ชายวัยกลางคนนิยมสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทั้งขณะอยู่บ้านและออกไปข้างนอก ส่วนชายสูงอายุขระอยู่บ้านจะสวมกางเกงหม้อฮ่อมขาสั้น ไม่สวมเสื้อ เมื่ออกไปร่วมงานบุญ หรือออกไปทำธุระนอกชุมชนจะสวมกางเกงขายาว เสื้อแขนยาว บางครั้งจะใช้ผ้าขาวม้าพาดคอ
ผ้าไหมบ้านสังแก
บ้านสังแก ตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีแรงบันดาลใจจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีน้ำพระหฤทัยสนับสนุนกลุ่มทอผ้าทั่วทุกภาค จึงได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา
วัสดุอุปกรณ์
1. กี่กระตุก
2. กระสวยทอผ้า
3. เส้นไหม
4. ระหัดปั่นไหม
5. จะหวัก
6. เกลียวไหม
ขั้นตอนการทอผ้าไหม
ก่อนทอผ้าไหมต้องมีการเตรียมไหม โดยนำตัวไหมที่มีรังหุ้มอยู่มาต้มเพื่อที่จะนำใยที่หุ้มตัวไหมอยู่ออกมาในรูปของเส้นไหม ด้วยกระบวนการสาวไหม ฟอกไหม ย้อมสีไหม (ย้อมสีธรรมชาติ และสีสังเคราะห์) ภายหลังเตรียมเส้นไหมเรียบร้อยแล้ว จะมีขั้นตอนในการเตรียมไหมสำหรับทอ หลังจากได้ไหมที่ฟอกและย้อมสีแล้ว นำไหมที่ได้มากวักไหมจากกงมาใส่อัก แล้วย้ายไปใส่โบก จากนั้นนำไหมจากโบกมาใส่หลอดโดยใช้หลาเป็นเครื่องมือในการปั่นไหมเพื่อให้ได้ไหมหลอดที่มีขนาดพอดีสำหรับนำมาใส่กระสวยพร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิต
การทอผ้าไหมของบ้านสังแกนั้น เป็นการผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายสู่ท้องตลาด และเพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ของคนในชุมชนช่วงว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ผ้าไหมของชาวบ้านสังแกมีอยู่หลายลาย โดยแต่ละลายจะมีราคาที่แตกต่างกันตั้งแต่ 1,000-1,500 บาท/ ผืน ขึ้นอยู่กับลักษณะการยกลาย หรือความยากง่ายของการมัดลายไหม ได้แก่ ลายยำเหมือ ลายตาชั่งหรือลายเทพ ลายเทียน ลายเต่างับ ลายกระยำ ลายหนวดกุ้งนางผสมลายเทียน และลายนกยูงกับดอกกระเจียว ขายราคาผืนละ 1,300 บาท ลายสับปะรด ลายจาน (ภาษาถิ่นเรียกลายโขม) ลายกุ้ง ราคาผืนละ 1,400 บาท และลายแมงมุม ราคผืนละ 1,500 บาท
ภาษาพูด: ภาษากูย ภาษาไทยอีสาน ภาษาอีสาน (ใช้ในการติดต่อสื่อสารทางราชากร)
ภาษาเขียน: ชาวกูยไม่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง ฉะนั้นชาวกูยบ้านสังแกจึงใช้อักษรไทยเป็นภาษาเขียน
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566].
บัญญัติ สาลี. (2558). กูย: ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และตำนาน. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 1(1), 34-46.
ปิยะพันธ์ สรรพสาร. (2546). วิเคราะห์บทสู่ขวัญของชาวกูย อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์. ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
วันชัย คำพาวงศ์. (ม.ป.ป.). การศึกษาเปรียบเทียบพิธีกรรมการเล่นแกลมอของกลุ่มชาวกูยบ้านตรึม และกลุ่มชาวกูยบ้านแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ (รายงานการวิจัย). สาขาปรัชญา สภาวิจัยแห่งชาติ.
วิคคนารักษ์. (2556). ประวัติบ้านสังแก. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://surinsilk-srru.blogspot.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].
เอกวิทย์ จิโนวัฒน์. (2526). ศึกษาเปรียบเทียบการสร้างคำในภาษากูย บรู และโซ่. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษร ศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php