Advance search

จากตลาดค้าปลาพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าส่งและค้าปลีกดอกไม้สดนานาชนิด รวมทั้งผัก ผลไม้จากสวนเกษตรไทยที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสะพานพระพุทธยอดฟ้า ร้านพันธุ์พฤกษาสุดชิค และคาเฟ่สุดคลาสสิก ตอบโจทย์วัยรุ่นสายชิลที่ต้องการเก็บภาพถ่ายสวย ๆ เดินเที่ยวเล่นถ่ายรูปในมุมต่าง ๆ รับประทานอาหารโฮมเมด ชมพระอาทิตย์ตกได้ครบจบที่ปากคลองตลาด

ถนนจักรเพชร
วังบูรพาภิรมย์
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0 2281 8124
วิไลวรรณ เดชดอนบม
8 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2025
ปากคลองตลาด

ย้อนไปในสมัยกรุงธนบุรี ยุคนั้นมีคลองชื่อว่า "คลองใน" หรือ "คลองคูเมือง" ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 คลองในก็กลายเป็น "คลองคูเมืองเดิม" จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อคลองคูเมืองเดิมทางด้านใต้ เป็น "คลองตลาด" เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ทั้งทางบกและทางน้ำตั้งอยู่ ราษฎรจึงเรียกกันติดปากว่า "ปากคลองตลาด"


จากตลาดค้าปลาพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าส่งและค้าปลีกดอกไม้สดนานาชนิด รวมทั้งผัก ผลไม้จากสวนเกษตรไทยที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสะพานพระพุทธยอดฟ้า ร้านพันธุ์พฤกษาสุดชิค และคาเฟ่สุดคลาสสิก ตอบโจทย์วัยรุ่นสายชิลที่ต้องการเก็บภาพถ่ายสวย ๆ เดินเที่ยวเล่นถ่ายรูปในมุมต่าง ๆ รับประทานอาหารโฮมเมด ชมพระอาทิตย์ตกได้ครบจบที่ปากคลองตลาด

ถนนจักรเพชร
วังบูรพาภิรมย์
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
10200
13.741697491389926
100.4963742580121
กรุงเทพมหานคร

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระประสงค์ที่จะขยายราชธานีออกไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองขึ้น คือ คลองตลาดไปออกคลองโรงไหม (ปัจจุบัน คือ คลองหลอด) โดยในสมัยนั้นเรียกว่า "คลองคูเมือง" หรือ "คลองใน" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครใหม่ โดยทำเลที่สร้างพระนครใหม่นี้อยู่ใกล้กับกรุงธนบุรี คือ ตรงกันข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองให้กว้างและลึกขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือและทิศใต้ แล้วเรียกคลองนี้ว่า "คลองคูเมืองเดิม" โดยคำว่า "เดิม" นั้น หมายถึง กรุงธนบุรี แต่ชาวบ้านนิยมเรียกคลองนี้ทางด้านใต้ว่า "คลองตลาด" เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ทั้งทางบกและทางน้ำตั้งอยู่ ส่วนทางด้านเหนือเรียกว่า "คลองโรงไหม" เพราะมีโรงไหมหลวงตั้งอยู่

ครั้นล่วงถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรียกบริเวณนี้ว่า "ตะพานปลา" เนื่องจากปากคลองตลาดในขณะนั้นเป็นตลาดขายปลา ดังปรากฏในนิราศปากกลัดของคุณหญิงเขื่อนเพชรเสนา (ส้มจีน อุณหะนันท์) ซึ่งแต่งไว้เมื่อ ร.. 112 (.. 2436) ที่มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงตลาดปลาที่คลองตลาดว่า "มาถึงคลองตลาดตามราษฎร์เรียก กลิ่นปลาเปียกฉุนล้นทนไม่ไหว"

อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่าตลาดปลา แต่ก็มีสินค้าประเภทอื่นจำหน่ายด้วย เช่น พริก กะปิ หอม กระเทียม ฯลฯ แต่ในช่วงต่อมาได้มีการประกาศยกเลิกตลาดปลาแห่งนี้ เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าไม่ควรมีกลิ่นคาวปลาคละคลุ้งไปทั่วบริเวณพระราชวัง จึงโปรดให้ย้ายตลาดปลาไว้บริเวณตำบลวัวลำพอง (ปัจจุบัน คือ หัวลำโพง) และนำตลาดผักผลไม้จากฝั่งธนบุรีมาขายบริเวณท้ายพระราชวังแทน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้มีการพัฒนาบ้านเมืองอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตัดถนน การพัฒนาถนนระยะแรกในรัชกาลนี้จะเริ่มจากพระบรมมหาราชวังหรือบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นเขตชั้นในของเมืองหรือภายในกำแพงเมืองส่วนใหญ่จะยึดถือแนวเส้นทางสัญจรเดิมเป็นหลัก และบางแห่งก็เกิดจากการยุบพื้นที่วังสร้างเป็นถนน จากนั้นจึงเริ่มตัดออกสู่เขตรอบนอก ถนนเส้นหนึ่งที่ตัดขึ้นภายในเขตกำแพงเมืองเดิม ได้แก่ ถนนจักรเพชร ซึ่งเป็นถนนเลียบกำแพงเมืองด้านใต้ใกล้ปากคลองตลาด เริ่มตั้งแต่ปากคลองตลาดไปจนถึงป้อมจักรเพชร นอกจากนี้ใน พ.. 2426 ยังได้ตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามวัดเลียบ ในระยะใกล้ ๆ กันนั้นการไฟฟ้าและการรถรางของไทยก็ได้เริ่มขึ้นด้วย และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็ถูกสร้างขึ้นบริเวณใกล้กับวัดเลียบด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ซึ่งเป็นตลาดปากคลองในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนกลางมาก่อน หลังจากโรงเรียนได้ถูกรื้อลงจึงมีการสร้างอาคารขึ้น ทว่าก่อนหน้าที่จะมีการสร้างตึกในบริเวณปากคลองตลาดนี้ ภาพของการค้าขายบริเวณปากคลองได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยในสมัยเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว ปากคลองตลาดเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าริมน้ำ ประกอบกับพ่อค้าแม่ค้าจากที่อื่นพายเรือมาชุมนุมกันในบริเวณนี้ กลายเป็นตลาดน้ำย่อม ๆ ส่วนมากเป็นเรือที่มาจากสวนแถบบางกรวย นนทบุรี พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาชุมนุมค้าขายดังกล่าวนั้นจะไม่อาศัยท่าปากคลองเป็นที่ทำการซื้อขายถาวร หากแต่เคลื่อนที่ไปมาระหว่างปากคลองตลาดกับท่าเตียน กล่าวคือ พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาจากสวนต่าง ๆ ทางฝั่งธนบุรีจะอาศัยท่าเตียนบ้าง ท่าปากคลองตลาดบ้างเป็นที่ชุมนุมซื้อขายสินค้า ในอดีตสมัยที่ผู้คนนิยมเดินทางและค้าขายทางเรือบริเวณท่าเตียนและท่าปากคลองตลาดดังกล่าวจึงเป็นแหล่งชุมนุมของเรือสินค้า เรือแจว รวมทั้งเรือนแพของประชาชน

ความเจริญด้านการคมนาคมขนส่งย่านปากคลองตลาดเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลสร้างสะพานเจริญรัช 31 ข้ามคลองคูเมืองด้านใต้ตรงส่วนที่เรียกว่าปากคลองตลาด เมื่อ พ.ศ. 2453 ในปีแรกที่เสด็จขึ้นเสวยราชย์ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า (เรียกย่อ ๆ ว่า สะพานพุทธ) หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์เพื่อเชื่อมพระนครฟากตะวันออกกับกรุงธนบุรีฟากตะวันตก ในวาระฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 พร้อมประดิษฐานพระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 1 ณ ลานเชิงสะพานพุทธฝั่งตะวันออก การสร้างถนน สะพาน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ปากคลองตลาดเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตพระนครตราบจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประชากรในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตลาดที่มีอยู่เดิม เช่น ตลาดท่าเตียน ตลาดนางเลิ้งเกิดความแออัด ไม่เพียงพอในการรองรับความต้องการทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จึงมีพวกพ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งอาศัยบริเวณกำแพงวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เป็นที่จำหน่ายสินค้า โดยสร้างเพิงพักอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าวัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน และยังเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวชมอยู่เป็นประจำ การที่พ่อค้าแม่ค้านำผักผลไม้ต่าง ๆ มาวางจำหน่ายภายในบริเวณพระอารามหลวงดูเป็นการไม่เหมาะสม รัฐบาลจึงได้หาที่ดินสำหรับจัดตั้งตลาดขึ้นใหม่ โดยเลือกใช้พื้นที่บริเวณปากคลองตลาด ด้วยเป็นทำเลที่เหมาะสม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีท่าจอดเรือเพื่อขนส่งสินค้าหลายแห่ง และเป็นสถานที่อยู่ใจกลางเมือง สะดวกในการขนส่งสินค้าจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งทางน้ำและทางบก จึงได้มีการย้ายตลาดบริเวณข้างวัดโพธิ์กับตลาดกรมภูธเรศมารวมอยู่ด้วยกัน โดยให้ทางราชการเป็นผู้ดูแล 

ต่อมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2496 จัดตั้งองค์การตลาด สังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยย้ายตลาดผักผลไม้ไปอยู่บริเวณปากคลองตลาด และจัดตั้งตลาดขึ้นมา เรียกว่า "ตลาดองค์การปากครองตลาด" เป็นตลาดแห่งแรกในบริเวณปากคลองตลาด หลังจากเปลี่ยนสังกัดไปอยู่กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ระยะหนึ่ง ก็ได้ถูกโอนกิจการกลับมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งใน พ.ศ. 2505 ซึ่งนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมากิจการก็เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนปากคลองตลาดกลายเป็นแหล่งค้าขายผักผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ก่อนจะกระจายไปยังพื้นที่อื่นในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดต่อไป

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) รัฐบาลเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน ไฟฟ้า การชลประทาน การสื่อสารคมนาคม ฯลฯ การพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานนี้มีส่วนให้เกิดความเจริญที่ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาชนบทและภาคเกษตรกรรมมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวด้านการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ก็ยิ่งส่งผลต่อการเติบโตของตลาดโดยรวมเช่นกัน ปากคลองตลาดในยุคนี้ยังคงขยายตัวและเติบโตโดยเฉพาะตลาดผลิตผลทางการเกษตรทั้งผักและผลไม้ มีการเข้ามาของตลาดดอกไม้ยุโรปจนเป็นที่นิยมขึ้น แม้ปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) เป็นต้นมา เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเริ่มถดถอย ทว่า ปากคลองตลาดยังคงความเป็นตลาดสดที่เติบโตควบคู่กับการเป็นตลาดดอกไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน

ปากคลองตลาด ตั้งอยู่บริเวณถนนจักรเพชร ยาวไปจนถึงถนนอัษฎางค์และถนนมหาราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ส่วนอีกด้านติดกับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นย่านพาณิชยกรรมเก่าแก่และเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร โดยสินค้าที่ขายในตลาดที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ดอกไม้ ผัก และผลไม้สด ที่ตั้งของย่านปากคลองตลาดตั้งอยู่ใกล้กับสะพานพุทธ ถนนมหาราช เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานมีผู้คนอาศัยอยู่และย้ายเข้าออกเป็นจำนวนมาก ทำให้ย่านปากคลองตลาดมีทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ปากคลองตลาดยังมีลำคลองอีกหลายสายทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและชุดเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคม เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ติดกับย่านปากคลองตลาด ทำให้บริเวณนี้มีการขุดคลองขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากในอดีตนั้นก่อนที่จะมีการตัดถนนเป็นเส้นทางสัญจร เดิมทีกรุงเทพมหานครใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลักทั้งเพื่อการสัญจรและเข้ามาค้าขายในย่านปากคลองตลาด และยังถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการอพยพของผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในย่านนี้ นอกจากนี้ ย่านปากคลองตลาดยังมีอาณาเขตที่ติดต่อกับสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่มากับย่านปากคลองตลาด โรงเรียนราชินี และมิวเซียมสยาม โดยปากคลองตลาดมีตลาดย่อยทั้งหมด 3 ตลาด คือ ตลาดองค์การตลาด ตลาดยอดพิมาน และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย รวมมีขนาดพื้นที่ประมาณ 85,000 ตารางเมตร หรือ 0.1 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ เมื่อกำหนดอาณาเขตติดต่อทั้งสี่ทิศของย่านปากคลองตลาด ปากคลองตลาดจึงมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนอัษฎางค์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สะพานพระพุทธยอดฟ้า
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนอัษฎางค์

สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของย่านปากคลองตลาดเป็นอาคารพาณิชย์ บางหลังสร้างด้วยปูนแบบสมัยใหม่ ส่วนอาคารบางหลังเป็นอาคารไม้แบบสมัยเก่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วบ้านเรือนของในปากคลองตลาดเป็นอาคารพาณิชย์ที่สร้างจากปูน เป็นรูปแบบของตึกสมัยใหม่ สันนิษฐานว่าในอดีตบ้านเรือนในชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นอาคารไม้ทั้งหมด เนื่องมาจากผู้คนในสมัยก่อนไม่นิยมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยปูนด้วยเหตุที่ไม่คุ้นเคย และความคิดที่ว่าสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยปูนนั้นมีเพียงวัดและวังเท่านั้น ถ้าราษฎรอาศัยอยู่บ้านที่เป็นตึกก็จะเป็นการเกินศักดิ์ของตนเกินไป แต่ปัจจุบันนี้ค่านิยมดังกล่าวได้หมดไป บ้านเรือนของประชาชนในปากคลองตลาดจึงเต็มไปด้วยตึกและอาคารที่ก่อสร้างด้วยปูน (ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์, ...)

เนื่องจากย่านปากคลองตลาดเป็นย่านพาณิชยกรรมอย่างเต็มตัว ทำให้ประชากรในย่านไม่ได้มีความหลากหลายทางอาชีพ แต่จะแตกต่างกันที่กรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินในย่าน โดยแบ่งตามตลาดที่ตนเองทำกิจกรรมอยู่ ซึ่งปากคลองตลาดแบ่งย่อยตลาดเป็น 3 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดองค์การตลาด ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย และตลาดยอดพิมาน ซึ่งทั้ง 3 ตลาดมีประชากรที่เป็นทั้ง เจ้าของกรรมสิทธิ์บ้าน อาคารต่าง ๆ เอง และลูกจ้างที่เข้ามาทำกิจกรรมในย่านปากคลองตลาด โดยประชากรส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในวัยทำงานที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ รองลงมาจะเป็นกลุ่มคนเก่าแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่เป็นเจ้าของบ้าน อาคารที่ทำกิจกรรมเอง (ปาริษา มูสิกะคามะ, 2551)

ความสัมพันธ์ของคนในย่านปากคลองตลาดถึงแม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นลักษณะค้าขายแข่งขัน แต่เนื่องจากความใกล้ชิดและการอยู่อาศัยด้วยกันในระยะเวลานาน ทำให้มีความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีการรวมกลุ่มใกล้ชิดกัน รูปแบบความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มของย่านปากคลองตลาดเป็นความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ คือ มีความสนิทสนมกัน รู้จักกันเป็นอย่างดี มีการช่วยเหลือกัน และมีการรวมกลุ่มตามลักษณะของที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นตึกแถวที่ก่อสร้างมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในย่านที่มีความรู้จักคุ้นเคยกันมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ภายหลังการพัฒนาระบบการคมนาคมทางบกและการรวมตลาดบริเวณข้างวัดโพธิ์กับตลาดกรมภูธเรศมารวมกันที่ปากคลองตลาดในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้ย่านปากคลองตลาดเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงตลาดปลา พัฒนาสู่ตลาดที่มีการค้าขายผัก ผลไม้ ของสด และยังกลายเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

ประชาชนย่านปากคลองตลาดมีอาชีพค้าขายเป็นหลัก โดยสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ดอกไม้ผัก และผลไม้ ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมเมืองเกิดการพัฒนามากขึ้น คนรุ่นหลังในชุมชนเริ่มหันเหไปประกอบอาชีพในภาคราชการและบริษัทเอกชนบ้าง ทว่า ทุกวันของปากคลองตลาดนับตั้งแต่เวลากลางวันถึงเวลาดึกไม่เคยหยุดนิ่ง มักจะมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายดอกไม้ปลีก ร้อยพวงมาลัยขาย หรืออาจจะเปิดร้านดอกไม้รับจัดดอกไม้เป็นช่อ ต่างก็ต้องเดินทางมาซื้อดอกไม้ราคาส่งจากปากคลองตลาด ดอกไม้จากแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศล้วนถูกส่งมารวมกันที่ปากคลองทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่พ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้จะสามารถเลือกหาดอกไม้สวยและสดเพื่อไปบริการลูกค้าของตนอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ปากคลองตลาดยังเป็นศูนย์รวมของผักและผลไม้สดจากสวนของเกษตรกรไทย เนื่องมาจากปากคลองตลาดมีท่าเรือขนถ่ายสินค้า ซึ่งส่งผลให้สินค้าทางเรือจากทั่วประเทศถูกส่งขึ้นที่ตลาดปากคลองนี้ทั้งสิ้น 

ปากคลองตลาดมีตลาดอยู่ในเขตพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดองค์การตลาด ตลาดของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีซอยท่ากลางเป็นจุดขายผัก ผลไม้ และอื่น ๆ บริเวณนี้มีผู้คนขวักไขว่ เพราะเป็นบริเวณที่ใช้ขนถ่ายสินค้าและมีที่จอดรถ ตลาดยอดพิมาน ตลาดเอกชนที่อยู่ถัดจากซอยท่ากลาง ภายในมีทั้งร้านอาหาร คาเฟ่และแหล่งช็อปปิงขนาดย่อม ๆ และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย ตลาดเอกชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดองค์การตลาดและตลาดยอดพิมาน เป็นแหล่งรวมสินค้าจากเกษตรกรต่าง ๆ ทั้งแบบค้าส่งและค้าปลีก

ปัจจุบันปากคลองตลาดเป็นตลาดกลางขายส่งผัก ผลไม้ และดอกไม้ ซึ่งเปิดขายทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงโดยเป็นตลาดกลางที่ขายดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ที่ปากคลองตลาดแห่งนี้ยังมีช่างฝีมือร้อยมาลัยประดิษฐ์ดอกไม้ตามแบบไทยวางขายกันดาษดื่น

.ศ. 2559 กรุงเทพมหานครได้ประกาศจัดระเบียบพื้นที่รุกล้ำบนทางเท้า ทางสาธารณะหลายจุด ส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าบริเวณปากคลองตลาดที่วางขายสินค้าบนทางเท้าได้รับผลกระทบไม่สามารถวางขายได้ต่อไปอีก แต่ทั้งนี้ทางสภากรุงเทพมหานครได้จัดพื้นที่รองรับไว้บริเวณตลาดใกล้เคียง เช่น ตลาดยอดพิมาน

ปากคลองตลาดเป็นย่านที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน รวมถึงชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชาซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เข้ามาประกอบอาชีพรับจ้าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะประชากรที่มาจากถิ่นฐานภูมิลำเนาที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก ส่งผลให้ในย่านปากคลองตลาดปรากฏการนับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ และยังส่งผลสืบเนื่องไปถึงประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็มีการดำเนินไปตามหลักศาสนาพุทธ นอกจากนี้ ในย่านปากคลองตลาดยังมีศาลตั้งอยู่ภายในย่าน ทั้งศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ศาลสมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาถ (บุญมา) 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย


ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม่น้ำ ลำคลอง ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีพ รวมถึงการค้าขายด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งปากคลองตลาดถือเป็นที่ตั้งที่เหมาะสมกับลักษณะทางเศรษฐกิจตั้งแต่ในช่วงนั้น ซึ่งมีทั้งการค้าขายสินค้าที่เป็นของคนในพื้นที่ โดยเป็นตลาดปลาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม นอกจากนี้ยังค้าขายกับทั้ง ชาวจีน ชาวมอญ เขมร ซึ่งต่อมามีสินค้าจากคนในพระนครและบริเวณโดยรอบเข้ามาขาย ไม่ว่าจะเป็นส้มจากบางมด ทุเรียนจากเมืองนนท์ ส่งผลให้ปากคลองตลาดมีสินค้าหลากหลายประเภทเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงปลาอย่างเดียว โดยในยุคแรกของปากคลองตลาดเป็นตลาดที่เน้นขายกับการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก เนื่องจากการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวกและไม่เป็นที่นิยม โดยกรรมสิทธิ์ของพ่อค้า แม่ค้าอาจจะเป็นการเช่าที่พื้นที่ในย่านปากคลองตลาดจากเจ้านาย ขุนนาง หรือจากวัด

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศอังกฤษในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่งผลให้สยามเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และส่งผลโดยตรงกับการพัฒนาย่านปากคลองตลาด โดยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น แหล่งการค้าหรือย่านการค้าต่าง ๆ มีการเติบโตอย่างมาก เกิดเป็นกิจกรรมที่มีความสม่ำเสมอและเป็นที่รู้จักไปยังพื้นที่รอบข้างและใกล้เคียงของย่าน ทำให้การค้าทางน้ำมีความอยู่ตัวมากขึ้น และเมื่อหลังจากมีการประกาศเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ประชาชนเริ่มมีอิสระในการประกอบอาชีพ โดยมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานรอบบริเวณย่านปากคลองตลาดอย่างถาวร ประกอบกับการพัฒนาการคมนาคมทางบกทำให้การเข้าถึงพื้นที่ย่านปากคลองตลาดสะดวกมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าขาย สินค้ามีการกระจายตัวส่งสินค้าออกได้อย่างสะดวกและกว้างขวางกว่าเดิม โดยพ่อค้า แม่ค้าส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มข้าราชบริพารเดิมที่ไม่ได้ทำงานในวังแล้วและพอมีทุนทรัพย์ จึงนำไปลงทุนซื้อหาสินค้าเข้ามาขายที่ปากคลองตลาด ขณะเดียวกันการขยายตัวของเมืองยังส่งผลให้ย่านปากคลองตลาดมีชาวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ ทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้กับคนภายนอกมากขึ้นด้วย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของย่านปากคลองตลาด ทั้งรูปแบบการค้าที่แตกต่างจากในอดีต รูปแบบทางสังคมมีประชากรมาจากหลากหลายพื้นที่เข้ามารวมตัวกันจนเกิดเป็นชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

.. 2491 เป็นต้นมาถือเป็นยุคพัฒนาของปากคลองตลาด รัฐบาลมีการจัดระเบียบเพื่อให้ย่านปากคลองตลาดได้ทำการค้าขายได้สะดวกขึ้น และในยุคนี้เป็นช่วงที่ปากคลองตลาดได้กลายเป็นตลาดค้าดอกไม้หลักของกรุงเทพมหานคร จนเมื่อพูดถึงดอกไม้ คงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงปากคลองตลาดเป็นลำดับแรก ๆ โดยดอกไม้ที่วางขายในปากคลองตลาดนั้นมีมากมายหลายชนิดทั้งดอกไม้สายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ อาทิ ดอกกุหลาบ ดาวเรือง มะลิ ทิวลิป ลิลลี เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของปากคลองตลาด คือ เป็นตลาดที่ไม่มีเวลาปิด โดยจะเปิดทำการตลอดทั้งวัน ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นร้านดอกไม้ ร้านอาหาร ร้านขายผักและผลไม้ สำคัญ คือ ดอกไม้นานาพรรณเหล่านี้เป็นดอกไม้ที่ปลูกโดยเกษตรไทย ฉะนั้นยิ่งปากคลองตลาดเติบโตและเป็นที่นิยมมากเท่าไร เกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้ ผัก ผลไม้ ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ที่ส่งมาขายยังตลาดแห่งนี้ก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

"ปากคลอง Pop-Up" กิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อฟื้นชีวิตย่านปากคลองตลาดหลังการระบาดของโควิด 19

ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ปากคลองตลาดเกิดความซบเซาอย่างหนัก เมื่อความหวาดกลัวต่อโรคระบาดดังกล่าวเริ่มซาลงจึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความคึกคักแก่ย่านปากคลองตลาดโดยอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมมือกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดงาน "ปากคลอง Pop-Up" กิจกรรมหนึ่งใน Bangkok Design Week

ภายในงานประกอบไปด้วยโปรเจกต์และกิจกรรมจากนักสร้างสรรค์กระจายครอบคลุมทั่วทั้งย่านปากคลองตลาด มีการนำดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบในงานออกแบบตามจุดต่าง ๆ แต่ละจุดจะมีงานออกแบบสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น สวนไปรสนียาคารที่ฉายไฟขึ้นไปบนอาคาร เกิดลูกเล่นที่สวยงาม หรือบริเวณร้านดอกไม้ที่ใช้ตัวการ์ตูนดอกไม้มาช่วยตกแต่งให้หน้าร้านเกิดความน่ารัก สดใสขึ้น หรือจะเป็นการนำเทคโนโลยี AR เข้ามาใช้ในการสร้างสรรค์กิจกรรม โดยรวมเอาดอกไม้ทุกชนิดที่มีการบันทึกไว้ของปากคลองตลาดมาจัดแสดงในแจกันอิเล็กทรอนิกส์ โดย Interactive Screen ของตัวแจกันอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ทุกการขยับตัวของเราบนจุดมาร์กที่กำหนดส่งผลให้ภาพดอกไม้กว่า 50 ชนิดข้างในแจกันขยับไปในทิศทางที่ต้องการ ทำให้ดอกไม้เหล่านี้คงสถานะเหนือกาลเวลา แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความสำคัญของปากคลองตลาดที่อยู่กับช่วงชีวิตคนไทยมาเป็นเวลานาน

สะพานพระพุทธยอดฟ้า

"สะพานพระพุทธยอดฟ้า" หรือ "สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์" หรือ "สะพานพุทธ" เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในงานสมโภชพระนคร 150 ปี ด้วยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าในโอกาสที่สำคัญที่ควรจะมีการสร้างอนุสรณ์ 2 สิ่ง ได้แก่ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ปฐมบรมราชานุสรณ์) และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งพระนครเข้ากับธนบุรี เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่มหาชน

กรมศิลปากร. (2525). จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. สหประชาพาณิชย์.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (...). ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/

กษิภัท ขําสุวรรณ. (2565). บทบาทและการเปลี่ยนแปลงของย่านปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นภัสวรรณ สุภาวรรณ. (2559). ประสิทธิผลของการนำนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานครไปปฏิบัติ: กรณีศึกษา พื้นที่ปากคลองตลาด. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. (17 มิถุนายน 2559). พระปฐมบรมราชานุสรณ์. ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://seaarts.sac.or.th/

ปดิวลดา บวรศักดิ์. (13 กุมภาพันธ์ 2567). ย้อนดูพัฒนาการ ปากคลองตลาดจากตลาดปลาสู่แหล่งขายดอกไม้ชื่อดัง!. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/

ปราณี กล่ำส้ม. (2549). ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่มที่ 1. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ด่านสุทธาการพิมพ์.

ปาริษา มูสิกะคามะ. (2551). พลวัตเชิงพื้นที่และการฟื้นฟูบูรณะย่านพาณิชยกรรมเก่าริมน้ำ กรณีศึกษาย่านปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปิติ พิเชษฐพันธ์. (2559). โครงการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาย่านการค้าปากคลองตลาด. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ปิยนาถ บุนนาค ดวงพร นพคุณ และ สุวัฒนา ธาดาปิติ. (2525). คลองในกรุงเทพฯ: ความเป็นมา การเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ในรอบ 200 ปี (.. 2325-2525). โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มติชนสุดสัปดาห์. (22 กรกฎาคม 2550). ปริศนาโบราณคดี : ดอกไม้กับมนุษย์ฟื้นตำนาน(ก่อนปิด) ปากคลองตลาด” (1). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.matichon.co.th/

มณิสร วรรณศิริกุล เจนวิทย์ สุธนะสิริชัย และ อาภาภัทร สังข์สมุทร. (7 กุมภาพันธ์ 2566). ปากคลอง Pop-Up ครั้งแรกของ Bangkok Design Week ที่มีตัวเอกเป็นตลาดดอกไม้. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://urbancreature.co/

มนัสวี จิตรมณี. (2547). ปากคลองตลาด : การสืบเนื่องและการปรับตัวของตลาดสดดอกไม้ กรณีศึกษา ตลาดดอกไม้ย่านปากคลองตลด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร. ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ลิลลี่ คู. (3 พฤษภาคม 2561). เรื่องเล่าของแม่ ปากคลองตลาด และสังคมพระนครในยุคจอมพลสฤษดิ์. The Standard. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://thestandard.co/

วริทธิ์ ลิ้มเจริญ. (8 กุมภาพันธ์ 2567). ตีความดอกไม้ใหม่กับปากคลองตลาดที่เปลี่ยนไปใน Bangkok Design Week 2025. The Standard. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://thestandard.co/

ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (...). ชุมชนปากคลองตลาด. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. (...). สะพานพระพุทธยอดฟ้า. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2568, จาก https://publicspace.bangkok.go.th/

สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2549). น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). เอ็น เอส พี พรินติ้ง กรุ๊ป.

อรศิริ ปาณินท์. (2527). การอนุรักษ์และพัฒนาย่านธุรกิจริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ห้องสมุด มสธ.. (...). ๑๓๐ ปี ประชาธิปก : สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ของสยาม. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2568, จาก https://library.stou.ac.th/

DDproperty. (3 ธันวาคม 2560). เดิน เที่ยว กิน ที่ปากคลองตลาด. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2568, จาก https://www.ddproperty.com/

Her everyday - content นี้จะพลาดได้ไง. (5 กรกฎาคม 2568). ปากคลองตลาด ยังเป็นโลเคชั่นยอดนิยมสำหรับสายถ่ายรูปแนวชิคๆ. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ. (7 กุมภาพันธ์ 2568). ยิ่งใกล้วันเริ่ม Bangkok Design Week ที่ปากคลองตลาด 8-16 กพ. นี้ เท่าไร แต่ละร้านก็ไม่ยอมแพ้กันเลยจริงๆ. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ. (1 พฤษภาคม 2568). อุ๊ย แม่ชมมาค่าาา กรี๊ดดด สวยสดชื่นที่สุดค่าาา. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ. (25 พฤษภาคม 2568). welcome to the white lotus Thailand. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

JoyMymelody. (11 ธันวาคม 2565). กินชิลชมวิวริมน้ำแสงสีเพลินๆ. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.wongnai.com/

Kapook. (...). ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้เก่าแก่ของกรุงเทพฯ จัดวันเดย์ทริปได้ชิล ๆ. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://travel.kapook.com/

Misty Maison. (13 พฤษภาคม 2568). ‘Flower Soul’ solo Exhibition by inflowerlesson. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2568, จาก https://www.facebook.com/

Sarakadee Lite. (6 กุมภาพันธ์ 2566). ปักหมุดไฮไลต์ "ปากคลอง Pop Up" พื้นที่สร้างสรรค์น้องใหม่ในงาน Bangkok Design Week 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

Sarakadee Lite. (...). ไฮไลต์ ปากคลอง Pop Up ให้งานดีไซน์เติมชีวิตตลาดดอกไม้ ปากคลองตลาด. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.sarakadeelite.com/

Yodpiman River Walk. (24 กุมภาพันธ์ 2559). ศาลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้า). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

Yodpiman River Walk. (4 กุมภาพันธ์ 2562). ท่าเรือยอดพิมาน เรือด่วนเจ้าพระยา. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

50+. (13 สิงหาคม 2566). ท่าเรือขนถ่ายสินค้าย่านปากคลองตลาด. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0 2281 8124