
พระโขนง ศูนย์กลางการค้าของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัย จากชุมชนริมน้ำเก่าแก่พัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจที่รองรับการขยายตัวของย่านทองหล่อ เอกมัย ผสมผสานกับรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนที่อาศัยในย่านมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นมนตร์เสน่ห์ของพระโขนงยุคใหม่ในปัจจุบัน
ที่มาของชื่อเรียก “พระโขนงนั้น” มีที่มาอย่างไรไม่ปรากฏทราบแน่ชัด แต่มีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประการ ดังนี้
1. ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เขียนไว้ในสารจากผู้อาวุโส ในหนังสือการประชุมใหญ่สภาวัฒนธรรม เขตพระโขนงว่า “…พระโขนง เป็นคำจากภาษาเขมร แปลว่า คิ้ว หน้าตาของกรุงเทพพระนครอมรรัตนโกสินทร์ฯ นั้นว่าเป็นเมืองของเทวดา หรืออมร แปลว่า ไม่ตาย… อำเภอพระโขนงเดิมเป็นอำเภอใหญ่มาก ปัจจุบันถูกลิดรอนลงมาก ซึ่งเดิมเป็น คิ้ว ของหน้าของพวกอมร กลับมาเป็นเพียงเส้นคิ้วที่วาดด้วยดินสอเท่านั้น เหมือนคิ้วของนางแบบ…”
2. นายสุรพล วัฒนธรรม มีข้อคิดเห็นว่า คำว่า “โขนง” เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “ขนอน” แปลว่า ด่าน มีความหมายเดียวกับคำว่า “ปะแดง” หรือ “บาแดง” ซึ่งแปลว่า “คนเดินหมาย คนนำข่าวสาร” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “ด่านใต้” เมืองหน้าด่านทางทะเล มีหน้าที่แจ้งข่าวสาร ตรวจตราผู้คนและสิ่งของต้องห้าม…”
อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานที่อ้างมาทั้ง 2 ประการก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่จะสามารถนำมายืนยันได้ว่าข้อใดคือที่มาที่แท้จริงของชื่อเรียกพระโขนง
พระโขนง ศูนย์กลางการค้าของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัย จากชุมชนริมน้ำเก่าแก่พัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจที่รองรับการขยายตัวของย่านทองหล่อ เอกมัย ผสมผสานกับรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนที่อาศัยในย่านมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นมนตร์เสน่ห์ของพระโขนงยุคใหม่ในปัจจุบัน
เขตพระโขนงเดิมมีฐานะเป็นอำเภอพระโขนง เป็นเขตการปกครองของเมือง (จังหวัด) นครเขื่อนขันธ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 (ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการปัจจุบัน) จนกระทั่งใน พ.ศ. 2470 ทางราชการได้โอนอำเภอพระโขนงมาขึ้นกับจังหวัดพระนคร
เนื่องจากอำเภอพระโขนงมีอาณาเขตกว้างขวาง รวมทั้งมีสภาพเป็นชุมชน ย่านการค้า ย่านอุตสาหกรรม และที่พักอาศัย พ.ศ. 2479 ทางราชการจึงได้ตั้งเทศบาลนครกรุงเทพโดยโอนพื้นที่บางส่วนของตำบลคลองเตยเข้าไปในท้องที่ นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2490 กระทรวงมหาดไทยยังได้แบ่งพื้นที่ 10 หมู่บ้านจากตำบลดอกไม้นำมาจัดตั้งตำบลหนองบอน และรวมพื้นที่บางส่วนจากตำบลบางนา ตำบลพระโขนง และตำบลดอกไม้ตั้งเป็นตำบลบางจากอีกด้วย
ในระหว่าง พ.ศ. 2514-2515 ได้มีการยุบรวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนคร เปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ยกเลิกการปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลและสุขาภิบาล รวมทั้งเปลี่ยนการเรียกหน่วยการปกครองใหม่ด้วย อำเภอพระโขนงจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
ภายหลังเขตพระโขนงมีความเจริญและมีประชากรหนาแน่นขึ้น กรุงเทพมหานครจึงได้จัดตั้งเขตสาขาของเขตพระโขนงขึ้น 3 แห่งเพื่อดูแลพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้การปกครองและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในปีเดียวกันกระทรวงมหาดไทยก็ได้ยกฐานะพื้นที่ของสำนักงานเขตพระโขนง สาขา 1 และสำนักงานเขตพระโขนง สาขา 2 เป็นเขตคลองเตยและเขตประเวศตามลำดับ (ส่วนพื้นที่ของสำนักงานเขตพระโขนง สาขา 3 โอนไปเป็นของเขตประเวศจนกระทั่งใน พ.ศ. 2536 จึงแยกออกไปเป็นเขตสวนหลวง) และในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2540 กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพระโขนงอีกครั้ง โดยแยกแขวงบางนาไปจัดตั้งเป็นเขตบางนา ปัจจุบันท้องที่เขตพระโขนงจึงมีอยู่เพียง 2 แขวง คือ แขวงบางจาก และแขวงพระโขนงใต้
เขตพระโขนงตั้งอยู่ทางใต้ของฝั่งพระนคร มีพื้นที่ตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 81 ถึงซอยสุขุมวิท 101/1 มีเนื้อที่ทั้งหมด 13.046 ตารางกิโลเมตร
มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตสวนหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตสวนหลวงและเขตประเวศ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตบางนา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอพระประแดง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรเขตพระโขนง แขวงพระโขนงใต้ จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 20,942 คน แยกเป็นประชากรชาย 9,611 คน ประชากรหญิง 11,331 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 19,437 หลังคาเรือน
ส่วนประชากรเขตบางจาก แขวงพระโขนงใต้ จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 64,128 คน แยกเป็นประชากรชาย 28,340 คน ประชากรหญิง 35,788 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 45,935 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)
พระโขนงเป็นย่านที่มีลักษณะการประกอบอาชีพที่ค่อนข้างหลากหลาย และเนื่องจากพระโขนงตั้งอยู่ชั้นกลางของพระนครที่เป็นทางออกไปสู่ชานเมือง อีกทั้งยังเป็นทางผ่านที่สามารถเข้าสู่แหล่งงานได้สะดวกทั้งการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเดินทางออกไปประกอบอาชีพยังโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้พระโขนงเหมาะที่จะเป็นที่พักอาศัย ส่งผลให้มีเอกชนยื่นจัดสรรที่ดินในเขตพระโขนงทุกปี แต่ในปัจจุบันนั้นย่านพระโขนงมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างสูง จึงมีโครงการเกี่ยวกับบ้านจัดสรรและที่เป็นบ้านเดี่ยวเกิดขึ้นน้อยมาก แต่โครงการอาคารชุดที่พักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมยังเกิดขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปในย่านพระโขนง นอกจากนี้ย่านพระโขนงยังมีสถาบันการเงินหลายสถาบันที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนสุขุมวิท จึงนับได้ว่าพระโขนงเป็นพื้นที่ที่มีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างดีแห่งหนึ่งในกรุงเทพ
เมื่อกล่าวถึง “พระโขนง” คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก หรืออย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ผ่านหนังผีอมตะอย่าง “แม่นาคพระโขนง” ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนย่านนี้เคยเป็นแหล่งการค้าที่รุ่งเรือง มีห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่างอาเชี่ยน และไทยไดมารู มีโรงภาพยนตร์ชื่อดังถึง 6 แห่งในย่านเดียวทั้งพระโขนงเธียร์เตอร์ (บางข้อมูลระบุว่าเป็นโรงหนังที่เคยใหญ่ที่สุดในเอเชีย สามารถจุคนได้ถึง 2,000-3,000 ที่นั่ง) พระโขนงรามา โรงหนังเอเชีย เจ้าพระยาเธียเตอร์ ฮอลิเดย์ และลอนดอน เป็นแหล่งรวมความบันเทิงย่านชานเมืองฝั่งตะวันออก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ย่านพระโขนงเริ่มซบเซาลง ทิ้งไว้เพียงกลิ่นอายจาง ๆ ของความเฟื่องฟูในอดีต แต่สิ่งนี้เองที่กลายเป็นเสน่ห์ของย่านพระโขนงในปัจจุบัน เพราะความเก่าแก่เหล่านี้ทำให้พระโขนงเป็นย่านสุดคลาสสิกที่ยังคงความเป็นไทยภายใต้การเติบโตของสังคมเมืองใหญ่และรายล้อมด้วยย่านเศรษฐกิจอย่างทองหล่อและเอกมัย ขณะเดียวกันพระโขนงก็ได้กลายเป็นย่านศิลปะแห่งใหม่ที่มีทั้งอาร์ตแกลเลอรี โรงแรม คาเฟที่จัดแสดงงานศิลปะเป็นสีสันใหม่ ๆ ให้กับย่านพระโขนง เหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้พระโขนงเป็นย่านที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ามาอยู่อาศัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่ย้ายเข้ามาอาศัยที่ย่านพระโขนงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และใช้ชีวิตผสมกลมกลืนกับท้องถิ่นได้อย่างไม่แปลกแยก
สืบเนื่องจากการที่ย่านพระโขนงมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มาก กิจกรรมทางศาสนาจึงถูกจัดขึ้นตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีวันสำคัญ คือ วันไหว้พระจันทร์ วันประสูติเจ้าแม่กวนอิม และวันประสูติเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งใน 3 วันนี้จะมีการจัดกิจกรรมการไหว้เจ้าและการแสดงงิ้วในบริเวณศาลเจ้าและโรงงิ้ว ในวันนี้ร้านรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริเวณตลาดจะปิดเร็วกว่าปกติเพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะในวันประสูติเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นเจ้าแม่ประจำศาลเจ้าจะมีกิจกรรมใหญ่ประจำปีที่สำคัญ คือ การแห่รูปปั้นเจ้าแม่ทับทิม โดยเริ่มขบวนที่ศาลเจ้าออกไปถนนสุขุมวิท เข้าถนนสุขุมวิท 71 ซอยแสงทิพย์ และวนกลับมาที่ศาลเจ้าอีกครั้ง
ในอดีตพระโขนงเป็นย่านที่มีการคมนาคมทางน้ำเป็นเส้นทางสัญจรหลัก หลังจากมีการพัฒนาระบบการคมนาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองเริ่มมีความเจริญเติบโตเริ่มมาจากฝั่งเจริญกรุง แผ่ขยายมายังพระโขนง ซึ่งย่านนี้เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในย่านค้าขายชื่อดัง ซึ่งอาจเนื่องมาจากย่านนี้มีความเป็นชุมชนใหญ่มานาน ครอบคลุมหลายพื้นที่ในปัจจุบัน จึงเป็นย่านที่มีนักลงทุนเข้าไปจับจองพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ มีโรงภาพยนตร์หลายแห่งที่ดึงดูดกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นให้มาเยือน ย่านพระโขนงจึงเป็นย่านที่จัดได้ว่ามีความทันสมัยมากแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกันย่านอื่น ๆ ในกรุงเทพก็ได้มีห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ รวมถึงการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้คนมีทางเลือกในการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ความนิยมที่มีต่อย่านพระโขนงลดลง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบในการให้บริการ ท้ายที่สุดห้างสรรพสินค้าและโรงภาพยนตร์ในย่านพระโขนงจึงทยอยปิดตัวลง แต่ทั้งนี้ชุมชนในย่านพระโขนงก็ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยังมีการค้าขายในแบบท้องถิ่น ร้านรวงแบบดั้งเดิมยังคงอยู่ให้คนรุ่นใหม่ได้พบเห็น จนเมื่อรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวตัดผ่านเส้นสุขุมวิท ผ่านย่านพระโขนง โดยตัวสถานีตั้งอยู่สามแยกพระโขนง เชื่อมระหว่างถนนพระราม 4 กับถนนสุขุมวิทซอย 67-69 ใกล้กับสามแยกถนนปรีดี พนมยงค์ (ถนนสุขุมวิท 71) ทำให้ย่านพระโขนงกลับมาคึกคักอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ย่านพระโขนงกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่รองรับการขยายตัวต่อมาจากย่านทองหล่อ เอกมัย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากย่านที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม สู่การเป็นย่านนวัตกรรมและศูนย์กลางเศรษฐกิจรองของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก คึกคักด้วยห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และตึกแถวที่วางเรียงรายสุดลูกหูลูกตา จนเดินหน้าสู่การเป็นย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาอยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าย่านพระโขนงจะเกิดความเปลี่ยนและพัฒนาไปตามเวลา แต่บรรยากาศอันเรียบง่ายของความเป็นชุมชนริมน้ำดั้งเดิมของย่านพระโขนง ตลอดจนภาพเหล่าพ่อค้า แม่ค้าที่นำผลผลิตต่าง ๆ มาวางขายตามตึกแถว วิถีชีวิตเหล่านี้สามารถผสมผสานเข้ากันกับพระโขนงยุคใหม่นี้ได้อย่างลงตัว
คนิสรา สุวรรณฉัตร. (22 มิถุนายน 2565). ‘พระโขนง-บางนา’ จากย่านชายขอบสู่มหานครแห่งการเชื่อมต่อ สำรวจทิศทางใหม่เพื่อเมืองน่าอยู่กับ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://thestandard.co/
ชยางกูร กิตติธีรธำรง. (26 เมษายน 2566). ทำไมย่านพระโขนง – บางนาจึงถูกวางให้เป็นย่านนวัตกรรมของกรุงเทพมหานคร ?. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://propholic.com/
นเรศ ทองงามขำ. (2549). แนวทางการพัฒนาพื้นที่ย่านตลาดพระโขนงและตลาดอ่อนนุช กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พรนภา พรพันธุ์ไพบูลย์. (2552). การฟื้นฟูย่านตลาดพระโขนง. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมรักษ์ ชัยสิงห์กานนานนท์. (2549). ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
สำนักงานเขตพระโขนง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน สภาพทางเศรษฐกิจ. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://webportal.bangkok.go.th/
สุวิมล ณ ตะกั่วทุ่ง กนกวรรณ ฤทธิ์ไพโรจน์ และ จาตุรี ติงศภัทย์. (2535). ตลาดบก: ย่านชุมชนแห่งนครสยาม. เมืองโบราณ.
Culturedcreatures. (14 กรกฎาคม 2558). “พระโขนง” จากเสน่ห์วันวานสู่ย่านศิลป์ร่วมสมัย. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.culturedcreatures.co/
BKK.EAT. (25 กรกฎาคม 2566). ใช้ชีวิตแบบมีสไตล์กับหลากหลายโลเคชันสุดเก๋ในย่านพระโขนง. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.bkkmenu.com/
DDproperty. (17 ธันวาคม 2561). รู้จักย่านพระโขนงแบบเจาะลึก. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.ddproperty.com/
Urbancreature. (6 กรกฎาคม 2567). ชวนมาตกหลุมรัก ‘พระโขนง’ ย่านเปี่ยมมนตร์เสน่ห์ ที่น่าอยู่ น่าหลงใหล ไม่เคยเปลี่ยน. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://urbancreature.co/