Advance search

สามแพร่ง อดีตที่ตั้งวังที่ประทับของเจ้านาย 3 พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อราชสำนักสยามในยุครัตนโกสินทร์ตอนกลาง ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นย่านชุมชนใจกลางเมืองที่มีความเจริญสูงสุดเป็นแห่งแรก ๆ ในยุคพัฒนาประเทศ จนได้รับขนานนามว่าเป็นย่านการค้าตะวันตกแห่งแรกของกรุงเทพฯ

ศาลเจ้าพ่อเสือ
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0 2281 8921
วิไลวรรณ เดชดอนบม
9 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2025
สามแพร่ง

"สามแพร่ง" นี้มิใช่ "ทางสามแพร่ง" ที่มีความหมายในทางอาถรรพ์อย่างที่เคยได้ยิน หากแต่เป็น "แพร่ง" ที่หมายถึง "ทางแยกทางบก" ทั้ง ที่เคยเป็นที่พำนักของเจ้านายคนสำคัญถึง 3 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนผ่านวังทั้ง 3 เพื่อเชื่อมถนนตะนาวและถนนอัษฎางค์ จึงเกิดเป็น "ทางสามแพร่ง" โดยรัชกาลที่ 5 ได้นำพระนามของเจ้านายทั้ง 3 พระองค์นี้มาตั้งเป็นชื่อถนน ได้แก่ แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์


สามแพร่ง อดีตที่ตั้งวังที่ประทับของเจ้านาย 3 พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อราชสำนักสยามในยุครัตนโกสินทร์ตอนกลาง ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นย่านชุมชนใจกลางเมืองที่มีความเจริญสูงสุดเป็นแห่งแรก ๆ ในยุคพัฒนาประเทศ จนได้รับขนานนามว่าเป็นย่านการค้าตะวันตกแห่งแรกของกรุงเทพฯ

ศาลเจ้าพ่อเสือ
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
10200
13.752009
100.497649
กรุงเทพมหานคร

สามแพร่ง ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า คลองคูเมือง เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองให้กว้างและลึกขึ้น แล้วมีมติให้เรียกคลองนี้ว่า คลองคูเมืองเดิม ล่วงถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บริเวณสามแพร่งเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยคำว่า "แพร่ง" นั้นหมายถึง "ทางแยกทางบก" ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผ่านวังทั้งสามเพื่อเชื่อมถนนตะนาวและถนนอัษฎางค์ เกิดเป็นทางสามแพร่ง และได้นำพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้ง 3 พระองค์มาตั้งเป็นชื่อถนน ได้แก่ แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร

แพร่งนรา หรือในอดีต คือ "วังวรวรรณ" เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ต่อมา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์) ต่อมาได้มีการเวนคืนที่ดินเข้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันคงเหลือเพียงพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็กที่แต่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย ซึ่งต่อมาถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา โดยชื่อแพร่งนรานี้เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้เป็นเจ้าของวังเดิม

วังวรวรรณเมื่อแรกสร้างนั้นว่ากันว่ามีขนาดใหญ่โต ทอดยาวตั้งแต่ถนนแพร่งนราไปจนสุดมุมถนนบูรณาศาสตร์ ขุนวิจิตรมาตราซึ่งเคยพักอาศัยได้บรรยายถึงความใหญ่โต โอ่อ่าของวังวรวรรณนี้ไว้ ความตอนหนึ่งว่า

...เนื้อที่วังกรมพระนราธิปฯ ที่ตัดเป็นถนนแพร่งนรา มีตึกแถวสองฟากประมาณว่าเกือบครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ทั้งหมด ตัววังหรือตำหนักอยู่ราวครึ่งหนึ่งของถนนแพร่งนรา ต่อมาจนจรดถนนอัษฎางค์ ส่วนอีกครึ่งที่อยู่หลังตึกแถวถนนตะนาวเป็นที่ว่างโล่งโถง... ที่ว่างนั่นเองต่อมาได้กลายเป็นโรงละครสวยงามโรงใหญ่ที่ชื่อ ละครปรีดาลัย เป็นละครร้องครั้งแรกที่มีในประเทศไทย...

ปัจจุบันบริเวณแพร่งนราและพระตำหนักวังวรวรรณมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้เห็นถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมเก่าอันเป็นมรดกทรงคุณค่า จึงได้พยายามบำรุงรักษาอาคารเก่าเหล่านี้เป็นอย่างดี แม้ว่าบางอาคารจะถูกรื้อสร้างใหม่ด้วยเหตุผลประการหนึ่งประการใด แต่ก็มีความพยายามนำสถาปัตยกรรมรูปแบบเก่ามาใช้เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยปัจจุบันวังนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานพระคลังข้างที่ และมีบทบาทเป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศนเทพวรารามกับวัดมหรรณพาราม หรือบริเวณถนนตะนาวและถนนอัษฎางค์

แพร่งสรรพศาสตร์ หรือในอดีต คือ "วังสรรพสาตรศุภกิจ" แต่เดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ผู้เป็นต้นราชสกุลทองแถม วังนี้สร้างเมื่อ พ.. 2444 กล่าวกันว่าเป็นตำหนักที่มีขนาดใหญ่โตมาก ประตูทางเข้าเป็นประตูบานใหญ่คล้ายว่ามี 3 ช่อง พื้นเป็นมัน เข้าใจว่าปูด้วยหินอ่อนตั้งแต่ทางเข้าวังไปจนถึงตัวตำหนักเดิม ต่อมาใน พ.. 2510 แพร่งสรรพศาสตร์เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ วังสรรพสาตรศุภกิจปัจจุบันจึงเหลือเพียงซุ้มประตูวังริมถนนตะนาวเท่านั้น ส่วนลักษณะภายในของวังไม่ปรากฏรูปแบบแน่ชัด ส่วนใหญ่รับรู้จากการเล่าต่อ ๆ กันมาของผู้ที่อยู่ร่วมสมัยเมื่อครั้งที่วังยังไม่ถูกเพลิงไหม้ และบันทึกของขุนวิจิตรมาตราที่เขียนเล่าเกี่ยวกับแพร่งสรรพศาสตร์และวังสรรพสาตรศุภกิจไว้ว่า

“…ประตูทางเข้าวังนั้นทำเป็นช่องกว้างใหญ่ สูงขนาด 2 ชั้น ข้างบนทำเป็นกรอบโค้งครึ่งวงกลม กรุด้วยกระจกสีต่าง ๆ ใต้กรอบลงมาทำเป็นตุ๊กตาแหม่มโตขนาดเกือบเท่าคนถือคบไฟชูตามตึกแถวและประตูทางเข้าวังจะดูเป็นฝรั่งชอบกล ทั้งนี้ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่ากรมหลวงสรรพสาสตรฯ ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงประพาสยุโรปคงจะได้เห็นอาคารสถานที่ในยุโรปมามากต่อมาก ก็คงจะคิดออกแบบก่อสร้างให้คล้ายคลึงไปทางฝรั่ง...”

แพร่งภูธร หรือในอดีต คือ วังสะพานช้างโรงสีซึ่งเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ประทับที่วังนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ต่อมาเมื่อกรมหมื่นภูธเรศฯ ได้สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพื้นที่วังทำเป็นตึกแถว โดยยังคงสถาปัตยกรรมอันเดิมไว้ แล้วพระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า แพร่งภูธร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ โดยแพร่งภูธรนับเป็นบริเวณที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมากกว่าแพร่งภูนราและแพร่งสรรพศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด คือ นอกจากจะมีอาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากแล้ว ยังมี สุขุมาลอนามัย ที่เปิดทำการเมื่อ พ.ศ.2471 โดยพระดำริของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีในรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เป็นสถานีอนามัย ปัจจุบันก็ยังเป็นที่รักษาพยาบาลของประชาชนในชุมชนอยู่ ทั้งนี้ ขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์) ยังได้เขียนบรรยายถึงแพร่งภูธรไว้ว่า

“…เมื่อข้าพเจ้าได้ไปอยู่กับอาที่วังนี้ได้ตัดเป็นถนนแล้ว เรียกว่า ถนนแพร่งภูธร ตัวตำหนักอยู่ตรงกลาง และรื้อลงสร้างเป็นสถานีอนามัย ติดกับสถานีอนามัยเป็นร้านขายอาหาร รอบ ๆ สิ่งก่อสร้างตรงกลางนี้เป็นถนน และสร้างตึกแถวเป็นหย่อม ๆ รอบ ๆ มีถนนออกถนนบำรุงเมือง 2 ทาง ถนนออกถนนอัษฎางค์ลองตลาดทางหนึ่ง…”

“…ตึกแถวที่ยาวที่ยาวที่สุดก็คือตึกแถวฝั่งทางขวาที่เข้าทางถนนตะนาว ยาวตรงเข้าไปกว่า 20 ห้อง มีสระน้ำโบกซีเมนต์อย่างดีสำหรับสมัยนั้นต่อจากสระน้ำไปราว 7-8 ห้อง เป็นมุมหักมาทางซ้ายราว 4-5 ห้อง แล้วหักเป็นมุมตรงไปออกถนนอัษฎางค์…”

สามแพร่ง นับเป็นตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ร่วมกันของวังกับบ้าน โดยมีการสร้างวังพร้อมกับการสร้างตึกแถวให้ผู้คนเช่าบริเวณหน้าวังหรือรอบวังเพื่อหารายได้ ดังวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ที่มีการสร้างตึกแถวใหญ่น้อยเรียงรายกว่าครึ่งหนึ่งของถนนแพร่งนราไปจนถึงถนนอัษฎางค์และถนนตะนาว เช่นเดียวกับวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจที่มีการแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่วังสร้างเป็นตึกแถวให้คนเช่า แต่แตกต่างกันที่วังกรมหลวงสรรพสาสตรฯ จะสร้างตึกแถวเฉพาะด้านหน้าถนนตะนาวเท่านั้น ก่อนถึงตัววังจะมีบ้านไม้เล็กบ้างใหญ่บ้าง ตลอดจนห้องแถวซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาช่างทองในบังคับบัญชาในพระองค์ ส่วนวังสะพานช้างโรงสีนั้นภายหลังกรมหมื่นภูธเรศรฯ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงซื้อวังหลังนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวให้คนเช่าแทน ถือเป็นการสร้างวังแบบใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการที่มีเรือนแพของชาวบ้านอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง สู่การมีตึกแถวที่ชาวต่างชาติและชาวบ้านมาเช่าเปิดห้างร้านและอาศัยอยู่รอบวังแทน

สืบเนื่องจากการที่สามแพร่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายคนสำคัญถึง 3 พระองค์ จึงส่งผลให้ย่านนี้รายล้อมไปด้วยที่พักอาศัยของกลุ่มข้าราชบริพาร อันประกอบไปด้วย เจ้านาย ขุนนาง และข้าทาสบริวาร และยังเป็นเหตุให้บริเวณนี้ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นทั้งอาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัยปล่อยเช่า โดยเฉพาะภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการตั้งหน่วยงานราชการสำคัญในบริเวณสามแพร่ง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม จึงมีร้านอาหารเกิดขึ้นมากมายเพื่อไว้บริการข้าราชการและผู้มาติดต่อ อีกทั้งยังเป็นย่านการค้าขนาดย่อม ๆ เป็นแหล่งรวมของอร่อยขึ้นชื่อ เป็นแหล่งซื้อหาเครื่องแบบนักเรียนและเครื่องแบบข้าราชการ ตลอดจนเครื่องหนัง แว่นตา นาฬิกา และข้าวของเครื่องใช้ที่ทันสมัยของพระนครในยุคนั้น นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย ผนวกกับเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีบริเวณใกล้กับพระบรมมหาราชวังและสถานที่สำคัญมากมาย รวมถึงอิทธิพลความเจริญรุ่งเรืองของย่านถนนเจริญกรุงและถนนเฟื่องนครที่ถือเป็นถนนสำคัญสายแรก ๆ ในพระนคร ที่แผ่ขยายมาถึงบริเวณโดยรอบรวมถึงสามแพร่งให้มีความคึกคักและเจริญขึ้นมาตามลำดับ

ย่านสามแพร่ง ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณริมคลองคูเมืองเดิมฝั่งด้านทิศตะวันออก เป็นพื้นที่ในเขตการปกครองของแขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 48 ไร่ 2 งาน หรือประมาณ 0.768 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่โดยรอบ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนบุญศิริ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนอัษฎางค์ และคลองคูเมืองเดิม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า

ประชากรในย่านสามแพร่งส่วนมากเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาในย่านสามแพร่งเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน การเข้ามาของชาวจีนนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่

ในระหว่าง พ.ศ. 2480-2520 ชาวจีนที่พักอาศัยอยู่ในย่านสามแพร่งเป็นชาวจีนแคะ (จีนฮากกา) ซึ่งมีฝีมือในการตัดเย็บเสื้อผ้า ทำรองเท้า เครื่องหนัง และเครื่องประดับ ทั้งเครื่องเงินเครื่องทอง และทำอาหาร ส่งผลให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในย่านสามแพร่งในยุคนั้นมีอาชีพค้าขาย ทำรองเท้า ทำเครื่องหนัง รับจ้างทั่วไป และได้มีการพัฒนาจนเกิดเป็นย่านการค้าในปัจจุบัน

ปัจจุบันย่านสามแพร่งมีการอยู่อาศัยผสมผสานกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน โดยกลุ่มชาวจีนเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ทำให้สามแพร่งเกิดวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวจีน มีการสืบทอดกิจการระหว่างสมาชิกในครอบครัว แต่เนื่องจากในปัจจุบันเมื่อสมาชิกในครอบครัวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่งผลถึงโอกาสในการประกอบอาชีพที่ค่อนข้างกว้างขวางและหลากหลายขึ้น แต่ขณะเดียวกันกิจการร้านค้าภายในย่านก็ยังคงขยายอย่างต่อเนื่อง

จีน

สามแพร่ง เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุครัตนโกสินทร์ เป็นทั้งย่านการค้าและธุรกิจในยุครอยต่อสมัยรัชกาลที่ 5-6 เป็นหนึ่งในย่านธุรกิจที่เรียกว่า "สี่กั๊กเสาชิงช้า" ส่งผลให้บริเวณสามแพร่งคึกคักในเรื่องการนำสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาขายเป็นแหล่งแรก ๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศอาหรับ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีธุรกิจการค้าและบริการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งร้านค้า ร้านอาหารชื่อดังมากมายที่ต่างได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติที่ตั้งเรียงรายอยู่บนสองฟากฝั่งถนน โดยเฉพาะบนถนนแพร่งภูธรและแพร่งนรา เช่น ร้านข้าวเหนียวมูน ก.พานิช อุดมโภชนา ตำนานร้านข้าวหมูแดงคู่แพร่งภูธร นัฐพร ไอศครีมรสไทย ไอศกรีมกะทิที่คัดสรรวัตถุดิบอย่างตั้งใจ ทั้งรสชาติแบบไทยและเทศกว่า 11 รสชาติ ร้านลูกชิ้น-มันสมองหมูไทยทำ และร้านเจ๊เพ็ญ ก๋วยเตี๋ยวจีนแคะ สูตรอาโผ่ อีกทั้งยังมีร้านแพทย์แผนไทย และร้านขายของเก่าเปิดให้บริการ

นอกจากนี้ ยังมีร้านหาบเร่แผงลอยที่มีลักษณะเป็นตลาดนัดจำหน่ายสินค้าประเภทของเก่า ทั้งสินค้ามือสอง ของหลุดจำนำ รวมถึงแผงลอยบนทางเท้าบริเวณศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นแผงลอยจำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพ่อเสือ เช่น ดอกไม้ น้ำมัน ขนม และอาหารสำหรับสักการะศาลเจ้าพ่อเสือ

ตั้งแต่ถนนทั้ง 3 แพร่งเรื่อยมาจนถึงถนนอัษฎางค์มีอาคารพาณิชย์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องมือรังวัดที่ดิน อุปกรณ์เดินป่า แคมป์ปิง เครื่องหนัง เครื่องแบบข้าราชการ เครื่องแบบนักเรียน ร้านชุบทองและโลหะมีค่าประเภทต่าง ๆ ร้านรับทำตรายาง โล่ ป้ายจารึก เครื่องประดับ รวมถึงสินค้าจำพวกโบราณวัตถุ อุปกรณ์เครื่องเสียง เครื่องดนตรี เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกในย่านสามแพร่ง

สามแพร่ง เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายคนสำคัญ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และขุนนางคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ย่านเล็ก ๆ แห่งนี้รายล้อมไปด้วยอาคารบ้านเรือนของเหล่าข้าราชการและข้าราชบริพารผู้รับใช้ใกล้ชิด ยิ่งส่งผลให้ย่านสามแพร่งอบอวลด้วยมนตร์เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมเก่าที่สวยงาม ทั้งยังมีความหรูหราซึ่งยังคงเห็นประจักษ์อยู่ในปัจจุบัน

อาคารสถาปัตยกรรมย่านสามแพร่ง มีการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมแบบตะวันตกเข้ากับงานช่างไทยได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ช่างมีการเลือกเอาเทคนิคการประดับอาคาร เช่น การทำเสาอิง (Pilaster) การตกแต่งหัวเสาตามระบบเสาในศิลปะคลาสสิก การตกแต่งผนังด้วยวิธี Rustication การประดับหลายส่วนของอาคารด้วยลายไม้ฉลุ ตลอดจนการประดับซุ้มประตูด้วยกระจกสีอย่างตะวันตกมาใช้ ขณะเดียวกันยังคงออกแบบโครงสร้างหลักของอาคารให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยที่มีทั้งเจ้านาย ข้าราชการ และพ่อค้าได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ รูปแบบของตึกแถวซึ่งโครงสร้างอาคารยังคงความเป็นจีนผสมไทยอยู่ (ศูนย์กลางงานช่างแห่งแผ่นดิน, ...)

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย


สามแพร่งในอดีตถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีการพัฒนาระบบสัญจรทางบก แนวรถรางและรถประจำทาง มีการสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการค้าที่ค่อนข้างเฟื่องฟูอันเนื่องมาจากการแผ่ขยายอิทธิพลความเจริญของถนนเฟื่องนครและถนนเจริญกรุงด้วยส่วนหนึ่ง หรือเพราะที่ตั้งชุมชนมีทำเลอยู่ในตำแหน่งที่เป็นตัวเชื่อมของเมืองเก่าที่ออกสู่เมืองชั้นนอกที่สำคัญส่วนหนึ่ง และด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกรุงเทพฯ สมัยก่อนนั้นเริ่มมีการรับเอารูปแบวิถีชีวิตแบบตะวันตกเข้ามาปรับใช้ ย่านใดในกรุงเทพที่มีความทันสมัยจึงได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งสามแพร่งก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ทำให้สามแพร่งกลายเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของและเส้นทางการสัญจรที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในยุคสมัยนั้น

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการตั้งหน่วยงานราชการสำคัญในบริเวณสามแพร่ง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม จึงมีร้านอาหารเกิดขึ้นมากมายเพื่อไว้บริการข้าราชการและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ นอกจากนี้ สามแพร่งยังเป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องแบบข้าราชการและนักเรียน ตลอดจนเครื่องหนัง แว่นตา นาฬิกา และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นตรอกช่างทองที่มีชื่อเสียง ส่งเสริมให้ย่านยิ่งทวีความคึกคักและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น แต่ต่อมามีการย้ายส่วนราชการออกไปจากพื้นที่ ส่งผลให้จำนวนประชากรทั้งที่อยู่อาศัยถาวรและประชากรแฝงที่เข้ามาเพื่อการประกอบอาชีพในย่านสามแพร่งลดลง การค้าย่านสามแพร่งจึงไม่รุ่งเรืองเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม เวลานั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประชาชนในย่านจึงเริ่มหันมาขายสินค้าโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มนักท่องเที่ยวแทนกลุ่มข้าราชการ

สามแพร่งในปัจจุบันแม้จะไม่ได้รุ่งเรืองเท่าในอดีต แต่ก็ยังคงเป็นสังคมเมืองที่ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงช่างทอง ที่โดยมากเป็นร้านชุบทองหรือโลหะมีค่าประเภทอื่น ๆ ที่คงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจายไปภายในทั้งสามแพร่ง ร้านอาหาร ร้านขนมที่หลายร้านเป็นร้านเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและขายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สามแพร่งเป็นชุมชนย่านเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่ตั้งของวัง บ้านพักข้าราชการ ข้าราชบริพาร และช่างฝีมือ ก่อนที่จะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นย่านการค้าสำคัญในยุคนั้นหลังจากมีการสร้างถนนและตึกแถวสำหรับค้าขาย จวบจนปัจจุบัน สามแพร่งนับเป็นย่านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ประชาชนในชุมชนพยายามอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงยังคงเป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องของอร่อยทั้งคาวและหวานที่ทุกคนให้การยอมรับและบอกต่อกันจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นชุมชนเก่าที่มีเรื่องเล่ามายาวนาน คงน่าเสียดายไม่น้อยหากจะปล่อยให้กลิ่นอายเหล่านี้จางหายไปในความทรงจำของผู้คน ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมมือกันสร้างกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูสามแพร่งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เช่น งานสามแพร่ง สีสันแห่งวันวาน ย่านแพร่งนรา แพร่งภูธร แพร่งสรรพศาสตร์ โดยศูนย์อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร รวมถึงการจัดเทศกาลศิลปะชุมชน Hi กันและกัน Colorful สามแพร่ง facestreet โดยความร่วมมือของชุมชนสามแพร่ง เยาวชนอาสารักยิ้ม สโมสรพื้นที่นี้..ดีจัง และกลุ่มดินสอสี ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้บริเวณสามแพร่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม และเพื่อต้องการพลิกฟื้นพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าที่มีชื่อว่า ย่านสามแพร่ง ได้แก่ ถนนแพร่งภูธร ถนนแพร่งนรา และถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ให้กลายเป็นย่านศิลปะสำหรับเยาวชนและครอบครัว

ศาลเจ้าพ่อเสือ

ศาลเจ้าพ่อเสือตั้งอยู่บริเวณทางสามแพร่งถนนตะนาว ใกล้กับเสาชิงช้า เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วเก่าแก่ คนจีนเรียกกันว่า "ตั่วเหล่าเอี๊ย" ภายในประดิษฐานเสียนเทียนซั่งตี้ หรือเจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและชาวจีน ส่วนเหตุที่เรียกว่าศาลเจ้าพ่อเสือนั้น อาจจะเป็นเพราะภายในศาลมีรูปเสือปั้นนั่งอยู่ ดูน่าเกรงขาม และน่าเคารพบูชา แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีผู้ใดสามารถอธิบายได้ว่ารูปปั้นเสือนี้ใครเป็นผู้ปั้น และปั้นไว้ตั้งแต่เมื่อใด ทราบเพียงแต่ว่าตัวศาลน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง และให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐีย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน ตัวอาคารของศาลเจ้าพ่อเสือสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน เทพเจ้าประจำศาล คือ เสียนเทียนซั่งตี้ หรือเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นที่เลื่องชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

กรมศิลปากร. (2525). จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. สหประชาพาณิชย์.

กรุงเก่าของชาวสยาม. (14 กรกฎาคม 2561). พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์. (28 เมษายน 2559). สามแพร่ง สีสันแห่งวันวาน : สามแพร่งน่าอยู่ด้วยทุนทางวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://lek-prapai.org/

กาญจนาคพันธุ์. (2524). กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน. เรืองศิลป์.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (...). ศาลเจ้าพ่อเสือ. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://thai.tourismthailand.org/

โกสินทร์ รตนประเสริฐ. (2555). สิ่งแรกในสยาม. ยิปซี.

จิระนันท์ พิตรปรีชา. (2544). รำลึกร้อยปีกรุงเทพมหานคร. เอ บี พับลิเคชั่น.

ฐานิศวร์ เจริญพงศ์. (2543). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณแพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โต้ง ชวนชิม. (2568). ข้าวเหนียวก.พาณิชย์อันดับต้นๆของประเทศไทย. Wongnai. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.wongnai.com/

ทัศนา ทัศนมิตร. (2549). วัง มรดกกรุงรัตนโกสินทร์. ดอกหญ้ากรุ๊ป.

บันทึกคนขี้เที่ยว. (13 กันยายน 2561). ย่านสามแพร่ง กรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

พรรณลดา โพธิ์ทองแสงอรุณ. (2557). สามแพร่งกับการฟื้นฟูชุมชน : ปฏิบัติการทางวาทกรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันผ่านทุนทางวัฒนธรรม. วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 33(2), 21-40.

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์. (3 เมษายน 2564). แพร่งภูธร ย่านการค้าท้ากาลเวลาของชาวพระนคร. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://urbancreature.co/

ภราดร ศักดา. (2548). ชุดประวัติศาสตร์ ตอน วังเจ้าในอดีตฯ. สยามบันทึก.

มิวเซียมสยาม. (...). สามแพร่ง ย่านเก่าที่ยังมีมนต์ขลัง. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.museumthailand.com/

โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2550). สามแพร่งแห่งความทรงจำ. เอสพี เจริญผล.

โลจน์ นันทิวัชรินทร์. (22 สิงหาคม 2567). ตำหนักใหญ่ วังวรรณ สืบประวัติศาสตร์ วังวรวรรณ อาคารไม้ฉลุลายแห่งแพร่งนรา อาคารปริศนาที่คนส่วนมากคิดว่าเป็นโรงละครปรีดาลัย. The Cloud. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://readthecloud.co/

วรรณพา แก้วมณฑา. (2556). ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านงานสถาปัตยกรรมย่านชุมชนสามแพร่ง. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย. (13 พฤษภาคม 2555). พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ. Posttoday. สืบค้น 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.posttoday.com/

วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ. (2543). การศึกษาเพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟู ย่านสามแพร่ง. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2547). ย่านการค้า "ตะวันตก" แห่งแรกของกรุงเทพฯ : สามแพร่ง แพร่งภูธร แพร่งและนรา แพร่งสรรพศาสตร์. มติชน.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. มติชน.

ศูนย์กลางงานช่างแห่งแผ่นดิน. (...). สถาปัตยกรรมย่านสามแพร่ง กับบทสรุปที่ค้นพบ. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.ancientbangkok.com/

ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (...). ชุมชนคลองคูเมืองเดิมสามแพร่ง. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (11 พฤศจิกายน 2558). ชมงานศิลปะสร้างสรรค์ สามแพร่ง facestreet”. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.thaihealth.or.th/

สันติเทพ ศิลปะบรรเลง. (...). ศาลเจ้าพ่อเสือ. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://journal.oas.psu.ac.th/

สุภชาติ เล็บนาค และ อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์. (3 กันยายน 2565). เกาเหลาสมองหมู ไทยทำตำนานความอร่อย 6 ทศวรรษ ที่ไม่เคยเจือจาง. Themomentum. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://themomentum.co/

ส่วนวัฒนธรรม Culture Division. (25 พฤษภาคม 2560). #บางกอกบอกเล่า (เรื่อง) วัง #วังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

หทัยมาต ปูรณานนท์. (2546). แนวทางพัฒนาย่านสามแพร่ง กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมูหวานชวนชิม. (2 มีนาคม 2567). เจ๊เพ็ญก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะ สูตรอาโผ่ เจ้าเด็ด แพร่งภูธร’. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.bangkokbiznews.com/

อภิชาต วงศ์คำมี. (2554). โครงการฟื้นฟูชมชน สามแพร่ง แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร. คณะสถาปัตยกรรม สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Coolism. (5 ตุลาคม 2566). นัฐพร ไอศครีมกะทิสด (นัฐพร ไอศครีมรสไทย). สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.coolism.net/

Cultural District Bangkok. (21 พฤษภาคม 2568). เรื่องเล่าชาวเกาะ : ประตูเก่าเล่าเรื่อง. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

Dsignsomething. (...). เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า สามแพร่ง facestreet”. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://dsignsomething.com/

Kapook. (...). สามแพร่ง ย่านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ เดินเที่ยวชิล ๆ แบบ One Day Trip. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://travel.kapook.com/

Lukeward. (4 กันยายน 2566). สตูว์เนื้อกับเอ็นแก้วอร่อยๆย่านแพร่งภูธร. Wongnai. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.wongnai.com/

Nairobroo. (...). Posts Tagged ‘แพร่งภูธร’. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.nairobroo.com/

Thai Classic. (4 ตุลาคม 2567). วังวรวรรณ หรือ วังแพร่งนรา. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

Weekend Magazine. (5 พฤศจิกายน 2567). ชุมชนสามแพร่งอันประกอบด้วย แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.facebook.com/

สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0 2281 8921