Advance search

ชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับกันมาอย่างยาวนาน ด้วยกลิ่นอายอารยธรรมโบราณผ่านสถาปัตยกรรมและโบราณสถานที่สำคัญ เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน นอกจากนี้ยังมีแหล่งชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยร้านค้าเก่าแก่ ตลาดพื้นบ้าน และถนนสายประวัติศาสตร์ที่คงเอกลักษณ์ของเมืองไว้ได้อย่างครบถ้วน

ธาตุเชิงชุม
เมืองสกลนคร
สกลนคร
ทม.สกลนคร โทร. 0 4271 1203
ฤชุอร เกษรมาลา
10 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2025
เมืองเก่าสกลนคร


ชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับกันมาอย่างยาวนาน ด้วยกลิ่นอายอารยธรรมโบราณผ่านสถาปัตยกรรมและโบราณสถานที่สำคัญ เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน นอกจากนี้ยังมีแหล่งชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยร้านค้าเก่าแก่ ตลาดพื้นบ้าน และถนนสายประวัติศาสตร์ที่คงเอกลักษณ์ของเมืองไว้ได้อย่างครบถ้วน

ธาตุเชิงชุม
เมืองสกลนคร
สกลนคร
47000
17.165431
104.150876
เทศบาลเมืองสกลนคร

ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลากหลายยุคสมัยซ้อนทับกันอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่สมัยอารยธรรมขอมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 ที่มีการวางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยคูน้ำและคันดิน พร้อมทั้งมีบารายสำหรับกักเก็บน้ำ ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณสวนสาธารณะสระพังทอง รวมถึงการสร้างศาสนสถานในรูปแบบปราสาทขอมไว้กลางเมือง หลังจากอารยธรรมขอมเสื่อมอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-24 วัฒนธรรมล้านช้างเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่นี้ จึงมีการสร้างองค์ธาตุในสไตล์ล้านช้างทับซ้อนบนปรางค์ขอมเดิม

ในสมัยกรุงธนบุรี ดินแดนนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม โดยมีอุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ได้รับคำสั่งให้นำครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านธาตุเชิงชุม เพื่อดูแลพระธาตุเชิงชุม และในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมืองสกลทวาปี พร้อมแต่งตั้งอุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นเจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก โดยชุมชนแรกเริ่มตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “คุ้มกลางธงชัย”

ต่อมาใน พ.ศ. 2370 เมื่อสยามทำสงครามกับเวียงจันทน์ มีการย้ายราษฎรจากเมืองสกลทวาปีไปยังเมืองอื่นมากมาย เหลือเพียง 10 ตำบลไว้รักษาเมือง และในปี พ.ศ. 2378 มีการนำชาวไทญ้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐาน ณ เมืองนี้ จากนั้นในปี พ.ศ. 2381 เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “สกลนคร” และแต่งตั้งราชวงศ์ “คำ” เป็นเจ้าเมืองสกลนครคนแรก ทำให้เมืองสกลนครขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีการสร้างวัดกลางและวัดเหนือในช่วงปี พ.ศ. 2388-2390 ผู้คนเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยจากคุ้มกลางธงชัยไปสู่บริเวณคุ้มวัดทั้งสองแห่ง

ในระหว่าง พ.ศ. 2421-2427 ภายใต้การปกครองของพระยาประจันตประเทศธานี (ปิด) ศูนย์กลางการปกครองย้ายไปที่คุ้มวัดโพธิ์ชัย มีชาวไทญ้อ ผู้ไท ไทโส้ ไทกะเลิง และไทโย้ย อพยพเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก รวมทั้งชาวจีนและชาวเวียดนามด้วย บ้านเรือนในยุคแรกส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ไม่มีรั้วกั้น มีเพียงเสาไม้ปักบอกแนวเขต ขณะเดียวกันมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น การวางสายโทรเลข การตัดถนนระหว่างเมือง และการสร้างทางรถไฟสายอีสาน ทำให้พ่อค้าชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในสกลนครมากขึ้น

ต่อมา พ.ศ. 2435 มีการเปลี่ยนระบบการปกครองจากแบบเจ้าเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีการสร้างถนนหลักหลายสายในเมืองตามแบบผังตารางหมากรุก เช่น ถนนเจริญเมือง ถนนสุขเกษม และถนนใจผาสุก เป็นต้น ทำให้ประชากรชาวจีนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบริเวณถนนสุขเกษม ใกล้แยกศรีนคร ซึ่งเป็นย่านค้าขายและที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือนเป็นห้องแถวไม้หรืออิฐสองชั้น ชั้นล่างทำร้านค้า ชั้นบนอยู่อาศัยอย่างผสมผสานกับคนท้องถิ่นอย่างกลมกลืน ส่วนชาวเวียดนามแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มญวนเก่าที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และกลุ่มญวนใหม่ที่อพยพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานบริเวณถนนใจผาสุกและคุ้มวัดโพธิ์ชัย มีเรือนแถวไม้และปูนคล้ายกับของชาวจีน

หลังปี พ.ศ. 2497 ชาวเวียดนามขยายตัวเข้ามาย่านสี่แยกถนนเจริญเมืองตัดกับถนนสุขเกษม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นจุดจอดรถโดยสารสายสกลนคร-อุดรธานี ทำให้ย่านนี้คึกคักและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อย่านเมืองเก่าสกลนครได้กลายเป็นศูนย์กลางของการปกครอง การจัดกิจกรรมประเพณี และการค้า มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม สามารถแบ่งออกเป็นย่านสำคัญ ได้แก่

  1. ย่านชุมชนเก่าใกล้วัดพระธาตุเชิงชุม
  2. ย่านหน่วยงานราชการและศาลากลางจังหวัด
  3. ย่านค้าขายของชาวจีนและเวียดนามบริเวณแยกศรีนคร
  4. ย่านค้าขายของชาวเวียดนามบริเวณถนนใจผาสุก
  5. ย่านตลาดศรีคูณเมืองและลานโพธิ์
  6. ย่านค้าขายของชาวเวียดนามบริเวณคุ้มวัดศรีสุมังค์ ถนนกำจัดภัย

ในปัจจุบันย่านเมืองเก่าสกลนครยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญของการปกครอง การค้า และวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีชุมชนต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่หลอมรวมกันอย่างกลมกลืน

ย่านเมืองเก่าสกลนครมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติที่หลากหลาย ประกอบด้วย พื้นที่ราบลุ่มรอบหนองหาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน ทั้งในด้านการเกษตรและการประมง นอกจากนี้ยังมีระบบคูคลองและบารายเก่าแก่ที่สะท้อนถึงการจัดการน้ำในอดีตอย่างมีประสิทธิภาพ ผังเมืองแบบตารางหมากรุกที่สร้างขึ้นในยุคสมัยต่าง ๆ ทำให้เมืองมีความเป็นระเบียบและเอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

สภาพแวดล้อมในย่านนี้จึงมีทั้งความกลมกลืนระหว่างธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำที่สำคัญไว้ ซึ่งเป็นส่วนช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของชุมชนและส่งเสริมให้ย่านเมืองเก่าสกลนครยังคงเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป

อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม โดยมีลำน้ำสงครามเป็นแนวกั้นทั้งหมด 
  • ทิศใต้ ติดกับ จังหวัดกาฬสินธุ์ มุกดาหาร โดยมีเทื่อกเขาภูพานเป็นแนวแบ่งเขตแดน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดนครพนม
  • ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดอุดรธานี โดยมีลำน้ำสงคราม เป็นแนวกั้นเขตจังหวัด 

ลักษณะภูมิอากาศ

ภูมิอากาศของจังหวัดสกลนคร จัดอยู่ในประเภทอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูหรือแบบ ทุ่งหญ้าเมืองร้อน ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะมีอากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตลอดฤดู แต่ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวจะมีอากาศแห้งแล้งเกือบตลอดฤดู ช่วงต่อระหว่างฤดูมรสุมทั้งสองตรง กับฤดูร้อน อากาศร้อน ฟ้าหลัวแห้งและมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นครั้งคราว

ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากกระบวนการอพยพและตั้งถิ่นฐานของกลุ่มผู้คนในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการหลอมรวมระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมกับวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอก จนก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่สำคัญของพื้นที่ประกอบด้วย ชาวไทลาว และ ชาวไทญ้อ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการก่อร่างสร้างเมืองตั้งแต่ยุคเริ่มแรก โดยชาวไทลาวเป็นกลุ่มที่มีรากวัฒนธรรมร่วมกับอาณาจักรล้านช้าง ขณะที่ชาวไทญ้อมีการอพยพจากฝั่งลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2378 เมื่ออุปฮาด (คำสาย) จากเมืองมหาชัยกองแก้วได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำชาวไทญ้ออพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองสกลทวาปี (ชื่อเดิมของจังหวัดสกลนครในขณะนั้น) เพื่อร่วมบูรณะและพัฒนาเมืองให้มั่นคงและเข้มแข็ง

นอกจากกลุ่มไทลาวและไทญ้อแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ทยอยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านเมืองเก่าสกลนคร ได้แก่

  • ชาวผู้ไท
  • ชาวไทโส้
  • ชาวไทกะเลิง
  • ชาวไทโย้ย

กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณคุ้มวัดต่าง ๆ รอบเมือง และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวิถีชีวิต การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนการสืบทอดประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ย่านเมืองเก่าสกลนครยังมีการขยายตัวของกลุ่มประชากรจากชาติพันธุ์ภายนอก โดยเฉพาะ ชาวจีน และ ชาวเวียดนาม (ญวน) ที่เข้ามาประกอบกิจการค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเขตเมือง

  • ชาวจีน ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาในช่วงหลังการตัดถนนสายสำคัญและการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจเมือง โดยตั้งถิ่นฐานบริเวณถนนสุขเกษม แยกศรีนคร และถนนเจริญเมือง ลักษณะบ้านเรือนมักเป็นห้องแถวไม้หรือตึกดิน ชั้นล่างใช้เป็นร้านค้า ส่วนชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัย
  • ชาวเวียดนาม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
    • กลุ่มญวนเก่า ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 จากเมืองมะหาไชกองแก้วและภูวดลสะอาง โดยส่วนหนึ่งได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณคุ้มวัดศรีสุมังค์ และบางส่วนได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าแร่
    • กลุ่มญวนใหม่ ซึ่งอพยพเข้ามาหลังปี พ.ศ. 2488 อันเป็นผลจากภัยสงครามอินโดจีน กลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานบริเวณถนนใจผาสุก แยกเจริญเมือง-สุขเกษม และประกอบอาชีพค้าขาย โดยใช้อาคารเรือนแถวไม้หรือปูนที่มีลักษณะคล้ายกับของชาวจีน

ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในย่านเมืองเก่าสกลนคร ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็น “ชุมชนพหุวัฒนธรรม” ที่โดดเด่น ทั้งในด้านความเชื่อ ศาสนา ภาษา การแต่งกาย การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และรูปแบบการดำรงชีวิต ซึ่งแม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และยังคงรักษาอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละกลุ่มไว้อย่างสง่างาม จนกลายเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของเมืองสกลนครในปัจจุบัน

กะเลิง, ญ้อ, ไทโย้ย, ผู้ไท, โส้

การประกอบอาชีพของประชากรในย่านเมืองเก่าสกลนครมีความหลากหลาย และสะท้อนถึงพัฒนาการของเมืองที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย โดยอาชีพของประชากรมีความเกี่ยวเนื่องกับลักษณะทางชาติพันธุ์ ระบบคุ้มวัด และบทบาทของเมืองในฐานะศูนย์กลางการปกครองและการค้าในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในอดีตนั้นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ไทญ้อ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานตามคุ้มวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ ต่อมา เมื่อเมืองมีบทบาทเพิ่มขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านและศูนย์กลางทางการปกครอง รวมถึงมีการตัดถนนเชื่อมโยงระหว่างเมืองต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและอาชีพของชาวเมือง

กลุ่มชาติพันธุ์จีนและเวียดนามที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง โดยนำเอารูปแบบการค้าขายและการผลิตเชิงพาณิชย์เข้ามา ส่งผลให้ประชากรในย่านเมืองเก่าหลายครัวเรือนเริ่มหันมาประกอบอาชีพค้าขาย เปิดร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ของแห้ง ผ้า เครื่องมือช่าง ยาแผนโบราณ และสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริเวณถนนเจริญเมือง ถนนสุขเกษม และแยกศรีนคร ซึ่งเป็นย่านค้าขายที่คึกคักมาอย่างต่อเนื่อง

ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมากได้เลือกประกอบอาชีพค้าขายขนาดย่อมในรูปแบบแผงลอยหรือร้านแถว รวมถึงการรับจ้างทั่วไป ขณะที่บางกลุ่มยังคงประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยเช่าที่นาและใช้แรงงานครอบครัวในการผลิต

ในปัจจุบันอาชีพของประชากรในย่านเมืองเก่าสกลนครยังคงสะท้อนให้เห็นถึงมิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยมีทั้งผู้ประกอบกิจการร้านค้าดั้งเดิม การให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม การเปิดร้านขายของชำ โรงเรียนสอนศาสนา ร้านทอง ร้านขายยาสมุนไพร และกิจการขนาดย่อมอื่น ๆ ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ควบคู่กับการประกอบอาชีพรับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ย่านเมืองเก่า

ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในย่านเมืองเก่าสกลนครจึงมีความหลากหลาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม งานฝีมือ อาหารพื้นบ้าน ไปจนถึงสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพ โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของย่านเมืองเก่าสกลนคร คือ “ผ้าคราม” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการย้อมผ้าด้วยสีครามธรรมชาติ ผ้าครามเมืองสกลนครมีลวดลายและสีสันที่สวยงาม เป็นที่นิยมใช้ในการแต่งกายและเป็นของฝากที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม นอกจากนี้การผลิตผ้าครามยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มของการส่งเสริมอาชีพในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การเปิดร้านกาแฟในอาคารเก่า การทำของที่ระลึกพื้นถิ่น การจัดกิจกรรมเดินชมเมือง และการอนุรักษ์บ้านเก่าเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของย่านเมืองเก่าอย่างยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับประชากรในระดับชุมชน

ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นพื้นที่สะท้อนความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด โดยมีรากฐานมาจากกระบวนการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย อาทิ ไทลาว ไทญ้อ ผู้ไท ไทโส้ ไทโย้ย ไทกะเลิง ชาวจีน และชาวเวียดนาม ซึ่งแต่ละกลุ่มนำมาซึ่งมิติทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีที่แตกต่างกัน แต่สามารถหลอมรวมและอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

ศาสนา

ศาสนาหลักที่ประชากรในย่านเมืองเก่าสกลนครนับถือคือ ศาสนาพุทธ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน เช่น ไทลาว ไทญ้อ และผู้ไท ซึ่งศูนย์กลางของศาสนากระจุกตัวอยู่ที่ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อันเป็นพระอารามหลวงและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครมาแต่โบราณ

นอกจากนี้ยังมี วัดศรีสุมังค์ วัดโพธิ์ชัย วัดกลาง และวัดเหนือ ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญในย่านเมืองเก่า ที่มีบทบาททั้งในด้านศาสนา การศึกษา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ แห่เทียนพรรษา และพิธีทอดกฐิน จึงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญในปฏิทินชีวิตของประชากร

นอกจากศาสนาพุทธ ยังปรากฏการนับถือ ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวเวียดนาม (ญวนเก่า) ที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าแร่ และมีบทบาทสำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรมคาทอลิกในพื้นที่จังหวัดสกลนคร

ความเชื่อและพิธีกรรมท้องถิ่น

ประชากรในย่านเมืองเก่าสกลนครยังคงสืบทอดความเชื่อพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับภูตผี วิญญาณ และธรรมชาติ เช่น ความเชื่อใน “เจ้าพ่อหลักเมือง” “ผีปู่ย่า” และ “ผีเรือน” ซึ่งมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ในบางช่วงของปีเพื่อความเป็นสิริมงคลและความปลอดภัยของชุมชน

กลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อและไทลาวบางส่วนยังคงมี พิธีแห่นางแมว เพื่อขอฝนในฤดูแล้ง พิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจในโอกาสต่าง ๆ เช่น การขึ้นบ้านใหม่ การบวช หรือการแต่งงาน รวมถึงประเพณี “แห่ผีตาแฮก” ที่พบในชุมชนไทโย้ยบางกลุ่มซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอดีต

ประเพณีท้องถิ่น

ประเพณีสำคัญที่แสดงอัตลักษณ์ของย่านเมืองเก่าสกลนคร ได้แก่

  • งานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุม ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นประเพณีสำคัญที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วภูมิภาคเข้ามากราบไหว้สักการะ
  • ประเพณีบุญเข้าพรรษา-ออกพรรษา ซึ่งยังคงมีขบวนแห่และพิธีกรรมร่วมกันในชุมชน
  • ประเพณีแข่งเรือยาว ที่เคยมีขึ้นในบริเวณลำน้ำห้วยหีบ เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับฤดูกาลและสะท้อนความสัมพันธ์ของผู้คนกับสายน้ำ

ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและหลากหลาย ผู้คนมีการใช้ภาษาถิ่น เช่น ภาษาไทญ้อ ภาษาลาว และภาษาเวียดนามในการสื่อสารระหว่างกัน ประกอบกับการแต่งกายแบบพื้นเมือง เช่น ผ้าคราม ผ้าซิ่นมัดหมี่ เสื้อแขนกระบอก ผ้าขาวม้า ซึ่งมักสวมใส่ในโอกาสงานบุญประเพณีต่าง ๆ

การอนุรักษ์บ้านเรือนสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เช่น เรือนไม้ใต้ถุนสูง ตึกแถวจีน และอาคารผสมผสานระหว่างตะวันตก-ตะวันออก ยังคงเป็นจุดเด่นของพื้นที่ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนได้อย่างชัดเจน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

“โบราณสถานแห่งเมืองเก่าสกลนคร: มรดกผู้สร้างถิ่นฐานและอารยธรรม”

ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยโบราณสถานต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในย่านนี้ไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานสำคัญทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินชีวิต ความเชื่อ และการปกครองของผู้คนในอดีตอย่างลึกซึ้ง โบราณสถานเหล่านี้จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่ได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ประวัติศาสตร์สำหรับคนรุ่นหลัง

โบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

  • วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง มีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ตั้งอยู่บนถนนเจริญเมืองในย่านเมืองเก่าสกลนคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระธาตุเชิงชุมที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างครอบปราสาทหินแบบขอมเดิมไว้ ซึ่งมีโครงสร้างภายในเป็นปราสาทหินศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 3 x 3 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร
  • หอไตรกลางน้ำ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2542 อาคารหอไตรนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2501 มีลักษณะโดดเด่นและสำคัญทางประวัติศาสตร์
  • อาคารสิมโบราณ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2370 สมัยพระประจันธานีเป็นเจ้าเมือง เป็นโครงสร้างไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคากระเบื้องไม้แบบดั้งเดิม หันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมเถาไม้เลื้อยและภาพเทพบุตร เทพธิดา รวมถึงประดิษฐานพระพุทธรูปไม้และปูนปั้นหลายองค์
  • สะพานขอม เป็นสะพานหินโบราณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของย่านเมืองเก่า บนเกาะกลางถนนสายสกลนคร-อุดรธานี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. 2478 และได้มีการบูรณะในปี พ.ศ. 2525 เนื่องจากถูกทำลายจากการก่อสร้างถนน สะพานมีความกว้าง 4 เมตร ยาว 16 เมตร ฐานเป็นช่องสำหรับให้น้ำไหลผ่านจำนวน 11 ช่อง สร้างด้วยศิลาแลงตามแบบสถาปัตยกรรมขอมโบราณ

โบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน

  • วัดศรีสะเกษ เป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงการตั้งเมืองสกลนครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 โดยพระศรีวรราช ผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ภายในวัดมีสิมโบราณที่ผสมผสานศิลปะช่างญวนและรูปแบบพื้นบ้านของภาคอีสาน มีลักษณะทรงเตี้ย หลังคามุงกระเบื้องไม้ และฐานยกสูงประมาณ 1 เมตร
  • วัดสะพานคำ เป็นวัดเก่าแก่คู่กับเมืองสกลนคร มีผู้สร้างคือพระยาประจันตประเทศธานีราชวงศ์คนที่ 2 เดิมชื่อวัดสะพานหิน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2421 ภายในวัดมีสิมโบราณทรงไทยอีสาน หลังคามุงไม้และก่อด้วยศิลาแลง ผนังเป็นอิฐถือปูน สภาพพื้นที่บริเวณวัดเป็นเนินสูง เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน
  • วัดศรีชมพู สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2400 และได้ย้ายที่ตั้งวัดมาในปี พ.ศ. 2423 โดยพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เจ้าเมืองคนที่ 3 เดิมชื่อวัดศรีธรรมหายโศก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีชมพู บริเวณนี้เป็นพื้นที่รอบนอกของเมืองในอดีต ก่อนจะกลายเป็นชุมชนหนาแน่นในเวลาต่อมา
  • วัดศรีโพนเมือง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2431 โดยพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) และชาวคุ้มตำบลสะพาน มีชื่อเดิมว่า "วัดกัลป์ญาณมิตรโพนเมือง" ซึ่งสื่อถึงความสัมพันธ์ของชาวบ้านในพื้นที่กับเจ้าเมืองวัดนี้ตั้งอยู่บนเนินสูงที่เป็นคันดินคูเมืองโบราณเดิม
  • วัดศรีสุมังค์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 ชุมชนคุ้มวัดศรีสุมังค์ในช่วงแรกมีบ้านเรือนกระจัดกระจาย ประกอบด้วยชาวลาวที่อพยพมาจากหลายพื้นที่
  • วัดโพธิ์ชัย แม้จะไม่มีข้อมูลผู้สร้างชัดเจน แต่มีหลักฐานว่าพระบุรีบริรักษ์ (คลี่) เป็นผู้บูรณะและปฏิสังขรณ์ในสมัยพระยาประจันตประเทศธานี ก่อนรื้อสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2497
  • ศาลเจ้าพ่อมเหสักข์ (ศาลหลักเมือง) เดิมชื่อศาลเจ้าปูโต่งมเหศักดิ์หลักเมือง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์" ในปี พ.ศ. 2543 เป็นศาลเจ้าที่ตั้งอยู่เรียงรายในคูเมืองและโนนหลักเมือง มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเมืองหนองหารหลวง มีพิธีบวงสรวงทุกปีในเดือน 6 ขึ้น 3 ค่ำ

ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงส่งผลให้ภาษาถิ่นที่ใช้ในพื้นที่มีความหลากหลายตามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ไทลาว ผู้ไท ญ้อ โส้ กะเลิง และโย้ย โดยแต่ละกลุ่มมีลักษณะทางภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนี้

  • ภาษาลาว เป็นภาษาที่ใช้แพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ เสียงวรรณยุกต์มีลักษณะเฉพาะ เช่น การสลับวรรณยุกต์สามัญและโทจากภาษากลาง สำเนียงการพูดมีทั้งเสียงสูงและเสียงต่ำ
  • ภาษาผู้ไท มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษากลาง มีการทอดเสียงยาวและตัดเสียงสูงในพยางค์ท้าย นิยมใช้ในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัด
  • ภาษาญ้อ มีสำเนียงคล้ายภาษาไทยกลาง ฟังไพเราะ และมีเอกลักษณ์จากคำสร้อยเช่น “ละเบ๋อ” ซึ่งแสดงความมั่นใจหรือยืนยันข้อความ
  • ภาษากะเลิง มีเสียงพูดใกล้เคียงภาษาลาวและภาษาญ้อ แต่มีสำเนียงสั้นกว่า นิยมใช้ในพื้นที่รอบหนองหารและภูพาน
  • ภาษาโส้ จัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร เป็นเพียงภาษาพูด ไม่มีอักษรเขียน การสื่อสารทางลายลักษณ์อักษรจึงใช้ตัวอักษรไทยหรืออักษรลาวแทน ลักษณะเด่นคือการออกเสียงควบกล้ำชัดเจน และมีจังหวะเสียงพิเศษในพยางค์ต้น
  • ภาษาโย้ย มีจังหวะการพูดที่ทอดเสียงยาวและหนักแน่นทุกพยางค์ มีลักษณะเฉพาะคือการใช้คำสร้อย “ฮ่อ” ต่อท้ายคำถาม เพื่อใช้ในเชิงยืนยันหรือถามปลายเปิด

กล่าวคือย่านเมืองเก่าสกลนครไม่เพียงแต่เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร แต่ยังสะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและรากเหง้าทางชาติพันธุ์ของชุมชนในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยธำรงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชนให้คงอยู่ในยุคปัจจุบัน


การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของเมืองสกลนครจากระบบเจ้าผู้ครองนครตามแบบแผนโบราณของล้านช้าง ซึ่งเรียกว่า “ระบบอาญาสี่” มาเป็นการปกครองในระบบราชการภายใต้การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเริ่มในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองสกลนคร ทั้งในด้านการบริหาร การเมือง และสังคม

ระบบอาญาสี่ในอดีตเป็นระบบที่ให้เจ้าเมืองมีอำนาจปกครองโดยตรงเหนือราษฎรในเขตเมืองและหัวเมืองขึ้นตรง โดยมีเจ้าขุนมูลนายผู้ช่วยแบ่งงานบริหารในลักษณะของตำแหน่งถ่ายทอดทางสายตระกูล ส่งผลให้การบริหารขึ้นอยู่กับอำนาจส่วนบุคคลและเครือญาติเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ระบบนี้เริ่มไม่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสู่การรวมศูนย์อำนาจและความเป็นรัฐสมัยใหม่

การเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจจากระบบจารีตประเพณีสู่ระบบราชการที่มีแบบแผนและระเบียบชัดเจนมากขึ้น การบริหารงานเมืองจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายของส่วนกลาง ส่งผลให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การตัดถนน วางระบบคมนาคม พัฒนาพื้นที่เมือง และการจัดเขตชุมชนอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ย่านเมืองเก่าจึงกลายเป็นศูนย์กลางการบริหารในยุครัฐรวมศูนย์ และยังส่งผลสืบเนื่องต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองสกลนครในเวลาต่อมา


จากฐานะเดิมของสกลนครในฐานะศูนย์กลางการปกครองของหัวเมืองที่สำคัญ เมืองนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นย่านการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะบริเวณถนนเจริญเมืองและถนนสุขเกษม ซึ่งกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนในย่านเมืองเก่า สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งค้าขายที่มีความคึกคักของพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนและชาวเวียดนามที่ตั้งร้านค้าในรูปแบบห้องแถวอย่างเป็นระเบียบ มีการแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลายประเภทเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบคมนาคมสำคัญ โดยมีจุดจอดรถโดยสารระหว่างเมือง เช่น เส้นทางสกลนคร-อุดรธานี ส่งผลให้ย่านนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองสกลนครอย่างแท้จริงในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งในด้านการค้า การคมนาคม และการพัฒนาสังคมโดยรวม


ย่านเมืองเก่าสกลนครเป็นแหล่งที่รวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย ไทลาว ผู้ไท ญ้อ โส้ กะเลิง โย้ย รวมถึงชาวจีนและชาวเวียดนาม กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรและมีการดำรงวิถีชีวิตที่หลากหลายควบคู่ไปกับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่เดียวกันอย่างกลมกลืนและสอดประสานกันอย่างลงตัว

การรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ส่งผลให้ย่านเมืองเก่าสกลนครกลายเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งในด้านภาษา ความเชื่อ ประเพณี รวมถึงรูปแบบการดำรงชีวิตประจำวัน การผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้สร้างความมั่นคงทางสังคมและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งทำให้ย่านเมืองเก่าแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา เปิดกว้างทางสังคม และเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธรรศ วัฒนาเมธี. (2563). การอนุรักษ์และฟื้นฟูเรือนแถวพื้นถิ่นในย่านเมืองเก่าสกลนคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

พสุธา โกมลมาลย์. (18 เมษายน 2568). เมื่อเมือง “สกลนคร” ต้องอยู่ร่วมกับโบราณสถาน โอกาส ความท้าทาย และข้อเสนอ. สืบค้น 10 มิถุนายน 2568, จาก https://think.moveforwardparty.org/

ภูวเรศ อรรคอุดม. (2556). การศึกษานัยของอัตลักษณ์เมืองต่อการออกแบบและวางผังชุมชนเมืองสกลนคร. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

รวินทร์ ถิ่นนคร. (2550). โอกาสในการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่อยู่อาศัยย่านเมืองเก่าสกลนคร. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร. (2562).  แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมเมืองเก่าสกลนคร. สืบค้น 10 มิถุนายน 2568, จาก https://anyflip.com/mzldt/yshp/basic

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร. (30 มีนาคม 2566). องค์ความรู้ข้อมูลงานด้านวัฒนธรรม และประเพณี ในจังหวัดสกลนคร. สืบค้น 10 มิถุนายน 2568, จาก https://sakonnakhon.m-culture.go.th/

dotproperty. (23 มกราคม 2560). สกลนคร : เมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ แหล่งธรรมะแห่งดินแดนถิ่นอีสาน. สืบค้น 10 มิถุนายน 2568, จาก https://www.dotproperty.co.th

MOC Agri Mart. (ม.ป.ป.). ย่านเมืองเก่าสกล ถนนผ้าคราม.สืบค้น 10 มิถุนายน 2568, จาก https://www.mocagrimart.com

ทม.สกลนคร โทร. 0 4271 1203