Advance search

บ้านทุ่งใหญ่ ชุมชนชนบทกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าเขา ลำธาร และสวนยางพารา สะท้อนวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่เรียบง่ายและพึ่งพาตนเองได้ ที่นี่โดดเด่นด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ซึ่งยังคงรักษาประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้อย่างงดงาม 

หมู่ที่ 6
บ้านทุ่งใหญ่
เกาะขันธ์
ชะอวด
นครศรีธรรมราช
อบต.เกาะขันธ์ โทร. 0 7549 3111
ฤชุอร เกษรมาลา
9 มิ.ย. 2025
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2025
บ้านทุ่งใหญ่


ชุมชนชนบท

บ้านทุ่งใหญ่ ชุมชนชนบทกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าเขา ลำธาร และสวนยางพารา สะท้อนวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่เรียบง่ายและพึ่งพาตนเองได้ ที่นี่โดดเด่นด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ซึ่งยังคงรักษาประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้อย่างงดงาม 

บ้านทุ่งใหญ่
หมู่ที่ 6
เกาะขันธ์
ชะอวด
นครศรีธรรมราช
80180
7.886391
99.909454
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขันธ์

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในพื้นที่ บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นพื้นที่ป่าดิบอันอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การเดินทางเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีความเสี่ยงจากสัตว์ป่า รวมถึงโรคภัยไข้มาลาเรีย

แม้ชุมชนแห่งนี้จะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ หากแต่จากหลักฐานและคำบอกเล่า ปรากฏว่าเริ่มมีกลุ่มคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างจริงจังในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2497 โดยผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อพยพมาจากอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง มีจำนวนเพียงประมาณ 20 กว่าหลังคาเรือนในระยะแรก โดยกลุ่มผู้อพยพเหล่านี้ได้เดินเท้าเข้ามาสำรวจพื้นที่ และพบว่ามีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

เมื่อประจักษ์ถึงศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานแรกเริ่มจึงได้กลับไปยังถิ่นเดิม เพื่อชักชวนญาติพี่น้องและผู้คนในชุมชนเดิมให้เข้ามาร่วมตั้งรกรากที่บ้านทุ่งใหญ่มากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามลำดับ

ในระยะแรกของการจัดตั้ง บ้านทุ่งใหญ่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอร่อนพิบูลย์ ต่อมาได้ถ่ายโอนการปกครองมาขึ้นอยู่กับตำบลท่าประจะ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และภายหลังได้มีการแบ่งเขตการปกครองอีกครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 บ้านทุ่งใหญ่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น "หมู่ที่ 6" ของตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงปัจจุบัน

บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอชะอวด โดยมีเขตติดต่อกับจังหวัดพัทลุง จึงถือเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างสองจังหวัด โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลลานข่อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลลานข่อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านทุ่งใหญ่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง บางบริเวณเป็นเนินเขาเล็ก ๆ ซึ่งในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "ควน" โดยเฉพาะบริเวณที่ติดต่อกับหมู่บ้านลานข่อย จังหวัดพัทลุง ทำให้พื้นที่บางส่วนมีลักษณะลาดเอียง เหมาะแก่การปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนบ้านทุ่งใหญ่มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญซึ่งใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ได้แก่ คลองไม้เสียบ ห้วยหลุด และห้วยกราย แหล่งน้ำทั้งสามแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านใช้สำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้ง และเป็นแหล่งน้ำหลักในการดำรงชีวิตประจำวัน

สภาพภูมิอากาศ

บ้านทุ่งใหญ่ตั้งอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม จึงมีฝนตกชุกและอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยมีฤดูกาลแบ่งออกเป็น 2 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ทำให้มีฝนตกบ้างประปราย แต่อากาศไม่ร้อนจัด
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนตกชุก และในบางช่วงอาจมีฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ถึง 7 วัน

สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืชสวนและพืชไร่ ตลอดจนการอนุรักษ์ความชุ่มชื้นของดินและระบบนิเวศของชุมชน

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 898 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 430 คน ประชากรหญิง 468 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 234 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ประชากรในชุมชนมีอาชีพหลักคือ การเกษตรกรรม โดยมีการใช้ที่ดินส่วนใหญ่เพื่อทำสวนยางพารา ทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน

1.การทำสวนยางพารา

อาชีพทำสวนยางพารานับเป็นอาชีพสำคัญที่สุดของชุมชนบ้านทุ่งใหญ่ เมื่อเดินทางเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้าน สิ่งแรกที่พบเห็นคือสวนยางพาราที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ชุมชน ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่มีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่

  • ยางพาราพื้นเมือง
  • ยางพาราพันธุ์ชั้นดี (ยางพันธุ์)

สวนยางส่วนใหญ่เป็นสวนเก่าที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มหันมาปลูกยางพันธุ์มากขึ้น เนื่องจากให้ผลผลิตน้ำยางในปริมาณมาก และมีคุณภาพดีกว่ายางพื้นเมือง โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก องค์การกองทุนสงเคราะห์สวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งให้การสงเคราะห์เป็นเงินทุนหมุนเวียนโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกยางพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.การทำไร่

ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงทำไร่ เช่น การปลูกข้าวโพดและอ้อย โดยจะปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้จะงดการเพาะปลูกในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน เนื่องจากเป็นฤดูแล้งและขาดแหล่งน้ำเพียงพอ

3.การทำสวนผัก

การทำสวนผักในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกพืชฤดูเดียวเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือขายในชุมชนในปริมาณไม่มาก โดยจะปลูกในพื้นที่แซมต้นยางพาราที่ยังไม่โต ซึ่งไม่ขัดต่อข้อกำหนดขององค์การสงเคราะห์สวนยาง พืชผักที่นิยมปลูก ได้แก่ แตงกวา บวบ และพืชผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ

4.การทำนา

การทำนาในบ้านทุ่งใหญ่เป็นการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ไม่ได้ปลูกเพื่อการค้า ชาวบ้านจะลงมือทำนาในพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำเพียงพอ โดยไม่ใช้สารเคมีมากนัก เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง

5.การเลี้ยงสัตว์

การเลี้ยงสัตว์ยังเป็นกิจกรรมเสริมที่พบในเกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะไก่พื้นเมือง ซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเนื้อและไข่ สำหรับสุกรนั้น มีประมาณ 30 ครัวเรือน ที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย ส่วนการเลี้ยงวัวและควายส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน หรือเป็นทรัพย์สินในครัวเรือน

นอกจากภาคการเกษตรแล้ว ประชากรบางส่วนยังมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น การตัดยาง รับจ้างในโรงงาน และงานก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงมีการค้าขายสินค้าจำเป็นในครัวเรือน และบางส่วนเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในหน่วยงานท้องถิ่น

ศาสนา

  • ศาสนาพุทธ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธจะประกอบศาสนกิจโดยเดินทางไปยังวัดไม้เสียบ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะขันธ์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน เนื่องจากไม่มีวัดตั้งอยู่ในหมู่บ้านโดยตรง ในวันพระและวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านจะร่วมกันไปทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และร่วมกิจกรรมตามประเพณี นอกจากนี้พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงยังเข้ามาบิณฑบาตในหมู่บ้านเป็นประจำทุกเช้า ผู้สูงอายุมักเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางไปวัด ส่วนชายหนุ่มที่มีอายุถึงเกณฑ์ก็จะเข้ารับการบรรพชาในช่วงเวลาอันเหมาะสม
  • ศาสนาอิสลาม ชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามจะประกอบศาสนกิจที่มัสยิดในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีโต๊ะอิหม่ามและผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมตามหลักความเชื่อ ทั้งการละหมาด การถือศีลอด การศึกษาและอบรมหลักศาสนา การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงการร่วมกิจกรรมกับชุมชนในลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามหลักของศาสนาอิสลาม

ประเพณีและพิธีกรรมของชาวไทยพุทธ

  1. ประเพณีงานศพเมื่อมีผู้เสียชีวิต ญาติจะจัดพิธีกรรมตามแนวทางของพุทธศาสนา โดยอัญเชิญพระสงฆ์มาสวดอภิธรรมเป็นเวลา 3-7 วัน จากนั้นจะจัดพิธีฌาปนกิจศพที่วัดไม้เสียบ และจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งมักเป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น ขนมจีน แกงพื้นเมือง เป็นต้น ในบางงานอาจมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุง เพื่อเป็นการไว้อาลัยและเป็นกิจกรรมร่วมของชุมชน
  2. ประเพณีวันสงกรานต์ หรือภาษาใต้เรียกว่า "วันว่าง"เป็นประเพณีที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ โดยจะมีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และสรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งมีกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อสร้างความรื่นเริงและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน
  3. ประเพณีวันสารทเดือนสิบถือเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ โดยแต่ละครอบครัวจะจัดสำรับอาหารและขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมลา ขนมพอง และขนมบ้า เพื่อนำไปร่วมในพิธี "ตั้งเปรต" มีการจัดงานร่วมกันที่วัดหรือพื้นที่ชุมชน พร้อมด้วยการแสดงพื้นบ้าน เช่น มโนราห์ หนังตะลุง และมหรสพต่าง ๆ เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพชน
  4. ประเพณีวันออกพรรษา (มาฆบูชาพระ)จัดขึ้นโดยการตกแต่งรถขบวนแห่พระพุทธรูปด้วยดอกไม้และธงสีต่าง ๆ แล้วเคลื่อนขบวนไปยังจุดรวมของอำเภอหรือสถานที่สำคัญ ในระหว่างทางจะมีการตีกลอง ประโคมดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน สร้างความคึกคักให้แก่ชุมชน งานดังกล่าวเป็นกิจกรรมสำคัญที่แสดงถึงความศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน

ประเพณีและพิธีกรรมของชาวไทยมุสลิม

  1. ประเพณีงานศพ เมื่อมีผู้เสียชีวิต จะมีการฝังศพภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งวัน โดยจะชำระร่างกาย ห่อศพด้วยผ้าขาว และประกอบพิธีละหมาดศพก่อนนำไปฝังที่ "กุโบ" (สุสาน) หลังจากนั้นจะมีการจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้ร่วมพิธีเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต เรียกว่า "กินบุญ" ซึ่งนิยมทำต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน หรือในโอกาสสำคัญตามแต่ครอบครัวจะกำหนด
  2. ประเพณีกินบุญ เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับ โดยครอบครัวจะจัดเตรียมอาหารพื้นบ้าน เช่น ข้าวแกง แกงปลา หรือแกงไก่ เพื่อเลี้ยงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน พร้อมกับประกอบพิธีสวดตามหลักศาสนาอิสลาม ถือเป็นการทำบุญและแสดงความกตัญญูต่อผู้ที่จากไป
  3. ประเพณีเมาลิด เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด โดยครอบครัวชาวมุสลิมในหมู่บ้านจะผลัดเปลี่ยนกันจัดเลี้ยงอาหารแก่เพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการรำลึกถึงความดีของศาสดาและส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน โดยก่อนการรับประทานอาหารจะมีพิธีสวดตามหลักศาสนา
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์ข้อมูลกลางทางศาสนา. (ม.ป.ป.). มัสยิดนูรุลรอซิดีน (บ้านทุ่งใหญ่). สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก http://164.115.40.67/place_page/2443

สุพรรณี มารุ่งเรือง. (2527). โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ 6 ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

องค์การบริหารส่วนตําบลเกาะขันธ์. (17 สิงหาคม 2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น 2566-2570. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2568, จาก https://www.kohkhan.go.th/

อบต.เกาะขันธ์ โทร. 0 7549 3111